แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1087


    ครั้งที่ ๑๐๘๗

    สาระสำคัญ

    การศึกษาธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด

    เหตุปัจจัยเป็นปัจจัยให้จิต เจตสิก และรูปเกิดขึ้น (กระทำกิจต่างๆ ทางกายและทางวาจา)

    อธิปติปัจจัย มี ๒ ประเภท

    จิตมีอายุ ๓ อนุขณะ


    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านเล่าให้ฟังถึงเพื่อนของท่านคนหนึ่ง เวลาที่ได้ฟังวิทยุเรื่องแนวทางเจริญวิปัสสนาก็รู้สึกว่า เป็นเรื่องที่ละเอียด ไม่ตรงกับใจที่กำลังต้องการฟังธรรมบางประการ เช่น อยากจะฟังเรื่องเมตตา แต่ในวันที่เปิดวิทยุไม่ได้รับฟังเรื่องเมตตา เป็นเรื่องอื่น ไม่ตรงกับใจของท่าน เพราะท่านคงอยากจะเป็นผู้ที่เจริญเมตตา แต่อย่าลืมว่า ถึงแม้จะรู้ว่าเมตตาคืออะไร มีลักษณะอย่างไร เกิดขึ้นในขณะไหนก็ตาม ถึงอย่างนั้นอกุศลจิตก็ยังเกิดอยู่ ไม่ใช่ว่าเมื่อรู้เรื่องของเมตตาแล้วจะมีเมตตาอยู่ได้ตลอดเวลาโดยที่อกุศลจิตไม่เกิดเลย เพราะว่าอกุศลธรรมเป็นพืชเชื้อที่ตายยาก ดับยาก ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยถ่องแท้ โดยละเอียดถูกต้องจริงๆ อกุศลธรรมทั้งหลายไม่สามารถที่จะดับได้ ถึงแม้ว่าจะได้ฟังเรื่องของเมตตา เรื่องของกุศลนานาประการก็ตาม อกุศลก็ยังเกิดอยู่

    แต่ข้อสำคัญที่สุด คือ จะต้องรู้ว่าขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศลในขณะนี้ นี่เป็นเหตุที่จะต้องศึกษาธรรมโดยละเอียดถี่ถ้วนจริงๆ มิฉะนั้นจะเข้าใจว่าอกุศล เป็นกุศลได้ อย่างท่านที่ต้องการจะมีเมตตา เพราะว่าท่านไม่ต้องการมีโทสะ ท่านจึงปรารถนาที่จะมีเมตตา แต่เวลาที่โทสะไม่เกิดขึ้น ไม่ทราบว่าท่านจะเห็นโทษของ โลภมูลจิตและโมหมูลจิตบ้างหรือเปล่าว่า แท้ที่จริงแล้วสภาพธรรมที่เป็นอกุศลนั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะเวลาที่เป็นโทสะ แม้ในขณะที่เป็นโลภะ หรือขณะที่เป็นโมหะ ขณะนั้นก็เป็นอกุศลแล้ว ข้อสำคัญ คือ ลักษณะของอกุศลที่ละเอียดซึ่งไม่เคยคิดมาก่อนว่า เป็นอกุศล ก็อาจจะเข้าใจว่าเป็นกุศล

    ด้วยเหตุนี้ ถ้าสามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏกับตัวท่านโดยละเอียดจะมีปัจจัยทำให้รู้ได้ถูกต้องว่า จิตในขณะนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพื่อที่จะได้อบรมเจริญกุศลได้ยิ่งขึ้น มิฉะนั้นจะมีแต่ความต้องการธรรมบางประการ เหมือนกับยาบางชนิดในร้านขายยา เวลาที่เป็นโรคชนิดหนึ่งชนิดใดก็อยากจะซื้อยาชนิดนั้นมาบำบัดโรค แต่ธรรมไม่ใช่อย่างนั้น เพราะจะต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ ซึ่งเมื่อได้ศึกษาธรรมยิ่งขึ้นก็จะเห็นได้ว่า ต้องอาศัยการพิจารณา การไตร่ตรอง จนกว่าจะเป็นความเข้าใจ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการท่องจำ แต่ต้องเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาในเหตุผลจนกว่าจะเข้าใจ

    พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นเรื่องของเหตุและผลที่คงทนแก่การพิสูจน์ และคงทนแก่การพิจารณา เพราะเมื่อกล่าวสรรเสริญคุณของท่านพระอานนท์ ก็มีข้อความที่กล่าวว่า บางท่านมีความสามารถในการฟัง แต่ไม่มีความสามารถในการเรียน และบางท่านมีความสามารถในการฟัง มีความสามารถในการเรียน แต่ว่าไม่มีความสามารถในการกล่าว เพราะฉะนั้น เรื่องธรรมจะเห็นได้จริงๆ ว่า เป็นเรื่องที่ละเอียด และต้องพิจารณาจิตใจของแต่ละบุคคลจริงๆ

    สำหรับเรื่องที่จะต้องพิจารณาในเหตุผลจนมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ใช่เป็นการท่องจำ ขอยกตัวอย่างเรื่องของจิต เจตสิก รูป ซึ่งเป็นสังขารธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น โดยเป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน และเป็นปัจจัยแก่กันและกันตามสมควรของสภาพธรรมแต่ละอย่างนั้น สำหรับปัจจัยที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ เหตุปัจจัย อารัมมณปัจจัย และอธิปติปัจจัย

    สำหรับเจตสิก ๖ ดวง ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยให้สภาพธรรม คือ จิตและเจตสิกอื่นเกิดพร้อมกับตน ในขณะนั้นถ้าพิจารณาจะทราบได้ว่า สำหรับเหตุปัจจัยนั้น เป็นปัจจัยให้จิต เจตสิก และรูปเกิดขึ้น เพราะถ้าจิตเป็นโลภะ จะต้องมีการเคลื่อนไหวของกายบ้าง ของวาจาบ้างด้วย

    วันหนึ่งๆ ที่ทุกท่านกระทำกิจสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่รู้ตัวเลย ไม่ว่าจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะพูด วันนี้ก็มีการกระทำหลายอย่างที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่ทราบว่า ในขณะนั้นเป็นโลภเจตสิกที่เกิดกับจิตและเจตสิก เป็นปัจจัยให้รูปเคลื่อนไหวกระทำกิจการงานต่างๆ ด้วยโลภมูลจิตในขณะนั้น ไม่ทราบใช่ไหม ไม่ได้พิจารณาเลย แต่ให้ทราบว่า เวลาที่เจตสิกที่เป็นเหตุเกิดขึ้นพร้อมกับจิตและเจตสิกอื่นที่ประกอบ เป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้นกระทำกิจต่างๆ ทางกายและทางวาจาได้ด้วย

    สำหรับอารัมมณปัจจัย คือ สภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมนั้น สภาพธรรมนั้นเป็นอารัมมณปัจจัย คือ เป็นอารมณ์ของจิตดวงนั้นและเจตสิกที่ประกอบ อารัมมณปัจจัยเป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิก แต่ไม่ได้ทำให้รูปเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น

    นี่เป็นเรื่องของจิต เจตสิก และรูป ซึ่งเกิดขึ้นปรากฏในชีวิตปกติประจำวัน โดยที่ไม่ได้รู้สภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง แต่ถ้าพิจารณาแล้วสามารถที่จะเข้าใจ และเมื่อศึกษาความละเอียดยิ่งขึ้น จะทำให้เข้าใจชีวิตตามปกติตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวันนั่นเอง

    สำหรับอธิปติปัจจัย มี ๒ คือ สหชาตาธิปติปัจจัย และอารัมมณาธิปติปัจจัย

    คำว่า สหชาตาธิปติ เป็นคำรวมของสหชาตะ และอธิปติ

    สหชาตะ หมายความว่า เกิดพร้อมกัน ร่วมกัน ได้แก่ จิตและเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน

    อธิปติ หมายความถึงสภาพธรรมซึ่งเป็นหัวหน้า หรือเป็นใหญ่

    เพราะฉะนั้น สหชาตาธิปติ หมายถึงสภาพธรรมที่สามารถกระทำกิจเป็นหัวหน้า หรือเป็นใหญ่ ชักจูงให้สหชาตธรรม คือ สภาพธรรมอื่นซึ่งเกิดร่วมด้วย เกิดขึ้น

    ในบรรดาจิตและเจตสิกที่จะเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ทีละอย่างนั้น ได้แก่ ฉันทเจตสิก เป็นสหชาตาธิปติ เป็นสภาพธรรมซึ่งสามารถเป็นหัวหน้าชักจูงให้จิตและเจตสิกอื่นเกิดพร้อมตนได้ แล้วแต่ว่าจะเป็นฉันทะในกุศล หรืออกุศลก็ได้ ให้สังเกตว่า ในวันหนึ่งๆ นั้น เวลาที่จิตเกิดขึ้นเพราะมีฉันทะ คือ สภาพธรรมที่พอใจจะกระทำ หรือเปล่า แต่จะต้องเข้าใจลักษณะที่ต่างกันของฉันทะและโลภะว่า โลภเจตสิกเป็นอกุศลเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ติด ยึดมั่น ไม่ปล่อยวาง ส่วนฉันทเจตสิกเป็น สภาพธรรมที่พอใจจะกระทำ เพราะฉะนั้น สำหรับฉันทเจตสิกเป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ เป็นวิบากก็ได้ เป็นกิริยาก็ได้ ถ้าจำแนกโดยนัยของชาติ ๔

    นอกจากฉันทเจตสิกเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยแล้ว ยังมีวิริยเจตสิก ชวนจิต ๕๒ ดวง และวิมังสา คือ ปัญญาเจตสิกอีกหนึ่ง รวมสภาพธรรมที่เป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ ๔ ประเภท คือ เจตสิก ๓ ได้แก่ ฉันทเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ ปัญญาเจตสิก ๑ และชวนจิต ๕๒ ดวง

    ชวนะ โดยศัพท์หมายความถึงแล่น หรือเร็ว ที่ภาษาไทยใช้คำว่า เชาวน์ ความไว การแล่นไปโดยรวดเร็ว ซึ่งท่านผู้ฟังคงจะคิดว่า จิตจะแล่นได้หรือ เพราะว่าจิตทุกดวงเกิดดับๆ มีอายุเท่ากันทุกดวง แบ่งเป็นอนุขณะได้ ๓ ขณะ คือ อุปาทขณะ ขณะที่เกิดขึ้น ฐีติขณะ ขณะที่ตั้งอยู่ และภังคขณะ ขณะที่ดับ แต่ว่าสำหรับจิตอื่น เช่น จักขุวิญญาณที่เห็นเกิดขึ้นขณะเดียวและดับ ไม่สามารถที่จะแล่นไปในอารมณ์โดยเกิดดับสืบต่อซ้ำกันได้หลายขณะเท่ากับชวนจิต

    คำว่า ชวนจิต ไม่ได้เป็นจิตอื่นต่างจากขณะที่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ คือ เป็นอกุศลจิตบ้าง เป็นกุศลจิตบ้าง ในวันหนึ่งๆ

