แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1952


    ครั้งที่ ๑๙๕๒


    สาระสำคัญ

    ชื่อว่า ตถาคต

    อรรถกถาสูตรที่ ๕ - พระพุทธะ มี ๔

    อรรถกถาสูตรที่ ๖ - อนุตตริยะ ๖


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๓๓


    ชื่อว่าตถาคต เพราะอรรถครอบงำได้เป็นอย่างไร

    เพราะพระองค์ทรงครอบงำสัตว์ทั้งปวงในโลกธาตุหาประมาณมิได้ เบื้องบนถึงภวัคคพรหม เบื้องต่ำถึงอเวจีมหานรก เบื้องขวางกำหนดที่สุดรอบๆ ด้วยศีลบ้าง สมาธิบ้าง ปัญญาบ้าง วิมุตติบ้าง พระองค์ไม่มีการชั่ง หรือการนับ พระองค์ ชั่งไม่ได้ นับไม่ได้ เป็นผู้ยอดเยี่ยม เป็นพระราชาแห่งพระราชา เป็นเทพแห่งเทพ เป็นสักกะยอดแห่งเหล่าสักกะ เป็นพรหมยอดแห่งเหล่าพรหม ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสว่า

    ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นผู้ครอบงำหมู่สัตว์ในโลกพร้อมด้วยเทวโลก ฯลฯ พร้อมด้วยเทวดาและมนุษย์ อันใครๆ ครอบงำไม่ได้ เป็นผู้เห็นโดยแท้ ทำให้ผู้อื่น อยู่ในอำนาจ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ตถาคต

    มีใครที่จะเกินพระผู้มีพระภาคบ้างไหมในเรื่องของศีล ในเรื่องของสมาธิ ในเรื่องของปัญญา ในเรื่องของวิมุตติ ทรงครอบงำสัตว์โลกทั้งหมด

    การตรัส (พึงเห็น) เหมือนยาอันประเสริฐ

    ไม่ว่าพระผู้มีพระภาคจะตรัสข้อความใด เหมือนยาอันประเสริฐ พระธรรม หรือพระพุทธพจน์แต่ละคำมีคุณค่า มีประโยชน์ เพราะว่าเป็นสิ่งที่จริง เป็นสัจจะ และเกื้อกูลกับบุคคลที่รับฟังและพิจารณาประพฤติปฏิบัติตาม

    การตรัส (พึงเห็น) เหมือนยาอันประเสริฐ ก็การตรัสนั้นคืออะไร คือ ความงดงามแห่งเทศนา และความพอกพูนขึ้นแห่งบุญ

    ท่านทั้งหลายซึ่งเคยคิดว่าทำอย่างไรถึงจะได้บุญมากๆ บุญจะเกิดมากๆ จะเห็นได้เลยว่า บุญทั้งหลายที่คิดว่าจะเกิดได้มากนั้น เป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่ฟังพระธรรม แต่ถ้ามีการฟังพระธรรม เข้าใจ และน้อมประพฤติปฏิบัติตาม กุศลนานาประการ จะเจริญขึ้น เพราะเหตุว่า ก็การตรัสนั้นคืออะไร คือ ความงดงามแห่งเทศนา และความพอกพูนขึ้นแห่งบุญ

    เพราะเหตุนั้นนั่นแล พระองค์จึงทรงครอบงำคนผู้เป็นปรัปวาททั้งหมด และสัตว์โลกพร้อมทั้งเทวโลก เหมือนหมอผู้มีอำนาจมากครอบงำงูทั้งหลายด้วยยาทิพย์ฉะนั้น

    อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าตถาคต เพราะเสด็จไปด้วยความจริง เพราะทรงถึง ซึ่งความจริง ดังนี้ อธิบายว่า ตรัสรู้ ทรงล่วงแล้ว ทรงบรรลุ ทรงดำเนินไป ในบรรดา คำเหล่านั้น ชื่อว่าตถาคต เพราะเสด็จไป คือ ตรัสรู้โลกทั้งสิ้นด้วยความจริง คือ ตีรณปริญญา ชื่อว่าตถาคต เพราะเสด็จไป คือ ทรงล่วงโลกสมุทัยด้วยความจริง คือ ปหานปริญญา ชื่อว่าตถาคต เพราะเสด็จไป คือ บรรลุการดับสนิทแห่งโลก ด้วยความจริง คือ สัจฉิกิริยา ชื่อว่าตถาคต เพราะเสด็จไป คือ ดำเนินไปสู่ ความจริง คือ ปฏิปทาอันยังสัตว์ให้ถึงความดับโลก ด้วยเหตุนั้นจึงตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โลกอันตถาคตตรัสรู้ยิ่งแล้ว ตถาคตไม่ประกอบแล้ว ในโลก ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โลกสมุทัยตถาคตตรัสรู้ยิ่งแล้ว โลกสมุทัยอันตถาคต ละได้แล้ว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โลกนิโรธอันตถาคตตรัสรู้ยิ่งแล้ว โลกนิโรธ อันตถาคตกระทำให้แจ้งแล้ว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โลกนิโรธคามินีปฏิปทาอันตถาคต ตรัสรู้ยิ่งแล้ว เจริญแล้ว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัจจะใดแห่งโลกพร้อมทั้งเทวโลก ฯลฯ สัจจะทั้งหมดอันตถาคตตรัสรู้ยิ่งแล้ว เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ตถาคต

    ท่านผู้ฟังคงจะพิจารณาเห็นได้ที่ว่า อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าตถาคต เพราะเสด็จไปด้วยความจริง สภาพธรรมเป็นจริงอย่างไร ยากแสนยากที่ใครจะตรัสรู้ได้ แต่เมื่อ ตรัสรู้แล้วก็รู้ว่า สภาพธรรมที่จริงเป็นจริงอย่างนั้น บุคคลอื่นใดไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความจริงของสภาพธรรมที่เป็นจริงอย่างนั้นได้เลย ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคเสด็จไปด้วยความจริง ตั้งแต่เริ่มระลึกลักษณะของสภาพธรรม อบรมเจริญปัญญา ทรงถึง ซึ่งความจริง คือ การตรัสรู้ และตรัสรู้โลกทั้งสิ้น ตรัสรู้อริยสัจจะทั้งสิ้น

    ข้อความใน อรรถกถาสูตรที่ ๕ มีว่า

    พระพุทธะมี ๔ คือ สุตพุทธะ จตุสัจจพุทธะ ปัจเจกพุทธะ สัพพัญญูพุทธะ ในพุทธะ ๔ นั้น ภิกษุผู้เป็นพหูสูต (มีพระพุทธพจน์อันสดับแล้วมาก) ชื่อว่าสุตพุทธะภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพ (ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว) (คือ พระอรหันต์) ชื่อว่าจตุสัจจพุทธะ พระองค์ผู้บำเพ็ญบารมีสองอสงไขยแสนกัป แล้วแทงตลอดปัจเจกพุทธญาณ ชื่อว่าปัจเจกพุทธะ พระองค์ผู้บำเพ็ญ ๔ – ๘ – ๑๖ อสงไขยแสนกัป แทงตลอด พระสัพพัญญุตญาณ ชื่อว่าสัพพัญญูพุทธะ

    ในพุทธะ ๔ เหล่านี้ พระสัพพัญญูพุทธะ ชื่อว่าไม่มีพระองค์ที่ ๒ ธรรมดาว่าพระสัพพัญญูพุทธะพระองค์อื่นจะเสด็จอุบัติร่วมกับพระสัพพัญญูพุทธะพระองค์นั้น ก็หาไม่

