แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1869


    ครั้งที่ ๑๘๖๙


    สาระสำคัญ

    เพราะได้เคยสะสมความเข้าใจมาจากชาติก่อนๆ

    มรณะ ๓ อย่าง ขณิกมรณะ สมมติมรณะ และสมุจเฉทมรณะ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๓๒


    ถ. สภาพธรรมมีอยู่ตลอดเวลา เห็นก็มี ได้ยินก็มี ผมรู้สึกว่า ตัวผมเองช่างโง่เหลือเกิน เห็นก็ยังไม่รู้ ได้ยินก็ยังไม่รู้ คือ ยังไม่เข้าใจว่าเห็นมีนัยที่ควรรู้เพียงใด แต่เมื่อเจริญสติปัฏฐานไปบ้างแล้วก็มีความรู้สึกว่า ขณะเห็นก็ดี หรือขณะได้ยินก็ดี มีสภาพธรรมที่ลึกซึ้งของคำว่าเห็นมาก จากการฟังบ่อยๆ เหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ เกิดสติระลึกรู้ในสภาพธรรมนั้น แต่ก็เคยคิดว่า ที่อาจารย์บรรยายจะเป็นไปได้หรือ อย่างเช่นสติที่ระลึกรู้ในกลิ่น หรือในรสทางลิ้น ก็เคยนึกว่า ชาตินี้คงไม่มีทาง ฟังๆ ไปก็ระลึกทางตาบ้างเล็กๆ น้อยๆ ทางหูบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ระยะหนึ่งเคยระลึกได้ทางลิ้น เป็นอยู่ระยะหนึ่งหลายเดือน แต่ขณะนี้ได้หายไป สำหรับทางจมูกนั้น แทบจะไม่เคยระลึกเลย นึกว่าชาตินี้ก็คงจะไม่ได้ระลึกทั่วทั้ง ๖ ทวาร

    แต่สภาพธรรมเป็นอนัตตาจริงๆ ในระยะที่อาจารย์ไม่ได้บรรยายอยู่ประมาณ ๒ เดือน สติระลึกรู้ที่จมูกมากกว่าทางตา ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้ว หรือจะเป็นเพราะว่าระยะนี้ผมเดินผ่านกองขยะบ่อย และมักจะไปได้ที่กองขยะเสมอๆ เพราะเป็นสภาพธรรมที่รุนแรงกว่าสภาพธรรมที่พื้นๆ แต่สิ่งที่ปรากฏทางลิ้นคือรส ได้หายไป ได้แต่การคิดนึกเรื่องรส

    สำหรับสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ ธัมมารมณ์ ทางใจ ขณะนี้กำลัง คิดนึก ซึ่งการคิดนึกอาจารย์พูดเสมอๆ ว่า ทางตาแล้วก็มาทางใจ ทางหูแล้วก็ต้องทางใจ เพราะฉะนั้น ทางใจจะมีสภาพธรรมมากกว่าเพื่อน ซึ่งก็ได้ระลึกแล้วบ้างแล้ว สรุปแล้วเวลานี้สภาพธรรมทั้ง ๖ ทวาร ได้เริ่มระลึกแล้วทุกทวาร คิดว่าไม่หมดหวัง คงจะต้องเจริญสติต่อไป

    มีคำถามถามอาจารย์ว่า อะไรจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยต่อไป และเราก็ไม่รู้ว่า อะไรอีกที่จะมาข้างหน้าที่สติปัฏฐานจะระลึกรู้ในสภาพธรรมอื่นๆ ซึ่งนี่เป็นอนัตตา ก็พอเข้าใจ แต่สำหรับท่านผู้อื่นไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร คงต้องให้อาจารย์ ขยายความต่อไป

