แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1983


    ครั้งที่ ๑๙๘๓


    สาระสำคัญ

    เห็นธรรมเป็นธรรม ไม่ต้องกังวลเรื่องชื่อ

    กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน -กายที่เคยยึดถือว่าเป็นเรานั้น เป็นธรรม

    ศีลคืออะไร เมื่อไร

    สุตต.อ. อุรค-สูตร - โลภะมีมากทั้ง ๕ ขันธ์


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔


    ถ. ผมติดตามฟังการบรรยายของอาจารย์มา ๒๐ กว่าปีแล้ว แต่ผมไม่มีโอกาสมากราบเรียนถาม ปัจจุบันผมสมาทานอุโบสถเป็นประจำ และถูกเชิญไปบรรยายธรรมในที่ต่างๆ หลายที่ และมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติมาก

    สุ. ท่านผู้ฟังสนใจเรื่องปัญญามากกว่าเรื่องของการนั่งจ้องสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือเปล่า ผู้ที่สนใจพระธรรมอยากจะปฏิบัติ แต่ถ้าไม่มีปัญญาจะปฏิบัติได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ยังไม่ควรพูดถึงเรื่องการปฏิบัติ แต่ควรพูดถึงเรื่องการที่จะเข้าใจธรรม เพราะถ้าไม่เข้าใจธรรม ไม่สามารถรู้ได้ว่า จิตที่สงบต่างกับจิตที่ไม่สงบอย่างไร ก็จะเพียงแต่ไปจ้องเพื่อให้จิตสงบตั้งมั่น และหลงเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นกุศล ...

    ถ. ก็เข้าใจที่อาจารย์ว่า หมายความว่าเมื่อนิมิตมาปรากฏแล้ว ส่วนมากเขาจะเข้าใจกันว่าเป็นกุศล

    สุ. ต่อไปนี้ชักชวนให้เขาสนใจเรื่องการอบรมเจริญความเข้าใจ ความรู้ ในพระพุทธศาสนาจะดีกว่าไหม และเรื่องของจิตที่จะสงบ หรือเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละท่านที่เข้าใจแล้ว แต่ถ้ายังไม่เข้าใจเลย อย่าไปชักชวนใครให้ทำสมถะ หรือวิปัสสนา เพราะเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ตั้งต้นด้วยการช่วยกันทำให้เขาเกิดความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาให้ถูกต้อง

    ถ. ในขณะที่เราสวดมนต์ ส่วนมากผู้รักษาอุโบสถจะสวดมนต์เป็นกิจวัตรประจำ แต่ผมเองเวลาสวดก็รู้ความหมายของพระพุทธคุณด้วย เพราะว่ารู้คำแปล และปีติที่เกิดขึ้นจากการสวดมนต์นี้ ถ้าพิจารณาเป็นสติปัฏฐานในข้อธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานจะได้ไหม

    สุ. ส่วนใหญ่ท่านผู้ฟังติดว่าจะทำอย่างนี้หรือจะทำอย่างนั้น แต่ให้ทราบว่า สติเป็นอนัตตา แม้ในขณะนี้เอง เดี๋ยวนี้เอง ก็มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่สติระลึกหรือหลงลืมสติเท่านั้นเอง ไม่ใช่เลือกจะเอาอย่างนั้นอย่างนี้มาให้สติระลึก

    ถ. คือ ให้สติเกิดขึ้นตามรู้

    สุ. ให้สติเกิดขึ้นไม่ได้ แล้วแต่สติจะเกิดหรือไม่เกิด

    ถ. และพิจารณาว่าเป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    สุ. ไม่ต้องใช้ชื่อ

    ถ. ปีติเป็นเวทนา ใช่ไหม เข้าใจว่าเป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    สุ. ถ้ายังคงติดชื่อ ปัญญาจะไม่เจริญ เพราะฉะนั้น แทนที่จะนึกถึง กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน กังวลแต่ชื่อ จะไม่ทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เพราะมัวแต่คิดว่า นี่เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือเป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ให้เข้าใจว่า สภาพธรรมมีจริงๆ และในขณะนี้เองเป็นสภาพธรรม เมื่อได้ฟังว่าธรรมคือสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เช่น ขณะนี้รู้ว่า เห็นมีจริงเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง สิ่งที่กำลังปรากฏทางตามีจริงเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะที่สติระลึกและรู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ต้องกังวลไหมว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานหรืออะไร

