แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1976


    ครั้งที่ ๑๙๗๖


    สาระสำคัญ

    สติปัฏฐาน คืออย่างไร

    สัง. นิทานวรรค สุสิมสูตร - อาการของผู้ขโมยพระธรรม

    ปร.สุตตนิบาต อาฬวกสูตร - บุคคลย่อมได้ชื่อเสียงด้วยสัจจะ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๓๓


    สุ. ตอนที่สติปัฏฐานเกิด ที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ เป็นตอนไหน

    ถ. เกิดตอนวิปัสสนาญาณเกิด

    สุ. มิได้ ตอนที่เป็นสติปัฏฐาน ก่อนที่จะถึงวิปัสสนาญาณ ตอนไหน

    ถ. ตอนที่เห็นความเกิดดับว่า ไม่เที่ยง ดับไป

    สุ. ยังเห็นไม่ได้เรื่องความเกิดดับ เข้าใจได้ อนุมานได้ เสียงดับแล้ว เพราะฉะนั้น จิตได้ยินก็ดับด้วย นี่คืออนุมาน แต่ไม่ใช่การประจักษ์การเกิดขึ้นและ ดับไป

    ถ. ยังไม่ประจักษ์

    สุ. แน่นอน ใช้คำนี้ไม่ได้เลย

    ถ. จะประจักษ์ตอนไหน

    สุ. เมื่อปัญญาถึงความสมบูรณ์ หลังจากที่สติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรม และไม่ต้องไปรอคอย ไม่ต้องไปหวังว่าเมื่อไหร่หรือว่าวันไหน

    ถ. ต่อไปผมจะทำอย่างไร

    สุ. อยากจะทำ หรืออยากจะเข้าใจธรรม

    ถ. เมื่อสติเกิดขึ้นผมมั่นใจว่า ผมประจักษ์ในเรื่องรูปเรื่องนาม เพราะว่า ไม่มีข้อข้องใจเลย ก็ปฏิบัติมาอย่างนี้ และปัญหาที่ถามเมื่อสักครู่นี้ ผมไม่ได้มีความเดือดร้อน มีความทุกข์ใจ หรืออะไรก็ไม่ใช่ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็เปลี่ยนไปมาก สภาวะความเป็นอยู่ แต่สงสัยอยู่ตรงที่ว่า เมื่อประจักษ์สภาวธรรมนั้นแล้ว และสติเกิดอีก คือ เมื่อใดก็ตามที่เผลอสติ มีความเศร้าหมองขึ้นมา จิตก็ระลึกถึงสติ สติเกิดขึ้น ก็เจริญสติปัฏฐานต่อ เป็นอยู่อย่างนี้ตลอด แต่ไม่ทราบว่า ผมจะไปทางไหน

    สุ. มีทางอื่นไหม

    ถ. พูดถึงเรื่องปัญญาญาณ ผมก็อ่าน ผมก็ศึกษา แต่ปัญญาคือสภาวะที่ รู้นั่นเอง จึงเรียกว่าปัญญา ใช่ไหม

    สุ. แต่ปัญญามีหลายระดับ

    ถ. แต่ความเกิดดับที่อาจารย์บอกว่า ต้องประจักษ์ ก็มั่นใจตัวเองเหลือเกินว่าประจักษ์ เพราะว่าถามตัวเองแล้วก็ตอบได้หมด หรือใครจะถามผมก็ตอบได้ว่า เป็นอย่างไร แต่เข้าไปติด คือ รู้สึกเหมือนกับว่าตัวเราเป็นคนไม่มีทุกข์ สงสัยคำว่า สติ ที่ว่าไม่มีใครไปบังคับบัญชาได้ ตรงนี้เข้าใจ เพราะตัวเองก็หลงลืมสติเหมือนกัน แต่เวลาสติเกิดก็หมดทุกข์ไปทุกที ก็พูดกันอย่างนี้ แต่ที่ว่าเป็นอนัตตา ยังไม่เข้าใจ ตรงนี้แหละว่า ในเมื่อมีสื่อบอกเหตุอย่างนี้แล้ว สติจะไม่เกิดก็ไม่ใช่ จะว่าเจตนาก็ไม่ใช่ สงสัยอยู่อย่างนี้

