แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1848


    ครั้งที่ ๑๘๔๘


    สาระสำคัญ

    ขุททกนิกาย สุตตนิบาต กสิภารทวาชสูตร - ศรัทธาเป็นพืช

    อรรถกถา ขุททกนิกาย เอกาทสกนิบาต ปาริยชาดก - ประวัติของพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕ พระองค์ โยนิโสมนสิการที่สะสมมา


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๓๑


    การกระทำการงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการกสิกรรมต้องอาศัยพืช ฉันใด การอบรมเจริญธรรมที่เป็นกุศล ถ้าขาดศรัทธาแล้ว เจริญไม่ได้เลย เหมือนชาวนา ที่ไม่มีพืช ย่อมทำกิจการงานเกี่ยวกับกสิกรรมไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขอให้ย้อนมาพิจารณาดูศรัทธาของท่านเองว่า มีมากหรือน้อยประการใด เพราะว่าเป็นพืชที่จะทำให้ กุศลทั้งหลายเจริญขึ้น

    แต่เวลาที่พิจารณาดูการกระทำของแต่ละบุคคลในชีวิตประจำวันจริงๆ สามารถเห็นพืชได้ไหม ท่านผู้ใดที่ตื่นแต่เช้าฟังพระธรรม มีพืชคือมีศรัทธาที่จะฟังไหม ถ้าไม่มี ไม่ฟังแน่นอน ทั้งๆ ที่รู้ว่าธรรมมีประโยชน์ แต่ถ้าไม่มีศรัทธาเพียงพอก็ไม่ฟัง หรือแม้มีหนังสือธรรม รู้ว่าเป็นหนังสือที่ดี สามารถค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ พิจารณา ก็ค่อยๆ เข้าใจได้ แต่แม้กระนั้นก็ไม่เคยเปิดหนังสือธรรมนั้นเลย เพราะฉะนั้น ขณะที่ไม่เปิดหนังสือธรรมที่จะอ่านให้เข้าใจ ขณะนั้นมีพืชคือศรัทธาที่จะให้ธรรมเจริญขึ้นไหม

    แสดงให้เห็นว่า การรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง สามารถเห็นแม้ศรัทธา ของตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการใส่ใจในการศึกษา ในการฟัง ในการสนทนา หรือ การประกอบกิจกรรมในการเผยแพร่พระธรรม ก็จะเห็นได้ว่า ศรัทธามีเท่าไร การกระทำก็มีเท่านั้น ถ้ามีศรัทธามาก การกระทำที่เป็นไปในเรื่องของการฟัง การศึกษา การสนทนาธรรม การประกอบกิจกรรมเผยแพร่ธรรมต่างๆ ก็ย่อม มีมากขึ้นๆ

    หากท่านพิจารณาชีวิตของท่านตั้งแต่ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม หรือชีวิตของญาติสนิทมิตรสหายก็ได้ จะเห็นได้ว่า เริ่มจากศรัทธา แม้ว่ายังไม่ได้ฟังพระธรรมจริงๆ แต่ผู้ที่ใคร่จะเจริญกุศล เห็นประโยชน์ของธรรมฝ่ายดี เริ่มแรกก็มักจะพยายามแสวงหาหลักการดำเนินชีวิตจากหนังสือธรรม หรือปรัชญา กวี โคลงกลอนต่างๆ ก็ได้ เพื่อจะได้พิจารณาข้อความนั้นๆ ที่เป็นประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติ นี่คือหลายท่านก่อน ที่จะสนใจในพระธรรม และภายหลังเมื่อมีโอกาสพบหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา หรือได้ยินได้ฟังเรื่องพระพุทธศาสนา บางท่านก็เริ่มสนใจ แต่จะมากหรือน้อยนั้น ก็แล้วแต่ศรัทธาซึ่งเป็นพืช

    และการที่จะเข้าใจพระพุทธศาสนาจริงๆ นั้น ต้องศึกษาจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่ฟังไปเรื่อยๆ แล้วจะเข้าใจขึ้นเอง แต่การที่จะเข้าใจพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นพระปัญญาที่พระผู้มีพระภาคทรงสะสมและทรงตรัสรู้ธรรมโดยละเอียด จะต้องเป็นการศึกษา การเข้าใจธรรมโดยละเอียดขึ้น แต่แม้ว่าจะรู้อย่างนี้ บางท่านศรัทธาก็ยังไม่เกิด ยังไม่เริ่มที่จะศึกษาก็เป็นไปได้ จนกว่าศรัทธาจะเพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันของทุกท่านในวันหนึ่งๆ จะเห็นได้เลยว่า จะเป็นไปอย่างไรนั้น ก็ตามการสะสมที่ได้สะสมมาแล้ว หรือจะเป็นอย่างไรต่อไป ก็ตามการสะสมของชาตินี้

