นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺสพุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิสงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๒๐ สิงหาาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ สารสูตร
(ว่าด้วย ปัญญินทรีย์เป็นยอดแห่งบทธรรม)
และ
ปติฏฐิตสูตร
(ว่าด้วยธรรมอันเอก)
...จาก...
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ หน้า ๙๒ - ๙๔
(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันอาทิตย์ที่ ๖ มี.ค. ๒๕๕๔)
...นำสนทนาโดย...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากร
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ หน้า ๙๒ - ๙๔
สารสูตร
(ว่าด้วยปัญญินทรีย์เป็นยอดแห่งบทธรรม)
[๑๐๔๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รอยเท้าของสัตว์ผู้เที่ยวไปบนพื้นแผ่นดิน ชนิดใดชนิดหนึ่ง รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมรวมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้าง ชาวโลกกล่าวว่าเป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น เพราะเป็นรอยใหญ่ แม้ฉันใด บทแห่งธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ บท คือ ปัญญินทรีย์ เรากล่าวว่าเป็นยอดของบทแห่งธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน.
[๑๐๔๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม้มีกลิ่นที่แก่นชนิดใดชนิดหนึ่ง จันทน์แดง ชาวโลกกล่าวว่าเป็นยอดของไม้เหล่านั้น แม้ฉันใด โพธิปักขิยธรรม เหล่าใด เหล่าหนึ่ง ปัญญินทรีย์ เรากล่าวว่าเป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน.
[๑๐๔๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็โพธิปักขิยธรรมเป็นไฉน? คือ สัทธินทรีย์...วิริยินทรีย์... สตินทรีย์... สมาธินทรีย์... ปัญญินทรีย์ เป็นโพธิปักขิยธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้.
[๑๐๔๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม้มีกลิ่นที่แก่นชนิดใดชนิดหนึ่ง จันทน์แดง ชาวโลกกล่าวว่าเป็นยอดของไม้เหล่านั้น แม้ฉันใด โพธิปักขิยธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปัญญินทรีย์ เรากล่าวว่าเป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้น เหมือนกัน.
จบสารสูตรที่ ๕.
ปติฏฐิตสูตร
(ว่าด้วยธรรมอันเอก)
[๑๐๔๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ เป็นอันภิกษุผู้ตั้งอยู่ในธรรมอันเอกเจริญแล้ว เจริญดีแล้ว ธรรมอันเอกเป็นไฉน? คือ ความไม่ประมาท.
[๑๐๔๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ความไม่ประมาทเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมรักษาจิตไว้ในอาสวะและธรรมที่มีอาสวะ เมื่อเธอรักษาจิตไว้ในอาสวะและธรรมที่มีอาสวะ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ แม้ปัญญินทรีย์ ก็ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์.
[๑๐๔๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ เป็นอันภิกษุผู้ตั้งอยู่ในธรรมอันเอกเจริญแล้ว เจริญดีแล้ว แม้ด้วยประการฉะนี้แล.
จบปติฏฐิตสูตรที่ ๖.
อรรถกถาปติฏฐิสูตร
ใน ปติฏฐิตสูตรที่ ๖ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ .- คำว่า ย่อมรักษาจิตไว้ในอาสวะและธรรมที่มีอาสวะ คือ ผู้ปรารภธรรมที่เป็นไปในสามภูมิแล้ว ห้ามการเกิดขึ้นแห่งอาสวะ ชื่อว่าย่อมรักษาในสิ่งที่เป็นอาสวะและที่ประกอบด้วยอาสวะ.
จบอรรถกถา ปติฏฐิตสูตรที่ ๖.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ข้อความโดยสรุป สารสูตร
(ว่าด้วยปัญญินทรีย์เป็นยอดแห่งบทธรรม)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมด้วยอุปมาโวหาร ว่า ปัญญินทรีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโพธิปักขิยธรรม อันเป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ นั้น เป็นเลิศกว่าโพธิปักขิยธรรม๔ ที่เหลือ คือ เป็นเลิศกว่า สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ และ สมาธินทรีย์
เปรียบเหมือน รอยเท้าช้าง ใหญ่กว่ารอยเท้าสัตว์ทั้งปวง และ เปรียบเหมือนแก่นจันทร์แดง เป็นแก่นไม้มีกลิ่นหอมที่เลิศกว่าไม้มีแก่นทั้งปวง. ------------------------------------------------ ข้อความโดยสรุป ปติฏฐิตสูตร
(ว่าด้วยธรรมอันเอก) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรมเอก(คือ ธรรมอย่างหนึ่ง) ได้แก่ความไม่ประมาท ซึ่งหมายถึง การรักษาจิตไม่ให้เป็นอกุศล ไม่ให้เป็นไปกับด้วยอาสวะ ก็ย่อมเป็นผู้อบรมเจริญอินทรีย์ ๕ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์ ให้เจริญบริบูรณ์ได้. ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ ครับ การเจริญอินทรีย์ อินทรีย์ ๕ อินทรีย์ 5 กับ พละ 5 ความเกี่ยวข้องของ ศรัทธาเป็นเพื่อนสอง และ ความไม่ประมาท [สัทธาสูตร] ฟังเพื่อประโยชน์...ไม่ประมาท มีใครรู้ได้ว่าจะตายเมื่อไหร่ ..เป็นผู้ไม่ประมาท หมั่นศึกษาพระธรรม
เป็นผู้ไม่ประมาท ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา อนุสัย และ อาสวะ ต่างกันอย่างไร ความเข้าใจพระธรรมเป็นสาระสำคัญที่สุดในชีวิต ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...