พื้นฐานพระอภิธรรม ๑**


    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 1

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖

    ท่านอาจารย์ วันนี้ จะได้เริ่มการศึกษาพื้นฐานพระอภิธรรม บางท่านอาจคิดว่า เหมือนกับเป็นขั้นต้นเหลือเกิน เพราะใช้คำว่าพื้นฐานของพระอภิธรรม แต่ตามความเป็นจริง ถ้าเราเข้าใจว่าธรรมคืออะไร จะเข้าใจทันทีว่า ถ้าไม่มีพื้นฐานที่มั่นคง ก็จะศึกษาธรรมได้อย่างที่ไม่ชื่อว่าเข้าใจจริงๆ เพราะว่าอาจคิดว่าเป็นเพียงคำ เป็นภาษา หรือเป็นตัวหนังสือ แต่ทั้งหมดที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ใน ๓ ปิฎก เป็นสัจจธรรม คือ เป็นธรรมที่มีจริงๆ ที่สามารถที่จะเข้าใจได้ไม่ว่าในกาลไหน เช่น ในขณะนี้ ต้องเข้าใจว่า การศึกษาธรรม คือ มีสภาพธรรมที่มีจริงๆ และกำลังปรากฏ ซึ่งก่อนที่จะได้ศึกษาเราไม่เคยคิดเลยว่า สิ่งซึ่งมีจริงๆ ในขณะนี้ เช่นกำลังเห็น จะมีแสดงความจริงอยู่ในพระไตรปิฏก เป็นพระธรรมเทศนาหลากหลายมากมายทั้ง ๓ ปิฎก ทั้งๆ ที่วันหนึ่งๆ ก็มีเห็น มีได้ยิน มีได้กลิ่น มีลิ้มรส มีรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วก็มีคิดนึก ซ้ำไปซ้ำมา แต่เหตุใด จึงเป็นพระธรรมที่ทรงแสดงไว้มากมายในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ก็แสดงว่า ธรรมเป็นสิ่งที่แม้ปรากฏเป็นปกติ แต่เราไม่ได้เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้น ถ้าคิดตามความเป็นจริงว่า ก่อนได้ฟัง เราไม่สามารถที่จะได้เห็นพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เพราะไม่รู้ว่า ทรงสามารถที่จะตรัสรู้สิ่งที่มีจริงๆ โดยละเอียดลึกซึ้ง ถูกต้อง จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้หมดไม่เหลือเลย ซึ่งการที่จะรู้ว่าแต่ละคนมีกิเลสมากมายสักแค่ไหน ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมก็ไม่สามารถจะรู้ได้ ต่อเมื่อได้ฟังพระธรรม เริ่มเห็นความต่างของก่อนฟังกับการที่เริ่มได้ฟังว่า ก่อนฟังไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น มีชีวิตวันหนึ่งๆ ก็เป็นเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ วงศาคณาญาติ บ้านเมือง ข่าวสารต่างๆ แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นธรรมหรือไม่ เพราะบางท่านก็เข้าใจว่าธรรมอยู่ที่อื่น ไม่ใช่อยู่ที่สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ธรรม คือในขณะนี้ ศึกษาสิ่งที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ ให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง ยากหรือง่าย ลองไตร่ตรอง ขอให้ทุกคนร่วมกันสนทนา

    ผู้ฟัง เรียนถามอาจารย์ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่ยิ่งศึกษามากขึ้นมากขึ้น รู้สึกว่า เราไม่เข้าใจว่า คืออย่างไรกันแน่

    ท่านอาจารย์ แท้จริงแล้วต้องเข้าใจคำที่ใช้ด้วยว่า "อนัตตา" หมายถึง ไม่ใช่ตัวตน คำว่า "เรา" เข้าใจได้ มีแน่นอนขณะนี้ แต่ไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้ว ไม่มีตัวตนจริงๆ แต่มีสภาพธรรม เพราะฉะนั้น จากการที่เคยเป็น "เรา" มานานแสนนาน ก็เริ่มที่จะเข้าใจเมื่อได้ฟังพระธรรมว่า เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะคือพื้นฐานที่ทำให้เราเข้าใจว่า เรากำลังศึกษาสภาพธรรมที่มีจริงๆ เพื่อค่อยๆ เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างที่เคยเป็นเรา เห็นเป็นเรา ได้ยินเป็นเรา คิดนึกเป็นเรา แม้ขณะนี้มีการเห็นบุคคลต่างๆ สิ่งต่างๆ นั้น แต่แท้จริงแล้ว ทั้งหมดเป็นธรรม และธรรมก็มีหลากหลายมากมาย ทรงแสดงละเอียดขึ้น หลากหลายขึ้น จนกระทั่งเราสามารถที่จะเห็นว่า แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่มีปรากฏในชีวิตประจำวัน ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซ้ำไปซ้ำมา แต่สภาพธรรมแต่ละอย่างมีปัจจัยเกิดขึ้น ปรุงแต่งแต่ละขณะ ไม่เหมือนกันเลย เช่น ขณะเมื่อสักครู่นี้กับขณะนี้ ดูเหมือนว่าเห็นคนเดิม แต่ความจริงแล้ว เป็นความเห็นที่ไม่ถูก ความไม่เข้าใจถูก ในลักษณะสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับ เกือบจะเรียกได้ว่าทันที เร็วมาก แต่เพราะมีความทรงจำในทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏ จนกระทั่งเหมือนกับว่า มีสิ่งนั้นจริงๆ แม้ว่าไม่มีแล้ว แต่ก็ยังเข้าใจว่ามี หรือเข้าใจว่ายังมีอยู่ นี่คือความที่เป็นอัตตสัญญา การทรงจำว่ามีเรา เป็นเรา

