แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1363


    ครั้งที่ ๑๓๖๓


    สาระสำคัญ

    พิจารณาไตร่ตรองเหตุผลหนทางข้อปฏิบัติ (ไม่ใช่เรื่องที่เพียงฟังแล้วเชื่อ)

    อถ.ติก.ติตถิยสูตร - โทษของโทสะ (เป็นสภาพธรรมที่มีโทษมากแต่คลายเร็ว)

    เจตสิกที่ประกอบกับโลภมูลจิต ๘

    องฺ.สตฺตก.สัญญาสูตรที่ ๒ - อบรมเจริญสัญญา ๗ ประการ (เพื่อกันและระงับและดับโลภะ)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๗


    ถ. ในทัศนะของผม ไม่ต้องบอกว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่บอกทางปฏิบัติที่ถูกต้องให้เขา เมื่อเขาสำเร็จแล้ว เขาก็เชื่อโดยไม่ต้องบอกเลย

    สุ. ถ้าสติเกิดนิดหนึ่งจะบอกคนอื่นไหม ถ้าสติเกิดมากๆ ก็บอก อะไรๆ ก็บอก

    ยังดีที่ไม่มีใครถามใคร เดี๋ยวจะมีคนที่เกิดมากบ้าง เกิดน้อยบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นปัจจัตตธรรม เป็นปัจจัตตังจริงๆ เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นรู้เฉพาะตนจริงๆ คนอื่นไม่สามารถรู้ได้ ถ้าขณะนี้มีท่านผู้หนึ่งบอกว่า สติระลึกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นปกติ เชื่อไหม

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เพียงฟังแล้วเชื่อ นี่ยังน้อย เพียงแต่บอกว่า ขณะนี้สติระลึกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นปกติ ถ้าบอกว่า เป็นพระโสดาบันบุคคล เป็นพระสกทาคามีบุคคล เป็นพระอนาคามีบุคคล เป็น พระอรหันต์ ดีใจที่ได้เจอหรือเปล่า

    ถ. คงได้คุยกันสนุก แค่ขั้นโสดาบันผมก็มีข้อสงสัยหลายข้อที่อยากจะถาม

    สุ. เป็นเรื่องของความสงสัย ซึ่งไม่สามารถจะหมดได้เพียงบุคคลใดกล่าวว่า เขาเป็นพระโสดาบัน

    ถ. แน่นอน

    สุ. ก็ตัดปัญหาไปไม่ดีหรือ จะได้ไม่ต้องมีใครสงสัย

    ถ. เวลานี้ความหวั่นไหวมีแน่ เพราะสติเราเพิ่งระลึกเล็กๆ น้อยๆ และถ้าได้รู้ว่าที่ไหนมีคนเก่ง เป็นสัญชาติญาณ เป็นธรรมชาติที่อยากจะไปพบ ไปคุย

    สุ. จะพิสูจน์ได้อย่างไร ข้อสำคัญ ไม่ใช่เพียงฟัง

    ถ. ไม่ใช่ไปพิสูจน์ว่าท่านเป็นหรือไม่เป็น

    สุ. เชื่อทันทีหรือ

    ถ. ไม่เชื่อ

    สุ. เมื่อไม่เชื่อจะพิสูจน์ไหม ที่ว่าจะถามมากมาย

    ถ. ถ้าถาม และตอบไม่ตรงกับพระธรรมวินัย ก็คงเชื่อไม่ได้แน่นอน

    สุ. นั่นคือพิสูจน์ ใช่ไหม ไม่ใช่ต้องมาบอก แต่ควรแสดงเหตุ และการซักถาม คือ ให้ท่านผู้นั้นแสดงเหตุ ใช่ไหม

    ถ. ตามความเห็นของผม ถ้าบุคคลใดบุคคลหนึ่งสำเร็จจริงๆ เขาไม่บอกให้บุคคลอื่นทราบ จะรู้ด้วยตัวเขาเอง

    สุ. เพราะฉะนั้น มี ๒ ทัศนะ คือ ท่านผู้หนึ่งคิดว่าไม่มีความจำเป็นอะไรที่ จะต้องบอก ส่วนอีกท่านหนึ่งบอกว่า ถ้าบอกเป็นประโยชน์ เพื่อที่จะได้ซักไซ้พิสูจน์ว่าเป็นจริงหรือเปล่า แสดงให้เห็นว่า ข้อปฏิบัติสำคัญกว่า เพราะผู้นั้นก็ต้องแสดงหนทางข้อปฏิบัติ ซึ่งไม่ใช่ทางอื่น และถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่ถูกต้องแล้ว บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะ รู้แจ้งอริยสัจธรรมหรือไม่ ก็ไม่เป็นที่น่ากังวล ใช่ไหม เพราะแต่ละบุคคลก็เจริญปัญญาด้วยตนเองเพื่อที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ต้องห่วงกังวลว่า คนโน้น คนนั้น คนนี้บรรลุหรือเปล่า ไม่ต้องห่วงและไม่ต้องคิดถึงเลยว่า ใครจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ต่างคนต่างก็อบรมเจริญสติปัฏฐานไป

    มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ติตถิยสูตร มีข้อความที่กล่าวถึงโทษของโทสะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีโทษมากแต่คลายเร็ว ด้วยสามารถ โทษที่เป็นโลกวัชชะ และด้วยสามารถโทษที่เป็นวิปากวัชชะ

    ถามว่า อย่างไร

    แก้ว่า บุคคลนั้นผู้อันโทสะประทุษร้ายแล้ว ย่อมประพฤติผิดในมารดาบ้าง ในบิดาบ้าง ในชนผู้เป็นที่รักทั้งหลาย มีพี่ชายพี่สาวเป็นต้นบ้าง ในบรรพชิตทั้งหลายบ้าง และบุคคลนั้นย่อมได้การติเตียนอย่างมากในที่แห่งบุคคลนั้นไปแล้วๆ ว่า บุคคลนี้ย่อมประพฤติผิดในมารดาและบิดาทั้งหลายบ้าง ประพฤติผิดในชนเป็นที่รักทั้งหลาย มีพี่ชายพี่สาวเป็นต้นบ้าง ในบรรพชิตทั้งหลายบ้าง ดังนี้ โทสะนั้นชื่อว่า เป็นของมีโทษมาก ด้วยสามารถที่เป็นโลกวัชชะก่อน

    คนที่มีความโกรธมากๆ จนกระทั่งมีความประพฤติที่ไม่สมควร มีการประทุษร้ายมารดาบิดา หรือว่าพี่ชาย พี่สาว บรรพชิต เป็นต้น ทุกคนย่อมติเตียน นี่คือโลกวัชชะ โทสะนั้นชื่อว่าเป็นของมีโทษมาก ด้วยสามารถโทษที่เป็นโลกวัชชะก่อน

    เขาอันไฟย่อมไหม้ในนรกตลอดกัป ด้วยอนันตริยกรรมอันตนกระทำแล้ว ด้วยสามารถโทสะ โทสะนั้นชื่อว่ามีโทษมาก ด้วยสามารถโทษอันเป็นวิปากวัชชะอย่างนี้

    เมื่อได้กระทำกรรมด้วยโทสะแล้ว เป็นเหตุให้ได้รับผลของกรรมอย่างที่ ต้องไหม้ในนรกตลอดกัปถ้าเป็นอนันตริยกรรม นี่แสดงให้เห็นถึงโทษมากของโทสะ

    บทว่า ขิปปวิราคี ความว่า โทสะย่อมคลายเร็ว จริงอยู่ บุคคลผู้อันโทสะประทุษร้ายแล้ว ประพฤติผิดแล้วในมารดาบิดาทั้งหลายบ้าง ในเจดีย์บ้าง ในต้นโพธิ์บ้าง ในบรรพชิตทั้งหลายบ้าง ย่อมแสดงความผิดว่า ท่านทั้งหลายจงอดโทษแก่เราเถิด ดังนี้ กรรมนั้นของเขาย่อมเป็นสภาพปกตินั่นเทียว พร้อมกับการให้อดโทษ

    เรื่องของโทสะแสดงให้เห็นว่า มีโทษมาก มีการประทุษร้าย มีการทำลาย แต่ว่าคลายเร็ว เพราะสักครู่หนึ่งจะมีโลภะเกิดสืบต่อ ในวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า โลภะไม่คลาย เพราะจะเกิดหลังจากที่โทสะเกิดแล้ว โดยที่ไม่นานเลย

    เมื่อเกิดโทสะ มีการประทุษร้ายแล้ว สักครู่หนึ่งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เป็นความต้องการต่อไป เพราะฉะนั้น โลภะเป็นพื้น และสำหรับโทษของโทสะ ถ้ามีการระลึกได้และกระทำคืนเสียในขณะนั้น ก็ทำให้ความทุรนทุราย หรือความเดือดร้อนใจรำคาญใจหมดสิ้นไปได้

