แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1366


    ครั้งที่ ๑๓๖๖


    สาระสำคัญ

    องฺ.จตุกก.เหตุที่จะให้เกิดความโกรธและความรัก

    อส.ชื่อว่า โทโส ด้วยอรรถว่า คิดประทุษร้าย

    อาการต่างๆ ของความโกรธ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๗


    อาฆาตวัตถุ เป็นวัตถุ คือ เป็นที่ตั้งของความโกรธ แต่เหตุที่จะให้เกิดความโกรธและความรักนั้น มี ๔ ประการ ดังข้อความใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต มหาวรรค ข้อ ๒๐๐ มีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๔ ประการนี้ย่อมเกิด ๔ ประการเป็นไฉน คือ ความรักย่อมเกิดเพราะความรัก ๑ โทสะย่อมเกิดเพราะความรัก ๑ ความรักย่อมเกิดเพราะโทสะ ๑ โทสะย่อมเกิดเพราะโทสะ ๑

    ที่ว่าความรักย่อมเกิดเพราะความรัก คือ เมื่อรักใคร หรือนับถือใครแล้ว คนอื่นประพฤติดีเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นที่รักที่เคารพ ก็ย่อมรักผู้ที่ทำดีต่อผู้ที่เป็น ที่รักด้วย ซึ่งดูจะเป็นของธรรมดา ผู้ที่มีบุตรหลานเป็นที่รัก มารดาบิดาเป็นที่รัก ถ้าใครประพฤติดีทำดีต่อบุตรหลาน หรือต่อมารดาบิดา ก็ย่อมพอใจในบุคคลนั้นด้วย ซึ่งนี่คือความรักย่อมเกิดเพราะความรัก ดูเป็นธรรมดา แต่ข้อสังเกต คือ ไม่ริษยา ไม่หวงแหน ไม่กีดกันหรือเปล่า เพราะบางคนอยากจะเป็นที่รักเพียงผู้เดียว ถ้าเป็นในลักษณะนั้นแล้ว เป็นเพราะอกุศลจิตอื่น คือ ความริษยา

    เรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่พิจารณาได้ในชีวิตประจำวัน ถ้ามีความหวงแหนเกิดขึ้น มีความต้องการเป็นที่รักแต่เพียงผู้เดียว ในขณะนั้นก็เป็นอกุศล ไม่เหมือนกับเวลาที่รักใครนับถือใคร เมื่อคนอื่นรักคนนั้น นับถือคนนั้น ก็พลอยยินดีด้วย พอใจด้วยที่ผู้เป็นที่รักที่นับถือนั้น เป็นที่รักที่นับถือของคนอื่นๆ และคนอื่นๆ ก็รักและนับถือ โดยทำดีทำประโยชน์กับผู้นั้น เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นความยินดี ความพอใจ ในขณะนั้นไม่ใช่ความริษยา ไม่ใช่ความหวงแหน หรือความกีดกัน

    โทสะย่อมเกิดเพราะความรัก คือ เมื่อรักใครหรือนับถือใครแล้ว คนอื่นประพฤติไม่ดีไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นที่รักที่นับถือ ย่อมทำให้เกิดความขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจผู้ที่ทำไม่ดีไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่รักและนับถือ

    ข้อนี้ก็ดูเป็นธรรมดาอีก แต่มีข้อสังเกตได้อีกเหมือนกันว่า ที่ว่ารักและนับถือผู้ใดนั้น รักและนับถือด้วยใจจริงหรือเปล่า เพราะถ้ามีความพอใจเวลาที่คนอื่นพูดร้ายหรือทำสิ่งที่ไม่ดีกับผู้ที่ตนเองเข้าใจว่ารักและนับถือ แต่เวลาที่คนอื่นพูดร้ายหรือทำสิ่งที่ไม่ดีบ้างก็พอใจ ขณะนั้นก็เป็นเครื่องที่พิสูจน์หรือแสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่ได้รักหรือ นับถือบุคคลนั้นด้วยใจจริง อาจคิดว่ารักนับถือจริงๆ แต่เป็นเพียงความคิดหรือความเข้าใจ เพราะสภาพของจิตเป็นสภาพที่ล้ำลึกและเกิดดับสลับอย่างรวดเร็ว และอกุศลก็มีหลายอย่าง พร้อมที่จะผสมผสานกับจิตขณะต่างๆ และเหตุการณ์ต่างๆ ได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ย่อมพิสูจน์ได้ว่า ขณะที่กำลังพอใจ คนอื่นที่ว่าร้ายผู้ซึ่งเป็นที่รักที่นับถือ ขณะนั้นต้องไม่ใช่ขณะที่กำลังนับถือบุคคลนั้น ด้วยใจจริง เพราะมีความพอใจที่คนอื่นว่าร้าย หรือกระทำไม่ดีต่อผู้ซึ่งเป็นที่รักหรือ ที่นับถือ

