แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1862


    ครั้งที่ ๑๘๖๒


    สาระสำคัญ

    เรื่องของบารมีทั้งหมด ต้องเป็นเรื่องของปัญญา

    อบรมเจริญสติปัฏฐานพร้อมทั้งบารมี

    สัจจะ คือ ความจริงใจ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒


    บางท่านก็สงสัยว่า ทำไมบารมีจึงจำเป็นต้องอบรมพร้อมๆ กับการเจริญ สติปัฏฐาน ก็เพราะเหตุว่าชีวิตประจำวันสติปัฏฐานไม่ได้เกิดตลอดเวลา ทุกท่านที่เข้าใจเรื่องการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ว่า สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏและปัญญาจะค่อยๆ พิจารณาสังเกตจนกว่าจะรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนเพราะว่าเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม คือ เป็นสภาพรู้หรือเป็นสภาพ ที่ไม่ใช่สภาพรู้ แต่เมื่อสติปัฏฐานไม่สามารถเกิดได้ตลอดเวลา การอบรมเจริญ สติปัฏฐานก็ดี การฟังพระธรรม การเข้าใจหนทางเท่าที่ได้สะสมมาแล้ว ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้สติขั้นอื่นซึ่งไม่ใช่สติปัฏฐานเกิด และสติขั้นอื่นนั้นก็ได้แก่บารมีทั้งหลายนั่นเอง

    แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มุ่งหวังจะเจริญแต่เฉพาะสติปัฏฐานโดยไม่เห็นว่า ต้องเจริญบารมีด้วยนั้น เข้าใจผิด เพราะว่าสติปัฏฐานเจริญตลอดเวลาไม่ได้ แต่เพราะเจริญสติปัฏฐานมาก่อนจึงทำให้สติขั้นอื่นสามารถเกิดระลึกรู้สภาพธรรม ในขณะที่เป็นอกุศล และรู้ว่าแม้สติปัฏฐานไม่เกิดในขณะนั้น กุศลจิตขั้นอื่นก็เกิดได้ ทุกบารมี

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิจารณาทุกบารมี ไม่ว่าจะเป็นทานบารมี หรือศีลบารมี เนกขัมมบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี จะเห็นได้ว่า ต้องเป็นสติที่เกิดอย่างละเอียดจึงสามารถรู้ได้ว่า แม้ทานขณะนั้นเป็นบารมีหรือเปล่า หรือยังมีความต้องการด้วยความเป็นตัวตนในผลของทาน ซึ่งผู้ที่ยังมีกิเลสและไม่ใช่ผู้ละเอียดเวลาที่มีการให้แต่ละครั้งอาจจะไม่ได้พิจารณาว่า ขณะนั้นหวังอะไรหรือเปล่า ถ้าหวัง ทาน การให้ในขณะนั้นไม่ใช่บารมี แม้ศีลก็ดี หรือเนกขัมมะก็ดี โดยเฉพาะสำหรับเนกขัมมะ ต้องเป็นการออกจากกิเลส ไม่ใช่ เป็นการไปสู่ป่าด้วยความไม่รู้

    และถ้าพิจารณาดูชีวิตของผู้ที่เป็นบรรพชิต ซึ่งเป็นนักบวชในศาสนาต่างๆ หรือแม้แต่ในพระพุทธศาสนา ก็จะเห็นได้ว่า ถ้ามีการออกจากเรือนไปสู่ป่า หรือแม้แต่คฤหัสถ์ ถ้ามีการชักชวนให้ออกจากเรือนไปสู่สำนักหนึ่งสำนักใด หรือไปสู่ป่า ก็จะต้องพิจารณาว่า ถ้าไปโดยไม่มีปัญญา ไม่มีความเข้าใจถูกต้องในมรรคมีองค์ ๘ การไปนั้นก็ไม่ใช่บารมี

    เรื่องของบารมีทั้งหมดต้องเป็นเรื่องของปัญญาทั้งสิ้น การกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดแม้แต่การไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใดด้วยความไม่รู้จะเป็นบารมีไม่ได้ เพราะฉะนั้น มีหลักที่จะพิจารณาได้ว่า กุศลขณะใดเป็นบารมี และขณะใดไม่เป็นบารมี

