แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1322


    ครั้งที่ ๑๓๒๒


    สาระสำคัญ

    การทำน้ำพระพุทธมนต์ (เพื่อให้น้อมระลึกถึงพระรัตนตรัย)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๒๗


    ผู้ฟัง เกี่ยวกับเรื่องความปรารถนา ปัจจุบันนี้ทั้งๆ ที่ผู้ทำบุญไม่ได้ขออะไร พระท่านก็ให้ อย่างเช่นว่า ยถา วาริวหา ... อะไรอย่างนี้ ซึ่งก็ไม่ทราบความหมาย กระผมก็อยากจะขอโอกาสชี้แจงเกี่ยวกับบาลีที่พระท่านกล่าวสักเล็กน้อย

    คือ คำว่า ยถา วาริวหา ปูรา ปริปูเรนติ สาครัง เอวเมว อิโต ทินนัง เปตานัง อุปกัปปติ ตอนนี้เป็นธรรมเนียม พอพระท่านว่าแค่นี้แล้ว ต้องให้ทายก ผู้ถวายทานนั้นกรวดน้ำ และเทน้ำให้หมดไม่ให้เหลือไว้ ความหมาย คือ ห้วงน้ำใหญ่ย่อมยังมหาสมุทรสาครให้เต็มฉันใด ทานที่ทายกให้ในโลกนี้ ย่อมสำเร็จแก่เปตชน ฉันนั้น เปตชนหมายถึงคนที่ตายไปแล้ว ต่อไปท่านก็บอกว่า ให้ประนมมือรับพรนะ

    สุ. ขอประทานโทษ จะช้านิด เร็วไปหน่อย ได้ไหม ระหว่างที่ยังไม่ได้ยถา หรือว่ายถาผ่านไปแล้ว หรือว่าต้องพอดี คือ เป็นเรื่องความกังวลใจของผู้ที่เข้าวัด ใหม่ๆ ไม่เข้าใจแม้แต่พยัญชนะและการที่จะต้องประพฤติตามธรรมเนียมด้วย ก็ต้องมีผู้ที่บอกว่าให้กรวดน้ำเวลานั้น ตรงนั้น ตรงนี้ ซึ่งก็น่าคิดว่า จะช้าไปเร็วไปก็ไม่เป็นไรใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่เป็นไร

    สุ. เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกังวล เรื่องของการกระทำกุศล คือ การอุทิศ ส่วนกุศลให้บุคคลอื่นเป็นกุศล เป็นเจตนาที่เป็นกุศล เพราะฉะนั้น เมื่อกุศลจิตเกิด จึงสามารถอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นได้ ไม่ต้องห่วงเรื่องเวลาว่าจะต้องเป็นในขณะนั้นขณะนี้

    ผู้ฟัง ต่อไปมีคำว่า อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปเมวะ สะมิชฌตุ สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณรโส ยถา มณิ โชติรโส ยถา เหล่านี้ท่านบอกว่า เป็นพร

    อิจฉิตัง ความปรารถนา ปัตถิตัง ที่ท่านตั้งไว้แล้ว สะมิชฌตุ จงสำเร็จโดยพลันแก่ท่าน เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ ฉะนั้น

    สุ. เป็นเหมือนอนุโมทนาได้ ใช่ไหม ต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่ว่าท่านมีสิทธิ์จะให้ แต่ท่านแสดงให้เห็นว่า กุศลนั้นสามารถจะให้ผลได้อย่างนั้น และท่านก็อนุโมทนา ให้เห็นอานิสงส์ของกุศลนั้น

    ถ. ส่วนมากมักจะคิดกันว่า พระจะให้พร เช่น เป่ากระหม่อม หรือลูบศีรษะเด็กเล็กๆ จะถือเป็นจริงเป็นจัง เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาทันที เพิ่งจะทราบจากที่อธิบายว่า สิ่งเหล่านี้เป็นแต่เพียงคำอนุโมทนา ไม่ใช่เป็นวาจาสิทธิ์ แต่เพราะเหตุใดจึงต้องใช้น้ำ ทั้งๆ ที่พวกเปรต หรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเขาไม่ได้ดื่มน้ำอย่างพวกเราเลย ผู้ฟัง เป็นธรรมเนียมทั้งนั้น คือ การที่เราอุทิศส่วนกุศลไปให้เปตชนที่ล่วงลับไปแล้วโดยการกรวดน้ำ คล้ายๆ กับเป็นการแสดงน้ำใจของเราออกมาให้เห็น เหมือนอย่างน้ำที่เทออกไป เปิดใจออกไปเหมือนน้ำที่หลั่งออกไป ใจของเราก็น้อมส่วนกุศลที่ทำไป เหมือนน้ำที่หลั่งออกจากเต้าหรือหลั่งออกจากภาชนะ

