แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2005


    ครั้งที่ ๒๐๐๕


    สาระสำคัญ

    สนทนาธรรมที่โรงแรมโบบินน่า เมืองโครักขปูร์

    การเจริญสติ และการคิด

    ขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด

    ปัญจทวารปิดบังมโนทวาร


    สนทนาธรรมที่โรงแรมโบบินน่า เมืองโครักขปูร์

    วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๓


    ผู้ฟัง เดิมทีผมไม่ได้มาทางด้านนี้เลย คือ เริ่มมาจากด้านภาวนา แบบ นั่งภาวนา

    นีน่า ไม่ต้องนั่ง ไม่ใช่ธรรมชาติ

    ผู้ฟัง เมื่อผมมาฟังจากท่านอาจารย์ รู้สึกว่าช่วยได้เยอะ

    นีน่า เพราะไม่นั่ง

    ผู้ฟัง ผมว่านั่งก็ไม่ผิดอะไร เพราะว่าหลายสถานที่เป็นอย่างนี้หมด มีแต่ ของอาจารย์เท่านั้น เพราะฉะนั้น เราต้องผ่านประตูเหล่านี้มาก่อนจึงจะมาเจออันนี้เข้า

    ผู้ฟัง ในเมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว เราไม่ควรจะหลง มีหนทางที่จะเดินทางแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปที่ยากๆ และไม่ได้มรรคผลอะไร วิธีนี้พระพุทธเจ้าทรง ตรัสรู้แล้ว ไม่จำเป็นต้องหาทางอื่น ทางนี้เป็นทางเดียว มีวิธีเดียว คือ มรรคมีองค์ ๘

    สุ. เพื่อไม่ให้เสียเวลา เริ่มเป็นการสนทนาธรรมจริงๆ ระหว่างพวกเรา ไม่ใช่ตอบปัญหาธรรม ได้ทราบว่ามีการสนทนากันแล้วก่อนเวลานี้ อยากให้ช่วยพูดซ้ำที่สนทนา เพื่อให้ผู้อื่นได้ฟังด้วย

    นีน่า พูดเรื่องการเจริญสติและการคิด เพราะเราอาจจะไม่แน่ใจ มีความคิดมากกว่าเรื่องนามและรูป แต่มีสติเมื่อได้สนทนาธรรมมากๆ เรื่องลักษณะของ สติปัฏฐาน เพราะดิฉันเองและทุกคนมีความสงสัยเรื่องนี้ ถ้าไม่ถามก็ไม่รู้ เลยสนทนาธรรมเรื่องชีวิตประจำวัน ทุกคนมีงานทำ ลืมสติ แต่ต้องรู้ด้วยว่า หลงลืมสติ เพราะเป็นความจริง มีสติน้อย มีโลภะ โทสะ โมหะมากกว่า ถ้าไม่รู้ขณะที่ไม่มีสติด้วย ไม่รู้ตัวเองจริงๆ ไม่ใช่สัจจบารมี เพราะว่าสัจจบารมีสำคัญมาก คิดว่า มีประโยชน์กับทุกคน พูดเรื่องปัญหาในชีวิตประจำวัน มีความคิดเห็นอะไรเรื่องการเจริญสติปัฏฐานเวลาทำงาน

    ถ. อยากจะทราบการพิจารณาที่ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน อย่างทางตามองไปที่ไหน ทุกครั้งก็ยังเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นเขา เป็นเรา เป็นผู้หญิง เป็นผู้ชายอยู่อย่างนั้น และพยายามที่จะมองไม่ให้ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ไม่ให้เป็นเขา เป็นเรา ไม่ให้เป็นหญิง เป็นชาย มองไปแล้วก็คิดว่านี่เป็นภาพ เป็นสีที่ปรากฏ พยายามนึกอย่างนี้ แต่มองทีไรก็ยัง เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนอยู่ตลอดเวลา จึงมองผ่านๆ เพื่อไม่ให้เกิดเป็นสัตว์ เป็นบุคคลตัวตนขึ้น ก็มีปัญหาเกิดขึ้นว่า เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว ทำให้เราขาดความละเอียดถี่ถ้วน เพราะพยายามที่จะไม่ให้มองเป็นสัตว์ เป็นบุคคลตัวตน

