แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1088


    ครั้งที่ ๑๐๘๘

    สาระสำคัญ

    สภาพธรรมที่มีกำลังเป็นอธิปติปัจจัย (มีเหตุร่วมด้วยอย่างน้อย ๒ เหตุ)

    ศึกษารู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ


    สำหรับจิตชาติกุศลมี ๔ ภูมิ เป็นชวนจิต นอกจากอกุศลจะเป็นชวนจิตแล้ว กุศลก็เป็นชวนจิตด้วย นอกจากนั้นกิริยาจิตของพระอรหันต์ก็เป็นชวนจิตด้วย เพราะเมื่อมีการเห็นแล้วไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นกุศลหรืออกุศล แต่ก็เป็นโสภณจิตซึ่งกระทำชวนกิจโดยความเป็นกิริยา โดยชาติกิริยา ซึ่งไม่เป็นเหตุให้เกิดผล เพราะฉะนั้น แทนที่จะเป็นมหากุศลจิตอย่างคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ สำหรับพระอรหันต์ก็เป็นกิริยาจิต

    สำหรับพระอรหันต์ที่ได้รูปาวจรฌานก็เป็นรูปาวจรกิริยาจิต และถ้าเป็น พระอรหันต์ที่ได้ถึงอรูปฌานก็เป็นอรูปาวจรกิริยาจิต แต่โลกุตตรจิตไม่มีชาติกิริยา

    นี่เป็นความละเอียดของการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อสรุปประมวลแล้ว ชวนจิตมี ๕๕ เป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นกิริยา และเป็น โลกุตตรวิบาก ๔ ดวงด้วย

    สำหรับโลกุตตรวิบากไม่เหมือนโลกียวิบาก ถ้าเป็นกุศลขั้นกามาวจร ไม่ได้ให้ผลทันทีหลังจากที่กุศลจิตนั้นดับไป หรือถ้าเป็นกุศลที่เป็นขั้นรูปาวจรก็ดี อรูปาวจร ก็ดี เมื่อดับไปแล้ว บุคคลที่อบรมเจริญความสงบจนกระทั่งฌานจิตเกิดในภูมิที่เป็นมนุษย์ยังไม่เป็นพรหมบุคคลทันที แต่ถ้ารูปาวจรกุศลนั้นไม่เสื่อมและเกิดก่อนจะจุติ จะทำให้ปฏิสนธิจิตของบุคคลนั้นเป็นรูปาวจรวิบากจิตเกิดในรูปพรหมภูมิ เป็น รูปพรหมบุคคล หรือถ้าอรูปาวจรกุศลจิตเกิดก่อนจุติก็จะทำให้บุคคลนั้นเกิดใน อรูปพรหมภูมิ เป็นอรูปพรหมบุคคล

    เพราะฉะนั้น กุศลอื่นทั้งหมดไม่ได้ให้ผลทันทีที่กุศลจิตนั้นดับไป เว้น โลกุตตรกุศลจิตเท่านั้น ซึ่งเมื่อดับไปโลกุตตรวิบาก คือ ผลจิต เกิดต่อทันที มีนิพพานเป็นอารมณ์เช่นเดียวกับโลกุตตรมรรค เพราะฉะนั้น สำหรับโลกุตตรวิบากจิต ๔ ดวง กระทำชวนกิจ จึงเป็นชวนจิตด้วย รวมเป็นชวนจิต ๕๕ ดวง

    สำหรับสภาพธรรมที่มีกำลังทำให้เป็นอธิปติปัจจัยได้ ต้องเป็นสภาพธรรม คือ จิตและเจตสิกที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยอย่างน้อย ๒ เหตุ จะไม่เกิดกับอเหตุกจิตซึ่งไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย และจะไม่เกิดกับโมหมูลจิตซึ่งมีเหตุเกิดร่วมด้วยเพียงเหตุเดียว

    สำหรับจิตที่ไม่เกิดร่วมกับเหตุ เป็นอเหตุกจิต มีอุปมาว่า เหมือนสาหร่ายที่ลอยไปตามน้ำ แต่สำหรับจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเหมือนกับต้นไม้ที่มีรากลึก ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นดอก เป็นใบ เป็นผล ที่จะงอกงามเจริญเติบโตได้ เพราะว่ามีราก ฉันใด จิตที่มีกำลังก็ต้องประกอบด้วยเหตุ ถ้าไม่ประกอบด้วยเหตุก็อุปมาเหมือนกับสาหร่ายที่ลอยไปในน้ำ ไม่มีรากที่จะหยั่งลึกที่จะทำให้งอกงามไพบูลย์ได้