    ความรักเกิดเพราะโทสะ คือ เมื่อไม่ชอบใคร คนอื่นทำไม่ดีต่อผู้ที่ตนไม่ชอบ ก็พอใจ แสดงให้เห็นถึงความแรงของอกุศลว่า เมื่อไม่ชอบใครแล้ว คนอื่นทำไม่ดีต่อ ผู้ที่ตนไม่ชอบ ก็ย่อมพอใจคนที่ทำไม่ดีต่อคนที่ตนไม่ชอบนั้น ซึ่งความจริงควรจะแยกออกเป็นส่วนๆ เพราะเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและยึดถือหรือสมมติว่าเป็นคนหนึ่งคนใด แต่ตามความเป็นจริงเป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่าง คือ บางครั้งเป็นกุศลธรรม บางครั้งเป็นอกุศลธรรม ไม่ใช่ว่าใครจะมีแต่การสะสมของอกุศลธรรมเท่านั้น กุศลธรรมก็ยังมีโอกาสมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ถ้าบุคคลที่ไม่ชอบท่านมีส่วนดีที่เป็นกุศลธรรมก็อนุโมทนาได้ เพราะเป็นการอนุโมทนาในกุศล ไม่จำเป็นต้องคิดถึงสมมติบัญญัติว่าเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้

    ควรจะเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง และพิจารณาจิตใจว่า ขณะใดที่ดีใจหรือพอใจที่คนอื่นทำไม่ดีกับคนที่ท่านไม่ชอบ ขณะนั้นแสดงว่าอกุศลร้ายมากทีเดียว

    ดูเป็นชีวิตประจำวันใช่ไหมที่ถ้าใครทำไม่ดี คนทั้งหลายต้องไม่ชอบ และไม่ใช่เพียงไม่ชอบเท่านั้น ยังหวังร้ายที่จะให้คนนั้นได้รับทุกข์โทษภัยต่างๆ บางคนถึงกับบอกว่า สมควรจะได้รับโทษมากๆ ก็เป็นปกติของชาวโลก ใช่ไหม แต่สำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรมควรจะพิจารณาว่า ถ้าคิดอย่างนี้ ในขณะนั้นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ควรจะเมตตาสงสารเวลาที่คนนั้นจะประสบกับความทุกข์ยากลำบากหรือได้รับโทษภัยต่างๆ หรือควรจะดีใจที่เขาจะได้รับทุกข์โทษภัยต่างๆ

    นี่เป็นการที่จะพิจารณาลักษณะของจิต โดยความเป็นผู้ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรม โดยเพิกถอนสมมติบัญญัติว่าเป็นบุคคลต่างๆ ออก

    โทสะย่อมเกิดเพราะโทสะ คือ เมื่อไม่ชอบใคร คนอื่นทำดีต่อคนที่ตนไม่ชอบ ก็โกรธ

    น่าสงสารคนที่ทำไม่ดีบ้างไหม แม้คนอื่นจะมาทำดีด้วยก็โกรธคนนั้น ไม่อยากให้คนอื่นมาทำดีกับคนที่ตนไม่ชอบ เพราะเมื่อไม่ชอบแล้วคนอื่นมาทำดีกับคนนั้น ก็พลอยไม่ชอบคนที่ทำดีกับคนที่ตนไม่ชอบด้วย

    เคยเป็นอย่างนี้บ้างไหม ยังเป็นอย่างนี้อยู่หรือเปล่า ต่อไปจะเป็นอย่างนี้อีกไหม

    เป็นเรื่องที่แต่ละท่านจะพิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดที่เป็นอกุศลควรละ เพราะถ้าไม่รู้ก็อาจจะหลง เป็นเหมือนเดิม แต่ถ้าพิจารณาและเห็น อกุศลเป็นอกุศล ก็ควรที่จะละอกุศลทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ท่านชอบ หรือผู้ที่ท่านไม่ชอบ ก็ควรที่จะพิจารณาในทางที่จะทำให้กุศลจิตเกิด ไม่ใช่พิจารณาในทางที่จะทำให้อกุศลจิตเกิด