    เสียงก็เช่นเดียวกัน อย่างเพลงพยายามฟังไม่ให้มีความหมาย สักแต่ว่าเสียง เดิมทีฟังเพลงรู้สึกว่าเพราะมาก ก็พยายามแบ่งเสียงออกไปเป็นเสียงๆ ไม่ให้เอามาประกอบกันเข้า ก็รู้สึกได้เหมือนกันว่า เพลงที่เคยฟังเพราะก็หมดความไพเราะไป แต่เวลาเผลอก็ไม่วายที่จะฟังและยังเพราะต่อไปอีก เมื่อไรกำหนดลงไปว่านี้เพียงเสียง และเสียงต่อเนื่องกันก็ทำให้รู้สึกว่าเพราะ ยิ่งฟังยิ่งคำนึงต่อไปอีกก็ยิ่งเพราะมากขึ้นอีก สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมนึกคิดอยู่เรื่อยว่า ทำไมเราไม่เข้าใจตรงนี้ มองอย่างไรก็ยังเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนอยู่อย่างนั้น ตรงนี้ล่ะที่จะพยายามทำอย่างไรให้มองเป็นอย่างที่อาจารย์ว่า

    สุ. นี่เป็นผลของการฟังพระธรรม และสิ่งที่คุณประสิทธิ์ศักดิ์กำลังเพียรพยายามก็เป็นความถูกต้อง เพราะได้ฟังมาว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่กว่าจะรู้อย่างนี้ ผู้ที่เริ่มต้นทุกคนต้องรู้สึกเหมือนกันว่า จะมีบางขณะที่รู้สึกเหมือนนึกและก็พยายาม แต่ก็ยังเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน นี่เป็นความจริง เพราะขณะนี้ทุกคนกำลังเหมือนจับด้ามมีด ต้องคิด อย่างนั้น เพราะฉะนั้น ที่ถามว่า เมื่อไร และทำอย่างไรจึงจะเห็นว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็ต้องอาศัยกาลเวลา และต้องอาศัยการฟัง พระธรรม ต้องอาศัยความเข้าใจจริงๆ ซึ่งผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ท่านดับ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ

    แสดงให้เห็นว่า ระหว่างที่ยังอบรมเจริญปัญญา ยังไม่ถึงความเป็น พระอริยบุคคล ยังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ทั้งหมดที่ กระทำไป ปัญญาต้องพิจารณารู้ว่าขณะไหนเป็นสีลัพพตปรามาส แม้เพียงนิดเดียว เช่น กำลังพยายามในขั้นต้น แสดงให้เห็นว่าปัญญาไม่ได้พิจารณาจนทั่ว ยังไม่ทั่ว เพราะถ้าทั่วจริงๆ ก่อนที่จะเป็นพระโสดาบันหรือเป็นพระอริยบุคคล แม้คิด แม้พยายาม ในขณะนั้นก็ต้องรู้ว่า เป็นเพียงนามธรรม แสดงให้เห็นว่า ในวันหนึ่งๆ ของเรา มีนามธรรมและรูปธรรมมากเหลือเกินผ่านไปโดยไม่เคยรู้ อย่างเมื่อเช้า มาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ตัวตนเลย แต่ถ้าย้อนไปจะเห็นความไม่รู้ทั้งหมดว่า เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล และสติปัฏฐานก็ไม่เกิด ปัญญาก็ยังไม่ได้พิจารณาแต่ละทาง เพราะฉะนั้น วันนี้ล่วงไป จนกว่าจะถึงเวลารับประทานอาหารกลางวัน ขณะนี้ ๑๑ โมง แสดงว่าตั้งแต่ ๖ โมงเช้าที่ตื่น หรืออาจจะตื่นก่อนนั้น ล่วงมาถึง ๑๑ โมง มีแต่ความไม่รู้ ขณะที่สติไม่เกิด

