แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1833


    ครั้งที่ ๑๘๓๓


    สาระสำคัญ

    อเหตุกจิต ๑๘ ปัญจทวาราวัชชนจิต ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ มโนทวารวัชชนจิต สัมปฏิจฉันนจิต ๒ ดวง สันตีรณจิตมี ๓ ดวง หสิตุปปาทจิต

    สัทธัมมปกาสินี อรรถกถาจริยานานัตตญาณนิทเทส - อาวัชชนะ

    ชวนปฏิปาทกมนสิการ

    การระลึกและพิจารณา สังเกต สำเหนียก น้อมไปรู้ อาศัยการฟังทั้งหมดที่ได้ยินได้ฟังมา แล้วค่อยๆ รู้


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๑


    อเหตุกจิตทั้งหมดมี ๑๘ ดวง เวลานี้ทุกคนก็จำได้โดยไม่ลืมแน่นอนว่า มีทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวงที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ถ้าพิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็รู้ว่า วิบากจิตทั้งหลายเป็นผลของกรรม ที่เกิดขึ้นหลังปฏิสนธิ เมื่อเกิดมาแล้วมีตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นทางให้จิต ซึ่งเป็นวิบากเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารนั้นๆ

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็รู้ว่าเป็นผลของกรรม และรู้ว่าเป็นอเหตุกจิต เพราะยังไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ หรืออโลภะ อโทสะ อโมหะ เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น

    และการที่วิบากจิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่นจากอารมณ์ของภวังค์ อารมณ์นั้น ต้องกระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย

    ฟังดูธรรมดามาก คือ ซ้ำไปอีกว่า การที่วิบากจิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่นจากอารมณ์ของภวังค์ จะต้องมีอารมณ์กระทบตา หรือกระทบหู กระทบจมูก กระทบลิ้น กระทบกาย วิบากจิตจึงจะเกิดขึ้นได้

    การฟังธรรม ถ้าฟังเร็วก็ผ่านไปเร็ว แต่ถ้าฟังและคิดจริงๆ จะเห็นความเป็นอนัตตาได้ว่า แม้แต่เพียงการเห็นก็ต้องอาศัยปัจจัย คือ ต้องมีสิ่งที่กระทบตา แม้แต่เพียงการได้ยินก็ต้องอาศัยเสียงกระทบหู ถ้าเสียงไม่เกิดหรือเสียงไม่กระทบโสตทวาร โสตวิญญาณก็เกิดไม่ได้ เช่น เสียงที่เกิดไกลๆ เสียงนั้นไม่กระทบกับโสตปสาท โสตวิญญาณก็เกิดไม่ได้ หรือวิบากจิตอื่นทางลิ้น ทางกาย ก็โดยนัยเดียวกัน

    ถ้าจะหาเหตุด้วยปัญญาที่จะรู้ว่า การที่โสตวิญญาณก็ดี จักขุวิญญาณก็ดี ฆานวิญญาณก็ดี ชิวหาวิญญาณก็ดี กายวิญญาณก็ดี จะเกิดได้ต้องมีเหตุ โดยมีอารมณ์กระทบกับปสาท แต่ทำไมบางครั้งไม่รู้ เช่น ขณะที่นอนหลับสนิท เพราะฉะนั้น ต้องเป็นขณะที่รู้สึกตัวจึงจะมีการเห็น หรือการได้ยิน เป็นต้น

    เพราะฉะนั้น ขณะที่พ้นจากภวังค์เพื่อที่จะรู้อารมณ์ จะเห็นทันทีไม่ได้ เพราะว่าต้องเป็นจิตที่รู้สึกตัวก่อน และจิตที่รู้สึกตัวทางตาที่เกิดเป็นขณะแรกก่อนเห็น ก็คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็โดยนัยเดียวกัน นี่ก็จำเพิ่มได้อีกว่า ก่อนเห็นจะเกิด เป็นภวังค์ ไม่รู้สึกตัว ไม่รู้อารมณ์ที่ปรากฏ ทางหนึ่งทางใด แต่เวลาที่จะเห็นก็ดี จะได้ยินก็ดี ต้องรู้สึกตัวก่อน เพราะฉะนั้น ขณะที่รู้สึกตัว คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะรู้สึกตัวเพราะอารมณ์กระทบตา หรือเพราะอารมณ์กระทบหู หรือเพราะอารมณ์กระทบจมูก หรือเพราะอารมณ์กระทบลิ้น หรือเพราะอารมณ์กระทบกาย

