แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2001


    ครั้งที่ ๒๐๐๑


    สาระสำคัญ

    บารมี ๑๐ - ทาน (ธรรมทาน)

    ผู้ว่าง่าย

    เนกขัมมบารมี (เนกขัมมะอย่างบรรพชิตและสำหรับคฤหัสถ์)


    สนทนาธรรมที่ทัชมาฮาล เมืองอัคกรา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๓ ต่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๓๓


    สุ. สำหรับศีลบารมี ก็ทราบอยู่แล้วว่า ศีลมี ๒ อย่าง คือ การวิรัติทุจริตเป็นวาริตศีลอย่างหนึ่ง และการกระทำสิ่งที่ควรเป็นจาริตศีลอีกอย่างหนึ่ง

    บารมี ๑๐ ทั้งหมดเหล่านี้ ก็ได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งทุกท่านจะต้องอบรมจริงๆ เพราะถ้าเราเป็นผู้สนใจในการฟัง ในการเรียน แต่ไม่ได้ปฏิบัติ ธรรมนั้นก็เปรียบเสมือนอยู่ในตำรา

    การที่เราเดินทางมานมัสการสังเวชนียสถาน เป็นโอกาสจริงๆ ที่จะได้บำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ครบถ้วนทั้งทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี

    บารมีมีถึง ๑๐ ถ้าเห็นว่าตัวท่านเองยังขาดตกบกพร่องในบารมีใด ก็ควร ที่จะสะสมบารมีนั้นยิ่งขึ้น เพราะถ้าเราไม่สะสมในขณะนี้คือทุกๆ วัน เราจะเริ่ม สะสมเมื่อไร เราอาจจะผัดไปรอไปว่า ตอนนี้ยังจะไม่สะสมบารมีข้อนี้ๆ ถ้าวันนี้ผัดไป วันต่อไปเราก็ผัดอีก บารมีข้อนี้เราก็ยังไม่สะสมอีก

    เพราะฉะนั้น ถ้าทราบว่าบารมีข้อใดขาด หรือยังน้อย หรือยังไม่สามารถกระทำได้ ก็เป็นโอกาสที่ดี ในเมื่อระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคและดินแดน ที่พระองค์ประสูติ ทรงตรัสรู้ ทรงแสดงพระธรรม ทรงดับขันธปรินิพพาน ซึ่งพระผู้มีพระภาคเสด็จไปสู่ที่ต่างๆ ด้วยพระมหากรุณาเพื่อให้สัตว์โลกได้ฟังพระธรรม เพื่อขัดเกลากิเลส และอบรมเจริญปัญญาของตนเองยิ่งขึ้น สำหรับผู้ที่เป็นพุทธสาวก หรือพุทธบริษัท นอกจากจะเป็นผู้ที่ฟังพระธรรมแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่ว่าง่ายด้วย คือ เป็นผู้ที่อยู่ในโอวาทของพระบรมศาสดาโดยการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันจริงๆ

    บารมีทั้ง ๑๐ เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ถ้าขาดข้อหนึ่งข้อใดจะไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ หรือความที่จะเป็นคนดีจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์

    ถ. ขอให้ท่านอาจารย์ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับอุเบกขาบารมีสำหรับชีวิตประจำวันว่า จะอบรมบารมีนี้ได้อย่างไร

    สุ. อุเบกขาบารมี หมายถึงความไม่หวั่นไหว ความวางเฉย ไม่คล้อยตามไปโดยง่ายในอารมณ์ที่น่าพอใจด้วยโลภะ และไม่คล้อยตามไปโดยง่ายในอารมณ์ที่ ไม่น่าพอใจ คือ โทสะ

    ถ. จะเริ่มอย่างไร

    สุ. ขณะนี้เอง มีอารมณ์ที่น่าพอใจ มีอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เพราะฉะนั้น ต้องมีโสภณเจตสิกคือเจตสิกที่ดีงาม เช่น สติ การระลึกได้ ที่จะพิจารณา ที่จะรู้ ที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

