แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1821


    ครั้งที่ ๑๘๒๑


    สาระสำคัญ

    สภาพธรรมทั้งหมดไม่ใช่ตัวตน

    มโนรถปุรณี อรรถกถา องฺ ติ. นิทานสูตร - กรรมและผลของกรรม และ อโหสิกรรม

    ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุ. สุ. หิริสูตรที่ ๓ - ดาบสทูลถามปัญหา ๔ ข้อ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๓๑


    พระ ถ้าเป็นอาตมา ฟังแล้วสติปัฏฐานไม่เกิด และตาย ยังดีกว่า ฟังแล้วไปปฏิบัติสิ่งที่ยังไม่รู้เรื่อง ไปปฏิบัติผิดก่อนตาย เพราะว่าความเข้าใจ ในขั้นการฟัง ถ้าเข้าใจจริงๆ สติก็เกิดได้ แต่ถ้าเข้าใจในขั้นที่สติยังเริ่มเกิดไม่ได้ หรือ เป็นกุศลขั้นอื่น ก็รู้น้ำหนักอย่างที่โยมอาจารย์ว่า คือ หิริในกุศลขั้นทาน ขั้นศีล เดี๋ยวนี้เรียบร้อยบริบูรณ์ดีไหม จนกระทั่งมีกำลัง จนกระทั่งเข้าใจสติปัฏฐาน สติก็เกิดเองได้ และถ้าบุคคลนั้นสังเกตตัวเองจะรู้ว่ามีสติขั้นอื่นเกิดบ้างแล้ว แต่ไปหวัง ขั้นสูงๆ อีก เพราะฉะนั้น ดีแล้วที่ไม่ยังรีบปฏิบัติสิ่งที่ยังไม่แน่ใจ เพราะถ้าปฏิบัติ ก็ต้องปฏิบัติผิด

    สุ. การฟังพระธรรม เป็นการฟังเรื่องของตัวเอง ของสภาพธรรมที่เกิดกับตนเองว่า ขณะไหน วันไหน โลภะมาก หรือโทสะมาก มีเรื่องวุ่นวายขัดเคืองใจมาก เป็นพักๆ ใช่ไหม บางครั้งเป็นเรื่องของความสุขสำราญ เป็นเรื่องของโลภมูลจิต บางครั้งเป็นเรื่องของความกังวล ความรำคาญใจ ความหงุดหงิดใจ ความ เดือดร้อนใจ นั่นก็เป็นเรื่องของโทสมูลจิต แต่ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาโดย ได้ฟังพระธรรมมาก และรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหมดไม่ใช่ตัวตน ก็ยังเป็นโอกาสที่หิริโอตตัปปะจะเกิดและระลึกได้ว่า ไร้สาระ

    สิ่งใดที่เป็นอกุศลที่เกิดแล้ว ก็ผ่านไปแล้ว เพราะฉะนั้น ตั้งต้นเสียใหม่ ถ้าคิดอย่างนี้ได้จะปลอดโปร่งใจมากทีเดียว จะละคลายความกังวลที่เป็นอกุศล ที่สืบต่อมาอาจจะเป็นแรมวัน แรมเดือน หรือบางคนอาจจะเป็นแรมปี ถ้าคิดไม่ได้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมที่คิด

    ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ ก็เป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของกุศล และได้รับประโยชน์จาก การฟังพระธรรม

    ท่านผู้ฟังได้ยินคำว่า อโหสิ บ่อยๆ ใช่ไหม

    ทุกคนจะต้องเกี่ยวข้องกัน และเวลาที่เกี่ยวข้องกันก็มีการกระทำต่อกัน ในลักษณะที่ทำให้ขุ่นเคืองใจ ไม่มีใครสามารถที่จะไม่โกรธใครหรือไม่มีวันโกรธใคร ได้เลย เพราะแม้แต่คนที่ท่านเคารพนับถือ บางครั้ง บางวัน บางขณะท่านก็มีความรู้สึกไม่พอใจหรือว่าขุ่นเคือง หรือไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ควรจะได้ทราบคำที่ใช้กันบ่อยๆ ในภาษาไทย ที่ใช้คำว่า อโหสิ ส่วนมากที่ใช้กันก็คิดว่า เป็นการเลิกแล้วต่อกัน หรือเลิกล้างกรรมที่ได้กระทำนั้น ไม่ให้ผูกเวรกันต่อไป