    สุ. อีกอย่างหนึ่งเข้าใจว่า ธรรมเนียมในสมัยก่อน การให้จะต้องยก มอบ สิ่งหนึ่งสิ่งใดให้กับมือจึงจะเป็นการให้ แต่ถ้าวัตถุนั้นเป็นสิ่งที่ใหญ่หรือไม่อาจจะหยิบยื่นให้ด้วยมือ ก็ใช้การหลั่งน้ำ เช่น เวลาที่จะสร้างวัด พระราชาทั้งหลายที่อุทิศที่ดินให้สร้างวัดไม่สามารถจะยกที่ดินนั้น จึงได้หลั่งน้ำเป็นการแสดงว่า ได้มอบสิ่งนั้นให้ จะเป็นอย่างนี้ด้วยได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้ คือ เป็นการแสดงออกว่า ได้ยก ได้มอบให้แล้ว ตัวอย่างเช่น พระเวสสันดรให้ช้างแก่พราหมณ์ที่มาทูลขอ ก็หลั่งน้ำลงในมือของพราหมณ์ที่ขอ จึงสำเร็จเป็นการให้

    สุ. เป็นการกระทำที่พร้อมทั้งกาย วาจา และใจ

    ผู้ฟัง อีกประการหนึ่ง น้ำนั้นมีลักษณะหลั่งอย่างไม่ขาดสาย สังเกตดู เวลาเราเทน้ำ น้ำจะหลั่งอย่างไม่ขาดสาย ความปรารถนาที่จะให้ก็เหมือนกัน คือ ไม่มีความรู้สึกหวงแหนหรือขวางทางเลย มีลักษณะที่จะให้อย่างไม่ขาดสาย อย่างเช่น พระนเรศวรมหาราชตอนประกาศอิสรภาพ ก็ใช้วิธีหลั่งน้ำทักษิโณทก คือ ตั้งเจตนาอย่างชนิดว่าไม่มีอะไรมาขัดขวาง คือ ต้องการอิสรภาพให้เกิดแก่ประเทศ อย่างนี้ เป็นต้น การให้ของเราก็เหมือนกัน ปรารถนาที่จะให้อย่างชนิดที่ว่าไม่มีอะไรมาขัดขวาง อาจจะสันนิษฐานอีกนัยหนึ่งว่า เป็นประเพณีหรือว่าวัฒนธรรมที่เราทำสืบๆ กันมาเป็นเวลานานเป็นพันๆ ปีก็ได้

    สุ. เรื่องประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ควรที่จะได้ศึกษาให้เข้าใจถึงเหตุผลที่มาของธรรมเนียมประเพณีนั้นๆ ด้วย มิฉะนั้นแล้วจะเหมือนกับการจบ เวลาที่เขาจบกัน เราก็จบบ้าง แต่ไม่ทราบเลยจริงๆ ว่า จบอะไร จบทำไม และรู้ว่าเป็นการนอบน้อม ในการให้ เพียงแต่เข้าใจอย่างนั้นว่าการให้ควรจะให้ด้วยความนอบน้อม ไม่ใช่ให้อย่างดูถูกดูหมิ่นหรือว่าโยนให้ แต่เมื่อไม่ปรารถนาหรือไม่อธิษฐานอะไร ก็ทำปากขมุบขมิบไปอย่างที่คนอื่นเขาทำ ก็เป็นธรรมเนียมไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเข้าใจในเหตุในผลแล้ว ก็แล้วแต่แต่ละท่าน และไม่ได้หมายความว่า ต้องปรารถนาทุกครั้ง หรือถ้ามีความปรารถนาเกิดขึ้น ขณะนั้นก็ควรจะเป็นผู้ที่มีเหตุมีผล ซึ่งถ้าสติระลึกก็จะรู้ว่าในขณะนั้นปรารถนาด้วยจิตที่เป็นกุศล หรือด้วยจิตที่เป็นอกุศล

