แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1128


    ครั้งที่ ๑๑๒๘


    สาระสำคัญ

    ปุเรชาตปัจจัย หมายถึงรูปซึ่งเกิดก่อนและยังไม่ดับไปเป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกเกิด

    ปุเรชาตปัจจัย มี ๒ อย่าง

    อภิธัมมัตถวิภาวินี ปริจเฉทที่ ๘ - ความหมายของฐีติขณะ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ มีนาคม ต่อวันอาทิตย์ที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๕


    ถ. จะพิจารณาเฉพาะรูปที่ปรากฏอย่างเดียว หรือควรจะพิจารณาทั้งรูปและนามที่ปรากฏขึ้น

    สุ. เมื่อต้องรู้ทั้งนามธรรมและรูปธรรม ก็จะต้องพิจารณานามธรรมหรือรูปธรรม แล้วแต่สติที่จะระลึกได้

    ถ. ตามที่ปฏิบัติมารู้สึกว่า การฟังหรือการศึกษาให้เข้าใจมีความสำคัญมาก เพราะเมื่อเริ่มปฏิบัติใหม่ๆ นั้น ก็มีสติเกิดขึ้น แต่ปัญญาไม่เกิด ที่ปัญญาไม่เกิดเพราะไม่ได้พิจารณาในสภาพธรรมที่ปรากฏ เพียงแต่มีสติระลึกสภาพที่ปรากฏว่า มีลักษณะอย่างไรเท่านั้น ต่อเมื่อได้ฟัง ได้ศึกษาให้เข้าใจถึงสภาพของรูปและนามที่ปรากฏ ปัญญาจึงค่อยเริ่มเจริญขึ้น

    สุ. ก็เป็นปัจจัตตัง คือ ความรู้เฉพาะตนจริงๆ ว่า สติเริ่มระลึก แต่ว่าการที่จะรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมยังไม่รู้เลย ยังยากที่จะรู้ได้ ยังยากที่จะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ไม่ข้ามขั้น คือ ระหว่างขั้นที่สติระลึกและยังไม่รู้ ยังไม่เป็น สติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั้ง ๖ ทวารได้ หรือแม้เพียงทวารใดทวารหนึ่ง ซึ่งตามความเป็นจริงต้องเป็นอย่างนั้น จนกว่าจะค่อยๆ ปรับ เป็น สังขารขันธ์ จนกว่าจะค่อยๆ ศึกษา พิจารณา สังเกต น้อมไปรู้ด้วยตนเอง จนกว่าจะเป็นการรู้ขึ้น จากขั้นที่สติระลึกแล้วยังไม่รู้เพราะยังไม่ได้สำเหนียก สังเกต พิจารณา ศึกษา จนกว่าจะถึงขั้นที่เมื่อสติระลึกก็รู้

    ถ. การดับของรูปารมณ์ จะเป็นตทาลัมพนวาระหรือชวนวาระก็ตาม จะต้องดับพร้อมกับการดับของจักขุปสาทเป็นหลัก ใช่ไหม

    สุ. เมื่อเกิดในขณะที่พร้อมกัน ก็ต้องดับพร้อมกัน แต่ถ้าเกิดในไม่พร้อม ก็ต้องดับไม่พร้อม แต่ที่จะถึงตทาลัมพนวาระต้องพร้อม เพราะแต่ละรูปมีอายุ ๑๗ ขณะ ปสาทรูปก็มีอายุ ๑๗ ขณะ รูปารมณ์ก็มีอายุ ๑๗ ขณะ

    ถ. ที่ว่าเป็นความอัศจรรย์ หมายความว่า ต้องบังเอิญมาพร้อมกันทั้ง จักขุปสาทและรูปารมณ์ ดับพร้อมกัน

    สุ. การที่รูปธรรมและนามธรรมเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันอย่างรวดเร็ว เป็นความน่าอัศจรรย์ เพราะว่ารูปมีอายุเพียง ๑๗ ขณะ ซึ่งนับว่าสั้นมาก และนามธรรมก็เกิดดับเร็วกว่ารูปนั้นอีก แต่นามธรรมและรูปธรรมก็ยังสามารถที่จะเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน โดยรูปธรรมที่เป็นปัจจัย เป็นปัจจัยโดยเป็นปุเรชาตปัจจัย เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดก่อนนามธรรม แต่เวลาที่นามธรรมเป็นปัจจัยแก่รูปธรรม เป็นปัจจัยโดยเป็น ปัจฉาชาตปัจจัย เป็นปัจจัยโดยการเกิดภายหลัง ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

