แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1818


    ครั้งที่ ๑๘๑๘


    สาระสำคัญ

    อรรถกถากุรุธรรมชาดกที่ ๖

    ผู้รักษากุรุธรรมด้วยจิตที่ละเอียด

    พระเจ้าธนัญชัยโกรัพย - เห็นอกุศลของตนเองอย่างละเอียด

    ความเป็นอนัตตาของความคิด


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๑


    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ก็สัตว์ดิรัจฉานนั้นแม้มีคุณอยู่ ก็จะมีสักเท่าไร

    คือ ไม่สามารถเทียบกันได้ว่าจะเป็นเหตุให้ฝนตก

    เพราะฉะนั้น เมื่อพระเจ้ากาลิงคราชทรงทราบอย่างนั้น ก็รับสั่งให้พราหมณ์ ทั้ง ๘ นำช้างพร้อมเครื่องประดับและบริวารกลับคืนไปถวายแก่พระราชา แล้วให้จด กุรุธรรมที่พระเจ้าธนัญชัยทรงรักษาลงในแผ่นทอง แล้วให้นำมาถวายพระองค์

    พราหมณ์เหล่านั้นก็ได้นำช้างนั้นไปถวายแก่พระเจ้าธนัญชัย แล้วกราบทูล ให้ทรงทราบว่า แม้เมื่อช้างนั้นไปถึงทันตปุรนคร แคว้นกาลิงคะแล้ว ฝนก็ไม่ตก และ พระเจ้ากาลิงคราชทรงทราบว่าพระเจ้าธนัญชัยทรงรักษากุรุธรรม เพราะฉะนั้น พระเจ้ากาลิงคราชก็ทรงประสงค์จะรักษากุรุธรรมนั้น จึงทรงส่งพวกอำมาตย์มา ทูลถามกุรุธรรม เพื่อที่จะได้จดใส่ในแผ่นทองนำไปถวายพระเจ้ากาลิงคราชา

    ท่านผู้ฟังจะได้เห็นความละเอียดของจิตของพระโพธิสัตว์ และบรรดา ผู้ที่ภายหลังจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ซึ่งเป็นผู้ที่เห็นอกุศลของตนเองอย่างละเอียด

    พระโพธิสัตว์ตรัสว่า

    เรารักษากุรุธรรมนั้นจริง แต่บัดนี้เรามีความรังเกียจในกุรุธรรมนั้นอยู่ กุรุธรรมนั้นไม่ทำจิตของเราให้ยินดี เพราะฉะนั้น เราไม่อาจให้กุรุธรรมนั้นแก่ ท่านทั้งหลาย

    คำอธิบายมีว่า

    ก็เพราะเหตุไรศีลนั้นจึงไม่ทำให้พระราชาทรงยินดี

    ตอบว่า นัยว่า ในครั้งนั้นพระราชาทั้งหลายมีการมหรสพเดือน ๑๒ ทุกๆ ๓ ปี พระราชาทั้งหลายเมื่อจะเล่นมหรสพนั้น ทรงประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวงแล้วยิงศรอันวิจิตรประดับด้วยดอกไม้ในทิศทั้ง ๔ พระราชาคือพระโพธิสัตว์ แม้พระองค์นี้เมื่อจะทรงเล่นมหรสพนั้นได้ทรงยิงศรไปในทิศทั้ง ๔ บรรดาลูกศรเหล่านั้น พระองค์ทรงเห็นลูกศร ๓ ลูกที่ยิงไปในทิศที่เหลือ แต่ไม่เห็นลูกศรที่ยิงไป บนหลังพื้นน้ำ พระราชาทรงรังเกียจว่า ลูกศรที่เรายิงไปคงจะตกลงในตัวปลา กระมังหนอ พระองค์ทรงปรารภถึงศีลเภท คือ ศีลขาด เพราะกรรมคือทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป เพราะฉะนั้น ศีลจึงไม่ทำให้พระราชายินดี

    เพราะได้กระทำสิ่งที่เข้าใจว่ากระทำให้ศีลขาด

    พระโพธิสัตว์ตรัสว่า

    เรามีความรังเกียจในกุรุธรรมอยู่ แต่พระมารดาของเรารักษาไว้ได้เป็นอย่างดี พวกท่านจงถือเอาในสำนักของพระมารดาของเราเถิด

