แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1123


    ครั้งที่ ๑๑๒๓


    สาระสำคัญ

    ปกตูปนิสสยปัจจัยจะไม่เกิดร่วมกับปัจจยุปบัน

    เหตุปัจจัยต้องเป็นสหชาตปัจจัยด้วย

    อถ.ปัญจปกรณ์ ปัฏฐานปกรณ์ วรรณนาแห่งปัญหาวาระวิภังค์ - โลกุตตรธรรมไม่เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยแก่อกุศล


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕


    สำหรับจิต ที่จะเป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิต หรือมหากุศลจิตก็ตาม ก็เพราะ เจตสิกที่เป็นเหตุนั้นๆ เกิดร่วมด้วย เช่น เมื่อจิตประกอบด้วยโลภเจตสิก ซึ่งโลภเจตสิกเป็นเหตุปัจจัย เกิดพร้อมกับจิตใด จิตนั้นจะเป็นสภาพธรรมอื่นไม่ได้นอกจากเป็นไปตามกำลังของโลภะ คือ เป็นสภาพธรรมที่พอใจและติดในอารมณ์นั้น และเหตุปัจจัย คือ โลภเจตสิกนั้น ต้องดับพร้อมกับจิตนั้นด้วย

    แต่สำหรับปกตูปนิสสยปัจจัยไม่เป็นอย่างนั้น เพราะว่าปกตูปนิสสยปัจจัยจะไม่เกิดร่วมกับปัจจยุปบัน ไม่ใช่สหชาตปัจจัย ถ้าไม่กล่าวถึงตัวอย่างก็อาจจะไม่เข้าใจ ลองคิดดู ตามธรรมดา ทุกท่านเห็นสิ่งเดียวกัน แต่เพราะอะไรคนหนึ่งเกิดโลภมูลจิต อีกคนหนึ่งเกิดโทสมูลจิต ต่างกันได้ ขณะนั้นจิตนั้นประกอบด้วยเหตุปัจจัยต่างกัน คนหนึ่งประกอบด้วยโลภเจตสิกเป็นโลภมูลจิต ส่วนอีกคนหนึ่งประกอบด้วย โทสเจตสิกเป็นโทสมูลจิต แม้ว่าจะเห็นสิ่งเดียวกัน แต่เพราะอะไร ก็เพราะ ปกตูปนิสสยปัจจัย คือ การสั่งสมของคนที่เกิดโลภมูลจิต เคยชอบ เคยพอใจ เคยยินดีในอารมณ์นั้น แต่อีกคนหนึ่งไม่ชอบ ไม่พอใจ ไม่ติดในอารมณ์นั้น

    บางคนชอบร้อน บางคนชอบหนาว อยู่ในห้องเดียวกันก็ลำบากแล้ว คนหนึ่งจะเปิดหน้าต่าง อีกคนหนึ่งจะปิดหน้าต่าง เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น แต่สภาพของจิตในขณะนั้น ถ้าสติสัมปชัญญะระลึกจะรู้ว่า เป็นโลภมูลจิตหรือเป็นโทสมูลจิต แต่ที่จิตในขณะนั้นจะเป็นโลภมูลจิตหรือโทสมูลจิต เพราะปกตูปนิสสยปัจจัย เพราะฉะนั้น จิตประกอบด้วยเหตุปัจจัย คือ ถ้าประกอบด้วยโลภะเป็นเหตุก็เป็น โลภมูลจิต ถ้าประกอบด้วยโทสะเป็นเหตุก็เป็นโทสมูลจิต แต่ที่จิตในขณะนั้นจะเป็นโลภมูลจิตหรือโทสมูลจิต เพราะปกตูปนิสสยปัจจัย

    จะเห็นความต่างกันของเหตุปัจจัยและปกตูปนิสสยปัจจัยว่า สำหรับเหตุปัจจัยต้องเป็นสหชาตปัจจัยด้วย คือ ปัจจัยและปัจจยุปบันต้องเกิดร่วมกันและดับพร้อมกันส่วนปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยที่สะสมปรุงแต่งจนมีกำลังให้เหตุปัจจัยนั้นๆ เกิด กับจิตในขณะนั้นๆ