    ถ. ไม่ต้องกังวล

    สุ. ไม่ต้องกังวล เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง นั่นถูกแล้ว แต่ด้วยเหตุใดพระผู้มีพระภาคแม้ว่าเป็นธรรมแต่ก็แยกเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    ที่เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะขณะนั้นระลึกสภาพธรรมที่กายหรือเนื่องกับกาย ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นกาย แต่ก็คือธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าจะไม่กล่าวว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้ไหม ขณะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย

    ถ. ถ้าสภาพธรรมที่กายปรากฏ ก็รู้เท่าทันภาวะที่เกิดทางกาย เป็น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ใช่ไหม

    สุ. พระผู้มีพระภาคทรงแยกเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะว่าเคยจดจำ เคยยึดถือกายว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เพราะฉะนั้น เมื่อระลึก สภาพธรรมที่กายซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเราก็มีความรู้ความเข้าใจว่า กายที่เคยยึดถือว่าเป็นเรานั้นเป็นธรรม คือ ให้เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงๆ ว่าเป็นธรรม แล้วแต่ว่า จะระลึกที่ไหน เช่น เวทนา ความรู้สึก ก็มีจริง และเกิดกับจิตทุกขณะ ขณะนี้ก็กำลังมีเวทนา ความรู้สึกเฉยๆ แต่บางคนหาไม่เจอ ไม่ทราบว่าจะระลึกเวทนาอะไร

    แสดงให้เห็นว่า แม้เวทนามีจริง แต่ขณะใดที่สติไม่ได้ระลึก ขณะนั้นจะไม่รู้ว่า ความรู้สึกนั้นเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่ตัวตน เกิดแล้วก็ดับไป และ ขณะที่สติระลึกที่ความรู้สึก รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะนั้นจะไม่กล่าวว่า เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานได้ไหม

    ถ. เวทนาเกิดขึ้น ถ้าสติเรากำหนดรู้ขึ้น ก็ว่าเป็นเวทนา ...

    สุ. ไม่ต้องกล่าวว่าเป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานได้ไหม เพราะว่าข้อความตอนท้ายของทุกบรรพ คือ เห็นธรรมเป็นธรรม ทั้งหมดเป็นธรรม เวทนาก็เป็นธรรม ธาตุต่างๆ ที่กายก็เป็นธรรม จิตประเภทต่างๆ ก็เป็นธรรม ธรรมทั้งหลายเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ทุกบรรพของสติปัฏฐาน เห็นธรรมเป็นธรรม ไม่ต้องกังวลเรื่องชื่อ ที่จะต้องถามว่า จะเป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานไหม

    ถ. ผู้ที่รักษาอุโบสถก็ดี ขณะหลับจะมีศีลหรือไม่ มีผู้สงสัยมาก ขณะที่ตื่นเข้าใจว่า สมาทานแล้วก็มีศีลแล้ว แต่ขณะที่หลับ ตอนนั้นมีศีลหรือไม่

    สุ. ต้องทราบว่า ศีลคืออะไร เมื่อไหร่

    ถ. ศีลอันนี้เป็นแบบสมาทานชั่วคราว ชั่ววันหนึ่งคืนหนึ่ง ก็สมาทานติดต่อกันไปทั้งวันทั้งคืน แต่เมื่อรักษาอุโบสถ ขณะที่หลับ ชื่อว่าผู้นั้นมีศีลไหม

    สุ. ถ้าเป็นการสมาทาน หมายความถึงเจตนาศีล ชั่วขณะที่สมาทานเท่านั้น หลังจากสมาทานเสร็จแล้วอกุศลจิตก็เกิดได้ เพราะฉะนั้น ที่เป็นศีล ได้แก่ เจตนาศีล ซึ่งเป็นขณะที่สมาทานประเภทหนึ่ง และได้แก่วิรัติ คือ วิรตีเจตสิกเกิดขึ้นกระทำกิจวิรัติทุจริตอีกประเภทหนึ่ง และสมุจเฉทวิรัติ คือ ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล เป็นผู้ที่ไม่กระทำการล่วงศีลตามลำดับขั้น อย่างพระโสดาบันบุคคล ท่านก็มีศีล ๕ สมบูรณ์

    เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่า ผู้ใดที่สมาทานศีลแล้ว นอนหลับก็ยังมีศีล เพราะการสมาทานเป็นชั่วขณะที่เจตนาเท่านั้นเอง ถ้าสมาทานตอนเช้าก็ชั่วขณะที่สมาทาน จบ เสร็จ และอกุศลจิตก็เกิดได้ อาจจะมีการล่วงศีลได้ด้วย ถ้าขณะนั้น วิรตีเจตสิกไม่เกิด เพราะว่าการสมาทานเป็นแต่เพียงชั่วขณะที่มีเจตนาที่จะสมาทานถือเอาเป็นข้อปฏิบัติ

    ถ. อย่างนั้นขณะที่นอนหลับก็ไม่มีวิรตีเจตสิก ตอนนั้นศีลก็ไม่เกิด ใช่ไหม

    สุ. ไม่มี ต้องทราบว่าเป็นกุศลเจตนา สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ยังมี กุศลจิต อกุศลจิต แต่ขณะใดที่มีการจงใจตั้งใจสมาทานวิรัติทุจริต ชั่วขณะนั้น เป็นกุศล แต่ไม่ได้หมายความว่ากุศลจิตจะเกิดต่อไปเรื่อยๆ เพียงชั่วขณะที่สมาทานเท่านั้น เพราะฉะนั้น ขณะใดที่วิรตีเจตสิกเกิด แม้ไม่สมาทาน คือ วันนี้ไม่ได้สมาทาน แต่วิรัติทุจริต ไม่ฆ่ามด ไม่ฆ่ายุง ในขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นวิรตีเจตสิกที่เกิดขึ้นกระทำกิจวิรัติ ในขณะนั้นเป็นศีล แต่ไม่ได้หมายความว่าขณะที่นอนหลับจะเป็นศีล เพราะว่าสมาทานไว้ตั้งแต่เช้า

    มีข้อสงสัยอื่นไหม

    สภาพธรรมทั้งหลายในขณะนี้ แม้ว่ามีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นและดับไป ทุกขณะ แต่ทุกท่านก็ไม่เห็นว่าเป็นสภาพธรรม ยังเห็นว่าเป็นเรา หรือเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะว่าธรรมเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง เพราะเห็นยาก

    ไม่ใช่เพียงแต่ฟัง และเข้าใจเรื่องสภาพธรรม เรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป แต่ต้องเป็นการเห็นลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และถึงแม้เพียงการฟังให้เข้าใจเรื่องของจิต เจตสิก รูป ก็ยังต้องฟังบ่อยๆ พิจารณาบ่อยๆ ให้เข้าใจถูกต้องจริงๆ ปัญญาจึงจะค่อยๆ เจริญขึ้นตามลำดับขั้น จนสามารถประจักษ์ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปตามความ เป็นจริงได้ แต่ต้องทราบว่า เป็นเรื่องของปัญญาตั้งแต่ต้น คือ ตั้งแต่ฟังเข้าใจเรื่อง ของสภาพธรรม

    ท่านผู้ฟังได้ฟังแล้วว่า โลภะเกิดเป็นประจำทุกวันอย่างมากทีเดียว แต่เคยเห็นลักษณะของโลภะบ้างหรือยังที่เกิดขึ้นเป็นปกติ เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีผู้ใดกล่าวว่า ละคลายโลภะได้แล้ว โดยไม่รู้เลยว่าขณะใดโลภะกำลังเป็นไปทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ คนนั้นจะกล่าวถูกไหมว่า ละโลภะได้แล้ว โดยที่ไม่เคยรู้ลักษณะของโลภะในวันหนึ่งๆ ตามความเป็นจริง

    ทุกท่านสะสมโลภะไว้มาก แต่บางท่านอาจจะคิดว่า ที่ว่ามากก็คงไม่มากเท่าไร เพราะท่านรู้สึกว่ามีโลภะเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไม่มากเท่าไร ด้วยเหตุนี้จึงต้องอาศัย การฟังพระธรรมโดยละเอียดขึ้นๆ และพิจารณาตามให้รู้ว่า ถ้าปัญญายังไม่ได้อบรมเจริญจริงๆ ไม่มีหนทางเลยที่จะละคลาย ดับโลภะ หรือความยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะขณะใดที่มีความยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ขณะนั้นก็เป็นโลภะประเภทหนึ่งซึ่งเกิดร่วมกับความเห็นผิด

