แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1822


    ครั้งที่ ๑๘๒๒


    สาระสำคัญ

    คำว่า ภาวนา

    การปฏิบัติธรรมคืออะไร

    ตัณหาทั้ง ๓

    ติเหตุกบุคคลและทวิเหตุกบุคคล


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๓๑


    . จากคำบรรยายทางวิทยุอาทิตย์ที่แล้ว ที่อาจารย์บรรยายว่า โลภะ เป็นมิจฉามรรค กรุณาอธิบายด้วย

    สุ. โดยมากถ้าใช้คำว่า ภาวนา ทุกคนจะคิดถึงสมถภาวนาและ วิปัสสนาภาวนา แต่ยังไม่เข้าใจจริงๆ ว่า คำว่า ภาวนา หมายความถึงอะไร

    ไม่ใช่เป็นการทำ แต่เป็นการเจริญอบรม ถ้าเป็นสมถภาวนาก็หมายความถึงการอบรมจิตให้สงบจากอกุศล ถ้าเป็นวิปัสสนาภาวนาก็คือการอบรมจิตให้เกิดปัญญา แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีการฟัง ไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจ ก็จะไปทำ เพราะว่าภาวนาไม่ใช่เรื่องทำ ไม่ใช่เรื่องท่องบ่น แต่เป็นการอบรมจิตจริงๆ โดยที่ก่อนอื่น บุคคลนั้นต้องเห็นโทษของอกุศล เช่น ท่านผู้หนึ่งกล่าวว่า แต่ก่อนนี้ท่านไม่เคยรู้เลยว่า เวลาที่นึกถึงคนที่ท่านไม่ชอบ จิตในขณะนั้นเป็นอกุศล ภายหลังได้ฟังพระธรรมแล้ว เวลาที่นึกถึงคนที่ไม่ชอบ ท่านก็สามารถเกิดสติระลึกรู้ว่า จิตในขณะที่นึกถึงคนที่ ไม่ชอบ ในขณะนั้นเป็นอกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น อาศัยปัญญาที่รู้อย่างนั้น และเห็นโทษของอกุศล เป็นปัจจัย ทำให้เมตตาเกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งขณะที่กำลังมีเมตตา แม้ขณะนั้นก็เป็นการอบรม ให้จิตเริ่มสงบจากอกุศลไปเรื่อยๆ นี่คือการที่รู้ว่าขณะใดจิตเป็นกุศลและขณะใด จิตเป็นอกุศล แต่ถ้าไม่มีความรู้อย่างนี้เลย และได้ยินได้ฟังว่า เขาปฏิบัติธรรมกัน ก็อยากจะปฏิบัติ สังเกตดูมีหลายท่านที่ไม่รู้ว่าการปฏิบัติธรรมคืออะไร เพียงแต่ ได้ยินว่า ปฏิบัติธรรมๆ ก็เกือบจะเป็นโรคชนิดหนึ่ง คือ โรคปฏิบัติธรรม โดยที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจว่า ปฏิบัติธรรมคืออะไร

    ถ้าได้ยินคำว่า ปฏิบัติธรรม ที่นั่นปฏิบัติธรรม ที่นี่ปฏิบัติธรรม และอยากปฏิบัติ ขณะนั้นเป็นความเห็นถูกหรือเปล่า

    ขณะนั้นไม่ใช่ความเห็นถูก เพราะไม่เข้าใจว่า ปฏิบัติคืออะไร

    ภาวนา คือ การอบรมจิตให้เป็นกุศล หรืออบรมจิตให้เกิดปัญญา ถ้าไม่รู้ อย่างนี้ ย่อมอยากจะทำโดยปัญญาไม่เกิด ซึ่งขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต

    และที่เข้าใจว่าขณะที่กำลังนั่งนิ่งๆ หรือจดจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใด หรือท่องคำหนึ่งคำใด ขณะนั้นจิตสงบ แต่แท้ที่จริงแล้วขณะนั้นเป็นความต้องการที่จะให้จิตจดจ้อง ใช่หรือไม่

    ถ้าเป็นความต้องการ ปัญญาไม่เกิดเลย ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร และเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นการปฏิบัติธรรม แต่ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ คือ เห็นผิด เข้าใจผิดในข้อปฏิบัติ นี่หมายความถึงทั้งสมถะและวิปัสสนา การอบรมเจริญภาวนาต้องเป็นญาณสัมปยุตต์ ซึ่งเริ่มจากการเห็นโทษของอกุศล