    แม้แต่การตื่นนอน สังเกตได้หรือเปล่าว่า เพราะปกตูปนิสสยปัจจัย ท่านที่ตื่นเป็นเวลาเสมอๆ บางท่านอาจจะตื่นตี ๕ หรือบางท่านอาจจะตื่น ๖ โมงเช้าเป็นประจำ ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย การที่เคยตื่นบ่อย ขึ้นๆ จนกระทั่งมีกำลังเป็นปกติ ก็ทำให้สามารถตื่นขึ้นตามเวลา เพราะการเกิดขึ้นบ่อยๆ นั้นเองเป็นปัจจัยที่มีกำลัง

    ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งของปกตูปนิสสยปัจจัย คือ โลกุตตรธรรมไม่เป็น ปกตูปนิสสยปัจจัยแก่อกุศล

    ปกตูปนิสสยปัจจัยเป็นปัจจัยที่กว้างขวางมาก ดังที่ได้กล่าวถึงแล้วว่า กุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลก็ได้ ให้เกิดอกุศลก็ได้ ให้เกิดอัพยากตธรรมก็ได้

    สำหรับกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศล ต้องหมายเฉพาะโลกียกุศลเท่านั้น โลกุตตรธรรม คือ โลกุตตรกุศล หรือโลกุตตรวิบาก ไม่เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศลธรรม แต่โลกุตตรธรรมเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยแก่กุศลทั้งหมด

    การอบรมเจริญกุศลทุกประการเพื่อให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม คือ การที่มรรคจิตเกิดขึ้นดับกิเลสเป็นสมุจเฉทตามลำดับขั้นของมรรคจิต จะต้องอาศัยการอบรม การเจริญภาวนา การสั่งสมกุศลทั้งหลาย และระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง จนกระทั่งโสตาปัตติมรรคจิตเกิด ไม่ใช่เป็นเวลาน้อยๆ เลย และเมื่อโสตาปัตติมรรคจิตซึ่งสามารถดับกิเลสได้ดับไปแล้ว โสตาปัตติผลจิตก็เกิด

    โลกุตตรธรรม คือ โสตาปัตติมรรคจิตก็ดี โสตาปัตติผลจิตก็ดี ไม่เป็นปัจจัยให้อกุศลจิตเกิดเลย แต่จะเป็นปัจจัยให้กุศลทั้งหลายเกิดได้ ไม่ว่าจะเป็นทาน หรือเป็นศีล หรือเป็นความสงบของจิต หรือเป็นกุศลขั้นต่อๆ ไป

    เพราะฉะนั้น ในข้อที่ว่า กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยแก่อกุศลนั้น หมายเฉพาะโลกียกุศลเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงโลกุตตรกุศล

    อรรถกถา ปัญจปกรณ์ ปัฏฐานปกรณ์ วรรณนาแห่งปัญหาวาระวิภังค์ มีข้อความว่า

    ส่วนโลกุตตรกุศลเป็นธรรมระงับ ประณีต สูงสุด กำจัดอกุศลได้เด็ดขาด ฉะนั้น จึงไม่เป็นอุปนิสสยปัจจัยแก่อกุศล เหมือนพระจันทร์ไม่เป็นอุปนิสสยปัจจัยแห่งความมืด

    เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด สำหรับโลกุตตรธรรมไม่เป็นปัจจัยแก่อกุศล แต่ โลกียกุศลยังเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยของอกุศลได้

    ถ. โลกียกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลจิตอย่างไร ขอให้ยกตัวอย่าง

    สุ. ทำกุศลแล้วเกิดโลภะ ความปรารถนาในผลของกุศลก็ได้ เช่น บางท่านปรารถนาผลที่เป็นมนุษย์สมบัติ หรือสวรรค์สมบัติ เป็นเหตุให้เกิดความยินดีพอใจในผลของกุศลได้ หรือบางคนทำกุศลแล้วเกิดความสำคัญตน มีมานะว่า ได้กระทำกุศลที่ประณีต หรือที่คนอื่นไม่สามารถจะกระทำได้

    เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้าสงสัยว่า ทำไมจึงเกิดอกุศลอย่างนี้ๆ ซึ่งไม่น่าจะเกิดเลย แต่ถ้าเข้าใจเรื่องของปกตูปนิสสยปัจจัยจะหมดสงสัย เป็นธรรมดาและเป็นปกติที่จะต้องเกิด เพราะว่าเคยกระทำอกุศลนั้นๆ จนกระทั่งมีกำลัง เป็นปัจจัยทำให้อกุศลประเภทนั้นๆ เกิดอีกได้

