สนทนาธรรม ๓


    ปกิณณกธรรม ตอนที่ 83

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแม้ว่าจิตมี แต่ก็ไม่มีใครเห็น เพราะว่าจิตไม่ใช่รูปธรรม ไม่มีรูปร่าง ไม่มีหน้าตา ไม่มีสีสรร วรรณะ ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส แต่จิตเป็นสภาพรู้ ต่างกับ สิ่งที่ไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นในทางพระพุทธศาสนา จากการตรัสรู้ของผู้มีพระภาค ทรงแสดงว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งในโลกนี้ และนอกโลก ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม มีสภาพธรรมที่ต่างกัน เป็น ๒ อย่าง คืออย่างหนึ่ง ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เป็นรูปธรรม แต่สภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ รู้ทุกอย่างตั้งแต่เกิดมาจนตาย นั้นรู้ไปหมด นั่นคือลักษณะของจิต เพราะฉะนั้นจิตเป็นธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งแม้จะไม่มีรูปร่างอะไรเลย แต่ก็เป็นสภาพที่สามารถจะรู้สิ่งต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้นในขณะนี้ ถ้าเข้าใจจิตเพิ่มเติมก็จะรู้ว่า ขณะที่เห็นขณะนี้ เป็นจิต ตาไม่เห็น คนนอนหลับก็มีตา แต่ไม่มีจิตเห็น คนตายมีตา มีหู รูปร่างครบถ้วน แต่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่คิดนึกทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นส่วนซึ่งเป็นการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก นั่นคือลักษณะของจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ ถ้าจะเอารูปออกหมด เอาสีออกไปหมด ไม่เห็นอะไร เอาเสียงออกไป ไม่ได้ยินอะไร ไม่มีกลิ่นปรากฎ ไม่มีรสปรากฏไม่มีเย็น ร้อน อ่อน แข็งปรากฏ ก็ยังมีจิตที่คิดนึก เพราะฉะนั้นขณะใดที่คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ขณะนั้นให้ทราบได้ว่าเป็นจิต เพราะฉะนั้นจิตดีก็คิดดี จิตไม่ดีก็คิดไม่ดี แสดงให้เห็นว่าเรามองเห็นว่า สภาพธรรมถ้าแยกออกเป็นลักษณะที่ต่างกันใหญ่ๆ มี ๒ ประเภท คือ นามธรรม เป็นจิต และ สภาพที่ไม่รู้อะไรเลย เป็นรูปธรรม เป็นรูปคือไม่ใช่สภาพรู้ เด็กๆ มีจิตไหม มี ตอนไหน ตอนคลอดหรือว่าก่อนคลอด

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าอยู่ช่วงขณะที่ตั้งครรภ์

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ถามจะไม่ทราบเลย บางคนคิดว่า จิตมีเมื่อตอนคลอดแล้ว แต่ความจริงขณะแรกที่เกิด ขณะแรกที่เกิด จิตเกิดพร้อมกับรูปที่เล็กมาก มองไม่เห็น ค่อยๆ เติบโตเจริญขึ้น แต่ถึงเจริญขึ้น ก็เห็นแต่รูปมาโดยตลอด ถึงแม้ว่ามีจิต เพราะเหตุว่าจิตไม่ใช่สภาพที่ใครสามารถเห็นได้ด้วยตา แต่สามารถที่จะรู้ได้ว่า มีจิต เพราะฉะนั้นมีจิตตั้งแต่ขณะแรกที่เกิด ที่เรายังมองไม่เห็นในครรภ์ นกมีจิตไหม มี ปลามีจิตไหม มี ต้นไม้มีจิตไหม ไม่มี เราต้องมีความเข้าใจจริงๆ คือการฟังธรรม ถึงจะน้อย จะมากอย่างไร ก็ขอให้เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง และถ้าฟังมากขึ้น ก็เข้าใจเพิ่มขึ้น แต่ผลของการฟังคือ ขณะที่ฟังเข้าใจในสิ่งที่ฟังจริงๆ จิตเป็นสภาพรู้ ไม่มีรูปร่าง และตั้งแต่เกิดก็คือจิตเกิด ตายแล้วมีจิตไหม

