แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1860


    ครั้งที่ ๑๘๖๐


    สาระสำคัญ

    อรรถกถา ขุ.จริยาปิฎก - ท่านอกิตติดาบส ศีลบารมี


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒


    คนเราทุกคนควรจะรู้จุดประสงค์ของการทำทุกอย่าง แม้แต่ผู้ที่จะรักษาศีล ก็ควรรู้ว่าเพื่ออะไร แม้แต่ผู้ที่จะละคลายความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็ควรรู้ว่าเพื่ออะไร ไม่ใช่เพียงทำไปโดยไม่มีจุดหมาย เพราะฉะนั้น เมื่อท้าวสักกะเห็นอย่างนี้ ท่านก็เกิดความสงสัยว่า อะไรทำให้อกิตติดาบส มีความประพฤติเช่นนี้

    ท้าวสักกะจอมเทพคิดว่า หรือว่าท่านอกิตติดาบสทำอย่างนี้ เพื่อปรารถนาจะเป็นท้าวสักกะจอมเทพ

    คือ แล้วแต่ใจของใครที่จะคิด ในเมื่อท่านเป็นท้าวสักกะจอมเทพท่านก็คิดว่า ที่ท่านอกิตติดาบสประพฤติอย่างนี้ อาจเป็นเพราะปรารถนาที่จะเป็นท้าวสักกะ จอมเทพ

    ท้าวสักกะทรงแปลงเพศเป็นพราหมณ์ เข้าไปหาอกิตติดาบสด้วยคิดว่า ถ้าอกิตติดาบสปรารถนาจะเป็นท้าวสักกะ ก็จะให้ใบหมากเม่าชงน้ำแก่พระองค์ แต่ถ้าไม่ปรารถนาก็จะไม่ให้

    คิดว่าถ้าปรารถนาเป็นท้าวสักกะ ก็คงจะบำเพ็ญทานอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น เมื่อปรารถนาอย่างนั้น ก็คงจะให้ใบหมากเม่าชงน้ำแก่พระองค์ แต่ถ้าไม่ปรารถนา ก็คงจะไม่ให้

    เมื่อท่านอกิตติดาบสเห็นพราหมณ์นั้นมีความต้องการด้วยอาหาร ก็ได้เอา ใบหมากเม่าชงน้ำนั้นให้พราหมณ์นั้นไปจนหมด แม้ในวันที่ ๒ แม้ในวันที่ ๓ ก็เช่นเดียวกัน

    แสดงให้เห็นว่า ทั้งทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ขันติบารมี วิริยบารมี สัจจบารมี คือ ความจริงใจที่จะบำเพ็ญกุศลเพื่อพระโพธิญาณ อธิษฐานบารมี ความไม่หวั่นไหว ต้องเกี่ยวเนื่องกัน และเป็นปัจจัยเกื้อกูลกันด้วย เพราะว่าท่านอกิตติดาบสไม่หวั่นไหวในการที่จะให้ใบหมากเม่าชงน้ำจนหมดทั้ง ๓ วัน แสดงถึงความมั่นคงที่จะไม่หวั่นไหวไปด้วยความตระหนี่

    ไม่อาลัยแม้ชีวิต คือ ไม่อาลัยแม้แต่น้อยด้วยความโลภ

    นี่คือสัจจบารมี

    และชื่อว่าเมตตาบารมี ด้วยอัธยาศัยเกื้อกูลในสรรพสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าอุเบกขาบารมี เพราะว่าถึงความเป็นกลางไม่เดือดร้อนในความผิดปกติที่สัตว์และสังขารกระทำแล้ว

    คิดดู มาขอได้ถึง ๓ วันติดๆ กัน ซึ่งท่านอกิตติดาบสก็ให้ไปโดย ไม่หวั่นไหวเลย ไม่ว่าผู้ขอจะเป็นใคร

    ชื่อว่าปัญญาบารมี ได้แก่ ปัญญาอันเป็นความรู้ในหนทางที่เกิดพร้อมกับจิต และปัญญาให้สำเร็จความประพฤติในการขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เพราะรู้ ธรรมเป็นอุปการะและไม่เป็นอุปการะแก่บารมีเหล่านั้น และละธรรมอันไม่เป็นอุปการะเสีย มุ่งประพฤติอยู่ในธรรมอันเป็นอุปการะ