    จิตที่จะเป็นสหชาตาธิปติได้ นอกจากเว้นหสิตุปปาทจิตซึ่งเป็นอเหตุกจิต คือ จิตยิ้มแย้มของพระอรหันต์ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุแล้ว แม้โมหมูลจิตซึ่งมีเหตุเกิดร่วมด้วยเพียงเหตุเดียว ก็ยังนับว่าเป็นจิตที่ไม่มีกำลัง เพราะฉะนั้น จึงไม่มีสหชาตาธิปติปัจจัย

    ถ. โลกุตตรจิตเกิดเกิดกี่ขณะ วิบากจิตเกิดกี่ขณะ วิถีนั้นเกิดขึ้นในชวนะ หรือนอกชวนะ

    สุ. ขณะนี้กำลังกล่าวถึงสหชาตาธิปติปัจจัยว่า วิบากจิตทั้งหมดไม่มี สหชาตาธิปติเพราะไม่ใช่ชวนจิต แต่สำหรับโลกุตตรจิต เว้น คือ ถ้าเป็นโลกียวิบากทั้งหมดไม่เป็นสหชาตาธิปติ แต่สำหรับโลกุตตรจิตทั้ง ๘ ดวง คือ โลกุตตรกุศลจิต ๔ ดวง และโลกุตตรวิบากจิต ๔ ดวง ต้องมีสหชาตาธิปติปัจจัย เพราะเป็นจิตที่มีกำลัง

    แม้ว่าโลกุตตรมรรคจิต คือ โสตาปัตติมรรคจิตจะเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว ไม่เหมือนกับกุศลอื่น เช่น กามาวจรกุศลเกิดดับซ้ำกันแล่นไปในอารมณ์ถึง ๗ ขณะ หรือรูปาวจรกุศลจิตในตอนที่เริ่มเกิดจะเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว แต่เมื่อเป็นผู้ที่ชำนาญแล้ว รูปาวจรกุศลจิต ซึ่งแล้วแต่ว่าจะเป็นปฐมฌาน หรือทุติยฌาน หรือตติยฌาน หรือจตุตถฌาน หรือปัญจมฌาน จะเกิดมากมายหลายขณะโดยไม่มีภวังค์คั่น นับเป็นชั่วโมง นับเป็นวันได้ และสำหรับอรูปาวจรกุศลจิตก็เช่นเดียวกัน แต่สำหรับ โลกุตตรกุศลจิต คือ มรรคจิต ในสังสารวัฏฏ์จะเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวเท่านั้น

    โสตาปัตติมรรคจิตไม่เกิด ๒ ครั้ง ไม่เกิด ๓ ครั้ง ไม่เกิด ๔ - ๕ - ๖ - ๗ ครั้ง เพราะว่าโลกุตตรกุศลจิตกระทำกิจดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เมื่อกิเลสประเภทนั้นดับแล้ว กิเลสประเภทนั้นจะไม่เกิดมาให้มรรคจิตชนิดเดียวกันนั้นดับลงไปอีก ไม่จำเป็นที่จะต้องดับซ้ำ เพราะว่าเป็นสมุจเฉทปหาน

    เพราะฉะนั้น โสตาปัตติมรรคจิตในสังสารวัฏฏ์จะเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่บรรลุพระโสดาบันในมนุษย์ โสตาปัตติมรรคจิตก็เกิด ๑ ขณะและดับ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเกิดในสวรรค์ หรือในรูปพรหม หรือในอรูปพรหมก็ตามแต่ ไม่ต้องมี โสตาปัตติมรรคจิตที่จะดับกิเลสอีก เพราะว่ากิเลสที่โสตาปัตติมรรคจิตดับนั้น เป็นสมุจเฉทแล้ว สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค ก็โดยนัยเดียวกัน