    ขอกล่าวถึงข้อความใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา สุตตนิบาต อรรถกถา อุรควรรค อุรคสูตร เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาว่า โลภะมีมากมายเพียงใด และทั่วไปเพียงไร ซึ่งจะได้ทราบว่า โลภะมีมาก ทั้ง ๕ ขันธ์

    ข้อความมีว่า

    กิเลสชาตมีวัฏฏะเป็นมูลนั้น ไม่ควรกล่าวว่า มีในรูปขันธ์เท่านั้น ไม่มีใน ขันธ์อื่น

    แค่นี้ก็น่าพิจารณาแล้ว เพราะบางท่านรู้ตัวว่า ท่านมีโลภะในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เนื่องจากวันหนึ่งๆ ต้องการเท่านั้นเอง คือ ต้องการ รูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะบ้าง แต่ข้อความใน อรรถกถา อุรคสูตร มีว่า

    กิเลสชาตมีวัฏฏะเป็นมูลนั้น ไม่ควรกล่าวว่า มีในรูปขันธ์เท่านั้น ไม่มีในขันธ์อื่น หรือไม่ควรกล่าวว่า มีในวิญญาณขันธ์เท่านั้น ไม่มีในขันธ์อื่น เพราะเหตุไร เพราะเหตุที่ว่ากิเลสชาตนั้นนอนเนื่องอยู่ในขันธ์ทั้ง ๕ โดยไม่พิเศษกว่ากัน (โดยไม่แปลกกัน) คืออย่างไร คือกิเลสชาตที่นอนเนื่องอยู่ในขันธ์ ๕ นั้น เปรียบเหมือนรสแห่งแผ่นดินเป็นต้น ซึ่งติดอยู่ที่ต้นไม้ฉะนั้น เหมือนอย่างว่า เมื่อต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ที่แผ่นดิน อาศัยรสแห่งดินและรสแห่งน้ำ เจริญงอกงามขึ้นด้วยราก ลำต้น กิ่ง ใบอ่อน ใบแก่ ดอก และผล เพราะได้อาศัยรสแห่งดินและรส แห่งน้ำนั้นเป็นปัจจัย ทำท้องฟ้าให้เต็ม มีการสืบต่อเชื้อสายของต้นไม้ไว้ ก็เพราะพืชที่สืบต่อกันมา ดำรงอยู่ได้จนถึงกัลปาวสาน

    รสแห่งแผ่นดินเป็นต้นนั้น ไม่ควรจะกล่าวว่า มีอยู่ที่รากเท่านั้น หาอยู่ที่ลำต้นและส่วนอื่นๆ เป็นต้นไม่ หรือไม่ควรจะกล่าวว่า มีอยู่ที่ผลเท่านั้น หาได้มีอยู่ที่รากเป็นต้นไม่ เพราะเหตุไร เพราะรสแห่งแผ่นดินเป็นต้นซ่านไปในรากเป็นต้น (ของต้นไม้นั้น) ทั้งหมดทีเดียว โดยไม่พิเศษกว่ากันฉันใด กิเลสชาตก็ฉันนั้น

    นี่คือโลภะ ไม่ใช่อยู่ที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเท่านั้น แต่อยู่ที่เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ คือ ทั่วทั้ง ๕ ขันธ์จริงๆ เหมือนกับต้นไม้ที่อาศัยรสดิน รสน้ำ จึงเจริญเติบโตขึ้น และจะกล่าวว่า ที่ยอดไม่มีรสของดิน ไม่มีรสของน้ำ หรือที่ลำต้นไม่มีรสของดิน ไม่มีรสของน้ำก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ตัณหาคือ ความยินดีพอใจซ่านทั่วไปหมดในขันธ์ทั้ง ๕

    ถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนี้จะละได้ไหม อาจจะคิดว่าละโลภะไปมากแล้ว แต่ถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่รู้ว่าโลภะมีในขณะไหนบ้าง ไม่สามารถละโลภะนั้นได้เลย