    เมื่อท้าวสักกะทรงทราบอัธยาศัยของท่านอกิตติดาบสแล้ว ก็ได้ประทานพร ซึ่งพระโพธิสัตว์คือท่านอกิตติดาบสก็ได้แสดงธรรมโดยหัวข้อของการรับพร ตามข้อความใน อกิตติจริยาที่ ๑ ซึ่งมีข้อความว่า

    ท้าวสักกะผู้เป็นภูตบดีทอดพระเนตรเห็นท่านอกิตติดาบสพักสำราญอยู่ จึงถามว่า

    ข้าแต่มหาพรหม พระคุณเจ้าปรารถนาอะไรจึงอยู่ผู้เดียวในฤดูร้อน

    เป็นการซักถามถึงความจริงใจของผู้ที่ประพฤติธรรมอย่างสูง จนกระทั่งแม้ ท้าวสักกะก็ยังเรียกว่า มหาพรหม

    ท่านอกิตติดาบสกล่าวว่า

    ท่านท้าวสักกรินทรเทพ ความเกิดใหม่เป็นทุกข์ การแตกทำลายแห่งสรีระ เป็นทุกข์ การตายด้วยความหลงเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น อาตมาจึงอยู่ผู้เดียว

    ท้าวสักกะตรัสว่า

    ข้าแต่ท่านกัสปะ เมื่อพระคุณเจ้ากล่าวคำสุภาษิตอันสมควรนี้แล้ว พระคุณเจ้าปรารถนาอะไร ข้าพเจ้าจะให้พรนั้นแก่ท่าน

    เป็นเรื่องของพร ซึ่งบางท่านอาจจะสงสัยว่า ให้ได้หรือ แต่ความจริงแล้ว เป็นการแสดงความตั้งมั่นในการเจริญกุศลของผู้ที่ปรารถนาพร ซึ่งพรที่ ท่านอกิตติดาบสปรารถนาก็เป็นไปในธรรมทั้งสิ้น ซึ่งแสดงถึงสภาพธรรมที่เป็นบารมี

    ท่านอกิตติดาบสกล่าวว่า

    ท่านท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพทั้งหลาย หากท่านจะให้พรแก่อาตมา ขอจง ให้พรดังนี้ คนทั้งหลายได้บุตร ภรรยา ทรัพย์สมบัติ และของเป็นที่รักด้วย ความโลภใดแล้วไม่เดือดร้อน ขอความโลภนั้นไม่พึงอยู่ในอาตมาเลย

    นี่เป็นความละเอียดของจิตใจที่จะรู้ว่า ไม่ปรารถนาแม้ความโลภในสิ่งที่ไม่ทำให้เดือดร้อน ซึ่งผู้ที่ยังไม่มีความมั่นคงที่จะบำเพ็ญบารมี ก็ยังเห็นว่า ความโลภ เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความสะดวกสบาย มีความสุข เมื่อไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ก็คงจะไม่เป็นอันตรายอะไร แต่แม้กระนั้นท่านอกิตติดาบสก็กล่าวว่า คนทั้งหลาย ได้บุตร ภรรยา ทรัพย์สมบัติ และของเป็นที่รักด้วยความโลภใดแล้วไม่เดือดร้อน ขอความโลภนั้นไม่พึงอยู่ในอาตมาเลย นี่เป็นความมั่นคงที่เป็นบารมี

    ท้าวสักกะตรัสว่า

    ข้าแต่ท่านกัสสปะ เมื่อพระคุณเจ้ากล่าวดีแล้ว ฯลฯ พระคุณเจ้าปรารถนาอะไรอีก

    ท่านผู้ฟังปรารถนาพรที่จะได้เจริญกุศลให้มั่นคงยิ่งขึ้นต่อไปเหมือนอย่างที่ ท่านอกิตติดาบสปรารถนาหรือไม่ เพราะว่าเพียงเท่านี้ไม่พอ เพราะฉะนั้น พรที่ ท่านอกิตติดาบสปรารถนาซึ่งแสดงถึงสภาพธรรมที่เป็นบารมีต่อไป ท่านอกิตติดาบสกล่าวว่า

