แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1954


    ครั้งที่ ๑๙๕๔


    สาระสำคัญ

    มัชฌิมาปฏิปทา

    อีกชื่อหนึ่งของทุกคน คือ “คุณประมาท”

    อรรถกถาสูตรที่ ๖ - พระโพธิสัตว์ทรงเริ่มปรารถนาธรรม คือ จักรเทศนาญาณเป็นโลกียะ ปฏิเวธญาณเป็นโลกุตตระ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๓๓


    สำหรับมัชฌิมาปฏิปทา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัส ในโลกได้ นี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา

    เพราะฉะนั้น ไม่มีข้อสงสัยเลยในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ต้องทรมานตน แต่ก็ต้องไม่ปล่อยตนจนกระทั่งเพลิดเพลินหมกมุ่นมากในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    นี่ก็เป็นปัญหาของท่านผู้ฟังใหม่ ซึ่งท่านสนใจ และถามเรื่องการปฏิบัติ

    และมีปัญหาของท่านผู้ฟังเก่าด้วย ท่านผู้ฟังเก่าท่านหนึ่ง ท่านมีความรู้สึกว่า ท่านมีความสนใจในพระธรรมน้อยลง นี่ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ จะมีการขึ้นๆ ลงๆ แล้วแต่ว่าใครจะขึ้นได้บ่อยๆ นานๆ หรือใครจะลงไปเรื่อยๆ เพราะยังมีกิเลส เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย แล้วแต่สภาพแวดล้อมที่จะทำให้ แต่ละบุคคลเปลี่ยนแปลงไป

    สำหรับท่านผู้ฟังท่านนี้ท่านรู้สึกว่า ท่านเข้าใจธรรมแล้ว และรู้ว่าหนทางปฏิบัติที่ถูกต้องนั้นคืออย่างไร และที่ท่านไม่ได้มาฟังพระธรรมเหมือนก่อนก็เพราะว่าเหมือนกับเป็นเรื่องที่ท่านรู้แล้ว เพราะฉะนั้น ท่านก็ขาดการฟัง เมื่อขาดการฟังจากที่นี่ ก็ทำให้ค่อยๆ ขาดการฟังจากที่อื่นด้วย เช่น จากวิทยุ

    ที่เป็นอย่างนี้ ทุกท่านจะต้องทราบว่า เรื่องการคบหาสมาคมเป็นสิ่งสำคัญ เป็นสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยที่เป็นอุปนิสสยปัจจัย คือ เป็นปัจจัยที่มีกำลัง ถ้าขาดการคบหาสมาคมกับพระธรรม คือ ขาดการฟังบ่อยๆ หรือขาดการอ่าน ขาดการสนทนาธรรม ซึ่งชีวิตประจำวันทุกวัน และทั้งวัน โอกาสของกิเลสมีมากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น การได้ฟังพระธรรม หรือพิจารณาธรรม หรือสนทนาธรรม เป็นเพียงโอกาสที่สั้นและเล็กน้อยมากที่ขณะนั้นอกุศลไม่มีกำลังพอที่จะให้ไม่ฟัง แต่เวลาที่เกิดการไม่ฟัง หรือเกิดการสนใจที่น้อยลง จะเห็นได้ว่า ขณะนั้นเป็นการเปิดช่องให้กิเลสที่มีอยู่แล้ว ในชีวิตประจำวัน มีโอกาสที่จะมีกำลังเพิ่มขึ้นอีกจากการไม่ฟังธรรม จากการ ไม่พิจารณาธรรม จากการไม่สนทนาธรรม

    แต่อีกท่านหนึ่งซึ่งเรียนมาด้วยกัน ฟังมาด้วยกัน สนทนาธรรมมาด้วยกัน ผู้นั้นยังคงอ่านพระธรรมเป็นประจำ และยังสนทนาธรรมเป็นประจำ เพราะฉะนั้น ท่านผู้นั้นก็กล่าวว่า ความสนใจในพระธรรมของท่านเพิ่ม มั่นคงขึ้น แสดงให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างต้องอาศัยเหตุปัจจัย สำหรับท่านที่คบหากับพระธรรม ก็มีความสนใจในพระธรรมเพิ่มขึ้น แต่ท่านที่คบหากับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็มีความยินดี ติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่า การอบรมเจริญปัญญาต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาทจริงๆ เพราะถ้าลดโอกาสของกุศลลง อกุศลที่มีกำลังอยู่แล้วจะมีกำลังเพิ่มขึ้นอีกทุกๆ วัน สะสมไปที่จะมีกำลังเพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้น เมื่อทราบว่ายังไม่สามารถชนะกิเลสได้ ก็ขอเพียงฟัง ไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงอย่าขาดการฟัง แต่ถ้ารู้ตัวเองว่า แม้เพียงการฟังก็ชักจะไม่ค่อยสนใจ หรือไม่มีศรัทธาพอที่จะฟัง ขณะนั้นก็แสดงให้เห็นถึงกำลังของการคบหาสมาคมกับอกุศลซึ่งมีกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ จนแม้แต่การฟังก็ไม่ฟัง