    สำหรับเรื่องของปุเรชาตปัจจัย หมายความถึงรูปซึ่งเกิดก่อนและยังไม่ดับไป เป็นปัจจัยให้นามธรรม คือ จิตและเจตสิกเกิด

    ถ้ารูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ๑๗ ขณะและดับไปโดยไม่เป็นปัจจัยให้นามธรรม คือ ไม่เป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกเกิด รูปนั้นก็ไม่ใช่ปุเรชาตปัจจัย เพราะว่าไม่เป็นปัจจัยให้นามธรรมเกิด เฉพาะรูปใดก็ตามซึ่งเกิดและยังไม่ดับ เป็นปัจจัยให้นามธรรมเกิด พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกาล คือ การเป็นปัจจัยกันว่า รูปต้องเกิดก่อน เพื่อไม่ให้เข้าใจผิดในการที่จะรู้แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั่นเอง

    สำหรับปุเรชาตปัจจัย มี ๒ อย่าง คือ

    วัตถุปุเรชาตปัจจัย หรือปุเรชาตนิสสยปัจจัย หรือเรียกว่า วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย หมายความถึงรูปซึ่งเป็นที่อาศัยเป็นที่เกิดของจิต โดยเป็นสภาพธรรมที่เกิดก่อนจิตและยังไม่ดับ

    อีกอย่างหนึ่ง คือ อารัมมณปุเรชาตปัจจัย ได้แก่ รูปซึ่งเป็นอารมณ์ของจิต ซึ่งรูปที่จะเป็นอารมณ์ของจิตได้ รูปนั้นต้องเกิดก่อนจิต

    แสดงให้เห็นว่า การที่รูปใดๆ ก็ตามจะเป็นปัจจัยให้เกิดจิตได้ รูปนั้นต้องเกิดก่อนและยังไม่ดับจึงเป็นปัจจัยได้ แต่ถ้ารูปใดเกิดและดับไปโดยนามธรรมไม่เกิด รูปนั้นก็ไม่เป็นปัจจัยของจิต

    สำหรับรูปซึ่งเป็นปุเรชาตปัจจัย มี ๑๑ หมวด คือ

    จักขายตนะ ได้แก่ จักขุปสาทรูป ซึ่งเป็นจักขุวัตถุ เป็นปุเรชาตปัจจัยแก่ จักขุวิญญาณและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

    โสตายตนะ ได้แก่ โสตปสาทรูป ซึ่งเป็นโสตวัตถุ เป็นปุเรชาตปัจจัยแก่ โสตวิญญาณและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

    ฆานายตนะ ได้แก่ ฆานปสาทรูป ซึ่งเป็นฆานวัตถุ เป็นปุเรชาตปัจจัยแก่ ฆานวิญญาณและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

    ชิวหายตนะ ได้แก่ ชิวหาปสาทรูป ซึ่งเป็นชิวหาวัตถุ เป็นปุเรชาตปัจจัยแก่ชิวหาวิญญาณและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

    กายายตนะ ได้แก่ กายปสาทรูป ซึ่งเป็นกายวัตถุ เป็นปุเรชาตปัจจัยแก่ กายวิญญาณและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

    รูปายตนะ ได้แก่ รูปารมณ์ เป็นปุเรชาตปัจจัยแก่วิถีจิตทางจักขุทวาร คือ จักขุทวารวิถีจิต

    สัททายตนะ ได้แก่ สัททารมณ์ เป็นปุเรชาตปัจจัยแก่วิถีจิตทางโสตทวาร

    คันธายตนะ ได้แก่ คันธารมณ์ เป็นปุเรชาตปัจจัยแก่วิถีจิตทางฆานทวาร

    รสายตนะ รสต่างๆ ได้แก่ รสารมณ์ เป็นปุเรชาตปัจจัยแก่วิถีจิตทาง ชิวหาทวาร

    โผฏฐัพพายตนะ ได้แก่ โผฏฐัพพารมณ์ เป็นปุเรชาตปัจจัยแก่วิถีจิตทางกายทวาร

    และหทยวัตถุ เป็นวัตถุปุเรชาตปัจจัยในปวัตติกาล คือ หลังจากปฏิสนธิ

    ถ้าจะกล่าวโดยย่อ ก็ย่อสำหรับปัจจัยแต่ละปัจจัย

    สำหรับความหมายของฐีติขณะ คือ สภาพธรรมซึ่งเกิดและตั้งอยู่ยังไม่ดับไป ซึ่งข้อความใน อภิธัมมัตถวิภาวินี ปริจเฉทที่ ๘ อธิบายว่า

