แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1362


    ครั้งที่ ๑๓๖๒


    สาระสำคัญ

    ความวิจิตรของโลภมูลจิต ๘

    ข้อปฏิบัติที่สมควรด้วยเหตุที่ถูกต้องผลที่ถูกต้องก็เกิดได้


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๗


    ส่วนราคะนั้น ชื่อว่าที่มีโทษน้อย ด้วยสามารถวิปากวัชชะอย่างนี้ว่า ชื่อว่าปฏิสนธิในอบาย อันมีสทารสันโดษ ความยินดีในภรรยาของตนเป็นมูล ย่อมไม่มี

    เป็นการมีชีวิตด้วยโลภะตามทำนองคลองธรรม ซึ่งไม่ใช่ทุจริตกรรม คือ ยังไม่ถึงอกุศลกรรมบถ เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ทุกคนมีโลภะ มีอย่างปกติน้อยๆ และที่เข้าใจว่าน้อย คือ ไม่ผิดทำนองคลองธรรม ไม่ใช่ทุจริตกรรม ไม่ใช่อกุศลกรรม เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เป็นสภาพธรรมที่มีโทษมากเหมือนอย่างโทสะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีโทษมาก แต่คลายเร็ว

    บทว่า ทันธวิราคี ความว่า ก็ราคะนั้นเมื่อคลาย ย่อมค่อยๆ คลาย คือ ไม่พ้นไปอย่างรวดเร็ว ย่อมติดตามไปตลอดกาลนานดุจสีที่เจือด้วยน้ำมันและเขม่า แม้ไปแล้วย่อมไม่กลับมา เหตุนั้นจึงชื่อว่าคลายช้า

    . หญิงชายคู่หนึ่งเป็นแฟนกัน คนหนึ่งมีแฟนใหม่ คนที่เป็นแฟนอยู่เดิมเกิดความอาลัย คำว่า อาลัย เป็นราคะใช่ไหม คือ มีความเศร้าโศกเสียใจ แต่ถ้าสามารถระลึกรู้ว่า เป็นเรื่องธรรมดา จะเป็นกุศลไหม

    สุ. ขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นเป็นกุศล ซึ่งต่างจากอกุศล ขณะที่เป็นทุกข์เศร้าโศก ขณะนั้นเป็นอกุศล

    ถ. สามีภรรยาที่แยกทางกัน ผมสังเกตว่า อีกฝ่ายหนึ่งพยายามหลีกหนีความจริง ไปหาใหม่ อย่างนี้ถูกต้องไหม หลีกหนีความจริง คือ แทนที่จะรู้ว่าเป็นผลของกรรมที่ทำไว้ ...

    ­สุ. วิบาก คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

    ถ. เราสามารถจะละได้ทั้งหมดไหมถ้าเรารู้ว่าเป็นผลของกรรม ขณะที่เป็นทุกข์เราก็รู้ว่าเราเป็นทุกข์อยู่ แต่ก็ไม่สามารถที่จะห้ามได้

    สุ. ถ้าสติเกิดจะระลึกลักษณะสภาพที่กำลังปรากฏ อย่าลืม สภาพที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาที่จะรู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เป็นเรื่อง แต่ถ้าคิดเป็นเรื่อง ก็หมายความว่าเป็นสติขั้นคิด

    ถ. ถ้าเปลี่ยนนิมิต หมายความว่า จากเดิมเป็นอย่างนี้ แต่ว่าเปลี่ยนสภาพเป็นกุศล

    สุ. กุศลจิตและอกุศลจิตเกิดสลับกันได้ แต่ไม่ใช่ในชวนวิถีเดียวกัน หรือทวารเดียวกัน

    เรื่องโทษของโลภะ ยังดีที่ไม่มีโทษมากถ้าเป็นไปในทำนองคลองธรรม เช่น การทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต หรือขณะนั้นไม่ได้เป็นไปในอกุศลกรรมบถ ถึงแม้ว่าเป็นโลภะชาวโลกก็ไม่ติเตียน เช่น มารดาบิดาที่รักบุตร หรือผู้ที่สนิทสนมรักใคร่เกื้อกูลกัน ชาวโลกก็ไม่ได้ติเตียนเหมือนกัน

    ถ. เวลาที่เราขายของ บอกว่าเราซื้อมาราคาเท่านั้นเท่านี้ แต่ความจริงไม่ใช่ อย่างนี้ถือว่าผิดไหม