    เพราะฉะนั้น สำหรับสหชาตาธิปติปัจจัย ชวนจิต ไม่ใช่จิตอื่น เป็นจิตที่มีอยู่เป็นประจำ เพียงแต่ว่าโดยศัพท์ทำให้ไม่เข้าใจว่าหมายความถึงจิตขณะไหน ประเภทไหน แต่ให้เข้าใจว่า หมายความถึงไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน ไม่ใช่จิตได้กลิ่น ไม่ใช่จิตลิ้มรส ไม่ใช่จิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย คือ ไม่ใช่จักขุวิญญาณ ไม่ใช่ โสตวิญญาณ ไม่ใช่ฆานวิญญาณ ไม่ใช่ชิวหาวิญญาณ ไม่ใช่กายวิญญาณ ไม่ใช่สัมปฏิจฉันนจิตซึ่งเกิดต่อจากจักขุวิญญาณ ถ้าเป็นการเห็นทางตา หรือเกิดต่อจากโสตวิญญาณ ถ้าเป็นการได้ยินเสียงทางหู เกิดต่อจากฆานวิญญาณ ถ้าเป็นการได้กลิ่น เกิดต่อจากชิวหาวิญญาณ ถ้าเป็นการลิ้มรส เกิดต่อจากกายวิญญาณที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส สัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นขณะเดียวและดับ ไม่ใช่ชวนจิต และเมื่อ สัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว สันตีรณจิตเกิดต่อขณะเดียวและดับ ไม่ใช่ชวนจิต โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้นขณะเดียวกระทำทางเพื่อให้กุศลหรืออกุศลเกิดต่อสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์และก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น จิตต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่ชวนจิต แต่ชวนจิต คือ ขณะที่เห็นแล้ว พอใจ เป็นโลภมูลจิต ทุกท่านรู้สึกในสภาพที่พอใจ ขณะนั้นเป็นเพราะโลภมูลจิตทำชวนกิจเกิดดับสืบต่อกัน เท่ากับแล่นไปในอารมณ์จนปรากฏเป็นความพอใจ ซึ่งในขณะที่เป็นสัมปฏิจฉันนจิตก็ดี สันตีรณจิตก็ดี โวฏฐัพพนจิตก็ดี ไม่ปรากฏ

    ไม่มีใครสามารถรู้ลักษณะของสัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต หรือโวฏฐัพพนจิตในขณะนี้ได้ แต่ถ้าเกิดพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น สามารถรู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพที่พอใจ หรือถ้าขณะนั้นเป็นความไม่แช่มชื่น เป็นลักษณะที่หยาบกระด้าง ประทุษร้าย เป็นความโกรธ ในขณะนั้นก็รู้ว่าทันทีที่เห็นก็โกรธ หรือว่าขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ หรือว่าทันทีที่ได้ยินเสียงก็ขุ่นเคืองใจ ไม่ชอบในเสียงนั้น ที่เป็นอย่างนี้เพราะว่าจิตที่ทำชวนกิจแล่นไปในอารมณ์ด้วยความยินดี เป็นโลภมูลจิตเกิดดับสืบต่อกัน ตามปกติก็ ๗ ขณะ หรือว่าถ้าเป็นขณะที่ไม่พอใจ โทสมูลจิตไม่ได้เกิดขณะเดียวอย่างจักขุวิญญาณหรือโสตวิญญาณ แต่ว่าเกิดดับซ้ำกันถึง ๗ ขณะตามปกติ กระทำชวนกิจ และเป็นชีวิตประจำวันซึ่งทุกคนสามารถรู้ได้ในขณะที่จิตนั้นเป็นชวนจิต

    ข้อความในอรรถกถาบางแห่งได้แสดงถึงขณะที่ปัญญาเกิดขึ้น สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่าเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรมนั้น ก็ในขณะที่เป็นชวนจิต

    เวลานี้ท่านผู้ฟังแยกไม่ออกแน่ใช่ไหม ระหว่างขณะไหนเป็นจักขุวิญญาณที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ดับแล้วเร็วมาก ซึ่งขณะต่อไปต้องเป็นสัมปฏิจฉันนจิต แยกไม่ได้ เมื่อดับไปแล้ว สันตีรณจิตเกิดต่อ ก็ไม่สามารถรู้ได้ เมื่อสันตีรณจิตดับแล้ว โวฏฐัพพนจิตเกิดต่อ ก็ไม่สามารถรู้ได้

    เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จึงต้องรู้ในขณะที่เป็นชวนจิต ไม่ว่าจะเป็นทางปัญจทวารหรือมโนทวาร แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณต้องเป็นทางมโทวารวิถี

