แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1376


    ครั้งที่ ๑๓๗๖


    สาระสำคัญ

    ความไม่เที่ยงของรูป การพิจารณาอายุโดยนัยต่างๆ

    พิจารณาโดยอาการถึงความตั้งอยู่ไม่ได้

    อนัตตานุปัสสนา

    อถ.แสดงธรรมเตือนให้สติระลึสภาพธรรมในชีวิต ประจำวัน


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน ต่อวันอาทิตย์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๗


    หรืออีกประการหนึ่ง อาจจะกำหนดโดยซอยจาก ๑๐๐ ปี แต่แทนที่จะเป็น ๓ ส่วนด้วยอำนาจ ๓ วัย ก็ซอยออกเป็น ๑๐ ส่วนด้วยอำนาจทสกะ คือ ระยะ ๑๐ ปี ซึ่งท่านกล่าวไว้ว่า

    มัณฑทสกะ ๑๐ ปีแห่งการประดับประดา กีฬาทสกะ ๑๐ ปีแห่งการเล่น วัณณทสกะ ๑๐ ปีแห่งผิวพรรณ พลทสกะ ๑๐ ปีแห่งกำลัง ปัญญาทสกะ ๑๐ปี แห่งปัญญา มายาทสกะ ๑๐ ปีแห่งมารยา ปัพภารทสกะ ๑๐ ปีแห่งความค้อม วังกทสกะ ๑๐ ปีแห่งความโกง โมมูหทสกะ ๑๐ ปีแห่งความหลง สยนทสกะ ๑๐ ปีแห่งการนอน

    นี่ก็ตามวัย คือ มัณฑกทสกะ ๑๐ ปีแห่งการประดับประดา เมื่อเกิดมาก็ต้องตกแต่งจนกว่าจะโต ดัดแขนขา ทาขมิ้น บำรุงผิวพรรณต่างๆ เป็นต้น

    ต่อไปเป็น ๑๐ ปีแห่งการเล่น

    ต่อไปเป็น ๑๐ ปีแห่งผิวพรรณ

    ปีที่ ๔๐ เป็นปีแห่งกำลัง ปีที่ ๕๐ เป็นปีแห่งปัญญา ปีที่ ๖๐ เป็นปีแห่งมารยา ปีที่ ๗๐ เป็นปีแห่งความค้อม ปีที่ ๘๐ เป็นปีแห่งความโกง ปีที่ ๙๐ เป็นปีแห่งความหลง ปีที่ ๑๐๐ เป็นปีแห่งการนอน ก็เพื่อที่จะพิจารณาแต่ละทสกะว่า รูปที่เป็นไปแล้วในทสกะที่ ๑ ไม่ทันถึงทสกะอื่น ย่อมดับไปในทสกะนั้นนั่นแล เพราะฉะนั้น จึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    . ที่กำหนดมาตรฐานอย่างนี้ จะเป็นเหมือนๆ กันทุกคนหรือเปล่า ที่ว่าคนมีอายุสูงขึ้นจะต้องมีปัญญามากขึ้น

    สุ. โดยทั่วไป

    . ไม่ได้หมายความว่าทุกคน ใช่ไหม

    สุ. เรื่องของปัญญา เป็นเรื่องที่ถ้าอบรมเจริญแล้วไม่เสื่อม ถึงแม้ว่าวัย จะเสื่อม แต่ปัญญาไม่เสื่อม ถ้าไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ก็ต้องเป็นไปตามวัย

    . หมายความว่า ถ้าเราพัฒนาอยู่เรื่อยๆ ปัญญาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

    สุ. ถ้าเป็นพระอริยบุคคล เป็นพระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล พระอรหันต์ ปัญญาที่ได้อบรมเจริญแล้วจะไม่เสื่อมไปตามวัย แต่ถ้าไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ก็ตามวัย