    หมายความว่า ผู้ที่บำเพ็ญบารมีด้วยปัญญายิ่ง ๔ อสงไขยแสนกัป ได้บรรลุ พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มี หรือบางพระองค์บำเพ็ญพระบารมี ๘ อสงไขยแสนกัปด้วยศรัทธา จึงได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือบางพระองค์บำเพ็ญพระบารมีถึง ๑๖ อสงไขยแสนกัปด้วยพระวิริยะยิ่ง จึงได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และเมื่อเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะเป็นพร้อมกัน ๒ พระองค์ หรือมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ ในขณะเดียวกันไม่ได้

    ผู้ฟัง ยาอันประเสริฐ หรือยาทิพย์ ก็คือพระธรรม ขณะที่กำลังฟังอยู่เกิด ตื้นตันซาบซึ้งขึ้นมาว่า คนที่จะเอายาอันประเสริฐหรือยาทิพย์มาให้พวกเรา เวลานี้ หายาก หาไม่ได้ ขณะที่ฟังอาจารย์พูดถึงขันธ์ ธาตุ อายตนะ ทำให้รู้สึกว่า พระธรรมเป็นยาอันประเสริฐจริงๆ ในขณะนั้น ถ้าสติระลึกได้ แม้กระทั่งความโกรธเกิดขึ้น ก็ตามเหตุตามปัจจัย คือ โทสมูลจิตเกิดขึ้นเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นขันธ์ ธาตุ อายตนะทั้งนั้นเลย แต่ธรรมอย่างนี้ที่เป็นยาอันประเสริฐและ เป็นยาทิพย์จริงๆ หาฟังที่ไหนก็ยาก

    สุ. คงจะทำให้มีเมตตาเพิ่มขึ้น เพราะถ้าโกรธใครและระลึกได้ว่า แม้แต่ในขณะที่โกรธก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ถ้าใช้คำว่า ขันธ์ ก็เป็นสังขารขันธ์ แต่ไม่จำเป็นต้องคิดถึงชื่อ ให้ทราบว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง กำลังโกรธ ก็ไปโกรธขันธ์ ธาตุ อายตนะ หรือแม้เพียงสีที่ปรากฏทางตา ก็เป็นปัจจัยให้ไฟลุกแล้ว คือโทสะเกิด ทั้งๆ ที่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นจริงๆ แต่เมื่อไม่รู้ว่า เป็นเพียงขันธ์ หรือเป็นธาตุ เป็นอายตนะ อกุศลก็เกิด ถ้าสติเกิดระลึกได้และพิจารณารู้ลักษณะที่เป็นสัจจะ เป็นปรมัตถสัจจะ เป็นความจริงแท้ คือ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ในขณะนั้นจะทำให้เกิดเมตตา หรืออาจจะเกิดปัญญาระดับอื่นก็ได้

    มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต อรรถกถาสูตรที่ ๖

    ข้อความจากพระไตรปิฎกและอรรถกถามีประโยชน์ ซึ่งท่านผู้ฟังจะได้พิจารณาว่า เป็นชีวิตประจำวันซึ่งเริ่มจากการที่ค่อยๆ เจริญขึ้นในทางธรรม จนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    อรรถกถาสูตรที่ ๖ มีข้อความว่า

    บทว่า ฉนฺนํ อนุตฺตริยานํ ได้แก่ ธรรมอันสูงสุด ๖ อย่าง ที่ไม่มีธรรมอื่น ยิ่งไปกว่า ในคำนั้นมีอธิบายว่า อนุตตริยะ ๖ เหล่านี้ คือ ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ สิกขานุตตริยะ ปาริจริยานุตตริยะ อนุสสตานุตตริยะความปรากฏเกิดขึ้นแห่งอนุตตริยะ ๖ เหล่านี้จึงมี