    และบารมีในวันหนึ่งๆ ทุกท่านจะเห็นได้ว่า ถ้าขณะใดไม่สามารถเกิดเมตตา ขณะนั้นก็รู้ได้ว่าเพราะอะไร ก็เพราะว่าสติปัฏฐานที่เจริญมานั้นยังน้อย ยังไม่มีกำลัง ยังไม่สามารถทำให้เมื่อโกรธหรือไม่พอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด สติไม่สามารถระลึกได้ที่จะ รู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล แต่ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญบารมีคือสติปัฏฐานมาแล้ว ขณะที่ มีความโกรธขุ่นเคืองใจเกิดขึ้น สติจะเกิดทัน และละเอียดพอที่จะเห็นโทษของอกุศล ในขณะนั้น

    บารมีทุกบารมีจะขาดสติอย่างละเอียดไม่ได้ และสติอย่างละเอียดนั้น มาจากไหน ก็ต้องมาจากการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน และเมื่อสติปัฏฐานไม่สามารถเกิดได้ตลอดเวลา เพราะว่าไม่มีปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิด แต่ขณะที่ อกุศลจิตเกิด การสะสมสติปัฏฐานมาแล้วก็เป็นปัจจัยให้สติขั้นอื่นเกิดระลึกได้

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ แม้สติปัฏฐานจะเกิดน้อย ก็ขอให้พิจารณาต่อไปว่า กุศลอื่นๆ เกิดน้อยด้วยหรือเปล่า หรือน้อยทั้งหมด ถ้าน้อยทั้งหมดก็หมายความว่า ต้องอบรมเจริญสติปัฏฐานพร้อมทั้งบารมี เป็นจิรกาลภาวนา คือ ต้องอาศัยกาลเวลาต่อไปอีกนานจึงจะรู้ว่าทั้งสติปัฏฐานก็ค่อยๆ เจริญขึ้น และบารมีอื่นๆ ซึ่งก็คือ สติอย่างละเอียดนั่นเองเกิดขึ้นเป็นไป แม้ว่าไม่ใช่ขั้นสติปัฏฐาน

    ชีวิตประจำวันจริงๆ เป็นเรื่องของการอบรมเจริญบารมี และสติปัฏฐานทั้งสิ้น

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน และท่านก็เป็นผู้ที่ มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน แต่ก็เหมือนทุกท่าน คือ สติปัฏฐานไม่ได้เกิดมากเลย ในวันหนึ่งๆ และท่านก็รู้อัธยาศัยของตนเองตามความเป็นจริง ซึ่งท่านมีการสะสมมาที่จะพอใจในการหัดเต้นรำแบบพื้นเมืองของชาวยุโรป นี่เป็นสิ่งธรรมดา ไม่แปลกเลย เพราะแต่ละคนก็มีฉันทะ อัธยาศัยต่างๆ กัน

    และในขณะที่ท่านกำลังฝึกซ้อมการเต้นรำแบบนั้นอยู่ ท่านก็ระลึกได้ว่า การติดข้อง ความชอบ ความพอใจ ในการเต้นรำแบบพื้นเมืองของชาวยุโรปอย่างนี้ ไม่ใช่เพียงแต่ความติดข้อง ชอบในการเต้นรำ ในการดู หรือในการอยากจะเต้นเท่านั้น แต่ขณะนั้นยังมีการติดข้องอีกหลายอย่าง คือ ในขณะที่ท่านกำลังฝึกซ้อมอยู่นั้น ท่านเห็นความติดข้องพอใจในเสียงดนตรีด้วยว่า ต้องมีความพอใจในเสียงเพลง และต้องมีความพอใจในจังหวะต่างๆ ของดนตรี เพราะว่าเพลงหนึ่งๆ ก็มีหลายจังหวะ นอกจากนั้น ก็ยังมีความพอใจในลีลาการเคลื่อนไหวของร่างกายทุกส่วน ทั้งการ ตบเท้า ตบมือ หมุนตัว โยกตัว ทอดสายตาไปตามมือ เป็นต้น

    แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นผู้ที่มีสติ ก็ย่อมรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง และ เห็นความละเอียดของแม้ขณะที่ทุกท่านอาจจะเต้นรำไปด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่บางท่านก็ยังเกิดระลึกได้ถึงความติดว่า ความติดข้องในขณะนั้น มีมากมายหลายทาง ทั้งในเสียงเพลง ทั้งในจังหวะดนตรี ทั้งในการเคลื่อนไหวของร่างกาย เพราะฉะนั้น กว่าสติปัฏฐานจะเจริญ และกว่าบารมีทั้งหลายจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น เป็นจิรกาลภาวนา ท่านผู้นั้นก็พิจารณาว่า การอบรมบารมีไม่ใช่สิ่งที่ง่ายเลย เพราะทั้งๆ ที่รู้ว่าบารมีทั้งหลายมีประโยชน์ แต่วันหนึ่งๆ ก็ไม่ใช่เรื่องของบารมี เสียมากมาย ซึ่งก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า ไม่มีใครสามารถไปฝืนหรือบังคับสภาพธรรมได้ แต่สติปัฏฐานสามารถเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลได้

    เพราะฉะนั้น แม้แต่ขณะที่กำลังเต้นรำแบบพื้นเมืองของชาวยุโรป หรือจะทำอะไร ที่ไหน อย่างไรก็ตาม ถ้าสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมและพิจารณา โดยรู้ว่าเป็นรูปธรรมหรือเป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ใช่ว่าจะต้องจำกัดชีวิตให้ไม่รื่นเริง ไม่สนุกสนาน ไม่ใช่ตัวเอง ทั้งๆ ที่พอใจเหลือเกินที่จะเพลิดเพลินไปทางหนึ่งทางใด แต่แม้มีปัจจัยที่จะสนุกสนานเพลิดเพลิน สติปัฏฐานก็ยังสามารถเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะใด ขณะนั้นก็เป็นหนทางสายกลาง เพราะไม่ใช่ตัวตนที่กำลังระลึก ที่กำลังพิจารณารู้ลักษณะของ สภาพธรรม แต่เป็นหนทางที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมทุกอย่างในขณะนั้น และรู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงนามธรรม หรือรูปธรรม ก่อนที่จะละคลายความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

    นี่เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง มิฉะนั้นแล้วไม่มีทางที่จะอบรมเจริญ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นทางสายกลาง

    . อธิษฐานบารมี และสัจจบารมี มีความแตกต่างกันอย่างไร

    สุ. สัจจะ คือ ความจริงใจ ไม่หลอกลวงตัวเองและบุคคลอื่น ต้องเป็นความจริงใจ เป็นสัจจะ เป็นความจริง ท่านที่ศึกษาพระธรรมมีความจริงใจที่จะศึกษาเพื่อเข้าใจพระธรรม นั่นเป็นสัจจะ เป็นความจริงใจ แต่ถ้าศึกษาเพื่อเหตุอื่น คือ เพื่อลาภ เพื่อยศ เพื่อสรรเสริญ หรือเพื่อสักการะ ขณะนั้นไม่ใช่ความจริงใจ ในการศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้น ไม่เป็นสัจจบารมี

    ทุกท่านที่ศึกษาพระธรรมควรพิจารณาจุดประสงค์จริงๆ ของการศึกษาว่า มีความจริงใจต่อการที่จะเข้าใจพระธรรมเพื่อขัดเกลากิเลส เพื่ออบรมเจริญปัญญา ที่จะละกิเลสได้เป็นสมุจเฉทเท่านั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น นี่คือสัจจบารมี

    ถ้าเป็นบารมี หมายความว่า ต้องเพื่อให้ถึงฝั่ง คือ การดับกิเลส และเมื่อมี สัจจบารมีแล้ว ก็มีความมั่นคง คือ อธิษฐานบารมี ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมีสักการะ ก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่ติดในสักการะ แต่รู้ว่าจุดประสงค์ของการศึกษาว่า เพื่อละความเป็นตัวตน ไม่ใช่เพิ่มความเป็นตัวตนเพราะมีผู้สักการะ จึงจะเป็นผู้มั่นคง ไม่หวั่นไหวในสัจจะ ในความจริงใจ

    . อธิษฐาน คือ มีการที่จะกระทำ และมีความมั่นคงแน่วแน่ในขณะที่ รู้ตัวเองตามความเป็นจริงอย่างนั้น ไม่หวั่นไหวในกรณีที่ทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว สัจจะ คือ ความตรงต่อตัวเอง เช่น ลักษณะของสติปัฏฐาน หรือธรรมต่างๆ ที่เริ่มมีความรู้เกิดขึ้น ก็รู้ตรงว่า ตัวเองรู้แค่ไหน เจริญอย่างไร และขัดเกลากิเลสอย่างไร ก็ตรงต่อตัวเองและธรรมนั้นๆ ก็เป็นสัจจบารมี ใช่ไหม

