แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1972


    ครั้งที่ ๑๙๗๒


    สาระสำคัญ

    อาหาร ๔

    ปฏิจจสมุปปาท - ทรงแสดงปัจจัยโดยประเภทของสภาพธรรมนั้นๆ

    จดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง - อำเภอปากพนังนครศรีธรรมราช

    กำลังของโลภะ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๓๓


    ถ. อยากรู้ไม่ติดหรือ

    สุ. ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ถ. ผมก็ไม่รู้ ผมก็ว่าเป็นกุศล แต่มีบางคนอาจจะว่าเป็นอกุศล

    สุ. ต้องเป็นสติสัมปชัญญะของบุคคลนั้น จึงจะสามารถแยกลักษณะของอกุศลออกจากกุศลได้ เพราะว่ากุศลไม่ทำให้เดือดร้อน กุศลสงบ แต่ถ้าเป็นอกุศล ขณะนั้นจะเดือดร้อน

    ถ้าอยากจะอ่านพระธรรม และเดินไปหยิบหนังสือมาอ่าน สบายๆ ไม่เดือดร้อน ใช่ไหม แต่ถ้าเกิดความเดือดร้อนวุ่นวายขณะใด ขณะนั้นต้องเป็นอกุศล เพราะบางคนอาจจะมีความกระวนกระวายอยากจะให้ตัวเองต้องรู้ตรงนี้ให้ได้ มิฉะนั้นตัวเองจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คือ ถ้าเพื่อความเป็นตัวตนของตนเอง นั่นไม่ใช่การละคลาย แต่ถ้าอยากเข้าใจพระธรรม ก็เดินไปหยิบพระไตรปิฎก พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรมมาอ่านสบายๆ ซึ่งขณะนั้นไม่เดือดร้อน เป็นความสงบ เป็นกุศล ขึ้นอยู่กับสภาพของจิตว่า ต้องการรู้เพื่ออะไร

    เรื่องของกวฬิงการาหารก็คงเข้าใจแล้ว คือ เพื่อความดำรงอยู่ของสัตว์โลกที่เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด

    อาหารมีถึง ๔ อย่าง คือ กวฬิงการาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร และวิญญาณาหาร เป็นอาหารปัจจัย ซึ่งถ้าศึกษาปัจจัยจะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงสภาพธรรมแต่ละอย่างเป็นปัจจัยแต่ละประเภท และไม่ใช่ว่าจะขาดปัจจัย อื่นๆ ได้ ปัจจัยอื่นก็ขาดไม่ได้ แต่ทรงแสดงปัจจัยโดยประเภทของสภาพธรรมนั้นๆ ว่า ปัจจัยนี้ขาดไม่ได้โดยสภาพที่เป็นอาหาร เพราะว่านำมาซึ่งผล

    สำหรับการพิจารณาสภาพธรรมนั้น ขึ้นอยู่กับขณะที่กำลังพิจารณาว่า จะพิจารณาอย่างไร แต่สภาพธรรมก็เกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด เช่น ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งแสดงโดยอนุโลม คือ อวิชชา ความไม่รู้ เป็นปัจจัยแก่สังขาร ได้แก่ เจตนา ซึ่งเป็นกรรม คือ กุศลบ้าง อกุศลบ้าง และสังขารซึ่งเป็นกรรมนั้นก็เป็นปัจจัย แก่วิญญาณ คือ เมื่อยังมีสังขารคือกรรมอยู่ตราบใดก็เป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิ และเมื่อปฏิสนธิเกิดแล้ว ก็เกิดพร้อมกับเจตสิกและรูปด้วย เพราะฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นปัจจัยแก่นามรูป

    อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป ผ่านมาแล้วทั้งหมด ใช่ไหม คือ ขณะเกิด ซึ่งก่อนนั้นต้องมีอวิชชา และต้องมีกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด คงไม่มีใครต้องไปนั่งทบทวน และเมื่อเกิดมาแล้ว นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นทางที่จะรับกระทบอารมณ์ เพราะถ้าจิตยังเป็นภวังค์อยู่ก็ไม่รู้อารมณ์อื่นนอกจากอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต แต่เมื่อมีนามธรรมและรูปธรรมแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งกระทบกับอารมณ์ภายนอก

    อายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน การยึดมั่น อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพในที่นี้หมายถึงกรรมภพ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดชรา มรณะ นี่เป็นปฏิจจสมุปบาทที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆ แล้วแต่ว่าในขณะนั้น จะระลึกรู้และพิจารณาเข้าใจส่วนหนึ่งส่วนใดในขณะหนึ่งขณะใด ก็ย่อมทำให้เห็นถึงการสืบเนื่องติดต่อกันไปของสภาพธรรมทั้งหลาย

    หรืออาจจะพิจารณาอีกนัยหนึ่ง คือ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรา มรณะ คือ สาวไปจากขณะนั้นว่าอะไรเป็นเหตุ ขณะที่เจ็บไข้ได้ป่วย หรือชรา หรือตาย ขณะนั้นจะย้อนไปพิจารณาได้ว่า เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชราและมรณะ และถ้าจะสืบหาเหตุผลว่าเพราะอะไรจึงมีชาติคือการเกิดขึ้นก็จะรู้ว่า เพราะมีกรรมหรือ กรรมภพนั่นเองเป็นปัจจัย และถ้าจะย้อนกลับไปอีกว่าอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดกรรมภพ ก็จะรู้ว่า อุปาทาน การยึดมั่นนั่นเองที่ทำให้ยังมีภพอยู่ และถ้าย้อนไปว่าอะไรทำให้เกิดการยึดมั่นก็รู้ว่า เพราะมีความยินดีพอใจในความยึดมั่นนั้นเองเป็นปัจจัย และ ถ้าย้อนกลับไปว่าอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดความยินดีคือตัณหาก็จะรู้ว่า เพราะเวทนา ความรู้สึกเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา และถ้าย้อนไปว่าอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ก็จะรู้ว่า เพราะผัสสะ การกระทบเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ถ้าย้อนไปว่าอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะก็จะรู้ว่า เพราะอายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ และถ้าย้อนไปว่าอะไร เป็นเหตุให้เกิดอายตนะ ก็นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ ย้อนไปอีก ก็อะไรเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป ก็วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป

    เพราะฉะนั้น สามารถย้อนไปทั้งขึ้นทั้งลงได้ ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าสภาพธรรมใดกำลังปรากฏ ถ้าปัญญาสะสมพื้นฐานที่มั่นคงก็สามารถเข้าใจในเหตุในผลของธรรมนั้น แม้ในขณะที่กำลังบริโภคอาหาร หรือในเรื่องของอาหาร ๔

    มีจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ซึ่งคงจะทำให้ท่านผู้ฟังได้อนุโมทนา ขอเชิญท่านผู้ฟังช่วยอ่านด้วย