    ชีวิตประจำวันและทุกคนก็ปรารถนาจะได้สิ่งที่ยอดเยี่ยม แต่บางคนยังไม่รู้ว่า สิ่งที่ยอดเยี่ยมที่อยากได้นั้นคืออะไร และเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมจริงๆ หรือเปล่า ซึ่งถ้าไม่รู้ก็อาจจะไปหลงคิดว่าสิ่งที่ได้เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมแล้ว แต่ผู้มีปัญญาสามารถพิจารณาได้ว่า สิ่งที่ได้ยอดเยี่ยมจริงหรือเปล่า สมควรเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่ควรแก่การได้จริงๆ หรือเปล่า

    ข้อความต่อไปมีว่า

    จริงอยู่ ท่านพระอานนท์เถระ ย่อมได้เห็นพระตถาคตด้วยจักขุวิญญาณทั้งเช้า ทั้งเย็น นี้ชื่อว่าทัสสนานุตตริยะ (คือ การเห็นที่ยอดเยี่ยม) แม้คนอื่นไม่ว่าจะเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ก็ย่อมได้เห็นพระตถาคตเหมือนท่าน พระอานนท์เถระ แม้นี้ก็ชื่อว่าทัสสนานุตตริยะ

    อนึ่ง บุคคลอื่นอีกผู้เป็นกัลยาณปุถุชน ก็ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเหมือน ท่านพระอานนท์เถระ ทำการเห็นนั้นให้เจริญ ย่อมบรรลุโสตาปัตติมรรค นี้ก็ชื่อว่า ทัสสนะเหมือนกัน ส่วนการเห็นเดิม ชื่อว่าทัสสนานุตตริยะ

    การเห็นที่ยอดเยี่ยมจริงๆ คือ การเห็นพระผู้มีพระภาคของบรรดาพระสาวกทั้งหลายซึ่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เช่น ท่านพระอานนท์ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ หรือไม่ว่าจะเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ก็ย่อมได้เห็นพระตถาคตเหมือนท่านพระอานนท์เถระ นี้ชื่อว่าทัสสนานุตตริยะ

    ถ้าเห็นแล้วไม่เข้าใจ เป็นทัสสนานุตตริยะได้ไหม เพราะบางท่านเห็นแล้วโกรธ ก็มี เห็นแล้วไม่พอใจก็มี เห็นแล้วริษยาก็มี เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ต้องเป็น กุศลจิตที่เกิดจากการเห็น และเจริญขึ้นจนสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    จริงอยู่บุคคลย่อมได้ฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเนืองๆ ด้วยโสตวิญญาณ เหมือนท่านพระอานนท์เถระ นี้ชื่อว่าสวนานุตตริยะ แม้พระอริยบุคคลเหล่าอื่น มีพระโสดาบันเป็นต้น ย่อมได้ฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเหมือนท่าน พระอานนท์เถระ แม้นี้ก็ชื่อว่าสวนานุตตริยะ

    ส่วนบุคคลอื่นอีกผู้เป็นกัลยาณปุถุชน ได้ฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค เหมือนท่านพระอานนท์เถระ เจริญสวนะนั้น ย่อมบรรลุโสตาปัตติมรรค นี้ก็ชื่อว่า สวนะเหมือนกัน ส่วนการฟังเดิม ชื่อว่าสวนานุตตริยะ

    ท่านพระอานนท์เถระท่านได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ และ บุคคลย่อมได้ฟัง พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเนืองๆ ด้วยโสตวิญญาณเหมือนท่านพระอานนท์เถระ เหมือนท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ เหมือนท่านพระวัปปะ เหมือนท่านพระอัสสชิ เหมือนท่านพระมหานามะ เพราะถ้าจะฟังธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ก็ข้อความเดียวกันกับที่ได้ทรงแสดงปฐมเทศนาครั้งแรก ไม่มีอะไรที่ต่างกันเลย เนื่องจากเป็นข้อความเดียวกันทั้งหมด เพราะฉะนั้น บุคคลย่อมได้ฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเนืองๆ ด้วยโสตวิญญาณเหมือนท่านพระอานนท์เถระ นี้ชื่อว่าสวนานุตตริยะ