    อโหสิ หมายความถึงได้กระทำแล้ว

    อโหสิกรรม คือ กรรมที่ได้กระทำแล้ว

    มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ วรรคที่ ๔ นิทานสูตร ข้อ ๔๗๓ ได้แสดงเรื่องกรรมและผลของกรรมไว้ทั้งโดย นัยของพระสูตรและพระอภิธรรม และมีข้อความเรื่องอโหสิกรรม คือ กรรมที่ได้มีแล้ว ซึ่งเป็นข้อความที่ท่านพระสารีบุตรได้แสดงโดยปริยายแห่งปฏิสัมภิทามรรค ซึ่งได้เคยกล่าวถึงแล้ว แต่เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้ทบทวนและได้ระลึกรู้ว่า อโหสิกรรมจริงๆ คือ ผู้ที่เข้าใจเรื่องของกรรมที่ได้ทำแล้ว และเกิดสติหิริโอตตัปปะระลึกรู้ว่าเป็นอกุศล

    ขณะที่รู้ว่าเป็นอกุศล ก็ละอายด้วย รังเกียจด้วย ไม่ใช่รู้ว่าเป็นอกุศลก็แล้วไป แต่เมื่อรู้ว่าเป็นอกุศล ก็เกิดความรังเกียจละอายในอกุศลนั้น และกุศลต่อไปก็คือว่า จะไม่ทำอย่างนั้นอีก ไม่ใช่ว่าไปอโหสิกันเฉยๆ

    มโนรถปูรณี มีข้อความที่กล่าวถึงอโหสิกรรมว่า หมายถึงกรรมที่ได้มีแล้ว ซึ่งท่านผู้รู้คือท่านอาจารย์สมพรได้กรุณาอธิบายว่า ถ้าพยัญชนะ อ อยู่ข้างหน้ากิริยา แปลว่า ได้ แต่ถ้าอยู่ข้างหน้าคำนามแปลว่า ไม่

    โหสิ แปลว่า มีแล้ว เพราะฉะนั้น อโหสิ แปลว่า ได้มีแล้ว และอโหสิกรรม คือ กรรมนั้นได้มีแล้ว

    กรรมที่ได้ทำไปแล้ว สำเร็จไปแล้ว ไม่ว่าจะกี่ชาติก็ตาม ต้องพิจารณาว่า กรรมนั้นๆ จะให้ผลหรือไม่ให้ผลในชาติไหน

    อโหสิกรรมประเภทที่ ๑

    อโหสิ กัมมัง อโหสิ กัมมวิปาโก

    กรรมได้มีแล้ว ผลของกรรมได้มีแล้ว

    เวลาที่อ่านชาดกต่างๆ จะเห็นได้ว่า ในครั้งอดีตท่านพระเถระต่างๆ ท่านได้กระทำกรรมนั้นๆ แล้ว และท่านก็ได้รับผลของกรรมนั้นๆ แล้ว

    ขณะนี้ ชาตินี้ ทุกท่านกำลังนั่งอยู่ที่นี่ กรรมในอดีตที่ได้กระทำแล้วในชาติ ก่อนๆ ให้ผลไปแล้วในชาติก่อนๆ ก็มี ไม่ใช่ว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วจะไม่ให้ผล

    อโหสิกรรมประเภทที่ ๒

    อโหสิ กัมมัง นาโหสิ กัมมวิปาโก

    กรรมมีแล้ว ผลของกรรมไม่ได้มีแล้ว

    หมายถึงกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วในชาติก่อน แต่ไม่ได้ให้ผลในชาติก่อน คือกรรมที่ได้กระทำแล้ว กรรมมีแล้ว แต่ผลของกรรมไม่ได้มีแล้ว

    กรรมที่ว่าทำแล้ว แต่ผลของกรรมไม่ได้มีแล้ว ตัวอย่างคือ ในชวนวิถีจิต ๗ ขณะ ชวนวิถีจิตขณะแรกเป็นทิฏฐธัมมเวทนียกรรม คือ กรรมที่จะให้ผลในชาติที่กระทำกรรมนั้น ถ้าไม่ได้ให้ผลในชาติที่กระทำกรรมนั้น ก็จะไม่ให้ผลเลย เพราะฉะนั้น ผลของกรรมนั้น ไม่ได้มีแล้วในชาตินั้นที่ได้ทำกรรมนั้น

