แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1125


    ครั้งที่ ๑๑๒๕


    สาระสำคัญ

    สติสัมปชัญญะรู้ลักษณะของอกุศลจึงสามารถละอกุศลได้

    ปัญจทวารวิถีจิตและมโนทวารวิถีจิต

    สะสมความรู้ความเข้าใจตั้งแต่บัดนี้เพื่อเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย

    อยู่ในโลกของอรรถบัญญัติ

    ความหมายของปุเรชาตะ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ต่อวันอาทิตย์ที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๒๕


    ถ. ถ้าเป็นสติขั้นพิจารณาสิ่งที่ปรากฏขึ้นตามธรรมดา ในชวนจิตนั้นมีสติหรือเปล่า

    สุ. ถ้าเป็นกุศลต้องมีสติเกิดร่วมด้วยทุกขณะ ที่เป็นกุศลเพราะสติเกิดขึ้นและโสภณเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย จึงเป็นกุศลได้

    ถ. ขณะที่พิจารณาสิ่งที่ปรากฏตามปกติ

    สุ. ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นเป็นสติ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นมหากุศล เพราะสติไม่เกิดกับอกุศลจิต

    ถ. แต่ขณะที่พิจารณา อยู่ในลักษณะที่เป็นความสงสัยอยู่

    สุ. เกิดสลับกันได้

    ถ. เป็นคนละขณะ

    สุ. เพราะว่าจิตเจตสิกเกิดดับสืบต่อเร็วมากจนยากที่จะแยกออกได้ว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิต เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีอกุศลเป็นประจำอยู่เสมอจนชินก็ไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล เพราะกุศลมีน้อยมาก และแม้กุศลจะเกิด สติสัมปชัญญะก็ไม่ทันที่จะระลึกรู้ความต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิต เช่น ในขณะที่ทำทานกุศล ถ้าปราศจากสติสัมปชัญญะจะไม่รู้ลักษณะที่ต่างกันของอกุศลและกุศล เพราะกุศลจิตเกิดน้อยมากเมื่อเทียบกับอกุศลจิต และผู้ที่มีอกุศลจิตเกิดเป็นประจำก็ยังไม่รู้ด้วยว่าเป็นอกุศล เพราะชินต่ออกุศลนั้น อย่างโลภมูลจิตมีเป็นประจำ ถ้าไม่ใช่โลภมูลจิตอย่างแรงจะไม่ทราบเลยว่า ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต

    เพราะฉะนั้น กุศลเพียงเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ไม่กี่ขณะในวันหนึ่งๆ ย่อมยากแก่การที่จะทำให้เข้าใจว่า ลักษณะของกุศลจิตต่างกับลักษณะของอกุศลจิต

    ด้วยเหตุนี้สติปัฏฐานเท่านั้นที่จะทำให้รู้ความต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิตได้ และสติปัฏฐานจะขจัดอกุศลจิตทีละเล็กทีละน้อย เพราะรู้ในสภาพที่เป็นอกุศล ถ้าใครมุ่งที่จะละอกุศลธรรม แต่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นลักษณะของกุศลหรืออกุศล ย่อมไม่สามารถละอกุศลได้ เพราะไม่รู้ว่าอกุศลขณะไหน แต่ที่จะละได้ก็เพราะรู้ว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล

    ถ. มหากุศลญาณสัมปยุตต์ถ้าเกิดทางปัญจทวารจะต้องเป็นสติปัฏฐานเท่านั้น หรือว่านอกจากนี้ก็เป็นได้ อย่างธรรมดาเห็น แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน กุศลจิตในขณะที่เห็นจะเกิดได้ไหมที่จะเป็นญาณสัมปยุตต์

    สุ. ธรรมดาการเกิดดับของวิถีจิตทางปัญจทวารและทางมโนทวารเร็วจนไม่มีใครจะไปยับยั้งหรือแยกได้ เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตาและกำลังรู้อรรถบัญญัติของสิ่งนั้น เช่น ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน พระสาวกเห็นพระผู้มีพระภาค ท่านเป็นผู้ที่มีสติในขณะที่เห็นและรู้อรรถบัญญัติของ สิ่งที่ปรากฏว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดความนอบน้อมสักการะ ใน ขณะนั้นเป็นกุศล

    ถ. แต่ที่ผมพูดถึง ไม่ใช่ในขณะที่รู้ว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    สุ. ปัญจทวารวิถีจิตและมโนทวารวิถีจิต แม้ว่ามีภวังคจิตคั่นมากก็จริง แต่เพราะการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก จึงเกินกว่าที่ใครจะแยกได้