    แม้แต่ขณะที่กำลังบริโภคอาหาร ก็ให้ทราบว่า มีการไม่รู้รสก่อนที่จะมีการ ลิ้มรส เพราะฉะนั้น เมื่อไม่รู้ และจะลิ้มรส ก็ต้องมีจิตที่รู้สึกตัวว่ามีสิ่งที่กระทบลิ้น ซึ่งเป็นไปโดยรวดเร็วมาก คือ เพียงขณะจิตเดียวเท่านั้น ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงว่ามีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนทวิปัญจวิญญาณ ก็ไม่มีใครสามารถรู้ได้ ทุกคนก็คิดว่า เมื่อเกิดมาแล้ว นอนหลับ ไม่รู้สึกตัว ตื่นขึ้นก็เห็น ก็ได้ยิน แต่ไม่มีใครสามารถรู้ว่า ก่อนเห็นมีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด ก่อนได้ยินมีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ก็จำอเหตุกจิตได้อีก ๑ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเกิดก่อนทวิปัญจวิญญาณ รวมเป็น ๑๑ ดวงแล้ว

    อเหตุกจิต ๑๘ ดวง จำได้ไม่ยากจริงๆ ถ้าค่อยๆ พิจารณาหาเหตุผลไป จากทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ก็เพิ่มอีก ๑ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเกิดก่อน ทวิปัญจวิญญาณ รวมเป็น ๑๑

    สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อรรถกถาจริยานานัตตญาณนิทเทส ข้อ ๑๖๕ มีข้อความว่า

    ชื่อว่าอาวัชชนะ เพราะอรรถว่า นำออกไปจากสันตาน (คือ การสืบต่อ) อันเป็นภวังค์ แล้วนึก คือ น้อมไปสู่อารมณ์

    เป็นภวังค์อยู่เรื่อยๆ ในขณะที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดไม่ปรากฏ แต่ก่อนที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดจะปรากฏ จิตที่ทำอาวัชชนกิจ ชื่อว่าอาวัชชนะ เพราะอรรถว่า นำออกไปจากสันตานอันเป็นภวังค์ แล้วนึก คือ น้อมไปสู่อารมณ์

    นี่สำหรับปัญจทวาราวัชชนะ แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    โดยทั่วไปเวลาที่มีการเห็นและการได้ยินเป็นต้น สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ จิตจะเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง แล้วแต่ว่าจะพอใจหรือไม่พอใจในอารมณ์ที่ปรากฏ หรือเกิดความไม่ติดข้องในอารมณ์นั้น มีการสละให้ เป็นไปในทาน หรือเป็นไปในศีล เป็นไปในความสงบของจิตเป็นต้น ยับยั้งไม่ได้เลยที่เห็นแล้วกุศลจะไม่เกิด หรือ อกุศลจะไม่เกิด เพราะฉะนั้น ต้องรู้ความจริงว่า ทุกครั้งที่เห็นแล้ว จิตต้องเป็น อย่างหนึ่งอย่างใดสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ คือ ต้องเป็นกุศลหรืออกุศล และยับยั้งไม่ได้อีกที่จะต้องมีจิตประเภทหนึ่งเกิดก่อนกุศลจิตหรืออกุศลจิต ที่ทำกิจกระทำทางให้จิตที่เกิดต่อเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล จิตนั้นคือมโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร หรือทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร เกิดก่อนกุศลหรืออกุศลทุกครั้ง

    จำได้อีกดวงหนึ่งแล้ว มโนทวาราวัชชนจิต จิตที่เกิดก่อนกุศลจิตหรืออกุศลจิต

    หลังจากที่เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ต้องมีกุศลจิตหรืออกุศลจิตสำหรับผู้ที่ ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ก่อนที่กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิดได้ ต้องมีจิตที่กระทำทาง ให้กุศลจิตเกิด หรืออกุศลจิตเกิด ซึ่งจิตนั้นคือมโนทวาราวัชชนจิต