    ผู้ฟัง ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา หมายความว่าไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ บุคคล ถ้าจะเปรียบกับที่เรายึดกันอยู่นานๆ เป็นเรา ก็คือหมายความว่าสิ่งที่มีแล้วก็หายไปแล้ว เรื่องเมื่อวานก็ดับไปแล้ว ไม่กลับมา อย่างนั้นหรือ

    ท่านอาจารย์ นั่นเป็นความคิดนึกเรื่องราวของธรรม ซึ่งธรรมตัวจริงละเอียดกว่านั้นมาก เล็กน้อยกว่านั้นมาก และไม่มีเรื่องราวเลย เป็นแต่เพียงการทรงจำที่ทำให้คิดเป็นเรื่องราวต่างๆ นี้ก็เป็นสิ่งที่เราเริ่มมองเห็นแล้วว่า แม้เราจะมีชีวิตอยู่ แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรม เริ่มเห็นอวิชชา และเริ่มรู้สึกตัวว่า เราอยู่ในความมืดจริงๆ มืดสนิท เหมือนคนตาบอด เพราะแม้ว่าสภาพธรรมมี แต่ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็เหมือนกับว่า ไม่รู้อะไรเลย มีแต่ความเป็นเรา ซึ่งไม่ใช่ความเข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่มี

    ผู้ฟัง หมายความว่าที่พระองค์ทรงแสดงว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา คือความจริง แต่พวกเราคงไม่สามารถรู้ถึงความจริงนั้น จนกว่าจะต้องอบรมจนมีปัญญาที่แก่กล้าอย่างนั้น ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เพียงได้ยิน คำว่า “ทุกอย่างเป็นธรรม” ก็ผ่านไม่ได้แล้ว เพราะว่าได้ยินบ่อยๆ ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แต่เมื่อได้ "เห็น"เป็นอะไร เริ่มแสดงความต่างว่า เพียงขั้นฟัง เราฟัง และเริ่มเข้าใจได้จริง แต่เวลาที่สภาพธรรมปรากฏ เราไม่ได้เข้าใจความจริง ตามที่ได้ยินได้ฟังมา เพราะฉะนั้น ต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะเป็นความรู้จริงของตนเอง ประโยชน์ของการศึกษาธรรม คือ เป็นปัญญา เป็นความเห็นถูกของเรา ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เจริญขึ้น มิฉะนั้นการฟังธรรม หรือการศึกษาธรรมจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าเราไม่สามารถที่จะเห็นถูก เข้าใจถูก ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ในขณะนี้