    ที่จะเห็นการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของทางปัญจทวารวิถี ซึ่งมีภวังคจิตคั่น และมโนทวารวิถีจิตเกิดต่อ ก็คือ ในขณะนี้สิ่งที่ปรากฏไม่ใช่มีแต่เฉพาะทางตา ทางตายังไม่ได้ดับไปเลย แต่หูก็ได้ยินเสียง เสียงปรากฏทางโสตทวารวิถีด้วย ซึ่งถ้ากล่าวถึงวิถีจิตจริงๆ แต่ละวิถี จะปรากฏว่ามากมายหลายวิถี พร้อมทั้งภวังคจิตคั่นอย่างมากทุกวิถี แต่ก็ยังปรากฏเหมือนกับทั้งเห็นทั้งได้ยินด้วย แค่นี้ยังแยกไม่ออกระหว่างทางตาที่เห็นกับทางหูที่ได้ยิน จะไปแยกปัญจทวารวิถีที่ดับไป และภวังคจิตเกิดคั่น และมโนทวารวิถีจิตเกิดต่อทันที ยากที่จะแยกได้

    เพราะฉะนั้น มหากุศลจิตไม่ว่าจะเกิดทางปัญจทวารหรือทางมโนทวาร ก็เป็นไปโดยสืบต่ออย่างรวดเร็ว

    ถ. แสดงว่ามหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิดได้โดยไม่ต้องเป็นสติปัฏฐาน

    สุ. แล้วแต่ว่าทางมโนทวารวิถีเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์หรือเปล่า

    ถ. ก็ต้องปัญจทวารเกิดก่อน

    สุ. ถูกต้อง แต่ความรวดเร็ว แล้วแต่เหตุปัจจัย

    ถ. คือ อาจจะเกิดสลับกัน

    สุ. รวดเร็วจนไม่สามารถจะแยกจากกันได้ เช่น พอเห็นก็เกิดการนอบน้อมเคารพสักการะ ยังไม่ทันที่จะแยก ๒ วิถี

    ถ. แต่อาจารย์เคยบอกว่า จะต้องแยกขาดจากกัน ทั้งทางตา และทางใจ และทางหู

    สุ. ด้วยการอบรมเจริญปัญญาตามลำดับขั้น คือ พิจารณาลักษณะที่เป็นนามธรรมว่าต่างกับที่ลักษณะที่เป็นรูปธรรม จนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏทาง มโนทวารวิถี

    เมื่อกล่าวว่า สภาพธรรมปรากฏทางมโนทวารวิถี ย่อมหมายความว่า การแยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรมจึงปรากฏได้ มิฉะนั้นแล้วจะไม่ปรากฏเลย ถ้ามโนทวารวิถีไม่ปรากฏ เพราะเหตุใด

    ขณะนี้มโนทวารวิถีเกิดสลับกับทางปัญจทวารวิถีอยู่เรื่อยๆ ทางตาที่กำลังเห็นนี่ สิ่งที่ปรากฏทางตาเหมือนกับเป็นทางปัญจทวารวิถีอยู่โดยไม่มีมโนทวารวิถีคั่น แสดงให้เห็นว่า ชั่วขณะที่มโนทวารวิถีเกิดขึ้นเป็นไป ไม่ปรากฏเลย แต่เมื่อไรที่ มโนทวารวิถีปรากฏ เมื่อนั้นจะรู้ลักษณะที่ต่างกันจริงๆ ของแต่ละทวาร

    เช่น ทางตาในขณะนี้ เวลานี้ทุกท่านได้ยินเสียงด้วย ตามความเป็นจริง ถ้าทางตาไม่ดับ การได้ยินเสียงจะมีได้ไหม โดยขั้นการศึกษาซึ่งจิตเกิดขึ้นทีละขณะ เพราะฉะนั้น ทางตาต้องดับแน่นอนในขณะที่ทางหูได้ยินเสียงจึงจะถูกตามความเป็นจริง แต่ถ้ายังไม่ประจักษ์แจ้งอย่างนี้ ก็ชื่อว่ายังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง

    และการอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่ทำอย่างอื่น นอกจากสภาพความจริงเป็นอย่างนี้ คือ ขณะที่ได้ยินเสียง ทางตาต้องไม่ปรากฏ หรือขณะที่ทางตาปรากฏ ทางเสียงต้องไม่ปรากฏ ปรากฏไม่ได้ นั่นจึงจะเป็นความจริง คือ สภาพธรรมปรากฏทีละอย่าง จนกระทั่งหมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จึงจะเป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น เมื่อขณะนี้ยังไม่เป็นอย่างนี้ แต่ทราบว่าต้องเป็นอย่างนี้จึงจะถูก ก็ต้องอบรมเจริญสติปัฏฐานที่เริ่มจากการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่ละทางก่อน และวันหนึ่งย่อมจะประจักษ์แจ้งได้ เพราะสภาพธรรมเป็นจริงอย่างไร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงของสภาพธรรม นั้นๆ จึงเป็นสัมมาสัมพุทโธ คือ รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ

    ผู้ฟัง ขอสนับสนุนคำพูดของอาจารย์ที่ว่า ถ้าใครต้องการอยากจะรู้อะไร ก็ ให้รีบสะสมเสียตั้งแต่บัดนี้เพื่อให้เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เพราะได้ประสบมากับตัวเองว่า ตั้งแต่ได้ฟังอาจารย์ครั้งแรกและฟังติดต่อมาเรื่อยๆ ทางวิทยุ ปัจจัยนี้ก็สนับสนุน ให้อยากเห็นหน้า อยากมาฟังถึงที่บรรยาย สะสมมาเรื่อยๆ ความรู้ ความเข้าใจก็ค่อยๆ มีเรื่อยๆ โดยที่เราไม่ต้องไปเร่งรัดหรือบังคับอะไร ขอให้เรามีความสนใจและตั้งใจให้ดี ความตั้งใจเป็นหลักสำคัญ และอ่านหนังสือตำรับตำรา หรือฟังที่อาจารย์บรรยายประกอบ อย่างอาจารย์เคยยกตัวอย่าง การจับด้ามมีดในพระสูตร การจับทีแรกหรือเดือนหนึ่ง อาจจะยังไม่เห็นรอยสึก ต่อเมื่อปรากฏว่าสึกจริงๆ เราจึงจะเห็น อันนี้ก็เหมือนกัน ที่เราสะสมทีละเล็กทีละน้อย เราจะไม่เห็นประโยชน์เห็นคุณค่าเท่าไรนัก ต่อเมื่อทำไป สะสมไปเรื่อยๆ แล้ว ความรู้ความเข้าใจที่จะแยกแยะได้ว่า สิ่งไหนผิดสิ่งไหนถูก สิ่งไหนจะเป็นข้อปฏิบัติที่ควรดำเนิน จะค่อยๆ มีไปเอง

    สุ. ขออนุโมทนา

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ในวันหนึ่งๆ ท่านอยู่ในโลกของปรมัตถธรรม คือ รู้ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม หรือว่าอยู่ในโลกของ อรรถบัญญัติ หรือว่าอยู่ในโลกของปุคคลบัญญัติ คือ บัญญัติสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นบุคคลต่างๆ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ท่านอยู่ในโลกไหน ตามความเป็นจริง

    การศึกษาธรรมต้องพิจารณาโดยละเอียดตามความเป็นจริงว่า ในวันหนึ่งๆ เมื่อได้ศึกษาเรื่องปรมัตถธรรมแล้ว ท่านอยู่ในโลกของปรมัตถธรรม หรือว่าอยู่ในโลกของอรรถบัญญัติ หรือว่าทั้ง ๒ อย่าง หรือว่าเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างเดียว การศึกษาธรรมเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาจริงๆ

    ไม่ทราบว่า ท่านผู้ฟังมีความเห็นว่าอย่างไร

    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. อรรถบัญญัติ คือ รู้สภาพธรรมที่ปรากฏ ที่รวมกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด วันหนึ่งๆ ที่ตื่นขึ้นมาถ้าไม่มีอรรถบัญญัติ ไม่สามารถที่จะทำความสะอาดร่างกาย ไม่สามารถที่จะบริหารร่างกาย ไม่สามารถรับประทานอาหารเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ คือ ไม่สามารถมีชีวิตดำรงอยู่ได้เลย ถ้าหลังจากปรมัตถธรรมปรากฏแล้ว ไม่มีมีวิถีจิตที่รู้อรรถบัญญัติของสภาพธรรมที่ปรากฏด้วย