    ทั้งปัญจทวาราวัชชนจิตและมโนทวาราวัชชนจิตไม่ใช่วิบากจิต แต่เป็นกิริยาจิต

    สำหรับอเหตุกจิต ๑๘ ดวง เป็นกิริยาจิต ๓ ดวง และเป็นวิบากจิต ๑๕ ดวง วิบากจิต ๑๕ ดวง ก็เป็นอกุศลวิบากจิต ๗ ดวง เป็นกุศลวิบากจิต ๘ ดวง

    อกุศลวิบากจิต ๗ ดวง ทราบแล้ว ๕ ดวง คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ กุศลวิบากจิต ๘ ดวง ก็รู้แล้ว ๕ ดวง คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ รวมทั้งหมดที่ได้กล่าวถึงแล้ว ๑๒ ดวง คือ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ เกิดก่อนทวิปัญจวิญญาณ และมโนทวาราวัชชนจิต ๑ เกิดก่อนกุศลจิตหรืออกุศลจิต เป็น ๑๒ ดวง

    อเหตุกจิตทั้งหมดมี ๑๘ ดวง จำได้แล้ว ๑๒ ดวง ยังเหลืออีก ๖ ดวง ซึ่งต้องอาศัยการฟัง ไม่มีใครสามารถพิจารณารู้ได้ แต่โดยเหตุโดยผลก็ทราบว่า เมื่อจักขุวิญญาณดับไป ก่อนที่กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิด หรือก่อนที่ มโนทวาราวัชชนจิตซึ่งเกิดก่อนกุศลจิตและอกุศลจิตจะเกิด จะต้องมีจิตที่เกิดขึ้น รับรู้อารมณ์นั้นต่อจากจักขุวิญญาณ ซึ่งจิตที่ทำกิจรับรู้อารมณ์นั้นต่อจากจักขุวิญญาณ คือ สัมปฏิจฉันนจิต เพราะทำสัมปฏิจฉันนกิจ โดยชื่อออกจะยาก คือ สัมปฏิจฉันนะ แต่เมื่อทราบกิจว่า สัมปฏิจฉันนะ คือ รับด้วยดี คือ รับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ หรือฆานวิญญาณ หรือชิวหาวิญญาณ หรือกายวิญญาณ

    สัมปฏิจฉันนจิตมี ๒ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวง เพิ่มขึ้นอีก ๒ ดวงแล้ว และสันตีรณจิตต้องเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนจิต คือ เมื่อ สัมปฏิจฉันนะเพียงรับอารมณ์ต่อจากทวิปัญจวิญญาณแล้วดับ มโนทวาราวัชชนจิต จะทำโวฏฐัพพนกิจทันทีไม่ได้ เพียงรับไว้เท่านั้นยังไม่รู้อะไร จะกระทำทางให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตยังไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็มีจิตซึ่งเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะ ทำสันตีรณกิจ คือ พิจารณาอารมณ์นั้นก่อน ก่อนที่โวฏฐัพพนจิตจะเกิด

    สำหรับสันตีรณจิตมี ๓ ดวง เป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๒ ดวง ต่างกันที่เป็นอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ ดวง และโสมนัสสันตีรณกุศลวิบาก ๑ ดวง

    ถ้าพิจารณาโดยเหตุผล ไม่มีทางที่จะลืมอเหตุกจิต ๑๘ ดวงเลย นับไปนับมา ก็ครบ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ กิริยาจิตอีก ๒ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตและ มโนทวาราวัชชนจิต แต่ก่อนที่โวฏฐัพพนจิตคือมโนทวาราวัชชนจิตจะทำ โวฏฐัพพนกิจได้ เมื่อจักขุวิญญาณเป็นต้นดับไป ต้องมีสัมปฏิจฉันนจิตเกิด ต่อจากนั้นสันตีรณจิตก็เกิด โวฏฐัพพนจิตจึงเกิดได้

    รวมทั้งหมดเวลานี้วิบากจิต ๑๕ ดวงแล้ว และกิริยาจิต ๒ ดวง เป็น ๑๗ ดวง ขาดอีกดวงหนึ่งอยู่ที่ไหนสำหรับอเหตุกจิต ทุกคนไม่มีถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ ต่อเมื่อใดเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงจะมีอเหตุกกิริยาจิตซึ่งเป็นหสิตุปปาท เป็นจิตที่กระทำให้เกิดการแย้มหรือยิ้มของพระอรหันต์