    ผู้ฟัง ขั้นแรกๆ ในการฟังว่าทุกอย่างเป็นธรรม ก็ไปลงตรงที่ว่าธรรมชาติ

    ท่านอาจารย์ ก็เริ่มคิดเองแล้ว คิดถึงธรรมชาติ เริ่มคิดถึงอย่างอื่น แต่จริงๆ ธรรมคือสิ่งที่กำลังปรากฏ เช่น ทางตา มีสิ่งที่กำลังปรากฏ จะต้องเข้าใจในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และสภาพที่สามารถเห็นสิ่งนั้นได้ นี่คือความเข้าใจธรรม แต่ถ้าเป็นเรื่องราวเมื่อไหร่ ขณะนั้นไม่ได้ศึกษาธรรม แต่เป็นการคิดถึงเรื่องราวของธรรม แต่ตัวธรรมจริงๆ ถ้าค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจว่า ไม่ใช่อยู่ที่อื่นเลย แต่อยู่ที่เดี๋ยวนี้ ฟังไป เข้าใจไป ทีละเล็กทีละน้อยว่าขณะนี้เป็นธรรม และรู้ตามความเป็นจริงว่า เมื่อไหร่ที่ปัญญาจะสามารถรู้ว่าเป็นธรรม แสดงให้เห็นว่า การฟังที่เริ่มต้น ยังไม่สามารถที่จะเข้าถึงตัวธรรมได้ เพียงแต่ว่าเริ่มได้ยินเรื่องราวของธรรม เหมือนคนที่อยู่ในความมืด ยังไม่เห็นอะไรเลยสักอย่างตามความเป็นจริง แต่เริ่มได้ยินพระธรรมที่จะทำให้รู้ว่า ตรงนี้มีอะไร คือ ตรงนี้มีธรรม มีสิ่งที่ลึกซึ้งมาก มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง สิ่งนี้เกิดปรากฏไม่ได้เลย แต่สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏ หมายความว่าสิ่งนั้นเกิดแล้ว ถึงแม้ว่า เราจะยังไม่รู้ แต่โดยเหตุผล ถ้าสิ่งนั้นไม่เกิด จะปรากฏได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เห็นความลึกซึ้ง ว่า ขณะนี้เหมือนมีสิ่งที่ปรากฏแล้วโดยไม่รู้ว่าเกิดขึ้น แล้วจะไปรู้ตอนไหนว่าเกิด ก็เพราะเหมือนมีอยู่ตลอดเวลา ใช่หรือไม่ เพราะว่าสิ่งนั้นก็ไม่ได้ปรากฏว่าดับ แล้วจะมีสิ่งที่เกิดให้รู้ได้อย่างไรว่า ขณะนี้มีสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับ นี่คือการฟังให้เข้าใจเรื่องราวของสิ่งที่มีจริงๆ จึงเป็นการศึกษาธรรม และคำทุกคำที่ใช้ในภาษาหนึ่งๆ ก็เพื่อที่จะส่องไปถึงลักษณะของสภาวธรรมให้เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมจนกว่าเราจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    มีใครคิดว่าเริ่มฟังแล้วจะเข้าใจได้ทันทีหรือไม่ ต้องฟังนานมาก เพียงแต่ฟังขณะนี้ ว่า เป็นธรรม ไม่นานก็ลืมได้ เพราะว่าคุ้นเคยกับความหลงลืม และคุ้นเคยกับความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็จะมีแต่ความคิดและก็ความทรงจำ เวลาที่ฟังพระธรรม ก็เริ่มที่จะทรงจำ และคิดเรื่องราวของธรรม แต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นความคิด ไม่ใช่ลักษณะของธรรมจริงๆ ซึ่งธรรมแต่ละอย่างก็ปรากฏแต่ละทางได้ เพราะอันที่จริงแล้วธรรมก็คืออย่างนี้ ไม่ว่าเราจะฟังครั้งไหนก็ตาม ถ้าเป็นความสามารถที่เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ นั่นคือการศึกษาที่ถูกต้อง เพราะว่าเป็นการพูดถึงเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ ให้รู้ว่าไม่มีใครสามารถที่จะหลีกเลี่ยง หนีไม่พ้น เช่น เห็น ได้ ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ไม่รู้ว่ามาจากไหน และความจริงของสิ่งนั้นคืออะไร เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นสิ่งที่มีจริงแล้ว ลึกซึ้ง เพราะว่าต้องเป็นพระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี และตรัสรู้ความจริงเรื่องที่ดูเหมือนธรรมดาๆ อย่างนี้ แต่สามารถให้เราประจักษ์ได้ถึงความไม่ใช่เรา ไม่เป็นตัวตน ไม่มีอะไรเลย นอกจากมีสภาพธรรมที่จะปรากฏได้เฉพาะแต่ละทาง และก็ไม่ยั่งยืนด้วย เพราะว่าเมื่อปรากฏแล้วก็หมดไปๆ แต่เมื่อไม่รู้เช่นนี้ และผู้ตรัสรู้ ทรงตรัสรู้ เช่นนี้ เราก็ต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะค่อยๆ รู้อย่างนี้ได้ เป็นผู้ที่ไม่ประมาท คือไม่คิดว่ารู้แล้วในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ธรรมทุกอย่างเป็นอนัตตา เมื่อพิจารณารูปของสัตว์โลกซึ่ง ...

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องคิดถึงเรื่องสัตว์โลก คิดเฉพาะสิ่งที่กำลังมีขณะนี้ เวลานี้ ถ้าพูดถึงสิ่งที่ไม่ปรากฏกับเรา ก็เหมือนสิ่งที่อยู่ในความมืด จะพูดเรื่องกลาป กลาปก็ไม่ได้ปรากฏ จะพูดเรื่องจิต เจตสิก ก็เพียงเริ่มที่จะรู้ว่ามีอะไรในความมืด แต่ยังไม่สว่างพอที่จะเห็นลักษณะของจิต ลักษณะของเจตสิก ลักษณะของรูป ทุกคนอยู่ในห้องมืด ในความมืดสนิท แต่มีเสียงที่จะทำให้เริ่มจะเข้าใจสิ่งที่มี และสามารถที่จะพิจารณาไตร่ตรองได้ คุณวิจิตรมีความมั่นใจจริงๆ หรือไม่ว่า "เห็น"เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ครับ

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้น ต้องศึกษาจนกว่าจะเข้าใจชัดในความเกิดขึ้นและดับไปของธรรม ไม่ใช่คิดเรื่องอื่น แต่ต้องค่อยๆ เข้าใจ สิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ ว่า เป็นธรรม และศึกษาเรื่องนี้ให้เข้าใจ

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่า สภาพธรรมที่ปรากฏอยู่ ง่ายไหมที่จะรู้ ดิฉันคิดว่า จริงๆ สิ่งที่ปรากฏอยู่ ก็น่าจะง่ายที่จะรู้ แต่เราไม่ทราบว่าอะไรคือธรรม ตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ ก็ไม่ได้ฟังธรรมเลย ก็ไม่ทราบว่า อะไรคือธรรม เมื่อโตมาแล้ว ถึงฟัง ก็ยังฟังน้อย จึงเป็นจุดที่ทำให้เราไม่ทราบว่า อะไรคือปรากฏ