    ถ. อภัยทาน กับเมตตา เหมือนกันไหม

    สุ. เมตตา คือ การคิดถึงบุคคลอื่นด้วยความเป็นมิตร พร้อมที่จะทำประโยชน์ให้คนนั้น เพราะฉะนั้น ทานก็มีเมตตาเป็นพื้นฐาน

    บารมีทั้ง ๑๐ นี้ เกื้อกูลกันทั้งหมด ไม่ได้แยกจากกัน เพราะแม้แต่ทานก็ต้องอาศัยขันติ ความอดทนด้วย ต้องอาศัยวิริยะ ความเพียรด้วย ถ้าขาดวิริยะทาน ก็สำเร็จไปไม่ได้ หรือบางครั้งขาดความอดทน ทานก็เกิดขึ้นไม่ได้เหมือนกัน

    อย่างเมื่อกี้มีคนให้ขนมเด็ก ก็ต้องมีทั้งความอดทนที่จะคอยกาลที่สมควร ที่จะให้ ซึ่งเขาจะไม่ตีกัน

    แต่ละข้อ ขอให้ถามเป็นข้อๆ ดีกว่า เพราะว่าได้บรรยายไปแล้ว ใครสนใจ ข้อไหนเป็นพิเศษ

    ถ. ขอเรียนถามเรื่องเนกขัมมะ

    สุ. เนกขัมมะ หมายความถึงการละคลายกิเลส เพราะฉะนั้น ต้องเป็นกุศลทุกประการ

    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. แล้วแต่เพศ ถ้าเนกขัมมะอย่างบรรพชิต หมายความว่าสละวัตถุกาม สำหรับคฤหัสถ์ก็มีเนกขัมมะโดยไม่จำเป็นต้องมีข้อปฏิบัติอย่างบรรพชิต เพราะว่า ชีวิตของคฤหัสถ์ต่างกับชีวิตของบรรพชิต ชีวิตของบรรพชิตนี่แสดงชัดเจนเลยว่า เนกขัมมะคือการออกห่างจากวัตถุกาม โดยประพฤติตามพระวินัยบัญญัติ เริ่มตั้งแต่สละอาคารบ้านเรือนที่อยู่อาศัย สละวงศาคณาญาติ สละความสะดวกสบาย ความคุ้นเคยกับกิเลส โดยประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยโดยครบถ้วน นั่นคือบรรพชิต

    สำหรับคฤหัสถ์ เนกขัมมะ คือ ขณะใดที่รู้สึกละคลายจากกิเลสโดยกุศลจิตเกิด และที่จะเป็นไปได้ คือ ด้วยการอบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ มิฉะนั้นแล้วก็เป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

    ถ. การกระทำแบบนี้สัมพันธ์กับสติปัฏฐาน หรือสัมพันธ์กับองค์ธรรมอื่นๆ เกี่ยวกับพละต่างๆ อินทรีย์ต่างๆ อย่างไรบ้าง คงจะปนเปกันไปหมด จะทำ ในขณะเดียวกันได้หรือไม่

    สุ. สติปัฏฐาน กับอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะว่า อริยมรรค มรรค คือ หนทางที่จะทำให้เป็นผู้เจริญถึงขั้นดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    คำว่า อริยะ ที่ภาษาไทยเอามาใช้ว่า อารยะ หมายความถึงเจริญ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญจริงๆ ต้องเป็นผู้เจริญทางจิตใจ ทางกุศล

    เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้เป็นพระอริยเจ้า คือ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว และได้ทรงแสดงธรรม สาวกทั้งหลายที่ได้อบรมเจริญบารมีมา ก็ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม และเพราะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมคือธรรมที่เป็นความจริง จึงทำให้ผู้รู้แจ้งเป็นพระอริยบุคคล คือ เป็นผู้ประเสริฐถึงขั้นที่ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ตามลำดับ

    เพราะฉะนั้น อริยะ ต้องเข้าใจว่า หมายความถึงเป็นผู้เจริญจนกระทั่ง ดับกิเลสได้ ซึ่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็คือการเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง เพราะการที่จะ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ต้องเข้าใจว่า ขณะนี้ทุกอย่างเป็นธรรม

