แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1326


    ครั้งที่ ๑๓๒๖


    สาระสำคัญ

    อถ.คุตติลชาดกที่ ๓ - บอกคืนอาจารย์แล้วกลับเป็นศัตรู

    อส.อธิบายจิตตัสเสกคตานิทเทส - ลักษณะของสมาธิ (เอกัคคตาเจตสิก)

    พระบาลีนิทเทส - เอกัคคตา

    พระบาลีนิทเทส - วิริยพละ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๒๗


    ครั้นพระโพธิสัตว์กลับมา และมุสิละได้รับปฏิสันถารแล้ว จึงบอกเหตุที่ตนมาจากเมืองอุชเชนี

    พระโพธิสัตว์รู้องค์วิชาทำนายลักษณะคนก็รู้ว่ามุสิละเป็นอสัตบุรุษ ได้บอกปัดว่า ไปเถิดพ่อ ศิลปะไม่สำเร็จแก่ท่านหรอก

    แต่ว่ามุสิละเป็นผู้มีความเพียร ต้องการวิชานี้ จึงได้จับเท้ามารดาบิดาของ พระโพธิสัตว์ลูบไล้ให้สงสารตนแล้วอ้อนวอนว่า ขอท่านจงช่วยให้พระโพธิสัตว์ถ่ายทอดศิลปะให้ข้าพเจ้าเถิด

    พระโพธิสัตว์ถูกมารดาบิดาช่วยพูดบ่อยๆ ก็ไม่อาจขัดท่านได้ จึงสอนศิลปะวิชาให้ แล้วยังพามุสิละไปที่พระราชนิเวศน์กับพระโพธิสัตว์ด้วย

    พระราชาทอดพระเนตรเห็นเขา ตรัสถามว่า

    นั่นใคร

    พระโพธิสัตว์ได้กราบทูลว่า

    ขอเดชะ นี่คืออันเตวาสิกของข้าพระองค์

    มุสิละก็ได้คุ้นเคยกับพระราชาโดยลำดับ พระโพธิสัตว์มิได้ปิดบังอำพรางวิชา ให้ศึกษาตามแบบที่ตนรู้มาจนจบ

    ซึ่งเป็นธรรมเนียมของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายว่า ย่อมเป็นผู้ที่สอนวิชาจนหมดโดยไม่ปิดบังเลยทุกชาติ

    เมื่อพระโพธิสัตว์ได้ให้มุสิละศึกษาตามแบบที่ท่านได้ศึกษามาจนจบแล้ว พระโพธิสัตว์ได้กล่าวว่า

    แน่ะพ่อ ท่านเรียนศิลปะจบแล้ว

    มุสิละคิดว่า ศิลปะเราก็ช่ำชองแล้ว ทั้งกรุงพาราณสีนี้ก็เป็นนครเลิศใน ชมพูทวีปทั้งสิ้น แม้ถ้าอาจารย์แก่ เราควรจะอยู่ในกรุงพาราณสีนี้แหละ

    มุสิละจึงบอกอาจารย์ว่า

    ข้าพเจ้าจักรับราชการ

    อาจารย์กล่าวว่า

    ดีแล้ว เราจะกราบทูลพระราชา

    จึงพาไปเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า

    อันเตวาสิกของข้าพระองค์ปรารถนาจะรับราชการสนองพระคุณพระองค์ ขอพระองค์จงพิจารณาเบี้ยหวัดให้เขา

    เมื่อพระราชาตรัสว่า เขาจะได้กึ่งหนึ่งจากเบี้ยหวัดที่ท่านได้ จึงบอกเรื่องนั้นแก่ มุสิละ

    มุสิละกล่าวว่า

    เมื่อข้าพเจ้าได้รับเบี้ยหวัดเท่ากับท่านจึงจะรับราชการ เมื่อไม่ได้เท่าจะไม่ขอรับ พระโพธิสัตว์ถามว่า

