แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1820


    ครั้งที่ ๑๘๒๐


    สาระสำคัญ

    ความสำคัญของชวนจิตที่เป็นกุศลและอกุศล

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถาขุททกนิกาย สีลวถรคาถา - พึงรักษาศีลในศาสนานี้

    จิตทำชวนกิจมี ๔ ชาติ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๓๑


    พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศอริยสัจจ์ ในเวลาจบอริยสัจจ์ บางพวกได้เป็นพระโสดาบัน บางพวกได้เป็นพระสกทาคามี บางพวกได้เป็นพระอนาคามี บางพวกได้เป็นพระอรหันต์ และทรงประชุมชาดกว่า

    นางวรรณทาสีหญิงคณิกา ได้เป็นนางอุบลวรรณา นายประตูในครั้งนั้น ได้เป็นพระปุณณะ รัชชุคาหกะอำมาตย์ผู้รังวัด ได้เป็นพระกัจจายนะ โทณมาปกะอำมาตย์ผู้ตวงข้าว ได้เป็นพระมหาโมคคัลลานะ เศรษฐีในครั้งนั้นได้เป็นพระสารีบุตร นายสารถีได้เป็นพระอนุรุทธะ พราหมณ์ได้เป็นพระกัสสปเถระ พระมหาอุปราช ได้เป็นพระนันทะผู้บัณฑิต พระมเหสีในครั้งนั้นได้เป็นราหุลมารดา พระชนนีในครั้งนั้นได้เป็นพระมายาเทวี พระเจ้ากุรุราชโพธิสัตว์ได้เป็นเราตถาคต ท่านทั้งหลายจงทรงจำชาดกด้วยประการฉะนี้

    จบ อรรถกถากุรุธรรมชาดกที่ ๖

    เป็นเรื่องของชวนจิตทั้งนั้น

    ถ้ากล่าวโดยกิจก็เป็นเรื่องของชวนกิจ เป็นเรื่องกุศลจิต เป็นเรื่องอกุศลจิต ตั้งแต่แสนโกฏิกัปป์มาจนกระทั่งถึงสมัยนี้ เพราะฉะนั้น ขณะที่จิตกระทำชวนกิจ เป็นขณะที่สำคัญมาก เพราะว่าการเห็นก็ดี การได้ยินก็ดี การได้กลิ่นก็ดี การลิ้มรส ก็ดี การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายก็ดี เป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แล้วแต่กรรมใดจะให้ผล แต่เมื่อเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว กุศลจิตจะเกิด หรือ อกุศลจิตจะเกิด นี่เป็นการสั่งสมของโลกียชวนะที่ทำให้เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยต่างๆ กัน มีอกุศลต่างๆ กัน มีสติปัญญา มีความละเอียดในทางต่างๆ กัน และสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ถ้าได้อบรมเจริญกุศลที่เป็นการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติ เพราะว่าในขณะที่จบอริยสัจจ์ที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง บางพวกได้เป็นพระโสดาบัน บางพวกได้เป็นพระสกทาคามี บางพวกได้เป็นพระอนาคามี บางพวกได้เป็น พระอรหันต์

    บางท่านก็คิดถึงวิถีชีวิตของแต่ละคนซึ่งต่างๆ กันไปตามกรรม แต่ผู้ที่รู้กิจของจิตในวันหนึ่งๆ จะรู้ว่า ควรที่จะได้เตือนกันในเรื่องของชวนวิถี เพราะว่าขณะที่ยังอยู่ ในชาตินี้ ทุกวันๆ แต่ละท่านย่อมกระทำกรรม เพราะว่ากุศลจิตก็เกิด อกุศลจิตก็เกิด และถ้าอกุศลจิตเกิด แต่ไม่ถึงขั้นที่เป็นอกุศลกรรมบถ ก็เป็นการสะสมอุปนิสัย แต่ถ้าเป็นอกุศลกรรมบถหรือเป็นกุศลกรรมบถ เช่น การฟังธรรม ซึ่งในขณะนี้ก็ได้ กระทำแล้ว ถ้าชาตินี้ผ่านไป ล่วงไปเป็นแต่ละชาติๆ จนถึงพันชาติข้างหน้า ก็ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า ชาตินี้เดี๋ยวนี้ได้กระทำกรรมอย่างนี้ๆ แต่ผลของกรรม จะต้องเกิด