    ถ้าไม่เข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม ปัญญาไม่สามารถรู้แจ้งได้ และเมื่อรู้ว่าธรรม อยู่ที่ไหน ปัญญาจะค่อยๆ อบรมจนกระทั้งเจริญและสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เมื่อรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม ปัญญาคือความเข้าใจที่ถูกต้องในลักษณะของธรรมต้องเกิดพร้อมสติสัมปชัญญะ ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นการเจริญมรรค มีองค์ ๘

    ถ. ในขณะที่เราเจริญบารมีใดบารมีหนึ่งนั้น จะสงเคราะห์อยู่ในการเจริญสติปัฏฐานด้วยหรือเปล่า

    สุ. ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ ไม่ชื่อว่า เจริญสติปัฏฐาน

    ถ. เจริญบารมีก็ยังมีความเป็นตัวเป็นตนอยู่

    สุ. เป็นผู้ที่รู้ว่า สติปัฏฐานเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ปัญญาสามารถ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ทั้งๆ ที่รู้อย่างนี้ สติไม่เกิดเพราะอะไร เพราะกิเลสมีมาก เพราะฉะนั้น ต้องมีการละคลายขัดเกลากิเลสด้วยการเจริญกุศล ทุกประการเป็นเครื่องประกอบ ไม่ใช่เพียงแต่รู้ว่าหนทางอยู่นี่ ไปทางนี้ แต่ไม่มีกำลัง ไม่มีเรี่ยวแรงที่จะเดิน เป็นผู้ทุพพลภาพด้วยกิเลส เจ็บไข้ได้ป่วยจนกระทั่งไม่สามารถเดินไปได้เพราะกิเลสหนักหนา ถ้าเป็นโดยวิธีนั้น แม้จะรู้หนทางก็ไปไม่ได้

    ถ. ถ้าสรุปอย่างนี้ จะเป็นไปได้ไหมว่า ทุกขณะที่เรามีความเข้าใจและ มีการอบรมเจริญ คงจะไม่พ้นจากการอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    สุ. แล้วแต่ว่าเป็นผู้เข้าใจหนทางหรือเปล่า ถ้าเป็นผู้ที่ไม่รู้เรื่องเลย แต่มีการ ให้ทาน มีความเห็นผิดก็ได้ บุคคลนั้นก็ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานเลย

    เรื่องของทานไม่ใช่จำเพาะในพุทธศาสนา มีทั่วไปในโลก เพราะฉะนั้น บุคคลใดให้ทานโดยที่ไม่มีปัญญา ไม่รู้หนทางที่จะทำให้ปัญญาเจริญจนดับกิเลสได้ ทานของบุคคลนั้นก็ไม่ใช่ทานบารมี

    ถ. ในศาสนาอื่นๆ เมื่อพูดถึงบารมี ๑๐ ก็คงจะขาดมาก

    สุ. ในศาสนาอื่นไม่มีบารมี ไม่มีอริยสัจจธรรม ไม่มีการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    นีน่า เมื่อวานนี้พูดกันมากเรื่องการเห็น คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เวลาอยู่ในรถบัส ดิฉันสนุกมาก ดูนก ดูอย่างอื่น อยากจะดูหมด ไม่มีความตั้งใจเจริญสติ ดิฉันทราบลักษณะความโลภด้วย ดิฉันแน่ใจว่าดิฉันขาดเนกขัมมบารมี อธิษฐานบารมี ทุกอย่าง ที่อาจารย์บอกว่า ถ้าขาดบารมีหนึ่งบารมีใด ไม่สามารถเจริญปัญญาได้ถึงจุดประสงค์

    สุ. ที่คุณนีน่าพูด คุณนีน่าไม่ได้มีความตั้งใจที่จะไม่เจริญกุศล ใช่ไหม แต่เพราะว่าคุณนีน่ายังมีกิเลส นี่เป็นจุดที่สำคัญมาก ทุกคนยังมีกิเลสอยู่ แต่ขอให้ มีความตั้งใจที่จะเจริญกุศลด้วย และทั้งๆ ที่ตั้งใจแล้ว ก็ใช่ว่ากุศลจะเกิดตลอดเวลา