    ถ. พระโสดาบันท่านได้โลกุตตระแล้ว ทำไมท่านจึงกลับมาครองเรือนอีก มรรคจิตเกิดแล้ว เห็นถูกแล้ว ทำไมต้องมาครองเรือนอีก

    สุ. พระโสดาบันไม่ได้ละความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ พระโสดาบันดับความเห็นผิดที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย แต่ยังมีปัจจัยของโลภะ โทสะ โมหะเหลืออยู่ ยังมีความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

    ถ. พระภิกษุหรือนักบวชทั้งหลาย ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมเลย ท่านก็ยังบวชได้ตลอดชีวิต เหตุปัจจัยผิดกันอย่างไร

    สุ. ปกตูปนิสสยปัจจัย แต่ละบุคคลจะมีอุปนิสัยต่างๆ กัน คนในโลกนี้จะให้มีอุปนิสัยเหมือนกันทั้งหมด เป็นไปไม่ได้ เหตุการณ์ประจำวันของแต่ละชีวิต ของแต่ละคนจะให้เหมือนกันก็เป็นไปไม่ได้ แม้แต่ในบ้านเดียวกัน ในครอบครัวเดียวกัน บางคนอยู่ที่โน่น บางคนอยู่ที่นี่ ทำกิจการงานต่างๆ กัน คิดนึกต่างๆ กันตามการสะสม ซึ่งการสะสมในปัจจุบันชาตินี้ จะเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยทำให้เกิดนามธรรม คือ จิตและเจตสิกประเภทนั้นๆ อีกในอนาคต

    ถ. ขอให้ยกตัวอย่าง อัพยากตธรรมเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยแก่กุศล และ อัพยากตธรรมเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยแก่อกุศล

    สุ. รูปไม่ใช่จิตและเจตสิก รูปไม่ใช่กุศลหรืออกุศล เพราะฉะนั้น รูปก็เป็นปัจจัยให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดได้

    ถ. ถ้าจิตที่ไม่เป็นกุศลและอกุศล

    สุ. วิบากจิตก็เหมือนกัน อย่างเช่น ความสุขทางกาย เวลาสุขทางกายเกิดขึ้น ก็ติดพอใจที่จะให้สุขทางกายนั้นๆ เกิดขึ้นอีก เวลาทุกข์ทางกายเกิด ก็ไม่ปรารถนาให้ทุกข์ทางกายนั้นเกิดอีก มีการเยียวยารักษาโดยวิธีการต่างๆ ท่านที่ชอบพัดลม ท่านจะเปิดพัดลมไหม เวลาเปิดพัดลมแล้วเย็นดี ก็เป็นปัจจัยให้สุขเวทนา ทางกายเกิดเย็นดีอีก หรือว่าจะไม่เปิดพัดลม

    เพราะฉะนั้น ความสุขทางกายก็เป็นอัพยากตธรรม เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้ความสุขทางกายเกิดอีกได้ เพราะอาศัยความยินดีพอใจในความสุขทางกายอย่างนั้น

    รสต่างๆ เคยรับประทานแล้วอร่อยดี จะรับประทานอาหารรสนั้นอีกไหม

    ถ. อาหารที่เคยกินแล้วรู้สึกอร่อย ต่อมาก็รู้สึกอยากจะไปกินอีก จึงไปอีกจะเป็นกุศลจิตหรือเปล่า

    สุ. ไม่เป็นกุศลจิต อยาก จะเป็นกุศลจิตไม่ได้

    ถ. พระอริยบุคคลเห็นเป็นรูป เป็นนาม ไม่เห็นเป็นสัตว์ บุคคลเพราะฉะนั้น ก็ไม่มีเมตตากรุณา

    สุ. พระอริยบุคคลรู้ปรมัตถธรรมตามความเป็นจริง และรู้อรรถบัญญัติของปรมัตถธรรมนั้นด้วย การเห็นตามความเป็นจริงของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล คือ รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น หาความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนในสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้เลย

    หลังจากที่วิถีจิตทางตาดับหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดดับแล้ว ทางมโนทวารวิถีตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐาน รู้อรรถบัญญัติของสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น พระโสดาบันบุคคล เช่น พระอริยสาวกในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็เห็นพระผู้มีพระภาคตามความเป็นจริง เห็นท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะตามปกติตามความเป็นจริง แต่รู้ว่าขณะใดเป็นปรมัตถธรรม ขณะใดเป็นจิตที่รู้อรรถบัญญัติของปรมัตถธรรมนั้นๆ

