ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ไปสนทนาธรรมที่ไร่ศิริสัมพันธ์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ๑๖-๑๗ พ.ย.๒๕๖๖

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  17 พ.ย. 2566
หมายเลข  46981
อ่าน  1,261

เมื่อวันที่ ๑๖ - ๑๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และคณะอาจารย์ มศพ. ได้รับเชิญจาก คุณ พงศ์พิลาส โชติกเสถียร สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ลำดับที่ ๔๒๖๔ เพื่อไปสนทนาธรรม ที่ ไร่ศิริสัมพันธ์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

ข้อความบางตอนจากการสนทนา :

อ.วิชัย : ท่านอาจารย์กล่าวเมื่อสักครู่นี้ว่า สิ่งที่ปรากฏขณะนี้ บุคคลผู้ไม่รู้ ไม่สามารถรู้ได้ ด้วยตนเอง และที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงว่า การศึกษาพระธรรมก็ต้อง โดยละเอียด โดยรอบคอบ และไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว

การที่จะฟังความเป็นจริงแล้วคิดไตร่ตรองให้ละเอียดขึ้น การคิดไตร่ตรองที่ละเอียดขึ้น ที่จะเป็นความคิดที่ถูกต้อง ที่จะไม่เป็นการ "คิดเอง" คืออย่างไรครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์ : ฟังคำเดียว พอไหม?

อ.วิชัย : ไม่พอครับ

ท่านอาจารย์ : ค่ะ ฟังคำเดียว ก็รู้คำเดียว แล้วรู้ไม่ทั่วด้วย เพราะฉะนั้น จึงต้องฟังอีก ทุกคำ เพราะว่าทุกคำมีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะเป็นความจริงทั้งหมดที่ได้ฟังทุกคำ เพราะฉะนั้น ตอนนี้ วันนี้ แค่นี้ มั่นใจหรือยัง ว่ามีเพียงสิ่งเดียวที่ปรากฏให้เห็นได้ และสิ่งนั้นต้องกระทบตาด้วย ถ้าไม่กระทบตา "เห็น" เกิดไม่ได้

เพราะฉะนั้น "เห็น" ไม่ใช่ "ตา" ไม่ใช่ "สิ่งที่กระทบตา" ... กว่าจะรู้ ... ทีละอย่าง..พร้อมกัน ได้ไหม? และ "ทีละอย่าง" ลึกซึ้งมาก อย่าง "ตา" ไม่มีทางที่จะเห็นได้ เพราะไม่ใช่สีสันวรรณะ แต่เป็น "รูป" ที่สามารถ "กระทบ" กับ "สิ่งที่ปรากฏ" ใช้คำว่า "จักขุปสาท" เห็นไหม ไม่ใช่ใช้คำว่า คนหรืออะไรต่ออะไร หรือ ตาของใคร หรือ หูของใคร นี่คือ "เรียน" เพื่อ "รู้จักธรรม"

แต่ก่อนนี้ "เป็นเรา-เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด" แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรม ก็รู้ว่า สิ่งที่เคยเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด "ทั้งหมดเป็นธรรม" แต่ละหนึ่ง

อ.วิชัย : กราบท่านอาจารย์ครับ หมายความว่า การคิดละเอียดขึ้น ก็คือ คิดในคำที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว ไม่ได้คิดเรื่องอื่นที่ตัวเองคิด

ท่านอาจารย์ : คิดเรื่องอื่นที่คิด เป็นประโยชน์อะไร? เพราะไม่รู้!! แล้วจะไปคิดทำไม?

อ.วิชัย : แต่ปกติก็จะชำนาญในการคิด ด้วยความรู้ความเข้าใจผิด ของตนเอง

ท่านอาจารย์ : เพราะฉะนั้น ฟังใคร? ทุกคำ เตือนให้คิดทุกคำ แล้วแต่ว่า เราจะคิดลึกซึ้งแค่ไหน? ฟังคำของใครด้วย!! ถ้าคนอื่นบอกว่า ไปปฏิบัติธรรม!! ถ้าเราไม่เคยฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เชื่อ ใช่ไหม? ไป ใช่ไหม? ปฏิบัติ ใช่ไหม? แล้ว พระพุทธเจ้า ตรัสว่าอย่างไร? ไม่รู้เลย!! จะถูกได้ไหม? ตรงไหม?

คุณภาคิน : ตรงครับ อาจารย์ ผมถามอาจารย์นิดหนึ่งว่า พระพุทธเจ้า ยุคของท่านก็สองพันห้าร้อยกว่าปีที่แล้ว ตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่ มันมีทั้งเรื่องของ ข้อมูลที่ตรง แล้วก็ไม่ตรง ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ : รู้ได้อย่างไร?

คุณภาคิน : (คิดอยู่นาน)

ท่านอาจารย์ : รู้เอง โดยไม่ต้องฟังคำของพระพุทธเจ้าหรือ?

คุณภาคิน : อย่างในพระไตรปิฎก บางอย่าง ดูไม่สมเหตุสมผล อย่างนี้ แต่ตัวของอาจารย์เอง ยืนยันว่าไม่มีอะไรผิดพลาด ใช่ไหม? หมายถึงว่า..