    สุ. สงสัยเฉพาะสติ ใช่ไหม ที่ว่าเป็นอนัตตา

    ถ. สงสัยว่าที่สติเกิดนี้ถูกต้องหรือไม่ และที่บอกว่า สติเป็นอนัตตา ซึ่งหมายความถึงเราบังคับบัญชาไม่ได้ ก็เข้าใจ เพราะเราบังคับให้เกิดตลอดเวลาไม่ได้ แต่สงสัยตรงสภาวะของผมว่าเป็นอย่างไร คือ เวลามีทุกข์เกิดขึ้น สติก็เกิดขึ้นทันที และเมื่อมีสติเกิด ก็เจริญต่อไปเรื่อยๆ เป็นอย่างนี้

    สุ. ทำไมสงสัย ถ้าเป็นปัญญา

    ถ. สงสัยเพราะผมไม่ได้ศึกษาปริยัติเลย แต่ผมอ่านหนังสือธรรมหมด อ่านตั้งแต่ต้นจนจบ

    สุ. กรุณาบอกได้ไหมว่า หนังสืออะไรบ้าง

    ถ. เป็นหนังสือที่รวบรวมมาจากพระไตรปิฎกอีกทีหนึ่ง ผมจำไม่ได้ ความจริงใครๆ ก็รู้จักหนังสือเล่มนี้ ขายมากในท้องตลาด หนังสือเกี่ยวกับธรรม ที่หน้าปกมีรูปพระเยอะๆ ออกทุกครั้งก็มีรูปพระที่หน้าปก แต่ผมอ่านเฉพาะที่มาจากพระไตรปิฎกเท่านั้น ผมไม่อ่านโวหาร ก่อนนี้ผมอ่านชนิดที่วางไม่ได้เลย ตอนหลังๆ ฟังจากอาจารย์แล้วก็รู้ว่า ที่เราอ่านนี่รู้สึกเป็นโวหารมากกว่าเป็นสัจจะ ผมก็พยายามเลือกอ่าน อ่านเรื่องที่มาจากพระไตรปิฎก พุทธวจนะ อ่านมาตลอด อริยสัจจ์ก่อนนี้ ก็ไม่รู้ ตอนนี้เข้าใจว่า อริยสัจจ์ ทุกข์เป็นอย่างไร สมุทัยเป็นอย่างไร เป็นต้น และ มาประกอบกับการเจริญสติปัฏฐาน

    สุ. ทุกข์เป็นอย่างไร

    ถ. ทุกข์ก็คือตัวเรา เราเกิดมาก็เป็นทุกข์ สภาวะทุกข์ก็คือถ้ามีตัวก็มีทุกข์ ถ้าตัวเราไม่มีก็ไม่มีทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ก็เพราะอายตนะทั้งหลายเป็นตัวให้เกิดทุกข์ เพราะเกิดเป็นมนุษย์ก็ต้องมีหู มีตา มีจมูก

    สุ. เวลานี้มีทุกข์ไหม

    ถ. ไม่มีเลย

    สุ. ก็ไม่ใช่อริยสัจจ์ ถ้าเวลานี้ไม่มีทุกข์ ไม่ใช่อริยสัจจ์ อริยสัจจะ คือ ความจริงของสภาพธรรมที่ทำให้ผู้รู้ความจริงนั้นเป็นพระอริยบุคคล เพราะว่า ปรมัตถสัจจะ ลักษณะของสภาพธรรมเป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น ลักษณะของโลภะเป็นจริงอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ลักษณะของโทสะ เป็นจริงอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น

    ถ. รู้ตัวเองตลอดเลย รู้ว่ามีโลภะมากเหลือเกิน หลังๆ มารู้ว่าเราไปยึดเพราะความหลง และมองไม่เห็นความจริง คือ ผมศึกษาจนกระทั่งรู้ว่า มารนั้นคืออะไร มารความจริงในพระไตรปิฎก ผมก็เชื่อว่ามีตัวมีตน แต่ในส่วนของผม ยุคนั้นผ่านมาแล้ว เราคงไม่ถึงขนาดนั้น และไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นขนาดนั้น