    ผู้ฟัง ตายแล้วจิตดับ

    ท่านอาจารย์ คนที่เป็นศพ ที่เราเรียกว่าศพ ไม่มีจิต แต่ทันทีที่ตาย ตายปุ๊บเกิดปั๊บ ไม่มีระหว่างคั่น จิตไม่หยุดทำงาน จิตทำงานตั้งแต่เกิดทุกๆ ขณะไป ตอนหลับจิตก็เกิดขึ้นทำภวังคกิจ ดำรงภพชาติให้ยังไม่ตาย เพื่อว่าตื่นขึ้นจะเห็นอีก ได้ยินอีก ทุกวันคือจิต ไม่เคยขาดไปเลย เมื่อตายแล้ว ทันทีที่ทำหน้าที่เคลื่อน สิ้นสุดภพนี้ ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่น เหมือนเมื่อกี้นี้กับเดี๋ยวนี้ เหมือนเมื่อวานนี้ กับวันนี้ เหมือนเดือนก่อนกับเดือนนี้ หรือเหมือนตั้งแต่ขณะที่เกิดจนถึงขณะนี้ เหน็ดเหนื่อยมากไหม จิต ไม่หยุดเลย และไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว เห็น ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว ชาติก่อนเห็น ชาติหน้าก็เห็นเพราะว่า ตายปุ๊บเกิดปั๊บก็เห็น ถ้าเกิดเป็นสัตว์ในนรก หรือว่าเป็นที่มีตัวมีรูปร่างทันที เขาต้องมีการเห็น หรือเทวดา พอตายจากมนุษย์เกิดเป็นเทวดา ก็เห็นทันทีได้ หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว จิตก็จะรู้อารมณ์ทางตา ทางหูได้

    ผู้ฟัง ผู้ที่จิตดับก่อนหมดอายุไข จิตจะไปเกิดปฏิสนธิจิตได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะตายโดยอะไรต่างๆ โดยหมดอายุ โดยหมดกรรม โดยอุบัติเหตุ โดยอะไรก็ตาม หน้าที่ของจิตคือทันทีที่จิตดวงนี้ ขณะนี้ดับ เป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไป เกิดสืบต่อทันที ใครเปลี่ยนแปลงจิตนิยามไม่ได้ นี่เป็นสภาพธรรมชาติของจิต ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องดับ เมื่อดับแล้วต้องเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ

    ผู้ฟัง แสดงว่าตายก่อนหมดอายุขัยไม่มี

    ท่านอาจารย์ จะตายด้วยวิธีไหนก็ตามแต่ เพราะว่าถ้าพูดถึงอายุขัย อายุของคน จะขึ้นลง ร้อยปีจะลดลงไป ๑ สำหรับในยุคนี้ เป็นยุคที่ลดลง แล้วขณะนี้ก็คงจะประมาณ ๗๕ ถ้าคนที่อายุยังไม่ถึง ๗๕ ตาย ก็ไม่ถึงอายุขัย แต่ตายเพราะสิ้นกรรม หรือตายเพราะกรรมอื่นมาตัดรอนก็ได้ แต่จะตายด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม จิตซึ่งเกิด และดับ จะต้องเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไป เกิดสืบต่อทันที ไม่มีช่องว่างเว้นเลย เพียงแต่ไม่รู้ว่าเกิดที่ไหน เหมือนกับว่าเราตายแล้วเราถึงได้เกิด แต่เราก็ไม่รู้ว่าชาติก่อน เราตายเพราะอะไร ตายที่ไหน อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้

    ผู้ฟัง พุทธศาสนา คนส่วนใหญ่ ส่วนมาก คิดว่ามนุษย์เป็นของที่เกิดง่าย ถึงมีการทุศีลบ้าง ในบางกรณี เช่นปาณาติบาต ในสัตว์เล็ก กล้ากระทำโดยไม่ได้คำนึงถึงมี หิริโอตัปปะ อาจารย์ช่วยชี้แนะตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ชี้แนะคงไม่ได้ นอกจากความจริงเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น คือทำอกุศลกรรมแม้เล็ก แม้น้อย อกุศลลกรรมนั้นก็ทำให้ผลเกิดขึ้น เราต้องการผลที่ดี แต่เราทำสิ่งที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นเราจะสมหวัง หรือว่าจะไม่สมหวัง ถ้าเราต้องการผลที่ดี จะสมหวังก็ต่อเมื่อทำสิ่งที่ดี ทำกรรมที่ดี เพราะฉะนั้นในชีวิตของคนเรา ที่เชื่อในเรื่องกรรมของตนเอง ก็จะทำแต่กรรมดีเพิ่มขึ้น ตามกำลังความสามารถที่จะทำได้

