แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1373


    ครั้งที่ ๑๓๗๓


    สาระสำคัญ

    องฺ.ฉกฺก.ปรายนสูตร - แสดงส่วนสุด ๒ อย่าง


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๗


    ขอกล่าวถึงข้อความแสดงส่วนสุด ๒ อย่าง ซึ่งเป็นสภาพธรรมในขณะนี้เอง ใน อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปรายนสูตร ข้อ ๓๓๒

    ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า ข้อความในพระสูตรไม่ใช่ในขณะนี้ แต่ความจริง เป็นสภาพธรรมในขณะนี้ทั้งหมด แม้แต่ที่กล่าวถึงเรื่องในชาติก่อนๆ ก็ไม่พ้นไปจากโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ซึ่งในชาตินี้ ก็ไม่มีสักขณะเดียวที่พ้นไปจากโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง หรือกุศลบ้าง เพียงแต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของ สภาพธรรมที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้โดยนัยต่างๆ ซึ่งใน ปรายนสูตร ได้ทรงแสดง เรื่องส่วนสุดทั้งสอง

    ข้อความมีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ก็สมัยนั้นเมื่อภิกษุผู้เถระหลายรูปกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต นั่งประชุมกันที่โรงกลม ได้เกิดการสนทนากันขึ้นในระหว่างว่า

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในปัญหาของเมตเตยยมาณพ ในปรายนสูตรว่า ผู้ใดทราบส่วนสุดทั้งสองด้วยปัญญาแล้ว ไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลาง เรากล่าวผู้นั้นว่า เป็นมหาบุรุษ ผู้นั้นก้าวล่วงเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้แล้ว ดังนี้ ฯ

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย ส่วนสุดที่ ๑ เป็นไฉนหนอ ส่วนสุดที่ ๒ เป็นไฉน อะไรเป็นส่วนท่ามกลาง อะไรเป็นเครื่องร้อยรัด ฯ

    เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปี พระภิกษุท่านก็สนทนากันในเรื่องของธรรมที่ได้ยิน ได้ฟังจากพระผู้มีพระภาค ซึ่งพระองค์ได้ตรัสไว้ในปัญหาของเมตเตยยมาณพ ในปรายนสูตร

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เมื่อสนทนากันอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย ผัสสะเป็นส่วนสุดที่ ๑ เหตุเกิดขึ้นแห่งผัสสะเป็นส่วนสุดที่ ๒ ความดับแห่งผัสสะเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อมร้อยรัดผัสสะและเหตุเกิดขึ้นแห่งผัสสะนั้น เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ย่อมกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียว ฯ

    ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติมาแล้ว และเป็นพหุสูต ข้อความที่ว่า ผัสสะเป็นส่วนสุดที่ ๑ เหตุเกิดขึ้นแห่งผัสสะเป็นส่วนสุดที่ ๒ ความดับแห่งผัสสะเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด ในขณะนี้หรือเปล่า

    ผัสสะเกิดไหมในขณะที่เห็น ผัสสะเกิดไหมในขณะที่ได้ยิน ผัสสะเกิดไหมในขณะที่กำลังคิดนึก จิตแต่ละดวงเกิดขึ้นและดับไป ย่อมแล้วแต่ว่า ผัสสะจะกระทบอารมณ์อะไร จิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ก็กำลังรู้อารมณ์นั้น ในขณะนี้เอง

    เพราะฉะนั้น ผัสสะดวงหนึ่งเป็นที่สุดอันหนึ่ง เกิดแล้วดับ ผัสสะดวงต่อไปก็เกิดขึ้น ความดับแห่งผัสสะเป็นส่วนท่ามกลาง คือ ระหว่างการเกิดขึ้นของผัสสะดวง ที่ ๑ และผัสสะดวงที่ ๒

