แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1861


    ครั้งที่ ๑๘๖๑


    สาระสำคัญ

    มิลินทปัญหาฉัททันตโชติปาลอารัพภะปัญหา - เปรียบถึงการสะสมบารมีจนถึงพระชาติที่เป็นโชติปาลมาณพ

    โทษภัยของการคบกับคนพาล

    ขุ. จูฬนิทเทส ชตุกัณณีมาณวกปัญหานิทเทส - เห็นแล้วซึ่งเนกขัมมะโดยความเกษม

    มัชฌิมาปฏิปทา เป็นมรรคมีองค์ ๘ เป็นสติปัฏฐาน


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒


    ตัวอย่างพระชาติหนึ่งของพระผู้มีพระภาคที่แสดงให้เห็นถึงการอยู่ในตระกูล ของมิจฉาทิฏฐิ คือ ในครั้งที่พระองค์ทรงเป็นโชติปาลมาณพ เกิดในตระกูลมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีศรัทธาในพระผู้มีพระภาคและลบหลู่พระผู้มีพระภาคตามมารดาบิดา เพราะว่าพวกพราหมณ์ที่มีความเห็นผิดไม่เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค ซึ่งในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ ก่อนพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้

    ข้อความใน มิลินทปัญหา ฉัททันตโชติปาลอารัพภปัญหา เปรียบการสะสมบารมีของพระผู้มีพระภาคจนกระทั่งถึงพระชาติที่เป็นโชติปาลมาณพ และไม่มีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะว่า เปรียบเหมือนกองไฟใหญ่ คือ บารมีทั้งหลายที่ได้บำเพ็ญมาแล้วมีรัศมีสว่างไสว แต่ในชาตินั้นถูกน้ำดับ ก็หมดรัศมี มีแต่ถ่านดำ

    เพราะฉะนั้น ในชาติหนึ่งชาติใดใครจะเป็นอย่างไรก็ยากที่จะรู้ได้ จึงไม่ควรประมาทที่จะไม่เห็นโทษภัยของการคบกับพาล เพราะแม้แต่โชติปาลมาณพซึ่งได้สะสมบารมีมาเปรียบเหมือนกองไฟใหญ่ที่มีรัศมีสว่างไสว แต่เมื่อเกิดในสกุลของพราหมณ์ ที่ไม่เลื่อมใสในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้รัศมีที่สว่างไสวนั้นก็ถูกน้ำดับ จึงหมดรัศมี มีแต่ถ่านดำ

    สำหรับศีลบารมี ท่านผู้ฟังคงจะเข้าใจอยู่แล้ว การที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ศีล ๕ หรือศีล ๘ หรือศีลต่างๆ ก็ตามเพศ ตามอัธยาศัย ซึ่งต้องเป็นชีวิตประจำวัน ที่สะสมไป

    สำหรับเนกขัมมบารมี คือ การบรรเทา การละ การปราบปรามความพอใจ ในกาม หรือการออกจากกามนั่นเอง เพียงการรู้สึกตัวว่า เป็นผู้ที่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะในชาตินี้ และค่อยๆ คลายไปได้แค่ไหน นั่นก็เป็น การเจริญเนกขัมมบารมี เพราะถึงแม้ว่าจะสละเพศคฤหัสถ์เป็นบรรพชิตแล้ว แต่ถ้ายังมีความติดความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเหมือนคฤหัสถ์ ก็ไม่มีความต่างกันเลย ระหว่างบรรพชิตและคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น เนกขัมมบารมี จริงๆ ไม่ใช่หมายเฉพาะการสละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต แต่ต้องหมายความถึง การเพียรที่จะละคลายความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งทุกคนยังมี ตราบใดที่ยังไม่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคลก็ต้องรู้จักตนเองตาม ความเป็นจริงว่า มีความมั่นคง มีความจริงใจ มีความไม่หวั่นไหวที่จะละคลายการติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะลงบ้างไหม