    ความเกิดขึ้น ชื่อว่าอุปาทะ ได้แก่ การกลับได้ตัวตน

    ความสลาย ชื่อว่าภังคะ ได้แก่ ความพินาศแห่งรูปที่มีอยู่

    ความเป็นไป บ่ายหน้าสู่ความสลาย ในระหว่างความเกิดและความสลาย ทั้งสอง ชื่อว่าฐิติ

    นี่คือความหมายของอุปาทะ ฐิติ ภังคะ

    ความเกิดขึ้น ชื่อว่าอุปาทะ ได้แก่ การกลับได้ตัวตน

    ไม่มีแล้วก็มี อย่างธาตุแข็ง หรือเสียง เกิดมีขึ้น เป็นตัวตนขึ้น คือเป็นสภาพของเสียง นั่นคืออุปาทะ การเกิดขึ้น หรือขณะที่เกิด

    ความสลาย ชื่อว่าภังคะ ได้แก่ ความพินาศของรูปที่มีอยู่

    รูปใดก็ตามซึ่งเกิดแล้ว ความสลายไปของรูปนั้น คือ ภังคะ

    สำหรับฐิติ คือ ความเป็นไป บ่ายหน้าสู่ความสลาย ในระหว่างความเกิด และความสลายทั้งสอง ชื่อว่าฐิติ

    ปุเรชาตปัจจัย รูปธรรมเป็นปัจจัยแก่นามธรรม

    ส่วนนามธรรมที่เกิดทีก่อนเป็นปัจจัยแก่รูปธรรมได้ไหม ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น จิตสั่ง ไม่มีโดยประการใดๆ ทั้งปวง เพราะว่ารูปที่เกิดเพราะกรรม มีกรรมเป็นสมุฏฐาน แม้ว่าจะกำลังนอนหลับอยู่ เวลาที่จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง กรรมเป็นสมุฏฐานให้กัมมชรูปเกิดขึ้นในอุปาทขณะ ในฐีติขณะ และในภังคขณะ ทุกๆ ขณะไป ไม่มีใครยับยั้งได้เลย

    สำหรับจิตตชรูป เกิดขึ้นพร้อมอุปาทขณะของจิต ทันทีที่จิตเกิด รูปที่เกิดเพราะจิตก็เกิด

    อุตุชรูป เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิด ขณะอุปาทขณะ รูปนั้นจะไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูปใดๆ ทั้งสิ้น แต่ในฐีติขณะ ขณะนั้นอุตุชรูปเกิด อุตุชรูป รูปซึ่งเกิดเพราะอุตุจะเกิดในฐีติขณะ ทุกๆ ฐีติขณะ

    อาหารชรูปก็เกิดตามควรเวลาที่โอชาแผ่ซ่านไป ตั้งแต่เริ่มอยู่ในครรภ์ของมารดา

    เพราะฉะนั้น จะมีความคิดหรือความเข้าใจได้ไหมว่า จิตสั่ง ถ้าตรวจสอบตามปัจจัยทั้งหมด จะได้แก่ปัจจัยอะไร นี่เป็นเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยละเอียดทุกประการ แม้กาลของการเป็นปัจจัยว่า ถ้ารูปเป็นปัจจัยแก่นามธรรม ต้องเป็นโดยปุเรชาตปัจจัย คือ รูปนั้นต้องเกิดก่อนและยังไม่ดับ เมื่อรูปนั้นยังตั้งอยู่ เป็นฐีติขณะเท่านั้น จึงสามารถเป็นปัจจัยให้นามธรรมเกิดได้

    ถ. เรื่องจิตสั่ง ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องของปัจจัย จะเห็นด้วยร้อยทั้งร้อย คือ เขาจะยกทางกายทวารทวารเดียว ถ้าจิตไม่สั่งให้เดิน ร่างกายนี้ก็ไม่เดิน ถ้าจิตไม่สั่งให้ยกมือ มือก็ไม่ยก

    สุ. เป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องพิจารณา และต้องเป็นผู้ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริงจึงสามารถที่จะดับกิเลสได้ โดยสามารถที่จะรู้แจ้งลักษณะของ สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    ถ. เรื่องของอุปาทะ ฐิติ ภังคะ ที่อัฏฐสาลินีกล่าวว่า อุปาทะ หมายถึงเกิดขึ้น ภังคะหมายถึงดับไป ระหว่างนั้นเรียกว่าฐิติ หมายความว่า ตั้งแต่อตีตภวังค์เรียกว่า อุปาทะ