    ท่านท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพทั้งหลาย หากท่านจะให้พรแก่อาตมา ขอจง ให้พรดังนี้ นา ไร่ ทอง โค ม้า ทาส และบุรุษ ย่อมเสื่อมไปด้วยโทษใด โทษนั้น ไม่พึงอยู่ในอาตมาเลย

    การที่ทรัพย์สมบัติทั้งหลายจะเสื่อมไปก็ด้วยอกุศลกรรม เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นผลของกรรมของท่านเอง ถ้าไม่เป็นผลของอกุศลกรรมแล้ว นา ไร่ ทอง โค ม้า ทาส บุรุษก็จะไม่เสื่อมไป เพราะฉะนั้น เมื่อมีการเสื่อมในลาภ ในสมบัติต่างๆ ก็คือผลของอกุศลกรรมนั่นเอง ท่านอกิตติดาบสจึงกล่าวว่า นา ไร่ ทอง โค ม้า ทาส และบุรุษ ย่อมเสื่อมไปด้วยโทษใด โทษนั้นไม่พึงอยู่ ในอาตมาเลย คือ ไม่พึง ไม่ควรที่จะให้เกิดอกุศลกรรมใดๆ ที่จะเป็นเหตุให้มี ความเสื่อมต่างๆ เหล่านี้

    ท้าวสักกะตรัสว่า

    ข้าแต่ท่านกัสสปะ พระคุณเจ้าปรารถนาอะไรอีก

    ท่านอกิตติดาบสกล่าวว่า

    ท่านท้าวสักกะ หากท่านจะให้พรแก่อาตมา ขอจงให้พรดังนี้ บุคคลไม่พึงเห็น ไม่พึงได้ยินคนพาล ไม่พึงอยู่ร่วมด้วยคนพาล ไม่พึงกระทำและไม่พึงชอบใจในการสนทนาปราศรัยด้วยคนพาล

    ทั้งขอให้ไม่พึงเห็น นอกจากไม่พึงเห็นแล้ว ยังไม่พึงได้ยินคนพาล ไม่พึงอยู่ ร่วมด้วยคนพาล ไม่พึงกระทำและไม่พึงชอบใจการสนทนาปราศรัยด้วยคนพาล

    ท้าวสักกะตรัสว่า

    ข้าแต่ท่านกัสสปะ เพราะอะไรท่านจึงไม่ชอบคนพาล ขอจงบอกเหตุ เพราะเหตุใดพระคุณเจ้าจึงไม่ปรารถนาที่จะเห็นคนพาล

    เนกขัมมบารมีจะต้องมีจากการพิจารณาธรรมเหล่านี้ด้วย เพราะถ้าคบคนพาลก็ไม่สามารถมีเนกขัมมบารมีได้ เพราะฉะนั้น เบื้องต้นของการที่จะเข้าใจ แม้เนกขัมมบารมี จะต้องเข้าใจแม้บารมีอื่นๆ ด้วย เพราะท้าวสักกะตรัสว่า

    ข้าแต่ท่านกัสสปะ เพราะอะไรท่านจึงไม่ชอบคนพาล ขอจงบอกเถิด เพราะอะไรพระคุณเจ้าจึงไม่ปรารถนาที่จะเห็นคนพาล

    ท่านอกิตติดาบสกล่าวว่า

    คนพาลย่อมแนะนำสิ่งไม่ควรแนะนำ ย่อมขวนขวายในกิจอันไม่ใช่ธุระ คนพาลแนะนำให้ดีได้ยาก พูดดีหวังจะให้เขาเป็นคนประเสริฐกลับโกรธ คนพาลนั้น ไม่รู้วินัย การไม่เห็นคนพาลได้เป็นความดี

    แสดงให้เห็นว่า ยากที่จะอนุเคราะห์หรือเกื้อกูลคนพาล เพราะว่า แนะนำให้ดีได้ยาก หวังจะให้เขาเป็นคนประเสริฐก็กลับโกรธ การไม่เห็นคนพาลได้เป็นความดี