    สุ. เป็นอกุศล

    ถ. แต่เราไม่มีเจตนา

    สุ. ทำไมกล่าวว่าไม่มีเจตนา

    ถ. ในขณะที่เราคิดเป็นทางการค้า ถือว่าขณะนั้นเป็นอกุศลหรือ

    สุ. จะเป็นการค้า หรือจะเป็นอะไรก็ได้ ถ้าสติเกิดจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต

    ถ. ขึ้นอยู่กับเจตนาของเราใช่ไหมที่จะแสดงออกไป

    สุ. ต้องมีเจตนาแน่ๆ ที่พูดอย่างนั้น เพื่ออะไร แม้แต่คำพูดประจบ ก็ต้องระลึกด้วยสติในขณะนั้นจึงจะรู้ว่าขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ข้อสำคัญที่สุด ต้องเป็นผู้ตรง และเมื่อสติปัฏฐานเกิดจะได้รู้ว่า ขณะนั้นเป็นลักษณะของอกุศลประเภทไหน ทางไหน เพราะทุกคนมีกายมีวาจาที่สะสมมาอย่างวิจิตรที่จะมีคำพูด ต่างๆ มีคำพูดทิ่มแทง มีคำพูดเกียดกัน มีคำพูดแม้ประจบ สติจะต้องระลึกรู้ทันทีว่า ในขณะนั้นเป็นสภาพของจิตประเภทไหน

    ถ. ถ้ารู้แล้วว่าผิด แต่ยังทำ เพราะอะไร

    สุ. เพราะการอบรมเจริญปัญญายังไม่พอ

    ถ. จึงไม่มีกำลังพอที่จะละได้

    สุ. ยังไม่พอที่จะดับกิเลส

    ถ. รู้ว่าทำอย่างนี้ผิด แต่ก็ทำ

    สุ. และควรที่จะระลึก เพื่อจะได้รู้ตามความเป็นจริง ข้อสำคัญที่สุด ต้องเป็นผู้ตรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทิฏฐิ ความเห็น เรื่องของมานะ เรื่องของ สภาพธรรมใดๆ ซึ่งเป็นอกุศลธรรม อกุศลต้องเป็นอกุศล ต้องรู้ว่าเป็นสิ่งที่จะต้องละ

    ถ. ถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี บังคับเราให้ต้องทำแบบนั้น แต่เรื่องของจิตใจไม่มีเจตนาที่จะทำ

    สุ. ทำไมชอบกล่าวว่า ไม่มีเจตนา

    ถ. เพราะสภาพแวดล้อมบีบบังคับ อย่างผม ครอบครัวเขาไม่เข้าใจธรรม เขาก็กีดกันทุกอย่าง ผมอยากจะมาเรียนธรรม ก็หาทางเลี่ยงมาโดยที่ไม่บอกตรงๆ ถ้าบอกเขาจะไม่ให้มา สภาพแบบนี้เป็นกุศลหรืออกุศล

    สุ. ถ้าจะถามว่าขณะนี้เป็นกุศลหรืออกุศล อย่างนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล จะไม่เหมือนกับขณะที่สติระลึกและรู้ทันทีว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล เพราะ เรื่องของกุศลและอกุศลเป็นเรื่องที่วิจิตรมาก โลภมูลจิตมี ๘ ดวงจริง แต่แสดงออกมาเป็นอาการต่างๆ มากมาย ซึ่งสติจะต้องระลึกรู้ในขณะนั้นทันทีจึงจะรู้ได้ว่า นี่เป็นความวิจิตรของโลภมูลจิตที่ทำให้มีอาการอย่างนั้น มีคำพูดอย่างนั้น

    ถ. เป็นคำแก้ตัวเพื่อที่จะทดแทนความผิด ใช่ไหม

    สุ. ต้องอาศัยสติระลึก จึงจะรู้ได้

    ถ. คำยกย่องว่า บุคคลปิดประตูอบายแล้ว เป็นคำพูดที่เกิดจากโลภมูลจิตหรือไม่ คือ อยากให้คนอื่นรับรู้ว่า บุคคลนั้นได้สำเร็จขั้นนั้นๆ แล้ว

    สุ. ถ้าไม่รู้ แต่พูด ผิดหรือถูก

    ถ. ผิด

    สุ. และพูดเพื่ออะไร

    ถ. ผมก็ไม่ทราบเจตนาของเขาว่าพูดเพื่ออะไร

    สุ. เป็นเรื่องที่ลำบากจริงๆ คือ เป็นเรื่องที่มักพูดตามๆ กัน เพราะฉะนั้น เรื่องคำพูดเป็นเรื่องที่สติควรจะระลึกได้จริงๆ และท่านผู้ฟังพูดต่อ หรือฟังเฉยๆ อยากจะทราบไหมว่าเขาบรรลุธรรมจริงหรือเปล่า หรือไม่สนใจที่จะรู้