    เมื่อโสตาปัตติมรรคจิตดับแล้ว จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้นอกจากโสตาปัตติผลจิต ซึ่งอาจจะเป็น ๒ ขณะ หรือ ๓ ขณะ แล้วแต่ประเภทของบุคคล

    สำหรับผู้ที่ได้ฌานจิตที่ชำนาญคล่องแคล่ว ก็สามารถมีผลสมาบัติ ซึ่ง โสตาปัตติผลจิตสามารถเกิดดับสืบต่อกันตามองค์ฌาน แล้วแต่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้ที่ได้ปฐมฌาน หรือทุติยฌาน หรือตติยฌาน หรือจตุตถฌาน หรือปัญจมฌาน โสตาปัตติผลจิตก็จะเกิดดับสืบต่อเป็นฌานจิต ชื่อว่าผลสมาบัติ แล้วแต่ว่าจะเป็นเวลานานมากน้อยเท่าไรโดยที่ภวังคจิตไม่เกิดคั่น

    โลกุตตรมรรคจิตและโลกุตตรผลจิต โดยชาติ โลกุตตรมรรคจิตเป็นชาติกุศล และโลกุตตรผลจิตเป็นชาติวิบาก กระทำชวนกิจ เป็นชวนจิตทั้งหมด ดังนั้น ต้องมีสหชาตาธิปติปัจจัยโดยแน่นอนสำหรับโลกุตตรวิบาก

    เพราะฉะนั้น สำหรับสหชาตาธิปติปัจจัยให้ทราบว่า เว้นโลกียวิบาก แต่ ไม่เว้นโลกุตตรวิบาก เพราะโลกุตตรวิบากเป็นชวนจิต

    . ผลจิตที่เกิดขึ้นสำหรับผู้ที่ได้ฌานแล้ว โลกุตตรวิบากจิตจะเกิดใน ฌานวิถีอย่างนั้นหรือ เป็นอารมณ์ของฌานจิตหรืออย่างไร

    สุ. ผลจิตหมายความถึงจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์

    ถ. อาจารย์บอกว่า เกิดได้ ๒ หรือ ๓ ขณะ แต่ผู้ที่ได้ฌาน…..

    สุ. ในมรรควิถี ในขณะที่กำลังบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล เมื่อ โสตาปัตติมรรคจิตเกิดและดับไป เป็นปัจจัยให้โสตาปัตติผลจิตเกิดต่อทันที ๒ หรือ ๓ ขณะ

    ถ. ถ้าผู้ที่เป็นฌานลาภีบุคคล เขาจะหน่วงเอาอารมณ์ของโลกุตตรผลจิตเป็นอารมณ์ของฌาน โลกุตตรวิบากจิตจะเกิดสืบต่อหรืออย่างไร

    สุ. ในวิถีหลังๆ เพราะหลังจากที่มรรควิถีจิตดับแล้ว มีภวังค์คั่น หลังจากนั้นปัจจเวกขณวิถีจิตต้องเกิด ปัจจเวกขณวิถีจิต คือ ปัจจเวกขณญาณ เป็นญาณที่พิจารณาอารมณ์ คือ มรรคจิต ผลจิต และนิพพาน ทีละวิถี ไม่ใช่พร้อมๆ กัน

    นี่เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาต่อไป ขณะนี้กำลังพูดถึงสหชาตาธิปติปัจจัย

    . อธิปติปัจจัย คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ถ้าเป็นอกุศลจิต วิมังสา คือ ปัญญา …

    สุ. เกิดไม่ได้ ต้องเว้นสำหรับปัญญาเจตสิก จะต้องเกิดกับโสภณจิต โสภณชวนะเท่านั้น เพราะฉะนั้น การศึกษาต้องเว้นไปๆ ตามเหตุผล เวลาที่ท่านผู้ฟังอ่านในพระไตรปิฎกหรือในอรรถกถา จะแสดงไว้โดยย่อ หลังจากนั้นจะแสดงความละเอียดขึ้นๆ ในภายหลัง แต่ในตอนแรกจะบอกว่า อธิปติปัจจัยเกิดกับชวนจิต ๕๒ ดวง พูดเพียงเท่านี้ และต่อไปก็จะอธิบายว่า เว้นอะไรบ้าง เพราะเหตุใด