    เข้าใจว่ามีผู้ที่รักษาศีลได้บริสุทธิ์กว่าพระองค์ คือ พระมารดา เพราะฉะนั้น ก็ให้พวกอำมาตย์ที่เป็นทูตนั้นไปสู่สำนักของพระมารดา

    ทูตทั้งหลายนั้นก็กราบทูลว่า

    ข้าแต่มหาราช พระองค์ไม่มีเจตนาว่าจักฆ่าสัตว์ เพราะเว้นเจตนานั้นจึงชื่อว่าไม่เป็นปาณาติบาต ขอพระองค์จงให้กุรุธรรมที่ทรงรักษาแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเถิด

    พระโพธิสัตว์ตรัสว่า

    ถ้าอย่างนั้นก็จงเขียนเอาเถิดพ่อ แล้วให้จารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏว่า

    ปาโณ น หนฺตพฺโพ ไม่พึงฆ่าสัตว์ ๑

    อทินฺนํ นาทาตพฺพํ ไม่พึงถือสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ๑

    กาเมสุมิจฺฉาจาโร น จริตพฺโพ ไม่พึงประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ๑

    มุสาวาโท น ภาสิตพฺโพ ไม่พึงกล่าวคำเท็จ ๑

    มชฺชปานํ น ปาตพฺพํ ไม่พึงดื่มน้ำเมา ๑

    เมื่อทรงให้จารึกแล้ว ก็ได้ให้อำมาตย์ซึ่งเป็นทูตเหล่านั้นไปเฝ้าพระมารดาของพระองค์

    นี่คนที่ ๑ ซึ่งเห็นอกุศลของตนเองอย่างละเอียด

    ทูตทั้งหลายถวายบังคมพระราชา แล้วไปยังสำนักของพระมารดาของ พระโพธิสัตว์

    ซึ่งในชาติที่พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระมารดาในครั้งนั้นคือพระนางสิริมหามายา

    พวกทูตทั้งหลายกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระเทวี ได้ยินว่าพระองค์ทรงรักษากุรุธรรม ขอพระองค์จงประทาน กุรุธรรมนั้นแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

    พระเทวีตรัสว่า

    เรารักษากุรุธรรมก็จริง แต่บัดนี้เราเกิดความรังเกียจในกุรุธรรมนั้น กุรุธรรมนั้นไม่ทำเราให้ยินดี เพราะเหตุนั้นเราจึงไม่อาจให้แก่ท่านทั้งหลาย

    ที่พระองค์ตรัสอย่างนี้ก็เพราะเหตุว่า

    พระเทวีนั้นมีพระโอรส ๒ องค์ คือ พระราชาผู้เป็นพระเชษฐา ซึ่งเป็น พระโพธิสัตว์ และพระอุปราชผู้เป็นพระกนิษฐา ครั้งนั้น มีพระราชาองค์หนึ่งทรงส่งแก่นจันทน์อันมีค่าแสนหนึ่ง และดอกไม้ทองมีค่าพันหนึ่งมาถวายพระโพธิสัตว์ พระองค์ทรงคิดว่าจักบูชาพระมารดา จึงทรงส่งของทั้งหมดนั้นไปถวายพระราชมารดา พระราชมารดาทรงพระดำริว่า เราจะไม่ลูบไล้แก่นจันทน์ จะไม่ทัดทรงดอกไม้ จักให้แก่นจันทน์และระเบียบดอกไม้นั้นแก่สะใภ้ทั้งสอง ลำดับนั้น พระเทวีได้มีความดำริดังนี้ว่า สะใภ้คนโตของเราเป็นใหญ่ ดำรงอยู่ในตำแหน่งอัครมเหสี เราจักให้ระเบียบดอกไม้ทองแก่สะใภ้คนโต ส่วนสะใภ้คนเล็กเป็นคนยากจน เราจักให้ แก่นจันทน์แก่สะใภ้คนเล็ก พระนางจึงประทานระเบียบดอกไม้ทองแก่พระเทวี ของพระราชา และประทานแก่นจันทน์แก่พระมเหสีของพระอุปราช เมื่อประทาน ไปแล้วพระราชมารดาได้มีความรังเกียจว่า เรารักษากุรุธรรม การที่หญิงสะใภ้เหล่านั้นยากจนหรือไม่ยากจน ไม่เป็นประมาณสำหรับเรา ก็การกระทำเชษฐาปจายิกกรรมเท่านั้นสมควรแก่เรา เพราะความที่เราไม่ทำเชษฐาปจายิกกรรมนั้น ศีลของเราจะ แตกทำลายบ้างไหมหนอ