    เรื่องของการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่เรื่องที่ผู้รู้แจ้งอริยสัจธรรมจะกล่าวว่า ได้บรรลุ แต่การสนทนาในเรื่องหนทางที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นสิ่งที่มีประโยชน์กว่า และเป็นสิ่งที่ผู้ฟังสามารถจะพิจารณาได้ว่า สิ่งที่กำลังได้รับฟังนั้นถูกหรือผิดอย่างไร แต่ถ้ากล่าวว่าคนนั้นบรรลุ ก็ไม่มีข้อพิสูจน์ได้ว่าถูกหรือผิด แต่ถ้ากล่าวถึงหนทาง ข้อปฏิบัติที่จะให้บรรลุ ยังสามารถที่จะพิจารณาได้ว่าถูกหรือผิดอย่างไร

    ถ. ผู้ที่บรรลุอริยสัจธรรมถูกห้ามโดยเด็ดขาดว่า ห้ามพูด อย่างนั้นหรือ

    สุ. ไม่ใช่ถูกห้าม ไม่มีใครจะไปห้าม ทำไมคิดว่าจะมีการห้าม

    ถ. สมัยที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ก็ยังตรัสกับ ท่านปัญจวัคคีย์ว่า เราบรรลุแล้ว เหมือนกับเป็นการสร้างศรัทธาให้กับผู้ฟัง ผมว่า ถ้าการประกาศนั้นไม่เป็นอกุศล ก็น่าจะประกาศได้

    สุ. ผู้ที่ประกาศ คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนพระอริยบุคคลท่านอื่นท่านประกาศหรือเปล่า แม้แต่ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ

    ถ. คือ ยกเว้นแต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ประกาศได้

    สุ. ด้วยเหตุผล คำใดที่ไม่มีประโยชน์ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ตรัส แม้ว่าเป็นคำจริง และในขณะเดียวกันก็ทรงบัญญัติเรื่องของ การกล่าวถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรมสำหรับผู้ที่เป็นภิกษุสงฆ์ด้วย

    ถ. ถ้าเป็นสำนัก หรือที่ใดๆ ถ้าที่นั่นมีพระอริยบุคคล ข้อธรรมต่างๆ จากที่นั่น ก็ควรจะเป็นข้อธรรมที่ตรงและถูกต้อง

    สุ. คงจะเป็นเหตุที่มีการกล่าวอ้างทุกหนทุกแห่งเลย ใช่ไหม เพื่อที่จะให้ คนอื่นเชื่อ แต่ก็ยังมีผู้ที่ไม่เชื่อ เพราะข้อปฏิบัตินั้นไม่สมควรที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ถ. ข้อปฏิบัติอย่างไร จะวัดได้อย่างไร

    สุ. เพราะฉะนั้น การกล่าวถึงข้อปฏิบัติจะไม่เป็นประโยชน์กว่าการที่จะกล่าวอวดอ้างว่าได้บรรลุหรือ เนื่องจากมีผู้ที่กล่าวอวดอ้างว่าได้บรรลุมากมายหลายแห่ง แต่ก็มีผู้ที่ไม่เชื่อ เพราะข้อปฏิบัตินั้นไม่สมควรแก่ผล แต่ถ้าเพียงกล่าวถึง ข้อปฏิบัติ จะดีกว่าการอวดอ้างถึงผลไหม ถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่สมบูรณ์ด้วยเหตุที่ถูกต้อง ผลที่ถูกต้องก็ย่อมเกิดได้ เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องกล่าวอ้างถึงผลเลย

    ผู้ฟัง ผมเห็นว่า ไม่สมควรที่จะกล่าว เพราะคนที่บรรลุพระอริยะ ถ้าพูดไป จะมีแต่ผลร้ายแก่ตัวเอง เป็นการถือตัวไปอีก

    สุ. สภาพธรรมเป็นจริงอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น การรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็เป็นการรู้แจ้งอริยสัจธรรม การไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมก็คงเป็นการไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ผู้ฟัง เพราะเป็นความจริงอยู่แล้ว

    สุ. เป็นความจริงอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าจะดีขึ้นเพราะคนอื่นเชื่อ