    ถ้าทุกท่านจะมีชื่ออีกชื่อหนึ่ง คงจะชื่อว่าคุณประมาท เพราะถ้าไม่ระวังจริงๆ กุศลที่เคยมีเป็นปกติเป็นประจำแล้วเสื่อมไป ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นผู้ที่ประมาทแล้ว และบางคนก็ประมาทมาก เพราะฉะนั้น ก็เตือนตัวเองว่า อีกชื่อหนึ่งของทุกคน ไม่ว่าจะชื่ออะไรกันก็ตามแต่ แต่อีกชื่อหนึ่ง คือ คุณประมาท

    บางคนก็มีความประมาทในความเข้าใจธรรมหรือในกุศลที่สะสมมา คิดว่ามั่นคงแล้ว จนกระทั่งถึงกับอยากจะทดลองกำลังของกิเลส นี่ก็เป็นผู้ที่ประมาท เพิ่มขึ้นไปอีก คือ ช่างไม่รู้เลยว่าอวิชชาและโลภะมีกำลังมากแค่ไหน ไม่ควรเลยที่ ใครจะไปทดลองกำลังของอวิชชาและโลภะ เพราะว่ามีกำลังอยู่ตลอดเวลาที่ สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม

    ถ้าจะอุปมา ก็เหมือนกับภพภูมิข้างหน้าเป็นอบายภูมิ พระธรรมและ กุศลทั้งหลายในชาตินี้ เหมือนเชือกที่ทุกท่านกำลังจับอยู่ที่จะไม่ปล่อยให้ตัวเอง ตกลงไปสู่อบายภูมิ แต่ถ้ากำลังที่จับนั้นอ่อนลงจนกระทั่งปล่อยมือจากพระธรรม ก็เป็นการแน่นอนว่าจะไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม และอกุศลธรรมที่ได้กระทำแล้วก็มีโอกาสที่จะทำให้ตกไปสู่อบายภูมิได้ โดยเฉพาะตกไปสู่เหวของอวิชชาซึ่งยากแสนยากที่จะขึ้นมาได้ เพราะว่าเป็นเหวลึก เพราะฉะนั้น ทางที่ดีทางหนึ่ง คือ อย่าลืมอีกชื่อหนึ่งของทุกคนว่าชื่อคุณประมาท

    มีใครไม่ได้ชื่อนี้บ้างไหม

    ถ้าเตือนตัวเองก็มีประโยชน์ เพราะจะทำให้เป็นผู้ที่มีจุดหมายที่มั่นคงในชีวิต คือ ไม่ว่าจะมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะว่ายังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท แต่ก็มีความมั่นคงที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้ง อริยสัจจธรรม

    ผู้ฟัง ผู้ที่ศึกษาธรรมแล้ว มีความเข้าใจบ้างแล้ว สติปัฏฐานก็เป็นแล้ว และเขาก็เป็นคุณประมาทอย่างที่อาจารย์ว่า ผมเองบางครั้งก็ได้ชื่อว่าคุณประมาท เพราะเคยมีความรู้สึกว่า ธรรม บางครั้งมันเซ็งๆ เนือยๆ เพราะไม่เหมือนกับที่อื่นเขา เขาไปนั่งและเห็นอะไรๆ วูบวาบๆ กันได้ เขาก็ตื่นเต้นกันไป แห่แหนกันไปก็มากมาย แต่อย่างที่อาจารย์บรรยายอยู่นี่ เป็นธรรมจักรจริงๆ เมื่อเป็นธรรมจักรแล้ว ก็ยาก เมื่อยากก็รู้สึกว่า ไม่เห็นอะไร ไม่ได้อะไรขึ้นมา