    ปกติธรรมดาทุกคนเวลานี้ก็เข้าใจว่า ท่านมีอเหตุกจิต ๑๗ ดวงเท่านั้น ต่อเมื่อใดเป็นพระอรหันต์แล้วก็จะมีครบทั้ง ๑๘ ดวง คือ มีหสิตุปปาทจิตด้วย

    ถ้าเป็นการพิจารณาโดยการเข้าใจอย่างนี้ จะลืมอเหตุกจิต ๑๘ ดวงไหม ถ้าใส่ใจจริงๆ สนใจจริงๆ นึกถึงเหตุถึงผลจริงๆ เช่น ก่อนจักขุวิญญาณจะเกิด อะไรต้องเกิดก่อน เพราะว่ากำลังเป็นภวังค์อยู่ ก็รู้ว่าปัญจทวาราวัชชนจิตต้องเกิดก่อน

    เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไป ทวิปัญจวิญญาณดวงหนึ่งดวงใดก็เกิดขึ้นทำกิจ และเมื่อทวิปัญจวิญญาณดวงหนึ่งดวงใดดับไป สัมปฏิจฉันนจิตก็เกิดขึ้น รับอารมณ์นั้นต่อ และเมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไป สันตีรณจิตก็เกิดขึ้นพิจารณา อารมณ์นั้นต่อ

    ต่อจากนั้นโวฏฐัพพนจิตก็เกิดขึ้น บางแห่งจะใช้คำว่า ตัดสินอารมณ์ แต่โดยศัพท์น่าจะหมายความถึงกระทำทางให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิด เพราะว่า เป็นชวนปฏิปาทกมนสิการ

    และพระอรหันต์เท่านั้นที่จะมีหสิตุปปาทจิตทำชวนกิจหลังโวฏฐัพพนจิต แต่ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ก็ต้องเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต และถ้าอารมณ์ยังไม่ดับไป สันตีรณจิต ๑ ใน ๓ ดวง หรือมหาวิบากจิต ก็ทำตทาลัมพนกิจ รับอารมณ์นั้นต่อ และก็เป็นภวังคจิตต่อไป

    นี่คือกระแสของชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย

    ประโยชน์การฟังเรื่องของจิตโดยนัยของอเหตุกะและสเหตุกะ จะทำให้เพิ่มความมั่นคงในการเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมยิ่งขึ้น ซึ่งความมั่นคงที่เห็นว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา จะเกื้อกูลในขณะที่สติปัฏฐานเกิด โดยที่ทุกท่าน ไม่ทราบว่ามาอย่างไร แต่ว่าต้องเคยฟัง เคยเข้าใจ เคยสะสม เคยพิจารณา เห็นความเป็นอนัตตาบ่อยๆ เนืองๆ จึงจะเป็นกำลังให้ปัญญาคมขึ้นที่จะละคลาย การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ มิฉะนั้นแล้วผู้ที่หวังจะเจริญสติปัฏฐาน ก็เพียงแต่เข้าใจ หรืออาจจะสอบถามว่าสติมีลักษณะอย่างไร และสติระลึกรู้อารมณ์อะไรเท่านั้น ก็เข้าใจว่าเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว แต่ไม่มีปัญญาพอที่จะ เป็นพื้นฐานให้สามารถคลายการยึดถือสภาพธรรมได้

    ถ. ที่กล่าวว่า รู้สึกตัว หมายถึงขณะที่เป็นมโนทวาราวัชชนจิต ใช่ไหม

    สุ. ที่ใช้คำว่า รู้สึกตัว คือ ในขณะที่เป็นภวังค์ไม่รู้สึกตัวเลย ใช่ไหม หรือใครรู้สึกตัวขณะที่กำลังหลับสนิท

    ถ. ไม่รู้สึกตัว

    สุ. ไม่รู้สึกตัว เพราะฉะนั้น เวลาที่จะมีอารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ ก็ต้องอาศัยทางซึ่งเป็นทวารหนึ่งทวารใด ได้แก่ ตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย หรือใจ แล้วแต่ว่าจะเป็นการรู้อารมณ์ทางทวารไหน

    ถ้าเป็นการรู้อารมณ์ทางปัญจทวาร หรือแม้ทางมโนทวาร ก็หมายความว่า เป็นขณะแรกที่จิตรู้สึกตัว ซึ่งต้องเป็นอาวัชชนจิต ถ้าเป็นทางตาก็เป็น ปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นทางใจก็เป็นมโนทวาราวัชชนจิต ที่ว่ารู้สึกตัว ก็เพราะว่าเริ่มที่จะรู้อารมณ์อื่น รู้สึกตัว คือ เห็น หรือรู้สึกตัว คือ ได้ยิน