    ยังคงจะมีทัศนะเหมือนเดิมหรือเปล่า ไม่ชอบใคร เวลาที่คนอื่นทำไม่ดีกับ คนนั้นก็ดีใจ ซึ่งผิด หรือไม่ชอบใคร ถ้าคนอื่นทำดีกับคนที่ท่านไม่ชอบก็โกรธ อย่างนั้นก็เป็นอกุศลอีก

    อย่าลืมข้าศึกภายใน ศัตรูภายใน อยู่ใกล้ที่สุด เกิดได้ทุกโอกาส ไม่มีเครื่องกั้น

    ถ. อกุศลที่สะสมมามาก ค่อยๆ ปหานไปเรื่อยๆ จะมีทางหมดไหม

    สุ. ถ้าสติเกิดจะรู้ว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล และเพราะ สติเกิดปัญญาพิจารณารู้ลักษณะสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริง จึงจะ คลายอกุศลลง

    ถ. จะลดลงเรื่อยๆ ใช่ไหม

    สุ. จนกว่าสามารถจะดับได้เป็นสมุจเฉท ซึ่งการที่จะดับโทสมูลจิตได้หมดเป็นสมุจเฉทนั้น ต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล ไม่มีใครชอบโทสะ แต่โทสะก็เกิดได้ ทั้งๆ ที่ไม่ชอบ

    ผู้ฟัง ที่เกิดของโทสะทั้ง ๔ ประการ อาจารย์ถามว่า ยังเป็นอย่างนี้อยู่ไหม ก็ยังเป็นอยู่

    สุ. ขออนุโมทนาที่เป็นผู้ตรง ข้อสำคัญที่สุด ก่อนอื่นอย่าคิดว่า อกุศลทั้งหมดจะหมดได้เพียงด้วยขั้นฟัง แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ โดยเห็นว่า อกุศลนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย เพราะอกุศลทั้งหมดจะดับได้ต่อเมื่อดับความเห็นผิดที่ยึดถือธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตนก่อน

    มีท่านผู้หนึ่งท่านเข้าใจว่า ต้องละโลภะก่อน และตัวตนจึงจะหมดเมื่อเป็น พระอรหันต์ แต่นั่นคงเป็นผู้ที่ไม่ได้ศึกษาความละเอียดของพระธรรม จึงพากเพียรที่จะละโลภะด้วยประการต่างๆ ก่อน งดเว้นไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง โดยที่ปัญญาไม่เกิดเลย ไม่เข้าใจลักษณะของสติ และไม่รู้ว่าปัญญาที่จะดับกิเลสได้นั้นต้องเกิดพร้อมสติที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ถ้ายังมีการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนอยู่ ไม่มีทางที่จะดับอกุศลใดๆ ได้เลย

    ถ. ถ้าจะไม่ให้มี ต้องเป็นพระอนาคามี ใช่ไหม

    สุ. อย่าเพิ่งหวังอย่างนั้น ค่อยๆ อบรมไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีน้อยลงๆ ถึงแม้ว่าจะไม่ดับหมดเป็นสมุจเฉท แต่โอกาสที่จะเกิดน้อยกว่าเดิมก็ยังดี เพราะ โทสมูลจิตประทุษร้ายจิตใจจริงๆ ทำให้เกิดความเสื่อมได้ทุกอย่าง

    ถ. ขณะที่เกิดโทสะ และเราเปลี่ยนเป็นเมตตา ก็ยังถือว่าละไม่ได้ คือ ยังไม่หมดเด็ดขาด

    สุ. ยังไม่ดับเป็นสมุจเฉท

    ถ. อาจจะเกิดขึ้นได้อีก

    สุ. เกิดได้

    ถ. หมายความว่า ขณะที่โทสะเกิดก็เปลี่ยนเป็นว่าไม่มีตัวตน ก็จะดับได้ ใช่ไหม แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นเมตตาจะเป็นสมถภาวนา ใช่ไหม

