แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1330


    ครั้งที่ ๑๓๓๐


    สาระสำคัญ

    ทบทวนปัจจัยต่างๆ (อุปนิสสยปัจจัยมี ๓ อาเสวนปัจจัย อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย

    ปัจฉาชาตปัจจัย กัมมปัจจัย)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๒๗


    สุ. เพราะฉะนั้น ส่องให้เห็นถึงอดีตกรรม ถ้าเห็นคนสวย เกิดมาสวย ก็รู้ว่าเป็นผลของกุศลกรรม แต่เวลาที่คนสวยนั้นไม่ดีขณะใด ก็เห็นถึงอกุศลจิตในอดีตที่เคยสะสมมาว่า แม้จะสวยก็ยังเป็นผู้ที่ริษยา เพราะสะสมความริษยาในชาติก่อนๆ มามาก

    ถ. ผู้ที่มาศึกษาธรรมมักจะไม่ค่อยมีเด็กๆ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะยังไม่ถึงกาลเวลาที่จะเข้าวัด หรือว่าปัญญายังไม่เกิด หรือว่าปัจจัยอะไร

    สุ. ไม่ทราบว่า ท่านผู้ฟังมีอายุเท่าไรกันบ้าง แต่ก็เห็นผู้ที่ยังอยู่ในวัยเยาวชนหลายท่าน

    ถ. ทีนี่มีจริงที่เป็นเยาวชน แต่ที่อื่นไม่มีเลย

    สุ. คงมีเหมือนกัน ถ้าไปทั่วๆ และไปทุกวันๆ ก็คงพอที่จะเห็นบ้าง

    ถ. เวลาเกิด จิตดวงเดียวที่เกิดร่วมกับกัมมชรูป ใช่ไหม

    สุ. ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมหนึ่งกรรมเดียวเท่านั้น

    ถ. อานิสงส์ของการบริจาคทานทำให้มั่งคั่งร่ำรวย มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่ก็มีมานะ มีตระหนี่ บางทีไปขอบริจาคอาจได้สัก ๑๐ บาท ซึ่งคนธรรมดาอย่างเราๆ อาจจะให้มากกว่าก็ได้ ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยเหมือนกัน ใช่ไหม

    สุ. ถ้าเป็นในครั้งอดีตกาล ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ตัวอย่างของผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคล จะเห็นได้ว่า ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม อกุศลช่างมีกำลังที่จะแสดงออกมาทางกาย ทางวาจาต่างๆ กัน

    ตราบใดที่โลกุตตรปัญญายังไม่เกิด ไม่มีทางที่จะดับอกุศลใดๆ ได้เลย ฉะนั้น ทางกาย ทางวาจาที่แสดงออก ก็ยังต้องเป็นไปตามกำลังของอกุศลนั้นๆ

    สำหรับโลภะซึ่งเป็นความพอใจ เป็นอกุศลประเภทหนึ่ง มีกำลังมากแค่ไหน ท่านอุปมาว่า เหมือนกับต้นยางซึ่งชุ่มด้วยยาง เมื่อใดที่เอามีดกรีดลงไป เมื่อนั้นยางก็ย่อมไหลออก ถ้าทางตาได้ประสบกับอารมณ์ซึ่งเป็นที่พอใจ ไม่มีใครสามารถจะยับยั้งความพอใจที่จะเกิดได้เลย เนื่องจากสะสมโลภะมาเต็ม เพราะฉะนั้น เมื่อได้อารมณ์ที่พอใจ ก็คือมีดที่กรีดให้ความพอใจหลั่งไหลออกมาอย่างชุ่มโชก ไม่สามารถจะระงับได้เลย