    ผู้ฟัง มนุษย์ เกิดง่าย เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ในบ้านนี้มีมนุษย์กี่คน มีสัตว์กี่ตัว

    ผู้ฟัง ครอบครัวมี ๕ คน สัตว์มีนับไม่ถ้วน

    ท่านอาจารย์ อะไรเกิดง่ายกว่ากัน

    ผู้ฟัง เดรัชฉานเกิดง่ายกว่า

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น กุศลกรรมทำยากกว่าอกุศลกรรมหรือเปล่า เราพิสูจน์ธรรมด้วยตัวเขาเอง กุศลจิตของเราเกิดมาก หรือ อกุศลจิตเกิดมาก

    ผู้ฟัง เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าในขณะใด มีจิตเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้คุณประทีป เห็นไหม เห็นรูปร่างลักษณะเป็นอย่างไร ลักษณะที่เห็น

    ผู้ฟัง เห็นเป็น ท่านอาจารย์ เห็น ดอกไม้

    ท่านอาจารย์ มิได้ ตัวเห็น มีรูปร่างอย่างไร ไม่ได้ถามถึงสิ่งที่ถูกเห็น ถามถึง ตัวเห็น ลักษณะที่เห็น มีรูปร่างอย่างไร

    ผู้ฟัง ลองช่วยกันคิด ตัวเห็นมีรูปร่างอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่มี เพราะฉะนั้นเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ซึ่งกำลังเหตุ ที่เห็น ต้องเป็นอาการรู้ เหมือนแข็ง พอเรากระทบ เรารู้ว่าแข็ง แข็งเป็นส่วนหนึ่ง แต่ที่รู้ลักษณะแข็งเป็นอีกส่วนหนึ่งฉันใด ทางตาสิ่งที่ปรากฏ ก็มีสิ่งที่กำลังเห็นสิ่งนี้ แล้วที่เห็นคือจิต

    ผู้ฟัง ที่เห็นคือจิต ที่เห็นก็คือกำลังรู้ว่ามีสิ่งๆ หนึ่งที่เห็นอยู่

    ท่านอาจารย์ มิได้ สภาพที่กำลังเห็น เพราะว่ามีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เมื่อมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น สภาพเห็นเป็นจิต

    ผู้ฟัง สภาพเห็นเป็นจิต ก็ต้องมีอีกอันหนึ่งซึ่งไม่เห็นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกเห็น สิ่งที่ถูกเห็นมี สีสรร วรรณต่างๆ ที่ถูกเห็น

    ผู้ฟัง สิ่งที่ถูกเห็นในภาษาธรรมเรียกว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ อารมณะ อารัมพณะ หรือภาษาไทยเราใช้คำว่า อารมณ์ แต่ไม่ใช่อารมณ์ในภาษาไทยที่เราคิดว่าอารมณ์ดี อารมณ์ไม่ดี แต่หมายความถึงอะไรก็ตามที่จิตกำลังรู้ กำลังได้ยิน จิตได้ยินเกิดขึ้น เสียงเป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน เพราะว่าเสียงถูกได้ยิน เพราะฉะนั้นเสียงเป็นอารมณ์ของจิตที่ได้ยิน

    ผู้ฟัง การที่แสงไปกระทบวัตถุช่อดอกไม้กระเช้านี้ แล้วสะท้อนเข้าตา ที่อาจารย์อธิบายหมายถึงว่า จิตเกิดขึ้นขณะที่เราเห็น

    ท่านอาจารย์ เพราะระหว่างที่พูดว่า แสงมากระทบสะท้อนเข้าไป จิตก็เห็นอยู่ตลอด เร็วกว่านั้นอีก ยังต้องสะท้อนไป สะท้อนมา แต่จิตเห็น เกิดขึ้นเห็น เห็นเลยทันที เพราะฉะนั้นวิทยาการทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์สาขาใดก็ตาม เขาเพียงรู้เรื่องราวของสภาพธรรม แต่เขาไม่รู้จักตัวจิต