    . ในปีที่ ๖๐ เป็นปีแห่งมารยาอย่างไร

    สุ. การล่วงจากวัยกลางคนไปสู่วัยชรา บางคนอายุ ๕๐ อาจจะยังไม่เห็นถึงความชรา เพราะปีที่ ๔๐ เป็นปีแห่งกำลัง ปีที่ ๕๐ เป็นปีแห่งปัญญา แต่ปีที่ ๖๐ ควรที่จะมองเห็นความแก่ ความชรา แต่คิดว่ายังไม่แก่ หรือคิดว่ายังแข็งแรง คิดว่า ยังเหมือนเดิมทั้งความรู้สึกนึกคิด จึงเหมือนมารยาที่ทำให้เข้าใจผิดไป เพราะแท้ที่จริงควรเป็นปีที่ชรา แต่ความรู้สึกยังไม่เป็นอย่างนั้น คิดว่ายังแข็งแรงเหมือนเดิม ซึ่งอาจจะเป็นไปได้สำหรับท่านที่มีสุขภาพสมบูรณ์ดี เพราะฉะนั้น ก็เป็นปีซึ่งยังไม่แน่ใจว่าได้แก่แล้ว จนกว่าจะถึงปีที่ ๗๐ ปีแห่งความค้อม ปีที่ ๘๐ ปีแห่งความโกง จากค้อมก็สู่โกง ปีที่ ๙๐ ปีแห่งความหลง และปีที่ ๑๐๐ คือ ปีแห่งการนอน เคลื่อนไหวลำบากสำหรับคนที่มีอายุ ๑๐๐ ปี แม้แต่ ๙๐ ปี กำลังก็อ่อนลงไปมากแล้ว

    เพราะฉะนั้น จะเห็นจริงๆ ถึงความไม่เที่ยงของรูป ซึ่งทุกคนจะต้องถึงใน วันหนึ่งวันใด ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง และแล้วแต่ว่าจะถึงหรือเปล่า เช่น ๑๐๐ ปีอย่างนี้ ก็ไม่แน่ว่าจะถึง ๙๐ ปีก็ไม่แน่ว่าจะถึง ๘๐ ปีก็ไม่แน่ว่าจะถึง ๗๐ ปีก็ไม่แน่ว่าจะถึง ๖๐ ปีก็ยังไม่แน่ว่าจะถึง เพราะตามความเป็นจริงรูปเกิดและดับไป เพียงแต่ถ้ายังไม่สิ้นสุดชีวิตในภพหนึ่งชาติหนึ่ง ก็จะปรากฏสภาพของรูปในลักษณะอาการต่างๆ

    อีกประการหนึ่ง โดยพิจารณาซอยให้สั้นเข้ากว่านั้นอีก คือ ใน ๑๐๐ ปี แทนที่จะซอยเป็น ๑๐ ปี ก็ซอยเป็น ๒๐ ส่วน ส่วนละ ๕ ปี หรือว่าซอยเป็น ๒๕ ส่วน ส่วนละ ๔ ปี หรือว่าซอยเป็น ๓๓ ส่วน ส่วนละ ๓ ปี ซอยให้สั้นอีกก็ได้ คือ ซอยเป็น ๕๐ ส่วน ส่วนละ ๒ ปี หรือว่าซอยให้สั้นอีก เป็นส่วนละ ๑ ปี และปีหนึ่งซอยเป็น ๓ ส่วน ด้วยอำนาจฤดู ๓ หรือซอยเป็น ๖ ส่วน ด้วยอำนาจฤดู ๖ คือ หัวฤดู ท้ายฤดูด้วย หรือซอยเป็น ๑๒ ส่วน ด้วยอำนาจเดือน ๑๒ เดือน และพิจารณาโดยนัยที่กล่าวแล้ว คือ รูปในแต่ละระยะที่แบ่งนั้นๆ ก็ดับในระยะนั้นๆ ไม่ถึงระยะต่อๆ มา จึง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    ข้อสำคัญ พิจารณาบ้างหรือเปล่า

    ไม่ใช่ว่าทรงแสดงไว้เพื่อที่จะพิจารณาให้ละเอียดขึ้น แต่ไม่ได้พิจารณาเลย เพราะฉะนั้น การพิจารณาก็มีตั้งแต่อย่างหยาบ ตั้งแต่ชาติก่อนจนกระทั่งถึงชาตินี้ และพิจารณาชาตินี้โดยวัยต่างๆ ซอยให้สั้นเข้าๆ จนกระทั่งถึง ๑ เดือน

    ซอยออกเป็น ๑๒ ส่วน ด้วยอำนาจ ๑๒ เดือน และยังแบ่งเดือนเป็น ๒ ปักษ์ คือ ข้างแรมกับข้างขึ้น และแบ่งปักษ์ออกเป็น ๑๕ ส่วน คือ ๑๕ วัน และแบ่งวันออกเป็น ๓ ยาม