    เพราะเหตุไร

    มุสิละตอบว่า

    ข้าพเจ้ารู้ศิลปะที่ท่านรู้หมดมิใช่หรือ

    พระโพธิสัตว์กล่าวว่า

    ถูกแล้ว ท่านรู้ทั้งหมด

    มุสิละกล่าวว่า

    เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไรพระราชาจึงจะพระราชทานแก่ข้าพเจ้ากึ่งหนึ่งเล่า

    พระโพธิสัตว์จึงกราบทูลแด่พระราชา

    พระราชาตรัสว่า

    ถ้าเขาสามารถแสดงศิลปะทัดเทียมท่าน ก็จะได้เท่ากัน

    พระโพธิสัตว์ฟังพระดำรัสดังนั้น จึงบอกแก่มุสิละ เมื่อเขากล่าวว่า ดีละ ข้าพเจ้าจักแสดง จึงกราบทูลแด่พระราชา เมื่อพระองค์ตรัสว่า ดีแล้ว จงแสดงเถิด จะแสดงแข่งขันกันวันไหนเล่า จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอจงแข่งขันกันในวันที่ ๗ นับแต่วันนี้

    พระราชารับสั่งหาตัวมุสิละมาตรัสถามว่า

    ได้ยินว่า ท่านจะทำการแข่งขันกับอาจารย์หรือ

    เขาก็กราบทูลว่า

    ขอเดชะ จริงพระเจ้าข้า

    แม้ทรงห้ามว่า อันการแข่งดีกับอาจารย์ไม่สมควรเลย

    เขาก็กราบทูลว่า

    ข้าแต่มหาราช ช่างเถิด ขอให้ข้าพระองค์แข่งขันกับอาจารย์ในวันที่เจ็ดเถิด จักได้ทราบว่าคนไหนจักชนะ

    พระราชารับสั่งว่า

    ดีแล้ว

    จิตประเภทไหน ชีวิตในวันหนึ่งๆ ไม่ว่าจะกี่ภพกี่ชาติ จะเป็นใครก็ตาม ก็ย่อมไม่พ้นจากอกุศล คือ โลภะ โทสะ โมหะ

    พระราชารับสั่งให้เที่ยวตีกลองป่าวร้องว่า ในวันที่เจ็ดนับแต่วันนี้ อาจารย์กับศิษย์จะแสดงศิลปะแข่งขันกันที่ประตูวัง ชาวเมืองจงมาประชุมดูศิลปะกันเถิด

    พระโพธิสัตว์คิดว่า มุสิละผู้นี้ยังหนุ่มแน่นมีกำลังแข็งแรง เราแก่ตัวถอยกำลังแล้ว ธรรมดาว่ากิริยาของคนแก่ย่อมไม่กระฉับกระเฉง อนึ่ง ธรรมดาว่าลูกศิษย์แพ้ ก็ไม่แปลกอะไร แต่เมื่อลูกศิษย์ชนะ เข้าไปตายเสียในป่ายังดีกว่าความละอายที่พึงจะได้รับ พระโพธิสัตว์จึงเข้าไปป่า แล้วก็กลับเพราะกลัวตาย แล้วกลับไปอีกเพราะ กลัวอาย

    นี่ก็เป็นเรื่องของความกลัว ทั้งกลัวตายบ้าง และกลัวอายบ้าง

    เมื่อพระโพธิสัตว์กลับไปกลับมาดังนี้ จนล่วงไปได้ ๖ วัน ต้นหญ้าตายราบ เกิดเป็นรอยทางเดินเท้าแล้ว ขณะนั้นพิภพของท้าวสักกะแสดงอาการร้อน ท้าวสักกะทรงเล็งแลดูก็รู้เหตุการณ์นั้น ทรงดำริว่า คุตติลคนธรรพ์กำลังได้รับความทุกข์ ใหญ่หลวงในป่าเพราะกลัวอันเตวาสิก เราควรจะเป็นที่พึ่งแก่เขา จึงรีบเสด็จไปยืนอยู่ข้างหน้า ตรัสถามว่า