    สังเกตดูก็ได้ วันนี้ตื่นขึ้น ทันทีที่รู้สึกตัว รู้อะไร เห็น หรือได้ยิน หรือคิดนึก หรือรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือรู้กลิ่น

    ถ. อีกคำหนึ่งที่อาจารย์พูดในการบรรยายบ่อยๆ คือ การระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรม การระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง กับการรู้สึกตัว ไม่ใช่ลักษณะเดียวกัน ใช่ไหม

    สุ. ไม่ใช่ เพราะว่านี่เป็นการแสดงถึงการรู้อารมณ์ตามปกติ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ในชีวิตประจำวัน

    ถ. ถ้าอย่างนั้นการรู้สึกตัวที่เป็นการเริ่มรู้อารมณ์ เมื่อรู้สึกตัวแล้ว อาจจะไม่ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรม หรืออาจจะมีการระลึกก็ได้ ใช่ไหม

    สุ. แล้วแต่บุคคล ถ้าเป็นคนที่ไม่เคยเจริญสติปัฏฐานเลย ไม่เคยสะสมมา ไม่เคยฟัง ตื่นขึ้นก็เห็น แต่ไม่มีความรู้ว่า สภาพเห็นไม่ใช่เรา

    ถ. อีก ๒ คำที่อาจารย์ใช้ในการบรรยายบ่อยๆ คือ คำว่า สังเกต และสำเหนียก สังเกตกับการระลึกลักษณะของสภาพธรรมเป็นอย่างเดียวกันหรือเปล่า

    สุ. ไม่ใช่ เพราะว่าในขณะนี้มีเห็น มีได้ยินด้วย และมีการกระทบสัมผัส สิ่งที่อ่อนหรือแข็งด้วย มีการคิดนึกด้วย มีเวทนา ความรู้สึกต่างๆ ด้วย แล้วแต่สติ ซึ่งเป็นสภาพที่ระลึกได้ แต่ไม่ใช่ระลึกเป็นเรื่อง ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพื่อที่ปัญญาจะเริ่มสังเกต พิจารณา

    ถ. สังเกต เป็นเรื่องของปัญญา

    สุ. แน่นอน เพราะว่าสติเป็นเพียงสภาพธรรมที่ระลึกรู้ แต่สติไม่ใช่ ปัญญาเจตสิก

    ถ. การสำเหนียก เป็นอย่างเดียวกับสังเกตหรือเปล่า

    สุ. จะใช้คำไหนก็ได้ ขอให้ค่อยๆ รู้ขึ้น เพราะว่าเป็นเรื่องที่รู้ยาก ทั้งๆ ที่ได้ฟังว่าเป็นนามธรรม เข้าใจว่าเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ เช่น กำลังเห็น กว่าจะรู้ได้ว่าไม่ใช่เรา เป็นแต่อาการรู้ ก็ต้องมีการระลึก และพิจารณา หรือจะใช้คำว่า สังเกต สำเหนียก น้อมไปรู้ อาศัยการฟังทั้งหมดที่ได้ยินได้ฟังมา และค่อยๆ รู้

    ถ. สำเหนียกจะใช้ว่า การใส่ใจ หรือเอาใจใส่ ได้ไหม

    สุ. จะใช้คำอะไรไม่สำคัญเลย ขอให้ค่อยๆ รู้ขึ้น

    ถ. อาการที่ค่อยๆ รู้ขึ้น เป็นการสังเกต สำเหนียก

    สุ. จะใช้คำอะไรได้ทั้งหมด เรื่องคำไม่สำคัญ สำคัญที่สภาพธรรมมีจริง และปัญญาจะรู้ โดยอาศัยการฟังเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติระลึกได้และค่อยๆ เริ่มรู้ แต่ถ้าไม่มีการพิจารณา ไม่มีการใส่ใจอย่างที่ว่า หรือไม่มีสังเกตเลย ผ่านไปแล้ว ไม่มีการรู้เลยว่า สภาพนั้นไม่ใช่เราเพราะว่าเป็นแต่สภาพรู้ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๔ ตอนที่ ๑๘๓๑ – ๑๘๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 104
    28 ธ.ค. 2564