    นี่คือการให้พิจารณาจริงๆ ซึ่งในวันหนึ่งก็แบ่งออกเป็น ๓ ยาม แต่ถ้าจะให้ละเอียดยิ่งกว่านั้นอีก ก็แยกเป็นส่วนๆ ๖ ส่วนใน ๓ ยาม คือ ก้าว ถอย คู้ เหยียด มอง เหลียว ซึ่งมีอยู่ตลอดเวลาใน ๓ ยามนั้น และพิจารณารูปที่เป็นไปในเวลาก้าว ซึ่งไม่ถึงเวลาถอย

    แสดงให้เห็นจริงๆ ว่า สิ่งที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นเพื่อดับแต่ละขณะ ไม่มีการย้อนกลับไปหาขณะก่อนเลย เช่น ในขณะที่ก้าวจะรู้ได้ว่า รูปที่ก้าวในขณะนั้นก็ดับในขณะนั้นนั่นเอง ไม่ใช่รูปก่อนที่จะก้าว และยังไม่ถึงรูปที่เป็นไปในเวลาอื่น เช่น ในเวลาถอย ไม่ถึงเวลาคู้ พิจารณารูปที่เป็นไปในเวลาก้าวไม่ถึงเวลาถอย รูปที่เป็นไปในเวลาถอย ไม่ถึงเวลาคู้ รูปที่เป็นไปในเวลาคู้ไม่ถึงเวลาเหยียด รูปที่เป็นไปในเวลาเหยียดไม่ถึงเวลามอง รูปที่เป็นไปในเวลามองไม่ถึงเวลาเหลียว ย่อมดับไปในระยะนั้นๆ นั่นแล

    อนึ่ง กำหนดละเอียดลงไปอีก ซอยระยะย่างเท้าก้าวหนึ่งเป็น ๖ ส่วน คือ รูปที่เป็นไปแล้วในเวลายกไม่ถึงเวลาย่าง รูปที่เป็นไปในเวลาย่างไม่ถึงเวลาก้าว รูปที่เป็นไปในเวลาก้าวไม่ถึงเวลาผ่อนลง รูปที่เป็นไปในเวลาผ่อนลงไม่ถึงเวลาจดพื้น รูปที่เป็นไปในเวลาจดพื้นไม่ถึงเวลาเหยียบราบ ย่อมดับไปในระยะนั้นๆ นั่นแล

    การพิจารณาโดยอาการถึงความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งรูปที่เจริญวัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้

    เมื่อกี้ก่อนที่จะถึงที่นี่ทุกคนต้องก้าวแน่นอน และถึงแม้ว่าจะยังอยู่ในห้องนี้ ก็มีการก้าวอยู่ แต่จะต้องพิจารณาซอยระยะย่างเท้าก้าวหนึ่งออกเป็น ๖ ส่วน เป็นความจริงใช่ไหม ถ้าจะพิจารณารูปในขณะที่ยก ขณะนั้นไม่ใช่ในขณะที่ย่าง เพียงแต่ยกขึ้น รูปที่เป็นไปในเวลาย่างก็ไม่ถึงเวลาก้าว รูปที่เป็นไปในเวลาก้าวก็ไม่ถึงเวลาผ่อนลง รูปที่เป็นไปในเวลาผ่อนลงก็ไม่ถึงเวลาจดพื้น และรูปที่เป็นไปในเวลาจดพื้นก็ไม่ถึงเวลาเหยียบราบ

    ไม่ทราบท่านผู้ใด ระลึกลักษณะของรูปที่กำลังปรากฏอย่างนี้หรือเปล่า แต่ว่าสติสัมปชัญญะสามารถที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของรูปได้

    . คัมภีร์สัจจสังเขปที่อาจารย์ยกมาอ้าง เวลานี้ในกรุงเทพเขาก็ปฏิบัติกันอย่างนี้ เวลาก้าวก็นึกว่า ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ถูกหนอ อย่างนี้เป็นต้น ข้อปฏิบัติแบบนี้จะเห็นความเกิดดับของรูป ใช่ไหม

    สุ. ไม่ได้มุ่งที่จะให้เห็นการเกิดดับโดยการคิดว่ากำลังก้าว หรือกำลังย่าง หรือกำลังเหยียบ แต่ต้องแยกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะพิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะใดก็ตาม เช่น ในขณะนี้ ที่นั่ง ก็ระลึกลักษณะที่เป็นรูป หรือลักษณะที่เป็นนาม เพื่อเพิ่มการรู้ชัดขึ้น