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเหตุให้เรามานั่งที่นี่ และเหมือนเด็กอนุบาล นักเรียนอนุบาลจริงๆ หรือท่านใดไม่อยากอยู่ชั้นนี้ อยากจะไปไกลๆ

    ผู้ฟัง แต่จะไปไกลๆ แค่ไหน ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ก็ไม่มีประโยชน์

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง การศึกษาต้องตามลำดับ และก็เป็นความเข้าใจของเราเอง ที่ห่วงใยก็คือ ขอให้เป็นความเข้าใจของแต่ละท่านที่ฟัง พิจารณาและไตร่ตรอง และไม่คิดถึงเรื่องอื่นที่ไม่ได้ปรากฏ แต่ให้เข้าใจว่าสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ เคยเป็นเรา เคยเข้าใจว่าเรา แต่พระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ และทรงแสดงว่าเป็นธรรม คือเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถจะบังคับบัญชาได้เลย เห็นเกิดขึ้นขณะนี้ จะไม่ให้เห็นไม่ได้ เพราะเห็นเกิดแล้ว ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เห็นเกิด เห็นเกิดได้หรือไม่ คนตาบอด อย่างไรๆ ก็เห็นไม่ได้ เพราะว่าไม่มีเหตุปัจจัยให้เห็นเกิดขึ้น นอนหลับสนิทก็ไม่มีเห็น เพราะว่าไม่มีปัจจัยที่เห็นจะเกิด เพียงค่อยๆ พิจารณาถึงความจริงในชีวิตประจำวัน แยกออกมา เป็นแต่ละขณะ และแต่ละทาง เช่น ทางตา กำลังมีสิ่งที่เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ทางหู มีสิ่งที่เป็นธรรมที่มีลักษณะต่างกับทางตา เพราะฉะนั้น ธรรมเริ่มมีลักษณะให้เห็นว่า ต่างๆ กัน ไม่ใช่อย่างเดียวกันเลย

    ผู้ฟัง ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ศึกษาอย่างไรให้ถูกต้อง

    วิชัย จากตอนต้นที่ท่านอาจารย์กล่าวให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงขณะนี้ เพราะเหตุว่าขณะนี้กำลังนั่งอยู่ และมีธรรม ซึ่งความจริง คือสิ่งที่มีจริงๆ นั่นเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเราฟัง เช่น เรื่องของการเห็น ทุกท่านก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ขณะนี้กำลังเห็น ไม่ใช่ไม่เห็น เพราะเหตุว่า มีสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่าเพียงกล่าวแค่นี้ ไม่เพียงพอ ฉะนั้น ต้องศึกษาว่า การเห็นคืออะไร และเป็นอะไร เกิดจากอะไร ฉะนั้นถ้าเข้าใจจริงๆ ว่าแม้แต่การเห็น อะไรที่เห็น

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสภาพธรรมที่มี ๒ ประเภท คือ สภาพที่รู้ กับสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย ฉะนั้นถ้าเราเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ที่เราเคยคิดเป็นเรื่องราวต่างๆ มากมาย เป็นบุคคลโน้น บุคคลนี้ เป็นโลก เป็นประเทศต่างๆ แต่จริงๆ ก็มีเพียงธรรม ๒ ประเภทเท่านั้น คือนามธรรม หมายถึงเป็นสภาพรู้ ถ้าปราศจากนามธรรมคือสภาพรู้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่มีเลย คือ ไม่ปรากฏเป็นสิ่งที่รู้ จะเกิดเหตุการณ์อะไร ในเมื่อไม่มีสภาพรู้ สิ่งนั้นก็ไม่ปรากฏ สภาพอีกอย่าง เรียกว่า รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย ฉะนั้น ในตอนต้นคือ เริ่มจะเข้าใจตามลำดับ แต่ความเข้าใจนี้ก็ไม่เพียงพอ เพราะเหตุว่าเป็นเพียงการกล่าวเพื่อจะให้เข้าใจในสิ่งที่มีจริงๆ

    ธีรพันธ์ ไม่ควรกังวลเรื่องความเข้าใจว่า จะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏไม่ได้หนีไปจากท่านเลย ขณะที่นอนหลับสนิท และขณะนี้ต่างกัน เพราะขณะนี้กำลังปรากฏ แต่ขณะที่หลับสนิทที่ผ่านมาแล้ว สภาพธรรมไม่ได้ปรากฏเลย ความเข้าใจเช่นนี้ก็เป็นความเข้าใจเล็กๆ น้อยๆ จะให้สติเกิดในขณะนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าปราศจากความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรมวันนี้แล้ว จะคิดถึงการเป็นพระโสดาบันหรือว่าให้มีสติมากๆ ก็เป็นสิ่งที่คิดด้วยความเป็นเรา ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้อะไรก็คิดถึงอย่างนั้น คิดแล้วจะได้อะไรขึ้นมาในเมื่อไม่รู้ เพราะฉะนั้นแทนที่จะไปเป็นพระโสดาบันชาตินี้ หรือเป็นอะไร ให้ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่มีให้ตรง ให้ถูกต้อง และก็ไม่ลืมแม้แต่คำแรกที่ได้ยิน คือ ธรรม และเป็นอนัตตาด้วย ต้องสอดคล้องกัน เพราะว่าธรรมทุกคำที่เป็นสัจจธรรมสอดคล้องกันทั้งหมด ต้องเป็นความจริงเป็นสัจจธรรม เพราะฉะนั้น ก็คงยังเป็นชั้นอนุบาลกันต่อไป ไม่ทราบว่าจะนานเท่าไหร่ แต่ว่าแต่ละท่านจะรู้ตัวเองว่า ได้ผ่านพ้นระดับขั้นของการที่เริ่มฟัง เริ่มต้นเห็นความห่างไกลของผู้ที่ตรัสรู้ กับผู้ที่ไม่รู้อะไรเลย และก็จากการที่เป็นปุถุชน คนที่ไม่รู้อะไร จนกระทั่งเป็นถึงผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจนรู้แจ้ง ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรง เพราะว่าต้องเป็นปัญญาของแต่ละคน ไม่ใช่ไม่มีปัญญาเลย หรือจะอาศัยปัญญาของคนอื่น ก็ไม่ได้