    สุ. หมายความถึงรูปไหนที่ใช้คำว่า อตีตภวังค์

    ถ. สมมติว่าเป็นรูปารมณ์ รูปทั้งหมดมี ๓ ขณะ

    สุ. รูปเกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณจิตได้ไหม

    ถ. ไม่ได้

    สุ. รูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เกิดในขณะเดียวกับอุปาทขณะของจักขุวิญญาณ ฐีติขณะของจักขุวิญญาณ ภังคขณะของจักขุวิญญาณได้ไหม

    ถ. ได้

    สุ. ได้ เพราะฉะนั้น การเกิดของรูปอย่าปนกับนามธรรม เพราะว่าสมุฏฐาน คือ ธรรมที่ก่อตั้งให้รูปเกิดขึ้น มี ๔ สมุฏฐาน คือ กรรม ๑ จิต ๑ อุตุ ๑ อาหาร ๑

    รูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน ได้แก่ กลาปซึ่งเป็นจิตตชรูปเท่านั้น ซึ่งต้องเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิต ตั้งอยู่ ๑๗ ขณะและก็ดับ

    ถ้าศึกษาโดยละเอียดจะทราบว่า ปฏิสนธิจิตไม่เป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด ตั้งแต่ปฐมภวังคจิตเป็นต้นไปจึงเป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด ยกเว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง เมื่อปฐมภวังค์เกิดขึ้น ในอุปาทขณะของปฐมภวังค์มีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วย เกิดพร้อมกัน แต่ยังไม่ดับ แม้ว่าปฐมภวังค์ดับไปแล้ว รูปที่เกิดพร้อมอุปาทขณะของปฐมภวังค์จะอยู่ต่อไปถึง ๑๗ ขณะของจิต

    ในทุติยภวังค์ คือ ภวังค์ดวงที่ ๒ หรือภวังค์ขณะที่ ๒ ในอุปาทขณะของภวังคจิตดวงที่ ๒ จิตตชรูปก็เกิด ตั้งอยู่ ๑๗ ขณะและจึงดับ

    เพราะฉะนั้น รูปก็เกิดไปตามสมุฏฐาน ไม่เกี่ยวกับเรื่องว่า จะต้องเกิดพร้อมกับขณะนั้น หรือพร้อมกับขณะนี้ แต่ตามสมุฏฐาน ถ้ามีกรรมเป็นสมุฏฐาน รูปเกิดทุกขณะจิต ทั้งในอุปาทะ ฐิติ และภังคะของทุกๆ ขณะจิต แม้แต่เวลาที่ ทวิปัญจวิญญาณเกิด กัมมชรูปก็เกิดในอุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ แต่ที่จะเป็นปัจจัยโดยเป็นที่อาศัยเกิดของจิต หรือว่าโดยเป็นอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต้องในขณะที่เกิดขึ้นและยังไม่ดับ แต่ในอุปาทขณะของรูปจะไม่เป็นปัจจัยให้นามธรรมเกิด รูปจะเป็นปัจจัยได้เฉพาะในฐีติขณะของรูป

    นี่เป็นความละเอียดที่แสดงให้เห็นความเป็นปัจจัยโดยรวดเร็วว่า ถ้ารูปจะเป็นปัจจัย ต้องเป็นในขณะไหน

    เพราะฉะนั้น รูปก็เกิดไปเรื่อยๆ ตามสมุฏฐาน รูปไหนเกิดขึ้นก็ต้องตั้งอยู่ ๑๗ ขณะจึงจะดับ ไม่ว่าใครจะรู้หรือไม่รู้ จะเป็นที่เกิดของจิตหรือไม่เป็นที่เกิดของจิต รูป ก็เกิดดับไปเรื่อยๆ

    ถ. นามเป็นปัจจัยแก่รูปไม่ได้ แต่นามเป็นปัจจัยแก่นามได้

    สุ. ไม่ใช่นามเป็นปัจจัยแก่รูปไม่ได้ นามเป็นปัจจัยแก่รูปโดยเกิดภายหลัง เป็นปัจฉาชาตปัจจัย ถ้านามเป็นปัจจัยแก่รูปโดยการเกิดพร้อมกันในอุปาทขณะ นั่นเป็นจิตตชรูป เป็นสหชาตปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ต้องแยกว่าพูดถึงรูปอะไร ถ้าพูดถึงกัมมชรูป กรรมเป็นสมุฏฐาน ทำให้รูปเกิดทุกอุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์หรือเป็นที่เกิด หรือไม่เป็นที่เกิดก็ตาม เมื่อมีกรรมเป็นสมุฏฐาน กรรมก็ทำให้รูปนั้นเกิด และตั้งอยู่ ๑๗ ขณะจึงดับ แต่ไม่ได้หมายความว่านามไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิด นามเป็นปัจจัยให้รูปเกิดได้ คือ จิตและเจตสิกเป็นปัจจัยให้รูปเกิดโดยเป็นสหชาตปัจจัย คือ เกิดพร้อมกันในอุปาทขณะ แต่ถ้านามเป็นปัจจัยแก่รูปโดยปัจฉาชาตปัจจัย นามไม่ได้เป็นปัจจัยให้เกิด แต่เป็นปัจจัยเพียงโดยอุปถัมภ์