ท่านอาจารย์ : คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะผิด จะพลาด หรือ? ไม่รู้จักพระพุทธเจ้า อีกแล้ว!!

คุณภาคิน : แต่มันมีคนเขียนนะครับอาจารย์ มีคนเขียนในพระไตรปิฎก มีคนเขียน ซึ่งไม่ใช่พระพุทธเจ้า

ท่านอาจารย์ : แล้วเขียนว่าอย่างไร?

คุณภาคิน : อ่า..ต้องยกประโยคเลยใช่ไหมครับอาจารย์

ท่านอาจารย์ : ไม่ใช่ค่ะ ที่ว่า เขาเขียนว่าอย่างไร? จะได้รู้ว่า ใครเขียน? แล้วเขียนว่าอย่างไร? เป็นคำของพระพุทธเจ้าหรือเปล่า? ถูกหรือผิดประการใด?

คุณภาคิน : ต้องเอามาถามเป็นประโยคตรงนั้นไป? ที่เรารู้สึกว่ามีคำถาม ใช่ไหม?

ท่านอาจารย์ : ถ้าเขาบอกว่า "เห็น" นี่เป็นธรรมดา ไม่ต้องรู้หรอก ไปรู้ ปฏิจจสมุปปาท ดีกว่า เชื่อไหม?

คุณภาคิน : ถ้าตอนนี้ คงไม่เชื่อเลยครับอาจารย์

ท่านอาจารย์ : ถ้ารู้คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว แต่ถ้ายังไม่รู้เลย ก็เชื่อ!!

คุณภาคิน : ใช่

ท่านอาจารย์ : เพราะฉะนั้น จึงต้อง "ไตร่ตรอง" ด้วยความ "แยบคาย" ด้วยความ "ละเอียด" ด้วยความ "ลึกซึ้ง" ขาดไม่ได้เลย เพราะลึกซึ้งอย่างยิ่ง เดี๋วนี้น่ะ!! คิดดูสิ เพียง "ขณะเดียวที่เห็น" จะเป็นอะไรได้ไหม? แล้วมี "ได้ยิน" ด้วย!! แต่ "ได้ยิน" ก็ไม่ใช่ "เห็น"

คุณภาคิน : ใช่ครับ

ท่านอาจารย์ : แล้วรู้ได้อย่างไรว่าต่างกัน? ในเมื่อกำลังเห็น!! สว่างออกอย่างนี้!! ถูก หรือ ผิด? ปรากฏตามความเป็นจริง หรือเปล่า? นี่คือความลึกซึ้งของการตรัสรู้ความจริง ถึงที่สุด โดยประการทั้งปวง!! ละเอียดกว่านี้ เพิ่มขึ้นๆ ๆ

นี่คือ "ปริยัติ-รอบรู้ในพระพุทธพจน์" คือ เข้าใจถูกต้อง!!

คุณภาคิน : ครับ อย่างอันนี้ก็ถามตรงๆ อย่างเช่น มันมีบางพระสูตร ที่ดูมหัศจรรย์ไปนิดหนึ่ง บางพระสูตรที่พระพุทธเจ้าจะเสียชีวิต จะสิ้นพระชนม์ นิพพาน แล้วก็เหมือนกับว่า อานนท์ก็มาถาม มาทูลขอ แล้วก็เหมือนท่านก็มีการกล่าวว่า อานนท์ เธอทูลขอฉันไม่ครบ ๓ ครั้ง ไม่อย่างนั้นฉันจะอยู่ช่วยกับเธออีกหนึ่งกัป อาจารย์เคยได้ยินพระสูตรนี้ไหมครับ?

ท่านอาจารย์ : แล้วเรารู้ความหมายของคำทั้งหมดนั้น ที่ท่านสนทนากันหรือเปล่า?

คุณภาคิน : ก็ไม่ได้ลงละเอียด แต่แค่มองว่า หนึ่งกัป นี่มันยาวนานมาก

ท่านอาจารย์ : ค่ะ แล้วจริงไหม? หรือ "เกิดขณะเดียว"

คุณภาคิน : อะไรนะครับ?

ท่านอาจารย์ : จริงไหม? ที่ว่า ยาวนาน อายุเท่าไหร่กันคะนี่?