    ธิดารัตน์ กล่าวถึงการศึกษาธรรม ท่านอาจารย์ใช้คำว่า อนุบาล เป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจเลย แล้วก็จะให้เข้าใจว่า การที่เห็นแต่ละครั้ง ใหม่เสมอ ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่เข้าใจยากมาก สิ่งที่สำคัญก็คือเริ่มที่จะเข้าใจว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง และสิ่งที่มีจริงคือ สิ่งที่กำลังปรากฏให้เรารู้ ที่เป็นปัจจุบันที่เราสามารถจะรู้ได้ เป็นธรรมที่มีจริง คือ มีอยู่ ๒ ลักษณะ คือสิ่งที่รู้ และสิ่งที่ถูกรู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ที่ศึกษาใหม่เริ่มที่จะพิจารณาและเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ส่วนมากเรามักจะพูดแต่ความคิดความเข้าใจของเรา แต่ว่ายังไม่ทราบว่าผู้ที่ได้ฟังแล้วจะคิดอย่างไร เข้าใจขึ้นอย่างไร หรือว่าสับสนหรือไม่ เพราะฉะนั้นขอให้พิจารณาด้วยตัวเองว่า เมื่อได้ยินคำว่าธรรม หมายถึงสิ่งที่มีจริงๆ ไม่เคยพลัดพรากจากไปไหนเลยทั้งสิ้น จะนำธรรมไปไว้ที่อื่นก็ไม่ได้ จะให้สิ่งที่กำลังมีเป็นไม่มี ก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่มี แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นขอให้ทราบว่า เมื่อได้ฟังว่าทุกอย่างเป็นธรรม ขอให้กล่าวถึงธรรมที่มีตามที่เข้าใจ เป็นตัวอย่างว่า สิ่งใดบ้างที่เป็นธรรม

    กุลวิไล ท่านอาจารย์แสดงให้เราฟังว่า ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง และสิ่งที่มีจริงรู้ได้อย่างไร ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางกายกระทบสัมผัส ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส และทางใจคิดนึก เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความมั่นคงว่า สัตว์ บุคคล ตัวตนไม่มี และตลอดเวลามีสภาพธรรม ถ้าเรารู้ได้ก็คือ นามธรรม กับรูปธรรม เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น เราก็จะมั่นคง และค่อยๆ ศึกษาว่าขณะนี้มีสภาพธรรมอะไรปรากฏ ก็ไม่พ้น ๖ ทาง ๖โลก นี้

    อ.วิชัย ถ้ากล่าวถึงสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ต้องใช้คำอะไรเลย สิ่งนั้นมีหรือไม่ ฉะนั้น จะใช้คำอะไรที่จะเป็นบัญญัติ หรือจะให้เข้าใจ ถ้าเรากล่าวถึงสิ่งที่มีจริงๆ ก็คือตรงอยู่แล้ว สิ่งไหนที่มีจริงๆ จะเรียกหรือไม่ว่า ชื่ออย่างนั้น อย่างนี้ก็ตาม แต่ว่าโดยสภาพโดยลักษณะของเขาก็จะไม่เปลี่ยนแปลงเลย เช่น "เห็น" ไม่ว่าจะเกิดแก่บุคคลใด ในภาษาอื่นจะใช้คำอื่น แต่สิ่งที่สามารถรู้แจ้งได้ทางตานั้น คือ จิตเห็นเกิด คือ สิ่งที่มีจริง คือ ธรรม สิ่งที่มีจริง คือไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ คือ เกิดขึ้นเป็นลักษณะอย่างนั้นอยู่แล้ว

    ผู้ฟัง จะกล่าวว่าการเห็นเป็นธรรมชาติของตา ...

