แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1974


    ครั้งที่ ๑๙๗๔


    สาระสำคัญ

    สาวกทุกท่านต้องฟังพระธรรม

    อานิสงส์ของการเดินจงกรม

    ปัญญากับโลภะ

    ผู้มีปกติระลึกลักษณะของสภาพธรรม


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๓๓


    สุ. ต้องการความรู้หรือเปล่า

    ถ. อาจารย์จะว่าไม่รู้หรือ คือ รู้เหมือนกับว่า ทุกข์นั้นจริงๆ ไม่มีตัวตน เกิดแล้วก็ดับ แต่เป็นเพราะหนูไปยึดเอง

    สุ. เวลานี้เห็นเป็นทุกข์หรือเปล่า

    ถ. เป็น

    สุ. เป็นอย่างไร ขณะนี้ กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เป็นทุกข์อย่างไร

    ถ. เป็นทุกข์เพราะหนูไปเห็นเป็นสิ่งต่างๆ ขึ้น

    สุ. มิได้ ในขณะนี้ที่กำลังเห็น ไม่ต้องไปทำทุกข์ใหญ่โตเป็นความปวดเจ็บแทบจะขาดใจ ขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นทุกข์หรือเปล่า เป็นทุกข์อย่างแทบจะขาดใจ หรือเปล่า

    ถ. ไม่เป็น

    สุ. แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้เข้าใจเรื่องไตรลักษณะ หรือทุกขลักษณะอย่างแท้จริง เข้าใจแต่เพียงทุกขเวทนา และขณะนี้มีทุกขเวทนาหรือเปล่า มีความรู้สึกเป็นทุกข์ทางกายไหม

    ถ. ไม่มี

    สุ. แต่มีทุกขลักษณะ คือ สภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งจึงจะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ไม่ใช่ปวดเจ็บมากๆ แล้วหายไปก็บอกว่า รู้นะว่านี่หายไป นี่ไม่เที่ยง แต่ขณะนี้เอง สภาพธรรมกำลังปรากฏตามปกติ กำลังเกิดดับ ไม่ใช่ทุกขเวทนาอย่างนั้น แต่เป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง อยากจะรู้ทุกข์อย่างไหนที่จะถอนความเป็นตัวตน ทุกข์ปกติธรรมดาของสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ หรืออยากรู้ทุกขเวทนามากๆ และก็บอกว่า นี่ไม่เที่ยง

    ถ. ทุกข์ธรรมดา

    สุ. ทุกข์ธรรมดา ก็ต้องอบรมเจริญปัญญาตามปกติ ไม่ใช่ไปทำให้ผิดปกติ และสงสัย และไม่รู้ และต้องถามคนอื่นว่านี่อะไร

    ถ. คือ ต้องฟัง ศึกษาพระธรรมก่อน

    สุ. แน่นอน สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และไม่ใช่ พระปัจเจกพุทธเจ้า เบื้องต้นของปัญญา ต้องฟัง ผู้ที่เป็นสาวกทุกท่านต้องฟัง พระธรรม และสำหรับแม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระปัจเจกพุทธเจ้า ในอดีตชาติก่อนๆ พระองค์ก็ต้องเป็นพหูสูต ต้องเป็นผู้ที่ฟังพระธรรม มิฉะนั้นแล้ว ไม่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรม หรือเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมคล้อยไปตามความเป็นจริงของสภาพธรรมได้ เพราะเราก็ได้ฟังบ่อยๆ เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นับครั้งไม่ถ้วน อาจจะถึงแสนครั้ง ผลคืออะไร ก็เหมือนเดิม ก็ยังพูดตามธรรมดาๆ ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ได้เห็นมีการละคลายกิเลสอะไรเลย แสดงให้เห็นถึงระดับขั้นที่ต่างกันของเพียงฟังคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กับการรู้แจ้งประจักษ์ จริงๆ ในลักษณะที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไปตามปกติ

    ต้องรู้ว่าอย่างไรเป็นปัญญา อย่างไรไม่ใช่ปัญญาเสียก่อน ไม่ใช่ไม่รู้อะไรเลย ก็จะทำ และคิดว่ารู้ทุกข์ เพราะว่ามีทุกข์มาก

    ถ. ไม่ใช่ว่ารู้ทุกข์ คือ หนูมีความรู้สึกว่า หลังจากเกิดความรู้สึกแบบนั้นแล้ว เวลาหนูไปที่ไหนที่จะต้องทนทุกข์นานๆ เช่น ยืนนานๆ หรือนั่งนานๆ หนูจะใช้วิธีกำหนดรู้ว่า ตอนนี้กำลังคิดหนอ หรือปวดหนอ หรือเจ็บหนอ ก็จะไม่เป็น