    กรรมในชาตินี้ที่ได้ทำแล้ว มีท่านผู้ใดจำได้หมดทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม ทำแล้วก็ลืมไปแม้ในชาตินี้เอง อาจจะจำได้เพียงบางกรรม แต่ส่วนใหญ่มีกรรมมากมายที่ทำแล้วก็ลืมไปแล้ว นี่เพียงในชาตินี้ยังลืม เพราะฉะนั้น ชาติหน้าก็ระลึกไม่ได้ ยิ่งล่วงไปถึงพันชาติที่จะระลึกว่าชาตินี้ได้เคยทำไว้ ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ฉะนั้น ควรเห็นความสำคัญของชวนจิตซึ่งเป็นกุศลและอกุศลว่า จะสะสมสืบต่อ อยู่เรื่อยๆ

    เรื่องประโยชน์ของศีล เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะบางท่านอาจจะระลึกถึงทานเวลาที่คิดถึงกุศล บางท่านอาจจะคิดถึงแต่เรื่องการสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุข ของบุคคลอื่นซึ่งเป็นขั้นทาน แต่อาจจะไม่สังวรในเรื่องของศีล

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ทวาทสกนิบาต สีลวเถรคาถา ข้อ ๓๗๘ ท่านพระสีลวเถระกล่าวคาถาว่า

    ท่านทั้งหลายพึงรักษาศีลในศาสนานี้ ด้วยว่าศีลอันบุคคลศึกษาดีแล้ว สั่งสม ดีแล้ว ย่อมนำสมบัติทั้งปวงมาให้ในโลกนี้

    นักปราชญ์เมื่อปรารถนาความสุข ๓ ประการ คือ ความสรรเสริญ ๑ การได้ความปลื้มใจ ๑ ความบันเทิงในสวรรค์เมื่อละไปแล้ว ๑ พึงรักษาศีล ด้วยว่า ผู้มีศีลมีความสำรวมย่อมได้มิตรมาก ส่วนผู้ทุศีลประพฤติแต่กรรมอันลามก ย่อม แตกจากมิตร นรชนผู้ทุศีลย่อมได้รับการติเตียนและความเสียชื่อเสียง ส่วนผู้มีศีลย่อมได้รับการสรรเสริญและชื่อเสียงทุกเมื่อ

    ศีลเป็นเบื้องต้น เป็นที่ตั้ง เป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย และ เป็นประธานแห่งธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้น พึงชำระศีลให้บริสุทธิ์

    สังวรศีลเป็นเครื่องกั้นความทุจริต ทำจิตให้ร่าเริง เป็นท่าที่หยั่งลงมหาสมุทรคือ นิพพานของพระพุทธเจ้าทั้งปวง เพราะฉะนั้น พึงชำระศีลให้บริสุทธิ์

    ศีลเป็นกำลังหาที่เปรียบมิได้ เป็นอาวุธอย่างสูงสุด เป็นอาภรณ์อันประเสริฐ เป็นเกราะอันน่าอัศจรรย์ ศีลเป็นสะพาน เป็นอำนาจใหญ่ เป็นกลิ่นหอมอย่าง ยอดเยี่ยม เป็นเครื่องลูบไล้อันประเสริฐ บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมหอมฟุ้งไป ทั่วทุกทิศ ศีลเป็นเสบียงอันเลิศ เป็นเสบียงเดินทางชั้นเยี่ยม เป็นพาหนะอันประเสริฐ ยิ่งนัก เป็นเครื่องหอมฟุ้งไปทั่วทิศานุทิศ

    คนพาลผู้ไม่มีจิตตั้งมั่นในศีล ย่อมได้รับการนินทาในเวลาที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้วย่อมได้รับทุกข์โทมนัสในอบายภูมิ ย่อมได้รับทุกข์โทมนัสในที่ทั่วไป

    ธีรชนผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยดีในศีล ย่อมได้รับการสรรเสริญในเวลาที่มีชีวิตอยู่ ในโลกนี้ ครั้นตายไปแล้ว ก็ได้รับความสุขโสมนัสในสวรรค์ ย่อมรื่นเริงใจในที่ ทุกสถานในโลกนี้

    ศีลเท่านั้นเป็นยอด และผู้มีปัญญาเป็นผู้สูงสุดในโลกนี้ ความชนะ ในมนุษยโลกและเทวโลก ย่อมมีได้เพราะศีลและปัญญา