    สุ. ขนาดนั้นคืออย่างไร

    ถ. สมัยพุทธกาลไม่เหมือนกับปัจจุบันนี้ คนละสภาวะแล้ว สภาวะที่แท้จริงในปัจจุบันที่เราจะต้องยอมรับก็คือว่า เราจะต้องรู้สภาวะทุกข์นั้นเป็นอย่างไร และเรามองเห็นไหม มองเห็นก็ต้องมองด้วยปัญญาว่าเห็นหรือเปล่า มันทะเลาะกันอยู่เรื่อยๆ

    สุ. ขอให้กลับไปพิจารณาข้อความที่ว่า ขณะนี้มีทุกข์ไหม ตอบอีกสักครั้ง

    ถ. ขณะนี้ผมขอเรียนด้วยสัจจะจริงๆ ว่า ผมไม่มีทุกข์เลย

    สุ. เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ทุกขอริยสัจจะ

    ถ. เพราะว่าเวลามีทุกข์ ก็มีปัญญาแทรกเข้ามา

    สุ. นี่ไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานคืออย่างไรที่จะทำให้ปัญญาสามารถประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    ถ. สภาวธรรมตามความเป็นจริง ผมคิดว่าผมประจักษ์แล้ว

    สุ. ยังประจักษ์ไม่ได้ เพราะถ้าประจักษ์ต้องประจักษ์ทุกขลักษณะ หรือ ทุกขอริยสัจจะ

    ถ. อาจารย์ช่วยกรุณาบอกสักนิดเถิด ผมจะได้หายข้องใจว่า สภาวะตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร

    สุ. ขณะนี้ไม่มีตัวตน

    ถ. ขณะนี้ตัวตนมี บางทีก็มี แต่เวลาที่เจริญสติปัฏฐานไม่มี

    สุ. ความจริง เอาความจริงก่อน

    ถ. ความจริงตัวตนมี

    สุ. ความจริงขณะนี้ไม่มีตัวตน

    ถ. นั่นคือความจริงตอนเจริญสติปัฏฐาน

    สุ. มิได้ ความจริงต้องเป็นความจริงเสมอ ไม่ว่าสติจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม เปลี่ยนแปลงความจริงไม่ได้ ความจริงเป็นอย่างไร ต้องเป็นความจริงอย่างนั้น

    ถ. ความจริงมี ๒ อย่าง ปรมัตถ์กับบัญญัติ ไม่ทราบจะเอาความจริง อันไหน

    สุ. ขณะนี้มีตัวตนไหม

    ถ. เอาปรมัตถ์หรือบัญญัติ

    สุ. ความจริง

    ถ. ความจริงมีตัวตนหรือไม่

    สุ. เมื่อกี้ตอบว่า มี ใช่ไหม แสดงว่ายังไม่ได้ดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แสดงว่ายังไม่ได้ประจักษ์แจ้งอริยสัจจะ และแสดงว่ายังไม่ประจักษ์การ เกิดดับของสภาพธรรมด้วย เพราะว่ายังไม่รู้ความต่างกันของทุกข์ที่เป็นทุกขเวทนา

    ถ. เมื่อกี้ที่ท่านอาจารย์ถาม ผมบอกในสภาวะที่เผลอสติ ตอนนี้เผลอสติเพราะประหม่า แต่เวลาที่เจริญสติ ไม่มีจริงๆ ผมยอมรับว่า ผมไม่ได้มีสติต่อเนื่องตลอด

    สุ. กิเลสที่ดับแล้วจะไม่เกิดอีกเลย ความรู้ที่เจริญแล้วจะไม่เสื่อมลงไป และการประจักษ์แจ้งสภาพธรรมก็จะไม่ย้อนกลับมาเป็นไม่ประจักษ์แจ้งอีก เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ยังไม่ได้ประจักษ์ เพราะถ้าประจักษ์ จะไม่ย้อนกลับไปเป็นไม่รู้อีก ถ้าเคยรู้แล้วจะกลับไปเป็นไม่รู้อีกไม่ได้

    ถ. ผมคงจะเข้าใจผิดมากเลย ถ้าอย่างนั้น ผมมองในแง่ของปัญญาญาณตอนนั้นว่า ขณะที่เจริญสตินั้น รู้ด้วยญาณเลยว่าไม่มีตัวตน ...