    สุ. พอใจที่จะไม่เป็น ใช่ไหม

    ถ. ไม่ใช่พอใจ คือ เหมือนกับว่าทุกข์นานแล้วไม่สามารถเปลี่ยนอิริยาบถได้ ถ้าเราไม่ใช่วิธีกำหนดว่า เรารู้ทุกข์ตอนนี้หนอ ความทุกข์ก็ยิ่งมาก

    สุ. แสดงว่าไม่อยากมีความทุกข์มาก หรืออยากมีความสุข ไม่อยากมีความทุกข์นั่นเอง จึงหาทาง วิธีคือทำอย่างไรขณะนั้นจึงไม่ทุกข์มาก และก็บอกว่าได้ผล เพราะทำแล้วไม่ทุกข์มากด้วย เพราะฉะนั้น ในชีวิตนี้ต้องการอะไร ต้องการเท่านี้หรือ

    ถ. คือ เหมือนกับว่าให้เราทนได้

    สุ. ทนอะไรได้

    ถ. ทนทุกข์ หรือทนสุข คือ ให้รู้ว่าตอนนี้เรามีทุกข์หรือมีสุข

    สุ. ต้องการเท่านี้ ใช่ไหม หรือต้องการรู้แจ้งสัจจธรรม ความจริงของ สภาพธรรม

    ถ. รู้แจ้งสัจจธรรม

    สุ. ถ้าอย่างนั้น ต้องอบรมเจริญปัญญาตามปกติ

    ถ. และขณะที่มีทุกข์ อาจารย์จะให้ทำอย่างไร สมมติว่าขณะที่มีทุกข์หรือ มีสุข อาจารย์จะให้ทำอะไร

    สุ. ไม่ใช่เป็นเรื่องทำ ปัญญาเป็นเรื่องที่ต้องอบรมเจริญขึ้น และทุกข์ ที่แท้จริง คือ การเกิดดับ ถ้าละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้จริงๆ ทุกข์จะคลายมากเลย การเกิดซึ่งมีมากมายในสังสารวัฏฏ์ก็จะเหลือเพียง ๗ ชาติ เสียดายไหม

    ถ. ให้กำหนดรู้ว่า ทุกข์ขณะนี้ คือ ไม่มีตัวตน

    สุ. ถ้าไม่มีการเกิดเลย ดับเหตุปัจจัยหมด จะมีทุกข์อย่างนั้นไหม

    ถ. ไม่มี

    สุ. เพราะฉะนั้น ต้องรู้เหตุของทุกข์ว่า ทุกข์มีเพราะอะไร เพราะมีชาติ คือ การเกิด ถ้าสามารถดับชาติคือการเกิด ทุกข์ทั้งหมดจะไม่มี

    ถ. ทำอย่างไรจึงจะดับชาติคือการเกิดได้

    สุ. ไม่ใช่เรื่องทำ เป็นเรื่องของปัญญาที่จะต้องอบรมเจริญขึ้น อบรมเจริญปัญญาจากขั้นการฟัง ฟังนี่ต้องฟังอย่างพิจารณาให้เข้าใจจริงๆ ให้ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรม ต้องรู้ว่า ปัญญารู้อะไร ปัญญาคืออะไร ปัญญาจะเจริญขึ้นได้อย่างไร คือ เมื่อต้องการปัญญา ก็ต้องรู้เหตุว่าปัญญาจะเจริญขึ้นได้อย่างไรด้วย

    ข้อสำคัญต้องรู้ว่า ปัญญารู้อะไร ปัญญาไม่ใช่ไปรู้ทุกข์ปวดเจ็บแทบขาดใจ ไม่ใช่อย่างนั้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นสภาพธรรม แต่ละอย่างที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เป็นเพียงคำพูด แต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นสัจจธรรมที่จะอบรมเจริญปัญญาจนสามารถประจักษ์แจ้งได้จริงๆ และมีผู้ได้ประจักษ์แจ้งแล้วจริงๆ เป็นจำนวนมากด้วย ซึ่ง ท่านเหล่านั้นต้องอาศัยการฟัง และเข้าใจ และอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง รู้ทุกข์อย่างที่ท่านผู้ถามเมื่อกี้รู้ ผมก็เคยรู้มาแล้ว และมีคนรับรองด้วยว่า นี่เห็นทุกข์แล้ว จวนๆ แล้ว วิธีเห็นทุกข์ คือ ให้นั่งนานๆ จะเห็นทุกข์ได้ เพราะเมื่อนั่งนานต้องปวดขา เป็นเหน็บ นั่งทนไป ถ้าทนไม่ได้ถือว่า ไม่ชนะทุกข์ เรียกว่าแพ้ทุกข์ ต้องทนจนกว่าเวทนาที่เกิดจะหายไป หายได้ ขอให้ทนจริงๆ คือ เลือดลมจะค่อยๆ ระบายเอง ค่อยๆ ไปทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดก็หาย ตอนหายรู้สึกสบาย ดีใจว่า ชนะทุกข์แล้ว วิธีนี้เป็นวิธีชนะทุกข์ที่ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นวิธี ชนะทุกข์แบบเกจิอาจารย์ทั้งหลายที่ท่านสอนๆ กันมา ซึ่งผมหลงอยู่นาน