    ถ. พิจารณาที่เรา ไม่ต้องไปพิจารณาที่เขา ใช่ไหม

    สุ. สำหรับเรื่องอะไร

    ถ. เรื่องการเจริญวิปัสสนา คือ ระลึกที่ตัวเรา ไม่ต้องเอาเขามาเป็นเรา

    สุ. เป็นปกติ สังเกตได้เวลาที่เกิดอกุศลจิตขึ้น คิดถึงคนอื่นจึงเกิดอกุศลจิต เช่น โทสะ ถ้าท่านผู้ฟังเป็นผู้ประพฤติดี ท่านขับรถถูกต้องตามระเบียบวินัยทุกอย่าง ถูกกฎจราจร ไม่ใส่ใจในคนอื่น ไม่ว่าคนอื่นจะแซงซ้ายแซงขวา หรือจะขับรถอย่างไรก็ตามแต่ จิตของท่านปกติ เพราะท่านไม่ได้ระลึกถึงคนอื่น เพราะฉะนั้น โทสะจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่ระลึกถึงคนอื่น แต่ถึงแม้ว่าท่านเป็นผู้ที่ขับรถดีถูกต้องตามกฎทุกอย่าง แต่ยังมองคนอื่นที่ขับผิดกฎ จิตในขณะนั้นจะหวั่นไหวผิดปกติแล้ว เพราะดูโทษของคนอื่น

    เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิดจะรู้ได้จริงๆ ว่า ถ้าขณะนั้นเพียงใส่ใจในกิจของตน ถ้าเป็นทางโลกก็พิจารณาว่า ประพฤติธรรมสมควรแล้วหรือยัง ดังที่ได้กล่าวถึงแล้ว ถ้าเป็นผู้ที่ประพฤติธรรมสมควรแล้ว ก็ไม่มีเรื่องที่จะกังวลเดือดร้อนใจเพราะไม่ใส่ใจว่าคนอื่นทำไมไม่ประพฤติธรรมที่สมควร

    แต่ถ้าคิดถึงคนอื่นในขณะใด ขณะนั้นจะเป็นปัจจัยให้เกิดโทสะเป็นของที่แน่นอนที่สุด เพราะกังวลกับคนอื่น คนอื่นมีมานะ ทำไมคนอื่นแสดงอาการมานะอย่างนี้กับเรา ใช่ไหม ขณะนั้นจิตก็หวั่นไหว เป็นอกุศลอีก แต่ถ้าสติระลึกได้ในขณะนี้ สติของตนเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏหรือเปล่า ไม่ใส่ใจถึงคนอื่น ขณะนั้นจะไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อนใจด้วยอกุศลใดๆ ทั้งสิ้น

    เช่นเดียวกัน ในการเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ก็เพื่อประโยชน์ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทั้งตนเองและผู้อื่นด้วย

    อย่างคำถามที่ว่า ให้พิจารณาตน คือ ให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่เกิดในขณะนั้น ซึ่งเป็นสภาพธรรมแต่ละประเภท ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานมีประโยชน์มาก จำปรารถนาในที่ทั้งปวง แม้สติขั้นอื่นก็มีประโยชน์ที่จะรู้ว่า ขณะนี้โทสะเกิดเพราะอะไร เพราะใส่ใจในคนอื่น แต่ถ้าเลิก ใส่ใจในคนอื่นขณะใดทันที ในขณะนั้นจะรู้สึกถึงความสบาย ความเบา ความ ไม่เดือดร้อน เพราะขณะนั้นตนเองเป็นผู้ที่ได้กระทำกิจของตนถูกต้อง เพราะฉะนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของใครสักคนหนึ่งที่จะไปจัดการกับคนอื่นได้ เพราะทุกคนต้องรับผิดชอบ หรือปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะขัดเกลากิเลสของตนเองเท่านั้น

    ถ้ามีหน้าที่ที่จะต้องกระทำเกี่ยวข้องกับคนอื่น ก็กระทำเท่าที่สามารถจะกระทำได้ และไม่ใส่ใจจนกระทั่งเกิดโทสะหรืออกุศล เพราะถ้าใส่ใจในคนอื่น จะต้องมีอกุศลเพิ่มขึ้นอีกทันที เพราะอกุศลของตนเองก็มี และยังเป็นอกุศลของคนอื่นเพิ่มขึ้นมาอีก ใช่ไหม เมื่ออกุศลของตนเองมี จึงเดือดร้อนเมื่อเห็นอกุศลของคนอื่น เพราะฉะนั้น ก็บวกไปบวกมาหลายเท่า เพิ่มไปเพิ่มมาอยู่เรื่อยๆ