    นี่เป็นชีวิตประจำวันของทุกท่าน ท่านชอบสิ่งใด ลองคิดถึงทางตาที่เห็น ถ้าเป็นเสื้อผ้าสวยๆ ความอยากได้มากแค่ไหน ลองคิดดู ขณะที่ยังไม่ได้และอยากได้ ทางหูอยากจะฟังเพลงเพราะๆ ทางจมูกอยากจะได้กลิ่นหอมๆ ทางลิ้น ที่เป็นอาหารรสอร่อย ถ้ากลับไปบ้านทุกคนจะพบว่ามีอาหารที่ถูกปาก ที่แสวงหา แต่ก่อนที่จะแสวงหา โลภะเกิด ยับยั้งได้ไหม ลองคิดถึงในขณะนั้นที่โลภะกำลังเกิด ลองดูว่า ยับยั้งได้ไหม ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังพระธรรม และโลกุตตรปัญญาเกิด เป็นพระอริยเจ้า จึงสามารถดับกิเลสได้ แต่ก่อนนั้น ทุกคนเต็มไปด้วยอกุศลนานาประการ

    ถ. ถ้าไม่เกี่ยวกับธรรม เป็นสากลทั่วๆ ไป จะกล่าวได้ไหมว่า ธรรมชาติจัดมาให้สมดุลอยู่แล้ว คือ เมื่อมีฝนตกก็ต้องมีฟ้าร้อง มีน้ำท่วมก็ต้องมีฝนแล้ง เมื่อเป็นคนสวยก็ต้องให้โง่เสียบ้าง เมื่อเป็นคนที่ไม่สวยแต่ก็มีปัญญาดี จะถูกหรือผิดประการใด

    สุ. เป็นเรื่องของกรรมทั้งนั้น คือ มีทั้งกุศล อกุศล ไม่มีใครสักคนเดียวในสังสารวัฏฏ์ที่จะไม่มีอกุศลกรรม หรืออกุศลจิตเลย จะมีแต่กุศลล้วนๆ นั้น ไม่มี เพราะฉะนั้น จะมีคนที่พร้อมสมบูรณ์ไปทุกอย่างไม่ได้ แต่เมื่อใดที่โลกุตตรปัญญาเกิด เมื่อนั้นจึงสามารถที่จะดับอกุศลได้ แต่ถ้าโลกุตตรปัญญายังไม่เกิด กรรมจะทำให้ สวยบ้าง ไม่สวยบ้างในแต่ละภพแต่ละชาติ และระหว่างที่เป็นคนสวยไม่สวยนั้น ก็มีกุศลจิตอกุศลจิตมากน้อยสะสมไปเรื่อยๆ ตามเหตุตามปัจจัย

    ถ. ผู้ที่มีอย่างหนึ่งขาดอย่างหนึ่ง เช่น ทุพพลภาพ แต่นิสัยดี แสดงว่า ทำกุศลกรรมไม่ครบทุกอย่าง ใช่ไหม

    สุ. สังสารวัฏฏ์ยืดยาวจนกระทั่งทุกคนเคยเป็นทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคนพิการก็เคย เป็นพระมหากษัตริย์ก็เคย เป็นคนสวยก็เคย เป็นคนไม่สวยก็เคย เคยทั้งหมด แต่ไม่ซ้ำกัน เพราะภพหนึ่งชาติหนึ่งสั้นมาก และจะไม่ย้อนกลับมาเป็นบุคคลนี้อีก

    ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า คนพาลเห็นชาตินี้เป็นปกติ และบัณฑิตเห็นอย่างไร

    สุ. บัณฑิตก็ต้องคำนึงถึงชาติต่อไปหรือโลกหน้าด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ เช่น โลภมูลจิตที่ติดในลาภ ในสรรเสริญ ในยศ ในสักการะ ถ้าเป็นบัณฑิตก็จะคิดว่า ถ้าไม่รีบละเสียตั้งแต่ในชาตินี้ ชาติต่อไปจะละยากสักแค่ไหน แต่ถ้าเป็นคนพาล ลาภเท่าไรก็ไม่พอ ต้องทำทุจริตกรรมเพื่อที่จะให้ได้ลาภอย่างนั้นๆ หรือว่าสรรเสริญก็ติด ต้องการได้รับการสรรเสริญมากๆ ซึ่งการที่จะเป็นบุคคลนี้เป็นชั่วระยะที่สั้นมาก สรรเสริญในการเป็นบุคคลนี้ไม่เท่าไร ก็ต้องจากคำสรรเสริญไป และไม่มีวันที่จะได้รับคำสรรเสริญอย่างนั้นอีก เพราะเป็นบุคคลอื่นแล้ว ฉะนั้น ผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมเห็นว่า อกุศลแต่ละขณะที่เกิดขึ้นจะสะสมสืบต่อไปถึงชาติต่อๆ ไปด้วย