    วิธีชนะทุกข์ตามแบบของพระพุทธเจ้าต้องอย่างที่อาจารย์แนะนำ เพราะเอามาจากพระไตรปิฎกและอรรถกถา ต้องฟังให้เข้าใจเสียก่อน เข้าใจขั้นการฟังคือต้องรู้ว่า ขณะที่สภาพธรรมเกิดอย่างที่ได้ยินได้ฟัง เราเห็นว่าเป็นสภาพธรรมหรือเปล่า ถ้ายัง ไม่เห็น สติก็ไม่สามารถระลึกได้

    นี่เป็นขั้นเป็นตอน เบื้องแรกที่สุดคือฟังให้เข้าใจเสียก่อน แค่การฟัง ไม่ใช่การปฏิบัติ เมื่อฟังเข้าใจแล้ว ขณะที่สภาพธรรมจริงๆ ปรากฏ ความเข้าใจจะเป็นอีก ขั้นหนึ่ง ความเข้าใจขั้นนี้แหละที่จะเป็นเหตุปัจจัยให้สติระลึกได้ เพราะฉะนั้น ผมขอร้องว่า ถ้าท่านอยากจะเข้าใจธรรม ขอให้เลิกทำอย่างนั้น เพราะผมเคย ทำมาแล้ว ไม่ได้อะไร

    ผู้ฟัง ความข้องใจของคุณผู้หญิงที่ออกมาพูดเมื่อครู่นี้ เป็นเหตุการณ์ที่ผมเคยประสบมาแล้ว คือ ตอนนั้นไม่รู้ว่าธรรมคืออะไร แต่ชอบ เขาสอนให้นั่งสมาธิก็นั่ง เมื่อนั่งแล้วจะไปถึงจุดหนึ่ง ความเมื่อยหายไปหมด รู้สึกว่าตัวตนไม่มี รู้สึกปีติมาก ว่า ช่างน่ามหัศจรรย์เหลือเกิน แต่รุ่งเช้าความทุกข์ก็กลับคืนมาเหมือนเดิม แต่เวลาปฏิบัติมีความสุขอย่างนั้นเกิดขึ้นจริงๆ โดยเฉพาะบางครั้งนั่งหลับตา รู้สึกเหมือน ตาเราไม่ได้หลับ เห็นเหมือนกับลืมตา ต้องถามตัวเองว่า นี่อะไรกัน ก็หาคำตอบไม่ได้

    หลังจากนั้นมา ผมก็ได้ฟังวิทยุโดยบังเอิญ ได้ฟังธรรมที่ท่านอาจารย์พูด รู้สึกสะกิดใจ ตอนแรกฟังไม่รู้เรื่อง เรื่องรูป เรื่องนาม ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร แต่ด้วยความสนใจก็ฟังไปเรื่อยๆ ในที่สุดเมื่อฟังเข้าใจก็รู้ว่า เรามีที่พึ่งแล้ว เมื่อใดก็ตามที่มีความทุกข์ ความทุกข์นี่ก็แปลก ไม่มีตัวตน ความเป็นอยู่สุขสบายทุกอย่าง แต่เราก็ หาคำตอบไม่ได้ว่า ทำไมต้องทุกข์ คือ เป็นความทุกข์ทางใจ ซึ่งไม่มีเหตุอะไร แต่เรารู้ว่าเราทุกข์

    กล่าวโดยสรุปว่า เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกว่าเราประจักษ์แจ้งในเรื่องรูปเรื่องนามแล้ว ความเป็นตัวตนของเราจะไม่มี และเมื่อใดก็ตามที่ความเป็นตัวตนไม่มี นั่นคือความสุข คนเราทุกข์เพราะรู้สึกว่ามีตัวตน ความทุกข์อยู่ตรงนี้