    เช่น การติดในรูป ในสีสันวัณณะที่ปรากฏซึ่งมีหลายอย่าง แม้ในจิตรกรรม ภาพเขียนต่างๆ ก็จะเห็นได้ว่า เป็นสิ่งที่น่าดู น่าพอใจ และส่วนใหญ่เวลาเห็น สิ่งที่น่าพอใจ ทุกคนก็ต้องมีความยินดี คือ โลภะ ความติดข้อง ความพอใจเกิดขึ้น ถ้ารู้สึกตัวในขณะนั้นว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่ละคลายได้ โดยไม่แสวงหาและไม่สะสม คือ มีก็ดู ไม่มีก็ไม่ดู ไม่ไปแสวงหาจนเป็นผู้ที่สะสมทรัพย์สมบัติมากมายทั้งสิ่งละอันพันละน้อย ไม่รู้ว่าอะไรต่ออะไรเต็มไปหมด ซึ่งนั่นคือเป็นผู้ที่ติดมาก อาจจะสำรวจดูห้องนอนก่อนก็ได้ และขยับขยายไปเรื่อยๆ ว่า ท่านเป็นผู้ที่แสวงหามากหรือน้อย

    แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่ได้สิ่งใดมา และมีความพอใจในสิ่งนั้นโดยไม่ขวนขวาย ก็ยังดีกว่าอยากจะได้จนทนไม่ได้ จนต้องไปขวนขวาย จนกระทั่งต้องสะสมมากมายเป็นร้อยเป็นพันชิ้นก็มี

    แสดงให้เห็นว่า เรื่องของเนกขัมมะ เป็นเรื่องของการสละ การบรรเทา การละคลาย แม้ในรูปก็ต้องพิจารณา แม้ในเสียงต่างๆ ได้ยินเสียงที่น่าพอใจ โลภะเกิดก็เป็นของธรรมดา เพราะว่ามีปัจจัยให้เกิด แต่ไม่แสวงหาและไม่สะสม ก็เป็นการค่อยๆ คลาย ค่อยๆ บรรเทาความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น และในรสด้วย

    รับประทานอาหารแค่เพียงพอแก่การที่จะมีชีวิตอยู่ได้ไหม

    ถ้าปกติเป็นผู้ที่บริโภคอาหารอร่อยเสมอ และบริโภคมาก บางครั้งอาจจะรู้สึกอึดอัด ไม่สบาย ปวดท้อง มีโรคต่างๆ เกิดขึ้นเพราะบริโภคมาก แต่ไม่รู้เลยว่า นอกจากจะเป็นโทษภัยกับร่างกายแล้ว จิตใจที่มีความติด มีความพอใจในรสอาหาร ก็ทำให้บริโภคแม้ไม่หิว

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะเป็นผู้ละคลายความติด ความพอใจ คือ เนกขัมมะในรส ออกจากรส ก็คือ บริโภคเพียงพออิ่มจริงๆ และถ้าเป็นไปได้ก็ไม่ชิมด้วย เพราะว่า บางคนไม่หิว แต่ถ้าอาหารอร่อย และไม่อยากจะรับประทานมาก เนื่องจากรับประทานแล้วจะไม่สบาย ก็ชิมอาหารเพียงคำเดียว ซึ่งนั่นแสดงว่า ไม่ใช่เนกขัมมะ

    ถ้าจะเป็นเนกขัมมะจริงๆ เริ่มฝึกหัดตนใหม่ด้วยความอดทน ซึ่งก็ต้องอาศัยขันติบารมีด้วยที่จะรู้ว่า อาหารที่เพียงอิ่มมีประโยชน์เพียงพอแล้ว และแม้จะเป็นอาหารที่อร่อย ถ้าเป็นเนกขัมมบารมีในขณะนั้น ที่เคยรับประทานมากก็ลดลง และถ้าลดลงแล้วเพียงแต่ชิม ก็อาจจะลดลงยิ่งกว่านั้นก็ได้ คือ ไม่ชิมด้วย ถ้าไม่หิว

    ถ้าเข้าใจเรื่องบารมีจริงๆ จะเห็นได้ว่า กว่าจะพ้นจากความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะนั้น ยากเย็นสักแค่ไหน เพราะเพียงฝึกหัดที่จะละคลาย ก็ยังยาก และการที่จะให้ร่างกายและจิตใจเข้มแข็งค่อยๆ มีกำลัง ไม่ใช่คนป่วยทางจิต ที่เดินหนทางมรรคมีองค์ ๘ ไม่ไหวแน่ เพราะเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างหนัก ก็จะต้องค่อยๆ รักษาโรคและบำรุงกำลังของจิตใจให้เข้มแข็งขึ้น จนกระทั่งบารมีทั้งหลายเกื้อกูล ต่อการที่สติปัฏฐานจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมเป็นปกติเพิ่มขึ้นได้