    ทุกท่านคงจะเห็นได้ว่า กุศลเกิดยาก โดยเฉพาะการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งต้องยากกว่ากุศลประเภทอื่น เพราะหลายท่านมีศรัทธาในการสละวัตถุ เพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น แต่ยังไม่มีศรัทธาที่จะอบรมเจริญปัญญา หรือศึกษา พระธรรม เพราะบางท่านกล่าวว่า พระธรรมยากมาก แต่เมื่อยากมาก เข้าใจยาก ก็ต้องเริ่มฟังเพื่อที่จะให้เข้าใจขึ้น และยังต้องพยายามที่จะให้ธรรมที่ได้เข้าใจนั้น เข้าใจจริงๆ อย่างซึมซาบในใจ ไม่ใช่เข้าใจเรื่อง แต่เวลาที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น ก็เป็นไปตามอกุศล หรือโยนิโสมนสิการก็ไม่เกิด

    บางท่านกล่าวว่า มีเวลาเหลืออยู่ในโลกนี้น้อยแล้ว

    จะน้อยหรือจะมากไม่สำคัญเลย สำคัญที่โยนิโสมนสิการเกิดที่จะเจริญปัญญา ที่จะละคลายอกุศลหรือเปล่า

    บางท่านคิดว่า ยังพอใจในอกุศลบางประเภท ยังไม่อยากจะละคลายเลย เช่น มานะ ความสำคัญตน ยังคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี แสดงให้เห็นถึงในแสนโกฏิกัปป์ที่ผ่านมา ก็คงคิดอย่างนี้มาหลายชาติแล้วที่ยังเห็นว่า มานะก็ไม่เป็นไร หรือโลภะก็ไม่เป็นไร แต่ตามความเป็นจริงแล้ว การอบรมเจริญปัญญาจะทำให้กิเลสอ่อนกำลังในการที่จะก่อตัวขึ้น คือ ไม่มีใครชนะกิเลสได้จริงๆ แต่การสะสมปัญญาไปเรื่อยๆ ทีละเล็ก ทีละน้อย ก็เป็นปัจจัยทำให้กิเลสอ่อนกำลังได้ คือ ในการที่จะก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็จะทำให้ช้าลง หรือแทนที่จะก่อตัวขึ้นอย่างรุนแรง ก็ทำให้การก่อตัวนั้นลดกำลังลงได้

    ขอกล่าวถึงชีวิตของผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แม้โดยที่ไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นท่านที่ได้สะสมปัญญามาที่จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งจะขอกล่าวถึงชีวิตของท่านเหล่านั้นบางท่าน เพื่อให้ท่านผู้ฟังเห็นโยนิโสมนสิการที่สะสมมา เพื่อเปรียบกับโยนิโสมนสิการของท่านในชาตินี้

    อรรถกถา ขุททกนิกาย เอกาทสกนิบาต ปานียชาดกที่ ๕ มีข้อความว่า

    ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี สหาย ๒ คนในแคว้นกาสีถือกระออมน้ำดื่มไปถางป่า ทำไร่

    นี่คือผู้ที่จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

    เวลากระหายน้ำก็พากันมาดื่มน้ำ ในคน ๒ คนนั้น คนหนึ่งเวลามาดื่มน้ำ ก็เก็บน้ำดื่มของตนไว้ แล้วดื่มน้ำจากกระออมของอีกคนหนึ่ง

    นี่คือกำลังของอกุศล ก่อนที่จะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

    ตอนเย็นเมื่อกลับออกจากป่า ยืนอาบน้ำ ก็เกิดโยนิโสมนสิการ พิจารณาว่า วันนี้เราได้ทำบาปอะไรๆ ทางกายเป็นต้นบ้างหรือไม่

    มีใครเคยคิดอย่างนี้บ้างไหม

    ท่านระลึกถึงเรื่องที่ขโมยน้ำของเพื่อนดื่ม เกิดความสลดใจ เห็นโทษของตัณหาซึ่งเมื่อเจริญขึ้นก็จะทำให้เกิดในอบายภูมิ ขณะนั้นวิปัสสนาก็เจริญ บรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