    ในขณะนี้ที่กำลังเห็น ถ้าชวนวิถีจิตไม่เกิดดับซ้ำกันถึง ๗ ขณะ จะไม่ปรากฏว่ามีการเห็น คือ จักขุวิญญาณที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ พอที่สติจะระลึกและศึกษาให้รู้ว่า ขณะนั้นสติระลึกที่ลักษณะของรูปธรรม หรือว่าระลึกที่ลักษณะของนามธรรม

    เพราะฉะนั้น สำหรับสภาพธรรม คือ จิตและเจตสิก ที่จะเป็นสหชาตาธิปติปัจจัย จึงต้องเป็นเฉพาะในขณะที่เป็นชวนจิต ไม่ใช่ขณะเห็น ไม่ใช่ขณะสัมปฏิจฉันนะ ไม่ใช่ขณะสันตีรณะ ไม่ใช่ขณะโวฏฐัพพนะ

    และสำหรับชวนจิตทั้งหมดสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ได้แก่ อกุศลจิตและกุศลจิต สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ไม่มีกุศลจิตและอกุศลจิต เป็นกิริยาจิต ชวนจิตทั้งหมดจึงมี ๕๕ คือ จิตที่เป็นกุศลจิตบ้าง เป็นอกุศลจิตบ้างของปุถุชน เป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ และรวมโลกุตตรจิตทั้ง ๘ ด้วย

    ชวนจิตทั้งหมด ๕๕ ดวง คือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง มหากุศลจิต คือ กามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง มหากิริยาจิต คือ กามาวจรกิริยาจิตของพระอรหันต์ ๘ ดวง รูปาวจรกุศลจิต ๕ ดวง รูปาวจรกิริยาจิตของพระอรหันต์ ๕ ดวง อรูปาวจรกุศลจิต ๔ ดวง และอรูปาวจรกิริยาจิตของพระอรหันต์ ๔ ดวง โลกุตตรกุศลจิต ๔ ดวง และ โลกุตตรวิบากจิต ๔ ดวง รวมเป็นชวนจิตที่ประกอบด้วยเหตุ ๕๔ ดวง และ หสิตุปปาทจิต คือ จิตที่ทำให้เกิดการยิ้มของพระอรหันต์ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุอีก ๑ ดวง รวมเป็นชวนจิตทั้งหมด ๕๕ ดวง

    สำหรับกุศลจิตในกามภูมิ ไม่ใช่ฌานจิต ไม่ใช่รูปาวจรจิต ไม่ใช่อรูปาวจรจิต มี ๘ ชื่อว่า กามาวจรกุศล เวลาที่ท่านให้ทานก็ดี วิรัติทุจริตก็ดี หรือจิตที่สงบเกิดขึ้น หรือจิตในขณะนั้นกำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่าเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ในขณะนั้นเป็นกามาวจรกุศลจิตนั่นเอง เพราะว่ายังไม่ใช่ฌานจิต ยังไม่ใช่รูปาวจรกุศล ยังไม่ใช่อรูปาวจรกุศล ยังไม่ใช่โลกุตตรกุศล

    เพราะฉะนั้น สำหรับกุศล โดยภูมิมี ๔ ภูมิ คือ กามาวจรกุศล มี ๘ ดวง รูปาวจรกุศล ได้แก่ รูปฌานจิต มี ๕ ดวง อรูปาวจรกุศล ได้แก่ อรูปฌานกุศลจิต มี ๔ ดวง และโลกุตตรกุศล มี ๔ ดวง ได้แก่ โสตาปัตติมรรคจิต ๑ สกทาคามิมรรคจิต ๑ อนาคามิมรรคจิต ๑ อรหัตตมรรคจิต ๑

    เพราะฉะนั้น เป็นกามาวจรกุศล ๘ รูปาวจรกุศล ๕ อรูปาวจรกุศล ๔ และ โลกุตตรกุศล ๔ รวมเป็นกุศลจิต ๒๑ ดวง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๐๘๑ – ๑๐๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 85
    28 ธ.ค. 2564