    สุ. มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ แต่ก็รู้สึกว่า ไม่เห็นอะไร กำลังเห็นเป็นธรรมกำลังได้ยินเป็นธรรม ชีวิตประจำวันไม่พ้นจากธรรม แต่ก็ไม่เห็นอะไร คำพูดนี้ก็จริง เพราะต้องเป็นปัญญาที่เห็น และที่จะเห็นว่าเป็นธรรมได้ ไม่ใช่เพียงขั้นการฟังเข้าใจ เพราะว่าขั้นการฟังเข้าใจเดี๋ยวเดียวก็หมดแล้วเรื่องฟัง เรื่องเข้าใจ แต่สภาพธรรม ไม่หมด เกิดมาแล้วที่สภาพธรรมจะหมด ไม่มี กำลังเห็นเป็นธรรม กำลังได้ยิน เป็นธรรม ตลอดชีวิตเป็นธรรม แต่ไม่เข้าใจ

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาซึ่งเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ที่แม้จะได้ฟังและเข้าใจว่าธรรมคือขณะปกติธรรมดาอย่างนี้ แต่ความไม่เข้าใจหรืออวิชชาที่สะสมมาและกิเลสบริวารทั้งหลายที่มีมาก ก็ทำให้เนือยไป รู้สึกว่า เป็นเรื่องธรรมดาๆ คิดว่าเข้าใจแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ปล่อยไป ปล่อยไปจนกว่า สติปัฏฐานจะเกิดเมื่อไรก็เมื่อนั้น นั่นชื่อว่าเป็นคุณประมาท แต่ถ้าขณะนั้นมีความเข้าใจเกิดขึ้นว่า ศรัทธาเสื่อมลง ความสนใจธรรมลดลง ก็ควรเป็นโอกาสของ โยนิโสมนสิการที่จะรู้ว่า ต้องคบหาสมาคมกับพระธรรมเพิ่มขึ้น มิฉะนั้นแล้วก็จะปล่อยตัวเองให้เป็นมือที่จับเชือกซึ่งอ่อนแรงลง และตกลงสู่เหวของอวิชชาอีกได้

    ผู้ฟัง แต่สำหรับตัวเองคงไม่เป็นอย่างเขา เพราะได้คบกับพระธรรมทุกวัน กลับไปตอนกลางคืน อาจารย์ไม่มีบรรยาย ผมก็ต้องหาเทปมาชดเชย เพราะม้วน เก่าๆ ก็ยังใช้ได้ แต่ก็มีบางครั้ง มีเหมือนกันที่เป็นคุณประมาท

    สุ. ก็เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับทุกคนที่ยังมีโลภะ โทสะ โมหะ มีกิเลส ทุกอย่างครบ เมื่อยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ก็มีโอกาสของอกุศลที่จะเกิดบ่อยมาก ซึ่งอกุศลทั้งหลายค่อยๆ เกิด ค่อยๆ สะสม ค่อยๆ มีกำลังเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว

    เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่เคยมีศรัทธาและรู้ว่าศรัทธาอ่อนลง ก็ต้องรู้หนทางว่า ถ้ายังไม่คบหาสมาคมกับพระธรรมเหมือนเดิม อกุศลทั้งหลายก็ต้องมีกำลังเพิ่มขึ้น เพราะว่าเปิดโอกาสให้อกุศลมีกำลัง ถ้ามีความเข้าใจถูกอย่างนี้ก็จะเป็นผู้ที่ประมาทน้อยลง

    แต่ถ้าทุกคนจะเตือนตัวเองว่าเป็นคุณประมาทก็ดี เพราะความจริงเป็นอย่างนั้น ขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ขณะนั้นเป็นอย่างนั้น ที่จะไม่ชื่อว่าคุณประมาท ในวันหนึ่งๆ ก็รู้ได้ คือ ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นไม่ชื่อว่าคุณประมาท

    ขอกล่าวถึงข้อความที่แสดงว่าพระโพธิสัตว์ทรงเริ่มปรารภธรรม คือ จักร ในครั้งไหน ซึ่งทุกท่านก็จะได้พิจารณาตัวเองว่า ถ้าความปรารถนาในการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมของท่านยังไม่มั่นคงจริงๆ ก็ไม่อาจสำเร็จสมความปรารถนานั้นได้ เพราะถึงแม้จะปรารถนาการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมแล้ว ก็ยังต้องอบรมเจริญกุศลธรรมไปจนกว่าจะบรรลุความปรารถนา

    มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต อรรถกถาสูตรที่ ๖ มีข้อความที่แสดงว่า พระโพธิสัตว์ทรงเริ่มปรารถนาธรรม คือ จักร

    ในบทว่า ปวตฺติตํ พึงทราบประเภทดังนี้ว่า

    ชื่อว่ากำลังปรารถนาอย่างจริงจังซึ่งพระธรรมจักร ๑ ธรรมจักรชื่อว่าปรารถนาอย่างจริงจังแล้ว ๑ ชื่อว่ากำลังทำพระธรรมจักรให้เกิดขึ้น ๑ ธรรมจักรชื่อว่าทรงทำให้เกิดขึ้นแล้ว ๑ ชื่อว่ากำลังประกาศพระธรรมจักร ๑ ธรรมจักรชื่อว่าทรงประกาศแล้ว ๑

    จะเห็นได้ว่า ธรรมเป็นเรื่องละเอียด แม้แต่เพียงการปรารถนาธรรมจักร คือ ความเป็นไปแห่งพระธรรม ได้แก่ ปฏิเวธญาณ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และ เทศนาญาณ ก็ต้องมีความละเอียดว่า เริ่มตั้งแต่เมื่อไร

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ชื่อว่ากำลังปรารถนาอย่างจริงจังซึ่งธรรมจักร ตั้งแต่ครั้งไหน

    ครั้งที่พระโพธิสัตว์เป็นสุเมธพราหมณ์ เห็นโทษในกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในเนกขัมมะ ถวายมหาทานแล้วบวชเป็นฤๅษี ทำอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ ให้บังเกิด ตั้งแต่นั้นมา ชื่อว่ากำลังปรารถนาอย่างจริงจังซึ่งพระธรรมจักร

    ทุกคนที่กำลังฟัง กำลังปรารถนาอย่างจริงจังหรือยัง แต่สำหรับพระโพธิสัตว์ต้องมีตั้งแต่เริ่มปรารถนาอย่างจริงจัง คือ ในพระชาติที่เป็นสุเมธพราหมณ์

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ชื่อว่าปรารถนาอย่างจริงจังแล้ว ตั้งแต่ครั้งไหน

    ครั้งพระองค์ประชุมธรรม ๘ ประการ แล้วทรงผูกพระมนัสเพื่อประโยชน์แก่การทำพระมหาโพธิญาณให้ผ่องแผ้ว ณ บาทมูลแห่งพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า ทีปังกร ทรงอธิษฐานพระวิริยะว่า เราไม่ได้รับพยากรณ์ จักไม่ลุกขึ้น แล้วจึงนอนลง ได้รับพยากรณ์จากสำนักพระทศพลแล้ว ตั้งแต่นั้นมา ธรรมจักรชื่อว่าปรารถนาอย่างจริงจังแล้ว

    ตอนที่เป็นสุเมธพราหมณ์ก็เห็นโทษของกาม เพราะฉะนั้น ก็มีความปรารถนา ที่จะพ้นทุกข์ ขณะนั้นชื่อว่ากำลังปรารถนาอย่างจริงจัง แต่ชื่อว่าปรารถนาอย่าง จริงจังแล้ว ในขณะที่นอนลงแทบบาทมูลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ทีปังกร คือ กระทำจริงๆ แล้วว่า ปรารถนาจริงๆ ที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในขณะที่นอนที่บาทมูลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ทีปังกร

    ชื่อว่ากำลังให้ธรรมจักรเกิดขึ้น ตั้งแต่ครั้งไหน

    ครั้งแม้เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญทานบารมี ชื่อว่ากำลังยังธรรมจักรให้เกิดขึ้น เมื่อทรงบำเพ็ญศีลบารมีก็ดี ฯลฯ ทรงบำเพ็ญอุปบารมีก็ดี ชื่อว่ากำลังยังธรรมจักร ให้เกิดขึ้น

    เมื่อทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ ก็ดี เมื่อทรงบำเพ็ญมหาบริจาค ๕ ก็ดี ทรงบำเพ็ญญาตัตถจริยาก็ดี ชื่อว่าทรงยังธรรมจักร ให้เกิดขึ้น