    ผู้ฟัง กรณีที่ทำบุญให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นไปได้ไหมที่หมายความว่า ขณะที่พระท่านยถา สัพพี และเรากรวดน้ำ หลั่งน้ำ เพื่อกำหนดจิตให้เป็นสมาธิ ให้มาจดจ่อที่สายน้ำที่หลั่งอยู่จนกว่าจะหมด เพราะอานิสงส์ของสมาธิแม้ว่าจะเล็กน้อย ก็สามารถส่งผลให้ผู้ที่วายชนม์ไปแล้วได้รับก็ได้ แต่จะถูกหรือผิดก็ไม่ทราบ

    สุ. ค่ะ จุดประสงค์ คือ เพื่อให้ความตั้งใจนั้นมั่นคง และมีโอกาสที่จะให้ ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้ล่วงรู้ เพราะกำลังของความมั่นคงของจิต

    ถ. เวลาทำพิธีทางศาสนา อย่างทำบุญต่างๆ มีการทำน้ำพระพุทธมนต์ มีความมุ่งหมายอย่างไร เป็นการทำบุญหรือเปล่า

    สุ. ทุกอย่างมีประโยชน์ ถ้าเข้าใจในเหตุในผล ถ้าคิดว่าศักดิ์สิทธิ์ ที่จะทำให้เป็นน้ำวิเศษโดยขาดเหตุผล ย่อมไม่ถูกต้อง แต่ถ้าคิดว่าเป็นการให้จิตนอบน้อมระลึกถึงพระคุณ ได้ไหม

    ถ. ที่ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ประพรมเพื่ออะไร

    สุ. เพื่อให้น้อมระลึกถึงพระรัตนตรัย มีทางไหนที่จะทำให้น้อมนึกถึง พระรัตนตรัยได้ โดยที่ผู้นั้นจะต้องเข้าใจในเหตุในผลจริงๆ ก็ควรทำ

    ถ. ที่ผ่านมาผมไม่มีความเข้าใจ ตอนที่ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ก็ไม่แน่ใจว่าเพื่ออะไร ไม่ได้นึกว่าเพื่อน้อมระลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้สึกว่ากุศลไม่ค่อยเกิดเท่าไร

    สุ. ถ้าเข้าใจเจตนาว่า เพื่อให้ระลึกถึงพระคุณ ก็รับน้ำมนต์ได้ ระลึกถึงพระคุณโดยการปะพรม หรือจะโดยการอะไรอีกหลายอย่างก็ตามแต่ แต่เพื่อให้ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย

    ถ. บางคนหวังเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ที่จะบันดาลผลให้ ก็คงจะเป็นไปไม่ได้

    สุ. ขึ้นอยู่กับกุศลจิตของแต่ละบุคคลมากกว่า ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับวัตถุ คนที่ได้รับปะพรมพระพุทธมนต์ และคิดว่าจะได้รับลาภ ยศ สรรเสริญต่างๆ กับคนที่น้อมระลึกถึงพระคุณ อย่างเช่น พระพุทธรูปสร้างทำไม ถ้าคิดว่าสร้างให้กราบไหว้ อิฐปูน นั่นก็ผิด แต่ถ้าเพื่อระลึกถึงพระพุทธคุณฉันใด การที่ได้รับน้ำพระพุทธมนต์ ก็ทำให้ระลึกถึงพระรัตนตรัย

    คือ ทุกอย่าง เพื่อให้น้อมระลึกถึงพระรัตนตรัย และในขณะนั้นจิตอ่อน และน้อมระลึกถึงพระคุณจริงๆ จะออกมาในรูปไหนก็ได้ แต่ให้เป็นการระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ

    ถ. เป็นการเจริญพุทธานุสสติ ใช่ไหม

    สุ. ทุกอย่าง ที่เป็นการน้อมระลึกถึงพระคุณ

    ถ. ส่วนผลที่อาจจะมี ก็เพราะเป็นบุญของผู้ที่ทำ

    สุ. เป็นกุศลจิตของผู้ที่น้อมระลึกถึงพระพุทธคุณ

    ถ. พอจะทราบไหมว่า การปะพรมน้ำมนต์เริ่มทำกันมาตั้งแต่เมื่อไร

    สุ. ต้องย้อนกล่าวถึงเมืองเวสาลี ในพระสูตร ในอรรถกถาที่มีอหิวาตกโรค เป็นเรื่องยาว ซึ่งเข้าใจว่าเป็นที่รู้กันแล้ว เป็นที่เข้าใจกันอยู่