    ผู้ฟัง เค้าไม่ได้ศึกษาธรรมโดยตรง

    ท่านอาจารย์ เขาไม่ประจักษ์ เพราะว่า เขาไม่ใช่พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น เขามีทฤษฎีของเรื่องราว เราต้องแยกว่าเวลานี้ มีธรรม ๒ อย่าง สัจจะมี ๒ อย่าง สมมติสัจจะ กับ ปรมัตถสัจจะ สมมติสัจจะ เรียกว่าดอกไม้ ทุกคนยอมรับ เรียกว่ากระดาษ ทุกคนยอมรับ นี่เป็นสมมติ แต่ถ้าเป็นปรมัตถ์ แข็ง ไม่ต้องเรียกว่ากระดาษ นี้ก็แข็งไม่เรียกว่าดอกไม้ ลักษณะที่แข็ง เป็นช้อน เป็นโต๊ะ เป็นรถยนต์ เป็นพัดลม เป็นอะไรก็ตามแต่ ลักษณะแท้ๆ ซึ่งทุกคนพิสูจน์ได้ โดยที่ว่าจะเรียกชื่อต่างกันก็ตามแต่ จะคิดต่างกันก็ตามแต่ จะคิดว่าอันนั้นปรุงมาจากเคมีอะไรๆ ก็ตามแต่ คิดเรื่องราวได้ แต่ตัวจริงก็คือลักษณะแข็ง เพราะฉะนั้นตัวปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง นักวิทยาศาสตร์ไม่รู้ตัวจริง นักวิทยาศาสตร์รู้เพียงเรื่องราว สมมติ เรียกอันนี้ว่าไฮโดรเจน ออกซิเจน โปรตอน อิเล็กตรอน อะไรก็แล้วแต่ที่จะเรียก เพราะเขาสามารถที่จะรู้เพียงความจำในสิ่งที่เห็น ก็มาบัญญัติว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร หรือวิชาการแพทย์ ถ้ากระทบสัมผัสตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า อ่อนแข็ง เย็นร้อน ตึงหรือไหวปรากฏ แต่วิชาการแพทย์มีหัวใจ มีตับ มีปอด มีม้าม มีโลหิต มีอะไรต่างๆ จากสีสันวรรณะที่เขาทรงจำ อันนี้ ลักษณะอย่างนี้ ทำกิจอย่างนี้ มีการเคลื่อนไหวไปทางโน้น ทางนี้ เพราะฉะนั้นเรียกอันนี้ว่าหัวใจ เรียกอันนี้ว่าปอด สมอง เป็นเรื่องราวบัญญัติของสิ่งที่มีจริง แต่ถ้าผู้ที่ประจักษ์ความจริงที่เป็นปรมัตถ์ เขาจะรู้จักปรมัตธรรมซึ่งกำลังเกิดดับ โดยที่บัญญัติยังไม่ได้เกิดขึ้นมาเกี่ยวข้อง ไม่ต้องมีบัญญัติใดๆ มาปิดบัง เพราะว่าเขาสามารถที่จะประจักษ์ตัวจริงๆ ซึ่งเป็นสภาพธรรม เหมือนขณะนี้ เราคุยกันด้วยความรู้สึกทั่วๆ ไป กำลังพบกันคุยกัน แต่จริงๆ จิตเกิด และดับ ทุกคนอยู่ในโลกของตัวเอง แต่ว่าในความคิดว่ามีหลายคน แต่จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง เห็นเหมือนกันหมด คือเห็นทำอะไรไม่ได้เลย เห็น เห็นได้อย่างเดียว เห็นแล้วก็ดับ จิตได้ยินเกิดขึ้น ทำอย่างอื่นไม่ได้ เพราะจิตได้ยินมีหน้าที่ได้ยินแล้วดับ จิตได้ยินไปทำอย่างอื่นไม่ได้เลย แสดงให้เห็นจิตแต่ละชนิด ก็มีหน้าที่แต่ละอย่าง เพราะฉะนั้นแสดงเห็นว่า ธรรมจริงๆ ตัวจริงเป็นอย่างนี้ แต่ว่าเราไม่เคยรู้ว่า จิตกำลังเห็นดับ แล้วจิตได้ยินเกิด ก็เลยเป็นตัวเราที่กำลังนึกเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นคนนี้กำลังนั่งที่นี่ แล้วกำลังคุยกัน นี่คือความคิดนึกหลังเห็น ถ้าไม่เห็นสิ่งนี้ จะคิดว่ากำลังนั่งคุยกัน ไม่ได้ แต่เพราะเห็น จึงมีความคิดว่า นั่งคุยกัน แต่จริงๆ เห็นกำลังเกิดดับ สิ่งที่ปรากฏทางตากำลังเกิดดับ ความคิดกำลังเกิดดับ แต่เมื่อรวมแล้วก็เป็นเรื่องราว เพราะฉะนั้นวิทยาศาสตร์ไม่รู้ความจริงที่เกิดดับ ก็เอาเรื่องราวที่เขาจำไว้ มาเป็นวิชาการต่างๆ