    ทุกท่านสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ เช่น ทางตา เห็น เป็นปกติ แต่ว่าลักษณะที่เห็นเป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ นี่เป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องเจริญขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่พิจารณาว่าเห็น หรือในขณะที่กำลังก้าว ก็ไม่ใช่คิดว่าก้าวหนอ หรือว่าย่างหนอ หรือว่ายกหนอ หรือว่าเหยียบหนอ แต่จะต้องรู้ลักษณะของนามธรรมที่กำลังมีรูปเป็นอารมณ์ และรู้ลักษณะของรูปในขณะนั้นว่า ต่างกับลักษณะของนาม

    ข้อสำคัญประการแรกที่สุด คือ ไม่ว่าสติจะเกิดในขณะใด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะใด จะต้องศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยเพิ่มความรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมว่า ลักษณะที่เป็นนามธรรมต่างกับลักษณะของรูปธรรม ซึ่งยากที่จะรู้

    พูดถึงนามธรรมๆ นามธรรมไม่ใช่รูป แต่ที่กำลังเห็น ลักษณะที่ไม่ใช่รูปซึ่งเป็นนามธรรม เป็นเพียงธาตุรู้ เป็นอาการรู้อย่างไร

    การอบรมเจริญปัญญาจะต้องระลึกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยศึกษาลักษณะของสภาพรู้ซึ่งต่างกับลักษณะของรูป จนกว่าจะรู้ชัด

    ทุกคนเข้าใจความหมายที่ว่า ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าไม่ใช่สภาพที่รู้อะไรเลย ขณะนี้ถ้าท่านผู้ใดกำลังยืน หรือว่าท่านผู้ใดกำลังนั่ง ท่านผู้ใดกำลังนอน ลองคิดถึงซากศพ ซึ่งตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าเป็นรูป ไม่มีเห็น เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ต้องต่างจากซากศพ

    อาการเห็น ลักษณะเห็น เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งซากศพไม่มี เพราะซากศพมีแต่รูปซึ่งแข็งตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ถ้าเพิ่งสิ้นชีวิตใหม่ๆ ยังไม่แข็งก็ได้ แต่ไม่มีการเห็น เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่พยายามน้อมที่จะศึกษาให้รู้ลักษณะของธาตุรู้ อาการรู้ ก็อาจจะนึกเทียบได้กับรูปที่ปราศจากวิญญาณว่า ซากศพมีรูป แต่ไม่มีเห็น ไม่มีได้ยิน เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังได้ยินนี้ ลืมเรื่องของรูป และศึกษาลักษณะของการรู้เสียง สภาพที่กำลังได้ยินเสียงว่า ลักษณะที่รู้เสียงนั้นเป็นแต่เพียงธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป

    ดังนั้น ไม่ว่าจะโดยนัยใดๆ ที่จะพิจารณาขณะที่ก้าว ขณะที่เดิน ขณะที่ย่าง ขณะที่เหยียบ ให้ศึกษาลักษณะของรูปธรรมและลักษณะของนามธรรม โดยไม่ใช่คิดถึงชื่อหรือคิดถึงคำ แต่ถ้าจะมีการคิดนึกเกิดขึ้น สติสัมปชัญญะก็ต้องรู้ว่า ขณะที่คิดนึกนั้น ซากศพก็ไม่ได้คิดอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังคิดนั้น ก็เป็นลักษณะอาการของธาตุรู้ สภาพรู้

    พอที่จะระลึกลักษณะที่เป็นธาตุรู้ในขณะนี้ได้ ใช่ไหม

    นอกจากนั้น ยังสามารถพิจารณารูป ด้วยสามารถรูปที่เกิดแต่อาหาร คือ

    รูปที่เป็นไปในเวลาอิ่ม ไม่ถึงเวลาหิว ย่อมดับไปในเวลาอิ่มนั้นนั่นแล รูปที่เป็นไปในเวลาหิว ไม่ถึงเวลาอิ่ม ย่อมดับไปในเวลาหิวนั้นนั่นแล เพราะเหตุนั้น รูปจึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    ถ้าเป็นโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยแยบคาย จะทำให้ระลึกได้ในขณะที่หิว เพราะวันหนึ่งๆ ต้องหิว ก็ไม่ลืมที่จะพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะที่หิว โดยไม่ต้องเจาะจงว่าจะพิจารณารูปอะไร นามอะไร แต่ใน ขณะที่หิวนั้นก็อาจจะระลึกได้ว่า ลักษณะไหนเป็นนามธรรม ลักษณะไหนเป็นรูปธรรม