    ถ. มีที่มาอย่างนั้น ใช่ไหม

    สุ. ใช่ ถ้าขณะนี้ไม่มีอะไรเลย จะระลึกถึงพระพุทธคุณไหม ลืมบ้างไหม ลืมระลึกถึงพระพุทธคุณบ่อยๆ ไหมวันหนึ่งๆ แต่ถ้ามีสิ่งซึ่งเตือนให้ระลึกถึง นั่นก็เป็นประโยชน์ แต่ต้องเข้าใจในประโยชน์นั้นด้วยว่า จุดประสงค์เพื่อกุศลจิตที่ระลึกถึง พระพุทธคุณ

    ถ. ถ้าหากได้ทำกุศล คือ ถวายทานแล้ว ได้พูดว่า กุศลผลบุญใดๆ ที่ข้าพเจ้าได้สร้างไว้ดีแล้วตั้งแต่อดีตอนันตชาติจนถึงปัจจุบันชาติในวันนี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้พบแสงสว่างของปัญญา ได้พบธรรมที่ถูกต้องแท้จริง คำพูดเหล่านี้จะจัดอยู่ในข้อที่เรียกว่า อธิษฐาน ได้ไหม

    สุ. ได้ คือ เป็นความตั้งใจมั่นที่จะอบรมเจริญหนทางที่ถูกต้องเพื่อที่จะดับกิเลส แทนที่จะขออย่างอื่น ก็ขอที่จะได้พบข้อปฏิบัติที่ถูก ได้อบรมเจริญข้อปฏิบัติที่ถูกจนสามารถที่จะดับกิเลสได้

    ถ. ถ้าหากว่าใช่ ก็เป็นการทำกุศลที่มีโลภะเข้าเจือปน เพราะมีคำว่า ขอ ถือว่าเป็นอานิสงส์ที่ยังไม่บริสุทธิ์ จะทำอย่างไรที่การสร้างกุศลหรือการอธิษฐานและผลที่ได้รับไม่มีโลภะเข้ามาเจือปน ซึ่งจะเป็นอานิสงส์ที่บริสุทธิ์ ขออาจารย์ช่วยกรุณา ชี้ทางที่ถูกต้องตามคำสั่งสอนให้ด้วย

    สุ. ถ้ายังไม่พบหนทางที่ถูก และขอพบ นั่นถูกไหม เพราะยังไม่พบ แต่เมื่อพบแล้ว ยังต้องขออีกหรือเปล่า

    กุศลจะต้องเจริญไปเป็นขั้นๆ ถ้าเป็นผู้ที่ยังไม่เข้าใจข้อปฏิบัติเลยว่า ข้อปฏิบัติอย่างใดถูก ข้อปฏิบัติอย่างใดผิด และเมื่อได้กระทำกุศลแล้ว ก็มุ่งหวังที่จะได้ข้อปฏิบัติที่ถูก นั่นไม่ใช่โลภะ ถ้าเป็นโลภะ ก็ต้องการรูป ต้องการเสียง ต้องการกลิ่น ต้องการรส ต้องการลาภ ต้องการยศ ต้องการสรรเสริญ ต้องการอย่างอื่น แต่นี่ต้องการปัญญา ต้องการความเห็นถูก ซึ่งขณะนั้นยังไม่มี และผลของกุศลนั้นย่อมเป็นปัจจัยทำให้บุคคลนั้นมีโอกาสได้พบกัลยาณมิตร มีโอกาสได้ฟังธรรม มีโอกาสได้พิจารณาโดยถูกต้องว่าธรรมที่ได้ยินนั้นถูกหรือผิด และยังเป็นปัจจัยทำให้ได้พิจารณาเข้าใจธรรมนั้นๆ ด้วยตนเองเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นไม่ใช่โลภะ

    ที่ถามว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้มีโลภะเลย ก็ต้องเป็นพระอรหันต์จึงจะไม่มี โลภะ แต่เมื่อยังไม่เป็นพระอรหันต์ ย่อมมีปัจจัยที่จะให้บางครั้งจิตเกิดขึ้นเป็นกุศล และบางครั้งเป็นอกุศล