    สุ. ที่พูดเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจบ่อยๆ ก็เพื่อให้เห็นว่า การศึกษาพระธรรม การฟังพระธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะฟังพระธรรมในระดับขั้นใด การศึกษา ทั้งพระวินัยปิฎกก็ดี หรือพระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎกก็ดี การศึกษาเรื่องจิตประเภทต่างๆ เจตสิกประเภทต่างๆ รูปประเภทต่างๆ พร้อมทั้งปัจจัยของจิต เจตสิก รูป ซึ่งอาศัยกันและกันเกิดขึ้นก็ดี เราคงไม่ได้ฟังมาแต่เฉพาะในชาตินี้ ชาติเดียว แต่ผู้ที่มีความสนใจในพระธรรมที่ฟังในชาตินี้ก็แสดงให้เห็นว่า ได้เคยมี ความสนใจศึกษาและฟังพระธรรมในชาติก่อนๆ มาแล้ว แต่เมื่อถึงชาตินี้ลืมหมด ถ้าไม่มีโอกาสได้ฟังซ้ำอีก

    เมื่อมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ก็จะรู้ได้ว่า เป็นผู้ที่ได้เคยศึกษา เข้าใจ และอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรมในชาติก่อนๆ มามากน้อยแค่ไหน ซึ่งท่านพระสารีบุตรเพียงฟังท่านพระอัสสชิ ท่านก็สามารถรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมเพียงท่านพระอัสสชิกล่าวคาถาสั้นๆ ว่า ธรรมทั้งหลายย่อมเกิดจากเหตุ เท่านั้น ท่านไม่มีความสงสัยในคำว่า ธรรม เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมของแต่ละบุคคลในแต่ละชาติ เป็นการแสดงให้รู้ถึงการอบรมเจริญสติและปัญญาในขั้นของ การฟัง การพิจารณา และสติปัฏฐานในชาติก่อนๆ ด้วย เพราะว่าการฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมทั้งหมดเพื่อให้รู้ว่า ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ที่กล่าวถึงเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทุกครั้ง ก็เพราะว่าเป็นสภาพธรรม ที่มีจริงกำลังปรากฏ และธรรมที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมดจะเกื้อกูลให้รู้ให้เข้าใจในขณะที่กำลังเห็นว่า เป็นเพียงสภาพรู้ เพื่อจะถ่ายถอนความเป็นตัวตนว่า ไม่ใช่เราที่เห็น เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงมากมายทีเดียวที่ได้มีการศึกษามาแล้วในชาติก่อนๆ และในชาตินี้ ซึ่งในชาตินี้ทุกคนก็ต้องจากโลกนี้ไปอีก และเมื่อเกิดใหม่ ก็แล้วแต่ว่า จะมีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจากการฟังในชาตินี้เท่าไร และเมื่อได้ฟัง พระธรรมอีกในชาติต่อไป จะสามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขั้นของการฟัง หรือในขั้นของการระลึกรู้ลักษณะของเห็น ลักษณะของได้ยิน ลักษณะของได้กลิ่น ลักษณะของลิ้มรส ลักษณะของสภาพธรรมที่คิดนึก ทั้งนามธรรมและรูปธรรม และจะสามารถอบรมเจริญปัญญาเพื่อประจักษ์แจ้งลักษณะของ สภาพธรรมได้เพิ่มขึ้นแค่ไหน

    การศึกษาธรรมต้องทราบประโยชน์ว่า เพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั่นเอง เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็รู้ด้วยตัวเองว่า มีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพียงใด เป็นการทดสอบผลของการศึกษาพระธรรมทั้งหมด ทั้งในชาติก่อนๆ และในปัจจุบันชาตินี้ด้วย

    สามารถตอบได้ ใช่ไหม ผลของการศึกษาธรรมในชาติก่อนๆ และในชาตินี้ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพียงใด

    ไม่ได้ถามว่า เป็นจิตอะไร เป็นอเหตุกจิตหรือมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกี่ดวง ไม่ได้ถามว่า นามธรรมและรูปธรรมเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันอย่างไร แต่เข้าใจลักษณะของสภาพที่กำลังเห็นในขณะนี้ว่า เป็นแต่เพียงธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้เท่านั้นนี่คือผลจากการศึกษา