    ท่านผู้ฟังจะเห็นเหตุผลที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอธิปติปัจจัยเป็นปัจจัยที่ ๓ ต่อจากเหตุปัจจัยและอารัมมณปัจจัย เพราะว่าวิบากจิตไม่สำคัญอะไรเลย ไม่มีแม้สหชาตาธิปติปัจจัย

    กำลังนอนหลับสนิท ภวังคจิตของบางท่านอาจประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และอโมหเจตสิก คือ ปัญญาเจตสิก ซึ่งเป็นผลของกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ทำให้พื้นจิตเป็นจิตที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยพร้อมที่จะเจริญขึ้นในภายหลังได้

    แต่ในขณะที่นอนหลับสนิท แม้ภวังคจิตของบุคคลนั้นจะมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย บุคคลนั้นจะทำอะไรได้ บุคคลนั้นไม่สามารถทำอะไรได้เลยในขณะที่เป็นภวังคจิต เพราะฉะนั้น แม้ปัญญาจะเกิดกับภวังคจิต ก็ไม่เป็นสหชาตาธิปติปัจจัย

    นี่เป็นเหตุที่วิบากจิตทั้งหมดที่เป็นโลกียวิบากไม่สำคัญอะไรเลย ไม่สามารถเป็นอธิปติปัจจัยได้ เพราะฉะนั้น ชีวิตในวันหนึ่งๆ ขณะที่เป็นชวนจิตที่เป็นกุศลหรือ อกุศล เป็นขณะที่สำคัญ พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงว่า สำหรับชวนจิต ขณะใด ฉันทะเป็นอธิบดี หรือวิริยะเป็นอธิบดี หรือปัญญาเป็นอธิบดี หรือจิตเป็นอธิบดี เพื่อที่จะให้เห็นว่า แม้ในขณะที่กำลังเป็นโลภะ หรือขณะที่กำลังเป็นกุศล สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดปรากฏลักษณะที่เป็นหัวหน้า เป็นอธิบดี ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนทั้งสิ้น เพียงแต่เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะเช่นนั้นเกิดขึ้นด้วยความเป็น อธิปติปัจจัย เพื่อที่จะให้เห็นความเป็นอนัตตาในขณะที่เป็นกุศลหรืออกุศลนั่นเอง

    ถ. ปัญจทวาราวัชชนจิตกับโวฏฐัพพนจิต เป็นสหชาตาธิปติได้ไหม

    สุ. ไม่ได้ทำชวนกิจ อย่าลืม เมื่อประมวลและสรุปแล้ว สหชาตาธิปติปัจจัยจะเกิดได้กับเฉพาะจิตที่เป็นชวนจิตเท่านั้น เพราะฉะนั้น กิริยาจิตอื่นที่ไม่ได้กระทำชวนกิจ ไม่มีสหชาตาธิปติปัจจัย

    ถ. หมายความว่า จิตที่ไม่เป็นสหชาตาธิปติปัจจัย รู้ไม่ได้ทั้งหมด

    สุ. ท่านผู้ฟังจะรู้ได้ไหม ตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน จักขุวิญญาณเกิดขณะเดียวเท่านั้นและดับไป ที่ดูเสมือนว่าเห็นอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ ดับไปเลย ตามความเป็นจริงแล้ว จักขุวิญญาณเกิดขึ้นขณะเดียวและก็ดับ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อและก็ดับ สันตีรณจิตเกิดต่อและก็ดับ โวฏฐัพพนจิตเกิดต่อและก็ดับ แต่ชวนจิตเกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะ ทำให้รู้ว่าสิ่งใดกำลังปรากฏทางตา

    ถ้ามีแต่เฉพาะจักขุวิญญาณเพียงขณะเดียวแท้ๆ โดยที่ชวนจิตไม่ได้รู้อารมณ์ คือสิ่งที่ปรากฏทางตาด้วยทางปัญจทวาร จะรู้ได้ไหมว่า สภาพธรรมใดกำลังปรากฏทางปัญจทวาร

    ถ. สำหรับผม ไม่รู้แน่

    สุ. เพราะฉะนั้น ในอรรถกถาจึงได้กล่าวว่า ที่จะรู้อารมณ์ได้ ก็ตรง ชวนวิถีจิต เพราะว่าเกิดดับซ้ำกันถึง ๗ ขณะ