    สุ. เป็นผู้ที่จริงใจ

    . จริงใจที่จะเจริญธรรมนั้นๆ

    สุ. ที่จะประพฤติปฏิบัติตามด้วย ไม่ใช่ว่าโกรธแล้วก็ไม่รู้สึกตัว ไม่ยอมที่จะมีเมตตา และยังคงจะโกรธต่อไป แต่ถ้านึกขึ้นมาได้ขณะใด ขณะนั้นสามารถที่จะเป็นสัจจบารมีได้ตรงที่ว่า ศึกษาธรรมเพื่อละความโกรธ เห็นโทษของความโกรธ เห็นประโยชน์ของเมตตาบารมี ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ ไม่สามารถเจริญต่อไปได้ เพราะเหตุว่าศึกษาทำไม ทุกท่านศึกษาทำไม เมื่อความโกรธเกิดขึ้น ความโกรธ มีปัจจัยก็เกิด แต่สติอย่างละเอียดพิจารณาได้ไหมว่าไม่มีประโยชน์ ความโกรธไม่มีประโยชน์กับใครเลย การรังเกียจในกายวาจาของบุคคลอื่นก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าสติไม่เกิดอย่างละเอียดก็จะไม่เห็นว่า กายวาจาของบุคคลอื่นซึ่งทำให้เกิดความ ไม่พอใจขึ้นนั้น ไม่ใช่เหตุอันแท้จริงที่จะทำให้อกุศลจิตเกิด แต่เหตุอันแท้จริง คือ การสะสมอกุศลของตนเองและไม่เห็นโทษของอกุศล ไม่จริงใจที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ถ้าจริงใจที่จะประพฤติปฏิบัติตาม สละความโกรธทันทีได้ และเมตตาก็เกิดได้ทันที

    แต่ถ้ายังไม่เป็นอย่างนี้ ก็จะมีความโกรธ และไม่สามารถขจัดความโกรธหรือบรรเทาความโกรธนั้นได้ เพราะฉะนั้น เมตตาบารมีก็ไม่มีทางเจริญได้

    . เพราะฉะนั้น การเจริญบารมี จึงเป็นปัจจัยให้ถึงฝั่งพระนิพพานโดยตรง

    สุ. เพราะสติปัฏฐานไม่เกิด แต่สติขั้นอื่นเกิดได้

    . และน้อมไปเพื่อการขัดเกลาจริงๆ จนกว่าสติปัฏฐานจะมีกำลัง

    สุ. เพราะฉะนั้น การที่แต่ละท่านมีความละเอียดในการที่กุศลจิตจะเกิด แสดงว่าเป็นผู้ที่สะสมสติปัฏฐานมากกว่าผู้ที่ไม่สามารถระลึกได้ เพราะว่าทุกคนก็โกรธ แต่มีใครบ้างที่จะให้อภัย และมีใครบ้างที่จะเห็นโทษของอกุศล แม้แต่เพียงการรังเกียจในกายวาจาของบุคคลอื่นก็เป็นอกุศลแล้ว แทนที่จะเป็นมิตร เพราะถ้าเป็นมิตร ต้องเป็นไมตรี ไม่มีความรังเกียจ แม้ว่าบุคคลนั้นจะมีกายวาจาที่ไม่น่าพอใจ ต้องเป็นผู้ที่มั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าบุคคลอื่นจะแสดงกิริยาอาการอย่างไรก็ตาม ผู้นั้นก็ยังเห็นประโยชน์ของเมตตาบารมี

