การเจริญภาวนาสติ เพื่อทำให้กิเลสกับจิตที่เป็นอกุศลเบาบางลง

 
Coolsp25
วันที่  14 พ.ค. 2563
หมายเลข  31861
อ่าน  602

อยากทราบวิธีและขั้นตอนในการปฎิบัติที่ถูกต้อง ที่เหมาะสมสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มศึกษาพระธรรมครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 14 พ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ทรงแสดงจากพระปัญญาคุณที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ เหล่าสาวกได้สดับตรับฟัง เกิดปัญญาของตนเอง และก็กล่าวแสดงสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน จารึกเป็นพระไตรปิฎกที่เป็นพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระไตรปิฎกก็คือพระพุทธพจน์ทั้งหมด การจะเข้าใจพระธรรมก็ต้องศึกษาจากพระพุทธพจน์ที่เป็นพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ แต่การจะเริ่มศึกษาเป็นไปตามลำดับอย่างไรนั้น ก็ต้องเข้าใจความจริงครับว่า พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก มีอรรถ ความหมาย และความละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ซึ่งหากอ่านเองโดยไม่ได้พิจารณาไตร่ตรองโดยละเอียด และไม่สนทนาสอบถามเลย ก็ย่อมจะทำให้เข้าใจผิดได้ เพราะฉะนั้นควรจะเริ่มอันดับแรก คือ ฟังจากผู้รู้ ผู้ที่เข้าใจพระธรรมอย่างถูกต้องในพระไตรปิฎกและได้อธิบายให้เราเข้าใจ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ดังนั้นควรเริ่มจากการฟังผู้รู้ ผู้มีปัญญา เป็นกัลยาณมิตรที่อธิบายพระธรรมที่ลึกซึ้งในพระไตรปิฎกให้เราเข้าใจ มีท่านอาจารย์สุจินต์ เป็นต้น ที่ได้กล่าวแสดงธรรมในส่วนต่างๆ ของพระไตรปิฎกไว้อย่างดี ให้เข้าใจกันได้ ครับ

ซึ่งเริ่มด้วยการฟัง ศึกษาพระธรรม ในส่วนเบื้องต้น เริ่มจากคำว่า ธรรม คืออะไร เมื่อมีความเข้าใจเบื้องต้นที่สำคัญว่า ธรรมคืออะไร เข้าใจความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมในขั้นการฟังว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล มีแต่สภาพธรรมที่เป็นไป บังคับบัญชาไม่ได้ ความเข้าใจเบื้องต้นเช่นนี้ ก็จะทำให้สามารถศึกษาในส่วนต่างๆ ของพระธรรม มีการอ่านหนังสือธรรมที่ได้อธิบายในส่วนของพระไตรปิฎก รวมทั้งการอ่านพระไตรปิฎกได้เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้น ฟัง อ่านหนังสือที่อธิบายโดยท่านผู้รู้ ผู้มีความเข้าใจ ก็จะทำให้ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้นทีละน้อย โดยไม่มีกฎเกณฑ์ว่าจะฟังอย่างไร เท่าไหร่ ฟังเรื่องอะไรในขณะนั้น ก็เข้าใจขณะนั้น ก็ค่อยๆ สะสมปัญญาแล้ว เพียงแต่ว่าจะต้องอาศัยการสนทนา สอบถามบ้างบางเวลา เพื่อประโยชน์ในความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่คิดเอง และที่สำคัญที่สุด ก็อาศัยกัลยาณมิตร คือ ผู้ที่เข้าใจพระธรรม มีท่านอาจารย์สุจินต์ ฟัง หรือ อ่านในส่วนที่ท่านแสดงไว้ ก็ชื่อว่ากำลังศึกษาพระไตรปิฎกแล้ว เพราะท่านอาจารย์ก็แสดงธรรมที่มีจริงที่เป็นพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกครับ

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง ครับ ดังนั้น การศึกษาธรรมก็จะต้องละเอียด และเข้าใจทีละคำ อย่างถูกต้อง แม้แต่คำว่า ปฏิบัติธรรม คืออะไร