    ถ. ทุกวันนี้ที่เราเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัสเกิดความรู้ว่าเห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ มีความพอใจ ไม่พอใจนั้น เป็นชวนจิตทั้งหมดหรือ

    สุ. ขณะที่มีความรู้ ต้องเป็นชวนจิตแน่นอน ขณะที่พอใจหรือไม่พอใจ หรือเฉยๆ จะเป็นโลภมูลจิตก็ดี หรือโทสมูลจิตก็ดี หรือโมหมูลจิตก็ดี หรือ กามาวจรกุศลจิตก็ดี ขณะนั้นเป็นชวนจิตทั้งหมด

    ถ. เมื่อเราเห็นแล้วเกิดความพอใจไม่พอใจ จะรู้ได้หรือเปล่าว่า ทาง ปัญจทวารวิถี หรือมโนทวารวิถี

    สุ. ถ้ามโนทวารวิถีไม่ปรากฏ ขณะนั้นจะไม่รู้ว่าเป็นมโนทวารวิถี มีมโนทวารวิถีเกิดต่อจากปัญจทวารวิถีทุกครั้ง เห็นครั้งหนึ่งจะมีแต่ปัญจทวารวิถีจิตเกิดเท่านั้นไม่ได้ ได้ยินครั้งหนึ่งจะมีแต่โสตทวารวิถีจิตเกิดเท่านั้นไม่ได้

    เมื่อปัญจทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดต่อ และมโนทวารวิถีจิตเกิดต่อทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    คำว่า วิถีจิต คงไม่ลืมว่า ขณะใดที่ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ จุติจิต เป็นวิถีจิตทั้งหมด เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณ เป็นจักขุวิญญาณวิถีจิต สัมปฏิจฉันนะก็เป็นวิถีจิต สันตีรณะก็เป็นวิถีจิต จิตใดที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิตแล้ว เป็นวิถีจิตทั้งนั้น

    บางครั้งเมื่อปัญจทวาราวัชชนวิถีจิตเกิด ดับแล้ว จักขุวิญญาณเกิด ดับแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตเกิด ดับแล้ว สันตีรณจิตเกิด ดับแล้ว โวฏฐัพพนจิตเกิด ดับแล้ว และอารมณ์ดับ ชวนจิตไม่เกิด ขณะนั้นจะรู้ไหมว่าเห็นอะไร ในเมื่อชวนวิถีจิตไม่เกิด แต่ว่าปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดแล้ว จักขุวิญญาณเกิดแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตเกิดแล้ว สันตีรณจิตเกิดแล้ว โวฏฐัพพนจิตเกิดแล้ว

    ถ. ก็ต้องไม่รู้อะไร

    สุ. เพราะฉะนั้น ที่กำลังเห็นอยู่เดี๋ยวนี้ ที่จะศึกษารู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ไม่ใช่ไปเจาะจงรู้ที่ลักษณะของจักขุวิญญาณ แต่ขณะที่ชวนะกำลังรู้ในอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ในขณะนั้นกำลังมีสี คือ สีสันวัณณะต่างๆ เป็นอารมณ์ของชวนจิตซ้ำกัน ๗ ขณะ และไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะวิถีเดียว หรือครั้งเดียวของการเห็น เพราะว่าในเวลานี้จักขุวิญญาณในวิถีหนึ่งดับไปแล้ว มีภวังค์คั่น มีมโนทวารวิถีจิตคั่น และก็มีจักขุวิญญาณเกิดอีก ทำให้ดูเหมือนไม่ดับ แต่ที่จะพิจารณารู้ ต้องในขณะที่เป็นชวนวิถีจิต

    ถ. ผู้ที่มโนทวารวิถียังไม่ปรากฏก็ไม่ต้องรู้เลยว่า ที่เห็น ที่พอใจไม่พอใจนั้น เป็นมโนทวารวิถี หรือเป็นปัญจทวารวิถี

    สุ. เมื่อไม่ปรากฏก็รู้ไม่ได้เป็นของธรรมดา แต่ศึกษาได้ เพื่อที่จะได้ปรากฏ เมื่อปรากฏแล้วก็รู้ แต่ถ้าไม่ปรากฏจะรู้ไม่ได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๐๘๑ – ๑๐๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 85
    28 ธ.ค. 2564