    เรื่องรายละเอียดต่างๆ ถ้าฟังเรื่องรูปเรื่องนาม คิดว่าทุกท่านก็คงเข้าใจ คือ เข้าใจตามความหมายที่พูด แต่เข้าใจจริงๆ หรือเปล่า นั่นเป็นสิ่งที่ยาก แต่ถ้ารู้แล้ว ง่ายเหลือเกิน

    พูดโดยสรุปก็คือว่า เวลาเราศึกษาธรรม อย่านึกว่าเราต้องเป็นโน่นเป็นนี่ หรือสำเร็จอย่างโน้นอย่างนี้ ให้เอาตัวเราเองเข้าไปพิสูจน์ในธรรมที่อธิบายว่าเราเข้าใจไหม ตัวอย่างเช่น ขณะที่อาจารย์อธิบายเรื่องรูปเรื่องนาม ให้เจริญสติขณะที่เราฟัง เราต้องเจริญสติไปพร้อมกับอาจารย์ และขณะที่อาจารย์พูดนี้ เราต้องติดตามสภาพที่เป็นจริงว่า เราเห็นตามความจริงที่พูดไหม เช่น การเห็น เห็นเป็นคนหรือเห็นเป็น สิ่งต่างๆ ให้แยกให้ออกว่า ที่เห็นนี่เห็นสีจริงๆ แต่ไม่ได้หมายความว่ารู้เพราะ อาจารย์พูด แต่ขอให้รู้ด้วยตัวเองว่า ที่เห็นเป็นสีจริงๆ กับเห็นเป็นคน ต่างกันอย่างไร ถ้าเรารู้เรื่องตาแล้ว เรื่องหู เรื่องจมูก ก็โดยนัยเดียวกันทั้งหมด และเมื่อเรารู้ถึง จุดนี้แล้ว เราจะรู้ว่า นี่เป็นสิ่งที่เป็นที่พึ่งของเราแล้ว ขอบคุณครับ

    พระ จากการสนทนาเมื่อครู่ก็เห็นว่า การเป็นบุคคลที่ละเอียดในการเข้าใจขณะที่ได้ยินได้ฟังธรรมและศึกษาตามอย่างถูกต้อง กับผู้ที่อาจจะยังไม่ได้ยินได้ฟังธรรมพอเพียง ก็อาจจะปฏิบัติในสิ่งที่ยังไม่รู้ เช่น การเดินจงกรม เป็นต้น วัดที่ อาตมาอยู่ เมื่อไม่นานมานี้ก็มีการปฏิบัติแบบนั่งสมาธิ เดินจงกรมด้วยท่าทางที่แปลกไปจากชีวิตตามปกติตามความเป็นจริง ซึ่งอานิสงส์ของการเดินจงกรม พระพุทธองค์ ก็ทรงแสดงไว้ว่า เพื่อย่อยอาหาร เพื่อเดินทางไกล เพื่ออดทน เพื่อมีสมาธิตั้งมั่น และนัยอื่นๆ เช่น แก้ง่วง เป็นต้น

    ถ้าพิจารณาดูว่า เพื่อย่อยอาหาร ก็ไม่ต้องไปเดินท่าแปลกๆ การเดินไป เดินกลับก็เพื่อย่อยอาหาร และยังพิจารณาธรรมได้อีกด้วย ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ อย่างท่านผู้ถามเมื่อสักครู่นี้ ถ้าเข้าใจอย่างเมื่อกี้ ฟังให้ดี ขณะที่เดินไปเดินกลับ พิจารณาได้ทั้งรูปและนาม ที่อาตมาออกมาพูด ก็อยากจะฝากเพื่อนภิกษุทั้งหลายที่ยังปฏิบัติแบบนี้ เช่น การเดินท่าแปลกๆ เมื่อใครมาเห็นภิกษุในพระพุทธศาสนาของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำสิ่งที่แปลกประหลาดกว่าปกติ เขาจะคิดอย่างไร เพราะว่าตัวเองก็เคยปฏิบัติแปลกๆ ยังเคยคิดว่า คนอื่นเขาจะมองเราอย่างไร ต้องแอบเดิน เพราะว่าไม่เป็นปกติ จนกระทั่งได้มาทราบอานิสงส์ว่า เดินแล้วผลของการเดินคืออะไร ชี้ให้เห็นว่า จุดประสงค์ของการเดินนั้น ไม่ใช่ไปตั้งท่าปฏิบัติแปลกๆ แต่ขึ้นอยู่กับ ความเข้าใจธรรม และก็รู้สภาพธรรมแม้กระทั่งเดินหรือนั่ง หรือทำงานเป็นต้น อาตมาคิดว่า เป็นเรื่องของปัญญามากกว่าไปทำท่าทางต่างๆ