    ถ. มืด เป็นรูปารมณ์หรือเปล่า

    สุ. ใครเห็น

    ถ. จักขุวิญญาณเห็น

    สุ. ทุกอย่างที่เป็นอารมณ์ของจักขุวิญญาณ เป็นรูปารมณ์

    ถ. ในอรูปพรหมภูมิ มีมืดไหม

    สุ. น่าสนใจเหลือเกิน ไปถึงอรูปพรหม มีตาไหม

    ถ. ไม่มี

    สุ. เพราะฉะนั้น จะมืดสักแค่ไหน นี่คือคำตอบ เมื่อไม่มีตา ก็ไม่เห็น

    ลองคิดดูว่า คนที่มีตาอยู่ในห้องมืดยังเห็น คือ เห็นสิ่งที่มืด เห็นความมืด เห็นรางๆ เพราะมีจักขุวิญญาณและมีรูปารมณ์ เพียงแต่แสงสว่างไม่พอจึงไม่สามารถเห็นส่วนละเอียดของมหาภูตรูปต่างๆ ซึ่งเป็นที่อาศัยเกิดของรูปารมณ์ลักษณะต่างๆ ได้

    แต่คนที่ไม่มีจักขุปสาทเลย ไม่มีจักขุวิญญาณเลย ไม่มีแม้แต่แสงรางๆ หรือที่จะเห็นความมืด เพราะฉะนั้น จะเข้าใจลักษณะของมโนทวารได้จริงๆ ว่า เมื่อแยก มโนทวารออกจากจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวารแล้ว ลักษณะของมโนทวารล้วนๆ จะมีแต่ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยที่อย่างอื่นไม่ปรากฏเลย กลัวไหม

    ถ. ไม่กลัว

    สุ. ที่จริงน่ากลัว เพราะสูญไปหมดทุกอย่างที่เคยมี ถ้าปัญญาไม่พอ จะต้องไหวหวั่น

    ถ. พระอรหันต์ไม่ไหวหวั่น

    สุ. แน่นอน ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาแล้ว ปัญญาไม่ใช่สภาพที่ไหวหวั่น ปัญญาทุกระดับไม่ไหวหวั่น ขณะใดที่ไหวหวั่นขณะนั้นไม่ใช่กุศล ขณะนั้นเป็น โทสมูลจิต เป็นอกุศล

    ถ. บุคคลในอรูปพรหม ไม่สามารถอบรมเจริญสติปัฏฐานได้ ใช่ไหม

    สุ. ถ้าจะเป็นพระอริยบุคคล หมายความว่า ผู้นั้นต้องเป็นพระโสดาบันจากภูมิที่มีขันธ์ ๕ ภูมิใดภูมิหนึ่งก่อน เพราะการดับกิเลสของพระอริยบุคคลต้องดับ อนุสัยกิเลส ถ้ายังมีความพอใจในรูป ไม่ว่าจะรูปของมนุษย์ในภูมิของมนุษย์ หรือ รูปในสวรรค์ หรือรูปในพรหมโลก ก็ยังเป็นความพอใจ เพราะฉะนั้น ต้องรู้ความจริงของรูปซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดและดับอย่างรวดเร็ว จึงสามารถละความพอใจในรูปได้เมื่อไม่มีรูปปรากฏ ก็ยังคงมีอนุสัยกิเลสที่ยังพอใจในรูปอยู่ จึงไม่สามารถเป็น พระโสดาบันในอรูปพรหมภูมิ แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ภูมิใดภูมิหนึ่งแล้ว ก็เป็นการแน่นอนว่า บุคคลนั้นย่อมไหลไปสู่การเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นพระอริยบุคคลในอรูปพรหมภูมิก็มี