    สำหรับเรื่องรส เป็นเรื่องที่ทุกท่านอาจจะเริ่มเนกขัมมบารมีได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นบรรพชิต เพราะว่าเนกขัมมะจริงๆ คือ การออกจากการติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    สำหรับโผฏฐัพพะ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นผู้ที่มีความอดทน บางครั้งกระทบสัมผัสกับความหนาวก็ทนได้ หรือความร้อนก็ทนได้ ไม่ต้องขวนขวายว่า เวลาร้อน ต้องอาบน้ำเย็น เวลาเย็นต้องอาบน้ำอุ่น หรืออะไรอย่างนั้น ซึ่งสำหรับบางท่านก็มีความจำเป็นที่เกี่ยวกับร่างกาย แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องของร่างกาย ก็เป็นเรื่องของความติดความพอใจ เพราะถ้าได้อาบน้ำอุ่น บางท่านอาจจะรู้สึกสบาย โดยที่ร่างกายก็แข็งแรงอยู่แล้ว แต่ยังอยากสบายที่จะได้กระทบกับน้ำอุ่น หรือบางกาล บางโอกาสก็สบาย ที่จะได้กระทบกับน้ำเย็น แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจในเรื่องเนกขัมมบารมีก็จะเป็นผู้อดทนขึ้น ไม่ว่าจะหนาว จะร้อน จะเย็นอย่างไร ก็ยังสามารถทนได้ ซึ่งในขณะที่ทนจะเห็นได้ว่า ต้องมีขันติบารมี และต้องมีวิริยบารมีด้วย

    ขอกล่าวถึงเนกขัมมบารมีในการปฏิบัติที่จะขาดปัญญาไม่ได้ เพราะถ้า ไม่เข้าใจแล้ว การที่จะออกจากความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่สั่งได้ หรือบอกได้ หรือคิดจะทำได้ แต่เป็นเรื่องของปัญญาที่จะต้องเข้าใจในเรื่องของเนกขัมมะจริงๆ

    ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ชตุกัณณีมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๔๐๑ มีข้อความว่า

    คำว่า ซึ่งเนกขัมมะ … ความว่า เห็น คือ เห็นแจ้ง เทียบเคียง พิจารณา เจริญ ทำให้แจ้งแล้ว ซึ่งความปฏิบัติชอบ ความปฏิบัติสมควร ความปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก ความปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์ ความปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ความทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ความคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ การประกอบความเพียรในความเป็นผู้ตื่น สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นิพพาน และข้อปฏิบัติให้ถึงนิพพาน โดยความเกษม คือ โดยเป็นที่ต้านทาน โดยเป็นที่ซ่อนเร้น โดยเป็นสรณะ โดยเป็นที่พึ่ง โดยไม่มีภัย โดยความไม่เคลื่อนไหว โดยความไม่ตาย โดยเป็นธรรมออกจากตัณหาเครื่องร้อยรัด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเห็นแล้วซึ่งเนกขัมมะ โดยความเกษม

    ที่จะเห็นว่าเนกขัมมะเป็นความเกษม ไม่ง่ายเลย เพราะต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ต้องเป็นปัญญาที่เห็นประโยชน์ และเทียบเคียงพิจารณา และยังจะต้องประพฤติปฏิบัติชอบ ปฏิบัติสมควร ปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์ คือ ต้องเห็นประโยชน์ และปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม โดยความทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ความคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ การประกอบความเพียรในการเป็นผู้ตื่น สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔

    จะเห็นได้ว่า เนกขัมมะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หรือไม่ใช่เรื่องที่คิดว่า จะมีตัวตนทำได้โดยไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ต้องเป็นปัญญาที่เข้าใจจริงๆ และรู้ว่า เนกขัมมะที่จะออกจากกามได้จริงๆ ต้องเป็นผู้ที่ สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นิพพาน และข้อปฏิบัติให้ถึงนิพพานโดยความเกษม คือ ต้องเห็นโทษเห็นภัยจริงๆ และเป็นผู้ที่มั่นคงในการอบรมเจริญปัญญาเพื่อจะละความพอใจในกามได้เป็นสมุจเฉท ซึ่งเริ่มจากการฟังและพิจารณาให้เห็นประโยชน์ก่อน เห็นว่าเนกขัมมะเป็นความเกษม ไม่ใช่ว่าเป็นตัวตนที่จะไม่พอใจ แต่ต้องเห็นว่า ถ้าไม่ติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ จะมีความสงบ มีความสบายสักแค่ไหน