    หรือในขณะที่กำลังบริโภคอาหาร หลงลืมสติ แต่เมื่อบอกว่าอิ่มแล้ว ก็อาจจะเป็นผู้ที่โยนิโสมนสิการนึกได้ทันที ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เพื่อรู้ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    ถ้าไม่ระลึกอย่างนี้ ไม่มีทางดับการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ เพราะว่าจะหลงลืมสติตลอด ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะก้าว จะคู้ จะเหยียด จะเหลียว จะดู หรือว่าจะหิว จะอิ่ม

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พิจารณารูปด้วยสามารถรูปที่เกิดแต่อุตุว่า รูปที่เป็นไปแล้วในเวลาหนาว ไม่ถึงเวลาร้อน รูปที่เป็นไปแล้วในเวลาร้อน ไม่ถึงเวลาหนาว ย่อมดับไปในเวลานั้นๆ นั่นแล เพราะเหตุนั้น รูปจึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    เรื่องหนาวเรื่องร้อนเป็นชีวิตประจำวัน ทุกท่านหมู่นี้ระยะนี้อาจจะบอกว่า อากาศดี และบางวันอาจจะรู้สึกว่าร้อนมาก แต่ไม่ใช่หลงลืมสติและพูดถึงเรื่องอากาศเท่านั้น แต่ควรที่จะระลึกทันทีในขณะนั้นว่า ลักษณะใดเป็นนามธรรม ลักษณะใดเป็นรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น ข้อความในอรรถกถาจะแสดงธรรมเป็นเครื่องเตือนให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน เพราะทุกท่านคงจะพูดกันเรื่องหนาวๆ ร้อนๆ ตลอดเวลา ซึ่งในขณะที่พูดเรื่องหนาวๆ ร้อนๆ ก็ควรที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วย

    ต่อจากนั้น ควรที่จะได้พิจารณา ด้วยสามารถแห่งรูปที่เกิดแต่กรรม คือ

    รูปอันมีกรรมเป็นสมุฏฐานที่เป็นไปในจักขุทวาร ไม่ถึงโสตทวาร ย่อมดับในจักขุทวารนั้นนั่นแล รูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานที่เป็นไปในโสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร หทยวัตถุ ย่อมดับในทวารนั้นๆ นั่นแล เพราะเหตุนั้น จึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    ต่อจากเรื่องของความหนาว ความร้อน ก็มาถึงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจว่า รูปที่เป็นไปในแต่ละทวารนั้นก็ดับ เมื่อกระทบกับแต่ละทวารนั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเห็นทวารหนึ่ง รูปดับ ในขณะที่กำลังได้ยินทวารหนึ่ง รูปก็ดับทางทวารนั้นๆ ไม่ต่อเนื่อง หรือไม่ใช่รูปอันเดียวกัน ระหว่างขณะที่เห็นกับขณะที่ได้ยิน

    นอกจากนั้น ก็พิจารณา ด้วยสามารถรูปที่เกิดแต่จิต คือ

    รูปที่เป็นไปแล้วในกาลแห่งโสมนัส ไม่ถึงกาลแห่งโทมนัส รูปที่เป็นไปแล้ว ในกาลแห่งโทมนัส ไม่ถึงกาลแห่งโสมนัส ย่อมดับไปในจิตนั้นๆ นั่นแล เพราะเหตุนั้นจึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    ขณะนี้เอง โสมนัส หรือโทมนัส หรืออุเบกขา เวลาที่สนุกสนานรื่นเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส ขณะนั้นจิตเป็นโสมนัส รูปดับในขณะที่กำลังโสมนัสนั่นเอง ไม่ถึงกาลที่เป็นโทมนัสเวทนา หรือว่าในขณะที่โทมนัสเวทนาเกิด โทสมูลจิตเกิด ร้องไห้คร่ำครวญ รูปนั้นก็ดับไปๆ ในขณะที่กำลังร้องไห้คร่ำครวญนั่นเอง ไม่ถึงกาลแห่งโสมนัส

    เพราะฉะนั้น สติสามารถที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรม แม้ในขณะที่เวทนาเปลี่ยนไปจากสภาพของโสมนัสเป็นอุเบกขา และเปลี่ยนจากสภาพของอุเบกขาเป็นโทมนัส



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๘ ตอนที่ ๑๓๗๑ – ๑๓๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 89
    28 ธ.ค. 2564