ปฏิบัติธรรม คือ ธรรมปฏิบัติ ไม่ใช่เราปฏิบัติ ธรรมอะไรปฏิบัติ คือ สติและปัญญาที่ทำหน้าที่ปฏิบัติ ปฏิบัติ รู้ความจริง ความจริงของธรรม ธรรมอะไร ธรรมที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ อะไร คือ ธรรมที่มีจริงในขณะนี้ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส คิดนึก ชอบ โกรธ เกลียด หงุดหงิด ความอยากทานอาหาร เหล่านี้ เป็นธรรมทั้งสิ้น เพราะมีจริงกำลังปรากฏให้รู้ ให้รู้อย่างไร ให้รู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ทำไมต้องรู้ เพราะเคยรู้ผิด เข้าใจผิดว่า มีเราที่คิด มีเราที่โกรธ มีเราที่อยากทานอาหาร และความจริงคืออย่างไร ความจริง คือ ไม่มีเรา มีแต่ธรรม ที่อยากทาน ก็ไม่ใช่เราที่อยากทาน แต่เป็นธรรมที่อยากทาน ไม่ใช่เราที่โกรธ มีแต่ธรรมที่โกรธ ไม่ใช่เราที่มีกิเลส แต่.. มีแต่ธรรมที่มีกิเลส

ดังนั้น ธรรมที่ควรรู้ มีอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ถามว่ากิเลสที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเป็นธรรมไหม ความจริงเป็น แต่หลงยึดถือว่าเป็นเราที่มีกิเลส เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรม คือ การรู้ความจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นกับตนเอง ทั้งกิเลส ความชอบ ไม่ชอบ หงุดหงิด โกรธ ความอยาก และ สิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้น รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ในขณะนั้น ขณะใดที่รู้ความจริง ขณะนั้น เป็นการปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น ธรรมกำลังมีในขณะนี้ กิเลสก็กำลังมี เป็นธรรมด้วย ควรรู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา แต่ที่ยังไม่รู้ เพราะ ยังไม่มีปัญญา ธรรมจึงไม่ได้อยู่จำกัดในสถานที่ใด สถานที่หนึ่ง ในป่า ในกรุงเทพฯ ในเมือง ในชนบท ในป่า ต่างก็มีธรรม แต่ หากไม่มีปัญญาแล้ว อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ความจริง และปัญญาจะเกิดได้อย่างไร ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม แต่สะสมกิเลสมามาก การจะรู้ความจริง ที่เป็นการปฏิบัติ รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็น ธรรม ไม่ใช่เรา ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนาน เพราะ สะสมปัญญามาน้อย ครับ

ที่สำคัญ ปัญญา จะทำหน้าที่ปฏิบัติธรรม และ กิเลสไม่ได้เลือกสถานที่เกิด แม้จะอยู่ในที่เงียบสงัด กิเลสก็เกิดได้ เกิดความกลัว คิดถึงเรื่องนั้น เรื่องนี้ ไม่ปราศจากกิเลสเลย แต่สำคัญที่ ปัญญา ถ้ามีปัญญาแล้ว ย่อมมีความเข้าใจถูก ว่า การปฏิบัติธรรม คือ การรู้ความจริงในชีวิตประจำวัน พระอริยสาวกในอดีต มากมาย ก็บรรลุธรรมระหว่างถนน ขณะที่ฟังธรรม แม้แต่ในคุก ก็บรรลุธรรม ขณะที่กำลังทำอาหาร ก็บรรลุธรรม แล้วอะไรที่ทำให้บรรลุธรรม สถานที่หรือไม่ ปัญญาต่างหาก ที่ทำให้บรรลุธรรม เพราะฉะนั้น แทนที่จะแสวงหา สถานที่ปฏิบัติธรรมที่สงบ เงียบสงัด ก็ควรแสวงหาปัญญา ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในหนทางที่ถูก ก็จะทำให้นำไปสู่ การปฏิบัติที่ถูกต้องได้ในอนาคต ครับ ธรรมมีอยู่ทุกที่ ขาดแต่เพียงปัญญาที่ไปรู้เท่านั้น ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ควรเริ่มต้นอย่างไร

การศึกษาธรรม เราควรที่จะศึกษาส่วนใดก่อน

เชิญคลิกฟังคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ ครับ

เริ่มต้นด้วยความเข้าใจว่าเป็นธรรม

เริ่มต้นเพียงรู้แค่...เป็นธรรม ๑

เริ่มต้นเพียงรู้แค่...เป็นธรรม ๒

จะเริ่มต้นศึกษาจากพระไตรปิฎกเล่มไหน

ปัญญาเริ่มต้นจากการฟังพระธรรม

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 14 พ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ละคำที่พระองค์ตรัสนั้น เป็นไปเพื่อปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ซึ่งเมื่อได้ยินคำไหน ก็ค่อยๆ เข้าใจไปในแต่ละคำ อย่างเช่น คำว่า กิเลส กิเลสคืออะไร เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่เรา