    . ช่วยยกตัวอย่างกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา ให้พอเข้าใจได้

    สุ. กามตัณหา คือ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

    ภวตัณหา คือ ความพอใจในขันธ์ ในสภาพที่เป็นอยู่ ในความเป็น และบางแห่งหมายความถึงโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับสัสสตทิฏฐิ คือ ความเห็นว่าเที่ยง เพราะในขณะนั้นไม่รู้เลยว่า สภาพธรรมเกิดขึ้นและดับไป เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่ไม่ได้ยินไม่ได้ฟังเรื่องสังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง ย่อมมีความคิดเห็นว่าเที่ยง เช่น กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ก็เที่ยง เป็นเราที่เห็น กำลังได้ยินก็เป็นเราที่ได้ยิน เพราะฉะนั้น ก็มีความเห็นว่า มีตัวตนที่เที่ยง นั่นเป็นอีกความหมายหนึ่งของภวตัณหา คือ โลภะ ความยินดีพอใจในความเห็นว่ามีภพที่เที่ยง

    วิภวตัณหา หมายความถึงโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ในอุจเฉททิฏฐิ คือ มีความเห็นว่า ตายแล้วสูญ

    . พระอนาคามีท่านละกามตัณหาได้ ใช่ไหม ในปัญจทวารวิถีของ พระอนาคามี ท่านมีภวตัณหาหรือเปล่า

    สุ. ภวตัณหา หมายความถึงความยินดีพอใจในขันธ์ที่ท่านยังมีอยู่ในขณะนั้น

    . เพราะฉะนั้น ตัณหาทั้ง ๓ สามารถเกิดในปัญจทวารวิถีได้

    สุ. ที่แสดงไว้ แสดงไว้ว่า ได้

    เรื่องของตำราเป็นเรื่องที่ว่า เมื่ออ่านแล้ว ฟังแล้ว จะได้พิสูจน์ธรรมที่ตัวเอง ถ้าที่ตัวเองมีธรรมใดปรากฏก็สามารถระลึกรู้สภาพธรรมนั้นได้โดยที่ชื่อไม่มาปิดบัง แต่ต้องละเอียดขึ้นๆ เพราะว่าโดยขั้นของการศึกษาทุกท่านก็เห็นว่า ธรรมเป็นเรื่องละเอียด เรื่องของจิตก็เป็นเรื่องละเอียด มีเจตสิกประกอบเท่าไร และเจตสิกที่ เกิดร่วมกันต่างเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันอย่างไร นั่นเป็นเรื่องละเอียดขั้นปริยัติ ซึ่งเห็นว่าละเอียดมากแล้ว เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ความละเอียดถึงขณะที่สภาพธรรมปรากฏ ซึ่งจะทำให้หมดความสงสัยได้ จะต้องละเอียดยิ่งกว่านั้นด้วย

    เช่น ทุกคนรู้ว่า จิตเกิดไม่ได้เลยถ้าไม่มีผัสสเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่มีใครที่จะรู้ลักษณะของผัสสเจตสิก เพียงแต่เมื่อฟังแล้วก็รู้ได้ว่า ผัสสเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่กระทบอารมณ์ใดจิตก็รู้อารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น ผัสสเจตสิกกับจิต เกิดพร้อมกัน รู้อย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็ต้องมีผัสสเจตสิกแน่นอน แต่การที่จะ รู้ผัสสเจตสิก ก็ไม่ใช่วิสัยของผู้ที่ยังไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

    ธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกามตัณหาก็ดี เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันซึ่งสติปัฏฐานควรที่จะระลึกเพื่อรู้ และภายหลังจะรู้ละเอียดต่อไปถึงธรรมอื่นๆ ที่ได้ทรงแสดงไว้

    . แสดงว่าเป็นเรื่องของการอบรมปัญญาในการที่จะรู้สิ่งที่เข้าใจแล้ว จนสติสามารถเกิดได้

    มีผู้ฝากถามปัญหามาว่า แต่ก่อนเมื่อเริ่มฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐานนั้น รู้สึกสติเกิดได้บ่อย มีความขวนขวายในการสอบถามและการพิจารณาตามบ่อยครั้ง ความเข้าใจเกิดตามลำดับทีละเล็กทีละน้อย มาระยะหลังเริ่มรู้สึกว่า สติไม่เกิดบ่อยเหมือนแต่ก่อน รู้สึกว่า การได้ยินได้ฟัง ไม่ค่อยมีการพิจารณาสนใจตามเหมือน เมื่อแรกๆ ความรู้นั้นเพิ่มขึ้นช้ากว่าเก่า เมื่อได้สนทนากับผู้เจริญสติด้วยกันก็ได้คำตอบว่า