    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ตลอดเรื่อยมา อยู่ในโลกของปรมัตถธรรมเท่านั้น หรือว่าอยู่ในโลกของอรรถบัญญัติด้วย หรือว่าอยู่ในโลกของอรรถบัญญัติตลอดเวลา ไม่ได้รู้เลยว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นปรมัตถธรรมทั้งสิ้น

    พอที่จะทราบได้ไหมว่า อยู่ในโลกไหน

    ขณะใดที่สติปัฏฐานไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นทั้งหมดเป็นอรรถบัญญัติ คือ เห็นเป็นวัตถุสิ่งต่างๆ โดยไม่ได้ระลึกรู้เลยว่า ทางตา แท้ที่จริงที่เห็นเป็นวัตถุสิ่งต่างๆ นั้น สภาพธรรมที่ปรากฏเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ ทางตาเท่านั้น แต่ที่ปรากฏเป็นสัณฐานรูปร่างต่างๆ เพราะเป็นนิมิตของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ประชุมรวมกัน จึงปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐาน เมื่อปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานรวมทั้งกลิ่นและรสจึงปรากฏเป็นอรรถบัญญัติว่า เป็นข้าว เป็นน้ำ เป็นผลไม้ เป็นพืช เป็นผัก เป็นบุคคลต่างๆ แต่ความเป็นจริง สภาพที่แท้จริง คือ ปรมัตถธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และดับไปอย่างรวดเร็ว

    ด้วยเหตุนี้ ปัจจัยต่อไปพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดง ปุเรชาตปัจจัย ซึ่งหมายความถึง รูปธรรมที่เกิดก่อนเป็นปัจจัยให้นามธรรมเกิดขึ้นในขณะที่รูปธรรมนั้นยังไม่ดับไป แสดงความสัมพันธ์และความเป็นปัจจัยกันของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก สิ่งที่เคยคิดว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุต่างๆ แท้ที่จริงแล้วในขณะที่ปรากฏทางตานั้น เป็นแต่เพียงสีสันวัณณะ เป็นรูปชนิดหนึ่ง ที่สามารถจะมองเห็นได้ คือ ปรากฏทางตาได้

    เสียงที่กำลังได้ยินนี้ ทุกท่านคงจะมีความคิดตามอรรถบัญญัติว่า เสียงนั้น หมายความว่าอะไร และยังรู้อรรถบัญญัติจากรูปร่างนิมิตสัณฐานว่า ใครเป็นผู้พูด แต่ตามความเป็นจริง หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลไม่ได้ โดยพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ขณะจิตหนึ่งซึ่งจะเกิดขึ้นเห็นก็ตาม หรือจะเกิดขึ้นได้ยินเสียงต่างๆ ก็ตาม รูปธรรมที่เกิดก่อนแล้วยังไม่ดับไป ทั้งๆ ที่มีอายุเพียงการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ ก็สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้นามธรรมเกิดขึ้นในระหว่างที่รูปธรรมนั้นยังไม่ดับ

    ความหมายของปุเรชาตะ

    ชาตะ คือ เกิด ปุเร แปลว่า ก่อน เพราะฉะนั้น ปุเรชาตปัจจัย คือ สภาพธรรมซึ่งเป็นปัจจัยโดยการเกิดก่อน ซึ่งได้แก่รูปธรรมนั่นเองเป็นปัจจัย แก่นามธรรม โดยรูปธรรมนั้นต้องเกิดก่อนนามธรรมและยังไม่ดับไป เพราะว่ารูปทุกรูปที่จะเป็นปัจจัยได้ต้องเป็นเฉพาะในฐีติขณะ ไม่ใช่ในอุปาทขณะของรูป นอกจากปฏิสนธิกาลขณะเดียวเท่านั้น ซึ่งหทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัยแก่ ปฏิสนธิจิตในอุปาทขณะ

    หลังจากปฏิสนธิขณะแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรูปใดๆ เป็นปัจจัยใดๆ ก็ตาม จะต้องเป็นปัจจัยได้เฉพาะในขณะที่เป็นฐีติขณะ คือ พ้นจากอุปาทขณะของรูปและรูปนั้นยังไม่ดับไป จึงเป็นฐีติขณะ

    สำหรับปุเรชาตปัจจัย คือ รูปที่เกิดก่อนและยังไม่ดับเป็นปัจจัยแก่นามธรรม โดยปัจจัย ๒ อย่าง คือ