    บางคนขอหมด คือ นอกจากจะได้พบข้อปฏิบัติที่ถูก ได้พบหนทางที่ถูก ก็ขอให้มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ มีสุข มีทุกๆ อย่างประกอบไปด้วยเลย นั่นแสดงว่า ยังมีความต้องการในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะด้วย ยังไม่หมดไปได้

    ถ. นักศึกษาใหม่ๆ เช่นตัวผู้พูดนี้ ยังด้อยปัญญา ขอยอมรับตามตรงว่า กลัวที่จะไม่ได้รับผลของบุญ เพราะผู้ใหญ่ทุกๆ ท่าน ตลอดจนพระภิกษุ หรือผู้ที่เป็นเครือญาติ เพื่อนฝูง มักจะสั่งสอนและดุว่า เมื่อทำบุญเสร็จแล้ว ทำไมไม่หยิบวัตถุปัจจัยขึ้นจบก่อน ถ้าไม่ทำอย่างนี้จะได้อะไร ตนเองก็ไม่ทราบว่าจะประพฤติอย่างไรดี เพราะได้ถูกอบรมสั่งสอนมาอย่างนี้ ครั้นจะไม่ทำตามคำสั่งของผู้ใหญ่ ท่านก็โกรธ ไม่เป็นที่พอใจ ครั้นจะทำตามความรู้สึกของตนเองก็ยังลังเลสงสัย ขอความกรุณาอาจารย์ชี้แจงสิ่งที่ถูกต้องให้ด้วย

    สุ. ทุกท่านควรจะเป็นตัวของตัวเอง และเป็นผู้ที่มีเหตุผล ขณะที่ไม่มีเหตุผลก็คือตามๆ คนอื่นไป เวลาที่เขาจบ ทั้งๆ ที่ไม่เข้าใจว่าจบทำไม และเวลาที่เขาจบ เขาพูดว่าอะไรก็ไม่รู้ แต่ก็ทำตาม ทำปากขมุบขมิบ แต่อาจจะคนละเรื่องก็ได้ จากเด็กเล็กๆ ซึ่งไปวัด ก็จะต้องเป็นอย่างนั้น คือ ยังไม่มีเหตุผล ยังไม่เป็นตัวของตัวเอง

    แต่เมื่อได้เข้าใจในเหตุผล และเข้าใจธรรมแล้ว สติปัฏฐานก็เกิดระลึกได้ในขณะนั้น เป็นตัวเองทุกอย่าง และรู้โดยละเอียดว่า ขณะนั้นจิตเป็นกุศล หรือจิตเป็นอกุศล โดยที่ไม่ต้องกลัวอะไร

    ถ. ในการทำกุศล ไม่จำเป็นต้องหวังว่าจะได้ เพราะเราทำด้วยใจบริสุทธิ์ เปรียบเหมือนเมื่อเราเอาเมล็ดข้าวหว่านไปในนา ก็ต้องขึ้นเป็นต้นข้าว ไม่จำเป็นต้องขอให้อยู่ปราสาทที่ดี ขอให้มีเงินมีทอง ขอให้ได้สิ่งที่น่ายินดีพอใจทุกๆ ทาง ไม่จำเป็นใช่ไหม

    สุ. ขึ้นอยู่กับกำลังของปัญญา ถ้าปัญญามีกำลัง ก็ไม่เป็นห่วงเรื่องนั้นเลย เพราะถึงจะได้รับกุศลวิบากทางตา เห็นสิ่งที่ดี หรือได้ยินเสียงที่ดีทางหู ได้กลิ่นที่ดีทางจมูก ได้รสที่ดีทางลิ้น ได้สัมผัสกระทบสิ่งที่สบายทางกาย เพียงชั่วขณะเดียวอกุศล ก็ตามมามากมาย เท่านั้นเอง นิดเดียว จะเห็นได้โดยเหตุและโดยผลว่า ถ้าปราศจากปัญญาจริงๆ ผลที่ปรารถนาทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยชั่วขณะเล็กน้อยและก็ดับ แต่อกุศลจิตที่ติดตามมามากมาย และไม่รู้จักจบสิ้น

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะอบรมเจริญปัญญา และไม่ต้องเป็นห่วงกังวลถึงเหตุที่ได้กระทำแล้ว เพราะเหตุทั้งหมดที่ได้กระทำแล้วไม่สูญหาย สะสมไว้เป็นปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นเป็นไปโดยสภาพที่เป็นอนัตตา