    อโหสิกรรมประเภทที่ ๓

    อโหสิ กัมมัง อัตถิ กัมมวิปาโก

    กรรมมีแล้ว ผลของกรรมมีอยู่

    คือ กรรมที่ทำแล้วในชาติก่อน ปัจจุบันนี้ที่ทุกท่านเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง กระทบสัมผัสสิ่งต่างๆ บ้าง ท่านไม่มีโอกาสจะรู้เลยว่า กรรมได้มีแล้ว และผลของกรรมมีอยู่ คือ ในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่กระทบสัมผัสขณะนี้เอง เช่น แข็ง กำลังกระทบ กำลังปรากฏ นี่คือผลของกรรมมีอยู่ คือ กายวิญญาณเกิดขึ้นเป็นผลของกรรม รู้โผฏฐัพพารมณ์ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แต่ไม่สามารถทราบว่าเป็นผลของกรรมอะไร แต่ผลของกรรมต้องมีในขณะนี้เพราะกำลังรู้สิ่งที่แข็งทางกาย และเป็นเพราะว่า กรรมได้มีแล้ว คือ ได้กระทำแล้ว จึงทำให้กายวิญญาณเกิดขึ้นรู้โผฏฐัพพารมณ์ ในขณะนี้

    อโหสิกรรมประเภทที่ ๔

    อโหสิ กัมมัง นัตถิ กัมมวิปาโก

    กรรมได้มีแล้ว ผลของกรรมไม่มีอยู่

    กรรมทำแล้วก็จริงในชาติก่อน แต่ยังไม่ได้ให้ผลในชาตินี้ เพราะฉะนั้น กรรม ได้มีแล้ว แต่ผลของกรรมไม่มีอยู่ในชาตินี้ อย่างผู้ที่ได้กระทำกุศลกรรมไว้มากในอดีต และปัจจุบันเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เพราะฉะนั้น กรรม คือ กุศลกรรมได้มีแล้ว แต่ ผลของกุศลกรรมที่ควรจะมีก็ไม่มี คือ ไม่ได้รับในชาติซึ่งเกิดในอบายภูมิ ไม่ว่าจะ เกิดในนรก หรือเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์ดิรัจฉาน

    อโหสิกรรมประเภทที่ ๕

    อโหสิ กัมมัง ภวิสสติ กัมมวิปาโก

    กรรมได้มีแล้ว ผลของกรรมจักมี

    แม้ว่ายังไม่ได้รับผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว แต่ก็จักได้รับ

    อโหสิกรรมประเภทที่ ๖

    อโหสิ กัมมัง น ภวิสสติ กัมมวิปาโก

    กรรมได้มีแล้ว ผลของกรรมจักไม่มี

    ผู้ที่เป็นพระอรหันต์กระทำกรรมไว้ในอดีตมากมาย แต่เมื่อปรินิพพานแล้ว กรรมนั้นก็ให้ผลไม่ได้ เพราะว่าปฏิสนธิไม่เกิด เพราะฉะนั้น ไม่มีทางได้รับผลของกรรม แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ เมื่อนึกถึงกรรมที่กระทำแล้วและรู้ว่า เป็นกรรมที่ได้กระทำแล้ว สำเร็จแล้ว เป็นอโหสิกรรม ก็ไม่ต้องคำนึงว่าผลนั้นจะ มาเมื่อไร ในรูปลักษณะอย่างใด เพียงแต่ถ้าระลึกได้จริงๆ ว่า ได้กระทำอกุศลกรรมแล้ว ก็เกิดหิริโอตตัปปะ ไม่ใช่ไปอโหสิลบล้างกับคนอื่น แต่ระลึกรู้ว่า อกุศลเป็นสิ่งที่ควรขัดเกลาให้เบาบาง โดยเจริญกุศลยิ่งขึ้น