    ถ. ชอบในรสหวาน ก็สมาทานงดเว้น ไม่ดื่มไม่กินในรสหวานนั้น เรียกว่าเป็นเนกขัมมะหรือเปล่า

    สุ. แล้วแต่ว่าทำไปด้วยกิเลสหรือเปล่า เพราะต้องเป็นเรื่องของปัญญา ที่ถามว่า ถ้าชอบรสหวานก็จะเว้นไม่บริโภครสหวาน อย่างนั้นจะเป็นเนกขัมมะไหม ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า บารมีทั้งหมดจะขาดปัญญาบารมีไม่ได้ ถ้าในขณะนั้น ไม่ต้องการรสหวาน จะเป็นโทสะ หรือจะเป็นโลภะ

    การที่สภาพธรรมจะเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เพราะว่าทุกคนก็พูดถึงเรื่องทาง สายกลางจนกระทั่งบางท่านบอกว่า จะเอาอะไรเป็นเครื่องวัดว่าข้อปฏิบัติอย่างไร เป็นทางสายกลาง เพราะผู้นี้ปฏิบัติอย่างนี้และเข้าใจว่าเป็นทางสายกลาง สำหรับ อีกท่านหนึ่งปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ท่านผู้นั้นก็เข้าใจว่าเป็นทางสายกลางของท่าน แม้ว่าจะไม่เหมือนกับทางสายกลางของอีกท่านหนึ่ง แต่ตามความเป็นจริง มัชฌิมาปฏิปทาต้องเป็นมรรคมีองค์ ๘ ต้องเป็นสติปัฏฐาน

    แม้แต่ในขณะที่บริโภครสหวานและเกิดความยินดีความต้องการ ในขณะนั้น ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดระลึกรู้ลักษณะสภาพของความยินดีพอใจ และรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่เรา ขณะนั้นคือมัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางสายกลาง เพราะปัญญาเกิดขึ้น เมื่อไม่มีเราเป็นแต่เพียงสภาพธรรมเท่านั้น นั่นคือ ทางสายกลาง ซึ่งขณะนั้นไม่มีอภิชฌาและโทมนัสเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่ไม่บริโภครสหวาน แต่สติปัฏฐานไม่เกิด ปัญญาไม่เกิด ขณะนั้นไม่ชื่อว่าทางสายกลาง แต่ถ้าท่านผู้ใดในขณะนั้นเป็นผู้ที่ชอบรสหวาน มีน้ำตาลท่านก็ใส่ได้ บริโภคได้ด้วยสติสัมปชัญญะและสติปัฏฐาน แต่ถ้าไม่มี ก็ไม่เดือดร้อน คือ ยังคงรับประทานได้ นั่นคือผู้ที่ค่อยๆ คลายความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส แล้วแต่ว่าขณะนั้นเป็นกาลของการติดในรส หรือไม่ติดในรส ถ้ามี ก็บริโภคตามเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ไม่มีการบังคับ หรือเป็นการทรมานตน เพราะว่าบางท่านที่เข้าใจผิด อาจจะทรมานตน เคยบริโภครสหวานก็จะไม่บริโภครสหวาน เคยบริโภครสเค็มก็จะไม่บริโภครสเค็ม แต่ขณะนั้นปัญญาไม่เกิดเลย

    แต่ขณะใดก็ตามเมื่อมีรสหวาน บริโภครสหวาน เป็นการสะสมมา แม้ขณะที่ยินดีพอใจในรสหวาน สติปัฏฐานก็ยังระลึกรู้สภาพที่พอใจว่า ไม่ใช่เรา เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง จึงจะเป็นทางสายกลางได้ เพราะว่าปัญญาเกิด

    เมื่อไม่มีตัวตน จึงจะเป็นทางสายกลาง เพราะกำลังเจริญปัญญาที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน แต่ถ้าไม่มี ไม่ขวนขวายก็ดี ถ้าขวนขวาย ก็เป็นทุกข์ลำบากเดือดร้อน

    ถ. ถ้าไม่มี ก็ขวนขวาย

    สุ. ถ้าไม่มี อย่าขวนขวายได้ก็ดี เพราะว่าเดือดร้อนในการขวนขวาย แต่ถ้ามีและบริโภคด้วยสติสัมปชัญญะ สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นก็เป็นทางสายกลาง