    บุคคลย่อมได้เฉพาะศรัทธาในพระผู้มีพระภาคเหมือนท่านพระอานนท์เถระ ก็ชื่อว่าลาภานุตตริยะ แม้บุคคลเหล่าอื่นมีพระโสดาบันเป็นต้น ได้ลาภเฉพาะคือ ศรัทธาในพระผู้มีพระภาคเหมือนท่านพระอานนท์เถระย่อมได้ลาภเฉพาะ แม้นี้ก็ชื่อว่า ลาภานุตตริยะ

    ส่วนคนอื่นอีกเป็นกัลยาณปุถุชน ได้ลาภเฉพาะคือศรัทธาในพระผู้มีพระภาคเหมือนท่านพระอานนท์เถระ เจริญลาภนั้น ย่อมบรรลุโสตาปัตติมรรค นี้ชื่อว่า การได้เหมือนกัน ส่วนการได้อันเดิม ชื่อว่าลาภานุตตริยะ

    ท่านผู้ฟังพอใจลาภอันประเสริฐที่ได้แล้วหรือยัง หรือยังไม่ชอบใจลาภนี้ อยากได้ลาภอื่น แต่ลาภอันประเสริฐที่ยอดเยี่ยม คือ ศรัทธาในพระผู้มีพระภาค

    ถ. ประโยคสุดท้ายที่ว่า ส่วนการได้อันเดิม หมายถึงอะไร

    สุ. คือ เริ่มได้ อันแรก อันต้น ซึ่งจะเจริญขึ้นๆ เรียกว่า ลาภานุตตริยะ

    ถ. คือ อันแรกที่ได้ และเจริญขึ้นเป็นลำดับ

    สุ. เพราะถ้าอันแรกไม่มี อันต่อไปก็มีไม่ได้ การได้ฟังพระธรรมครั้งแรกๆ ไม่มี ครั้งต่อๆ ไปก็มีไม่ได้ หรือศรัทธาในพระผู้มีพระภาคครั้งแรกไม่มี ครั้งต่อๆ ไป ก็มีไม่ได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อนึ่ง บุคคลศึกษาสิกขา ๓ ในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเหมือนท่าน พระอานนท์เถระ นี้ชื่อว่าสิกขานุตตริยะ แม้พระอริยบุคคลเหล่าอื่นมีพระโสดาบัน เป็นต้น ย่อมศึกษาสิกขา ๓ ในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเหมือนท่าน พระอานนท์เถระ แม้นี้ก็ชื่อว่าสิกขานุตตริยะ

    ส่วนคนอื่นอีกผู้เป็นกัลยาณปุถุชน ศึกษาสิกขา ๓ ในพระศาสนาของ พระผู้มีพระภาคเหมือนท่านพระอานนท์เถระ เจริญสิกขา ๓ นั้น ย่อมบรรลุ โสตาปัตติมรรค นี้ชื่อว่าการศึกษาเหมือนกัน ส่วนการศึกษาอันเดิม ชื่อว่า สิกขานุตตริยะ

    สติปัฏฐานเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ นี่คือ สิกขา ๓ คือ ทั้งศีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา เพราะว่าขณะนั้นเป็นศีลที่ละเอียด แม้แต่ความรู้สึกไม่แช่มชื่นนิดเดียว สติก็ยังระลึกได้ เป็นความละเอียด ยิ่งกว่าความโกรธอย่างรุนแรง หรือความพอใจอย่างรุนแรง หรือการกระทำทางกายทางวาจาซึ่งไม่เหมาะไม่ควร