    ทรงอยู่ในภาวะเป็นพระเวสสันดร ทรงถวายสัตตสตกมหาทาน ทรงมอบบุตรและภรรยาในมุขคือทาน ทรงถือเอายอดพระบารมี ทรงบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ทรงดำรงอยู่ในดุสิตนั้นตลอดพระชนมายุ อันเทวดาทูลอาราธนาแล้วให้ปฏิญญา แม้ทรงพิจารณาดูมหาวิโลกนะ ๕ ชื่อว่ากำลังยังธรรมจักรให้เกิดขึ้นเหมือนกัน

    เมื่อทรงปฏิสนธิในพระครรภ์พระมารดาก็ดี เมื่อทรงทำหมื่นจักรวาลให้ไหวในขณะปฏิสนธิก็ดี เมื่อทรงทำโลกให้ไหวเหมือนอย่างนั้นนั่นแล ในวันเสด็จออกจากพระครรภ์พระมารดาก็ดี เมื่อประสูติแล้วเสด็จย่างพระบาทไป ๗ ก้าว ทรงบันลือ สีหนาทว่าเราเป็นผู้เลิศก็ดี เมื่อเสด็จอยู่ครองเรือนตลอด ๒๙ พรรษาก็ดี เสด็จออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ก็ดี ทรงบรรพชาที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมานทีก็ดี ทรงกระทำมหาปธาน ความเพียร ๖ พรรษาก็ดี เสวยข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดาถวาย แล้วทรงลอย ถาดทองในแม่น้ำ แล้วเสด็จไปโพธิมัณฑสถานอันประเสริฐ ในเวลาเย็น ประทับนั่งตรวจโลกธาตุด้านทิศบูรพา ทรงกำจัดมารและพลของมาร ในเมื่อดวงอาทิตย์ยัง ทรงอยู่นั่นแล ทรงระลึกถึงปุพเพนิวาสญาณในปฐมยามก็ดี ทรงชำระทิพยจักษุ ในมัชฌิมยามก็ดี ทรงพิจารณาปัจจยาการในเวลาต่อเนื่องกับเวลาใกล้รุ่ง แล้วแทงตลอดโสตาปัตติมรรคก็ดี ทรงทำให้แจ้งโสตาปัตติผลก็ดี ทรงทำให้แจ้งสกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผลก็ดี เมื่อทรงแทงตลอดอรหัตตมรรคก็ดี ก็ชื่อว่าทรงกำลังกระทำธรรมจักรให้เกิดขึ้นเหมือนกัน

    ก็ธรรมจักร ชื่อว่าอันพระองค์ให้เกิดขึ้นแล้ว ในขณะแห่งพระอรหัตตผล

    จริงอยู่คุณราสี (คือ) กองแห่งคุณ ทั้งสิ้นของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมสำเร็จพร้อมกับอรหัตตผลนั่นแล เพราะฉะนั้น ธรรมจักรนั้น เป็นอันชื่อว่าอันพระองค์ ให้เกิดขึ้นแล้วในขณะนั้น

    พระองค์ทรงประกาศธรรมจักรเมื่อไร

    เมื่อพระองค์ทรงยับยั้งอยู่ ๗ สัปดาห์ ณ โพธิมัณฑสถาน แล้วทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร กระทำพระอัญญาโกณฑัญญเถระให้เป็นกายสักขีที่ป่า อิสิปตนมฤคทายวัน ชื่อว่าทรงประกาศพระธรรมจักร

    ก็ในกาลใดพระอัญญาโกณฑัญญเถระ ได้การฟังที่บังเกิดด้วยอานุภาพ แห่งเทศนาญาณของพระทศพล แล้วบรรลุธรรมก่อนพระสาวกอื่น จำเดิมแต่ กาลนั้นมา พึงทราบว่า ธรรมจักรเป็นอันชื่อว่าทรงประกาศแล้ว

    ขณะที่กำลังทรงแสดงธรรมจักร ชื่อว่าทรงประกาศพระธรรมจักร แต่เมื่อ ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุเป็นพระโสดาบันเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว ธรรมจักรเป็นอันชื่อว่าทรงประกาศแล้ว เพราะว่ามีผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมตาม เป็นกายสักขี เป็นการแสดงให้เห็นว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้นั้น บุคคลอื่นสามารถรู้แจ้งตามได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๖ ตอนที่ ๑๙๕๑ – ๑๙๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 147
    28 ธ.ค. 2564