    ท่านอาจารย์ ท่านเข้าป่าไปทำไม

    เมื่อพระโพธิสัตว์ถามว่า ท่านเป็นใคร ก็ตรัสว่าเราเป็นท้าวสักกะ

    ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์จึงทูลท้าวสักกะว่า

    ข้าแต่เทวราชเจ้า ข้าพระองค์ไปป่าก็เพราะกลัวแพ้อันเตวาสิก จึงกล่าวคาถาแรกว่า ข้าพระองค์ได้สอนให้ศิษย์ชื่อ มุสิละ เรียนวิชาดีดพิณ ๗ สาย มีเสียงไพเราะจับใจคนฟัง เขากลับมาขันดีดพิณสู้ข้าพระองค์ ณ ท่ามกลางสนาม ข้าแต่ท้าวโกสีย์ ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์เถิด

    ท้าวสักกะตรัสว่า

    อย่ากลัวเลย เราจะช่วยต่อต้านป้องกันท่านเอง ได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า ดูก่อน สหาย ฉันจะเป็นที่พึ่งของท่าน ฉันเป็นผู้บูชาอาจารย์ ศิษย์จักไม่ชนะท่าน ท่านจักชนะศิษย์

    แล้วได้ทรงแสดงวิธีที่พระโพธิสัตว์จะชนะศิษย์

    ซึ่งข้อความในชาดกยังมีต่อไป ยาวกว่านี้ และแสดงความเป็นมาของกุศลที่เป็นเหตุให้เทพธิดา ๓๗ นางในคุตติลวิมานวัตถุ เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เช่น สตรีนางหนึ่งได้ถวายผ้าอย่างดี ก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อีกนางหนึ่งได้ถวายดอกไม้สำหรับบูชาภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต อีกนางหนึ่งได้ถวายของหอมเจิมพระเจดีย์ อีกนางหนึ่งได้ถวายผลไม้มีรสอร่อย อีกนางหนึ่งได้ถวายอาหารรสเยี่ยม นางหนึ่งได้ถวายของสำหรับเจิมที่เจดีย์ของพระกัสสปทศพล นางหนึ่งได้ฟังธรรมในสำนักภิกษุภิกษุณีผู้เดินทางและพักที่หมู่บ้าน นางหนึ่งยืนอยู่ในน้ำได้ถวายน้ำแก่ภิกษุผู้ฉัน จังหันในเรือ นางหนึ่งเมื่ออยู่ในครอบครัวไม่มักโกรธ ทำการปรนนิบัติมารดาบิดา ของสามี นางหนึ่งต้องแบ่งส่วนที่ตนได้ออกแจกจ่ายก่อนจึงบริโภคและทั้งเป็นผู้มีศีล นางหนึ่งเป็นทาสีอยู่บ้านผู้อื่น เป็นคนไม่โกรธ ไม่ถือตัว แบ่งส่วนที่ตนได้ออกแจกจ่าย

    เมื่อจบชาดกนี้แล้ว

    พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก มุสิละใน ครั้งนั้นได้เป็นเทวทัตในครั้งนี้ ท้าวสักกะได้เป็นท่านพระอนุรุทธะ พระราชาได้เป็นท่านพระอานนท์ ส่วนคุตติลคนธรรพ์ คือ เราตถาคต นี้แล

    ถ. ทั้ง ๓ ท่านนี้ได้เคยร่วมทำกิจกรรมด้วยกันมาในชาติปางก่อน มาในชาตินี้ ท่านพระเทวทัต ท่านพระอานนท์ก็เกิดร่วมกันอีก ทำให้คิดว่า ทุกคนที่เคยได้ทำกิจกรรมร่วมกันมา ในชาติต่อๆ ไปคงจะเกิดร่วมกันอีก ใช่ไหม

    สุ. เป็นไปได้ เพราะสังสารวัฏฏ์ยาวนานมาก จะไม่มีใครเลยซึ่ง ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่เพื่อน ไม่ใช่มิตรสหาย