    ถ้าพิจารณาจะทำให้เข้าใจสภาพธรรมโดยละเอียดว่า ธรรมที่เป็นปุเรชาตปัจจัย ได้แก่ รูปธรรมเท่านั้น เป็นปัจจัยให้นามธรรมเกิดขึ้นโดยที่รูปนั้นต้องเกิดก่อนนามธรรม และรูปนั้นยังไม่ดับไป จึงจะเป็นปัจจัยให้นามธรรมเกิดได้

    แสดงให้เห็นว่า รูปที่กายของแต่ละบุคคลมีมากมายหลายกลุ่ม หลายกลาปะ หรือที่ภาษาไทยใช้คำว่า หลายกลาป รูปเกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐานก็มี แต่ว่ารูปนั้นต้องเกิดพร้อมกับจิต รูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐานก็มี รูปที่เกิดเพราะอุตุ ความเย็นความร้อนเป็นสมุฏฐานก็มี รูปที่เกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐานก็มี แต่รูปที่จะเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นนั้น ต้องเป็นรูปซึ่งเกิดก่อนจิตนั้นและยังไม่ดับไป

    เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่า ขณะนี้ที่ทุกท่านกำลังนั่งอยู่ รูปทุกกลุ่ม หรือทุกกลาป จะเป็นปุเรชาตปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น

    เรื่องของรูปธรรมและนามธรรมที่กาย ต้องรู้โดยละเอียดว่า มีหลายกลุ่ม และกลุ่มไหน กลาปไหน ซึ่งไม่เป็นอายตนะ คือ ไม่เป็นที่ประชุม ไม่เป็นที่ต่อ ไม่เป็นอายตนะภายใน หรือไม่เป็นอายตนะภายนอก รูปนั้นก็เกิดดับไปโดยที่ว่า มีก็เหมือน ไม่มี เพราะว่าไม่มีใครรู้ความเกิดดับโดยรวดเร็วของรูปนั้น

    สำหรับรูปซึ่งไม่เป็นอายตนะ ไม่เป็นทั้งอายตนะภายใน และอายตนะภายนอก คือ ไม่เป็นอารมณ์ ถึงแม้ว่าธาตุทั้ง ๔ จะไม่สม่ำเสมอกัน เป็นโรคชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็ตาม แต่ถ้ารูปนั้นไม่ปรากฏ ไม่เป็นอารมณ์เลย จะเป็นสุขเป็นทุกข์ได้ไหม ก็ไม่ได้ และรูปนั้นก็ดับไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน เพราะฉะนั้น รูปอื่นก็เกิดสืบต่ออย่างเร็วได้ ไม่เช่นนั้นความตายก็ย่อมไม่มีที่จะปรากฏว่า ไม่นานเลยรูปนั้นก็แปรสภาพจากรูปที่มีชีวิตไปสู่รูปที่ไม่มีชีวิต แต่เพราะรูปทุกรูปดับเร็วมาก ทันทีที่จุติจิตดับ กัมมชรูปดับหมดพร้อมกับจุติจิต หลังจากนั้นอีกเล็กน้อย คือ เพียง ๑๗ ขณะ จิตตชรูปซึ่งเกิดพร้อมกับจุติจิต และอาหารชรูปก็ดับ คงเหลือแต่รูปที่เกิดเพราะอุตุซึ่งเริ่มแตก เสื่อม แปรสภาพจากรูปที่มีชีวิตเป็นรูปที่ไม่มีชีวิต

    นี่เป็นในขณะที่จะเห็นความต่างกันของการดับไปของรูปอย่างเร็วหลังจุติจิตว่า เพียงภายใน ๑๗ ขณะของจิตซึ่งเร็วมาก รูปอื่นที่นอกจากกัมมชรูปซึ่งดับไปพร้อมกับจุติจิตก็ดับ เหลือแต่เพียงอุตุชรูป คือ รูปซึ่งเกิดที่ซากศพเท่านั้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๑๑๒๑ – ๑๑๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 85
    28 ธ.ค. 2564