    . ในวันหนึ่งๆ เราอาจจะได้เจริญบารมีบ้างแล้ว แต่ไม่สามารถรู้ได้ เนื่องจากการที่จะรู้ว่าขณะไหนเป็นบารมีนั้น จะต้องเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    สุ. และเป็นในขณะที่กำลังเห็นโทษของอกุศลจริงๆ และเห็นประโยชน์ ของกุศลด้วย อย่างที่ว่ากำลังโกรธ มีเหตุที่จะทำให้โกรธหรือไม่พอใจ ถ้าสติที่เป็นเมตตาบารมีเกิด หรือเป็นอภัยทาน เป็นทานบารมีเกิด หรือเป็นศีลบารมี คือ สามารถสงบกายวาจา ไม่แสดงการล่วงกายทุจริต วาจาทุจริต ในขณะนั้นก็เป็น ขันติบารมี และในขณะนั้นก็รู้ด้วยว่า เป็นโทษถ้าอกุศลนี้เจริญ ขณะที่กำลังเป็น อย่างนั้นต้องเป็นบารมี ไม่ใช่เรื่องที่ว่าทำอย่างไรจึงจะไม่โกรธ เพราะว่าไม่ชอบเลย เวลาโกรธนี่ไม่สบายใจ นั่นก็แสดงให้เห็นว่า เป็นตัวเราที่อยากจะสบาย ไม่อยากให้มีความรู้สึกขุ่นเคืองใจ นั่นคือความรักตัว ไม่อยากให้มีโทมนัสเวทนา คือ เวทนาที่ ไม่สบาย ซึ่งนั่นไม่ใช่บารมี บารมีต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลจริงๆ และเห็นประโยชน์ของกุศล และ รู้ด้วยว่า ขณะที่สละอกุศลนั้นเพราะเห็นโทษ ขณะนั้นก็เป็นบารมี

    . ถ้าไม่สละอกุศล ไม่เห็นโทษ การอบรมเจริญปัญญาจนถึงพระนิพพานก็ไม่มีเหตุให้ถึงได้

    สุ. เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าการอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรมเพื่อการเป็นพระโสดาบันบุคคล และเมื่อเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้วเหลืออีกเพียง ๗ ชาติเท่านั้นก็จะเป็นพระอรหันต์ หมายความว่ากิเลสทั้งหมดดับไม่เหลือเลย จากการบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันดับทิฏฐิทั้งหมดไม่เกิดอีกเลย ดับวิจิกิจฉา ความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไม่เกิดอีกเลย และเมื่อเป็น พระโสดาบันแล้วก็เหลืออีกเพียง ๗ ชาติ แต่ถ้ายังคงเป็นผู้ที่ไม่มีบารมีเลย ทำอย่างไรกิเลสที่ยังเหลืออยู่จากการเป็นพระโสดาบันจะดับได้เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเพื่อเป็น พระโสดาบัน ให้ทราบว่า ไม่ใช่เพียงเพื่อความเป็นพระโสดาบันเท่านั้น แต่ให้ถึง ความเป็นพระอรหันต์ด้วย เพราะว่าหลังจากนั้นอีก ๗ ชาติต้องเป็นพระอรหันต์

    กิเลสมีมากมายเหลือเกิน ถ้าไม่อาศัยบารมีต่างๆ ไม่มีทางที่จะรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันเพื่ออีก ๗ ชาติจะเป็นพระอรหันต์ เพราะแม้แต่ ผู้ที่มีปัญญาขั้นพระอัครสาวก คือ ท่านพระสารีบุตร ท่านก็บำเพ็ญบารมีมา ๑ อสงไขยแสนกัปเพื่อที่จะเป็นพระโสดาบัน แต่หลังจากนั้นแล้วเพราะบารมีที่ท่าน ได้สะสมมาทำให้ท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ๑๕ วัน หลังจากได้เป็นพระโสดาบัน

    . พระอริยสาวกทุกองค์สังเกตจากการบำเพ็ญบารมี ถ้าหากเป็นผู้ที่บำเพ็ญบารมีมานาน ผลจากบารมีที่บำเพ็ญไว้ คือ ความแตกฉานต่างกัน เช่น ท่านพระสารีบุตร ท่านใช้เวลานานกว่าพระสาวกรูปอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นพระสาวกผู้เลิศทางเบื้องขวา เบื้องซ้าย นี่เป็นเหตุเป็นผลที่ตรงกันในการเจริญธรรม ตามที่เข้าใจ รู้สึกว่าเป็นเรื่องของเหตุและผลทั้งนั้นเลย

    สุ. ใช่ เหตุกับผลต้องตรงกันเสมอ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๗ ตอนที่ ๑๘๖๑ – ๑๘๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 104
    28 ธ.ค. 2564