    ถ. อริยบุคคลก็เห็นแต่รูปกับนาม

    สุ. ไม่สงสัยในลักษณะของรูปธรรมและนามธรรมที่ปรากฏแต่ละทาง และรู้ด้วยว่า ขณะที่นึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ ย่อมรู้อรรถบัญญัติ คือ รูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏด้วย

    ถ. เมตตา กรุณา ก็เห็นตามบัญญัติ

    สุ. รู้อรรถบัญญัติ รู้ว่าใครชื่ออะไรตามความเป็นจริง แต่ก็รู้ว่าไม่เที่ยง รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาที่เป็นรูปร่างสัณฐานเป็นเพียงนิมิตเครื่องหมายของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมเท่านั้น ถ้าไม่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม รูปร่างสัณฐานของสิ่งต่างๆ ย่อมมีไม่ได้ แต่เพราะมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เมื่อปรากฏทางตา สีสันวัณณะที่เกิดกับธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมนั้นเองประชุมรวมกันทำให้ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐาน เป็นนิมิตของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม

    ทำไมท่านผู้ฟังไม่จับอากาศ แต่จับปากกา จับดินสอ จับสมุด เพราะรู้ในนิมิตของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม โดยสัณฐานที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลรู้ตามความเป็นจริงว่า ทางตาเป็นแต่เพียงนิมิตของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม

    ถ. พระอริยบุคคลเห็นคน เห็นสัตว์ มีความเมตตากรุณา เมื่อมีเมตตากรุณา ก็หมายความว่า ยังเห็นเขาเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นหญิง เป็นชาย

    สุ. ทางตาเห็นอะไร ต้องทราบก่อน ที่พระอริยเจ้าท่านเห็น ทางตาเห็น สิ่งที่ปรากฏ แต่สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลเห็นสัตว์ ก็เข้าใจว่าเป็นสัตว์

    ถ. เห็นคนถูกตีก็รู้สึกสงสาร ถ้าเห็นคนที่ถูกตีเป็นรูป เป็นนาม ก็ไม่สงสาร

    สุ. รูปนามซึ่งกำลังเจ็บปวด รูปนามซึ่งกำลังเป็นทุกข์ ตามเหตุตามปัจจัย

    ถ. ไม่เข้าใจที่ว่า อรหัตตมรรคจิตเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยแก่กุศล

    สุ. ต้องเว้นอีก พอถึงอรหัตตมรรคจิต อรหัตตผลจิตไม่เป็นปัจจัยแก่กุศล แต่เป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ

    การศึกษาธรรมโดยละเอียดจริงๆ ต้องศึกษาให้ละเอียดกว่านี้ แต่โดยพื้นฐาน ควรที่จะได้ทราบว่า โลกุตตรธรรมไม่เป็นปัจจัยแก่อกุศล แต่พอถึงอรหัตตมรรคจิต ต้องเปลี่ยนเป็นหมวดกุศลเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ เพราะสำหรับอรหัตตมรรคจิต จะไม่เป็นปัจจัยแก่กุศลอีกต่อไป เพราะว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว กุศลจิตและอกุศลจิตไม่มี มีแต่กิริยาจิตซึ่งเป็นอัพยากตะ และวิบากจิต

    ถ. ขณะที่สติเกิด พิจารณารูปหรือนาม ผมฟังจากเทป อาจารย์กล่าวว่า ขณะใดรูปเป็นอารมณ์ของจิต ขณะนั้นนามจะไม่มีโอกาสเป็นอารมณ์ของจิต หรือขณะใดนามเป็นอารมณ์ของจิต ขณะนั้นรูปก็ไม่มีโอกาสจะเป็นอารมณ์ได้

    ซึ่งขณะที่สติเกิดผมยอมรับว่า ผมยังไม่ทราบว่า เป็นรูปหรือเป็นนาม แต่จะว่าไม่ทราบก็ไม่เชิง จะว่ารูปก็ใช่ จะว่านามก็ใช่ แท้จริงแล้วอะไรจะเป็นอารมณ์ของจิตขณะที่สติเกิดขึ้น