    ผู้ฟัง รู้จักคนๆ หนึ่ง เขาเกิดมาเสียชีวิตโดยกะทันหัน เราเคยรู้จักเค้าแค่ผิวเผิน เกิดความรู้สึกสงสารว่า มันไม่น่าจะเป็นไปอย่างนั้น กับอีกคนหนึ่งที่เขาพอรู้จัก แต่เขาบอกพอฟังแล้วรู้สึกเฉยๆ ๒ คนนี้เขาถึงเกิดความรู้สึกที่ไม่เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ธรรม เป็นเรื่องที่จะแจ่มแจ้ง กับผู้ที่ไตร่ตรองได้ด้วยตัวเอง ได้ยิน ได้ฟังนิดเดียว แต่ถ้าเราคิดพิจารณามากๆ จะเข้าใจได้ด้วยตัวของเราเองว่า ถ้าเรามีพี่น้องหลายคนแล้วไม่เหมือนกัน มีเพื่อนหลายคนแล้วก็ไม่เหมือนกัน ทุกคนที่นั่งทีนี่ก็คิดไม่เหมือนกัน เป็นของธรรมดาว่า ต่างคนต่างใจ ตามการสะสม ถ้าคนไหนที่โกรธบ่อยๆ เค้าต้องเป็นคนที่ขี้โมโห เจ้าโทสะ ถ้าคนไหนที่เห็นใครก็มีเมตตา ช่วยเหลือ สงเคราะห์ ทนไม่ได้ที่จะไม่ช่วยคนอื่น ก็เพราะสะสม สั่งสมมาทีละเล็ก ทีละน้อย จนกระทั่งเป็นอุปนิสัย เป็นสิ่งที่มีกำลัง ที่จะทำให้เป็นอย่างนั้น คิดอย่างนั้น ในขณะนั้น

    ผู้ฟัง คนที่รู้สึกเฉยๆ

    ท่านอาจารย์ เขาก็สะสมความเฉยๆ คนที่ตื่นเต้นก็สะสมความตื่นเต้น คนที่สงสารก็สะสมความสงสาร ไม่วิจารณ์เพราะว่าแน่นอนที่สุดคือการสะสม ดอกไม้ ๒ ดอก ไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่อาจจะสีเดียวกัน ลองนับกลีบดู ลองดูสีซึ่งต่างกัน แค่นี้ยังต่าง แล้วใจมนุษย์จะสักแค่ไหน ดอกไม้ ต้นไม้ ไม่มีจิต อาศัยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ปรุงแต่งอย่างละเอียด ทำให้สีต่างกัน กลีบต่างกัน ดอกต่างกัน ผลต่างกัน รสต่างกัน นี่เพียงแค่อาศัยธาตุ๔ ธาตุ ซึ่งเป็นรูปธาตุ แต่นามธาตุหลากหลายกว่านั้นมากมายเหลือเกิน จะให้เหมือนกันได้อย่างไร แม้แต่ความคิดของเราเอง วันหนึ่งผิดจากวันก่อนไหม แค่เราคนเดียวแล้วคนอื่นจะให้มาเหมือนกันได้อย่างไร