    ซึ่งข้อความในอรรถกถาได้อุปมาว่า เหมือนไม้ ๒ อันที่ผูกไว้ด้วยเชือก เมื่อ ตัดเชือก ไม้ทั้งสองก็หล่นจากทั้งสองข้าง ในทุกๆ ขณะนี้เอง สภาพธรรมแต่ละอย่างก็เป็นส่วนสุดแต่ละอย่าง แต่เพราะตัณหาผูกไว้ มัดไว้ เพราะฉะนั้น ก็ยังเชื่อมสนิทเหมือนเป็นอันเดียวกัน เช่น เป็นคนที่กำลังนั่ง และเห็นด้วย ได้ยินด้วย คิดนึกด้วย รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสด้วย จนกว่าจะประจักษ์ความจริง สามารถดับกิเลส ไม่ยึดถือใน สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เมื่อนั้นก็เหมือนกับไม้ทั้งสองที่เมื่อตัดเชือกที่ผูกไว้ออกจากกัน ก็หล่นจากทั้งสองข้าง

    เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย อดีตเป็นส่วนสุดที่ ๑ อนาคตเป็นส่วนสุดที่ ๒ ปัจจุบันเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อมร้อยรัดอดีต อนาคต และปัจจุบันนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่า ย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ย่อมกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียว ฯ

    อดีต ปัจจุบัน อนาคต ข้อความทั้งหมดเป็นขณะนี้เอง เพราะสภาพธรรมที่ เพิ่งดับไปเมื่อกี้ก็เป็นอดีต เป็นส่วนสุดที่ ๑ อนาคตที่จะเกิดหลังจากขณะปัจจุบันนี้ ก็เป็นส่วนสุดที่ ๒ ปัจจุบันเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัดไว้อีก มีใครไม่มีตัณหาบ้างในระหว่างนี้ ระหว่างอดีต อนาคต และปัจจุบัน

    ข้อความในอรรถกถาอุปมาข้อนี้ว่า เหมือนไม้ ๓ ท่อนเอาเชือกมัดไว้ เมื่อเชือกขาด ไม้ ๓ ท่อนก็ตกไปในที่ ๓ แห่ง ไม่รวมกันอยู่เหมือนเดิม

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เอง อดีตเมื่อกี้นี้ ปัจจุบันในขณะนี้ อนาคตคือเพียง ชั่วขณะที่จะเกิดต่อไป แสดงให้เห็นว่า ภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ย่อมกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้จริงๆ อย่างนี้ คือ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียว ฯ

    สติจะระลึกเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ว่าจะดับไปแล้ว ก็มีสภาพธรรมที่เกิดต่อเป็นปัจจุบันอีกที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น การรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง คือ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย สุขเวทนาเป็นส่วนสุดที่ ๑ ทุกขเวทนาเป็นส่วนสุดที่ ๒ อทุกขมสุขเวทนาเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อมร้อยรัดสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนานั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่ง ภพนั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ย่อมกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียว ฯ

    การที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบัน ต้องรู้สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ซึ่งกำลังมี กำลังเป็นในขณะนี้

    เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย นามเป็นส่วนสุดที่ ๑ รูปเป็นส่วนสุดที่ ๒ วิญญาณเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อมร้อยรัดนาม รูป และวิญญาณนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่า ย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียว ฯ

    ท่านผู้ฟังศึกษาปรมัตถธรรมเรื่องจิต เจตสิก รูป พระภิกษุที่ท่านกล่าวกับภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ก็ได้ถึงเรื่องของจิต เจตสิก รูปนั่นเอง คือ ท่านกล่าวว่า ดูกร อาวุโสทั้งหลาย นามเป็นส่วนสุดที่ ๑ รูปเป็นส่วนสุดที่ ๒ วิญญาณเป็นส่วนท่ามกลาง

    นาม หมายถึงเจตสิกต่างๆ รูปหมายความถึงสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย วิญญาณคือจิตที่เป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ ซึ่งจะรู้ความจริงอย่างนี้ได้เมื่อสติระลึกที่ลักษณะของรูป หรือระลึกที่ลักษณะของเจตสิกที่เป็นนาม หรือระลึกที่ลักษณะของวิญญาณซึ่งเป็นจิต