    เมื่อยังมีกิเลส มีอวิชชา มีโลภะ มีโทสะ ก็เป็นปัจจัยให้บางขณะจิตเป็นอกุศล แต่คนนั้นก็ยังคงมีอธิษฐานบารมี มีความตั้งใจมั่นที่จะบำเพ็ญหรือเจริญกุศล ต่างกับ คนอื่นซึ่งยังไม่เห็นประโยชน์ของบารมี เพราะฉะนั้น เขาก็ไม่มีความตั้งใจมั่นที่จะ เจริญกุศล เขาบอกว่าเจริญไม่ได้ สำหรับเขา ขอผัดไปก่อน แต่สำหรับคนที่ว่าง่าย เวลาที่อกุศลจิตเกิด สติสัมปชัญญะยังสามารถระลึกได้ และยังคงมีความตั้งใจที่จะ บำเพ็ญบารมี จะมากจะน้อยนั้นก็เป็นเรื่องกำลังของแต่ละบุคคล

    เพราะฉะนั้น คุณนีน่าไม่ได้หมายความว่าตัวเองตั้งใจที่จะไม่เจริญกุศล ใช่ไหม แต่อดไม่ได้เพราะยังมีกิเลส ในรถบัสจึงมองเห็นนกน่ารัก หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่สติสัมปชัญญะสามารถเกิดได้

    ถ. ฟังดูแล้วชีวิตฆราวาส บำเพ็ญเนกขัมมบารมี ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ คิดว่าบำเพ็ญไม่ได้ ประการแรกการบำเพ็ญเนกขัมมบารมีนี้ ต้องมีสติเกิดทุกครั้ง

    สุ. ข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า กุศลทุกประการเป็นเนกขัมมะ เพราะว่าขณะนั้นออกจากอกุศล เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจความหมายของเนกขัมมะเป็น ขั้นๆ ด้วย

    ธรรมมีหลายระดับ ถ้ากล่าวถึงเนกขัมมะตามข้อความที่ว่า กุศลทุกประเภทเป็นเนกขัมมะ เพราะว่าขณะนั้นออกจากอกุศล ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ก่อน และขณะที่ออกจากอกุศล ก็ออกจากอกุศลโดยระดับขั้นของกุศลที่กระทำขณะนั้นด้วย จนกระทั่งถึงขั้นที่สละวัตถุกามเป็นเพศบรรพชิต แต่สำหรับคฤหัสถ์ไม่สามารถละอาคารบ้านเรือน สละวัตถุกามอย่างเพศบรรพชิตได้ เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์ก็มีเนกขัมมะ อีกอย่างหนึ่ง คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการอบรมหนทางที่จะทำให้ออกจากกิเลสจนกระทั่งสามารถดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้

    ถ. ผมเข้าใจว่า การที่เรามีโอกาสหลีกเลี่ยงจากวัตถุกามบางครั้งบางคราว เป็นการเจริญเนกขัมมบารมีแล้ว เช่น บางครั้งเราเห็นโทษของรส และตั้งใจสักครั้งว่า วันนี้ไม่ต้องไปแสวงหาของอร่อยๆ จนเดือดร้อน เพียงแต่เรารับประทานธรรมดาๆ โดยตั้งใจว่าจะเป็นการขัดเกลา อย่างนี้ก็เป็นเนกขัมมบารมีด้วย ใช่ไหม

    สุ. ธรรมเป็นเรื่องลึกลงไปถึงใจ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นที่ทำอย่างนั้น แต่ยังอยากอยู่ก็มี ใช่ไหม อุตส่าห์อดกลั้น อย่างบางคนอาจจะชอบหมูสะเต๊ะ ก็อาจจะอดกลั้นสักไม้สองไม้ ลดลงไปก็ได้ อะไรอย่างนี้ แสดงถึงความอดทน ความอดกลั้น คือ บารมีทุกอย่างต้องประกอบกัน อย่ามาแยกเป็นอันๆ และ ขีดเส้นตายเป็นบรรทัด เพราะว่าสังขารขันธ์ละเอียดมาก และสะสมปรุงแต่งกันอย่างวิจิตร ยากที่ใครจะไปแยกออกมาเป็นเฉพาะส่วนเดียวได้

    ถ. จึงจะเป็นบารมี

    สุ. ทุกอย่างที่เป็นกุศล และมีความเข้าใจหนทาง รู้ว่าการเดินไปสู่หนทางนี้ต้องอาศัยกุศลทุกประการ