    การฟังพระธรรม ประโยชน์ คือ เห็นประโยชน์ของธรรมฝ่ายดี และอบรมเจริญจนกระทั่งถึงที่สุด คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ซึ่งต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะพิจารณาตนเอง

    พระ เจริญพร เรื่องที่มีผู้คิดไม่ดีกับโยมอาจารย์ อาตมาเมื่อฟังธรรมใหม่ๆ ไม่เคยเห็นหรือพบอาจารย์ ตอนนั้นยังไม่บวช อาตมาฟังนานพอสมควร คิดว่า บุคคลนี้คงเป็นผู้ที่ละกิเลสได้มากมายจึงสามารถแสดงธรรมได้ละเอียด รู้สึก เคารพมาก คิดว่าจะต้องมาด้วยตนเองที่วัดบวร มาถึงครั้งแรกเป็นอาทิตย์ต้นเดือนไม่ได้พบอาจารย์ ครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ก็ยังอยากจะมาอีก ครั้งที่ ๔ เข้ามาฟัง การบรรยายก็ยังไม่รู้ว่าคนไหนเป็นอาจารย์ คิดว่าผู้ที่เป็นอาจารย์สุจินต์ต้องโกนผม หรือนุ่งขาวห่มขาว คงเป็นผู้ที่มีศีล อาตมายังไม่รู้ว่าเป็นโยมอาจารย์จนกระทั่งได้ยิน คำบรรยาย ก็รู้ว่าคนเดียวกัน แรกๆ ศรัทธาตกไป เพราะว่ายังไม่เข้าใจธรรม คิดว่า ผู้ที่มีศีลต้องดูจากภายนอก คือ เครื่องแต่งกาย หรืออะไรต่างๆ แต่ก็คิดว่า อย่างไร ก็แล้วแต่ ผู้ที่สามารถทำให้เราเข้าใจว่าตอนไหนเป็นกิเลส ตอนไหนไม่ใช่กิเลสได้ คนนั้นต้องเข้าใจ ก็เลยทนฟังอยู่ ตอนแรกๆ ใช้คำว่า ทนฟัง ตอนหลังๆ เริ่มได้ยิน ได้ฟังธรรมละเอียดขึ้น จากเรื่องของพระอริยสาวกต่างๆ เช่น นางวิสาขา มหาอุบาสิกาก็ดี ชีวิตประจำวันของท่านก็ไม่แตกต่างจากโยมอาจารย์ ก็เริ่มมีศรัทธาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาตมาเริ่มเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ เพราะเป็นความเห็นผิดที่คิดว่า ผู้ที่เข้าใจธรรมต้องขึ้นอยู่กับเครื่องแต่งกาย หรือต้องทำตัวให้แปลกจากคนธรรมดา คือ อาตมาคิดว่า ผู้ที่เราจะเคารพนับถือต้องเพียบพร้อมไปด้วยการแต่งกาย ที่ไม่เหมือนกับคนธรรมดา เมื่อฟังธรรมพอเข้าใจบ้างก็เห็นว่า นี่เป็นโทษของการ เข้าใจผิด

    สุ. ขอกราบอนุโมทนาเจ้าค่ะ ที่ในที่สุดพระคุณเจ้าก็เป็นผู้พิจารณาธรรม โดยไม่เลือกบุคคล เพราะว่าการฟังพระธรรม ต้องเป็นการฟังพระธรรมจริงๆ โดยไม่คำนึงถึงว่าบุคคลผู้พูดเป็นใคร ถ้าคำพูดนั้นไม่มีเหตุผล ก็ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย แต่ถ้าคำพูดนั้นเป็นประโยชน์ และเป็นพระธรรมจากพระไตรปิฎก สามารถทำให้ บุคคลอื่นได้พิจารณาและมีความเห็นถูกขึ้น ก็ควรที่จะรับพิจารณาจากท่านผู้พูด

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของพุทธบริษัทที่จะต้องพิจารณาจริงๆ ว่า การฟัง พระธรรมนั้น ไม่ใช่การฟังบุคคล ไม่ใช่การเลื่อมใสในตัวบุคคล แต่ต้องเป็นผู้ที่เลื่อมใสในพระธรรม

    สำหรับจิตที่เกิดขึ้นทำชวนกิจ มีได้ทั้ง ๔ ชาติ คือ เกิดขึ้นเป็นกุศล ๑ เป็นอกุศล ๑ เป็นวิบาก ๑ เป็นกิริยา ๑