คุณภาคิน : ห้าสิบ หกสิบ เจ็ดสิบ นั่งอยู่แถวนี้

ท่านอาจารย์ : เท่านั้นเองหรือคะ? อยู่มาตั้งแสนโกฏิกัปป์ อายุแค่นี้เอง? เพราะฉะนั้น ถ้าเรา "คิดเอง" เราไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียงแค่ตระหนัก สำนึกอย่างนี้!! เราจะไม่ประมาท แต่ถ้าใครบอกว่า ไม่ต้องศึกษา ปฏิบัติธรรมเลย รู้จักพระพุทธเจ้าหรือเปล่า? พระองค์ทรงแสดงพระธรรม งามในความเป็นจริง ถึงที่สุด ๓ รอบ ๓ ระดับ ถ้าไม่มี "เบื้องต้น" จะสามารถ "ถึงที่สุด" คือ "การประจักษแจ้ง" ได้ไหม? ที่เรากำลังพูดว่า "ขณะนี้ เห็น เกิด-ดับ"

คุณภาคิน : ครับ ถามต่อเลยได้ไหมครับ

ท่านอาจารย์ : ไม่มีอะไรจะถามหรือคะ? มีไหม? เชิญเลยค่ะ

คุณภาคิน : มีครับ เผื่อ พรุ่งนี้ก็ไม่เที่ยงนะครับ อาจจะมาไม่ได้

ท่านอาจารย์ : อะไรคะ พรุ่งนี้ไม่เที่ยง?

คุณภาคิน : อยากจะถามขั้นตอนอาจารย์นิดหนึ่งว่า ย่อๆ ก็ได้

ท่านอาจารย์ : เดี๋ยวก่อนค่ะ อาจจะมาไม่ได้ นี่ถูก ใครจะรู้ ใช่ไหม?

คุณภาคิน : ใช่ๆ

ท่านอาจารย์ : หมายความว่า?

คุณภาคิน : หมายความว่า?

ท่านอาจารย์ : นี่สิคะ อาจจะมาไม่ได้!! ถูก ไม่ผิด แต่..หมายความว่าอะไร?

คุณภาคิน : ก็หมายความว่าอาจจะมาไม่ได้

ท่านอาจารย์ : ไม่ใช่ค่ะ อะไรเกิดขึ้น? อะไร เป็นอะไร? เห็นไหม? ไม่รู้!! แต่เพียงว่า "พรุ่งนี้อาจจะมาไม่ได้" แต่ "อะไรล่ะ?" ที่มาไม่ได้!!

คุณภาคิน : เพราะติดภารกิจ

ท่านอาจารย์ : ไม่ใช่!! เห็นไหม? ไม่ได้เข้าใจธรรม!!

คุณภาคิน : ถ้าเข้าใจธรรม ต้องตอบอย่างไรครับ?

ท่านอาจารย์ : ไม่ใช่ต้องตอบค่ะ พิจารณา ไตร่ตรองว่า มีคุณภาคินหรือเปล่า?

คุณภาคิน : มีคุณภาคินไหม? ไม่มี

ท่านอาจารย์ : มีอะไร?

คุณภาคิน : อ่า..มีแค่ธาตุ

ท่านอาจารย์ : ธาตุ กับ ธรรม เหมือนกันไหม?

คุณภาคิน : ใช่ครับ

ท่านอาจารย์ : เหมือนอย่างไร?

คุณภาคิน : ธาตุก็คือสิ่งหนึ่งที่เป็นความจริง ธรรมก็คือความจริง

ท่านอาจารย์ : เหมือนกัน มีลักษณะเฉพาะ ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้

คุณภาคิน : มีลักษณะเฉพาะ ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ใช่ครับ

ท่านอาจารย์ : ต้องดำรงซึ่งสภาพนั้นเท่านั้น เป็นอย่างนั้นเท่านั้น

คุณภาคิน : ใช่ครับ

ท่านอาจารย์ : เพราะฉะนั้น ธาตุอะไร? ที่จะมาไม่ได้? ไม่ใช่คุณภาคินนะ

คุณภาคิน : ใช่ มีธาตุบางอย่างที่มาไม่ได้ (หัวเราะ) อาจจะมาไม่ได้

ท่านอาจารย์ : แปลว่า ยังไม่รู้จักธาตุ!! จึงตอบว่า ธาตุบางอย่าง

คุณภาคิน : อืมม..ตายละ ถ้าฟัง ๗ วัน จะจบคอร์สไหม?

ท่านอาจารย์ : เห็นไหม? คำตอบมี ในพระพุทธศาสนา ในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

คุณภาคิน : จริงๆ ว่าจะมีคำถาม แต่ไม่กล้าถามแล้ว คือ อาจารย์ครับ ประสบการณ์อาจารย์นี่ ศึกษา แล้วก็ถ่ายทอดมาเป็นเวลา สี่สิบ ห้าสิบปี เป็นอย่างต่ำ ใช่ไหม ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ใช่ไหม อาจารย์ย่อสั้นๆ ถ้าง่ายๆ หนึ่ง สอง สาม นี่ จนเราเข้าใจ เห็นสัจจะ ความเป็นจริงนี่ คำว่า ย่อสั้นๆ นี่คืออะไรครับ ขั้นตอน

ท่านอาจารย์ : ต้องการให้พูดนานเท่าไหร่?

คุณภาคิน : สามนาที

ท่านอาจารย์ : พระพุทธเจ้าแสดงพระธรรม นานเท่าไหร่?

คุณภาคิน : ๔๕ พรรษา

ท่านอาจารย์ : แล้วทำไมดิฉันจะพูด ๓ นาที พูดเรื่องอะไร?