    เพราะฉะนั้น ทุกท่านที่ได้อบรมเจริญปัญญามาบ้างแล้ว ก็มีสิ่งที่จะ สอบปัญญาของตนเองได้ เช่น มีกิเลสมาก หรือมีกิเลสน้อยตามความเป็นจริง เมื่อได้ฟังพระธรรมเข้าใจแล้วก็รู้ว่า เป็นผู้ที่มีกิเลสคือความไม่รู้อย่างมากทีเดียว และเมื่อรู้ว่ามีกิเลสมากอย่างนี้แล้วจะทำอย่างไรต่อไป นี่ก็เป็นปัญญาอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งผู้ที่เข้าใจหนทางประพฤติปฏิบัติถูกต้องก็รู้ว่า เพียรเพื่อเข้าใจลักษณะของ สภาพธรรมโดยการฟัง และโดยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ไม่ใช่อยาก ที่จะหมดกิเลสโดยวิธีอื่น

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งกล่าวว่า เวลาว่างท่านคิดที่จะทำสมาธิ เคยคิดอย่างนี้ไหม

    ถ้ามีความเข้าใจเรื่องของปัญญาบารมี คือ การรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ขณะนั้นจะรู้ว่า ไม่ว่างเลย

    มีใครว่างบ้าง

    ท่านที่คิดว่า ว่างๆ ไม่รู้จะทำอะไรก็จะทำสมาธิเพราะว่ากำลังว่างอยู่ แต่ความจริงแล้วถ้าเข้าใจธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ว่างเลยสักขณะเดียว

    กำลังเห็น ว่างหรือเปล่า กำลังได้ยิน ว่างหรือเปล่า ในขณะนั้นท่านอาจจะเข้าใจว่า ท่านไม่ได้ทำกิจธุรการงาน ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร แต่ถ้าระลึกได้ว่า ไม่ว่าง เพราะกำลังเห็นจะว่างอย่างไร กำลังได้ยินจะว่างอย่างไร เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ว่าง ปัญญาก็ควรพิจารณาเข้าใจลักษณะของเห็นว่า เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ แทนที่จะทำสมาธิ เพราะการทำสมาธิไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา

    ทุกท่านคงเคยทำสมาธิ หรือเคยบรรลุถึงขั้นฌานจิตมาแล้วในชาติก่อนๆ ก็ได้ แต่เมื่อไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ถึงแม้ว่าชาติก่อนจะได้สมาธิถึงขั้นฌาน แต่เมื่อไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ก็ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะฉะนั้น ชาตินี้ก็เหมือนชาติก่อน ถ้าคิดที่จะทำสมาธิหรือคิดที่จะให้ฌานจิตเกิด โดยไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทุกชาติ ก็ย่อมเป็นอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น แทนที่จะเพียรเพื่อให้เกิดสมาธิ ก็ควรเพียรเข้าใจลักษณะของเห็นที่กำลังเห็น ซึ่งเป็นปกติ ถ้าทำสมาธิ ต้องใช้ความเพียรเพื่อทำให้จิตจดจ้องอยู่ที่อารมณ์เดียว เพื่อให้ตั้งมั่นที่อารมณ์นั้น ต้องอาศัยความเพียรสมาธิจึงจะเกิด แต่ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน และมีความเข้าใจถูกว่า ควรที่จะอบรม เจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเห็น ขณะนั้นก็เพียร แต่ไม่ใช่เพียร ให้จิตตั้งมั่นที่อารมณ์เดียว แต่เพียรโดยพยายามที่จะพิจารณา หรือเริ่มที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    จะเห็นได้ว่า แม้วิริยะ ความเพียรที่เป็นบารมี ก็ต้องเกิดร่วมกับปัญญา มิฉะนั้นแล้วจะเพียรทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่เพียรรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ในชีวิตประจำวัน

    ธรรมทั้งหมดต้องสอดคล้องกัน เช่น ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงมรณสติ การระลึกถึงความตาย และทรงแสดงเรื่องของมรณะ ๓ อย่าง คือ ขณิกมรณะ สมมติมรณะ และสมุจเฉทมรณะ สำหรับขณิกมรณะ คือ ความตายทุกขณะ ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังจะเข้าใจจริงๆ ว่า ชีวิตของทุกคนดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียว ที่ว่าชีวิตยาว อายุยืนมาก ความจริงแล้วก็เป็นการเกิดดับสืบต่อของจิตแต่ละขณะนั่นเอง เพราะฉะนั้น ถ้าทอนอายุของชีวิตที่ท่านคิดว่ายืนยาวมากให้สั้นลง เป็นชั่วขณะจิต จะเห็นได้ว่า ชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วในขณะที่เห็น ในขณะที่กำลังเห็นนี้เป็นชีวิตขณะหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเห็น ถ้าไม่เห็น ไม่ใช่ชีวิตแน่ แต่ในขณะที่มีชีวิตคือเห็น เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดขึ้นเห็นขณะหนึ่งแล้วตาย สั้นมากทีเดียว และขณะที่กำลังได้ยินนี้เอง ก็เป็นชีวิตชั่วขณะที่ได้ยินนั้น ชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะที่ได้ยินแล้วก็ตาย

