แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1825


    ครั้งที่ ๑๘๒๕


    สาระสำคัญ

    ทุกข์คือกิเลส (โทสะ)

    ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา

    ลดความโกรธด้วยธรรม


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๑


    สุ. ขอเรียนถามท่านผู้ฟังทุกท่านว่า ท่านโกรธหรือเปล่า ก็โกรธทุกคน ไม่มีความต่างกันเลย สภาพธรรมที่โกรธมีจริง ซึ่งทุกคนที่ไม่ใช่พระอนาคามี มีสภาพธรรมนี้เกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะมากหรือจะน้อย เป็นของธรรมดา ไม่ใช่ท่านผู้ฟังท่านนี้ท่านเดียวที่รู้จักโกรธ หรือมีความโกรธ ทุกคนโกรธ เพราะว่าสภาพธรรมที่โกรธ มีจริง เหมือนกันทุกคน เป็นของธรรมดา

    . งั้นปล่อยไว้อย่างนั้น

    สุ. ปล่อยหรือไม่ปล่อย มีปัจจัยก็ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ว่าเราเป็นตัวตนจะปล่อย อย่าได้คิดว่ามีอำนาจ หรือมีตัวตน หรือจะบังคับสภาพธรรมทุกสิ่งทุกอย่างได้ แต่ให้ทราบว่า สภาพธรรมทุกอย่างที่เกิด เกิดเพราะเหตุปัจจัย ถ้าสติเกิดระลึกทันจะเห็นโทษของความโกรธ และรู้ว่าถ้ายังโกรธต่อ ต่อไปข้างหน้าความโกรธก็มีปัจจัยที่จะเกิดอีกมาก

    การที่ชาตินี้เป็นบุคคลที่โกรธตั้ง ๑๐ กว่าปี และยังไม่ลืม ก็เพราะว่าสะสมมา ที่จะผูกโกรธ และนึกโกรธบ่อยๆ เพราะฉะนั้น ต้องเคยเป็นอย่างนี้มาแล้ว ถ้ายังไม่เห็นโทษ ชาติต่อไปก็จะต้องเป็นอย่างนี้อีก

    . ไม่ใช่โกรธครั้งนั้นครั้งเดียว แต่โดนบ่อยๆ

    สุ. มีใครบ้างที่เคยโกรธเพียงครั้งเดียว ไม่มี ทุกคนโกรธบ่อยๆ ทั้งนั้น ทุกคนเหมือนกันหมด

    . หมายความว่าครั้งนั้นแล้วไป ถ้าโดนใหม่ จะทำอย่างไรไม่ให้โกรธ

    สุ. ไม่ใช่ทำอย่างไรไม่ให้โกรธ ถ้าโกรธเกิดขึ้นก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็น สภาพธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมที่ ...

    . ไม่ต้องแก้ ปล่อยให้เป็นอย่างนั้นเลย

    สุ. จะเป็นตัวตนที่จะทำหรือ เลิกคิดได้ และไม่ใช่ปล่อยหรือไม่ปล่อย แต่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่มีใครสามารถทำให้เกิดจิตเห็น จิตได้ยิน หรือจิตเป็นกุศล จิตเป็นอกุศลได้ สภาพธรรมทุกอย่างมีปัจจัยจึงเกิดขึ้น ซึ่งปัญญาสามารถอบรมรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้นว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    นี่คือจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรม เพื่อให้รู้ความจริงของสภาพธรรม ไม่ใช่ไปบังคับ แต่รู้ว่าสภาพธรรมทุกอย่างไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    . และเราไม่ต้องแก้ไข ปล่อยไปให้เป็นอย่างนั้น

    สุ. ขณะนี้ถ้าฟังแล้วเข้าใจ คือ กำลังแก้ แต่จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับกำลังของปัญญา

    . ถ้าเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นอีก ก็ปล่อยไป

    สุ. ไม่มีเราปล่อย ถามเป็นครั้งที่ ๕ ที่ ๖ แล้ว เรื่องที่ว่าจะปล่อย และดิฉันก็เรียนซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า อย่ามีความเป็นตัวตนที่คิดว่าจะปล่อย แม้แต่จะเห็น หรือ จะได้ยิน จะคิดนึกอย่างไร เป็นโลภะ เป็นโทสะ เป็นกุศลอกุศลอย่างไร ก็เป็น สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ซึ่งปัญญาควรที่จะต้องอบรมจนสามารถประจักษ์ว่า สภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และขณะนี้กำลังฟังเพื่อที่จะให้เข้าใจ นี่คือการที่จะแก้ แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไปตามกำลังของปัญญา ที่เกิดขึ้น

    . เวลาฟังเทศน์ พระบอกว่าให้เจริญเมตตาแก้โทสะ ประหารโทสะ

    สุ. พระบอก แล้วทำได้ไหม

    . นั่นซิ กำลังจะถามว่า เอาเมตตาแก้ จะเมตตาสักขนาดไหน

    สุ. ถ้าขณะนั้นเมตตาเกิด โทสะก็เกิดไม่ได้ แล้วแต่ว่าเมตตาจะเกิดหรือ ไม่เกิด

    . พระบอกว่า เอาเมตตาประหารโทสะเสีย ก็พยายามมากๆ เลย

    สุ. สำเร็จไหม

    . พอไม่เป็นเมตตา เราก็โกรธอีก

    สุ. ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล อย่าไปถามใครเลยเรื่องวิธีอื่น ที่จะทำให้ไม่มีโทสะ เพราะว่ามีวิธีเดียวเท่านั้น คือ ต้องอบรมเจริญปัญญาจนรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงขั้นพระอนาคามีบุคคลเมื่อไร เมื่อนั้นจึงจะไม่มีโทสะ

    . เหตุการณ์อย่างนี้ยังมีอยู่เรื่อย เราก็อบรมเจริญอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ ไม่ต้องแก้หรือ ก็พยายามทำอยู่แล้ว คิดว่าเป็นกรรมของเราจึงยอมเสียสละทุกอย่าง แต่รู้สึกว่าตั้งแต่มาเรียนธรรมยิ่งโดนหนัก แต่ก่อนนี้โดนนิดๆ หน่อยๆ เดี๋ยวนี้โดนเยอะ

    สุ. คิดว่าอย่างไร คงไม่คิดว่าเพราะฟังธรรมเลยยิ่งโดนเยอะ

    . ไม่หรอก คือ เมื่อก่อนโดนก็รู้สึกด้านๆ แต่เดี๋ยวนี้เวลาได้ยินแล้ว แปล๊บเลย รู้ว่าโกรธแล้วนะ จัดแจงจะโกรธแล้ว

    สุ. ก็ยังรู้ว่า จัดแจงจะโกรธ ก็รู้เร็วขึ้น แต่ก่อนนี้โกรธโดยที่ไม่รู้

    . ถ้ายิ่งฟัง ก็ยิ่งจะรู้ มันเร็ว รู้ว่าเร็ว แต่ก่อนไม่รู้ ถึงรู้ก็อย่างงั้นๆ ไม่ค่อยทุกข์ แต่เดี๋ยวนี้รู้ปุ๊บ ทุกข์เลย

    สุ. คิดว่าจะกลับไปเป็นอย่างเก่าดีไหม ที่ว่าด้านๆ

    . เดี๋ยวนี้ก็ด้านๆ อยู่แล้ว คิดว่า ถ้าเราสกปรกจะทำอย่างไรให้สะอาด ถ้าไม่มีวิธี ก็คงจะปล่อยให้ด้านๆ ไป

    สุ. นี่คือความทุกข์ของสังสารวัฏฏ์ ใช่ไหม ทุกคนก็เห็นชัดจากตัวอย่างของท่านที่มีทุกข์ คือ กิเลส โทสะ

    . ที่ถามอาจารย์ หมายความว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านมีบทอะไรไหมที่จะแก้ทุกข์อย่างนี้

    สุ. คิดว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสว่าอย่างไร

    . ก็จะถามอาจารย์

    สุ. ขอกล่าวถึงพระพุทธพจน์ โลภะ โทสะ โมหะ ธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ของเรา แม้แต่ความโกรธในขณะนั้น ก็ไม่ใช่เรา และไม่ใช่ของเรา ถ้าสามารถรู้ตามความเป็นจริงอย่างนี้ ทุกข์จะลดน้อยลง เพราะว่าไม่ยึดถือโลภะ โทสะ โมหะ และธรรมทั้งหลายว่าเป็นของเรา เมื่อไม่มีเรา ก็ไม่มีบุคคลอื่น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นและดับไป