    พระผู้มีพระภาคเองก็เคยเป็นบุตรของพระเทวทัต เคยเป็นบุตรของท่าน พระมหากัสสปะด้วย แต่ละท่านก็เคยเกี่ยวข้องกันมาไม่โดยสถานหนึ่งก็สถานใด แต่ทุกคนก็จำอดีตไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในปัจจุบันชาตินี้เอง จะมีโลภะ หรือโทสะกับบุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร ก็เป็นแต่ละชาติใหม่ ไม่เกี่ยวข้องกับอดีตชาติเลย แต่การสะสมของแต่ละคน จะทำให้โลภมูลจิตที่เกิดขึ้น ทำให้มีกาย วาจาและความคิดที่ต่างกัน

    ถ. ทุกคนเป็นญาติกันมาก่อนเนื่องจากวัฏฏะยาวนาน ถ้าเราจะให้อภัย แก่ใครโดยมนสิการว่า เคยเป็นญาติกันมาก่อน อย่างนั้นจะได้กุศลไหม

    สุ. ขณะที่อภัยให้ ขณะนั้นเป็นกุศลจิต จะโดยประการใดก็ตาม

    ถ. ที่อาจารย์บอกว่า เวลามีทุกข์หนักๆ จะขอ ขอได้หรือ

    สุ. ถามดูว่าจะทำอย่างไร เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน

    ถ. ผมอยากจะขอ เพราะสุขภาพไม่ดี ขอกุศลที่ได้เข้ามาในพุทธศาสนาในระยะ ๘ - ๙ ปีอย่างจริงๆ จังๆ ทั้งทาน ศีล ภาวนาที่ได้บำเพ็ญแล้ว ขอให้ส่งผลเร็วๆ

    สุ. ขออำนาจของกุศลที่ได้กระทำแล้ว เป็นสิ่งที่ถูก เพราะไม่ใช่ขอคนอื่น ถ้าไปขอพรจากคนอื่นมากๆ โดยที่ไม่ได้ทำกุศลของตนเองเลย ก็เป็นการเข้าใจผิด คิดว่าคนอื่นจะดลบันดาลให้ได้ แต่ถ้าขออำนาจสัจจะของกุศลเจตนาที่ได้กระทำแล้วให้ให้ผลอย่างนี้ ย่อมขอได้ เพราะมีเหตุที่สมควรแก่ผล ไม่ใช่เป็นการไปขอบุคคลอื่น

    ถ. แต่ก็ได้ขอไปแล้ว ไม่ทราบจะได้ผลหรือเปล่า

    สุ. แล้วแต่กำลังของกุศลจิต

    ถ. สมัยนั้นพระโพธิสัตว์คงยังไม่ได้รับพุทธพยากรณ์ จึงมีความกลัวลูกศิษย์ถึงขนาดเดินจนป่าราบ

    สุ. ทุกท่านที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล จะให้โลภมูลจิตหรือโทสมูลจิตที่สะสมมาเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์หมดสิ้นไปได้อย่างไร

    ถ. พระโพธิสัตว์ท่านได้บำเพ็ญบารมีมา มีปัญญา ท่านคงรู้เหตุรู้ผล สามารถเห็นธรรม เห็นอะไรตามสมควรแล้ว

    สุ. ท่านสอนวิชาจนหมด และเห็นว่าลูกศิษย์ของท่านยังหนุ่มแน่น มีกำลัง แต่ท่านแก่แล้ว นี่เป็นตามความเป็นจริงว่า โดยกำลังย่อมสู้กันไม่ได้ เพราะวิชาก็สอนจนหมดไม่ได้ปิดบังเลย จะเห็นได้ว่า ถ้ายังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม แม้เป็นพระโพธิสัตว์ กุศลก็เกิด อกุศลก็เกิดตามเหตุตามปัจจัย กุศลเกิดเมื่อสอนให้โดยมิได้ปิดบังเลย อกุศลเกิดเวลาที่กลัวว่าจะแพ้ เพราะยังเป็นปุถุชน ไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า