    ๑. ที่เคยคิดว่าสติเกิดมากในตอนเริ่มฟัง อาจเป็นโลภะที่จดจ้อง มีความเพียรเหมือนขยัน ถามสิ่งที่ยังไม่รู้เลย สลับกับการมีสัมมาสติบ้าง ภายหลังเมื่อเริ่มเข้าใจมากขึ้นตามลำดับ โลภะที่แทรกน้อยลง สติก็เกิดขึ้น สบาย เป็นปกติตามลำดับ

    ๒. เกิดความประมาท เพราะคิดว่าเข้าใจบ้างแล้ว สติเกิดได้บ้างแล้ว เมื่อได้ยินได้ฟังจึงไม่ค่อยสนใจ

    ๓. เพราะอาจารย์ช่วยผู้ที่เริ่มศึกษาใหม่ๆ มาก ช่วยเตือนสติมาก ส่วนการเตือนผู้ที่พอจะเข้าใจบ้างแล้วนั้น ก็ให้ฟังเทปชุดก่อนๆ ที่บรรยายไว้แล้ว และ ให้ค้นคว้าพระไตรปิฎกเพิ่มขึ้นเองด้วย

    ๔. ความต้องการมีสติมากเกิดแทรกด้วย รู้สึกว่าสตินั้นเกิดน้อยลง

    จากคำตอบเหล่านี้ ยังไม่กระจ่าง ท่านอาจารย์ช่วยแนะนำเพิ่มเติม จะได้เป็นปัจจัยให้เกิดความเพียรและคลายความสงสัย ขอขอบพระคุณ

    สุ. โดยมากเป็นเรื่องของความต้องการ แทนที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที คือ แทนที่จะคิดเรื่องต่างๆ ก็รู้ว่า ขณะนั้น เป็นแต่เพียงสภาพที่คิด ระลึกทันที เท่านั้นเอง ไม่มีอย่างอื่น

    ไม่ใช่เป็นแบบทฤษฎีที่วิเคราะห์วิจัยว่า แต่ละบุคคลนั้นเป็นอย่างไร แต่ให้ ทราบว่า การสะสมของจิตซึ่งมีทั้งอกุศลและกุศล แล้วแต่เหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้น บางกาลก็เป็นกาลที่สะดวกปลอดโปร่งต่อกุศล ไม่ว่าจะเป็นในการฟังธรรม สนทนาธรรม การพิจารณาธรรม หรือการที่สติปัฏฐานจะเกิด แต่บางกาลก็เป็นปัจจัยของอกุศลธรรมที่ได้สะสมมาแล้ว รวมทั้งอกุศลกรรมที่จะเกิดขึ้นทำให้การฟังก็น้อยลง การพิจารณาก็น้อยลง หรือสติปัฏฐานที่จะเกิดก็น้อยลง ซึ่งผู้นั้นเป็นผู้รู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า มีทั้งกุศลและอกุศลที่ได้สะสมแล้ว

    สภาพธรรมทุกอย่างที่จะเกิด ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยจะเกิดไม่ได้เลย ไม่ใช่ ใครก็ตามที่ยังไม่เป็นพระอริยบุคคลก็หมดโลภะ อยากจะมีแต่สนทนาธรรม ฟังธรรม ฟังเทป หรือทำกิจเรื่องของการกุศล เพราะว่าอกุศลอื่นๆ ที่สะสมมาก็ย่อมเป็นปัจจัย ทำให้เกิดความยินดีเพลิดเพลินในอารมณ์อื่นได้

    นี่คือแต่ละชีวิตตามความเป็นจริง ซึ่งไม่มีหนทางอื่นเลยจริงๆ นอกจาก สติระลึกทันที เพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามที่ได้ยินได้ฟังมา ด้วยเหตุนี้ถ้าเป็นพหูสูต เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมามาก และมีความมั่นใจในสัจจญาณ จริงๆ คือ รู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้เป็นสัจจธรรม เป็นของจริงที่สติสามารถระลึกทันที แทนที่จะไปวิจัย วิเคราะห์ หรือพิจารณาว่าเพราะอะไรจึงไม่ระลึก