    สุ. รวดเร็วมาก เพราะทั้งนามธรรมและรูปธรรมเกิดดับอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการสังเกต การพิจารณา การน้อมศึกษา เพื่อที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจนกว่าจะเป็นความรู้ชัด เพราะในขณะนี้มีทั้งนามธรรมและรูปธรรม กำลังเห็นตามธรรมดา ตามปกติ สิ่งที่ปรากฏทางตามีแน่นอน

    เพราะฉะนั้น จึงมีสภาพเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา คือ นามธรรมที่รู้ กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ ต้องมี แต่การที่จะเข้าใจลักษณะของธาตุรู้ อาการรู้ หรือนามธรรม เป็นสิ่งที่ไม่ง่าย เพราะไม่มีรูปร่าง ไม่มีอาการที่จะปรากฏเหมือนรูปได้ เพราะเสียงก็มีลักษณะที่ปรากฏทางหู คือ เป็นลักษณะที่ดัง กลิ่นก็มีลักษณะที่ปรากฏทางจมูก รสก็มีลักษณะที่ปรากฏทางลิ้น เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว ก็ยังมีมีลักษณะปรากฏเมื่อกระทบกาย

    แต่นามธาตุ หรือนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ หรือเป็นสภาพรู้ จะไม่มีการปรากฏเหมือนรูปหนึ่งรูปใดที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายเลย จึงเป็นการยากที่จะน้อมรู้ว่า ธาตุรู้ อาการรู้ ที่จะปรากฏ ที่จะรู้ได้นั้น ไม่ใช่อาการปรากฏเหมือนอย่างรูปธรรม แต่ว่าลักษณะรู้หรือธาตุรู้นั้นมีแน่นอน มีจริงๆ และเป็นธาตุรู้หรืออาการรู้ซึ่งกำลังรู้รูปหนึ่งรูปใดทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทาง มิฉะนั้นแล้ว รูปหนึ่งรูปใดใน ๕ ทางนั้นก็จะปรากฏไม่ได้เลย เช่น เสียง ขณะใดที่ปรากฏ ขณะนั้นต้องมีนามธรรมซึ่งเป็นอาการรู้หรือธาตุรู้ ซึ่งกำลังรู้เสียง

    ด้วยเหตุนี้การที่จะพิสูจน์ว่า ปัญญาอบรมเจริญที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม หรือสภาพรู้มากน้อยแค่ไหนแล้ว คือ ขณะใดก็ตามที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือการคิดนึกแต่ละครั้ง เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ถ้าสังเกต สำเหนียกที่จะรู้ลักษณะของธาตุรู้ ไม่ว่าจะเห็น ก็เป็นธาตุรู้ แต่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ว่าจะได้ยิน ก็เป็นธาตุรู้หรืออาการรู้ ซึ่งเป็นสภาพรู้เสียง

    ธาตุรู้ อาการรู้ และเป็นเพียงสภาพรู้หรือธาตุรู้ เหมือนกันหมดทุกทวาร แต่ สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายนั้น ต่างกัน ซึ่งผู้ที่รู้จริง ไม่ว่าจะรู้ทางตา ก็รู้ในอาการของนามธรรมได้ ไม่ว่าจะได้ยินเสียงทางหู ก็รู้ในลักษณะอาการของธาตุรู้ซึ่งรู้เสียงได้ ไม่ว่าจะกำลังคิดนึก ก็รู้ในลักษณะอาการของธาตุรู้ ซึ่งกำลังรู้เรื่องที่กำลังคิดได้

    เพราะฉะนั้น การตรวจสอบว่า ผู้นั้นมีการพิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้จริงๆ หรือยัง คือ ในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่กระทบสัมผัส และในขณะที่คิดนึก เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ถ้าในขณะชีวิตประจำวันสามารถรู้ได้ ก็แสดงว่า ผู้นั้นอบรมเจริญปัญญาถูกต้อง เป็นสัมมามรรคปฏิบัติจริงๆ จึงสามารถที่จะรู้ได้ แต่ถ้ายังไม่สามารถรู้ได้ ก็ต้องพิจารณาอบรม รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติจริงๆ

    ข้อสำคัญที่สุด คือ ตามปกติ แล้วแต่สติจะระลึกได้ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่สามารถจะบังคับสติให้ระลึกเฉพาะนามหนึ่งนามใด หรือรูปหนึ่งรูปใดได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๑๑๒๑ – ๑๑๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 85
    28 ธ.ค. 2564