คุณภาคิน : ทำไม่ได้ใช่ไหม? (หัวเราะ)

ท่านอาจารย์ : จะไม่รู้เรื่องค่ะ

คุณภาคิน : ไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ) ไม่น่ามีคำถามแล้วอาจารย์ เพราะรู้สึกว่า เรายังอ่อนมาก

ท่านอาจารย์ : เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ที่รู้ว่าไม่รู้ เพราะน้อยคน ที่จะรู้ว่าไม่รู้!! อย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เขาคิดเอง แต่เขาไม่รู้ว่า ไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ แต่เป็นความคิดของเราเท่านั้น เช่น พรุ่งนี้อาจจะมาไม่ได้!! แต่..อะไรล่ะ? "เรา" เต็มตัว!! แล้วมีเราหรือเปล่า? ถ้าไม่ใช่เรา อะไร?

คุณภาคิน : เหตุปัจจัย

ท่านอาจารย์ : อะไร?

คุณภาคิน : ธรรม

ท่านอาจารย์ : อะไร? มีคำถามอยู่คำเดียวว่า อะไร? เพราะฉะนั้น มี ก็ไม่รู้!! จนกว่าจะฟังคำพระพุทธเจ้า เริ่มรู้ เพราะมีจริงๆ ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย ไม่ต้องไปถามใคร จะเข้าใจเมื่อถามคนอื่น หรือเมื่อไตร่ตรองเอง?

คุณภาคิน : ไตร่ตรองเองครับ

ท่านอาจารย์ : แล้วเริ่มไตร่ตรองเองหรือยัง?

คุณภาคิน : ก็คงต้องเริ่มแล้วครับอาจารย์ แต่ว่าคิดว่า แค่หนึ่งชั่วโมงครึ่งนี่คงเป็นการเริ่มต้น

ท่านอาจารย์ : เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ เริ่มไตร่ตรองคำที่ได้ฟัง อย่าผ่านไปง่ายๆ อย่าคิดว่าเข้าใจแล้ว!! จนกระทั่ง เข้าใจขึ้น มั่นคงขึ้น ทีละเล็ก ทีละน้อย ว่า "ไม่มีเรา" พอไหม? แค่นี้

คุณภาคิน : ถ้าปฏิบัติได้นะครับอาจารย์

ท่านอาจารย์ : ไม่ใช่อย่างนั้น พอไหม? แค่นี้

คุณภาคิน : จริงๆ แค่นี้พอครับ

ท่านอาจารย์ : ไม่มีเรานี่ แค่นี้พอไหม?

คุณภาคิน : แค่นี้พอครับ

ท่านอาจารย์ : งั้นก็ไม่ต้องฟังต่อ

คุณภาคิน : คำว่าแค่นี้พอ คือ ถ้าเราทำได้จริงอย่างที่ จับทีละคำมา..

ท่านอาจารย์ : ไม่มีใครพูดว่า ถ้าเรา ... ถ้าเรา..ทำได้จริง นั่นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า!! เริ่มละเอียด ที่จะรู้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า ธรรมมีจริง ธรรมทั้งหลาย เกิดขึ้นและดับไป เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา แล้วยังเป็นเรา พรุ่งนี้จะมาหรือไม่มานี่

คุณภาคิน : ขออนุญาตถามอาจารย์ ถ้าเป็นการกล่าวที่เหมาะสมของผู้มีปัญญา จะต้องกล่าวอย่างไรครับอาจารย์

ท่านอาจารย์ : ไม่มีใครรู้ ว่าใครจะมา หรือไม่มา ใครรู้บ้าง? เห็นไหม? สิ่งใดที่ยังไม่เกิด จะรู้ได้อย่างไร? ว่าอะไรจะเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น เดี๋ยวนี้เห็น ขณะต่อจากนี้เป็นอะไร? จะเป็น "คิด" หรือจะเป็น "ได้ยิน" หรือจะเป็นอะไร ไม่มีทางรู้ได้ เพราะยังไม่เกิด เพราะฉะนั้น ไปพยายามทำให้รู้ สิ่งที่ยังไม่เกิด ถูกหรือผิด?

คุณภาคิน : ผิด

ท่านอาจารย์ : ผิด เพราะยังไม่เกิด ไปทำ ทำไม? ในเมื่อ ทำไม่ได้!! แต่ "สิ่งที่เกิดแล้ว" ไม่รู้!! แล้วไม่คิดจะรู้ ไปพยายามทำให้รู้นี่ ผิดไหม?

คุณภาคิน : ผิด!!

ท่านอาจารย์ : นั่นน่ะค่ะ สัจจะ!! แล้วก็เริ่มเป็น "สัจจบารมี" เมื่อไม่เปลี่ยน เมื่อมั่นคง ในความเป็นอนัตตา มิฉะนั้นแล้ว จะไม่มีคำว่า "บารมี" เลย ต้อง "มั่นคง" จึงสามารถที่จะรู้ความจริงว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ความจริง ของสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้!! เพราะฉะนั้น เริ่มเข้าใจ "สิ่งที่กำลังมี" แล้วก็จะรู้ต้วเอง รู้แค่ไหน? กำลังมีเดี๋ยวนี้!!