    สุ. ชีวิตปกติประจำวัน ไม่ได้ผิดปกติ แต่ถ้าใครเกิดผิดปกติและเข้าใจว่า จะปฏิบัติธรรมในขณะที่ผิดปกติ ก็ให้ทราบว่า ในขณะนั้นเป็นเพราะอะไร ซึ่งตามปกติธรรมดาอาจจะไม่เฉลียวใจเลยว่า โลภะหรือเปล่า ความเห็นผิดหรือเปล่า ต้องแยกกัน ปัญญากับโลภะ ที่ใดที่มีปัญญา ที่นั้นโลภะจะมืดมน ไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้เลย

    แสดงให้เห็นว่า เรื่องของการฟังเป็นเรื่องที่ละเอียดมากที่จะต้องรู้ว่า ปัญญาจริงๆ นั้น ต้องเป็นปัญญาที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมขั้นฟัง และสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยสติสัมปชัญญะที่ระลึกและค่อยๆ เจริญความรู้ความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมตรงกับที่ได้ยินได้ฟังด้วย ไม่ผิดกันเลย

    ถ้าได้ยินได้ฟังว่า ทุกขณะเป็นนามธรรมและรูปธรรม จะต้องทำอะไรที่ผิดปกติไหม และการทำที่ผิดปกติจะทำให้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้อย่างไร มีเหตุผลอะไรที่ใครสามารถอธิบายหรือสามารถตอบได้ว่า การทำให้ผิดปกตินั้น จะทำให้ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมได้อย่างไร

    พระ การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เป็นภิกษุหรือคฤหัสถ์ก็ดี ย่อมมีกิจการงานที่ต้องกระทำ หรือพบปะผู้คนต่างๆ เมื่อเป็นอย่างนั้นบางครั้งจิตใจก็ไม่สงบ เต็มไปด้วยอกุศลต่างๆ โลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง เมื่อเกิดความไม่สงบอย่างนี้ขึ้นมา ก็มีความคิดว่า การที่เราเป็นอยู่อย่างนี้ทำให้จิตใจไม่สงบ เราควรที่จะหลีกเลี่ยงไปเสีย เพื่อตัดปัญหาอะไรต่างๆ อย่างนี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง หรือเปล่า

    สุ. เรื่องไป กุศลจิตหรืออกุศลจิตก็ยังเกิดอยู่ ไม่ใช่ว่าสถานที่จะกั้นอกุศลได้ แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังทรงไม่ปรินิพพาน พระภิกษุทั้งหลายท่านได้ฟังพระธรรมบ่อยๆ และท่านก็เห็นว่า บางสถานที่เป็นที่ที่ควรแก่การที่จะอบรมเจริญปัญญา ท่านก็ไปสู่สถานที่นั้น แต่เมื่อไปแล้วอกุศลจิตก็เกิด ไม่ใช่ไม่เกิด เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า เรื่องของอกุศลจิต แม้จะอยู่ในบางสถานที่ที่คิดว่าจะสงบดี ไม่มีบุคคลอื่นมาทำให้เกิดอกุศล แต่อกุศลจิตก็เกิดได้

    นี่ก็แล้วแต่บุคคล แต่ไม่ว่าพระคุณเจ้าจะมีความคิดอย่างไร หรืออุบาสกอุบาสิกาจะมีการรู้จักตนเองว่าเหมาะควรกับสถานที่ไหน ก็ต้องเป็นผู้มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ต้องเป็นผู้มีปกติ เพราะว่าแต่ละท่านอยากจะให้ปัญญารู้ลักษณะของกุศลจิต แต่เมื่อเป็นผู้ที่มีอกุศลจิต และจะไม่ให้ปัญญารู้ลักษณะของอกุศลจิต เมื่อไหร่จะดับอกุศลจิตนั้นได้ เพราะปัญญาไม่เคยรู้ลักษณะของอกุศลจิตเลย แต่การเป็นผู้ที่มีปกติระลึกลักษณะของสภาพธรรมจะทำให้รู้ว่า แม้ อกุศลจิตก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แทนที่จะทำอย่างอื่น ปัญญาจะต้องเจริญจนกระทั่งสามารถรู้ได้ว่า อกุศลจิตนั้นๆ เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๘ ตอนที่ ๑๙๗๑ – ๑๙๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 147
    28 ธ.ค. 2564