    ท้าวสักกะตรัสว่า

    ข้าแต่ท่านกัสสปะ พระคุณเจ้าปรารถนาอะไรอีก

    ท่านอกิตติดาบสกล่าวว่า

    ท่านท้าวสักกะจอมเทพ หากท่านจะให้พรแก่อาตมา ขอจงให้พรดังนี้ บุคคลพึงเห็นนักปราชญ์ พึงฟังนักปราชญ์ พึงอยู่ร่วมกับนักปราชญ์ พึงกระทำ และพึงชอบใจการสนทนาปราศรัยกับนักปราชญ์

    น่าสงสัยไหมว่า ทำไม ซึ่งท้าวสักกะก็ตรัสถามเพื่อความกระจ่าง สำหรับ ผู้ที่ต้องการความละเอียด หรือความเข้าใจ คือ เพื่อประโยชน์กับผู้ที่จะศึกษา พระธรรมนั่นเอง

    ท้าวสักกะตรัสว่า

    ข้าแต่ท่านกัสสปะ เพราะอะไรท่านจึงชอบใจนักปราชญ์ ขอจงบอกเหตุนั้น เพราะเหตุใดพระคุณเจ้าจึงปรารถนาจะเห็นนักปราชญ์

    ท่านอกิตติดาบสกล่าวว่า

    นักปราชญ์แนะนำสิ่งที่ควรแนะนำ ไม่ขวนขวายในกิจที่ไม่ใช่ธุระ นักปราชญ์แนะนำได้ง่าย พูดหวังจะให้ดีก็ไม่โกรธ นักปราชญ์ย่อมรู้จักวินัย การสมาคมกับนักปราชญ์เป็นความดี

    อย่าเพียงหวังที่จะเห็นนักปราชญ์ แต่ต้องทำตามนักปราชญ์ด้วยเพื่อความ เป็นปราชญ์ของท่านเอง เพราะว่า นักปราชญ์แนะนำสิ่งที่ควรแนะนำ มีสิ่งใดที่จะ เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ท่านก็แนะนำด้วยความหวังดี เมื่อแนะนำในสิ่งที่ดี ก็เป็นนักปราชญ์ ไม่ขวนขวายในกิจที่ไม่ใช่ธุระ นักปราชญ์แนะนำได้ง่าย เวลาที่ ใครแนะนำท่าน ท่านก็พร้อมที่จะรับพิจารณาและประพฤติปฏิบัติตาม เพราะ เห็นประโยชน์ในสิ่งที่ผู้นั้นแนะนำ พูดหวังจะให้ดีก็ไม่โกรธ นี่ก็คือนักปราชญ์ นักปราชญ์ย่อมรู้จักวินัย การสมาคมกับนักปราชญ์เป็นความดี

    ท้าวสักกะตรัสว่า

    พระคุณเจ้าปรารถนาอะไรอีก

    เพื่อที่จะได้ทราบว่า การที่เป็นคนดี การที่จะอบรมเจริญบารมี จะต้องอาศัยธรรมอะไรอีกซึ่งจะต้องอบรมต่อไป

    ท่านอกิตติดาบสกล่าวว่า

    ท่านท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพ หากท่านจะให้พรแก่อาตมา ขอจงให้พรดังนี้ เมื่อราตรีหมดไป ดวงอาทิตย์ขึ้นเป็นเจ้าโลก ของบริโภคอันเป็นทิพย์พึงปรากฏ ผู้ขอพึงเป็นผู้มีศีล เมื่ออาตมาให้ของบริโภคไม่หมดสิ้นไป ครั้นให้แล้วอาตมา ไม่พึงเดือดร้อน เมื่อให้จิตพึงผ่องใส ท่านท้าวสักกะขอจงให้พรนี้เถิด

    ท้าวสักกะตรัสว่า

    พระคุณเจ้าปรารถนาอะไรอีก

    ท่านอกิตติดาบสกล่าวว่า

    ท่านท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพ หากท่านจะให้พรแก่อาตมา ขอจงให้พรดังนี้ ท่านไม่พึงกลับมาหาอาตมาอีก ท่านท้าวสักกะขอจงให้พรนี้เถิด