    ทูตทั้งหลายก็ได้กราบทูลพระราชมารดาว่า

    ขึ้นชื่อว่าของของตน บุคคลย่อมให้ได้ตามชอบใจ พระองค์ทรงกระทำความรังเกียจด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้ จักทรงกระทำกรรมอันลามกอย่างอื่นได้อย่างไร ธรรมดาศีลย่อมไม่แตกทำลายด้วยเหตุเห็นปานนี้ ขอพระองค์จงประทานกุรุธรรม แก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเถิด

    แล้วถือเอากุรุธรรมในสำนักของพระราชมารดาแม้นั้นจดจารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

    มีท่านผู้ใดสงสัยในเรื่องเชษฐาปจายิกกรรมบ้างไหม

    แม้เพียงการกระทำที่เป็นการไม่เคารพต่อผู้ใหญ่ สำหรับผู้ที่มีสติก็จะระลึกได้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่สมควร เช่น พระราชมารดาควรจะประทานแก่นจันทน์อันมีค่าหนึ่งแสนให้แก่สะใภ้คนโตผู้ดำรงอยู่ในตำแหน่งอัครมเหสีของพระราชา แต่พระนางกลับประทานดอกไม้ทองมีค่าหนึ่งพันห้า และประทานแก่นจันทน์อันมีค่าหนึ่งแสนแก่ สะใภ้คนเล็กผู้เป็นพระเทวีของพระอุปราช เพราะทรงเห็นว่าสะใภ้คนเล็กเป็นคนยากจน

    แสดงให้เห็นว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร สำหรับผู้ที่อยู่ในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ เช่น พระอัครมเหสี ก็ควรที่จะได้ประทานแก่นจันทน์อันมีค่าหนึ่งแสน แต่เมื่อ พระราชมารดาไม่ได้กระทำอย่างนั้น ก็ได้ระลึกถึงการกระทำที่ไม่สมควรของพระองค์ และได้ตรัสกับพวกอำมาตย์ซึ่งเป็นทูตว่า

    เมื่อเป็นอย่างนั้น กุรุธรรมก็ยังไม่ทำให้เรายินดีพอใจได้ แต่พระสุณิสาคือ สะใภ้ของเรา รักษากุรุธรรมนั้นได้เป็นอย่างดี ท่านทั้งหลายจงถือเอาในสำนักของ พระสุณิสานั้นเถิด

    ทูตเหล่านั้นก็ได้พากันไปเฝ้าพระอัครมเหสี และได้ทูลขอกุรุธรรมโดยนัยก่อน

    ซึ่งพระอัครมเหสีในครั้งนั้นก็คือพระนางยโสธราพิมพาในครั้งนี้นั่นเอง

    พระอัครมเหสีก็ได้ตรัสโดยนัยก่อนเหมือนกัน แล้วตรัสว่า

    ชื่อว่าศีล ย่อมไม่ทำเราให้ยินดีพอใจ เพราะเหตุนั้น เราไม่อาจให้พวกท่าน

    ทั้งนี้ก็เป็นเพราะเหตุว่า วันหนึ่งขณะที่พระอัครมเหสีประทับยืนที่สีหบัญชร ได้ทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชประทับนั่งบนหลังช้างเบื้องหลังพระราชาผู้ทรงกระทำประทักษิณเลียบพระนคร พระนางบังเกิดความโลภด้วยทรงพระดำริว่า ถ้าเราได้ทำความเชยชิดกับพระมหาอุปราชไซร้ เมื่อพระเชษฐาสวรรคตไป พระมหาอุปราชนี้ได้ดำรงอยู่ในราชสมบัติ จะได้สงเคราะห์เรา

    ลำดับนั้น พระอัครมเหสีนั้นได้มีความรังเกียจว่า เรากำลังรักษากุรุธรรมอยู่ ทั้งเป็นผู้มีพระสวามีอยู่ ยังแลดูชายอื่นด้วยอำนาจกิเลส ศีลของเราคงจะแตกทำลาย