    ที่อาจารย์ถามเมื่อกี้ ถ้าบอกในแง่ที่ไม่ได้เจริญสติ มีตัวตนอยู่เต็มเปี่ยม ถ้าเผลอมีแน่ แต่เมื่อใดที่ไม่เผลอ ไม่มี แต่มีปัญหาว่า มาถึงช่วงนี้แล้ว ผมรู้สึกว่าตอนนี้ผมไม่มีทุกข์ เวลาทุกข์มาปั๊บ ผมก็เจริญสติทันที คือ เกิดขึ้นทันทีเลย จึงสงสัย แต่ไม่ได้สงสัยว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์หรือยัง ไม่ใช่อย่างนั้น สงสัยในธรรมว่า แค่นี้พอแล้ว หรืออย่างไร

    สุ. ไม่พอ และยังไม่ใช่ปัญญาที่รู้ปรมัตถสัจจะด้วย ต้องค่อยๆ ฟัง และ ทิ้งความเห็นเก่าๆ

    ถ. ปรมัตถสัจจะ ผมก็เข้าใจ มองเห็นปรมัตถ์เลยว่าเป็นอย่างไร

    สุ. แต่ไม่ใช่ประจักษ์ เพียงเริ่มเข้าใจเรื่องของสภาพธรรม

    ถ. ขอบพระคุณมาก

    สุ. การที่จะรู้พระพุทธศาสนาจริงๆ มีหนทางเดียว คือ ต้องศึกษา พระธรรมอย่างละเอียดรอบคอบ โดยที่ไม่ใช่เพียงฟังจากแต่ละบุคคล แต่ต้องศึกษาโดยตรงจากพระไตรปิฎก ผู้ที่ไม่ศึกษาพระธรรมและคิดว่าจะเข้าใจพระธรรมได้โดย ไม่ศึกษา ผู้นั้นเป็นผู้ที่ประมาทพระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดง พระธรรมว่า ไม่ต้องศึกษาก็เข้าใจได้

    ที่กล่าวถึงเรื่องนี้ก็เพราะมีบางท่านบอกว่า ควรจะแสดงธรรมขั้นต้นๆ สำหรับคนทั่วๆ ไป ซึ่งท่านก็ทราบว่า ธรรมระดับนั้นก็แสดงกันอยู่แล้ว แต่ผลคืออะไร เราต้องคิดถึงผลว่า ผลคืออะไร ต้องการผลอะไร ผลคือไม่รู้จริงในพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาค ซึ่งทำให้มีความสับสนและไม่สามารถแยกได้ว่า ข้อความใดถูก ข้อความใดผิดจากสภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้วิชาการอย่างอื่นยังต้องศึกษาหลายปี เพราะฉะนั้น ไม่มีข้ออ้างเลยที่จะกล่าวว่า ไม่ต้องศึกษาพระพุทธศาสนา และคิดว่าจะเข้าใจพระพุทธศาสนาได้

    ถ้าบางท่านเห็นว่า ไม่ต้องกล่าวถึงพระธรรมโดยละเอียด ก็จะเหมือนกับ เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ซึ่งข้อความใน อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค มหาวรรค อภิสมยสังยุต อรรถกถาสุสิมสูตร กล่าวถึงอาการของ ผู้ขโมยพระธรรม ผู้ใคร่ลาภสักการะ และเห็นว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรง แสดงนั้นนำมาซึ่งลาภ สักการะ บูชา สรรเสริญจากมหาชน ผู้ใคร่ลาภสักการะ พวกนั้น คือ พวกเดียรถีย์ปริพาชก ก็คิดว่า

    ถ้าพวกเราพึงรู้อย่างละหน่อยๆ จากสิ่งที่พระสมณโคดมรู้ เราพึงใส่ลัทธิของตนในคัมภีร์นั้น กล่าวแก่อุปัฏฐากทั้งหลาย ต่อแต่นั้นเราพึงเป็นผู้มีลาภมากกว่าสาวกเหล่านั้น