    ขณะใดก็ตามที่เป็นผู้ที่ศึกษาสิกขา ๓ เหมือนท่านพระอานนท์เถระ เพราะว่าพระอริยสาวกในอดีตท่านก็ศึกษาอย่างนี้ ไม่มีความต่างกันเลย สภาพธรรมกำลังปรากฏและได้ฟังพระธรรม มีปัจจัยให้สติเกิดระลึกได้ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และการศึกษา อันเดิม ชื่อว่าสิกขานุตตริยะ

    อนึ่ง บุคคลปรนนิบัติพระทศพลเนืองๆ เหมือนท่านพระอานนท์เถระ นี้ชื่อว่าปาริจริยานุตตริยะ (คือ การปรนนิบัติที่ยอดเยี่ยม) แม้พระอริยบุคคลเหล่าอื่น มีพระโสดาบันเป็นต้น ย่อมปรนนิบัติพระทศพลเนืองๆ แม้นี้ก็ชื่อว่าปาริจริยานุตตริยะ

    ส่วนคนอื่นๆ ผู้เป็นกัลยาณปุถุชน ปรนนิบัติพระทศพลเหมือนท่าน พระอานนท์เถระ เจริญการปรนนิบัตินั้น ย่อมบรรลุโสตาปัตติมรรค นี้ชื่อว่า การปรนนิบัติเหมือนกัน ส่วนการปรนนิบัติอันเดิม ชื่อว่าปาริจริยานุตตริยะ

    ท่านพระสาวกในอดีต เช่น ท่านพระอานนท์ ท่านปรนนิบัติพระผู้มีพระภาค เป็นพุทธอุปัฏฐาก รับใช้โดยตลอด แต่ในสมัยนี้พระธรรมเป็นศาสดาแทนพระองค์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปรนนิบัติพระธรรม คือ ผู้ที่ศึกษาเข้าใจและเผยแผ่พระธรรมนั้น ให้บุคคลอื่นเกิดความรู้ความเข้าใจด้วย ไม่มีผู้อื่นที่จะปรนนิบัติ นอกจากพระธรรม ซึ่งเป็นศาสดาแทนพระองค์ เพราะฉะนั้น หน้าที่ของพุทธบริษัท คือ ศึกษาให้เข้าใจ และเมื่อเข้าใจแล้วก็ร่วมกันปรนนิบัติพระธรรมทุกประการ นั่นคือการปรนนิบัติเดิม ชื่อว่าปาริจริยานุตตริยะ

    บุคคลระลึกถึงเนืองๆ ถึงคุณอันเป็นโลกียะและโลกุตตระของพระผู้มีพระภาคเหมือนท่านพระอานนท์เถระระลึก นี้ชื่อว่าอนุสสตานุตตริยะ (คือ การระลึกถึงอย่างยอดเยี่ยม) แม้พระอริยบุคคลเหล่าอื่นมีพระโสดาบันเป็นต้น ระลึกเนืองๆ ถึงคุณอันเป็นโลกียะและโลกุตตระของพระผู้มีพระภาคเหมือนท่านพระอานนท์เถระระลึก แม้นี้ก็ชื่อว่าอนุสสตานุตตริยะ

    ส่วนคนอื่นอีกเป็นกัลยาณปุถุชน ระลึกเนืองๆ ถึงคุณอันเป็นโลกียะและ โลกุตตระของพระผู้มีพระภาคเหมือนท่านพระอานนท์เถระระลึก เจริญการระลึก เนืองๆ นั้น ย่อมบรรลุโสตาปัตติมรรค นี้ชื่อว่าอนุสสติเหมือนกัน ส่วนอนุสสติเดิม ชื่อว่าอนุสสตานุตตริยะ ดังพรรณนามานี้ คือ อนุตตริยะ ๖

    อนุตตริยะ ๖ เหล่านี้ ย่อมปรากฏ อนุตตริยะ ๖ เหล่านี้พึงทราบว่า ท่านกล่าวเจือปนกันทั้งโลกียะและโลกุตตระ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๖ ตอนที่ ๑๙๕๑ – ๑๙๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 147
    10 ก.พ. 2566