    เพราะฉะนั้น พระอัครมเหสีจึงตรัสอย่างนั้น

    ทูตทั้งหลายจึงกราบทูลพระอัครมเหสีว่า

    ข้าแต่พระแม่เจ้า ธรรมดาว่าการประพฤติล่วงละเมิดย่อมไม่มีด้วยเหตุเพียง จิตตุปบาทเกิดความคิดขึ้น พระองค์ทรงมีความละอายแม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จักทรงกระทำความล่วงละเมิดอะไรได้ ศีลย่อมไม่แตกทำลายด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ ขอพระองค์จงประทานกุรุธรรมแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเถิด

    แล้วได้ถือเอากุรุธรรมในสำนักของพระอัครมเหสี แล้วจดจารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

    แสดงให้เห็นถึงความวิจิตรของความคิด ในครั้งอดีต ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ในฐานะอย่างไร ก็อาจจะเกิดความคิดซึ่งเป็นอนัตตาจริงๆ ถ้าทุกท่านจะย้อนคิดถึงความคิดของท่านที่แล้วมาก็อาจจะรู้สึกว่า ไม่น่าเลยที่ความคิดอย่างนั้นจะเกิดขึ้น แต่ความคิดนั้นเกิดขึ้นแล้วด้วยความเป็นอนัตตา ด้วยเหตุปัจจัย

    มีท่านผู้หนึ่งได้เล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งที่ท่านได้เดินทางไปต่างจังหวัดกับดิฉัน และขณะที่ดิฉันกำลังลงจากเขาลูกเล็กๆ ท่านก็เกิดความคิดว่า จะผลักอาจารย์ให้ ตกเขา นี่เป็นสิ่งที่ท่านเล่าให้ฟัง ซึ่งไม่น่าจะเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่โต แต่เป็นเรื่องน่าขันในความคิด ฉะนั้น ด้วยความเป็นอนัตตาก็จะเห็นได้ว่า ทำไมช่างมีความคิดแปลกๆ และเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจล่วงหน้า หรือโดยไม่ได้คิดอะไร แต่แม้อย่างนั้นก็ยัง เกิดความคิดอย่างนี้ขึ้นได้

    แสดงให้เห็นว่า ความคิด ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แต่ท่านผู้นั้นก็มี ความเดือดร้อนใจพอสมควร เมื่อได้เล่าให้ดิฉันฟังแล้ว ดิฉันก็บอกว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่สุดที่ความคิดอะไรๆ ก็ย่อมเกิดขึ้นได้ทั้งนั้นไม่ว่ากับใคร ซึ่งท่านผู้นั้นก็เป็นผู้ที่มีความเคารพในดิฉันอย่างยิ่งท่านหนึ่ง แต่แม้อย่างนั้นก็ยังเกิดความคิดขึ้นมาได้ว่า จะผลักให้ตกเขา นี่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยเป็นอนัตตาจริงๆ

    ท่านผู้ฟังคงเคยได้ยินรายนามของผู้บริจาคเงินที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุ สทร. ที่มีท่านผู้หนึ่งใช้นามว่า ผู้มีอกุศลวิตก ซึ่งก็น่าอนุโมทนาที่ท่านเป็นผู้มีสัจจะ มีความจริง กล้าที่จะกล่าวว่า ตนเองเป็นผู้ที่มีอกุศลวิตก เพราะบางคนอาจจะคิดว่า ไม่ควรเลยที่จะใช้คำนี้ ควรที่จะใช้คำว่า ผู้มีกุศลวิตก แต่ใครบ้างที่จะไม่มีอกุศลวิตก

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเองรู้ว่ามีอกุศลวิตก และเปิดเผยความจริงว่า เป็นผู้ที่มีอกุศลวิตก ก็น่าที่จะอนุโมทนาความจริงใจในสัจจะของท่านผู้นั้น ซึ่งต่อมาท่านผู้นั้นก็เปลี่ยนเป็น ผู้ไขน้ำ เพราะว่าเป็นผู้ที่กำลังเพียรเพื่อละอกุศลธรรม ก็เป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แต่ถ้าเป็นผู้ที่ตรง ต่อตัวเอง และเป็นผู้ที่จริงใจ ย่อมสามารถรู้ว่า ขณะใดจิตเป็นอกุศล ขณะใดจิต เป็นกุศล และก็เพียรเพื่อที่จะละอกุศลนั้น