    ด้วยเหตุนี้สติปัฏฐานจะเกิดเมื่อมีความเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และสติปัฏฐานจะเกิดโดยสภาพที่เป็นอนัตตา แม้ในขณะนี้ บังคับบัญชาไม่ได้ แต่ เริ่มจะระลึก มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เกือบจะครบ เพราะฉะนั้น แล้วแต่สติจริงๆ ในขณะที่กำลังฟังเรื่องนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วแต่สติของ บุคคลใดมีเหตุปัจจัยสะสมมาที่จะระลึกเพียงนิดเดียวและสติก็ดับ และเมื่อเป็นผู้ใหม่ เป็นผู้เริ่มต้น เวลาสติระลึก ความรู้จะชัดไม่ได้ อย่างทางตา กำลังฟังไป เข้าใจไป ระลึกไป พยายามที่จะรู้ว่าขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง มีจริงๆ กำลังปรากฏ และถ้าศึกษาโดยละเอียดจะทราบว่า จักขุปสาทรูปเล็กนิดเดียวอยู่ตรงกลางตา มีอายุเพียง ๑๗ ขณะของจิต รวมทั้งรูปที่กระทบก็มีอายุเพียง ๑๗ ขณะของจิต เมื่อกระทบกันเป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดขึ้นชอบไม่ชอบในสิ่งที่ กำลังปรากฏโดยรวดเร็วเหลือเกิน

    เพราะฉะนั้น การฟังอย่างนี้มีประโยชน์ เป็นอุปการะ เริ่มทำให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม และชี้ให้เห็นอวิชชาความไม่รู้ว่ามีมาก เพราะว่าเห็นเกิดขึ้น นิดเดียวโดยผู้ที่ได้ประจักษ์แจ้งในสภาพของเห็นและดับ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ได้ประจักษ์แจ้งต้องอาศัยการฟังพระธรรม เมื่อเข้าใจแล้วก็ระลึกจนกระทั่งสามารถรู้ได้จริงๆ ว่า สภาพที่ปรากฏทางตาเป็นของจริง ไม่เหมือนอ่อนหรือแข็ง ไม่เหมือนเสียง ไม่เหมือนกลิ่น เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา และก็นึกคิดถึงรูปร่างสัณฐานซึ่งไม่ใช่จิตเห็นแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงสามารถแยกโลกของปรมัตถ์กับโลกของสมมติสัจจะออกได้ว่า ทวารไหนเป็นสมมติสัจจะ ทวารไหนเป็นปรมัตถ์

    ทางตาเห็นโดยไม่คิด เพียงเห็น มีสีกำลังปรากฏ และมีเห็น นั่นคือปรมัตถ์ แต่ขณะที่รู้ว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ นี่เป็นบัญญัติ เป็นมโนทวารวิถีจิต เพราะฉะนั้น มโนทวารวิถีจิตแทรกคั่นปัญจทวารแต่ละวิถี แต่ละวาระ โดยไม่ปรากฏว่า เป็นมโนทวาร เพราะว่าทางปัญจทวารปิดบังไว้

    ด้วยเหตุนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏไป ปรากฏไปเรื่อยๆ และใจก็คิดนึก ตามสิ่งที่ปรากฏทางตาไปเรื่อยๆ เหมือนกัน โดยที่ไม่ได้แยกออกจากกัน แต่การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการที่ปัญญาเริ่มเข้าใจความต่างกันของทางตากับทางใจ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่า ทางตาจะเป็นใครไปไม่ได้เลยนอกจากเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ให้เราคิดนึก

    เพราะฉะนั้น ในสังสารวัฏฏ์ เราอยู่ในโลกของความคิดนึกทุกภพชาติที่ไม่ได้ฟังพระธรรม แต่เมื่อได้ฟังพระธรรม เราจึงค่อยๆ แยกว่า ทางตาเพียงเห็น หลับตาแล้วไม่ปรากฏ แต่ความคิดนึก คิดนึกทุกอย่าง นี่เป็นทางที่จะเข้าใจว่า ทางตาปรากฏ นิดเดียวให้คิด ทางหูปรากฏนิดเดียวให้คิด ทางจมูกปรากฏนิดเดียวให้คิด ทางลิ้นปรากฏนิดเดียวให้คิด ทางกายปรากฏนิดเดียวให้คิด และทางใจคิดนึกตลอดไม่ว่าจะหลังเห็น หลังได้ยิน หลังได้กลิ่น หลังลิ้มรส หลังกระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น ต้องแยกออกจากกัน ไม่อย่างนั้นเราจะแยกปรมัตถธรรมออกจากสมมติบัญญัติไม่ได้

    การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการอบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง และขณะนี้ตามความเป็นจริงคืออย่างนั้น แต่อวิชชาไม่สามารถจะรู้ได้ จึงต้องอาศัยการฟังแล้วฟังอีก และยิ่งรู้ละเอียดก็ยิ่งมีเหตุให้ละการยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นตัวตนเมื่อสติเกิด ซึ่งเวลานี้ทุกคนบอกว่า สติพอจะเกิดบ้าง แต่ปัญญาไม่พอ เพราะฉะนั้น การที่ปัญญาจะมีกำลังพอที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมเพื่อละคลายความไม่รู้ เพื่อละการยึดถือว่าเป็นตัวตน มีหนทางเดียว คือ เมื่อสติเกิดแล้วยังไม่รู้ ก็ระลึกอีก

    เรามักจะใช้ชื่อ โลภะ โทสะ แต่ลักษณะของนามธรรมไม่ได้รู้ แต่รู้ชื่อ ด้วยเหตุนี้การอบรมเจริญปัญญาสำคัญที่ลักษณะ ที่ว่าจะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ก็ต้องต่อเมื่อรู้ลักษณะว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้ จึงไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงอาการรู้ ซึ่งมีเหตุปัจจัยจึงเกิดรู้ขึ้นเท่านั้นเอง และก็รู้แต่ละทาง ไม่เหมือนกันด้วย คือ ต้องถึงลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม โดยไม่ใช่เพียงชื่อว่านี่เป็นนามธรรม นั่นรูปธรรม แต่ต้องถึงลักษณะที่เป็นสภาพรู้ หรืออาการรู้ โดยไม่ต้องเรียกชื่อว่า นามธรรม ซึ่งขณะนั้นเมื่อรู้ว่านี่เป็นเพียงอาการรู้อย่างหนึ่ง ก็จะค่อยๆ คลาย แต่ช้ามาก ไม่เร็วเลย และบุคคลนั้นก็รู้ว่า ปัญญาไม่ใช่ไปนั่งนิ่งๆ ไม่พิจารณา สภาพธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นนามธรรมและรูปธรรมในชีวิตประจำวัน แต่ปัญญา คือ ทุกขณะไม่ใช่ตัวตนอยู่แล้ว เป็นนามธรรมและรูปธรรม หนทางเดียว คือ สติระลึก เพราะได้ฟังจนกระทั่งเข้าใจ และเมื่อระลึกทางทวารไหน ก็ค่อยๆ เข้าใจลักษณะ ซึ่งเป็นนามธรรมและรูปธรรมทางทวารนั้นๆ เพื่อละการยึดถือว่าเป็นเรา ไม่ว่าจะเป็นในขณะไหนทั้งสิ้น

    ด้วยเหตุนี้ไม่ต้องห่วง โลภะเกิด ก็เป็นของจริงที่จะต้องรู้ว่าเป็นสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง เพราะว่าบางคนกลัวโลภะมาก แต่จริงๆ แล้ว ไม่มีอะไรที่จะดับโลภะได้นอกจากปัญญา ตราบใดที่ปัญญายังไม่ถึงขั้นพระอนาคามีบุคคล ไม่มีใครสามารถ ให้โลภะในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสไม่เกิด เราต้องตรงต่อตัวเอง ตรงต่อสภาพธรรม ตรงต่อระดับขั้นของปัญญาว่า ปัญญาขั้นฟังทำอะไรไม่ได้ จะไป ประหารกิเลสไม่ได้ ปัญญาขั้นพิจารณาก็ทำอะไรกิเลสไม่ได้