    วัตถุปุเรชาตปัจจัย หรือ ปุเรชาตนิสสยปัจจัย หรือจะเรียกว่า วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย ก็ได้ ซึ่งหมายความถึงรูปเป็นที่อาศัยเป็นที่เกิดของจิต โดยเป็นสภาพธรรมที่เกิดก่อนจิตและยังไม่ดับ

    อีกอย่างหนึ่ง คือ อารัมมณปุเรชาตปัจจัย ได้แก่ รูปที่เป็นอารมณ์ของจิต ซึ่งรูปที่จะเป็นอารมณ์ของจิตได้ รูปนั้นต้องเกิดก่อนจิตและยังไม่ดับ

    สำหรับวัตถุปุเรชาตปัจจัย หรือปุเรชาตนิสสยปัจจัย หรือวัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย โดยศัพท์ก็ทราบแล้วว่า

    วัตถุ หมายความถึงที่เกิดของจิต

    นิสสยะ แปลว่า ที่อาศัย

    ปุเรชาตะ แปลว่า เกิดก่อน

    เพราะฉะนั้น รูปซึ่งเป็นที่อาศัยให้จิตเกิดขึ้นโดยรูปนั้นเกิดก่อน ชื่อว่า วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย

    สำหรับปุเรชาตนิสสยปัจจัย หรือวัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย มี ๖ รูป ได้แก่

    จักขุปสาทรูป เป็นจักขุวัตถุ คือ เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณและเจตสิกที่เกิดกับจักขุวิญญาณ

    โสตปสาทรูป เป็นโสตวัตถุ คือ เป็นที่เกิดของโสตวิญญาณและเจตสิกที่เกิด กับโสตวิญญาณ

    ฆานปสาทรูป เป็นฆานวัตถุ คือ เป็นที่เกิดของฆานวิญญาณและเจตสิกที่เกิดกับฆานวิญญาณ

    ชิวหาปสาทรูป เป็นชิวหาวัตถุ คือ เป็นที่เกิดของชิวหาวิญญาณและเจตสิกที่เกิดกับชิวหาวิญญาณ

    กายปสาทรูป เป็นกายวัตถุ คือ เป็นที่เกิดของกายวิญญาณและเจตสิกที่เกิดกับกายวิญญาณ

    โดยเป็นวัตถุปุเรชาตปัจจัย คือ รูปซึ่งจะเป็นที่เกิดของจิตต้องเกิดก่อนจิต

    ทั้งหมด ๕ รูป ทางทวารทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นอกจากจิต ๑๐ ดวง คือ จักขุวิญญาณ ๒ โสตวิญญาณ ๒ ฆานวิญญาณ ๒ ชิวหาวิญญาณ ๒ กายวิญญาณ ๒ แล้ว จิตอื่นทั้งหมดต้องเกิดที่หทยวัตถุ

    เพราะฉะนั้น หทยวัตถุต้องเกิดก่อนจิตนั้นจึงจะเป็นวัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัยของจิตซึ่งเกิดที่หทยวัตถุนั้น

    รวม ๖ รูป ซึ่งเป็นที่อาศัยให้จิตเกิดขึ้น โดยเกิดก่อน โดยเป็นวัตถุปุเรชาตปัจจัย หรือวัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย

    กุศลจิตเกิดที่ไหน

    ที่หทยวัตถุ โดยมีหทยวัตถุนั้นเกิดก่อนและยังไม่ดับ จึงเป็นวัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย

    ถ. หทยวัตถุที่เกิดก่อนยังไม่ดับ หมายความว่าอย่างไร

    สุ. รูปมีอายุเท่ากับ ๑๗ ขณะของจิต จิตเกิดดับไป ๑๗ ขณะ รูปที่เกิดพร้อมจิตในอุปาทขณะของจิตดวงที่ ๑ จึงจะดับไปพร้อมกับภังคขณะของจิตดวงที่ ๑๗

    ไม่ว่ารูปใดๆ ทั้งสิ้น (เว้นปฏิสนธิหทยวัตถุ) ในขณะที่รูปนั้นเกิดขึ้น ไม่สามารถจะเป็นปัจจัยได้ในอุปาทขณะของรูป เพราะว่ายังมีกำลังอ่อน เพิ่งเป็น อุปาทขณะเท่านั้น แต่เมื่อล่วงเลยอุปาทขณะของรูปเป็นฐีติขณะ คือ ขณะที่ตั้งอยู่ ยังไม่ดับไป รูปจึงจะเป็นปัจจัยได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๑๑๒๑ – ๑๑๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 85
    28 ธ.ค. 2564