    นี่เป็นพรสุดท้ายที่ท่านอกิตติดาบสขอ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่ประมาท ในอกุศลที่ยังมี ท้าวสักกะก็แปลกใจมาก เพราะว่าทุกคนปรารถนาที่จะเห็นเทพบุตร และเทพธิดานางฟ้าต่างๆ บางท่านก็ถึงกับเจริญกุศลธรรม ความสงบ เพื่อที่จะ เห็นเทพ แต่สำหรับท่านอกิตติดาบส พรสุดท้ายที่ท่านขอ คือ ท่านไม่พึงกลับมาหา อาตมาอีก ท่านท้าวสักกะขอจงให้พรนี้เถิด

    ท้าวสักกะตรัสว่า

    นรชาติหญิงชายทั้งหลายปรารถนาจะเห็นด้วยการประพฤติพรตเป็นอันมาก อะไรจะเป็นภัยในการเห็นข้าพเจ้า

    เห็นเทวดานี่เป็นภัย แต่อาจจะไม่ทราบถ้าอยากจะเห็น

    ท่านอกิตติดาบสกล่าวว่า

    อาตมาเห็นท่านผู้มีวรรณะของเทพเช่นนั้น ผู้ล้วนแล้วไปด้วยความสุขสมบูรณ์ในกาม ก็พึงประมาท หลงลืมซึ่งตบะ นี้เป็นภัยในการเห็นท่าน

    ลำดับนั้นท้าวสักกะตรัสว่า

    ดีแล้ว พระคุณเจ้า ตั้งแต่บัดนี้ไป ข้าพเจ้าจะไม่มาหาพระคุณเจ้าอีกแล้ว

    ทรงกราบพระดาบสนั้น แล้วเสด็จกลับไป

    พระโพธิสัตว์อยู่ ณ ที่นั้นตลอดชีวิต เมื่อสิ้นอายุก็บังเกิดในพรหมโลก ในครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธเถระเป็นท้าวสักกะ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอกิตติดาบส

    ไม่ทราบท่านผู้ฟังคิดเรื่องบารมีอย่างไร จะเหมือนท่านอกิตติดาบสซึ่งเป็นผู้ที่ ไม่ประมาทแม้แต่เพียงการเห็นสิ่งที่จะทำให้เป็นภัยไหม เพราะฉะนั้น ก็พิจารณาชีวิตประจำวันได้ และเทียบการที่จะเริ่มตั้งบารมีของท่านผู้ฟังที่เข้าใจแล้วว่า หนทาง ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมที่จะดับกิเลสเป็นหนทางไกล ถ้ายังเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องบารมี ยังไม่มีความตั้งมั่นคงจริงๆ ว่า การศึกษาพระธรรมเพื่อเข้าใจ เพื่อน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วยความจริงใจ ด้วยสัจจบารมี ด้วยความไม่หวั่นไหวในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสุข ในการเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ไม่หวั่นไหว ในเหตุการณ์ต่างๆ ก็จะเป็นผู้ที่เริ่มกระทำกุศลด้วยบารมีที่มั่นคงขึ้น มิฉะนั้นแล้ว ถ้าไม่เข้าใจเรื่องบารมีก็เพียงฟัง แต่ยังไม่ถึงกับเป็นปัจจัยให้เป็นบารมีจริงๆ ที่จะถึงฝั่ง

    เมื่อได้ทราบความประพฤติเป็นไปในแต่ละชาติ ซึ่งเป็นการอบรมเจริญบารมีของพระผู้มีพระภาคในจริยาปิฎก เทียบกับการบำเพ็ญบารมีของท่านในแต่ละชาติ ก็รู้ได้ว่ายังห่างไกลกันมาก และยังน้อยมากทีเดียว เพราะฉะนั้น ก็จะต้อง อบรมต่อไป ไม่ใช่หวังว่า ทำอย่างไรจะประจักษ์ลักษณะของนามธรรมรูปธรรม ที่เกิดดับในขณะนี้โดยรวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าต้องเป็น จิรกาลภาวนา

    ข้อความตอนท้ายของ อรรถกถาอกิตติจริยาที่ ๑ มีว่า

    แม้จิตเลื่อมใสในท่านเหล่านั้น ก็พึงพ้นจากทุกข์ได้ จะพูดไปทำไมถึง การทำตามท่านเหล่านั้นโดยธรรมสมควรแก่ธรรมเล่า