    พระอัครมเหสีตรัสว่า

    เมื่อเป็นอย่างนั้น ศีลก็ยังไม่ทำเราให้ยินดีพอใจ

    ถ้าทุกท่านจะคิดถึงศีลของท่านเอง ซึ่งอาจจะขาดไปวันไหนเมื่อไรด้วย ความคิดต่างๆ ขณะนั้นก็จะเกิดความไม่ยินดี มีความละอายที่ได้ล่วงศีลนั้น

    พระอัครมเหสีตรัสต่อไปว่า

    ก็พระมหาอุปราชทรงรักษาได้อย่างดี พวกท่านจงถือเอาในสำนักของ พระมหาอุปราชเถิด

    ทูตเหล่านั้นก็พากันเข้าไปเฝ้าพระมหาอุปราช ทูลขอกุรุธรรมโดยนัยก่อน นั่นแหละ

    ซึ่งพระมหาอุปราชในครั้งนั้นก็คือท่านพระนันทะในชาติสุดท้ายนั้นเอง

    พระมหาอุปราชนั้นเมื่อเสด็จไปยังที่บำรุงของพระราชาในเวลาเย็น เสด็จไป ด้วยรถ ถึงพระลานหลวงแล้ว ถ้าทรงพระประสงค์จะเสวยในสำนักของพระราชา แล้วทรงบรรทมค้างอยู่ในที่นั้น ก็จะทรงทิ้งเชือกและปฏักไว้ระหว่างแอกรถ เป็นสัญญาณเครื่องหมายให้พวกข้าราชบริพารผู้ตามเสด็จทราบว่า จะเสด็จกลับเช้าตรู่วันรุ่งขึ้น และพวกข้าราชบริพารก็จะไปยืนคอยพระองค์เมื่อเสด็จออก และ นายสารถีนั้นก็จะนำรถนั้นกลับไป เช้าตรู่วันรุ่งขึ้นก็จะนำรถนั้นมาจอดรอที่ประตู พระราชนิเวศน์ แต่ถ้าทรงมีพระประสงค์จะเสด็จกลับในวันนั้น จะทรงวางเชือกและปฏักไว้ข้างในรถ แล้วจึงเสด็จไปเฝ้าพระราชา พวกข้าราชบริพารก็จะยืนรออยู่ที่ประตูพระราชวังนั่นเอง

    วันหนึ่ง พระมหาอุปราชนั้นทรงวางเชือกและปฏักไว้ในรถ แล้วเสด็จเข้าไปยังพระราชวัง พอเสด็จเข้าไปเท่านั้น ฝนก็ตก พระราชาตรัสว่า ฝนกำลังตก ไม่ทรงให้พระมหาอุปราชนั้นเสด็จออกมา พระมหาอุปราชจึงเสวย แล้วบรรทมอยู่ใน พระราชวังนั้นนั่นเอง พวกข้าราชบริพารก็ยืนเปียกฝนรอพระมหาอุปราชตลอดคืนยันรุ่ง

    ในวันรุ่งขึ้น พระมหาอุปราชจึงได้เสด็จออกมา ทรงเห็นพวกข้าราชบริพาร ยืนเปียกฝนอยู่ ทรงเกิดความละอายว่า เราเมื่อรักษากุรุธรรมอยู่ ยังทำให้คนเหล่านี้ลำบากถึงอย่างนี้ ศีลของเราเห็นจะพึงแตกทำลาย ด้วยเหตุนั้นพระมหาอุปราชจึง ตรัสแก่ทูตเหล่านั้นว่า

    เรารักษากุรุธรรมอยู่ก็จริง แต่บัดนี้เรามีความละอายอยู่ เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่อาจให้กุรุธรรมแก่ท่านทั้งหลาย

    แล้วได้ตรัสเรื่องนั้นให้พวกทูตเหล่านั้นฟัง

    ทูตทั้งหลายได้ทูลพระมหาอุปราชว่า

    ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์มิได้มีความคิดว่า ชนเหล่านี้จงลำบาก กรรมที่ทำโดยหาเจตนามิได้ ไม่จัดว่าเป็นกรรม เมื่อพระองค์ทรงมีความละอายแม้ด้วยเหตุ มีประมาณเท่านี้ ความล่วงละเมิดจักมีได้อย่างไร

    แล้วได้รับเอาศีลในสำนักของพระมหาอุปราชแม้นั้น จดจารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๒ ตอนที่ ๑๘๑๑ – ๑๘๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 104
    28 ธ.ค. 2564