    ผู้ฟัง เฉยๆ เขาจะรู้ธรรมมากกว่าคนที่รู้สึก เสียดาย เสียใจ สงสาร ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้ว่าธรรมคืออะไร แล้วเรารู้ เราถึงจะรู้ว่าเขารู้หรือเปล่า แต่ถ้าเรายังไม่รู้ว่าธรรมคืออะไร แล้วเราจะไปรู้ว่าเขารู้ธรรม ก็เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะเราไม่รู้ว่าธรรมคืออะไร เมื่อไหร่เรารู้ เราถึงจะรู้ว่า เขารู้หรือไม่รู้

    ผู้ฟัง พระพุทธเจ้าท่านทรงตัดแล้วซึ่งกิเลส สละความโลภ โกรธ หลง

    ท่านอาจารย์ ทำไมถึงสละได้ มีอะไรทำให้สละได้ อยู่ดีๆ สละไม่ได้ ต้องมีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้วไม่มีทางเลย ที่ใครจะดับกิเลสได้ แม้แต่เราจะเรียกว่าพระพุทธเจ้าหรือใครก็ตาม ต้องด้วยปัญญา ปัญญาเท่านั้น ถึงจะละกิเลสได้

    ผู้ฟัง ปัญญาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ปัญญาคืออะไรก่อน ทุกอย่างต้องตั้งต้นว่าคืออะไร ถ้าเราไม่รู้จักสิ่งนั้น แล้วเราไปพูดมากถึงสิ่งนั้น เราก็ยังไม่รู้จักอยู่ดี เพราะฉะนั้นต้องทราบว่า ปัญญาคืออะไร ถ้ารู้ว่าปัญญาคืออะไรแล้วจะรู้ว่า จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ให้อาจารย์ช่วยอธิบายให้ฟัง

    ท่านอาจารย์ ปัญญาคือความเห็นที่ถูกต้อง ตามความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆ

    ผู้ฟัง วิธีที่จะให้เกิดปัญญา

    ท่านอาจารย์ ใครเป็นคนที่เห็นถูกต้อง ตามความเป็นจริงก่อน มีไหมคนที่เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง มีไหม

    ผู้ฟัง ต้องใช้เหตุผล

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ใครที่เราพอจะบอกได้ไหมว่า เป็นผู้ที่เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง พระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว ทรงสอนคือทรงแสดงเหตุผลให้เราได้ฟัง เพราะฉะนั้นปัญญาจะเกิดได้ ก็เมื่อเราฟังพระธรรม ฟังคนอื่นยังไงก็ไม่เกิดปัญญา แต่วันนี้มีปัจจัยที่จะให้ได้ยินเสียง เรื่องธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วทรงแสดง ก็ต้องมีเหตุ คือกุศลในอดีต ที่ได้ทำแล้ว ส่วนการที่จะมีศรัทธา หรือมีปัญญา มีความเข้าใจมากน้อยเท่าไหร่ แต่ละคนจะไม่เท่ากัน เพราะว่าแม้พระองค์เองทรงแสดงพระธรรม ผู้ฟังยังไม่เท่ากันในด้านปัญญา บางคนเป็นพระอรหันต์ บางคนเป็นเป็นพระโสดาบัน บางคนไม่เป็นอะไรเลย แต่เริ่มมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ คือไม่พึ่งอื่น แต่พึ่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่เป็นพระอริยสงฆ์ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่อยู่ดีๆ มา แล้วก็ได้ฟัง แต่ทุกขณะต้องมีเหตุ มีปัจจัยทั้งนั้น เพราะฉะนั้นต้องฟัง เพราะว่าสาวกหรือสาวโกคือ ผู้ฟัง ผู้ฟังไม่ใช่ผู้ได้ยิน ได้ยินแล้วผ่านไปเลย แต่ผู้ฟัง ฟังจริงจะเห็นได้ว่าแม้แต่ใครจะพูด หรือใครจะคุย เรารู้สึกว่าไม่น่าที่เขาจะละโอกาสที่จะได้ฟัง เพราะบางคน เหมือนกับไปฟังธรรม แต่ความจริงไม่ได้ฟัง พอฟังนิดนึง ตรงนี้ว่ายังไง ก็ทำไมไม่ฟังต่อไป ระหว่างที่ว่าตรงนี้ว่ายังไง เขาก็ขาดการที่จะได้ฟังคำอธิบายไปแล้ว เพราะฉะนั้นผู้ฟังจริงๆ อย่างที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เตือนแล้ว เพื่อที่จะได้ฟังสิ่งที่จะตรัสต่อไป จงเงี่ยโสตลงสดับ ต้องมีความตั้งใจที่จะฟัง และข้อความในอรรถกถาก็ยังมีความไพเราะ เหมือนกับกล่องหรือหลอดทองที่เล็กมาก และหยอดน้ำมันพระราชสีห์ ลงไปในหลอดทองนั้น นี่คือความที่เราจะต้องตั้งใจเงี่ยโสตฟังจริงๆ เพื่อที่จะเข้าใจ เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า ยิ่งเห็นคุณค่าของพระธรรมมากเท่าไหร่ การฟังธรรมด้วยความเคารพคือ ตั้งใจฟัง เพราะฉะนั้นเห็นใครทำอย่างอื่นก็แสดงให้เห็นว่าคนไม่เห็นคุณค่า หรือว่าไม่ได้ตั้งใจจริงๆ ถ้าตั้งใจจริงๆ ฟังๆ พิจารณาจริงๆ จะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดง เป็นเรื่องสัจจธรรมความจริง เพราะฉะนั้นถ้าไม่ฟัง คิดเอง ไม่มีทาง เพราะว่าใครจะคิดเองได้ ในเมื่อไม่ใช่ผู้ที่ตรัสรู้ ต้องอดทน ต้องมีวิริยะ ความพากเพียรในการฟัง ชอบฟังหรือเปล่าปกติ