    ถ. เมื่อเหตุกับผลต้องเป็นไปตามที่ได้สร้างสะสมไว้ ไม่จำเป็นต้องวิตกหรือกังวล แต่ทำไมและเพราะเหตุใดพระนางผุสดีถึงต้องทูลขอพรให้ได้เป็นพระราชมารดาของพระโพธิสัตว์

    สุ. แสดงถึงความปรารถนา หรือความตั้งใจที่จะได้สิ่งที่เหมาะซึ่งควรแก่การที่จะเป็นพระมารดาของพระโพธิสัตว์ เพราะฉะนั้น ผลของกุศล จะขอหรือไม่ขอ จะประกาศหรือไม่ประกาศก็ตามแต่ สภาพของจิตซึ่งมีความต้องการในสิ่งนั้นๆ เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ย่อมจะทำให้ได้ผลนั้นๆ

    เช่น ยังเป็นผู้ที่พอใจในรูป ทุกคนยังติดในความสวยความงามในรูป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น เมื่อยังมีความติดหรือความพอใจ ในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และกุศลที่ได้ทำแล้วเป็นปัจจัยที่จะทำให้รูปสวย ทั้งสิ่งต่างๆ ที่ดีก็ได้รับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้ว่าจะไม่ประกาศออกมาเป็นคำว่า ขอให้เป็นอย่างนั้นๆ แต่ใจยังต้องการอยู่ ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น จะประกาศหรือไม่ประกาศ ในเมื่อยังมีกิเลสอยู่ ก็มีทางที่ว่า ผลของกุศลที่จะเกิดย่อมเป็นไปตามความปรารถนา แต่ถ้ายิ่งประกาศ โดยฐานะที่รู้ตัวเองตามความเป็นจริงว่า ยังมีความพอใจในโลกธรรมอย่างนั้นๆ อยู่ ก็หมายความว่า ต้องการให้ผลของกุศลที่ได้กระทำลงไปแล้วเกิดขึ้นเป็นไปตามความต้องการ เพิ่มน้ำหนักของการที่จะให้กุศลนั้นให้ผลในทางนั้นขึ้น เพราะกุศลที่ทำไปแล้วขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของผู้กระทำว่า ต้องการผลอย่างไร

    ถ้าต้องการผลที่ดี คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ดีในใจ ก็ย่อมได้สิ่งนั้น และถ้าเป็นผู้ที่ต้องการผลที่ดีในทางสติปัญญา ผู้นั้นก็ย่อมได้รับสิ่งนั้น และถ้าถึงกับประกาศหรือแสดงความตั้งใจที่มีกำลัง ก็ย่อมทำให้ผลนั้นเกิดขึ้นให้ผลในทางที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นในทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือในทางสติปัญญา ในทางกุศล

    ถ. ทั้งหมดที่อาจารย์ตอบมา เมื่อได้ฟังแล้วก็เข้าใจ และรู้สึกว่า สิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาในชีวิตมีแต่ความงมงาย มีแต่ความไม่รู้ และยึดถือสิ่งผิดๆ มาประพฤติปฏิบัติ วันนี้ได้ประจักษ์แจ้งแล้วว่า ได้มาพบคำสั่งสอนหรือคำบรรยายที่ถูกต้อง จะจัดว่าเป็นกุศลวิบากที่ตนเองได้ทำไว้ได้ไหม

    สุ. แน่นอน ทุกท่านที่สนใจในธรรม ถ้าไม่เคยสะสมการศึกษา การฟัง การมีศรัทธา และกุศลอื่นในอดีตอนันตชาติมา ย่อมไม่มีโอกาสที่จะได้ฟัง หรือเมื่อได้ฟังแล้วก็ไม่สนใจ นี่เป็นสิ่งที่ในอดีตชาติของแต่ละท่านซึ่งไม่มีใครสามารถรู้ได้เลยว่า ได้เคยกระทำกรรมอย่างไรมาแล้ว แต่ในชาติปัจจุบันนี้เอง จะส่องไปถึงอดีตชาติ แม้ไม่เคยทราบว่าชาติก่อนนั้นเป็นใคร เคยฟังพระธรรมที่ไหน เคยสนใจมากน้อยอย่างไร แต่ในเมื่อปัจจุบันชาติมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ก็แสดงว่าได้สะสมมาแล้ว ในอดีตชาติ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๓ ตอนที่ ๑๓๒๑ – ๑๓๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 89
    28 ธ.ค. 2564