    สำหรับโมหะ เป็นธรรมที่มีโทษมากและคลายช้า เพราะเหตุทั้ง ๒ ประการ นั่นเทียว

    ถามว่า มีโทษมากอย่างไร

    แก้ว่า เพราะว่าบุคคลผู้หลงแล้วเพราะโมหะ ประพฤติผิดแล้วในมารดาบิดาทั้งหลายบ้าง ในเจดีย์บ้าง ในต้นโพธิ์บ้าง ในบรรพชิตทั้งหลายบ้าง ย่อมได้ การติเตียนในที่ๆ ตนไปแล้วๆ โมหะเป็นของมีโทษมาก ด้วยสามารถแห่งโทษที่เป็น โลกวัชชะอย่างนี้ก่อน โมหะชื่อว่ามีโทษมาก ด้วยสามารถที่เป็นวิปากวัชชะอย่างนี้ว่า บุคคลนั้นย่อมถูกเผาไหม้ในนรกตลอดกัป ด้วยอนันตริยกรรมอันตนกระทำแล้ว ด้วยสามารถแห่งโมหะ

    บทว่า ทันธวิราคี ความว่า โมหะย่อมค่อยๆ คลายไป ก็กรรมอันบุคคลผู้หลงแล้วเพราะโมหะกระทำแล้ว ย่อมค่อยๆ พ้นไป เหมือนอย่างว่า หนังหมีที่บุคคลฟอกล้างอยู่ตั้ง ๗ ครั้ง ย่อมไม่ขาว ฉันใด กรรมที่บุคคลผู้หลงแล้วเพราะโมหะกระทำแล้ว ย่อมไม่พ้นไปเร็วพลัน ค่อยๆ พ้นไป ฉะนั้น เหมือนกัน

    แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมที่เป็นโมหะ หรืออวิชชา หรือความไม่รู้ ไม่ใช่ว่า จะหมดสิ้นได้โดยง่าย และเมื่อโมหะเกิดร่วมกับโทสะทำอนันตริยกรรม ก็ย่อมเป็นเหตุ ที่จะให้ได้รับวิปากวัชชะที่เป็นการเผาไหม้ในนรกตลอดกัป

    สำหรับโลภะทั้งหลายที่จะเจริญ ก็เพราะสุภนิมิต คือ เห็นสภาพที่น่ายินดี น่าพอใจของสิ่งทั้งหลาย โทสะที่จะเจริญ ก็เพราะเห็นปฏิฆนิมิต คือ ความกำหนดหมายว่ากระทบกระทั่ง โมหะที่จะเจริญขึ้น ก็เพราะอโยนิโสมนสิการ การไม่พิจารณาโดยแยบคาย

    โลภมูลจิต ๘ ดวง ควรจะทราบว่า ประกอบด้วยเจตสิกกี่ดวงบ้าง

    โลภมูลจิตดวงที่ ๑ คือ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง โลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา และมีกำลังกล้า มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๙ ดวง คือ อัญญสมานาเจตสิกทั้ง ๑๓ ดวง อกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวง โลภเจตสิก ๑ ดวง และทิฏฐิเจตสิก ๑ ดวง รวมเป็น เจตสิกทั้งหมด ๑๙ ดวง

    โลภมูลจิตดวงที่ ๒ คือ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง สสังขาริกัง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๙ ดวง หรือ ๒๑ ดวง ถ้าขณะนั้นถีนเจตสิกและมิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่า โลภมูลจิตที่เป็นสสังขาริกจะต้องเกิดร่วมกับถีนมิทธะทุกครั้ง เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ไม่เกิดร่วมกับถีนมิทธะ ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๙ ดวง แต่ขณะใดที่มีถีนเจตสิกและมิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๒๑ ดวง

    โลภมูลจิตดวงที่ ๓ คือ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตวิปปยุตตัง อสังขาริกัง เป็นโลภมูลจิตที่ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด แต่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา และมีกำลังกล้า เป็นอสังขาริก มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๘ ดวง หรือ ๑๙ ดวง คือ มีอัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมด้วยทั้ง ๑๓ ดวง มีอกุศลสาธารณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๔ ดวง มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑ ดวง และถ้าไม่มีมานเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๑๘ ดวง แต่บางครั้งจะมีมานเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งในขณะที่มีมานเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยทั้งหมด ๑๙ ดวง คือ รวมมานเจตสิกด้วย