เพราะฉะนั้น ฟังยังไม่พอค่ะ เห็นความห่างไกลกันมาก กับคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับ ผู้ที่เพิ่งเริ่มจะฟัง หรือแม้ผู้ที่ฟังแล้ว ก็ต้องมีปัญญา ๓ ระดับ ฟังจนรอบรู้ในพระพุทธพจน์ ทุกคำสอดคล้องกันหมด!! เพราะเป็นความจริงที่ เปลี่ยนไม่ได้!! ไม่ได้เลย!! มั่นคงไหม?

คุณภาคิน : มั่นคงครับ

ท่านอาจารย์ : ในความจริง ใช่ไหม?

คุณภาคิน : ใช่ครับ

ท่านอาจารย์ : เป็น "อธิษฐานบารมี" เพราะฉะนั้น มีแต่บารมีๆ แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่? ขณะที่เข้าใจนี้แหละ เป็นปัญญาบารมี แล้วก็รู้ด้วย ว่าถ้ากิเลสเกิดทั้งวัน ไม่เข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ฟังต่อไป ไม่ละเอียดต่อไป ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้ง "ประจักษ์แจ้ง" ความจริง อย่างที่พระองค์ทรงแสดง

จึงเริ่มรู้คุณของ "กุศลธรรม" แม้เพียงเล็กน้อย เพราะว่าขณะนั้นที่กุศลเกิด อกุศลเกิดไม่ได้ ค่อยๆ ทำให้อกุศลลดน้อยลง ก็ไม่ละเลยโอกาสของกุศล แม้เพียงเล็กน้อย "วิริยะบารมี" เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจด้วย ทำไมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรื่องบารมี เพราะกว่าจะรู้ความจริง ถึงขั้น "ประจักษ์แจ้ง" สิ่งที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้และทรงแสดง หนทางเดียว คือต้องเป็น "ความเข้าใจ" ใน "สิ่งที่กำลังปรากฏ!!" กำกับไว้ด้วย

ไปรู้อะไรมามากมาย แต่ว่า ไม่รู้ ไม่ "ประจักษ์ความจริง" ของ "สิ่งที่กำลังปรากฏ" ก็ยังละกิเลส ละความไมรู้ ความติดข้อง ในความเป็นเรา และในความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ได้ จริงไหม? เท่านั้นแหละ!!

คุณภาคิน : จริงครับ

ท่านอาจารย์ : ถ้าจริง ก็ค่อยๆ เป็น "สัจจบารมี"

คุณภาคิน : อาจารย์ แล้วอย่างนี้ ในเรื่องของ ถ้าเผื่อเรามีความรู้เรื่องอะไรนะที่ถามไป เรื่องของคำที่บอกว่า อินทรีย์ ๕ อะไรอย่างนี้ เราต้องวางก่อนไหม? แล้วกลับมาเพื่อถามตรงนี้ก่อน

ท่านอาจารย์ : เราอีกแล้ว!! เราจะทำ อีกแล้ว!! มีเรา หรือเปล่า? แต่มี "ปัญญา" จากการ "ฟังและไตร่ตรอง" ที่จะนำทางไปสู่การที่จะเข้าใจขึ้น ไม่ต้องถามใคร

คุณภาคิน : สิ่งเหล่านี้ จำเป็นต้องเอามาใช้ในการปฏิบัติ

ท่านอาจารย์ : เอามาใช้ อีกแล้ว!! "เข้าใจ" เท่านั้น!! ไม่มีเรา แต่มี ปัญญา กับมี ความไม่รู้

คุณภาคิน : อะไรนะครับ ขออีกทีครับ

ท่านอาจารย์ : ไม่มีเรา ใช่ไหม แต่มีปัญญา ความเห็นถูก กับ ความไม่รู้ ต่างกันมาก

คุณภาคิน : มีปัญญา ความเห็นถูก

ท่านอาจารย์ : กว่าจะมีได้ ต้องรู้ว่า มีได้อย่างไร? ถ้าไม่ฟังคำของพระพุทธเจ้า ไปคิดเองสิคะ จนตาย ก็ไม่รู้!! กี่ชาติ กี่ชาติ ก็ไม่รู้!! แต่..ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เริ่ม..เข้าใจ ... ใช่ไหม?

คุณภาคิน : ใช่ครับ

ท่านอาจารย์ : เพราะฉะนั้น เข้าใจ คือ เริ่มรู้ว่า "เป็นธรรม" ตรงกับทุกคำที่พระองค์ตรัสไหม?

คุณภาคิน : ตรงครับ

ท่านอาจารย์ : ค่ะ ไม่ว่าจะตรัสเรื่อง "ธาตุ" ไม่ว่าจะตรัสเรื่อง อริยสัจจ์ อายตนะ ขันธ์ หรืออะไรก็ตาม ทั้งหมดคือสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น!! เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง

คุณภาคิน : แต่บางที ที่เขามีถ่ายทอดว่า บางที แม้พระพุทธเจ้าเอง ก็ต้องเอา ขันธ์ ๕ ตัวท่าน มาสอน หรือว่า บางที แล้วเราจะสอนแต่ปริยัติ ปรมัตถสัจจะ บางทีฟังอาจจะงงๆ อย่างนี้ บางที การสอนมันก็ต้อง ตัวเขา ตัวเรา เพื่อแค่เป็นการสอนเปรียบเทียบให้ง่ายขึ้น อันนี้อาจารย์เข้าใจคำถามไหมครับ บางคนเขาก็นำมาใช้

ท่านอาจารย์ : สอนเรื่องอะไร?