    นี่คือความต่างกันของความคิดของโยนิโสมนสิการ ซึ่งเวลาที่อกุศลจิตเกิด เหมือนกัน ใช่ไหม เป็นคนธรรมดาๆ ที่เห็นแก่ตัว มีน้ำทั้งของตนเองและของเพื่อน แต่เวลาหิวไม่ดื่มของตนเอง ดื่มของเพื่อน ซึ่งบางท่านในชาตินี้อาจจะบอกว่า ทำอย่างนั้นไม่ได้ แต่ผู้ที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า อกุศลก็ยังสามารถเกิดได้ถึงอย่างนั้น และก็ทำให้เห็นกำลังของปัญญาเวลาที่ท่านพิจารณาถึง การกระทำของตนเองทางกายทางวาจาแล้วระลึกได้

    ท่านผู้ฟังในชาตินี้ก็อาจจะเคยทำผิดพลาด และระลึกได้เหมือนท่าน แต่ปัญญา ต่างกัน เพราะสำหรับท่านที่เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เมื่อระลึกแล้วสามารถรู้ลักษณะสภาพของจิตซึ่งเป็นนามธรรมในขณะนั้น และสามารถรู้ลักษณะของรูปธรรม แทงตลอดในการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น ขณะที่บุคคลในชาตินี้ซึ่งยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ระลึกได้ถึง ความผิดพลาดของตนเอง ถึงอกุศลของตนเอง แต่ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะสภาพของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้นที่จะแทงตลอดในการเกิดดับ และรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นชีวิตปกติธรรมดาจริงๆ ใครจะคิดอะไร ขณะไหน ตามการสะสม และเมื่อคิดแล้วปัญญาจะเจริญถึงขั้นใด ตามการสะสม หรือคิดแล้วก็แล้วไป เพียงแต่คิดว่าจะไม่ทำอย่างนั้นอีก แต่ไม่สามารถรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น

    อีกท่านหนึ่งที่ได้บรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ในครั้งที่ท่านเป็นกุฎุมพีคนหนึ่ง ในกาสิกคาม

    วันหนึ่งขณะที่ท่านนั่งอยู่ที่ตลาด ท่านได้เห็นชายผู้หนึ่งเดินไปกับภรรยา ท่านมองดูภรรยาของชายผู้นั้นด้วยความพอใจในความสวยงาม และก็หวนคิดได้ว่า ความโลภนี่แหละเมื่อเจริญขึ้น ก็จะทำให้เราไปสู่อบายภูมิทั้งหลาย ขณะนั้นจิตสลด เจริญวิปัสสนา บรรลุปัจเจกพุทธญาณ

    ดูเหมือนง่ายๆ ซึ่งคนสมัยนี้อยากจะง่ายอย่างนั้น คือ เพียงระลึกขึ้นมา ก็อยากบรรลุปัจเจกโพธญาณหรืออยากจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่า ปัญญารู้อะไร และปัญญาที่จะรู้อย่างนั้นได้ต้องเป็นสติปัฏฐานซึ่งจะต้องอบรมไปอย่างไร และในขณะที่หลงลืมสติ การฟังพระธรรม การเข้าใจพระธรรม จะทำให้โยนิโสมนสิการในทางที่ถูก ในทางที่ควร แล้วแต่ว่าถึงกาลที่สติปัฏฐานจะเกิดระลึก รู้ลักษณะของสภาพธรรมเมื่อไร ก็มีปัจจัยที่จะให้ระลึก และแม้ระลึกแล้วก็ยังแล้วแต่ว่า ปัญญาที่ได้อบรมมานั้นสมบูรณ์ถึงขั้นใด หรือต้องอบรมเจริญต่อไป

    อีกท่านหนึ่ง

    ที่ปากดง กาสิกคาม มีพวกโจรป่าซุ่มจับคน ถ้าจับบิดากับบุตรได้ก็ยึดบุตรไว้ ปล่อยบิดาไปให้เอาทรัพย์มาไถ่บุตรของตน ถ้าจับพี่น้อง ๒ คนได้ก็ยึดน้องชายไว้ปล่อยพี่ชายไป ถ้าจับอาจารย์กับอันเตวาสิกได้ก็ยึดอาจารย์ไว้ ปล่อยอันเตวาสิกไป อันเตวาสิกก็ต้องไปนำทรัพย์มาไถ่ตัวอาจารย์ไป