    ผู้ฟัง ถ้าจะดับโทสะทันที รู้สึกจะลำบาก เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ก็หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ ถ้าเรายังนึกถึงบ่อยๆ เดี๋ยวก็วนมาเป็นปัจจัย ที่มีกำลัง ผมอยากจะเรียนเสริมอาจารย์ที่อาจารย์เคยพูดไว้ว่า การศึกษาธรรม เราศึกษาเพื่ออะไร เพื่อรู้จุดมุ่งหมายของชีวิตใช่ไหม จุดมุ่งหมายของชีวิตคืออะไร ชีวิตก็คือนามธรรมรูปธรรมที่อาจารย์พูดมานานเหลือเกิน

    เมื่อเป็นนามธรรมรูปธรรม ก็ไม่ใช่ตัวเราอย่างที่อาจารย์ว่าเมื่อกี้ ไม่ใช่ตัวเรา เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจำเป็นต้องเข้าใจในนามธรรมรูปธรรมอย่างแท้จริง ไม่งั้นดับกิเลสไม่ได้ ถ้าเข้าใจนามธรรม เข้าใจรูปธรรม ตัวนี้แหละคือปัญญาที่เกิดมาจริงๆ และ ดับกิเลสได้จริงๆ ถ้าเรายังไม่เข้าใจคิดว่านี่เป็นตัวเรา เป็นกลุ่มเป็นก้อนอยู่ มันวนมาตลอดเวลา แต่ถ้าเราแยกออกไป นี่นามธรรม นี่รูปธรรม และนามธรรมเป็นอย่างไร มีจิต เจตสิก ถ้าเข้าใจอย่างนี้ละเอียด นั่นแหละปัญญาจะเฉียบคมและตัดกิเลส หั่นเป็นท่อนๆ เลย ไม่มีวนมา

    ฉะนั้น จุดสำคัญ คือ ให้รู้จุดมุ่งหมายของชีวิต เรามาศึกษาพระธรรม เพื่อเข้าใจจุดมุ่งหมายของชีวิตที่แท้จริง คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม คือ นามธรรมกับรูปธรรม ถ้ายังไม่รู้แจ้งจะไปดับกิเลสได้อย่างไร ก็ดับไม่ได้ ก็ถือว่านั่นเป็นกรรมเก่า ที่เราผจญมา

    ผมจำที่อาจารย์ชี้แจงมานานหลายปีแล้วที่ว่า คนแต่ละคนไปซื้อที่จัดสรร เกิดสลัมขึ้น เมื่อเกิดสลัม ก็มีกินเหล้า ขโมยของ นอนไม่หลับทั้งคืน ต้องย้ายไป ซื้อใหม่ ๓ ปีเริ่มอีกแล้ว อย่างเดิม ก็หนีอีก หนที่ ๓ ไม่ถึง ๓ ปีเกิดอีกแล้ว เขาบอกว่า นี่แหละคือกรรมเก่า จะต้องทน และศึกษาให้เข้าใจ จะรู้ว่าวัฏจักร เป็นอย่างนี้ หนที่ ๓ เขาสู้จริงๆ สู้ด้วยธรรม ใจเย็นสู้ ผมเห็นว่าที่ท่านอาจารย์พูด สั้นๆ เพราะนึกว่าทุกคนคงเข้าใจที่ท่านได้ชี้แจงมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว แต่ความจริง ก็คือตรงนี้ที่ท่านบอกว่า ต้องเข้าใจจุดมุ่งหมายของชีวิต และเราจะดับกิเลสได้ ถ้าไม่เข้าใจนามธรรมรูปธรรม ท่านไม่มีทางที่จะดับกิเลสได้ บางคนไปนั่งสมาธิเพื่อ ดับกิเลส เป็นไปไม่ได้ ไม่มีทาง