    ท่านอาจารย์ เราก็ชอบใช้ภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาธรรม แต่ถ้าเราจะฟังธรรมแล้วใช้คำให้เข้าใจ หรือจะไม่ใช้คำว่าธรรม ใช้คำว่าสิ่งที่มีจริง เข้าใจได้หรือไม่ หรือว่าไม่เข้าใจคำว่าสิ่งที่มีจริง ต้องใช้คำว่าธรรม หรือ ใช้คำว่า ธรรม แล้วไม่เข้าใจ ต้องใช้คำว่า ธรรมชาติ นั่นคือเราไปติดคำ ที่เราคิดว่าถูก หรือเราเข้าใจได้ แต่จริงๆ แล้ว จะใช้ภาษาอะไรก็ตาม แต่ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้นได้ ลักษณะนั้นเป็นธรรมคือ เป็นสิ่งที่มีจริง คนไทยจะใช้ภาษาอะไรที่จะทำให้สามารถเข้าใจถึงสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ได้ ใช้คำว่าสิ่งที่มีจริง กำลังปรากฏ เข้าใจได้หรือไม่

    ผู้ฟัง เข้าใจได้

    สุ. ไม่ใช่เมื่อวานนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ยังไม่มี ยังไม่เกิดขึ้น แต่หมายความว่าสิ่งนี้กำลังมีให้รู้ได้ ให้เข้าใจได้ นี่คือธรรม มิฉะนั้น จะไปเรียนอะไร จะไปรู้อะไร จะไปเข้าใจอะไร ถ้าไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังมี กำลังปรากฏในขณะนี้ให้ถูกต้องในความเป็นธรรมของสิ่งนั้น

    ขอถามว่า เมื่อสักครู่ มีเห็น มีได้ยิน มีได้กลิ่น มีลิ้มรส มีรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีคิดนึก มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วมีอะไรอีกหรือไม่

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 1


    สุ. เมื่อสักครู่นี้ มีเห็น มีได้ยิน มีได้กลิ่น มีลิ้มรส มีรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีคิดนึก มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วมีอะไรอีก มีเห็น จริง ขณะที่กำลังฟัง ถ้าเป็นในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ผู้ฟังสามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่เราพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกเรื่อง “ เห็น ” และก็ไม่ต้องไปที่ไหนเลย ๖ โลกในชีวิตประจำวัน คือทางตามีเห็น ให้รู้ว่าขณะนี้มีเห็น เป็นธรรม ทางหูมีได้ยิน เป็นธรรม เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก เป็นธรรม เพราะมีจริงๆ ใครไม่มีบ้าง ไม่มีใครที่ไม่มีเลย แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ถ้ารู้ว่าเป็นธรรมอย่างตอนแรกที่กล่าวว่า ถึงแม้ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา แต่เป็นสิ่งที่มีจริง ต้องเกิดจึงปรากฏ ถ้าไม่เกิด จะปรากฏไม่ได้เลย แต่ไม่เคยรู้การเกิดว่า เกิดแล้วในขณะนี้จึงได้ปรากฏ และก็ไม่รู้ด้วยว่า ทันทีที่เกิดปรากฏก็ดับไปเลย และก็มีปัจจัยที่สภาพธรรมจะเกิดสืบต่อไม่ว่างเว้นจากธรรม จึงไม่ต้องหนีไปไหน ไม่ต้องแยกธรรมออกไปจากสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ อยู่ที่ไหนก็คือธรรมทั้งนั้น แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นก็เริ่มรู้แล้วว่า ใครจะแยกธรรมออกไปได้บ้างจากชีวิตจริงทุกๆ ขณะนี้ แยกไม่ได้ หนีไม่พ้น ต้องเป็นธรรมที่มีอยู่

    ผู้ฟัง คิดนึกที่กล่าวว่าทางใจ ไม่ถูกหรือครับ

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้ใช้คำว่าทางใจ ถามว่าอะไรมีบ้าง มีเห็น มีได้ยิน มีได้กลิ่น มีลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีคิดนึก ให้รู้ว่าเป็นธรรม คิดนึกเป็นธรรม เพียงเท่านี้ก่อน ยอมไหม หรือว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นต้องฟังแล้วฟังอีก แม้แต่คิดหนึ่งขณะก็ไม่ใช่เรา แค่เป็นธรรมก่อน เป็นสิ่งที่มีจริงๆ นอกจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วยังมีความรู้สึกต่างๆ อีก ทุกท่านพิสูจน์ได้เลย ใช่ไหม ดีใจบ้าง เสียใจบ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรม ก็ยังไม่แยกว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม แต่เพื่อเตือนให้รู้ว่าเป็นธรรม สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา จากความรู้พื้นฐานขั้นต้นไปสู่การที่จะรู้จริงๆ ว่าเป็นธรรม เพราะว่าจริงๆ แล้วความรู้สึกของแต่ละท่านไม่เที่ยง ไม่มีใครสุขได้ตลอดเวลา ไม่มีใครเป็นทุกข์ตลอดเวลา และความรู้สึกก็ไม่ใช่มีแต่เฉพาะสุขหรือทุกข์ทางกาย ทางใจก็มีความรู้สึก แม้ว่าร่างกายสบายดี แต่ใจก็เป็นทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นก็แยกความรู้สึกอีกว่า ความรู้สึกทางกายก็อย่างหนึ่ง ความรู้สึกทางใจก็อย่างหนึ่ง ทั้งหมดเป็นธรรม แล้วเวลาที่ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ดีใจไม่เสียใจ ก็มีความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ด้วย ก็เป็นธรรมอีก เพราะฉะนั้นหนีธรรมไม่พ้นเลย เป็นธรรมทั้งหมด ที่จะให้เข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรมทั้งหมด ดังนั้น มีความรู้สึกแล้ว มีอะไรอีก