    ๒๓๖/๒ หน้าที่ว่าการอำเภอปากพนัง

    ถนนชายทะเล นครศรีธรรมราช

    ๓ ธันวาคม ๒๕๓๓

    เรียน ท่าน พ.อ. ธงชัย แสงรัตน์ ทราบ

    ตั้งแต่ผมได้รับฟังรายการธรรมปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ซึ่งบรรยายโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มาจนบัดนี้ เป็นเวลา ๓ ปีกว่าแล้ว ผมฟังทุกคืน เว้นไว้แต่วันที่ติดธุระและขัดข้องจริงๆ เท่านั้น บางบทเข้าใจ บางบทก็ยังไม่เข้าใจ ผมคิดว่า บทที่ไม่เข้าใจนั้น เมื่อฟังไปๆ นานๆ ก็คงจะเข้าใจสักวันหนึ่งเป็นแน่ และขอขอบคุณท่านผู้ฟังบางท่านที่เขียนมาถามปัญหาต่างๆ ซึ่งท่านอาจารย์สุจินต์ตอบให้ผมก็พลอยได้ฟังกับท่านด้วยและได้เข้าใจชัดขึ้น รู้สึกว่า ตาหูสว่างขึ้นมาก และผม นึกชมตัวเองว่าเป็นบุญเหลือเกินที่ได้มาพบรายการนี้ เพราะว่าผมพบโดยบังเอิญจริงๆ คือ ผมรับฟังข่าว ๒๐ นาฬิกา ข่าวใน ข่าวนอก จบแล้วก็เป็นรายการปักษ์ใต้บ้านเราของนายเจริญ ปิ่นทอง ตามปกติเมื่อจบรายการนายเจริญแล้วก็มีเพลง ผมเป็นคน ไม่ชอบเพลง ผมก็ปิดเสียทุกคืน แต่คืนที่จะพบนั้น จบรายการนายเจริญก็เป็นรายการธรรมปฏิบัติในชีวิตประจำวันเริ่มขึ้นทันที ในขณะที่ผมยังไม่ได้ทันปิดวิทยุ และได้รับฟังตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนทุกวันนี้ นับว่าเป็นบุญของผมจริงๆ มิฉะนั้นแล้วผมคงจะตายเสียเปล่า ไม่ได้พบอาจารย์ที่ดีๆ อย่างนี้ และความจริงก่อนจะพบรายการนี้ ผมก็ปรารถนาอยู่ก่อนแล้วว่า อยากจะฟังธรรมชั้นสูง เพราะที่เป็นธรรมขั้นต่ำ ฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก รู้สึกเบื่อ และบางทีถูกสอนให้เพิ่มพูนกิเลสขึ้นก็มี เช่น สอนให้ทำบุญให้ทานและอุทิศให้ได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ เกิดชาติหน้าให้มั่งมีศรีสุข อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งผิดกับที่ท่านอาจารย์บรรยายมากทีเดียว ธรรมของท่านอาจารย์สุจินต์สอนให้ละ ให้คลายจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และโลภ โกรธ หลง ให้เห็นในทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ขัดเกลากิเลส อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียดครบถ้วน ซึ่งผมอธิษฐานว่า ขอให้รายการนี้ อยู่ยืนยงนานแสนนาน ผมจึงขออนุโมทนามาเป็นเงิน ๒๐๐ บาทถ้วน เพื่อสมทบในมูลนิธิของรายการนี้ให้อยู่ยืนยาวตลอดไป ได้รับเงินแล้วตอบให้ผมทราบด้วย ผมรับฟังจากสถานีค่ายวชิราวุธ กองทัพภาค ๔ นครศรีธรรมราช

    ขอแสดงความนับถือ

    ท่านผู้ฟังมีข้อสงสัยอะไรไหม เพราะจากจดหมายฉบับนี้ ผู้ฟังทุกท่านชอบคำถาม ทุกคำถามมีประโยชน์ เพราะช่วยให้ท่านผู้ฟังท่านอื่นทางวิทยุได้รับฟัง ตรงกับความสงสัยของท่านด้วย

    ธรรมขั้นฟังเข้าใจว่า ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายเป็นนามธรรมและรูปธรรมทั้งหมด ซึ่งความจริงแต่ละข้อความที่ได้รับฟังจะต้องถึงการพิสูจน์หรือการประจักษ์แจ้ง โดยที่ไม่เปลี่ยนเลย สภาพธรรมตั้งแต่เกิดจนตายเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น นี่ขั้นฟังเข้าใจ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จึงเป็นในขณะไหนก็ได้ทั้งสิ้น เพราะว่าตลอดชีวิตเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นจริงๆ

    ในขณะที่กำลังเห็น ไม่เคยรู้ แม้ว่าจะฟังพระธรรมเป็นปีๆ ทางตาก็ยังคงยาก ที่จะรู้จริงๆ ว่า สภาพรู้ คือ ขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ แต่เมื่อฟังไป มีสติระลึกบ้าง และก็ฟังอีก เข้าใจอีก สติก็เกิดขึ้นอีกบ้างแม้ว่าไม่มาก และก็ฟังอีกเข้าใจอีก พิจารณาอีก สติเกิดขึ้นระลึกอีก ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า บ่อยๆ เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจะรู้ว่า สภาพธรรมมี แต่ไม่คุ้นเคย ไม่เคยชินกับลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเลย ทั้งๆ ที่มีอยู่ตลอดเวลา และทางเดียวที่จะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ถูกต้อง คือ ระลึก สติเกิด และค่อยๆ เข้าใจขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย เนืองๆ บ่อยๆ