    ผู้ฟัง พอฟังได้

    ท่านอาจารย์ แต่ยังไม่มีศรัทธามากพอ ที่จะฟังอย่างตั้งใจ และเห็นคุณค่า

    ผู้ฟัง วันนี้จะมาลองฟังดู

    ท่านอาจารย์ เข้าใจเรื่องวิธีฟังแล้วใช่ไหม เพราะว่าปัญญาจะเกิดไม่ได้เลยถ้าเพียงได้ยิน พอพูดถึงเรื่องปัญญา อยากมีมากๆ แล้ว นี้ไม่ถูกเลย มีมากไม่ได้ถ้าไม่เข้าใจ ตัวปัญญาจริงๆ เราใช้คำในภาษาไทยผิวเผินมาก พูดถึงปัญญาเหมือนเราเข้าใจว่าปัญญาคืออะไร แต่คำว่าปัญญานี้ ไม่ใช่ภาษาไทย เป็นภาษาบาลี และคำว่าเข้าใจในภาษาบาลีก็ไม่มี เพราะเหตุว่าเป็นภาษาไทย ลองคิดดูว่าที่ใช้คำว่าปัญญา ต้องเริ่มจากเข้าใจ ปัญญาก็คือเข้าใจถูก เห็นถูกในภาษาของเรา เวลาที่เราเข้าใจแล้ว ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นๆ ถ้าเป็นภาษาบาลี ปัญญาก็ค่อยๆ เจริญขึ้น แต่ปัญญาไม่ได้หมายความว่าไม่เข้าใจ แสดงให้เห็นว่าเราต้องคิดถึงอรรถหรือตัวจริงของปัญญา ว่าปัญญาคือเข้าใจ เพราะว่าปัญญาไม่ใช่ว่าจะมีมากๆ โดยไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นก็จะต้องรู้ว่า ความเข้าใจที่ถูกคือปัญญา ซึ่งต้องอาศัยการฟัง จะมากหรือน้อยอยู่ที่ ฟังมากหรือฟังน้อย ฟังมากหรือฟังน้อยอยู่ที่ฟังแล้วเข้าใจมากหรือเข้าใจน้อย

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่ามีวิธีการที่จะไปให้ปัญญาเกิดมากๆ แต่ว่าต้องรู้ว่าเมื่อเป็นความเข้าใจแล้ว ก็จะต้องอาศัยการฟัง การไตร่ตรอง และการเข้าใจขึ้น ไม่มีวิธีอื่น อันนั้นก็เป็นความเห็นถูก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 171
    3 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