    กุศลจิตทำกิจเดียว คือ ชวนกิจ อกุศลจิตก็ทำกิจเดียว คือ ชวนกิจ สำหรับ ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ต้องเป็นกุศลหรืออกุศล

    สำหรับกิริยาจิต แล้วแต่ว่าเป็นกิริยาจิตประเภทใด แต่สำหรับพระอรหันต์แล้วไม่มีกุศลจิตและอกุศลจิต เพราะฉะนั้น จิตของพระอรหันต์ที่ทำชวนกิจเป็นกิริยาจิต

    สำหรับโลกุตตรวิบาก ไม่ได้ทำกิจปฏิสนธิ กิจภวังค์ กิจจุติ เพราะฉะนั้น วิบากจิตที่ทำชวนกิจ ได้แก่ โลกุตตรวิบาก คือ ผลจิต ๔ ดวงที่เกิดต่อจากมรรคจิต ในขณะที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม หรือสำหรับผู้ที่ได้ฌาน เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็น พระอริยบุคคลที่ได้ฌาน ก็สามารถเกิดผลสมาบัติ คือ ผลจิตเกิดขึ้นมีนิพพานเป็นอารมณ์ด้วยกำลังของอัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิต ซึ่งเมื่อมีนิพพานเป็นอารมณ์ก็เป็น โลกุตตรจิตตามระดับขั้นว่าจะเป็นโสตาปัตติผล คือ พระโสดาบันเข้าผลสมาบัติ หรือเป็นสกทาคามิผล คือ พระสกทาคามีเข้าผลสมาบัติ หรือเป็นอนาคามิผล คือ พระอนาคามีเข้าผลสมาบัติ หรือเป็นอรหัตผล คือ พระอรหันต์เข้าผลสมาบัติ

    เพราะฉะนั้น ผลจิตซึ่งเป็นวิบากจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ ทำชวนกิจ นอกจากนั้นวิบากอื่นไม่ทำชวนกิจเลย

    ท่านที่ศึกษาแล้วอาจจะรู้ได้ทันทีว่า เป็นจิตที่ทำชวนกิจ แต่ไม่ต้องรู้ว่า นี่เป็นจิตที่ทำชวนกิจได้ไหม คือ ไม่รู้ชื่อ แต่รู้ลักษณะสภาพของจิตที่กำลังเกิดขึ้น ในขณะนั้นได้ และรู้ด้วยว่า ขณะนั้นไม่ใช่วิบากจิตแน่นอน เพราะว่าวิบากจิตคือขณะที่เห็น แต่หลังจากเห็นแล้ว จะเกิดชอบหรือไม่ชอบในสิ่งที่เห็นเป็นโลภมูลจิต หรือเป็นโทสมูลจิต หรือเป็นกุศลจิต แสดงให้เห็นว่า โลภมูลจิตก็ดี โทสมูลจิตก็ดี กุศลจิตก็ดี ไม่ใช่วิบาก

    เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้คำเรียกว่า ขณะนั้นโลภมูลจิตกำลังทำชวนกิจ แต่รู้ว่าในขณะนั้นที่เป็นโลภมูลจิตก็ตาม โทสมูลจิตก็ตาม หรือเป็นกุศลจิตก็ตาม ขณะนั้นไม่ใช่วิบากจิต ไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน

    รู้อย่างนี้จะพอไหม สำหรับการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งในขณะนั้น สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกจึงรู้ มิฉะนั้นแล้วจะไม่รู้เลยว่า ในขณะนี้ที่กำลังเห็นไม่ใช่ ในขณะที่กำลังคิดนึก และหลังจากที่เห็นแล้วเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล สติปัฏฐาน ก็ไม่เกิด แต่เมื่อสติปัฏฐานเกิดจึงรู้ว่าเป็นขณะที่ต่างกัน เพราะว่าเห็นแล้วก็คิด เป็นกุศลหรืออกุศล ได้ยินแล้วก็คิดเป็นกุศลหรืออกุศล

    เพราะฉะนั้น ถ้าสติปัฏฐานสามารถระลึกทั่วทั้ง ๖ ทวาร ก็จะรู้ว่า ในขณะ ที่คิด เป็นแต่เพียงเรื่องเท่านั้นเอง แต่สภาพปรมัตถธรรมจริงๆ เกิดแล้วดับแล้ว เช่น สิ่งที่เห็นทางตาในขณะนี้เกิดแล้วดับแล้ว แต่ถ้าคิดเรื่อง ดูเหมือนว่ายังมีสิ่งที่ปรากฏทางตาอยู่ ยังไม่ดับ