    โลภมูลจิตดวงที่ ๔ คือ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตวิปปยุตตัง สสังขาริกัง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๒๐ ดวง หรือ ๒๑ ดวง คือ ถ้าเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ที่ไม่มีมานเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีเจตสิกเกิด ๑๘ ดวง และถ้าเป็นสสังขาริก คือ มี ถีนมิทธะเกิดร่วมด้วย จะเป็น ๒๐ ดวง แต่ถ้าโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์นั้น มี มานเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๙ ดวง และถ้ามีถีนมิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็จะมีเจตสิกทั้งหมด ๒๑ ดวง

    เรื่องเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต ถ้าเข้าใจแล้ว คิดเองได้ ถ้าไม่อยากจำตัวเลข ก็ไม่ต้องจำ แต่พิจารณาเหตุผลได้ว่า จะมีอัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมด้วยกี่ดวง ขาดดวงไหน และมีมานเจตสิกเกิดกับจิตประเภทไหน มีถีนเจตสิก มิทธเจตสิกเกิดร่วมกับจิตประเภทไหน

    สำหรับโลภมูลจิตดวงที่ ๕ ถึงโลภมูลจิตดวงที่ ๘ เป็นโลภมูลจิตซึ่งไม่ได้เกิดกับโสมนัสเวทนา แต่เกิดกับอุเบกขาเวทนา เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตดวงที่ ๕ คือ อุเปกขาสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง จะมีอัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๑๒ ดวง เว้นปีติเจตสิก แต่จะต้องมีอกุศลสาธารณะทั้ง ๔ ดวง รวมเป็น ๑๖ ดวง โลภเจตสิก ๑ ดวง เป็น ๑๗ ดวง และทิฏฐิเจตสิก ๑ ดวง เป็น ๑๘ ดวง

    โลภมูลจิตดวงที่ ๖ คือ อุเปกขาสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง สสังขาริกัง ก็โดยนัยเดียวกัน คือ สำหรับอัญญสมานาเจตสิกเว้นปีติเจตสิก เพราะเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา เพราะฉะนั้น มีอัญญสมานาเจตสิก ๑๒ ดวง อกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวง โลภเจตสิก ๑ ดวง ทิฏฐิเจตสิก ๑ ดวง ถ้าเป็นสสังขาริกที่มีถีนเจตสิกและ มิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็เพิ่มอีก ๒ ดวง เป็น ๒๐ ดวง

    โลภมูลจิตดวงที่ ๗ คือ อุเปกขาสหคตัง ทิฏฐิคตวิปปยุตตัง อสังขาริกัง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๗ หรือ ๑๘ ดวง ถ้าเป็น ๑๗ ดวง ไม่มีมานเจตสิกเกิด ร่วมด้วย คือ มีอัญญสมานาเจตสิก ๑๒ ดวง อกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวง และ โลภเจตสิก ๑ ดวง แต่ถ้ามีมานเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็เป็น ๑๘ ดวง

    โลภมูลจิตดวงที่ ๘ คือ อุเปกขาสหคตัง ทิฏฐิคตวิปปยุตตัง สสังขาริกัง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๙ ดวง หรือ ๒๐ ดวง คือ อัญญสมานาเจตสิก ๑๒ ดวง เว้นปีติเจตสิก อกุศลสาธารณเจตสิก ๔ โลภเจตสิก ๑ และถีนมิทธเจตสิกอีก ๒ ดวง รวมเป็น ๑๙ ดวง ถ้ามีมานเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็เป็น ๒๐ ดวง

    เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตทั้ง ๘ ดวง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยตั้งแต่ ๑๗ ดวง ถึง ๒๑ ดวง เป็นจำนวนที่แสดงไว้เพื่อให้รู้ว่า สภาพธรรมที่เกิดเป็นโลภะประเภทต่างๆ ประกอบด้วยความเห็นผิด หรือประกอบด้วยมานะ หรือไม่ประกอบด้วยมานะ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดนั้น ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย โดยมีเจตสิกแต่ละประเภทที่เกิดขึ้นปรุงแต่งให้เป็นไป

    โลภมูลจิตที่ประกอบด้วยเจตสิกประเภทต่างๆ โดยนัยของพระอภิธรรม ไม่มีอะไรมาก แต่ที่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ นั้น มากด้วยความวิจิตรต่างๆ ซึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหนทางที่จะให้ละโลภะด้วย นี่คือประโยชน์ของการฟัง พระธรรม เมื่อได้ทรงแสดงเรื่องของโลภะมากมายโดยประการต่างๆ พระองค์ผู้รู้แจ้งอริยสัจธรรมก็ได้ทรงแสดงทางที่จะกัน หรือกั้น หรือละ หรือคลาย หรือระงับโลภะ ต่างๆ ด้วย

    อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต สัญญาสูตรที่ ๒ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงการอบรมเจริญสัญญา ๗ ประการ เพื่อกัน และระงับ และดับโลภะทั้งนั้น คือ

    อสุภสัญญา ๑ มรณสัญญา ๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ สัพพโลเกอนภิรตสัญญา ๑ อนิจจสัญญา ๑ อนิจเจทุกขสัญญา ๑ ทุกเขอนัตตสัญญา ๑

    ใครมีสัญญาเหล่านี้บ้างในวันหนึ่งๆ ถ้ายังไม่มี และอบรมเจริญขึ้น ก็เป็นทางที่กันและกั้นโลภะทั้งนั้นในวันหนึ่งๆ ตามควรแก่กำลังของสัญญานั้นๆ เพราะโดยมากจะเป็นสุภสัญญา ไม่ใช่อสุภสัญญา เพราะฉะนั้น สำหรับสัญญา ๗ ประการที่จะกัน และระงับ และดับโลภะ คือ

    สัญญาที่ ๑ อสุภสัญญา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า

    ผู้มีใจอันอบรมด้วยอสุภสัญญาอยู่โดยมาก

    ไม่ใช่ครั้งเดียว หรือ ๒ ครั้ง แต่ต้องระลึกนึกถึงบ่อยๆ จนกระทั่งเป็นสัญญาที่จำได้ ระลึกได้อย่างรวดเร็วหรือเพิ่มขึ้น

    จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับจากการครองเรือน คือ การร่วม เมถุนธรรม อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ เปรียบเหมือนขนไก่หรือ เส้นเอ็นที่เขาใส่ลงในไฟ ย่อมหดงอเข้าหากันไม่คลี่ออก ฉะนั้น

    นี่คือการระลึกถึงอสุภสัญญาบ่อยๆ เนืองๆ แต่ผู้ที่แม้ว่าจะเจริญอสุภสัญญาแล้ว จิตก็ยังไหลไปในการครองเรือน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เพราะผลแห่งการอบรมเจริญภาวนานั้นยังไม่ถึงที่ ฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้รู้ทั่วถึงในอสุภสัญญานั้น และเมื่ออบรมเจริญอสุภสัญญาถึงที่แล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับจากการครองเรือน เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้รู้ทั่วถึงในอสุภสัญญานั้น รู้ทั่วถึงต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงด้วย

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อสุภสัญญาอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้ ฯ คือ การอบรมเจริญอสุภสัญญา

    ซึ่งโดยนัยนี้ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน มิฉะนั้นแล้วเพียงอสุภสัญญาจะไม่เป็นผู้รู้ทั่วถึงในอสุภสัญญา แต่ต้องรู้ในสภาพธรรมตามความเป็นจริงจึงจะ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด นี่คือประโยชน์ของอสุภสัญญา ซึ่งทุกคนพิจารณาได้ว่า วันหนึ่งๆ เจริญอสุภสัญญาเพื่อที่จะกันโลภะบ้างไหม



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๗ ตอนที่ ๑๓๖๑ – ๑๓๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    Tag  กำลังกล้า  ติตถิยสูตร  ถีนเจตสิก  ทิฏฐิเจตสิก  ทุกเขอนัตตสัญญา  ปฏิกูล  ปฏิฆนิมิต  ประทุษร้าย  ปัจจัตตัง  พระธรรมวินัย  พระสกทาคามีบุคคล  พระอนาคามีบุคคล  พระอภิธรรม  พระอรหันต์  พิจารณาโดยแยบคาย  มรณสัญญา  มานะเจตสิก  มิทธเจตสิก  รู้แจ้ง  วิจิตร  วิปากวัชชะ  สติปัฏฐาน  สัญญาสูตรที่ ๒  สัพพโลเกอนภิรตสัญญา  สุภนิมิต  อกุศลสาธารณเจตสิก ๔  อนันตริยกรรม  อนิจจสัญญา  อนิจเจทุกเขสัญญา  อมตะ  อริยสัจจธรรม  อวิชชา  อสุภสัญญา  อัญญสมานาเจตสิกทั้ง ๑๓  อานิสงส์  อาหาเรปฏิกูลสัญญา  อุเบกขาเวทนา  อโยนิโสมนสิการ  เหตุปัจจัย  เห็นผิด  โทษของโทสะ  โลกวัชชะ  โลภเจตสิก  โสดาบันบุคคล  โสมนัสเวทนา  
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 89
    28 ธ.ค. 2564