    สุ. ขออนุโมทนาในเมตตาของท่านผู้ฟังที่เกื้อกูลผู้ที่กำลังมีโทสะ และเป็นทุกข์อย่างหนึ่งในสังสารวัฏฏ์ ไม่ทราบท่านผู้ฟังท่านอื่นจะมีประสบการณ์ หรือ มีเรื่องที่จะเป็นประโยชน์ในการระงับโทสะบ้างไหม ที่จะเกื้อกูล

    ผู้ฟัง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดกับผมเอง ผมเป็นหมอเอ็กซเรย์ มีคนไข้ที่ไม่เคยเห็นหน้ากันเลย มาถึงก็ด่าเป็นชุด โดยที่เรายังไม่ทันพูดอะไร ขณะนั้นก็โกรธ แต่เมื่อสติเกิดก็ระลึกได้ว่า ในอดีตเราคงเคยด่าคนอื่นมาแล้วอย่างนี้ ตอนนี้ก็มารับผล แต่อีกสักพักก็โกรธใหม่อีก ก็ระลึกว่า โกรธๆ อย่างนี้ ยังเป็นปุถุชนอยู่ เมื่อก่อนเรา ก็คงเคยโกรธเหมือนอย่างที่เขาเคยโกรธเรา เดี๋ยวนี้ อัตภาพนี้ ยังประมาทอยู่ ก็โกรธได้อีก และอัตภาพต่อๆ ไปก็จะโกรธได้อีก แม้วันนี้เราจะไม่ได้โกรธเขา เราไม่ได้ไปว่าคนอื่น แต่ถ้ายังประมาทอยู่ก็ยังจะเกิดได้อีก เพราะว่ากิเลสอย่างนี้ๆ เราก็เคย มีมาแล้ว และต่อไปก็อาจจะมีอีก ก็พิจารณาอย่างนี้ เผื่อจะเกิดประโยชน์บ้าง

    สุ. ขออนุโมทนาในเมตตาจิต เพราะว่าทุกท่านก็กำลังลดความโกรธ ด้วยธรรม

    พระ เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาอย่างโยมอาจารย์ว่า อาตมาเมื่อเริ่มฟังธรรม ครั้งแรกตามที่เคยเล่าแล้วว่า ไม่ศรัทธาโยมอาจารย์ คิดว่าไม่เหมือนกับสมณะ ตอนแรกก็มีโทสะ ไม่พอใจโยมอาจารย์มาก แต่ภายหลังเมื่อเริ่มเข้าใจธรรมก็ เริ่มรู้ลักษณะของจิตขณะที่มีความไม่พอใจ ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งจริงๆ … ภายหลังอาตมาทิ้งหมด อาตมาฟังธรรมเท่านั้น เมื่อไหร่โยมอาจารย์แสดง พระธรรมซึ่งตรง อาตมาก็เคารพ

    สุ. แสดงให้เห็นว่า ความโกรธย่อมเกิดขึ้นได้สำหรับแต่ละบุคคลใน แต่ละเรื่อง เพราะฉะนั้น ก็เป็นธรรมที่มีจริงๆ แล้วแต่ว่าจะสะสมปัจจัยมาที่จะโกรธ ในเรื่องอะไร ก็โกรธในเรื่องนั้น ซึ่งดิฉันก็คงจะทำให้หลายท่านโกรธโดยที่ไม่รู้ตัว เพราะว่าการเป็นผู้บรรยายธรรมในฐานะของอุบาสิกา เมื่อสภาพความจริงเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น โดยไม่ต้องการให้คนอื่นเข้าใจผิด เมื่อมีกิเลสประเภทใด ผู้อื่นก็ย่อมเห็นในกิเลสประเภทนั้น แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่า ธรรมสำหรับพุทธบริษัททั้ง ๔ ไม่ใช่สำหรับเพศบรรพชิตเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น แม้จะเป็นอุบาสิกา ศีล ๕ ก็ยังสามารถศึกษาพระธรรมได้ และเมื่อศึกษาพระธรรมเข้าใจแล้ว ก็แล้วแต่โอกาส แล้วแต่ปัจจัยที่ว่า ท่านผู้ใดจะทำประโยชน์แก่พระศาสนาทางด้านใด ซึ่งก็ได้เห็นศรัทธาของอุบาสกอุบาสิกาในยุคนี้ สมัยนี้มากทีเดียว ที่ต่างก็ช่วยกันทำประโยชน์ในการศึกษาและในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ซึ่งทุกคนก็ได้เห็นตามความเป็นจริง โดยที่ไม่ทำให้คนอื่นเข้าใจผิด ถ้าดิฉันเป็นผู้ที่ต้องการให้คนอื่นยกย่องหรือสรรเสริญ ก็อาจจะพยายามทำเพศเป็น อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เป็นผู้ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจริงๆ

    จากตัวอย่างของคุณหมอวัลลภและพระคุณเจ้า จะเห็นได้ว่า แม้ไม่ใช่ พระอนาคามีบุคคล แต่ถ้ามีการสะสมความรู้ความเข้าใจธรรม ก็เป็นปัจจัยให้ไม่โกรธในเรื่องหรือในเหตุการณ์ที่แต่ก่อนเคยโกรธได้ และจะเห็นได้ว่า ขณะที่กระทบกับเรื่องที่ไม่น่าพอใจและไม่โกรธ ในขณะนั้นไม่ได้คิดว่า จะโยนิโสอย่างไร

    ทุกคนมีเรื่องโกรธแน่นอน แต่บางท่านโกรธมาก บางท่านก็ไม่โกรธแม้ในเรื่องเดียวกันก็ได้ ใครก็ตามที่ไม่โกรธในขณะที่มีเรื่องที่ไม่น่าพอใจ ขอให้พิจารณาว่า ในขณะนั้น เพราะคิดว่าจะโยนิโสอย่างไร หรือเพราะว่าในขณะนั้นไม่โกรธ ตามความเป็นจริง ไม่จำเป็นต้องคิดใช่ไหมว่า จะโยนิโสอย่างไรๆ แต่เพราะว่าการศึกษาธรรม การพิจารณาธรรม การเข้าใจสภาพธรรมขณะนั้นทำให้ไม่โกรธ ซึ่งขณะที่ไม่โกรธนั้นเองเป็นโยนิโสมนสิการ

    โดยมากมักจะมีตัวตนที่คิดว่า จะทำอย่างไรหรือจะโยนิโสอย่างไร ซึ่งที่จริงแล้วต้องไม่ลืมว่า ไม่ใช่ตัวตนที่คิดว่าจะโยนิโสอย่างไร แต่ต้องเป็นความรู้ความเข้าใจธรรมที่ละเอียดขึ้นจึงทำให้ไม่โกรธได้ เพราะว่าสภาพธรรมในขณะที่ไม่โกรธในขณะนั้น เป็นโสภณธรรม ขณะใดที่โสภณธรรมเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน

    ทุกท่านที่ศึกษาธรรมแล้ว ได้สังเกตพิจารณาโยนิโสมนสิการของท่านเองว่า ละเอียดขึ้นมากขึ้นหรือเปล่า ด้วยการเป็นผู้ที่ฟังพระธรรม ไตร่ตรองพระธรรม พิจารณาและอบรมเจริญปัญญาที่ละเอียดขึ้น เช่น ที่ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งถามว่า ตอนต้นก็มีศรัทธาใคร่ที่จะศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรม แต่ภายหลังเมื่อศึกษาและเข้าใจแล้ว และสติปัฏฐานก็เกิดบ้างแล้ว ก็เลยดูเหมือนปล่อยตามสบาย คล้ายๆ กับคลายความเพียรลง ในความรู้สึกของท่านเป็นอย่างนั้น แต่ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า จะต้องเข้าใจการเจริญขึ้นของโยนิโสมนสิการ

    ในตอนแรกมีโยนิโสมนสิการใคร่ที่จะได้เข้าใจเรื่องของธรรม และเมื่อเข้าใจแล้วก็ฟังเพื่อที่จะให้รู้ว่า สติปัฏฐานคือขณะไหน ขณะที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ และพิจารณาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเพื่อที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่า ลักษณะนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม แต่เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว การสะสมมา ของอกุศลที่มากก็ทำให้เป็นผู้ที่หลงลืมสติ เพราะฉะนั้น จะทำอย่างไร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๓ ตอนที่ ๑๘๒๑ – ๑๘๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 104
    28 ธ.ค. 2564