    ถ. โสตปสาทมี ในขณะเดียวกันเสียงก็มี ช่องว่างคืออากาศก็มี จำเป็นไหมว่า โสตวิญญาณต้องเกิดขึ้นเสมอถ้า ๓ อย่างนี้มี

    สุ. แล้วแต่ภวังคุปัจเฉทะจะเกิดหรือไม่เกิดด้วย ถ้าภวังคุปัจเฉทะไม่เกิด ถึงแม้ว่าโสตปสาทเกิด เสียงก็เกิด และกระทบ ภวังค์ที่รูปกระทบเป็นอตีตภวังค์ และเป็นภวังคจลนะ แต่ถ้าภวังคุปัจเฉทะไม่เกิด วิถีจิตที่จะได้ยินเสียงนั้นก็เกิดไม่ได้

    ถ. เวลาที่ฟังการบรรยายแนวทางเจริญวิปัสสนาจากวิทยุตอนกลางคืน และหลับไป ดิฉันเชื่อแน่ว่าโสตปสาทกำลังเกิดดับ เสียงจากวิทยุก็มีอยู่ ช่องว่างคืออากาศก็มี แต่ดิฉันไม่ได้ยินเลยเวลาที่หลับ ตื่นขึ้นมาอีกที รายการก็จบไปแล้ว

    สุ. เป็นอนัตตา อยากฟัง แต่ภวังคจิตเกิด โดยปัจจัยต่างๆ

    ถ. ในขณะที่เป็นภวังค์ ไม่ได้ยินแน่นอน แม้จะมีโสตปสาท มีเสียง มีช่องว่าง

    สุ. ถูกต้อง

    ก็ได้เข้าใจเรื่องของแต่ละบุคคลที่พบเห็นในทุกวัน ใครมีอดีตกรรมอย่างไร ก็มองเห็นได้จากรูปร่างหน้าตา และใครจะมีกุศลจิตและอกุศลจิตในอดีตสะสมมาเท่าไร ก็รู้ได้จากการกระทำทางกายและวาจา

    ปัจจัยต่อไป โดยอาเสวนปัจจัย คือ โดยการเป็นปัจจัยให้จิตประเภทเดียวกันที่เป็นกุศล อกุศล หรือกิริยาเกิดขึ้นกระทำชวนกิจ โดยเสพคุ้นอารมณ์ เกิดซ้ำใน วิถีเดียวกัน นั่นคืออาเสวนปัจจัย เพราะฉะนั้น วิบากจิตทั้งหมด ไม่เป็นอาเสวนปัจจัย

    สำหรับโลภมูลจิตขณะที่ ๑ เป็นอาเสวนปัจจัย แต่ไม่เป็นอาเสวนปัจจยุปบัน

    ชวนจิตดวงที่ ๒ เป็นปัจจยุปบันของชวนจิตขณะที่ ๑ และเป็นอาเสวนปัจจัยของชวนจิตดวงที่ ๓ และต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงชวนจิตดวงที่ ๖ เป็นปัจจยุปบันของชวนจิตดวงที่ ๕ และเป็นอาเสวนปัจจัยให้ชวนจิตดวงที่ ๗

    สำหรับชวนจิตดวงที่ ๗ เป็นอาเสวนปัจจยุปบันของชวนจิตดวงที่ ๖ แต่ไม่เป็นอาเสวนปัจจัย เพราะหลังจากนั้นกุศล หรืออกุศล หรือกิริยาจิตไม่เกิด แต่เป็นภวังค์ หรือตทาลัมพนะซึ่งเป็นวิบากจิตเกิดต่อ

    อาเสวนปัจจัย ได้แก่ จิตที่ทำชวนกิจ เพราะฉะนั้น วิบากจิตทั้งหมดไม่เป็น อาเสวนปัจจัย

    ปัจจัยที่ ๗ โดยอนันตรปัจจัย คือ เป็นปัจจัยโดยให้จิตและเจตสิกขณะต่อไปเกิดสืบต่อเมื่อจิตนั้นและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยดับไป ไม่มีระหว่างคั่นเลย