    สุ. สภาพของเมตตาตรงกันข้ามกับสภาพของโทสะ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เกิดโกรธและสติระลึกได้ รู้ว่าขณะนั้นเป็นโทสะ ผู้ที่อบรมเจริญเมตตาก็จะมีเมตตาต่อคนนั้นแทนโทสะ ถ้าขณะนั้นเมตตามีกำลังพอ ข้อสำคัญต้องขึ้นอยู่กับกำลังของเมตตาด้วย ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีเมตตาเป็นปกติ ก็ไม่มีกำลัง ก็ยังคงโกรธบุคคลนั้น

    ถ. แต่ไม่หมดทีเดียว ยังมีปัจจัยเกิดอยู่

    สุ. จนกว่าจะเป็นพระอนาคามีบุคคล แม้ความไม่สบายใจเล็กน้อย หรือความขุ่นเคืองใจก็ไม่มี หมดศัตรูไปทีละประเภทๆ ตามขั้นของความเป็นพระอริยบุคคล

    การที่จะสังเกตลักษณะของโทสมูลจิต ถ้าไม่พิจารณาหรือสังเกตอาจจะไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นลักษณะของอกุศลจิตประเภทโทสะ ซึ่งใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ พรรณนาอกุศลบทภาชนียะ อธิบายนิทเทสโทสะ ข้อ ๔๑๘ มีข้อความว่า

    ในนิทเทสแห่งโทสะ มีอธิบายดังต่อไปนี้

    ที่ชื่อว่า โทโส ด้วยอรรถว่า คิดประทุษร้าย

    เวลาที่โกรธอาจจะไม่รู้สึกตัวว่า มีการคิดประทุษร้าย นิดหนึ่งได้ไหม ทางวาจา หรือทางกายก็อาจจะเป็นไปแล้วโดยไม่รู้ตัว เพราะบางท่านก็มือไว เท้าไว ก็อาจจะเป็นไปได้

    อาการคิดประทุษร้าย ชื่อว่าทุสสนา กิริยาที่คิดประทุษร้าย

    ภาวะที่คิดประทุษร้าย ชื่อว่าทุสสิตัตตัง ความคิดประทุษร้าย

    ความปองร้าย ด้วยอรรถว่า ละภาวะปกติ ชื่อว่าพยาปัตติ ปองร้าย

    อาการปองร้าย ชื่อว่าพยาปัชชนา กิริยาที่ปองร้าย

    ที่ชื่อว่า วิโรโธ โกรธ ด้วยอรรถว่า พิโรธ

    ที่ชื่อว่า ปฏิวิโรโธ แค้น ด้วยอรรถว่า พิโรธเนืองๆ

    คนดุ คือ บุคคลที่หยาบคาย เรียกว่า จัณฑิกะ ภาวะของจันฑิกะคือคนดุนั้น ชื่อว่าจัณฑิกกัง ความดุร้าย

    ถ้าไม่โกรธจะดุร้ายไหม เพราะฉะนั้น ใครที่ดุให้ทราบว่า เพราะความโกรธจึงเป็นคนดุ ลักษณะของโทสะต้องเป็นลักษณะที่ดุร้าย

    ถ้อยคำที่คนชนิดนี้ยกขึ้นพูดเป็นอย่างดีย่อมไม่มี ย่อมมีแต่พูดชั่ว คือ ไม่บริบูรณ์เอาเลยทีเดียว เหตุนั้นจึงชื่อว่าอสุรูโป ความไม่สุภาพ

    ที่ชื่อว่า อนัตตมนตา ความไม่แช่มชื่น ด้วยอรรถว่า ไม่ใช่ความแช่มชื่น เพราะตรงกันข้ามกับความแช่มชื่น ก็ความไม่แช่มชื่นนั้น เพราะเป็นของจิตอย่างเดียว ไม่ใช่ของสัตว์ ฉะนั้น จึงตรัสว่า จิตตัสสะ (ของจิต)

    ขณะใดที่โทสะเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็น โทสเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับจิต เพราะฉะนั้น จึงเป็นจิตตัสสะ โทสเจตสิกนั้นเป็นของจิต ไม่ใช่ของสัตว์ บุคคลหนึ่งบุคคลใด