กิเลส เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต เมื่อกิเลสเกิดขึ้นย่อมทำให้จิตเศร้าหมอง โลภะ เป็นสภาพที่ติดข้อง ผูกพัน ยินดีพอใจ ชอบใจ ในชีวิตประจำวันเรามีโลภะเป็นปกติ โลภะมีทั้งระดับที่เกิดขึ้นพอใจชอบใจเป็นปกติ และมีทั้งระดับที่มีกำลังแรงกล้าถึงขั้นที่ล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรม ทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อน โลภะเป็นกิเลส ต่างกันกับอโลภะ ซึ่งเป็นกุศลธรรม เราไม่สามารถบังคับไม่ให้โลภะเกิดขึ้นได้ เพราะว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แต่ถ้าเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญปัญญา ก็สามารถรู้ลักษณะของโลภะเมื่อโลภะเกิดขึ้นปรากฏได้

โทสะ เป็นสภาพที่ประทุษร้าย ขุ่นเคือง ไม่พอใจ โกรธ หงุดหงิด ทั้งหมดเป็นลักษณะของโทสะ โทสะมีหลายระดับขั้น ในชีวิตประจำวันโทสะก็สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ เช่นในขณะที่โกรธไม่พอใจบุคคลบางคนแล้ว กล่าวคำที่ไม่น่าฟังกับบุคคลนั้นออกไป ขณะนั้นก็รู้ได้ว่าเป็นโทสะ นอกจากนั้นแล้วขณะที่น้อยใจ หรือ กลัว ไม่ว่าจะเป็นกลัวภัยในชีวิต กลัวอันตรายต่างๆ กลัวความเจ็บป่วย เป็นต้น ก็เป็นกิเลสประเภทโทสะ เพราะเป็นลักษณะที่ไม่ชอบในอารมณ์

โมหะ เป็นความหลง เป็นความไม่รู้ ขณะที่โมหะเกิดขึ้นย่อมเป็นความมืดบอดเป็นความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่เข้าใจโลก ไม่เข้าใจตัวเอง ไม่เข้าใจกุศลไม่เข้าใจอกุศล ไม่เข้าใจกรรมและผลของกรรม ไม่เข้าใจหนทางที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลส พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่าโมหะ (หรืออวิชชา) เป็นมูลรากของอกุศลธรรมทั้งหลาย กิเลสไม่ได้มีเพียงแค่นี้ ยังมีมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) มานะ (ความสำคัญตน) อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อบาป) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่อบาป) อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่านไม่สงบ) ถีนะ (ความท้อแท้ท้อถอยหดหู่) และวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัยในสภาพธรรม) กิเลสทั้งหลายทั้งปวงนี้ จะละได้ด้วยปัญญาขั้นที่เป็นโลกุตตระ และละได้ตามลำดับมรรค กล่าวคือ มรรคเบื้องต้น คือ โสตาปัตติมรรค ละความเห็นผิด และละความสงสัยในสภาพธรรม ส่วนกิเลสที่เหลือยังละไม่ได้ ปัญญาขั้นอนาคามิมรรค ละโทสะได้ ละความติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ได้ กิเลสที่เหลือต้องอาศัยปัญญาขั้นอรหัตตมรรคจึงจะละได้

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว คือ กิเลสทั้งหมดจะถูกละได้ตามลำดับขั้น อันดับแรกจะละโลภะ โทสะ โมหะ ยังไม่ได้ ต้องละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนสัตว์บุคคลก่อน กิเลสที่เหลือจะละได้เมื่อปัญญาขั้นสูงกว่านั้น ทั้งหมดทั้งปวงนั้นจะขาดปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้นไม่ได้ เลย ขณะที่เข้าใจ ก็ละความไม่เข้าใจ

ดังนั้น จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ขัดเกลาละคลายความไม่รู้และกิเลสทั้งหลาย ซึ่งไม่ใช่ด้วยความหวังความต้องการ หรือ ด้วยความเป็นตัวตนที่ไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เป็นกิจของปัญญาที่ทำกิจหน้าที่ จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมในที่สุด ถ้าไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถละความไม่รู้และกิเลสทั้งหลายได้ ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Coolsp25
วันที่ 14 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณท่านมากครับ ที่ช่วยชี้นำทางให้เข้าใจในพระธรรมได้มากขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 14 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
yogototo
วันที่ 14 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