    ใครก็ตามที่ทำผิด มีไหม หรือทุกคนต้องทำถูกทั้งนั้น กายบ้าง วาจาบ้าง ไม่ว่าจะมากหรือจะน้อยก็ตาม ถ้าทำผิดแล้วไม่รู้ว่าผิด ขณะนั้นหิริโอตตัปปะก็ไม่เกิด แต่ถ้าทำผิดแล้วรู้ว่าผิด ที่รู้ว่าผิดนั้นคือหิริและโอตตัปปะเกิดจึงรู้ว่าผิด ถ้าผู้นั้นรู้ว่า ผิด และมีหิริโอตตัปปะที่จะแก้ไขหรือขัดเกลาอกุศลของตนเอง วันหนึ่งจะทำให้ความละอายต่ออกุศลเพิ่มขึ้นได้ และจะเห็นได้จริงๆ ว่า การเป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้ละอาย ต่ออกุศลนั้นไม่ง่ายเลย แต่สำหรับบางท่านที่ได้ขัดเกลามามากแล้วก็ง่าย เพราะว่า ท่านได้สะสมอบรมมาที่จะเป็นผู้ตรงที่รู้ว่า ขณะใดเป็นสิ่งที่ผิด และขณะใดเป็นสิ่งที่ถูก

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโทษของผู้ไม่มีหิริ ไม่มีความละอายในอกุศลว่า เป็นมิตรที่ไม่ควรคบ

    ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต จูฬวรรคที่ ๒ หิริสูตรที่ ๓ มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสกับดาบสผู้ไปทูลถามปัญหา ๔ ข้อ เพื่อเป็น ธรรมบรรณาการแก่พระองค์ เพราะดาบสนั้นคิดว่า การที่จะไปสู่สำนักของ พระผู้มีพระภาคอย่างเปล่าๆ นั้นหาควรไม่ และคิดว่าควรจะนำสิ่งใดไป เมื่อพิจารณาแล้วก็เห็นว่า ธรรมดาว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายหาทรงหนักในอามิสไม่ เอาเถอะ เราจะนำธรรมบรรณาการไป จึงได้แต่งปัญหา ๔ ข้อ ไปทูลถาม พระผู้มีพระภาค

    แสดงให้เห็นว่า ดาบสนั้นเป็นผู้ที่ฉลาด เพราะรู้ว่าการไปเฝ้า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ไปเปล่าๆ หรือเพื่อเล่นเฉยๆ แต่ควรจะเป็นประโยชน์ และสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุด คือ ปัญหาธรรม มีธรรมเป็นบรรณาการ

    ดาบสนั้นได้แต่งปัญหา ๔ ข้อ ไปทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ๑. มิตรเช่นไรไม่ควรคบ

    ๒. มิตรเช่นไรควรคบ

    ๓. ความพยายามเช่นไรควรประกอบ

    ๔. รสอะไรเลิศกว่ารสทั้งหลาย

    คนเราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ ต้องมีมิตรแน่นอน ซึ่งดาบสนั้นใคร่ที่จะรู้ว่า มิตรประเภทใดมีลักษณะอย่างไรที่ควรคบ และมิตรอย่างไรไม่ควรคบ พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงลักษณะของมิตรที่ไม่ควรคบว่า ได้แก่ ผู้ไม่มีหิริ คือ ผู้ไม่ละอายต่อ อกุศลธรรม

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    คนไม่มีหิริย่อมเกลียดความละอาย ย่อมเห็นราวกับว่าของไม่สะอาด เพราะเหตุนั้น บุคคลจึงไม่คบ คือ ไม่เข้าไปใกล้ชิดซึ่งบุคคลผู้ไม่มีหิรินั้น

    นอกจากนั้นพระองค์ได้ทรงแสดงลักษณะของมิตรเทียม คือ ผู้กล่าวว่า เป็นเพื่อนแม้ชีวิตก็ยอมสละเพื่อมิตรได้ แต่ก็ไม่เอื้อเฟื้อกระทำสิ่งใดเพื่อมิตรนั้นเลย ยิ่งกว่านั้นยังทำความเสื่อมเสียแก่ผู้ที่ตนกล่าวว่าเป็นมิตรอีกด้วย ไม่ทำตามที่พูด และสงเคราะห์ในสิ่งที่หาประโยชน์ไม่ได้ คือ พูดถึงแต่สิ่งที่ล่วงไปแล้วและสิ่งที่ยังมา ไม่ถึง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ผู้ใดหวังแต่ความแตกร้าวเท่านั้น ย่อมแสวงหาซึ่งโทษเท่านั้นอย่างนี้ว่า สิ่งใดก็ตามที่บุคคลกระทำแล้วด้วยไม่มีสติ ด้วยไม่มีมนสิการ หรือว่าไม่ได้กระทำ ด้วยความไม่รู้ บุคคลนั้นจักติเตียนเราเมื่อใด เมื่อนั้นเราจักโต้ตอบเขา ด้วยการกระทำนั้น ดังนี้ มิตรนั้นบุคคลไม่ควรคบ