    ถ้าปัญญาเจริญขึ้นจะสามารถรู้ว่า ขณะที่คิดก็เป็นชั่วขณะที่กำลังมีเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ ถ้ารู้อย่างนั้นจริงๆ สติจะระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมเพิ่มขึ้น เพราะรู้ว่าการระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมจะทำให้ ประจักษ์แจ้งได้ว่าเป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา ต้องค่อยเป็นค่อยไป และเป็นความรู้ จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง เรื่องการเจริญสติปัฏฐาน พูดเท่าไรก็ยังจบกันไม่ได้ ก่อนที่อาจารย์ จะบรรยาย ก็มีนักศึกษาธรรมถามผมว่า การเจริญสติปัฏฐานที่บอกว่าต้องฟังเรื่อง การเจริญสติปัฏฐานจนมีความเข้าใจ เมื่อมีความเข้าใจแล้ว สติก็ยังไม่เกิด อ่าน ก็อ่านแล้ว ฟังก็ฟังแล้ว ฟังแล้วฟังอีก เขาถามว่า ฟังไปจนตาย สติก็ยังไม่เกิดได้ไหม ผมก็บอกว่า ได้ หรือเกิดอีกชาติหนึ่งก็ยังระลึกไม่ได้ก็ได้

    ผมบอกเขาว่า ผมฟัง เมื่อผมเข้าใจแล้วก็น้อมไป ในขณะที่จิตน้อมไป ในรูปธรรมหรือในนามธรรมทางตาก็ดี ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ดี เมื่อผมน้อมไป ศึกษาไป พิจารณาไปอย่างนี้ สติก็ได้เริ่มระลึกขึ้นมาบ้าง ก็ให้กำลังใจเขา แต่จากคำถามที่ว่า จะต้องฟังไปจนตายหรือ ผมคิดว่าอาจารย์คงจะมีอะไรดีๆ พูดเพิ่มเติม

    สุ. เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ใครจะรู้ว่า ใครจะตายวันไหน ถ้าตายเดี๋ยวนี้ ก็หมายความว่าก็จนตายอย่างที่ว่า เพราะว่าสติปัฏฐานก็ยังไม่ได้เกิด หรือถ้าจะตายพรุ่งนี้ สติปัฏฐานยังไม่เกิดก็ได้ ข้อสำคัญที่สุด วันนี้ใครรู้บ้างว่า อกุศลจิตเกิดมากมายสักเท่าไร ความเพลิดเพลินไปในอารมณ์ต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย วันนี้ก็มากมาย เมื่อเกิดมากอย่างนั้นแล้ว จะมีขณะที่กุศลจิตเกิด และเป็นหิริ ละอาย รังเกียจในอกุศลที่เกิดมามากมายในวันนี้หรือเปล่า

    เพียงเท่านี้กุศลจิตก็ยังไม่เกิด หิริโอตตัปปะที่จะละอายในอกุศลที่เกิดมา ตลอดวันก็ยังไม่เกิด และจะให้สติปัฏฐานเกิด หวังเพียงว่าเมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิด และก็หวังต่อไปอีกว่า เมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิดมากๆ และก็หวังต่อไปอีกว่า เมื่อไรปัญญาจะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ โดยที่วันหนึ่งๆ ไม่มีหิริโอตตัปปะที่จะระลึกได้ว่า วันนี้อกุศลจิตเกิดมาก เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว หิริขั้นต่อไปจะมีไหม

    นี่เป็นชีวิตประจำวันที่ละเอียดจริงๆ และการฟังธรรมก็เป็นกุศลอย่างยิ่งที่จะ ทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงตามความเป็นจริง ซึ่งจะทำให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามที่เข้าใจแล้ว

    เพราะฉะนั้น ขอให้ฟังเรื่องของสภาพธรรมจนกระทั่งเข้าใจละเอียดขึ้น และ ไม่ต้องห่วงว่า จนตายสติปัฏฐานก็ยังไม่เกิด เพราะไม่มีใครรู้แน่ว่าจะตายเมื่อไร และถ้าตายเดี๋ยวนี้ สติปัฏฐานยังไม่เกิดก็ได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๒ ตอนที่ ๑๘๑๑ – ๑๘๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 104
    28 ธ.ค. 2564