    การที่จะขัดเกลากิเลส จะเห็นได้ว่า กิเลสมากแสนมาก กลัวหลายอย่างแม้กระทั่งกลัวจะแพ้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นความกลัวที่จะต้องเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย จะต้องเป็นพระอริยเจ้าก่อน จึงสามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    สำหรับเรื่องของสมาธิ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ข้อความใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ พรรณนาอกุศลบทภาชนียะ อธิบาย จิตตัสเสกัคคตานิทเทส คือ ลักษณะของสมาธิว่า

    ธรรมชาติชื่อว่า ฐิติ เพราะดำรงอยู่ในอารมณ์โดยเป็นธรรมชาติไม่หวั่นไหว ตั้งมั่น อนึ่ง ที่ชื่อว่า สัณฐิติ เพราะประมวลสัมปยุตธรรมมาตั้งไว้ในอารมณ์

    ที่ชื่อว่า อวัฏฐิติ เพราะหยั่งลง คือ เข้าไปสู่อารมณ์แล้วตั้งอยู่ได้ จริงดังนั้น ในฝ่ายกุศลธรรม ธรรม ๔ ประการ คือ ศรัทธา สติ สมาธิ ปัญญา ย่อมหยั่งลงสู่อารมณ์ เหตุนั้นเองพระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกศรัทธาว่า โอกัปปนา คือ การน้อมลงกำหนด ตรัสเรียกสติว่า อปิลาปนตา คือ การไม่ปล่อยใจให้เลื่อนลอย ตรัสเรียกสมาธิว่า อวัฏฐิติ คือ ตั้งมั่น ตรัสเรียกปัญญาว่า ปริโยคาหนา คือ ความสอดส่อง

    ในฝ่ายอกุศลธรรมนั้น ไม่มีศรัทธา สติ และปัญญา แต่ในฝ่ายอกุศลธรรมนั้น ธรรม ๓ ประการ คือ ตัณหา ทิฏฐิ อวิชชา ย่อมหยั่งลงสู่อารมณ์

    เหตุนั้นเองพระผู้มีพระภาคจึงตรัสธรรมทั้งหลายเหล่านั้นว่า เป็นโอฆะ ก็ความที่จิตแน่วแน่ในฝ่ายอกุศลนี้ไม่มีกำลัง เหมือนเมื่อเอาน้ำราดไปในที่มีฝุ่นฟุ้ง กลายเป็นที่เกลี้ยง ฝุ่นค่อยๆ สงบลงตามกาล แต่เมื่อที่นั้นแห้ง ฝุ่นก็จะฟุ้งขึ้นเหมือนอย่างเดิม ฉันใด ความที่จิตแน่วแน่ในฝ่ายอกุศล ก็ไม่มีกำลังฉันนั้นเหมือนกัน แต่ในฝ่ายกุศล ความที่จิตเป็นสมาธิมีกำลัง เหมือนเมื่อสถานที่นั้นถูกเขาเอาหม้อน้ำตักราด เอาจอบขุดคลุกเคล้า ขยำ ทุบ ไล้ ทา จนมองเห็นเหมือนเงาในกระจก แม้จะล่วงเลยไปถึง ๑๐๐ ปี ก็ยังงดงามเหมือนเพิ่งทำเมื่อสักครู่นี้เอง

    นี่คือความต่างกันของขณะที่เป็นอกุศลจิต แต่ไม่ส่ายไปสู่อารมณ์ต่างๆ ขณะนั้นแม้ว่าเป็นขณะที่จิตตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด แต่ไม่มีกำลังเท่ากับขณะที่เป็นสัมมาสมาธิ เพราะเวลาที่เป็นอกุศลเข้าใจว่าจิตตั้งมั่นมีกำลัง แต่แท้ที่จริงแล้วขณะที่ตั้งมั่นด้วยอกุศลจิตนั้น ไม่สามารถที่จะให้ถึงอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นฌานจิต ไม่สามารถให้เกิดอภิญญาต่างๆ ได้ เพราะขณะนั้นเป็นมิจฉาสมาธิ