    รูปมี แต่อะไรปรุงแต่งในขณะที่กำลังมีรูปเป็นอารมณ์ ทำให้พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ทั้งๆ ที่รูปเป็นเพียงรูปเท่านั้นเอง รูปต่างกับนามธรรมเพราะรูปไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ และทุกคนมีรูปภายในตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า และก็มีรูปซึ่งเป็นภายนอกด้วย คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นวัตถุสิ่งต่างๆ

    วิปัสสนาญาณจะแยกลักษณะของนามธรรมออกจากรูปธรรมโดยรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า รูปทั้งหมดไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น แม้พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรมด้วยประการต่างๆ แต่จะต้องอาศัยสติปัฏฐานระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงจะสามารถรู้ชัดในลักษณะของธรรมทั้งหลายที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงได้

    สำหรับนามธรรม ได้แก่ เจตสิก เช่น โลภะ โทสะ ผัสสะ เวทนา สัญญา ต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเกิดอยู่เป็นประจำในขณะที่มีรูปหรือนามเป็นอารมณ์ เวลาที่เห็นรูปที่พอใจ นามคือโลภเจตสิกก็เกิดยินดีพอใจในรูปนั้น เวลาที่ได้ยินเสียงที่ ไม่น่าพอใจ นามคือโทสเจตสิกก็เกิดขึ้นกระทบอารมณ์นั้นด้วยความขุ่นเคือง ไม่พอใจ นั่นคือลักษณะของนามซึ่งเป็นส่วนสุด ๑ ซึ่งต่างกับรูปที่เป็นอีกส่วนสุดหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า เป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน

    ส่วนวิญญาณ คือ จิต เป็นท่ามกลาง เพราะเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้น รู้แจ้งอารมณ์นั้น แต่จิตไม่ใช่สภาพที่พอใจหรือไม่พอใจในอารมณ์นั้น เพราะลักษณะที่พอใจ ติดข้อง ต้องเป็นลักษณะของโลภเจตสิก ลักษณะที่ไม่พอใจ ขุ่นเคือง ต้องเป็นลักษณะของโทสเจตสิก เพราะฉะนั้น พระภิกษุรูปหนึ่งจึงกล่าวว่า นามเป็นส่วนสุดที่ ๑ รูปเป็นส่วนสุดที่ ๒ วิญญาณเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด

    ยังไม่จบ เพราะในครั้งนั้นมีพระภิกษุหลายรูป เพราะฉะนั้น

    เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย อายตนะภายใน ๖ เป็นส่วนสุดที่ ๑ อายตนะภายนอก ๖ เป็นส่วนสุดที่ ๒ วิญญาณเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อมร้อยรัดอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ และวิญญาณนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียว ฯ

    ท่านผู้ฟังอาจจะเก็บอายตนะไว้ในตำรา ลืมว่าขณะเห็น อายตนะอะไร ขณะที่กำลังได้ยินเป็นอายตนะหรือเปล่า ซึ่งในพระอภิธรรมได้กล่าวถึงเรื่องของอายตนะ แต่ตามความเป็นจริงแล้วทุกขณะที่เห็น ที่ได้ยิน ที่จะมีการรู้แจ้งอารมณ์ได้ ก็โดยอายตนะ เพราะถึงแม้ว่าจะมีรูปธรรมหรือนามธรรม แต่ถ้าไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดประชุมอายตนะทั้งหลาย การรู้แจ้งอารมณ์จะเกิดขึ้นไม่ได้

    กำลังหลับสนิท รูปก็มี นามก็มี แต่ขณะนั้นไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา เพราะฉะนั้น จักขุทวารหรือจักขุปสาทไม่ใช่จักขายตนะ

    ขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จักขุปสาทกับรูปารมณ์เป็นอายตนะ และมีผัสสะเป็นธัมมายตนะกระทบอารมณ์นั้น ทำให้จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏเพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่วิถีจิต สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏไม่ได้ เสียงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็ปรากฏไม่ได้ และวิถีจิตจะมีได้ก็โดยสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นอายตนะ คือ เป็นสภาพที่ประชุมกันเพื่อให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น การดับกิเลส ต้องอาศัยการเข้าใจเรื่องของอายตนะด้วย

    เวลาที่สติปัฏฐานเกิด จะรู้อายตนะไหม เวลาที่ไม่มีอะไรปรากฏเลยเป็นภวังค์ จากนั้นมีสิ่งที่ปรากฏ แสดงให้เห็นว่า ต่างกับขณะที่สิ่งนั้นยังไม่ปรากฏ และที่สิ่งนั้นจะปรากฏได้ต้องอาศัยอายตนะหนึ่งอายตนะใดสิ่งนั้นจึงปรากฏได้ เช่น ทางตาที่กำลังเห็น อายตนะเป็นภาษาบาลี จักขายตนะ ได้แก่ จักขุปสาท ต้องอาศัยจักขุปสาทกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาการเห็นในขณะนี้จึงเกิดขึ้นได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จึงสามารถเข้าใจอายตนะภายในและอายตนะภายนอก

    เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย สักกายะเป็นส่วนสุดที่ ๑ เหตุเกิดสักกายะเป็นส่วนสุดที่ ๒ ความดับสักกายะเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัดสักกายะ เหตุเกิดสักกายะ และความดับสักกายะนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียว ฯ

    ถ้ายังไม่เป็นพระอริยบุคคล ก็ยังมีสักกายทิฏฐิ คือ การยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ในขณะนี้เองที่กำลังเห็น ถ้ายังเป็น สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นสักกายทิฏฐิ เป็นการเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

    ความดับสักกายะเป็นส่วนท่ามกลาง

    ความดับสักกายะ ในอรรถกถาแสดงว่า ได้แก่ นิโรธ คือ นิพพาน ซึ่งเป็นอารมณ์ของโลกุตตรปัญญา เพราะฉะนั้น สักกายะเป็นส่วนสุดที่ ๑ เหตุเกิดสักกายะ คือ อโยนิโสมนสิการ เป็นส่วนสุดที่ ๒ ความดับสักกายะเป็นส่วนท่ามกลาง

    เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย พวกเราทั้งปวงเทียวได้พยากรณ์ตามปฏิภาณของตนๆ มาเถิด เราทั้งหลายจักพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วจักกราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์แก่พวกเราโดยประการใด เราทั้งหลายจักทรงจำข้อที่ทรงพยากรณ์นั้นไว้โดยประการนั้น

    ภิกษุผู้เถระทั้งหลายรับคำของภิกษุนั้นแล้ว ครั้งนั้นภิกษุผู้เถระทั้งหลายได้ พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลการที่สนทนาปราศรัยทั้งหมดนั้นแด่พระผู้มีพระภาค แล้วทูลถามว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คำของใครหนอเป็นสุภาษิต

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คำของเธอทั้งปวงเป็นสุภาษิตโดยปริยาย อนึ่ง เราหมายเอาข้อความที่กล่าวไว้ในปัญหาของเมตเตยยมาณพ ในปรายนสูตรว่า

    ผู้ใดทราบส่วนสุดทั้ง ๒ ด้วยปัญญา แล้วไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลาง เรากล่าวผู้นั้นว่า เป็นมหาบุรุษ ผู้นั้นก้าวล่วงเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้แล้ว ดังนี้ ฯ

    เธอทั้งหลายจงฟังความข้อนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผัสสะเป็นส่วนสุดที่ ๑ เหตุเกิดผัสสะเป็นส่วนสุดที่ ๒ ความดับผัสสะเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อม ร้อยรัดผัสสะ เหตุเกิดผัสสะ และความดับผัสสะนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพ นั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุจึงชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุด แห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียว ฯ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๘ ตอนที่ ๑๓๗๑ – ๑๓๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 89
    28 ธ.ค. 2564