    สมัยนี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้าพุทธบริษัทไม่ศึกษาพระธรรม และนำเอาพระธรรมเพียงเล็กน้อยมาเพิ่มเติมความเห็นของตนเองทั้งปริยัติและปฏิบัติ ก็จะเห็นได้ว่า ไม่ได้เป็นไปเพื่อความเข้าใจจริงๆ ในพระธรรม แต่เหตุใดจึงทำอย่างนั้น แสดงให้เห็นว่า การขโมยพระธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้นเพื่อใช้สอยลาภสักการะ และการยกย่องสรรเสริญก็มี

    ด้วยเหตุนี้ทุกท่านจึงต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อพระธรรม และมีความจริงใจต่อการศึกษาพระธรรม เพื่อเข้าใจพระธรรม และละคลายขัดเกลาอกุศลของตนเอง เพราะว่าทุกคนที่ศึกษาพระธรรมย่อมรู้ว่า ตนเองมีอกุศล ถ้าไม่มีอกุศลคงจะไม่ศึกษาพระธรรมเป็นแน่ แต่อกุศลที่คิดว่ารู้แล้ว ความจริงละเอียดมากกว่านั้นมาก ซึ่งถ้า ไม่พิจารณาโดยรอบคอบ อาจจะไม่เห็นความละเอียด เช่น ดิฉันได้ฟังทางวิทยุ ถ้าพิจารณาเผินๆ เพียงบางประการก็ดูจะเป็นความจริง คือ ท่านผู้นั้นกล่าวว่า คนเราย่อมมีทั้งดีและชั่ว บางคนตอนแรกเป็นคนดี แต่ตอนหลังบั้นปลายของชีวิตก็ชั่ว ส่วนบางคนนั้นตอนแรกเป็นคนชั่ว แต่ตอนหลังบั้นปลายของชีวิตก็กลับเป็นคนดีได้ เพราะฉะนั้น ท่านผู้นั้นก็กล่าวว่า ตามลัทธิศาสนานั้นก็ตัดสินกันตอนจะตายว่า ก่อนจะตายนั้นคนนั้นเป็นคนดีหรือเป็นคนชั่ว คือ หมายความว่าสามารถกลับตัว ได้ไหม แสดงให้เห็นว่า ผู้นั้นเข้าใจว่า ความดีและความชั่วจบลงตอนตาย

    แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย ตราบใดที่ยังมีเหตุมีปัจจัย ผลก็ยังต้องเกิด ต้องมีตราบนั้น ไม่ใช่ว่าเป็นคนดีตอนตายแล้วก็ไม่ต้องเกิดอีก ถ้าท่านผู้นั้นมีทั้งดี และชั่วอยู่ในใจ แต่ยังไม่แสดงออกทางกาย ทางวาจา คนอื่นจะรู้ได้ไหม เพราะฉะนั้น ไม่พอที่จะกล่าวสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพียงเผินและก็รับฟัง และก็คิดว่าถูก แต่ต้องพิจารณาละเอียดกว่านั้นมาก

    ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งกล่าวว่า เมื่อท่านได้รับฟังพระธรรมแล้ว เวลาที่อกุศลจิตเกิดกับท่าน แม้แต่ใจที่จะน้อมไปไม่ให้คิดถึงเรื่องเก่าๆ ที่ทำให้โกรธบุคคลนั้นก็ยังทำไม่ได้ คือ ฟังและเข้าใจทุกอย่างว่า ไม่ควรคิดถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ไม่ควรคิดถึงความไม่ดีที่ คนนั้นได้กระทำต่อตนไปแล้ว ทั้งๆ ที่คิดอย่างนี้ แต่ที่จะไม่ให้ใจขุ่นเคืองนั้น ไม่ได้ และที่จะไม่ให้ไม่คิด ก็ไม่ได้เหมือนกัน