    ถ้ายังไม่เคยรู้สึกตัวว่ากำลังโกรธ หรือว่ากำลังถูกข้าศึกประทุษร้ายแล้ว ข้อความใน ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ปุณณกมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๑๔๕ แสดงขั้นต่างๆ ของความโกรธ ซึ่งทำให้ระลึกได้ว่า ขณะนั้นเป็นอาการของความโกรธ มีข้อความว่า

    ... อนึ่ง ความโกรธท่านกล่าวว่า เป็นดังควัน

    ดูกร พราหมณ์ ท่านมีมานะเปรียบเหมือนดังเครื่องหาบ มีความโกรธเปรียบเหมือนควัน มีการพูดเท็จเปรียบเหมือนขี้เถ้า มีลิ้นเปรียบเหมือนทัพพี หฤทัยของสัตว์ทั้งหลายเปรียบเหมือนสถานที่บูชายัญของท่าน ตนที่ฝึกดีแล้ว เป็นกำเนิดของบุรุษ

    ข้อความอื่นๆ เป็นเรื่องของอาฆาตวัตถุ ๑๐ และต่อไปเป็นอาการต่างๆ ของความโกรธ คือ

    ความปองร้าย ความมุ่งร้าย ความขัดเคือง ความโกรธตอบ ความขุ่นเคือง ความเคือง ความเคืองทั่ว ความเคืองเสมอ ความชัง ความชังทั่ว ความชังเสมอ ความพยาบาทแห่งจิต ความประทุษร้ายในใจ ความโกรธ กิริยาที่โกรธ ความเป็น ผู้โกรธ กิริยาที่ชัง ความเป็นผู้ชัง กิริยาที่พยาบาท ความเป็นผู้พยาบาท ความเป็น ผู้ดุร้าย ความเพาะวาจาชั่ว ความไม่แช่มชื่นของจิต นี้เรียกว่า ความโกรธ

    อนึ่ง พึงทราบความโกรธมาก ความโกรธน้อย บางครั้งความโกรธเป็นแต่เพียงทำจิตให้ขุ่นมัว แต่ยังไม่ถึงให้มีหน้าเง้าหน้างอก็มี

    พอที่จะสังเกตได้ ถ้ายังไม่ถึงหน้าเง้าหน้างอ คนอื่นอาจจะยังไม่ทราบ แต่ขณะที่ขุ่นมัวในจิตใจเป็นดังควัน คือ ไม่แจ่มใส ความรู้สึกในขณะนั้นเกิดขึ้นแสดงลักษณะของความโกรธน้อย เพราะยังไม่ถึงกับให้มีหน้าเง้าหน้างอ

    การแสดงของความโกรธซึ่งระงับยับยั้งไม่ได้ เมื่อสภาพธรรมนี้เกิดขึ้น ก็เป็นปัจจัยให้มีกายวาจาต่างกับขณะที่ไม่โกรธ แม้แต่หน้าก็เปลี่ยนไป ปกติไม่มี หน้าเง้าหน้างอ แต่ถ้าใครหน้าเง้าหน้างอ รู้ได้เลยว่า ขณะนั้นโทสมูลจิตเป็นปัจจัยทำให้หน้าเง้างอขึ้น

    บางครั้งความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้หน้าเง้าหน้างอ แต่ยังไม่ถึงให้คางสั่น

    เคยเห็นคนที่โกรธจนตัวสั่นคางสั่นบ้างไหม สั่นไปหมดเลย ขณะนั้นให้ทราบว่า เกินหน้าเง้าหน้างอแล้ว

    บางครั้งความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้คางสั่น แต่ยังไม่ถึงเปล่งผรุสวาจา

    ยังมีความโกรธที่มากขึ้นเรื่อยๆ

    บางครั้งความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้เปล่งผรุสวาจา แต่ยังไม่ถึงทำให้เหลียวดูทิศทางต่างๆ

    บางครั้งความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้เหลียวดูทิศทางต่างๆ แต่ยังไม่ถึงการจับท่อนไม้และศาสตราก็มี

    บางครั้งความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้จับท่อนไม้และศาสตรา แต่ยังไม่ถึงเงื้อ ท่อนไม้และศาสตรา

    บางครั้งความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้เงื้อท่อนไม้และศาสตรา แต่ยังไม่ถึงตีฟัน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๗ ตอนที่ ๑๓๖๑ – ๑๓๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 89
    28 ธ.ค. 2564