คุณภาคิน : เรื่องอย่างนี้แหละ เรื่องการไม่ยึดมั่น ถือมั่น แต่บางที มันก็จะมีการพูดที่จะมีหลุดมาบ้าง หรือว่า แต่เขาก็รู้กัน ว่าไม่ใช่ตัวเขา ของเขา แต่เขาก็มี เพราะว่า เดี๋ยวคนฟังเขาไม่รู้เรื่อง อย่างนี้ครับ

ท่านอาจารย์ : คนฟังไม่รู้เรื่อง? คนพูด รู้เรื่องไหม?

คุณภาคิน : ... ไม่แน่ใจ ...

ท่านอาจารย์ : เพราะฉะนั้น เราก็ต้องตรง พูดธรรมได้ แต่ในขณะเดียวกัน ต้องพิจารณาว่า ถูกหรือผิด!! เพราะ ความเห็น มี ๒ อย่าง ความเห็นผิด ก็มี ความเห็นถูก ก็มี แต่ถ้าไม่พูด จะรู้หรือ ว่า ความเห็นไหนถูก ความเห็นไหนผิด!! เพราะฉะนั้น จึงมีการฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อรู้ว่า ทุกคำของพระองค์ ไม่ผิด!! สักคำเดียว!! เพราะฉะนั้น มีธรรม ใช่ไหม? เป็นธรรม ใช่ไหม?

คุณภาคิน : ครับ ใช่ครับ

ท่านอาจารย์ : ไม่ใช่ใครเลย!!

คุณภาคิน : ใช่ครับ

ท่านอาจารย์ : เพราะฉะนั้น ธรรม ต่างกันหรือเหมือนกัน?

คุณภาคิน : ธรรม ต่างกันหรือเหมือนกัน?

ท่านอาจารย์ : ธรรม ต่างกันหรือเหมือนกัน? แต่ละธรรม คำว่า แต่ละธรรม ก็ชัดเจนอยู่แล้ว!! ยังจะต้องคิดอะไร? ใช่ไหม? ถ้าไตร่ตรองจริงๆ เพียงแค่คำนี้ ไตร่ตรองแล้วเราก็มั่นคง ... แต่ละธรรม ...

คุณภาคิน : ก็เหมือนกัน

ท่านอาจารย์ : "เห็น" เหมือนกับ "คิด" หรือเปล่า?

คุณภาคิน : ... ไม่เหมือนครับ..

ท่านอาจารย์ : ค่ะ เพราะฉะนั้น เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง หลากหลายมาก ไม่ซ้ำกันเลย เกิดแล้วดับ ไม่กลับมาอีกเลย ในสังสารวัฏฏ์ สักหนึ่ง ก็กลับมาไม่ได้!! เพราะฉะนั้น ก็อยู่ในโลกของความไม่รู้!! คิดว่าเที่ยง!! นั่งอยู่ที่นี่ ก็เป็นคนนั้น คนนี้ อยู่ตลอดเวลา แต่ "เป็นธรรม" ใช่ไหม? เกิด-ดับ ใช่ไหม? ยังไม่รู้ความจริง จึงยึดมั่นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

เพราะฉะนั้น ฟังอีกนานเท่าไหร่? กว่าจะมั่นคงขั้นแรก ปริยัติ รอบที่หนึ่ง ใน อริยสัจจ์ ๔ ทั้ง ๔ หนทางที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งความจริง ก็ต้องเป็น "ขั้นปริยัติ" ก่อน ไม่ใช่ไปนั่งปฏิบัติ แล้วไม่รู้อะไร!! ถ้าไม่มีปริยัติเลย ไปทำอะไร? ปฏิบัติอะไร? เห็นไหม? ไปทำอะไร? เพื่ออะไร? รู้อะไร? แล้วพระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร? "มิจฉามรรค" มีหรือเปล่า? เห็นไหม? ถ้าไม่ฟัง จะรู้ไหม? ว่าอะไรถูก อะไรผิด? คิดเองก็คิดว่าถูกไปเลย ใช่ไหม เพราะคิดว่าถูก!! แต่ขณะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส "มิจฉามรรค" เพราะอะไร?

คุณภาคิน : มีตัวตน

ท่านอาจารย์ : ถูกต้อง เห็นผิด!! วันนี้ได้ประโยชน์ไหม?