    ผู้ฟัง มีโทสะ

    ท่านอาจารย์ โทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ แล้วแต่ระดับว่าจะเล็กน้อยนิดหน่อยหรือแค่ขุ่นใจ หรือว่ามาก ถึงกับไม่ลืม คิดบ่อยๆ นั่นก็เป็นลักษณะของธรรมอีก เป็นสิ่งที่มีจริง และต่อไปเราจะรู้ว่าทั้งหมดที่มีจริงจะแยกประเภทออกไปเป็นอย่างไร ธรรมที่เป็นกุศล ที่เป็นอกุศล ที่ไม่ใช่กุศล ที่ไม่ใช่อกุศล ก็คือสภาพทั้งหมดที่เคยเป็นเรา ก็เป็นธรรมทั้งนั้น เพราะฉะนั้น นอกจากมีความรู้สึก มีโทสะ แล้วมีอะไรอีก

    ผู้ฟัง โลภะ

    ท่านอาจารย์ รู้สึกจะตอบได้ไม่ยากแล้วใช่หรือไม่ โลภะความติดข้อง สิ่งนี้เห็นยากเพราะมีตั้งแต่ระดับที่ละเอียดมาก จนกระทั่งระดับที่หยาบพอที่จะรู้สึกได้

    ผู้ฟัง ความตระหนี่ ความริษยา

    ท่านอาจารย์ ความตระหนี่ ความริษยา มีมากหรือมีน้อย จะถามใคร คนอื่นตอบให้ไม่ได้เลย สิ่งที่ปรากฏกับคนอื่น เพียงแต่ว่าเป็นส่วนที่ก่อนจะปรากฏ มีแล้ว แต่ว่ายังไม่ปรากฏกับคนอื่นเลย ต่อเมื่อใดปรากฏ ก็จะปรากฏลักษณะที่คนอื่นสามารถจะคิดถึงได้ เข้าใจได้ว่าเป็นลักษณะนั้นๆ เช่น เวลาที่สนุกมากๆ คนอื่นพอจะรู้ได้ไหม ลักษณะของความเพลิดเพลิน เป็นความติดข้องหรือเปล่า มีจริงๆ หรือเปล่า เป็นธรรมหรือเปล่า นี้คือหนีไม่พ้นเลย กำลังโศกเศร้า ร้องไห้ มีจริงๆ หรือเปล่า มีจริง เป็นของใครไหม เกิดแล้วก็หมดไป ชั่วครั้งชั่วคราว ถ้าเรามีพื้นฐานที่มั่นคงว่าเป็นธรรม ต่อไปความเข้าใจว่าเป็นธรรมจะยิ่งเพิ่มขึ้น มิฉะนั้นก็จะมีความเป็นเราแทรกเข้ามาอีก เพราะฉะนั้นจึงต้องรู้จริงๆ ว่าเป็นธรรม

    วิ.กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ถ้าขณะที่โกรธ หรือว่าโลภ ก็พอจะรู้สึกตัวว่าโกรธ หรือว่าโลภ แต่บางท่านเป็นคนช่างคิดว่า ในขณะที่หลับสนิทซึ่งไม่รู้อะไรเลยในโลกนี้ มีธรรมหรือไม่ หรือว่าธรรมจะมีในขณะที่เราตื่นเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีการตรัสรู้ เราบอกได้หรือไม่ว่าตอนที่หลับสนิทมีอะไรบ้าง หรือบอกไม่ได้ตามความเป็นจริง

    อ.วิชัย บอกไม่ได้

    ท่านอาจารย์ บอกไม่ได้ แต่พอตื่นแล้วรู้ว่า มี ใช่หรือไม่

    อ.วิชัย ก็มีสิ่งต่างๆ มากมาย

    ท่านอาจารย์ หมายความว่ายังมีความทรงจำ ในลักษณะที่ไม่รู้อะไรเลย อะไรก็ไม่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้นเราจึงสามารถที่จะมีคำบอกว่า ฝันหรือหลับสนิท หรือว่าตื่น ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีจริง มีใครบ้างที่ไม่หลับ ไม่มีใช่ไหม เพราะฉะนั้น หลับมีจริงหรือไม่

    อ.วิชัย มีจริง

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมหรือไม่

    อ.วิชัย ถ้ามีจริง ก็ต้องเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องเป็นธรรม นี่คือการที่เราจะไม่เหลืออะไรที่เป็นข้อข้องใจอีก ว่าอะไรเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม คือสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ถ้าไม่รู้ก็คือเรา แต่ผู้รู้ รู้ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ตอบได้แล้วใช่ไหมว่า หลับสนิท มีจริง เป็นธรรม ฝันมีจริงไหม