    ถ. เรื่องทานบารมี อีกชื่อคือจาคะ เพราะว่าจาคะเป็นเรื่องของการขัดเกลากิเลส ใช่ไหม แต่ทำไมเป็นทานบารมี น่าจะเป็นจาคบารมี จาคะนั้นบ่งชัดเจนเลยว่า ให้เพื่อเป็นการขัดเกลากิเลส

    สุ. บารมีทั้งหมดก็เพื่อสิ่งนี้อยู่แล้ว

    ถ. สรุปได้ว่า บารมีแล้วต้องเกี่ยวข้องกับปัญญาทั้งนั้น

    สุ. บารมีอื่นเป็นบริวารของปัญญาบารมี

    ถ. ทานบารมีขึ้นมาเป็นบารมีแรก มีความสำคัญ หรือมีความหมายอย่างไรบ้าง

    สุ. เป็นสิ่งซึ่งไม่ยากนักสำหรับผู้ที่มีอุปนิสัย เพราะว่าชีวิตประจำวันของ ชาวพุทธก็ให้ทานกันอยู่เป็นประจำ

    ถ. แต่บางท่านแปลความหมายว่า ทานบารมีมีความสำคัญเพราะถ้าผู้ใดได้บำเพ็ญทานมากๆ แล้ว โอกาสที่จะบำเพ็ญบารมีอื่นก็ง่ายขึ้น เป็นอย่างนั้น ใช่ไหม

    สุ. ใช่ เพราะถ้ายังไม่สามารถสละแม้วัตถุ จะสละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นเราได้อย่างไร เพราะว่าสิ่งที่รักและหวงแหนมากกว่าวัตถุก็ต้องเป็นตัวเอง การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นของเรา เพราะฉะนั้น ถ้าค่อยๆ สละวัตถุภายนอกออกไป ในที่สุดจะทำให้สามารถสละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้

    ถ. เป็นความจริง เรื่องทาน เพราะว่าเห็นง่าย เข้าใจง่าย รู้สึกว่าจะถนัดด้วยกันทุกคน

    ถ. ทำไมพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีนั้นๆ ต้องเป็นชาติๆ และ บอกว่า ทานบารมีเป็นเรื่องสำคัญจึงบำเพ็ญในชาติสุดท้าย คล้ายกับว่าต้องทำ เป็นช่วงเป็นตอนของชีวิต สำหรับชีวิตประจำวัน วันนี้เราตั้งใจจะทำเฉพาะเรื่องนี้ วันพรุ่งนี้จะทำเรื่องนั้น จะติดต่อกันได้หรือไม่ อย่างไร

    สุ. คุณพิพัฒน์คงไม่ได้หมายความว่า ชาติก่อนๆ พระพุทธเจ้าไม่ได้บำเพ็ญทานเลย มาบำเพ็ญชาติเดียว ใช่ไหม

    ถ. อย่างพระเวสสันดร ทานบารมีอย่างสูง

    สุ. เน้นเฉพาะบารมีนั้น เป็นปรมัตถบารมี แต่ชาติก่อนๆ ท่านต้องมีทานทั้งนั้น จะไม่มีทานเลยและไปบำเพ็ญชาติเดียวได้อย่างไร

    ทาน คือ การให้วัตถุ หรืออภัยทาน หรือธรรมทาน จาคะ คือ การสละกิเลส

    ถ. จาคะ คือ การสละกิเลส อาจารย์ช่วยลงไปในรายละเอียดนิดหนึ่ง

    สุ. ให้ทานไปแล้ว และรู้สึกว่าเราเป็นคนดีมากที่ให้ทาน และหวังผลว่า ทานที่เราทำจะทำให้เราเกิดบนสวรรค์ หรือมีรูปร่างสวยงาม มีทรัพย์สมบัติมากมาย ขณะนั้นสละกิเลสหรือเปล่า

    ถ. ขณะนั้นเป็นการพอกพูนกิเลสไปในตัวด้วย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๑ ตอนที่ ๒๐๐๑ – ๒๐๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 147
    5 ม.ค. 2565