    เพราะอะไรจึงไม่ระลึก ไม่มีประโยชน์ ระลึกทันทีมีประโยชน์กว่า ถ้ารู้ว่า เพราะอะไรจึงไม่ระลึกแล้วจะทำอะไรได้ ก็เพียงแต่รู้ว่าเพราะอะไรเท่านั้นเอง ซึ่งก็คือ เพราะสะสมมาทั้งอกุศลธรรมและกุศลธรรม บางครั้งสติจึงเกิด บางครั้งสติ จึงไม่เกิด

    ข้อสำคัญที่สุด ควรจะไม่หวั่นไหว ไม่หวั่นไหวในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ไม่หวั่นไหวเพื่อที่จะให้เกียจคร้าน หรือท้อถอย แต่ไม่หวั่นไหวเพราะรู้ปัจจัย รู้ว่าสภาพธรรมทุกอย่างที่เกิด เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่สติปัญญายังอ่อน ถ้ามีการฟัง หรือการตรึก การระลึกถึงธรรม การพิจารณาธรรมขั้นต่างๆ ไม่ใช่เพียงแต่ขั้นสติปัฏฐานเท่านั้น ก็เป็นการเกื้อกูล แต่ก็ไม่มีใครสามารถบังคับได้

    ทุกคนในสังสารวัฏฏ์ พระนิพพาน คือ อีกฝั่งหนึ่งของฟากมหาสมุทรซึ่งทุกคนจะต้องว่ายไปเรื่อยๆ แม้ว่ายังมองไม่เห็นฝั่ง ถ้ารู้อย่างนี้ก็ไม่ท้อถอย เพราะว่า ตราบใดที่ยังมีชีวิต มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้ว่าโลภะจะเกิด ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงจริงๆ สติระลึกเพียงครั้งสองครั้ง หรือนานๆ ครั้ง ก็ยังดีกว่าเข้าใจผิดและไม่ระลึกเลย แต่ให้ทราบเหตุปัจจัยตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างที่เกิดต้องเพราะเหตุปัจจัย

    เพราะฉะนั้น เรื่องวิจัย วิเคราะห์ ก็หมดเรื่องไปได้ แทนที่จะเสียเวลาวิจัย วิเคราะห์ ก็ระลึกทันที ถ้ายังไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ก็ฟัง ถ้าฟังแล้ว ยังเห็นว่าเป็นตัวตนอยู่อีกนั่นแหละ ก็ฟังอีกจนกระทั่งสติเกิดระลึกได้ ในขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ก็ค่อยๆ รู้ขึ้นได้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ทำให้คิด

    ถ้านึกถึงคำว่า คิด และรู้สภาพของจิตที่คิด ก็จะรู้ได้ว่า จิตที่คิดเกิดมากมาย เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏให้คิด ถ้ารู้อย่างนี้ การพิจารณาสภาพของจิตที่คิด จะรู้ได้ว่า คิดเพราะมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏทางตาให้คิด สภาพธรรมที่ปรากฏทางหูให้คิด สภาพธรรมที่ปรากฏทางจมูกให้คิด สภาพธรรมที่ปรากฏทางลิ้นให้คิด สภาพธรรมที่ปรากฏทางกายให้คิด เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถรู้ลักษณะของจิตที่คิดก็จะรู้ว่า เป็นเรื่องของความคิด ตั้งแต่เกิดจนตาย ในเมื่อกรรมทำให้จิตเห็นดับไปแล้ว แต่จิตก็ยังคิดเรื่องนั้นต่อ

    . การที่เราจะทำกุศล เพื่อให้เกิดเป็นติเหตุกบุคคล ควรทำอย่างไร เฉพาะในขั้นทาน ควรทำอย่างไร

    สุ. ทำไมต้องจำกัดด้วย ในเมื่อต้องการให้ปฏิสนธิเป็นติเหตุกบุคคล ติ แปลว่า ๓ และถ้าเป็นเหตุฝ่ายดีก็คือโสภณเหตุ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ ฉะนั้น ติเหตุกบุคคล คือ บุคคลซึ่งปฏิสนธิจิตประกอบพร้อมด้วย อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก

    ถ้าเป็นกุศลขั้นทานธรรมดาๆ ซึ่งทุกท่านก็ทำอยู่เป็นประจำ ให้ทราบว่า ในขณะนั้นต้องมีอโลภะแน่ จึงได้มีการให้ทานได้ และต้องมีอโทสะด้วย จึงได้มีการ ให้ทานได้ แต่อโมหะคือปัญญาเจตสิกในขณะที่ให้ทานนั้น มี หรือไม่มี