    แสดงให้เห็นถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมว่า แม้แต่ความจำ แม้แต่การที่วิตกจะตรึกนึกถึงเรื่องเก่าๆ ก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา และแม้ใน ขณะนั้นเองที่กำลังคิดถึงเรื่องเก่าที่ทำให้ขุ่นใจในบุคคลนั้น ท่านก็รู้สึกว่า จิตใจของท่านเร่าร้อน เป็นทุกข์ ไม่สบายเลย และท่านก็ยังคิดขึ้นได้ว่า เพียงกุศลจิตเกิดในขณะนั้น ย่อมสงบความทุกข์เร่าร้อนในขณะนั้นได้ แต่แม้กระนั้นกุศลก็ไม่เกิด และ การที่จะไม่ให้คิดอย่างนั้น ก็เป็นไปไม่ได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่า เพียงกุศลจิตเกิดและไม่คิดถึงเรื่องนั้น ความสงบจากความทุกข์ก็จะเกิดได้

    ท่านยังคิดต่อไปอีกว่า ถ้าเพียงกุศลจิตเกิด และขณะที่ความทุกข์เร่าร้อนนั้น สงบไปแม้ชั่วครู่ ก็ยังสบายอย่างนั้น ถ้ากิเลสดับหมดไม่เหลือเลยสักประเภทเดียว ความสุขความสงบจะสักเพียงไหน แต่แม้อย่างนั้น ขณะนั้นก็ยังไม่สามารถเป็น อย่างนั้นได้ แสดงให้เห็นว่า กว่าจะรู้ว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ย่อมยากกว่าการที่เพียงแต่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลและถ้าอกุศลนั้น สงบลง กุศลจิตเกิดก็จะมีความสงบ

    เนื่องจากยังมีความเป็นตัวตน ยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนทั่ว เพราะฉะนั้น จึงไม่สามารถระงับแม้แต่ความเร่าร้อน ความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะนึกถึงเรื่องเก่าๆ ที่ทำให้ไม่สบายใจได้

    นี่คือชีวิตตามปกติตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นสัจจธรรม เป็นความจริงสำหรับทุกท่านที่จะรู้จักตนเองว่า ท่านมีกุศลประเภทใด และมีอกุศลประเภทใด เพราะบางท่านมักจะนึกถึงเรื่องเก่าๆ และไม่อภัย และก็เป็นอย่างนี้บ่อยๆ บังคับตัวเองก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น มีทางเดียว คือ อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จนกว่าจะดับการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้จริงๆ ไม่มีหนทางอื่นเลย นอกจากการประจักษ์แจ้งปรมัตถสัจจะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลสักลักษณะเดียว

    ปรมัตถโชติกา อรรถกถา อุรควรรค สุตตนิบาต อรรถกถาอาฬวกสูตร มีข้อความว่า

    บทว่า สจฺเจน ความว่า บุคคลย่อมได้ชื่อเสียงอย่างนี้ คือ ผู้พูดคำสัตย์ พูดคำจริง ย่อมได้ชื่อเสียง ด้วยสัจจะบ้าง พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอริยสาวกย่อมได้ชื่อเสียง ด้วยปรมัตถสัจจะบ้าง

    เพราะฉะนั้น ปัญญาเท่านั้นที่สามารถรู้สภาพธรรมทุกอย่างได้ตามความ เป็นจริง แต่ต้องอาศัยการฟังพระธรรม การพิจารณาพระธรรม การเป็นผู้ที่ละเอียดและการเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาเป็นลำดับขั้นด้วย

    การฟังพระธรรมจะทำให้เข้าใจเรื่องเหตุปัจจัย และผลซึ่งเกิดจากเหตุปัจจัย นั้นๆ เพื่อให้ระลึกได้ในชีวิตประจำวันว่า เป็นเพียงสภาพธรรมทั้งหลาย

    บางสภาพธรรมก็เป็นเหตุ บางสภาพธรรมก็เป็นผล ซึ่งเกิดเนื่องสืบต่อกันตลอด เช่น ในการเกี่ยวเนื่องสืบต่อกันของอาหาร ๔ ที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ กวฬิงการาหาร ๑ ผัสสาหาร ๑ มโนสัญเจตนาหาร ๑ วิญญาณาหาร ๑ ซึ่งตราบใดที่ยังมีอาหารเป็นปัจจัย ก็จะทำให้มีผลคือการเกิดดับสืบต่อในสังสารวัฏฏ์ จนกว่าจะดับอาหารได้หมด



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๘ ตอนที่ ๑๙๗๑ – ๑๙๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 147
    28 ธ.ค. 2564