    การเกิดดับสืบต่อของจิตและเจตสิก ก็เพราะจิตทุกดวงและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเป็นอนันตรปัจจัย หมายความว่า ทำให้จิตและเจตสิกขณะต่อไปเกิดขึ้นเมื่อ จิตและเจตสิกขณะนั้นดับไป สำหรับอนันตรปัจจัยเป็นปัจจัยได้เฉพาะนามธรรมเท่านั้น

    เวลานี้มีใครมีอำนาจที่เป็นตัวตนที่จะไม่ให้จิตในขณะนี้เป็นอนันตรปัจจัยได้ไหม ไม่มีทางเลย ใครที่บอกว่าไม่อยากเกิด ไม่สามารถที่จะทำให้จิตเจตสิกไม่เกิดได้ ถ้า จิตเจตสิกนั้นยังเป็นอนันตรปัจจัยอยู่

    เพราะฉะนั้น มีจิตขณะเดียวที่ไม่เป็นอนันตรปัจจัย คือ จุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้น คือ เมื่อจุติจิตของพระอรหันต์ดับไปแล้ว จะไม่มีจิตอื่นเกิดสืบต่อเลย

    ถ. พระอรหันต์ที่เข้าผลสมาบัติ ขณะนั้นดับจิตเจตสิกหมดเลย ใช่ไหม

    สุ. ผลสมาบัติไม่ได้ดับจิตเจตสิก ผลสมาบัติมีผลจิตเกิดสืบต่อจนกว่าจะออกจากผลสมาบัติ หรือหมดผลสมาบัติ

    ถ. คือ ยังไม่หมดไป แต่ระงับไปชั่วขณะหนึ่ง ใช่ไหม

    สุ. ไม่ใช่ ผลสมาบัติ หมายถึงโสตาปัตติผลจิต หรือสกทาคามิผลจิต หรือ อนาคามิผลจิต หรืออรหัตตผลจิต เกิดดับสืบต่อในระหว่างที่เป็นสมาบัติ จนกว่าจะสิ้นสุดสมาบัติ

    ถ. จุติจิตของบุคคลที่จะไปเกิดเป็นอสัญญสัตตาพรหม เป็นอนันตรปัจจัย แก่ปฏิสนธิจิตของคนนั้นหลังจากที่ตายจากการเป็นอสัญญสัตตาพรหม ใช่ไหม

    สุ. ถูกต้อง

    ถ. และจิตของพระอรหันต์ก่อนที่จะเข้านิโรธสมาบัติ เป็นอนันตรปัจจัยแก่จิตขณะแรกที่ออกจากสมาบัติ

    สุ. ถูกต้อง ถ้าไม่เป็นอนันตรปัจจัย จะไม่มีจิตเกิดแน่ๆ หลังจากนั้น

    ถ. แต่อนันตรปัจจัยเป็นปัจจัยที่ทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น แต่นี่มีช่วงระหว่างตั้งมาก

    สุ. ที่ไม่มีนามเกิดขึ้นก็ด้วยกำลังของฌาน ยกเว้นเป็นพิเศษ ใครอยากจะทำอย่างนั้นก็ได้

    ธรรมเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถจะกระทำได้จริงๆ ถ้าเหตุสมควรแก่ผล แต่ไม่ใช่หลอกตัวเอง ทั้งๆ ที่ไม่ใช่นิโรธสมาบัติ ก็คิดว่าเป็นนิโรธสมาบัติ นั่นเป็นความเข้าใจผิด เป็นความเห็นผิด ถ้าต้องการจะกระทำก็ย่อมได้ แต่เหตุต้องสมควรแก่ผล

    ถ. จะเข้านิโรธสมาบัติได้ ต้องได้ฌานโลกีย์ คือ อรูปฌาน

    สุ. ผู้ที่จะเข้านิโรธสมาบัติ คือ ขณะที่ดับจิตเจตสิก ไม่มีนามธรรมเกิดเลย ผู้นั้นต้องเป็นพระอนาคามีบุคคลหรือพระอรหันต์ ที่ได้อรูปฌานขั้นสูงที่สุดเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ได้อรูปฌานขั้นสูงสุด คือ ถึงเนวสัญญานาสัญญา แต่เป็นปุถุชน หรือเป็นพระโสดาบัน หรือเป็นพระสกทาคามี ก็เข้าไม่ได้