    ถ. ยกตัวอย่าง พระ ก กับพระ ข ข้อปฏิบัติของทั้งสองรูป ฟังดูแล้ว เป็นเรื่องในพระไตรปิฎก ในอรรถกถาทั้งหมดเลย ถ้าเราไม่รู้เราก็ศึกษาไป เพราะปัญญาอย่างเรายังไม่สามารถจะวินิจฉัยได้ว่าพระ ก หรือพระ ข จะมีข้อธรรม ข้อประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง ยกตัวอย่างเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ทั้งสองรูปปฏิบัติใกล้เคียงกันมาก แต่เราก็ไม่ทราบว่าของใครถูก ปัญญาอย่างเราวินิจฉัยยังไม่ได้ แต่ถ้าพระ ก หรือพระ ข ประกาศออกมาว่า ตนเป็นผู้บรรลุ และบรรลุจริงๆ ไม่ใช่อวดอุตริมนุสธรรม ผมว่ามีประโยชน์ ผมยังยืนยันว่า มีประโยชน์

    สุ. สติปัฏฐานเป็นของพระ ก หรือของพระ ข อย่างนั้นหรือ

    ถ. ไม่ใช่ เป็นของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ข้อวัตรปฏิบัติที่เห็น เราวินิจฉัยไม่ได้ เนื่องจากใกล้เคียงกันมาก

    สุ. ถ้าเอาพระ ก พระ ข ออก และวินิจฉัยเฉพาะข้อปฏิบัติ ได้ไหม

    ถ. ถ้าปัญญาเราถึง คิดว่าได้ แต่ปัญญาเรายังไม่ถึง ก็วินิจฉัยไม่ได้

    สุ. ถ้าปัญญาเราไม่ถึง เราจะเชื่อผิดได้ไหม

    ถ. ได้แน่นอน

    สุ. เพราะฉะนั้น อาจจะเชื่อคนที่ไม่บรรลุว่าบรรลุก็ได้ ใช่ไหม

    ถ. ผมตั้งสมมติฐานแล้วว่า รูปใดรูปหนึ่งบรรลุจริง

    สุ. ถ้าปัญญาไม่ถึง อาจจะเชื่อผิดได้ไหม

    ถ. เราอาจจะเชื่อผิด แต่ถ้าพูดออกมา เพราะถ้าเป็นพระอริยบุคคลคงจะไม่โกหก ถ้าได้ประกาศออกมา ผมว่าน่าจะประกาศได้

    สุ. อย่าลืม สติปัญญาเป็นของท่านผู้ฟังส่วนหนึ่ง สติปัญญาของพระ ก ก็เป็นของพระ ก ของพระ ข ก็เป็นของพระ ข เพราะฉะนั้น เมื่อพระ ก มีสติปัญญาซึ่งเป็นของพระ ก และสติปัญญาของท่านผู้ฟังก็ยังไม่เข้าใจสติปัญญาของพระ ก การวินิจฉัยของท่านผู้ฟังย่อมคลาดเคลื่อนได้ แม้ว่าพระ ก จะบอก เพราะฉะนั้น จะมีประโยชน์อะไรที่พระ ก จะบอก หรือไม่บอก

    ถ. ถ้าบอก อย่างน้อยที่สุดเราทำบุญกับพระอริยบุคคลก็ได้บุญมาก

    สุ. ถ้ายังไม่เชื่อ ซึ่งเป็นไปได้ที่จะไม่เชื่อ เพราะสติปัญญายังไม่ถึง เมื่อสติปัญญายังไม่ถึง ย่อมทำให้เชื่อหรือไม่เชื่อในสิ่งที่ไม่ควรเชื่อหรือควรเชื่อได้

    ถ. พระปัญจวัคคีย์คงจะเชื่อเลื่อมใสแล้วจึงฟัง ไม่อย่างนั้นคงจะไม่ยอมฟัง

    สุ. การที่เชื่อแล้วฟัง กับการที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้วเชื่อ ต่างกัน

    ถ. ต่างกันแน่นอน ส่วนหลังนี่เป็นการบรรลุด้วย

    สุ. เมื่อบรรลุแล้ว จึงเป็นความเชื่อที่ไม่หวั่นไหว แต่ก่อนนั้นต่อให้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ทรงรู้แจ้งพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ความเชื่อของพระปัญจวัคคีย์ก็ยังหวั่นไหว ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วยตนเอง

    ถ. เป็นอย่างนั้นแน่นอน

    สุ. เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็ยังหวั่นไหวได้

    ถ. หวั่นไหวแน่นอน

    สุ. ไม่ว่าใครจะบอกว่าอย่างไร ก็ยังหวั่นไหวได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๗ ตอนที่ ๑๓๖๑ – ๑๓๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 89
    28 ธ.ค. 2564