คุณภาคิน : ก็สุดๆ ครับอาจารย์ แต่ว่า ก็ยอมรับว่า เป็นธรรมที่ลึกซึ้งมาก ไม่ใช่ของง่าย พูดกัน ฟังเหมือนรู้เรื่อง แต่ก็ไม่ใช่ของง่าย จะต้องไปเพียรต่อ

ท่านอาจารย์ : ถ้าไม่เปลี่ยนความคิด อันนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในสังสารวัฏฏ์ จะไม่ประมาทเลย ว่านี่แค่ฟัง แล้วฟังไม่กี่คำ ยังไม่ทั่ว!!

คุณภาคิน : แค่จิ๊บๆ ใช่ไหมครับ

ท่านอาจารย์ : น้อยกว่านั้นได้ไหม

คุณภาคิน : (หัวเราะ) นี่คือ ออเดิร์ฟ

ท่านอาจารย์ : เพราะฉะนั้น เปรียบเทียบกับความไม่รู้ ซึ่งไม่รู้มานานเท่าไหร่ แม้วันนี้เอง ตั้งแต่เช้าถึงเดี๋ยวนี้ เห็นเท่าไหร่ ไม่รู้เท่าไหร่ คิดเท่าไหร่ ไม่รู้เท่าไหร่ จำเท่าไหร่ ก็ไม่รู้เท่าไหร่ ไม่รู้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น "ความเข้าใจ" นี่น้อยแค่ไหน? ก็ไม่เป็นไร เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีขณะน้อยนิดนี้ ขณะที่จะคมขึ้น มั่นคงขึ้น รู้แจ้งขึ้น ประจักษ์ได้ ก็ไม่มี!! มั่นคงในหนทาง ว่า ต้องเป็นความเข้าใจ สิ่งที่มี!!

เพราะฉะนั้น คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะทรงแสดงโดยนัยหลากหลาย เคยได้ยินคำว่า "อารัมมณะ" ไหม? หรือ "อารมณ์" ในภาษาไทย

คุณภาคิน : เคยครับ

ท่านอาจารย์ : คืออะไร?

คุณภาคิน : อารมณ์ก็คือการรับรู้ ก็เป็น เวทนา ชนิดหนึ่ง

ท่านอาจารย์ : อย่าเพิ่งไปไกล เอาแค่คำแรก

คุณภาคิน : อารมณ์ ใช่ไหมครับ การับรู้ ครับ

ท่านอาจารย์ : อีกที

คุณภาคิน : การรับรู้ ... เวทนา..

ท่านอาจารย์ : ไปอีกแล้ว!! รับรู้ คืออะไรคะ? ที่บอกว่า รับรู้ อารัมมณะ คือ การรับรู้ นั้นคืออะไร? เห็นไหม? เผินไหม? เหมือนเข้าใจ แต่ต้องรู้จริงๆ ว่า คืออะไร? เพราะอะไร?

คุณภาคิน : สรุป เมื่อกี้ อารมณ์คือเวทนา ใช่ไหมครับ? อาจารย์

ท่านอาจารย์ : ไม่ใช่ค่ะ

คุณภาคิน : ไม่ใช่? ขออธิบายความกระจ่างหน่อยครับ

ท่านอาจารย์ : ขณะนี้ มี "เห็น" ไหม?

คุณภาคิน : มีครับ

ท่านอาจารย์ : เห็นอะไร?

คุณภาคิน : เห็นรูป ครับ เห็นสีครับ

ท่านอาจารย์ : อย่างนี้ ตอบได้หมดเลย ตำรามาทั้งนั้นเลย เห็นรูป เห็นสี แต่..ถามว่า..ขณะนี้ เป็นธรรม หรือเปล่า?

คุณภาคิน : เป็นครับ

ท่านอาจารย์ : เป็นธรรมอะไร?

คุณภาคิน : เป็นธรรมที่เกิดจากการเห็น

ท่านอาจารย์ : "เห็น" เป็นธรรมหรือเปล่า?

คุณภาคิน : เป็นครับ

ท่านอาจารย์ : เห็นเป็นธรรม แล้ว "สิ่งที่ถูกเห็น" เป็นอะไร?

คุณภาคิน : สิ่งที่ถูกเห็นก็เป็นธรรม

ท่านอาจารย์ : "อารมณ์" คือ อะไร?

คุณภาคิน : ถ้าอย่างนั้น อารมณ์ ก็คือ ธรรม ครับ

ท่านอาจารย์ : อารมณ์คือธรรมอะไร?

คุณภาคิน : ธรรมทางความคิด

ท่านอาจารย์ : ต่อเองนะคะ แต่ เห็นอะไร? นี่แหละ คือคำตอบ ต้องมี "สิ่งที่ถูกเห็น" ใช่ไหม?

คุณภาคิน : ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น ใช่ครับ

ท่านอาจารย์ : ถ้า "สภาพเห็น" เกิดขึ้น จะไม่มี "สิ่งที่ถูกเห็น" ได้ไหม?