    เพราะฉะนั้น ขณิกมรณะ คือ ผู้ที่เจริญมรณสติที่เป็นปัญญาบารมีจะไม่เพียงระลึกถึงความตายที่เป็นสมมติมรณะและก็เกิดการละคลายเพียงเล็กน้อยว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าของได้ตลอดไป เพราะว่าต้องมีการพลัดพราก ต้องมีการสูญเสียจากสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นของเรา ซึ่งถ้ารู้เพียงเท่านั้น ไม่สามารถจะดับกิเลสได้ แต่ถ้าผู้นั้นสามารถเข้าใจขณิกมรณะว่า คือ ความตาย ทุกๆ ขณะ ชั่วขณะที่เห็น เกิดขึ้นเห็นแล้วก็ตาย เกิดขึ้นได้ยินแล้วก็ตาย เกิดขึ้น ได้กลิ่นแล้วก็ตาย เกิดขึ้นคิดนึกแล้วก็ตาย ถ้าเข้าใจขณิกมรณะอย่างนี้จะสามารถพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้จริงๆ ซึ่งเป็นมรณสตินั่นเอง

    เพราะฉะนั้น มรณสติจึงมีตามระดับขั้นของผู้ที่เข้าใจมรณสติ คือ ในขั้นของ การอบรมเจริญความสงบ และในขั้นที่จะพิจารณาเพื่อรู้ลักษณะของความตายที่มีอยู่ทุกขณะ

    ทุกอย่างในชีวิต จะทราบได้ว่า ขณะใดที่ปัญญาเกิดและขณะใดที่ปัญญา ไม่เกิด และขณะใดที่ความเข้าใจผิดในข้อปฏิบัติอาจจะเกิดแทรกก็ได้ เช่น บางคนบอกว่า วันหนึ่งๆ ต้องเดินจงกรมด้วย คือ เป็นผู้ที่พากเพียรจะปฏิบัติธรรม และ จะอบรมทุกอย่าง แม้แต่ได้ยินคำว่า จงกรม ก็คิดว่า วันหนึ่งๆ การประพฤติ ปฏิบัติธรรมนั้นจะต้องจงกรมด้วย

    แต่ถ้าเข้าใจถูกว่า ตามปกติที่นั่งบ้าง นอนบ้าง และเมื่อย จึงต้องเดิน เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งหลายท่านเห็นว่า วันหนึ่งๆ ท่านไม่ค่อยจะมีโอกาสได้เดิน เพราะปกติท่านก็นั่งบ้างนอนบ้างเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ควรที่จะเดินเพื่อผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ และเมื่อเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แม้ขณะที่เดินก็เป็นผู้มีสติ แต่ไม่ใช่ มีความเห็นผิดว่า ตั้งใจจงกรมเพื่อให้เป็นสมาธิ ถ้ามีความเห็นอย่างนั้น ขณะนั้น จะเห็นได้ว่า มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการอบรมเจริญปัญญา

    สำหรับเรื่องของการอบรมเจริญสมาธิ หรือบางท่านที่เคยทำสมาธิมาแล้ว จะรู้ได้ว่า เป็นมิจฉาสมาธิ หรือเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเป็นสัมมาสมาธิก็เป็นเรื่องกุศล แต่กุศลขั้นสมาธิหรือสมถภาวนาไม่สามารถทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ในชีวิตจึงควรเป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่เมื่อใดท่านผู้ใดรู้แจ้งอริยสัจจธรรมด้วยจิตที่สงบถึงขั้นฌาน นั่นก็เป็นการสะสม เครื่องประกอบของการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเท่านั้น แต่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมสามารถเกิดขึ้นได้โดยที่จิตไม่ต้องสงบถึงขั้นฌานจิต