    การที่จะรู้ว่าเริ่มเข้าใจบ้าง คือ ไม่สงสัยในหนทางประพฤติปฏิบัติ ไม่เข้าใจว่ามีทางอื่นที่จะทำให้รู้เร็ว หรือรู้ชัด เพราะว่าต้องเป็นปัญญาของตนเอง และจะละคลายความกระวนกระวาย ความต้องการ ซึ่งอาจจะเกิดจากการเคยได้ยินได้ฟังว่า ถ้าปฏิบัติสักเดือนหนึ่ง หรือ ๓ เดือน หรืออาจจะถึงปีหนึ่งโดยเข้มข้น จะทำให้ปัญญาสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม

    บางท่านอาจจะเข้าใจว่า สามารถหมดกิเลสรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็น พระอริยบุคคลขั้นต่างๆ บางท่านก็เข้าใจว่า ท่านได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็น พระโสดาบันบุคคลบ้าง หรือเป็นพระสกทาคามีบุคคลบ้าง นั่นคือความต้องการ ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง

    ไม่ต้องมีการเข้มข้น เพราะขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ ให้รู้ลักษณะ ที่ต่างกันของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิดสลับกันอย่างปกติ ให้เข้าใจว่า การสลับกันของสติสัมปชัญญะที่เป็นสติปัฏฐานที่ระลึกลักษณะของ สภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วดับ จะต้องเหมือนกับทางอื่น เช่น ทางตาในขณะนี้ เห็น และดับหมดไป ได้ยินชั่วขณะ และดับหมดไป มีอะไรที่ผิดปกติบ้างในขณะที่ เห็นและได้ยิน ไม่มีการผิดปกติเลย ฉันใด เวลาที่ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมมีมากขึ้นจนเป็นสัญญาความจำที่มั่นคง เป็นเหตุปัจจัยทำให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็เหมือนกับทางตากับทางหู ทางตาจิตเกิดขึ้นเห็นและก็ดับ ทางหู เกิดขึ้นต่อ ได้ยินและก็ดับ

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานที่จะเกิด ก็คือทางตาที่เห็น สติระลึกตามปกติและ ดับไป สลับกับเสียง สลับกับการได้ยิน สลับกับสภาพธรรมอื่นๆ เป็นปกติ แต่ในตอนต้นสภาพธรรมย่อมไม่ปรากฏตามความเป็นจริง เพราะต้องถึงขั้นวิปัสสนาญาณ จึงเป็นขั้นที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาที่สามารถรู้ความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทางตามปกติ ตามความเป็นจริงได้

    ต้องทราบว่า เป็นความปกติ และเป็นเรื่องละความต้องการ ถ้าใครยังมีความต้องการที่จะถึงเร็วๆ รู้มากๆ แสดงว่าผู้นั้นเป็นไปตามกำลังของโลภะ เพราะไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ตามปกติ

    ในขณะที่กำลังอยากรู้ชัด กับขณะที่สติระลึก ต่างกัน ใช่ไหม

    ขณะใดที่สติปัฏฐานเกิดระลึก ขณะนั้นเป็นขณะที่กำลังเข้าใจลักษณะของ สภาพธรรมนั้น มากน้อยตามกำลังของปัญญา แต่ขณะที่กำลังอยาก แสดงว่าขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมอะไรเลย เพียงแต่อยากและหาหนทาง ที่จะทำให้รู้ ไม่ได้เข้าใจว่า สภาพธรรมมี และทางที่จะรู้คือสติระลึกเท่านั้น ถ้าสติไม่ระลึก ก็เป็นแต่เรื่องของความอยาก และอาจจะทำให้ไปแสวงหาทางอื่น มีการเข้าใจผิด และยึดมั่นในข้อปฏิบัตินั้นๆ ด้วย

    มีผู้ฟังท่านหนึ่งโทรศัพท์มาถามว่า ขณะที่ท่านโกรธและท่านรู้สึกตัวรู้ว่า ขณะนี้กำลังโกรธ เป็นสติสัมปชัญญะหรือเปล่า

    เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด ไม่ใช่ว่าเป็นความเข้าใจขั้นชื่อ แต่ลักษณะของสติสัมปชัญญะในขณะนั้นต้องต่างกับในขณะที่เพียงรู้ว่าขณะนั้นโกรธ ข้อเทียบเคียง คือ ถ้าถามเด็กๆ ว่าร้อนไหม เด็กคนนั้นก็ตอบได้ว่าร้อน ถามว่าเย็นไหม เด็ก คนนั้นก็ตอบได้ว่าเย็น ถามว่าหวานไหม ก็ตอบได้ว่าหวาน ถามว่าดีใจไหม ก็ตอบว่าดีใจ ถามว่าโกรธไหม เด็กคนนั้นก็ต้องรู้ตัวและตอบว่าโกรธหรือไม่โกรธ แต่ในขณะที่เด็กตอบว่าโกรธ กับเวลาที่ผู้ใหญ่ตอบว่าโกรธ มีความต่างกันหรือเหมือนกัน

    ถ้าเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม ยังไม่เข้าใจสติสัมปชัญญะ และสติสัมปชัญญะยังไม่เกิด คำตอบอย่างนั้นจะเป็นสติสัมปชัญญะไม่ได้ แต่ผู้ใดก็ตามที่ได้ฟังพระธรรมเข้าใจก็รู้ว่า สภาพธรรมมี เป็นปรมัตถสัจจะ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และมีลักษณะที่ต่างๆ กัน เช่น ความต้องการ ความติดข้อง ความเพลิดเพลิน เป็นลักษณะหนึ่งๆ

    เวลาที่ท่านผู้ฟังอยากจะอ่านหนังสือพิมพ์ อยากจะดูโทรทัศน์ ถ้าขณะนั้นโทรทัศน์ยังไม่มีรายการนั้น แต่มีความอยากที่จะดู ขณะนั้นก็จะสังเกตเห็นได้ว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่เคยสังเกตมาก่อน

    ความอยากที่จะทำอย่างหนึ่งอย่างใด ขณะที่ยังไม่ได้ทำ เห็นความอยากที่เกิดขึ้นว่า ต้องการทำ ซึ่งนั่นไม่ใช่ลักษณะของความโกรธ แต่เป็นสภาพธรรม อย่างหนึ่ง และขณะที่กำลังติดข้อง กำลังทำอย่างนั้น กำลังเพลิดเพลินอย่างนั้น ก็เห็นลักษณะของความเพลิน ความติดข้อง ความพอใจว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เวลาเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ได้กลิ่นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ความขุ่นเคือง ความไม่พอใจเกิดขึ้น ขณะนั้นก็เป็นปกติธรรมดา คือ สามารถระลึกในลักษณะของสภาพธรรมนั้น และไม่ใช่เพียงรู้แบบธรรมดาปกติว่าเค็ม ว่าหวาน ว่าร้อน ว่าเย็น ว่าโกรธ ว่าดีใจ ว่าเสียใจ แต่ต้องเป็นการรู้ว่าเป็นสภาพธรรม คือ ต้องรู้ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง และเป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะ

    การเริ่มต้นอย่างนี้จะทำให้ค่อยๆ ถอนความเป็นตัวตน ความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลออกจากสภาพธรรมนั้น แต่ทีละเล็กทีละน้อย เหมือนจับด้ามมีด ไม่ผิดปกติ และไม่มีวิธีอื่นเลย ไม่ใช่โลภะเกิดก็ขุ่นเคืองใจ ไม่อยากให้โลภะเกิดจะทำอย่างไร แทนที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นลักษณะนั้นกำลังแสดงสภาพของธรรม อย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็รู้ด้วยว่าสภาพธรรมอื่นก็มี เช่น ในขณะนั้นก็มีเห็น มีได้ยิน มีการกระทบสัมผัสสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานก็จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมอื่น ไม่ติดข้องจ้องดูอยู่ที่ลักษณะของสภาพธรรมเดียว เพราะอาจจะคิดว่า เพียงจดจ้องอยู่ที่ลักษณะนั้นก็จะประจักษ์การเกิดดับ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๘ ตอนที่ ๑๙๗๑ – ๑๙๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 147
    28 ธ.ค. 2564