    ถ้าไม่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะไม่เห็นโลภะ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติ เจริญสติปัฏฐานเมื่อไรจะเห็นโลภะเมื่อนั้น เช่น ในขณะที่กำลังเอื้อมมือไปหยิบ สิ่งหนึ่งสิ่งใด ก่อนนั้นหลงลืมสติ แต่เมื่อสติเกิดจะไม่เห็นโลภะหรือ ที่ทำให้มือเอื้อมไปหยิบสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    แม้แต่ในขณะที่ลืมตาตื่นขึ้นและจะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก่อนนั้นหลงลืมสติ แต่เมื่อสติเกิด โลภะทั้งวัน ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานที่จะไม่เห็นโลภะ ที่จะไม่รู้ลักษณะของโลภะ ที่จะไม่รู้ว่ามีโลภะมากในชีวิตประจำวันนั้น ไม่มี ด้วยเหตุนี้หนทาง อบรมเจริญปัญญา จึงเป็นหนทางที่ทำให้รู้โลภะตามความเป็นจริง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่า บุรุษบางคนเบื่อในดอกและผลเป็นต้นของ ต้นไม้นั้นนั่นแหละ จะพึงใส่ยาพิษชื่อมันฑุกกัณฑกะลงที่ต้นไม้ในทิศทั้ง ๔ เมื่อเป็นเช่นนั้น ต้นไม้นั้นได้รับสัมผัสที่เป็นพิษนั้นถูกต้องเข้าแล้ว ก็ไม่พึงสามารถเพื่อจะให้การสืบต่อเกิดขึ้นอีกได้ เพราะมีน้ำออกน้อยเป็นธรรมดา เนื่องจากรสแห่งแผ่นดินและรสแห่งน้ำถูกยาพิษครอบงำแล้วฉันใด กุลบุตรผู้เบื่อหน่ายในความเป็นไปของขันธ์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ปรารภการเจริญมรรค ๔ ในสันดานของตน ดุจการที่ บุรุษนั้นประกอบยาพิษในทิศทั้ง ๔ เมื่อเป็นเช่นนั้น ขันธสันดานนั้นของกุลบุตรนั้น ที่แตกต่างกันโดยกรรมทั้งปวง มีกายกรรมที่เข้าถึงสักว่าความเป็นกิริยาเป็นต้น เพราะกิเลสมีวัฏฏะเป็นมูลถูกสัมผัสคือยาพิษในมรรคทั้ง ๔ นั้นครอบงำแล้ว โดยประการทั้งปวง จึงไม่สามารถที่จะทำสันดานคือภพใหม่ให้บังเกิดได้ เพราะถึงความไม่เกิดขึ้นในภพใหม่เป็นธรรมดา ดุจไฟป่าบังเกิดขึ้นแล้วดับไปเพราะหมดเชื้อฉะนั้น

    ฟังข้อความนี้อีกบ่อยๆ สักเท่าไร แต่ได้พิจารณาให้เข้าใจจริงๆ หรือเปล่าว่า การที่เมล็ดพืชเมื่อได้รับรสของดิน รสของน้ำ และเจริญเติบโต และมีเมล็ดพืชอีก และตกไปสู่พื้นดิน ก็ได้รับรสของดิน รสของน้ำ และมีการเติบโตอยู่ พืชที่เกิดสืบต่อ เชื้อสายของต้นไม้ไว้ ดำรงอยู่ได้จนถึงกัลปาวสานฉันใด โลภะที่มีอยู่ในจิตใจของ แต่ละคน ก็เป็นพืชเชื้อที่จะทำให้มีการเกิดอีกๆ เรื่อยๆ จนถึงกาลข้างหน้าซึ่งนับไม่ได้เลย แสดงให้เห็นว่า การละคลายอกุศล สามารถดับความเห็นผิดจนกระทั่งมีการ เกิดอีกเพียง ๗ ชาติ เป็นพระโสดาบันบุคคล จะต้องเป็นปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง และก่อนอื่นต้องเป็นผู้ที่เห็นโลภะของตนเองว่า มีมากมายจริงๆ และ รู้หนทางว่า การที่จะดับละคลายโลภะนั้นได้ ไม่ใช่โดยหนทางอื่นเลย นอกจากระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แม้เพียงพระสูตรเดียว และพิจารณาให้เข้าใจจริงๆ ย่อมสามารถเข้าใจตลอดถึง พระสูตรอื่น และพระธรรมอื่นๆ ทั้งหมดได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๙ ตอนที่ ๑๙๘๑ – ๑๙๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 147
    28 ธ.ค. 2564