คุณภาคิน : ไม่ได้ครับ

ท่านอาจารย์ : เพราะฉะนั้น ไม่ว่า "อะไรก็ตาม" ที่ "ถูกเห็น" หรือ "ได้ยิน" หรือ "ได้กลิ่น" ทั้งหมด เป็น อารัมมณะ คือ สิ่งที่จิตรู้ แค่นี้ ไม่ใช่ไปตามคำว่า อารัมณะ แล้วพูดไปยาว แต่ "อารัมมณะ" คืออะไร ก็พูดภาษาธรรมดา "สิ่งที่จิตรู้" เพราะ จิตเป็นสภาพรู้ ต้องมี "สิ่งที่ถูกรู้"

คุณภาคิน : ครับ

ท่านอาจารย์ : เพราะฉะนั้น ก็กระจ่างขึ้นมาหน่อย คือว่า ต้องไตร่ตรอง ต้องได้ยินว่า ไม่ใช่เขาว่า อารัมมณะ เราก็ อารัมมณะ แล้วยังมีคำอื่นอีก โคจร (โค-จะ-ระ) เห็นไหม ทรงแสดงความต่างของ อารมณ์ ให้รู้ว่า ต่างกันอย่างไร นี่คือ คำสอนที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา เพื่อให้ความเข้าใจ เพิ่มขึ้น ตามลำดับที่มั่นคง ในความเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ที่เคยคิดเอง หรือขาดการไตร่ตรอง นะคะ เริ่มใหม่ ต้องเข้าใจจริงๆ ในแต่ละคำ

คุณภาคินคะ ถ้าพูดเรื่องอื่นเยอะๆ จะเข้าใจไหม? ถ้าพูดเรื่องอื่นเยอะๆ จะเข้าใจไหม? เห็นไหม? ต้องไตร่ตรอง ให้รู้จริงๆ จึงเป็นความเข้าใจ เป็นประโยชน์มาก เมื่อ "เข้าใจ" ไม่ใช่ ฟังเยอะ แต่ไม่เข้าใจ!!

(ขอขอบพระคุณภาพประกอบจากกลุ่มไลน์ : สนทนาธรรมไร่ศิริสัมพันธ์)


ขอเชิญติดตามเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง :

ขอเชิญติดตามข่าวที่เกี่ยวข้อง ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง :

- อันเนื่องมาจาก การเดินทางไปสนทนาธรรม ณ ไร่ศิริสัมพันธ์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ๑๖-๑๗ พ.ย.๒๕๖๖

- จากใจ ดร.ทวีศักดิ์ ปฏิภาณวัฒน์ สามีของคุณพงศ์พิลาส โชติกเสถียร สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ.ลำดับที่ ๔๒๖๔


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Selaruck
วันที่ 18 พ.ย. 2566

กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์ ท่านผู้ชี้ทางสว่างตามเส้นทางของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

กราบอนุโมทนาในกุศลทุกประการของพี่เปิ้ล ผู้จัดสนทนาธรรมครั้งนี้

และกราบอนุโมทนาคุณวันชัย ผู้บันทึกบรรยากาศการสนทนาให้เราได้มีจิตอันปิติในกุศลนั้นด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ภาคภูมิอรุณศรี
วันที่ 18 พ.ย. 2566

อะไรก็ตามที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เริ่มมาจากความเห็นที่ผิด เรียกว่า ทิฏฐิวิปลาศ
นำพาสู่ สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส

เมื่อเห็นถูกเข้าใจถูก และมั่นคง จะมองทะลุปรุโปร่งไปโดยเห็นรากเง้า แล้วเริ่มละ ก็ไม่ติดข้องกับสิ่งที่ถูกฉาบมาทั้งชีวิตในสังสารวัฏฏ์

กราบเท้าอาจารย์สุจินต์กราบผู้ร่วมสนทนาและคณะทำงาน อนุโมทนากุศลที่ดำรงคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
panasda
วันที่ 18 พ.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
namarupa
วันที่ 18 พ.ย. 2566

กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ ที่เคารพอย่างสูง🙏 และกราบคณะวิทยากรทุกท่าน

กราบอนุโมทนาน้องเปิ้ล คุณ พงศ์พิลาส โชติกเสถียร เจ้าภาพ ที่บินตรงจากอเมริกา เพื่อจัดงานนี้โดยเฉพาะ แม้นว่าเธอจะอยู่ไกลแสนไกลแค่ไหน แต่ด้วยความศรัทธาในพระธรรมคำสอน จึงตั้งใจมากที่จะจัดงานนี้ให้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด เพื่อประโยชน์อันสูงสุด คือการได้เข้าใจความจริง ด้วยความเมตตาจากท่านอาจารย์สุจินต์

ขออนุโมทนาน้องๆ ทีมงานทุกคนที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันจัดงานนี้ให้ออกมาดีที่สุดและขออนุโมทนาทีมงานกล้องทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 18 พ.ย. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Jans
วันที่ 18 พ.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Lai
วันที่ 18 พ.ย. 2566

กราบเท้า ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขต์ ยินดีและอนุโมทนา ในกุศลของทุกๆ ท่าน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นน นะโม
วันที่ 18 พ.ย. 2566

กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ กราบอนุโมทนาคุณเปิ้ลและทีมงานทุกท่าน ขอให้มีความเจริญในกุศลทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เฉลิมพร
วันที่ 18 พ.ย. 2566

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