    ขอเล่าถึงการสนทนากับท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ซึ่งท่านบอกว่า ครั้งหนึ่งท่านอยากทำสมถภาวนา ก็ได้เรียนถามท่านว่า ท่านจะทำสมถภาวนาโดยใช้อารมณ์อะไร ท่านก็เล่าให้ฟังว่า ตอนแรกท่านคิดที่จะใช้ปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ แต่ว่ายุ่งยาก เพราะจะต้องไปหาดินสีอรุณมาเพ่ง และจะต้องมาทำเป็นกสิณ ท่านจึงดูพระอาทิตย์ เพราะว่าสะดวก แต่ในขณะที่ท่านดูพระอาทิตย์ ท่านก็เห็นแสงของพระอาทิตย์สวยดี เพราะฉะนั้น ก็ได้ทักท้วงท่านผู้นั้นทันทีว่า ขณะที่ใช้แสงพระอาทิตย์เป็นกสิณ คือวัณณกสิณและเกิดความรู้สึกว่า แสงอาทิตย์ยามรุ่งอรุณนั้นสวยดี ขณะนั้น จิตสงบหรือเปล่า ในเมื่อใช้คำว่า สวยดี ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ขณะนั้นต้องเป็น จิตที่ยินดีพอใจในสีที่สวยนั้น

    ตอนหลังเมื่อท่านผู้นั้นเข้าใจเรื่องสมถภาวนา ท่านก็กล่าวว่า เวลาที่ท่าน ดูพระอาทิตย์ ท่านไม่สามารถรู้ได้ว่าจิตที่สงบเป็นอย่างไร ซึ่งตามความเป็นจริง เหตุที่ท่านไม่สามารถรู้ได้ว่าจิตที่สงบเป็นอย่างไร ก็เพราะว่าในขณะนั้นจิตไม่สงบ

    ผู้ที่สามารถรู้ลักษณะของจิตที่สงบ ก็ต่อเมื่อจิตที่สงบเกิดขึ้น ขณะใดที่ กุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นสงบ และถ้าเป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เริ่มที่จะพิจารณาสภาพของจิตที่ต่างๆ กัน ก็จะรู้ได้ว่า จิตขณะที่เป็นกุศลสงบ จากขณะที่จิตเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีความติด มีความชอบ มีความพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้จะคิดว่าตนเองกำลังเจริญสมถภาวนา กำลังดูสีของแสงพระอาทิตย์เป็นอารมณ์ แต่ถ้าขณะนั้นกุศลจิตไม่เกิด ความสงบไม่มี ผู้นั้นก็กล่าวว่า ไม่สามารถรู้ได้ว่า จิตที่สงบเป็นอย่างไร

    และภายหลังเมื่อท่านผู้นั้นเข้าใจเรื่องการเจริญสมถภาวนาแล้ว ท่านก็ได้เล่าต่อไปว่า ตามปกติท่านขึ้นรถประจำทาง ซึ่งเป็นระยะทางที่ไกล เวลาที่ท่านเห็น เด็กนักเรียนบ้าง หรือคนที่มีอายุแล้วบ้าง ท่านก็หลับตา จะได้ไม่ต้องลุกให้เด็กหรือ คนที่มีอายุแล้วนั่ง แต่ภายหลังท่านเกิดเมตตา ท่านก็ถือกระเป๋าของเด็กบ้าง หรือให้ที่นั่งแก่ผู้ที่ควรจะให้บ้าง ขณะนั้นท่านสามารถรู้ลักษณะของจิตที่ประกอบด้วยเมตตาว่า ต่างกับขณะที่ท่านไม่มีเมตตาเลย เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดมีสติสัมปชัญญะ จะพิจารณาลักษณะสภาพของจิตที่สงบเป็นกุศล ย่อมรู้ความต่างกันของขณะที่เป็นกุศลจิตซึ่งสงบกับขณะที่เป็นอกุศล



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๗ ตอนที่ ๑๘๖๑ – ๑๘๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 104
    28 ธ.ค. 2564