    ถ. หมายความว่า ต้องมีสมถพละและวิปัสสนาพละ ควบคู่กันไป

    สุ. ถูกต้อง

    ปัจจัยต่อไป คือ สมนันตรปัจจัย เป็นปัจจัยโดยให้จิตและเจตสิกขณะต่อไปเกิดสืบต่อโดยไม่มีระหว่างคั่นด้วยดี คือ ตามลำดับ ไม่ก้าวก่ายสับสน เป็นไปตามสภาพของปัจจัยนั้นๆ เช่น เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดและดับไป ก็เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตเกิด หรือเมื่อโลภมูลจิตขณะที่ ๑ เกิดและดับไป ก็เป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตขณะที่ ๒ เกิด จนกระทั่งถึงขณะที่ ๗ และเมื่อโลภมูลจิตขณะที่ ๗ ดับไป ก็เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตเกิด หรือตทาลัมพนจิตเกิด แล้วแต่สภาพของอารมณ์ที่ปรากฏในขณะนั้น

    ปัจจัยที่ ๙ คือ โดยปัจฉาชาตปัจจัย โลภมูลจิตเป็นปัจฉาชาตปัจจัย คือ เป็นปัจจัยโดยอุปถัมภ์รูปที่เกิดก่อนและยังไม่ดับไป ในขณะนี้จิตทุกดวงซึ่งเกิดที่รูป ก็อุปถัมภ์รูปซึ่งเกิดก่อนและยังไม่ดับ อยู่ด้วยกันก็ช่วยเหลือกัน อุปถัมภ์กัน แยกจากกันไม่ได้

    ปัจจัยที่ ๑๐ คือ โดยกัมมปัจจัย ในอกุศลจิตดวงที่ ๑ คือ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง มีกัมมปัจจัย คือ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตดวงนี้ เป็นสหชาตกัมมปัจจัยแก่จิตและเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วย และเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัยแก่อกุศลวิบากจิต ๗ ดวง ที่จะเกิดข้างหน้า

    เพราะฉะนั้น เวลาที่อกุศลวิบากจิตเกิด ให้ทราบว่า ใครก็ไม่สามารถทำให้อกุศลวิบากจิตนั้นๆ เกิดได้ นอกจากกัมมปัจจัยที่ได้กระทำแล้วในอดีต เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย

    ถ้าเกิดเจ็บป่วยทางกาย มีความทุกข์เกิดขึ้น ในขณะนั้นเพราะกรรมของตนเอง ไม่ใช่เพราะบุคคลอื่นทำให้ ถ้าไม่เคยกระทำอกุศลกรรมมาเลยในอดีตจะไม่มีปัจจัยให้อกุศลวิบาก ๗ ดวงเกิดขึ้น แต่เพราะอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วนั่นเอง ดับไปแล้ว ก็จริง แต่ก็เป็นปัจจัยทำให้อกุศลวิบากจิต ๗ ดวงเกิด

    ซึ่งอกุศลวิบากจิต ๗ ดวงนี้ ได้แก่ จักขุวิญญาณ ๑ โสตวิญญาณ ๑ ฆานวิญญาณ ๑ ชิวหาวิญญาณ ๑ กายวิญญาณ ๑ สัมปฏิจฉันนะ ๑ สันตีรณะ ๑

    อยากทิ้งไปใช่ไหม ๗ ดวงนี้ ไม่อยากมีเลย แต่เป็นไปไม่ได้ เพราะธรรมที่ทำให้อกุศลวิบากจิต ๗ ดวงนี้มี ได้กระทำไว้แล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อมีโอกาสที่จะให้ผลเมื่อไหร่ ก็เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย ทำให้อกุศลวิบากจิต ๗ ดวงนี้เกิดขึ้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๓ ตอนที่ ๑๓๒๑ – ๑๓๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 89
    28 ธ.ค. 2564