    คือ อย่าเพียงแต่เลื่อมใสในบารมีต่างๆ ที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงบำเพ็ญมาแล้ว ในพระชาติต่างๆ แต่ควรที่จะประพฤติปฏิบัติตามด้วย เพราะว่าเพียงจิตที่เลื่อมใส ก็ยังสามารถทำให้พ้นจากทุกข์ เพราะในขณะนั้นเป็นกุศลจิต เพราะฉะนั้น จะพูดไปทำไมถึงการทำตามท่านเหล่านั้นโดยธรรมสมควรแก่ธรรมเล่า

    เพราะฉะนั้น ก็เริ่มบารมีได้สำหรับท่านที่ยังไม่ตั้งบารมี หรือยังไม่มั่นคงพอ ซึ่งท่านผู้ฟังอาจจะพิจารณาเห็นบารมีของท่านที่เริ่มเกิดได้ในการสนใจฟังพระธรรม ในการประพฤติปฏิบัติธรรม เช่น ในการมาฟังพระธรรม ก็ต้องมีวิริยะ ถ้าขาดวิริยะ ก็คงจะไม่มา ไปฟังอย่างอื่นคงจะสนุกเพลิดเพลินกว่า หรือในขณะที่ฟัง ก็ยังจะต้องมีขันติบารมีด้วย คือ ต้องมีความอดทน เพราะบางครั้งบางคราวอาจจะมีสิ่งที่ ไม่น่าพอใจ แต่ในขณะนั้นก็สังเกตขันติบารมีได้ว่า ต้องมีความอดทนด้วย เพราะถ้า ไม่อดทน บารมีอื่นๆ ก็จะเป็นไปไม่ได้ เช่น ศีลบารมี ก็คงจะล่วงไปทางกายบ้าง หรือทางวาจาบ้าง เป็นต้น

    สำหรับเรื่องการคบหาสมาคมเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งท่านอกิตติดาบสก็ได้ กล่าวว่าแม้แต่ตัวท่านเองก็ไม่ปรารถนาที่จะเห็น หรือได้ยิน หรือใกล้ชิดกับคนพาล เพราะว่าข้อความในมิลินทปัญหา กล่าวเปรียบการอยู่ร่วมหรือคบหาสมาคมกับ คนพาลผู้มีความเห็นผิดว่า เหมือนกับน้ำหวานที่ถูกผสมกับยาพิษก็กลายเป็น น้ำขมเฝื่อนไป เพราะว่าทุกคนมีอกุศลอยู่แล้ว และมีกุศลด้วย เพราะฉะนั้น การคบหาสมาคมกับบุคคลที่เป็นพาล ก็คือการคบหาสมาคมกับความเห็นผิดๆ เพราะว่าผู้ที่เป็นพาลต้องมีความเห็นผิด และถ้าท่านมีอกุศลมาก มีความโน้มเอียง ของการสะสมอกุศลซึ่งเหมือนกับมีน้ำขมเฝื่อนมาก ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสคบหาสมาคม กับบัณฑิต แต่คบหาสมาคมกับบัณฑิตน้อยกว่าคบหาสมาคมกับพาล ถ้าน้ำขมเฝื่อนมีมากและน้ำหวานมีน้อย ผลก็คือน้ำหวานจะกลายเป็นน้ำขมไปด้วย

    หรือแม้ท่านจะเป็นผู้ที่มีอกุศล แต่เห็นโทษเห็นภัยของการคบหาสมาคม กับคนพาล เพราะฉะนั้น ก็คบหาสมาคมกับบัณฑิตมาก ดังนั้น แม้ว่าจะมีน้ำขม แต่ก็มีน้ำหวานมากกว่า น้ำขมก็กลายเป็นน้ำหวานไปด้วยทีละเล็กทีละน้อย เพราะแม้แต่พืชพันธุ์ไม้ต่างๆ การใกล้ชิดก็ยังมีส่วนทำให้พืชพันธุ์นั้นเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีจิตใจ โดยสภาพของรูปวัตถุก็ยังสามารถจะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น เรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะว่าไม่มีใครสามารถหยั่งรู้ไปถึงการสะสมในอดีตแสนโกฏิกัปป์ได้ว่า สะสมอกุศลประเภทใดมามากน้อยต่างกันแค่ไหน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๖ ตอนที่ ๑๘๕๑ – ๑๘๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 104
    28 ธ.ค. 2564