    ถ. จะทำอย่างไรให้สติสัมปชัญญะเกิดขณะที่บริโภค เพราะว่าบริโภคด้วยความหลงทุกที

    สุ. คำว่า ซึ่งเนกขัมมะ คือ เห็นแจ้ง ไม่ใช่ไม่มีปัญญา เทียบเคียง ให้เข้าใจ พิจารณา เจริญ ทำให้แจ้ง เพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติสมควร ปฏิบัติไปตามประโยชน์ ซึ่งประโยชน์สูงสุด คือ การรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน

    ถ. รู้สึกว่า เป็นเราทุกทีที่ดื่มที่กิน

    สุ. ไม่มีใครเอาตัวตนออกได้นอกจากจะอบรมเจริญปัญญา พิจารณาลักษณะของรูปธรรมและรู้ว่ารูปธรรมไม่ใช่เรา พิจารณาลักษณะของนามธรรมจน รู้ชัดว่านามธรรมคือสภาพรู้ เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่เรา ต้องเป็นการอบรม เป็นจิรกาลภาวนาจริงๆ ค่อยๆ อบรมไปพร้อมกับบารมีทั้ง ๑๐

    ถ. บางทีรู้สึกว่าอร่อยในรสหวานนั้น อย่างนี้เป็นอะไร

    สุ. เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ขณะนั้นปฏิเสธไม่ได้ เป็นความพอใจชนิดหนึ่งในรส เป็นโลภเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เมื่อกระทบกับอารมณ์ที่น่ายินดี โลภะก็เกิดขึ้นและดับไป ถ้าไม่รู้จักโลภะตามความเป็นจริงจะดับโลภะไม่ได้เลย

    ที่ว่าไม่รู้จักโลภะตามความเป็นจริง คือ ไม่รู้ว่าโลภะเป็นเพียงสภาพธรรม อย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นและดับไป

    พระ ต้องขอขอบคุณโยมอาจารย์ที่ออกรายการทางวิทยุ เมื่อก่อนอาตมา ฉันกาแฟวันละ ๔ – ๕ แก้ว หลังจากฟังวิทยุจากอาจารย์ก็เหลือ ๑ แก้ว บางวันก็ไม่ฉัน อย่างนี้อยู่ในเนกขัมมะหรือเปล่า คือ ชอบดื่ม ชอบบริโภคในสิ่งที่อร่อย ยังติดอยู่

    สุ. การติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะดับเป็นสมุจเฉทเมื่อบรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล แต่บารมีทั้ง ๑๐ จะทำให้เป็นผู้มีขันติ มีความอดทนเมื่อประสบกับอารมณ์ที่พอใจและไม่พอใจได้

    เวลาที่อาหารไม่อร่อย บ่นหรือเปล่า ถ้ากำลังจะบ่น ระลึกถึงขันติบารมีได้แล้ว ไม่มีความอดทนเลยถึงกับกล่าววาจา ซึ่งขณะนั้นจะพูดหรือไม่พูดอย่างนั้น อาหารก็ยังคงเป็นอย่างนั้น เพราะบางท่านก็ต้องมีการเดินทางไปที่ต่างๆ อาหาร การบริโภคก็เป็นประเภทต่างๆ ซึ่งท่านอาจจะไม่คุ้นเคย เพราะฉะนั้น จะบ่นหรือ ไม่บ่น ก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ถ้าบ่น ขณะนั้นก็ควรที่จะระลึกถึงขันติบารมีได้

    สำหรับการบำเพ็ญบารมี ทุกบารมีต้องเป็นไปกับปัญญาจึงจะเป็นบารมี ถ้ายังไม่เห็นโทษของอกุศลจริงๆ หรือยังไม่พิจารณาเห็นประโยชน์ของบารมี บารมีทั้งหลายก็ย่อมเจริญไม่ได้ เพราะว่าปัญญามีกำลังอ่อนมากจนกระทั่งไม่สามารถเห็นประโยชน์ของการเจริญบารมีได้

    แต่ท่านที่หวังจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ไม่ใช่ว่าต้องการเจริญแต่เฉพาะปัญญาอย่างเดียว เพราะว่าบารมีทุกบารมีเป็นสิ่งที่เกื้อกูลอุปการะแก่การที่จะรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมด้วย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๗ ตอนที่ ๑๘๖๑ – ๑๘๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 104
    28 ธ.ค. 2564