    อ.วิชัย มีจริง

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมหรือเปล่า

    อ.วิชัย ก็ต้องเป็น

    ท่านอาจารย์ ตื่น เป็นธรรมหรือเปล่า

    วิ. ก็ต้องเป็น

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่มีจริง ให้มีความมั่นคง ให้มีความมั่นใจจริงๆ ว่าเราศึกษาเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ และก็สามารถที่จะเข้าใจขึ้นในความเป็นอนัตตา มิฉะนั้นจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าทุกอย่างอยู่ในตำรา แต่ว่าขณะนี้เรารู้อะไร เราเพียงแต่จะให้มีความเข้าใจที่มั่นคงจริงๆ ในคำว่าธรรม ถ้ากล่าวว่า “โทสะ” ทุกท่านรู้จักใช่ไหม นั่นคือลักษณะของโทสะ แม้ว่าเราจะไม่เอ่ยชื่อเลย ลักษณะของโทสะก็ต่างกับลักษณะของโลภะ ใช่ไหม ความติดข้องกับความไม่ชอบใจ ไม่ต้องการสิ่งนั้น เป็นลักษณะที่มีจริงๆ และก็ต่างกันด้วย สิ่งที่มีจริง จะมีลักษณะเฉพาะอย่างๆ ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขบังคับบัญชาหรือว่าสร้างขึ้นมาได้เลย จึงมีอีกคำหนึ่งว่า “ปรมัตถธรรม” เป็นธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของตนๆ ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จะรู้เมื่อไหร่ รู้เมื่อมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้วปรากฏ นี่คือการกล่าวแบบยาว แต่ถ้าจะกล่าวสั้นๆ ก็คือ “เมื่อปรากฏ” ทุกคนจะต้องโกรธ ขั้นขุ่นใจเล็กๆ น้อยๆ มีไหม โกรธแรงๆ มีไหม ถ้ามีปัจจัยที่จะให้โกรธแรงแล้วขอให้โกรธน้อยลงได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะว่าสิ่งนั้นเกิดแล้ว เป็นแล้วอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นทุกอย่างให้ทราบว่า ไม่มีใครบังคับบัญชาได้เลย ตั้งใจจะไม่โกรธได้ไหม บางท่านฟังเผินอาจจะบอกว่าได้ เพราะว่าเราตั้งใจไว้แล้วว่าเราจะไม่โกรธ ใครมายั่วแหย่ยังไง เราก็จะไม่โกรธ เราก็คิดว่าเราตั้งใจไว้ได้ แต่จริงๆ แล้ว แม้คิดก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และขณะนั้นยังไม่มีปัจจัยพอจะเกิดโกรธ ไม่ใช่หมายความว่าเพราะเราตั้งใจไว้ เป็นเราที่ตั้งใจแล้ว และก็เป็นอย่างที่เราตั้งใจ แต่เพราะเหตุขณะนั้นยังไม่มีปัจจัยพอที่ความโกรธนั้นจะเกิด เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่มั่นคง เข้าใจตั้งแต่เบื้องต้น ทุกอย่างเกิดตามเหตุตามปัจจัย ก็จะทราบได้เลยว่า ค่อยๆ คลายความเป็นเรา แม้ในขั้นเข้าใจ ก็จะเข้าใจขึ้น ปัญหาต่างๆ ที่คิดว่าความคิดก็เป็นเรา เราคิดไว้ว่าเราจะทำอะไรแล้วก็ทำได้ แต่จริงๆ ขณะที่คิดเกิดแล้วดับ แต่สิ่งใดที่จะเกิดต่อไปก็ตามเหตุตามปัจจัยทั้งนั้น ไม่ใช่หมายความว่าเพราะเราไปวางแผนการแล้วสิ่งนั้นก็เกิดขึ้นตามที่เราคิด เมื่อมีปัจจัยเท่านั้นสิ่งนั้นๆ จึงจะเกิดขึ้นได้ คิดๆ ได้ทุกเรื่อง ใครคิดอยากจะเป็นพระโสดาบัน ก็คิดไป แต่ไม่มีเหตุปัจจัยที่ปัญญาสามารถที่จะบรรลุถึงความเป็นพระโสดาบัน ความเป็นพระโสดาบันก็มีไม่ได้ จริงๆ แล้วให้มีความมั่นคงว่าเป็นธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร และก็ทุกอย่างที่จะเกิดเป็นอย่างไร โลภะจะน้อย โทสะจะมาก จะมีความริษยาเกิดขึ้น จะมีความสำคัญตนต่างๆ เกิดขึ้น ในกาลต่างๆ ก็เพราะเหตุว่า มีเหตุปัจจัยที่จะให้สภาพนั้นๆ ปรากฏเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ก็จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้

    ผู้ฟัง ธรรมคือสิ่งที่มีจริง ที่ท่านอาจารย์กล่าวมาทั้งหมด ก็คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ตลอดเวลา ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ไม่ใช่กล่าวถึงสิ่งที่ไม่มี

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ถามว่า เคยตั้งใจที่จะไม่โกรธไหม เคยตั้งใจไว้บ่อยครั้ง แต่พอพบเหตุการณ์ที่จะทำให้โกรธ ก็โกรธทุกครั้ง ฉะนั้น ธรรมทั้งหลายก็เป็นอนัตตาจริงๆ

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก ให้ทราบว่าในขณะใดที่เรากำลังไม่รู้จริงในลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด สภาพธรรมนั้น เกิดแล้วดับแล้ว

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 2


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 171
    24 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