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ด้วยความโลภในศิลปะ

    แต่ความจริงไม่จำเป็นต้องเป็นด้วยโลภะ จะเป็นด้วยความกตัญญูกตเวทีก็ได้ แล้วแต่สภาพของจิตของแต่ละบุคคลในขณะนั้น

    ครั้งนั้น ท่านที่จะบรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นชาวกาสิกคาม เดินทางไปกับบิดา รู้ว่าพวกโจรซุ่มอยู่ที่ตรงนั้น จึงได้ทำกติกากันไว้ว่า อย่าเรียกกันว่า พ่อลูก ถ้าพวกโจรจับได้ถามว่าเป็นอะไรกัน ต่างก็ตอบว่า ไม่ได้เป็นอะไรกัน เมื่อทั้งคู่ ออกพ้นจากดงไปยืนอาบน้ำอยู่ในเวลาเย็น บุตรชายชำระศีลของตน เห็นมุสาวาทนั้นคิดว่า บาปนี้เมื่อเจริญจะทำให้ไปสู่อบายภูมิทั้งหลายได้ เจริญวิปัสสนาบรรลุเป็น พระปัจเจกพุทธเจ้า แสดงธรรมแก่บิดา แล้วเหาะไปสู่เงื้อมเขานันทมูลกะเหมือนกัน

    ท่านที่ ๑ ท่านที่ ๒ ท่านที่ ๓ ต่อไปอีกท่านหนึ่ง คือ

    นายอำเภอบ้านกาสิกคามนั่นเอง เวลาที่กระทำพลีกรรม พวกชาวบ้านก็ประชุมกันกล่าวกับเขาว่า

    นายขอรับ พวกเราต้องฆ่าเนื้อและสุกรเป็นต้น กระทำพลีกรรม กาลนี้เป็น กาลแห่งพลีกรรม

    ท่านก็กล่าวว่า

    พวกท่านจงกระทำตามแบบอย่างที่เคยกระทำมาในครั้งก่อนนั่นแหละ

    พวกชาวบ้านก็ได้กระทำปาณาติบาตมากมาย ท่านมองเห็นปลาและเนื้อ ตายเป็นอันมาก ก็ไม่สบายใจที่ชาวบ้านเหล่านี้ฆ่าสัตว์มีประมาณเท่านี้ตาม คำของท่านผู้เดียวเท่านั้น ท่านยืนพิงช่องหน้าต่าง เจริญวิปัสสนา บรรลุเป็น พระปัจเจกพุทธเจ้า

    ต่อไปท่านที่ ๕

    เป็นนายอำเภอในแคว้นกาสิกะเหมือนกัน ท่านห้ามการซื้อขายน้ำเมาอย่างกวดขัน พวกชาวบ้านก็พากันมาถามว่า

    นายขอรับ เมื่อก่อนสมัยนี้เป็นเทศกาล ชื่อว่าสุราฉัณ พวกกระผมจะ ทำอย่างไรขอรับ

    ท่านก็กล่าวว่า

    พวกท่านก็ทำตามแบบอย่างเก่าก่อนนั่นแหละ

    พวกมนุษย์ก็พากันกระทำการมหรสพ ดื่มสุราเมาแล้วก็ทะเลาะวิวาทกัน ทำร้ายกัน ถูกจองจำด้วยสินไหมเป็นอันมาก

    นายบ้านเห็นอย่างนั้นก็คิดว่า เมื่อเราไม่อนุญาต คนเหล่านี้ก็ไม่เป็นทุกข์กัน ท่านไม่สบายใจ ยืนพิงช่องหน้าต่างเจริญวิปัสสนา บรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แสดงธรรมกับพวกชาวบ้าน ให้ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่ไม่ประมาท และเหาะไปยังเงื้อมเขานันทมูลกะ

    นี่เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕ พระองค์

    ต่อมาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ ต่างเหาะมาที่ประตูกรุงพาราณสี เพื่อบิณฑบาตด้วยอิริยาบถอันน่าเลื่อมใส พระราชาทรงทอดพระเนตรเห็น พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ทรงมีจิตเลื่อมใส นิมนต์ให้เข้าไปสู่พระราชวัง ล้างเท้า ทาด้วยน้ำมันหอม อังคาสด้วยขาทนียะและโภชนียะอันประณีต ประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง ตรัสถามว่า

    พระคุณเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย การบรรพชาในปฐมวัยของพระคุณเจ้าทั้งหลาย ดูช่างงดงามจริง เมื่อจะบรรพชาในวัยนี้ พระคุณเจ้าทั้งหลายต่างเห็นโทษใน กามทั้งหลายอย่างไร และอะไรเป็นอารมณ์ของพระคุณเจ้า

    พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น จึงทูลพระราชาเป็นคาถาองค์ละ ๑ คาถา คือ

    พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ที่ ๑ ตรัสว่า

    อาตมาภาพเป็นมิตรของชายคนหนึ่ง ได้ดื่มน้ำของมิตรที่เขาไม่ได้ให้ เพราะเหตุนั้นภายหลังอาตมาภาพจึงรังเกียจว่า เราทำบาปนั้นไว้แล้ว อย่าได้กระทำบาปต่อไปอีกเลย เพราะเหตุนั้นอาตมาภาพจึงออกบวช

    พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ที่ ๒ ตรัสว่า

    ความพอใจบังเกิดขึ้นแก่อาตมาภาพเพราะเห็นภรรยาของผู้อื่น เพราะเหตุนั้นภายหลังอาตมาภาพจึงรังเกียจว่า เราได้ทำบาปนั้นไว้แล้ว อย่าได้กระทำบาปนั้นต่อไปอีกเลย เพราะเหตุนั้นอาตมาภาพจึงออกบวช

    พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ที่ ๓ ตรัสว่า

    โจรทั้งหลายจับโยมบิดาของอาตมาภาพไว้ในป่า อาตมาภาพถูกโจรเหล่านั้นถาม ทั้งๆ ที่รู้อยู่ได้แกล้งพูดถึงโยมบิดานั้นเป็นอย่างอื่นไป เพราะเหตุนั้นภายหลังอาตมาภาพจึงรังเกียจว่า เราได้ทำบาปนั้นไว้แล้ว อย่าได้กระทำบาปนั้นต่อไปอีกเลย เพราะเหตุนั้นอาตมาภาพจึงออกบวช

    พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ที่ ๔ ตรัสว่า

    เมื่อพลีกรรม ชื่อว่าโสมยาคะปรากฏแล้ว มนุษย์ทั้งหลายก็พากันกระทำปาณาติบาต อาตมาภาพได้ยอมอนุญาตให้แก่พวกเขา เพราะเหตุนั้นภายหลัง อาตมาภาพจึงรังเกียจว่า เราได้ทำบาปนั้นไว้แล้ว อย่าได้กระทำบาปนั้นต่อไปอีกเลย เพราะเหตุนั้นอาตมาภาพจึงออกบวช

    พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ที่ ๕ ตรัสว่า

    ในกาลก่อน ชนทั้งหลายในหมู่บ้านของอาตมาภาพสำคัญสุราและเมรัยว่า เป็นน้ำหวาน จึงได้พากันดื่มน้ำเมา เพื่อความเสื่อมประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก อาตมาภาพจึงยอมอนุญาตแก่พวกเขา เพราะเหตุนั้นภายหลังอาตมาภาพจึงรังเกียจว่า เราได้ทำบาปนั้นไว้แล้ว อย่าได้กระทำบาปนั้นต่อไปอีกเลย เพราะเหตุนั้น อาตมาภาพจึงได้ออกบวช

    เรื่องในครั้งโน้น ไม่ว่าจะก่อน ๒,๕๐๐ ปี ซึ่งเป็นเวลาที่ยาวนานมากเพราะว่าเป็นพระชาติต่างๆ ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในขณะที่ยังบำเพ็ญพระบารมี แต่ความคิด ความรู้สึก ก็เหมือนในสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นการระลึกถึง บุญบาปต่างๆ ในชีวิตประจำวันของแต่ละคน แต่จะเห็นกำลังของอกุศลและกำลังของปัญญาที่ต่างกัน

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ยังอีกไกลกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถ้าไม่มีจิตใจถึงระดับอย่างพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านี้จริงๆ

    พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายได้ภาษิตคาถาทั้ง ๕ เหล่านี้โดยลำดับ เมื่อ พระราชาทรงสดับคำพยากรณ์ของพระปัจเจกพุทธเจ้าแต่ละองค์แล้วได้ทรงสรรเสริญว่า

    พระคุณเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย บรรพชานี้เหมาะสมแก่พระคุณเจ้าทั้งหลายทีเดียว

    พระราชาทรงมีจิตเลื่อมใส ทรงถวายผ้าจีวรและเภสัชแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๕ ตอนที่ ๑๘๔๑ – ๑๘๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 104
    28 ธ.ค. 2564