    ถ้าไม่มี ไม่ว่าจะให้ทานมากมายสักเท่าไรก็ตาม ผลก็คือเป็นปฏิสนธิจิตที่ เป็นกามาวจรวิบากที่เป็นทวิเหตุ คือ ประกอบด้วยอโลภะและอโทสะเท่านั้น

    ไม่ปรารถนา ไม่อยากได้ปฏิสนธิจิตอย่างนี้ ใช่ไหม เพราะว่าเป็นผู้ไม่ฉลาด ไม่สามารถอบรมเจริญปัญญาจนรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ หรือถ้าเป็นการอบรมเจริญความสงบของจิต ฌานจิตก็ไม่เกิด และบางคนฟังธรรมก็ไม่ค่อยเข้าใจ เพราะว่า ขาดการสะสมมาที่จะพิจารณาโดยละเอียด โดยถูกต้อง

    เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะเกิดเป็นมนุษย์ มีทรัพย์สมบัติมากมาย แต่ปราศจากปัญญา ผู้ที่เห็นโทษก็รู้ว่า เกิดมาแล้วก็มีความสุขไปเท่านั้นเองจนตาย และ ไม่ทราบว่า ชีวิตในชาตินั้นจะสั้นหรือจะยาว เมื่อตายแล้วจะไปเกิดเป็นอะไรอีกก็ได้ อาจจะไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ปฏิสนธิจิตเป็นอเหตุกะ

    ท่านที่ใคร่จะให้ปฏิสนธิจิตเป็นติเหตุกะ ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก ก็เจริญกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา อโมหะคือปัญญาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เข้าใจธรรม คือ สิ่งที่มี ถูกต้องตามความเป็นจริง

    ในขณะนี้ที่ทุกท่านกำลังฟังพระธรรม ให้เข้าใจว่า กำลังฟังเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพื่อให้เข้าใจ และสภาพธรรมที่เข้าใจนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นปัญญาเจตสิกนั่นเอง

    ขณะใดที่ฟังแล้วเข้าใจ ขณะนั้นเป็นกามาวจรกุศลญาณสัมปยุตต์ ซึ่งถ้าให้ผล ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด บุคคลนั้นจะเป็นติเหตุกบุคคล เป็นบุคคลที่เกิดพร้อมด้วย อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก

    การฟังธรรมก็ดี ในขณะที่เข้าใจ ในขณะที่พิจารณาธรรม หรือจะเป็นการสนทนาธรรมก็ดี ในขณะที่เข้าใจ ต้องในขณะที่เข้าใจ ในขณะนั้นเป็นกามาวจรกุศล หรือมหากุศลที่เป็นญาณสัมปยุตต์ ในขณะนี้ถ้าเข้าใจแล้วก็เป็นปัจจัยให้ ปฏิสนธิจิตเกิด เมื่อจุติจิตเกิดและดับไป ขณะนั้นปฏิสนธิจะเป็นติเหตุกบุคคล

    . ขั้นการฟังหรือเรียนธรรม ผมพอจะเข้าใจว่า เราควรจะทำความเข้าใจอย่างไรจึงจะประกอบด้วยปัญญา แต่ขณะที่เรากำลังถวายของ เราจะคิดอย่างไร จึงจะประกอบด้วยปัญญา

    สุ. แม้มหากิริยาจิตซึ่งเป็นกามาวจรจิตของพระอรหันต์ ก็ยังมีทั้งที่เป็นญาณวิปปยุตต์และญาณสัมปยุตต์ เป็นพระอรหันต์แล้ว แต่บางขณะมหากิริยานั้น ก็ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา เป็นญาณวิปปยุตต์ บางขณะก็ประกอบด้วยปัญญา เป็นญาณสัมปยุตต์ นั่นสำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ อยากให้กุศลทั้งหมดเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ใช่ไหม เป็นไปไม่ได้ เพราะว่า ตามความเป็นจริง บางกาลก็เป็นมหากุศลญาณวิปปยุตต์ และบางกาลก็เป็น มหากุศลญาณสัมปยุตต์