    ซึ่งข้อความใน พระบาลีนิทเทส เอกัคคตา มีว่า

    เพราะอกุศลจิตดวงนี้ (คือ โลภมูลจิตซึ่งเป็นมิจฉาสมาธิ) มีกำลังน้อย มีแต่เพียงฐิติ คือ ความตั้งอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น ฉะนั้นจึงมิได้ตรัสถึงสัณฐิติ คือ ความดำรงอยู่แห่งจิต (ในขณะที่เป็นอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ เป็นต้น) จึงตรัสเป็นบทเดียวเท่านั้นว่า จิตตัสสฐิติ คือ ความตั้งอยู่แห่งจิต

    สำหรับความเพียรที่เกิดกับโลภมูลจิต ในขณะที่เป็นมิจฉาสมาธิ มีข้อความพระบาลีนิทเทส วิริยพละ ซึ่งเป็นอกุศลว่า

    การปรารภความเพียรทางใจ ความขะมักเขม้น วิริยพละ มิจฉาวายามะ เกิดในสมัยนั้น

    เพราะฉะนั้น อย่าเพียงสนใจที่จะทำสมาธิ แต่ต้องรู้ด้วยว่าสมาธินั้น เป็นมิจฉาสมาธิ หรือสัมมาสมาธิ

    ถ. สมาธิ คือ วิตกในรูป รูปที่มากับวิตกก็ต้องมีบัญญัติรูป ใช่ไหม

    สุ. เป็นอย่างไร สมาธิที่วิตกในรูป

    ถ. หมายความว่า ถึงแม้จะเป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่เราต้องเลือกรูปที่จะมาทำสมถะ

    สุ. ทำอย่างไร ทำสมถะ

    ถ. สมถะไม่ได้หมายความว่า นั่ง อาจจะกำหนดรูปเดิน ขณะที่ก้าวไป ก็อยู่ที่ก้าวอย่างเดียว คือ มีอารมณ์เดียว ไม่มีอะไรมายุ่งเกี่ยวเลย

    สุ. ทำไมกำหนดที่ก้าว

    ถ. ก็ขั้นสมาธิ ขั้นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    สุ. นี่ปนกันระหว่างสติปัฏฐานกับสมถภาวนา จะเจริญวิปัสสนาภาวนา หรือจะเจริญสมถภาวนา ต้องทราบ เจริญอย่างไรก็ได้ผลอย่างนั้น ไม่ใช่เจริญอย่างนี้แล้วจะไปได้ผลอย่างโน้น

    ถ. ที่เป็นกสิณบัญญัติ อย่างอาโลกกสิณ จะมีภาพนิมิต ถ้าจะดำรงนิมิตนั้นถึงขั้นอัปปนา สภาพนิมิตนั้นก็จะแจ่มใสเป็นประกาย

    สุ. ไปถึงนิมิตเร็วอย่างนั้นเลยหรือ ถึงอัปปนา แจ่มใสเป็นประกาย เร็วอย่างนั้นเลยหรือ

    ถ. อยู่ที่บุญบารมี ทุกคนก็อยากจะมี อยากจะเป็น

    สุ. เคยไปเจริญหรือเปล่า เจริญอาโลกสัญญาทำอย่างไร

    ถ. สำหรับผม ผมใช้ส่องดวงอาทิตย์ ผมจะพิสูจน์ให้ดูก็ได้ว่า สายตานี่ จะส่องดูได้ คือ ผมส่องมาแล้ว ๒ ปี

    สุ. ขณะกำลังส่องนั้น จิตสงบหรือ

    ถ. สงบ คือ กายนี่จะเบาหมดเลย

    สุ. สติสัมปชัญญะสามารถรู้ความต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิต ก่อนที่จะถึงอุปจารสมาธิไหม

    ถ. ขณะที่เรามอง ถ้าเรามีสังขารเมื่อไร เมื่อนั้นเราก็ต้องร้อน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๓ ตอนที่ ๑๓๒๑ – ๑๓๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 89
    28 ธ.ค. 2564