    คือ เป็นผู้ที่ไม่ให้อภัยมิตร เมื่อมิตรกระทำสิ่งใดที่ผิดพลาด ผู้ที่ไม่ใช่มิตร ก็จะแสวงหาซึ่งโทษนั้น และไม่อภัยให้ แต่สำหรับผู้เป็นมิตรที่ควรคบนั้นก็ตรงกันข้าม คือ

    ก็มิตรใดเมื่อผู้อื่นกล่าวเหตุตั้ง ๑๐๐ อย่าง ๑,๐๐๐ อย่าง ก็ไม่แตกกัน มิตรนั้นแลควรคบ

    เพราะเป็นผู้ที่รู้ใจจริงๆ ของเพื่อนว่าเป็นเพื่อน ไม่ฟังคำของคนอื่น

    วันหนึ่งๆ โลภะ โทสะ เกิดเพราะมิตรมากไหม บุคคลที่คบหาสมาคมกัน ผู้ฉลาดจริงๆ หิริโอตตัปปะเกิด เมื่อรู้จิตของตนเองว่า ในขณะที่กำลังมีเรื่องราวของมิตรที่เกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล

    การที่ไม่คบ ไม่ใช่ไม่ให้เมตตา ยังคงมีเมตตาต่อบุคคลนั้นได้ เพียงแต่ว่า ไม่ใกล้ชิด เพราะจะทำให้เกิดโทษภัยสำหรับผู้นั้นด้วย

    . ถ้าต้องอยู่กับคนที่ไม่มีหิริโอตตัปปะ เราต้องทำอย่างไร

    สุ. มีเมตตา

    . ถ้าเมตตาไม่เกิด

    สุ. เมตตาไม่เกิดก็เป็นอกุศลของเรา คือ คิดถึงอกุศลของเขาจนลืม อกุศลของเรา แต่ถ้าเป็นผู้ฉลาดจริงๆ สติจะเกิดระลึกรู้จิตที่กำลังคิดในขณะนั้นว่า คิดถึงบุคคลนั้นด้วยเมตตาหรือเปล่า

    เขาไม่ดีนั้นเรื่องของเขา ถ้าจิตของเราไม่ดีด้วยในขณะที่คิดถึงเขา ขณะนั้น ก็ไม่ดีทั้งคู่ จิตไม่ดีเป็นเรื่องของเขา แต่ถ้าเรามีเมตตาต่อบุคคลนั้นได้ ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิตของเราที่เห็นโทษว่า ไม่เมตตาขณะใด ขณะนั้นเป็นอกุศล

    ใครไม่ดีนั้นเรื่องของคนอื่นทั้งหมด ถ้าสามารถอนุเคราะห์เกื้อกูลได้ก็ควรทำ แต่ถ้าไม่สามารถอนุเคราะห์เกื้อกูลได้ แม้ว่าจะไม่ใกล้ชิด แต่มีเมตตาได้

    การใกล้ชิดอาจจะทำให้เกิดอกุศลมากมายเพิ่มขึ้น แต่ถ้าไม่ใกล้ชิด เวลาที่ ถึงกาลที่จะอนุเคราะห์ ก็อนุเคราะห์ด้วยเมตตาได้

    สำหรับผู้ที่เจริญเมตตา แม้ว่าผู้ผิดจะไม่ขอโทษ แต่ก็เมตตาได้ แสดงว่า ผู้นั้นเป็นผู้ที่มีปกติอยู่ด้วยเมตตา

    เรื่องของคนอื่นเป็นเรื่องของคนอื่น จะขอโทษหรือไม่ขอโทษ แต่ผู้ที่มีเมตตา ก็ยังมีเมตตาต่อบุคคลนั้นได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๓ ตอนที่ ๑๘๒๑ – ๑๘๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 104
    28 ธ.ค. 2564