    ถ้าเป็นผู้ที่ปรารถนาจะให้เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ในขณะที่ให้ทาน ตาก็มีเห็น หูก็มี จิตได้ยินก็มี กลิ่นก็ปรากฏ จิตที่รู้กลิ่นก็มีในขณะนั้น สภาพที่อ่อนหรือแข็งก็ปรากฏ จิตที่รู้อ่อนหรือแข็งก็ปรากฏ จิตที่คิดนึกที่รู้ว่าวัตถุใดเป็นไทยธรรมก็มี เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ขณะนั้นเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ไม่ว่าจะขณะที่กำลังให้ทาน ขณะที่สนทนาธรรม แสดงธรรม หรือฟังธรรมก็ตามแต่ สติปัฏฐานก็สามารถเกิดได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๓ ตอนที่ ๑๘๒๑ – ๑๘๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    Tag  กตเวที  กามตัณหา  กามาวจรวิบาก  กายทุจริต  กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน  กาลสมบัติ  กิเลส  ขณิกมรณะ  ขัคควิสานสูตร  ขันธ์  จักขุทวารวิถีจิต  จักขุปสาทรูป  ชนสันธชาดก  ชนสันธะ  ชวนจิต  ชวนวิถี  ฌานจิต  ญาณวัตถุ  ญาณวิปยุตต์  ญาณสัมปยุตต์  ตระหนี่  ติเหตุกบุคคล  ถุลลัจจัย  ทวิเหตุ  ทาน  ทานมยปัญญา  ทิฏฐิคตวิปปยุตต์  ทิฏฐิเจตสิก  ทุกข์อริยสัจจะ  ทุกฏ  ธัมมายตนะ  ธัมมารมณ์  ธาตุ  ธาตุเจดีย์  นามธรรม  นิจศีล  นิพพาน  นิสสัคคิยปาจิตตีย์  บริโภคเจดีย์  บารมี  บารมี ๑๐  บุพพเจตนา  ปฏิจจสมุปบาท  ปฏิจจสมุปปาท  ปฏิสนธิจิต  ปฏิโลม  ปฐวีกสิณ  ปรมัตถธรรม  ประจักษ์  ประจักษ์แจ้ง  ปัจจัย ๔  ปัจจุปัฏฐาน  ปัจเจกโพธิญาณ  ปัญจทวารวิถี  ปัญญา  ปัญญาบารมี  ปาติโมกขสังวรศีล  ปีติโสมนัส  ปุถุชน  ปุพพเจตนา  ปูชนียสถาน  พระนิพพาน  พระปัจเจกพุทธเจ้า  พระวินัยบัญญัติ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรม  พระอภิธรรมปิฎก  พระอริยบุคคล  พระโพธิสัตว์  พระโสดาบัน  พละ  พหุสูต  ภวตัณหา  ภวังคจิต  มนสิการ  มรณสติ  มรณะ  มรณานุสติ  มรรคมีองค์ ๘  มหากิริยาจิต  มหาภูตรูป  มิจฉาทิฏฐิ  มุญจนเจตนา  รูปธรรม  รู้แจ้ง  วจีทุจริต  วัฏฏะ  วิจิกิจฉา  วิถีจิต  วิปัสสนาภาวนา  วิภวตัณหา  วิสุทธิมรรค  ศีล ๕  สติปัฏฐาน  สติสัมปชัญญะ  สภาวธรรม  สภาวรูป  สมณพราหมณ์  สมถกัมมัฏฐาน  สมถภาวนา  สมมติมรณะ  สมาบัติ  สมุจเฉท  สมุจเฉทมรณะ  สักกายทิฏฐิ  สังขารธรรม  สังคหวัตถุ ๔  สังฆทาน  สังสารวัฏฏ์  สัตบุรุษ  สัพพัตถกกัมมัฏฐาน  สัมมัปปธาน  สัสสตทิฏฐิ  สีลลัพพตปรามาส  สุจริตธรรม  อธิจิต  อธิปัญญา  อธิศีล  อนัตตา  อนุโลม  อปรเจตนา  อภิธัมมัตถสังคหะ  อรรถกถา  อรรถกถากาลิงคชาดก  อรรถกถายุธัญชยจริยา  อริยสัจจธรรม  อรูปพรหมบุคคล  อวิชชา  อัคควิสาณสูตร  อัตตสัญญา  อากาศธาตุ  อานิสงส์  อาบัติ  อายตนะ  อาราธนา  อิทธิบาท  อินทรีย์  อุคฆติตัญญูบุคคล  อุทเฉททิฏฐิ  อุทเทสิกเจดีย์  อุบาสก  อุบาสิกา  อุปัฏฐาก  อโทสเหตุ  อโมหเหตุ  อโลภเหตุ  เจตนา  เป็นทุกข์  เมตตากัมมัฏฐาน  เวไนยสัตว์  เหตุปัจจัย  เอกปุตติกพรหมทัต  เอกัคคตา  โพชฌงค์  โพธิมณฑล  โมหะ  โลภะ  ไม่เที่ยง  
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 104
    28 ธ.ค. 2564