    ปัญญาขั้นพระโสดาบันก็ยังละโลภะ โทสะไม่ได้ เพียงแต่ดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ต่อเมื่อใดเป็นพระอนาคามีบุคคล เมื่อนั้นจึงไม่มีความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส แต่ยังเหลือความยินดีในภพชาติ เราจึงจะเห็นความละเอียดของกิเลสว่า กิเลสมีมาก และกว่ากิเลส แต่ละประเภทจะดับได้ ต้องเป็นปัญญาจริงๆ ถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่มีทาง คนนั้นอาจจะเข้าใจว่ากิเลสน้อยลงไปตั้งเยอะ แต่ไม่มีทางเลย อนุสัยกิเลสยังอยู่เต็ม ตราบใดที่ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติในชีวิตประจำวัน ดับกิเลสอะไรไม่ได้เลย

    ถ. วันหนึ่งผมขับรถไปต่างจังหวัด มีผู้นำเทปของท่านอาจารย์มาให้ ผมก็ฟังไปตลอดทาง ตอนผมเด็กๆ ผมเข้าใจว่า บุญคงเป็นอะไรสักอย่างหนึ่ง เป็นก้อนอะไรอย่างนี้ เพราะเขาบอกว่า บุญหล่นทับ ผมก็คิดว่าคงจะเป็นก้อนบุญ และบาปก็คงจะเป็นก้อนด้วย ผมก็จำตั้งแต่นั้นมา จนกระทั่งโตผมก็ยังไม่ทราบว่า บุญจริงๆ เป็นอย่างไร เมื่อมาฟังเทปของอาจารย์ มีพระท่านถามว่า กิเลสอย่างหยาบเป็นอย่างไร กิเลสอย่างกลางเป็นอย่างไร และกิเลสอย่างละเอียดเป็นอย่างไร

    ผมจับใจความได้ว่า ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะถูกหรือผิด ท่านอาจารย์ตอบว่า กิเลสอย่างหยาบเกิดได้ทางกาย ทางวาจา ส่วนกิเลสอย่างกลางนั้นเกิดจากใจคิด และกิเลสอย่างละเอียดเป็นอนุสัยกิเลส

    ผมไปได้เอาเรื่องบุญเรื่องบาป ไพล่ไปอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องบุญที่ผมเข้าใจว่า เป็นก้อนที่หล่นทับตามที่เขาบอกอย่างนั้น บุญคงอยู่ตรงนี้เอง อยู่ตรงทุกขณะจิตนี่เอง ที่ว่าคิดอะไรเป็นกุศลก็คงเป็นบุญ คิดอะไรที่ไม่ใช่กุศลก็คงเป็นบาป เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องควบคุมก็คือต้องควบคุมว่า ทำอย่างไรไม่ให้จิตใจเราน้อมไปในสิ่งที่ เป็นอกุศล ให้น้อมไปทางกุศลมาก แต่จะน้อมอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับฐานของจิตใจ อนุสัยกิเลส ซึ่งผมได้ยินได้ฟังว่าเป็นเครื่องหมักดอง ผมก็นึกว่า คงเหมือนมะม่วงดอง ศัพท์เหล่านี้ก็มาจากสมัยเด็กๆ ทั้งนั้น คงจะเป็นอย่างนี้ว่า ถ้าเขาดองเค็ม น้ำอะไร รดลงไปบนมะม่วงดอง ถึงแม้จะจืดสนิท ออกมาก็คงเค็ม ถ้าดองเปรี้ยว ทั้งๆ ที่น้ำ ใสสะอาด ไม่มีรสอื่น ออกมาก็จะเปรี้ยว หรือถ้าดองหวานก็จะออกมาหวาน ตรงจุดนี้มั้งที่ทำให้จิตใจของคนเราหรือตัวเราเองเวลามองอะไรแล้ว มองออกมาเค็ม มองออกมาเปรี้ยว หรือออกมาหวาน เพราะฉะนั้น กิเลสที่มีอยู่ แล้วแต่เราจะมอง เห็นดอกไม้ก็บอกว่า ดอกไม้นี้สวยนะ เห็นผึ้งดูแล้วก็น่ารักดีนะ หรือบางครั้งมองดูแล้วก็น่ากลัวเป็นอันตราย ตรงนี้ผมอยากเรียนถามท่านอาจารย์ว่า บุญบาปอยู่ตรง ทุกขณะจิต ใช่หรือเปล่า



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๑ ตอนที่ ๒๐๐๑ – ๒๐๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 147
    5 ม.ค. 2565