เจ้ากรรมนายเวรและการอุทิศส่วนกุศล


    ผู้ฟัง มีผู้กล่าวว่า เมื่อทำบุญควรอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร คำว่า เจ้ากรรมนายเวรในที่นี้หมายถึงอะไร การทำสมาธิเมื่อทำแล้วจะอุทิศส่วนกุศลให้ เจ้ากรรมนายเวรได้ด้วยหรือไม่ อย่างไร

    ท่านอาจารย์ อยากถามท่านที่อุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวรว่า ท่านมีความเข้าใจเรื่องเจ้ากรรมนายเวรว่าอย่างไร เพราะรู้สึกว่าใช้กันมาก และกลัวกันเหลือเกินว่า ถ้าไม่อุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรจะไม่พ้นจากเคราะห์กรรมต่างๆ

    มีท่านผู้ใดเคยทำหรือเคยคิดอย่างนี้บ้างไหม เข้าใจว่าเจ้ากรรมนายเวร คืออย่างไร

    เมื่อทำบุญแล้ว ควรที่จะอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่สามารถรู้และอนุโมทนาได้ แต่ เจ้ากรรมและนายเวร ดูเป็นคำคล้องของกรรมเวรกับเจ้านาย ที่ว่ามีเจ้ากรรมนายเวร แต่ตามความเป็นจริง ใครทำให้ท่านปฏิสนธิในชาตินี้ เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิ อะไรพาให้หรืออะไรทำให้แต่ละบุคคลเกิดในภพนี้ ภูมินี้ เป็นบุคคลนี้ เจ้ากรรมนายเวรหรือเปล่า หรือกรรมของแต่ละท่านเองที่ได้กระทำแล้วกรรมหนึ่งเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในภูมินี้

    เพราะฉะนั้น ไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่จะเป็นเจ้ากรรมของท่าน แต่ละท่านมีกรรมเป็นของตน แม้แต่ปฏิสนธิจิตที่เกิดในภูมินี้ ก็เป็นผลของกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้วในอดีตของท่านเอง ไม่ใช่ว่ามีเจ้ากรรมที่ทำให้ท่านปฏิสนธิ

    ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ธรรมปริยายสูตร ข้อ ๑๙๓

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสนแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสนเป็นไฉนดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน เป็นผู้รับผลของกรรม เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กระทำกรรมใดไว้ เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ฯ

    เพราะฉะนั้น ไม่มีใครเป็นเจ้ากรรมนายเวร หรือท่านผู้หนึ่งผู้ใดมีความเข้าใจเรื่องเจ้ากรรมนายเวรว่าอย่างไร มีใครเคยอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรบ้างไหม

    ผู้ฟัง เคยกระทำ แต่ไม่มีความรู้เรื่องเจ้ากรรมนายเวร

    ท่านอาจารย์ ที่อุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร โดยไม่รู้ว่าเจ้ากรรมนายเวรมี หรือเปล่า หรือเป็นใคร หรืออย่างไร

    ผู้ฟัง เป็นความเชื่อว่า เราทำอะไรให้ใครเขาไม่พอใจหรือเดือดร้อนอย่างไร ก็แล้วแต่ ก็ขอให้ต่างฝ่ายต่างอโหสิกรรมต่อกัน เป็นความเชื่อว่า ถ้าเราแผ่ส่วนกุศลไป แผ่ความเมตตาไป ย่อมเป็นการกระทำที่ดี อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้ใจสบาย เชื่ออย่างนี้ และทำอย่างนี้ และเชื่อต่อไปโดยไม่ได้ศึกษาว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้ที่ไหนบ้าง อาจจะมีก็ได้ คิดว่าเป็นคติทางพุทธศาสนา

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่เคยเห็นเจ้ากรรมนายเวรใช่ไหม

    ผู้ฟัง คุณพ่อคุณแม่ผม ผมถือว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวร เพราะท่านมีบุญคุณกับผม ผมก็อุทิศให้พ่อแม่ครูบาอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นในความหมายนี้ คงหมายถึงผู้ที่มีกรรมต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ชื่อว่าเจ้ากรรมนายเวร อย่างนั้นหรือ

    ผู้ฟัง ผมไม่ทราบความจริงเป็นอย่างไร หรือความเชื่อของคนอื่นจะเป็นอย่างไร แต่สำหรับผมถือว่า ใครก็แล้วแต่ที่กระทำกรรมต่อกัน เราก็อยากอุทิศความดี

    ท่านอาจารย์ นั่นเป็นเรื่องของการอุทิศ แต่นี่เป็นความเข้าใจเรื่องเจ้ากรรมนายเวร ไม่ทราบว่าแต่ละท่านมีความคิดเรื่องเจ้ากรรมนายเวรอย่างไร เพราะรู้สึกว่าจะเป็นธรรมเนียมในการที่จะต้องแผ่ส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร

    ผู้ฟัง ผมเป็นคนธรรมดาที่ไม่ได้ศึกษา ผมเชื่อว่า ถ้าเราทำความไม่ดีกับใครไว้ ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่ใครไว้ คิดว่ากรรมนั้นอาจเกิดสนองแก่เราได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเราอโหสิต่อกันเสียก็คงจะดี นี่เป็นความเชื่อ

    นอกจากนั้นเคยได้ยินว่า พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า สาเหตุของการเจ็บไข้มีหลายอย่าง มีพยาธิ มีอุตุ มีกรรม และในข้อหนึ่งเรื่องของกรรมที่เคยทำอะไรในชาติก่อน อาจทำให้ท่านผู้นั้นมาทวงบุญทวงคุณ หรือมาทวงกรรมที่เราไปทำเขา สำหรับผมเชื่ออย่างนั้น เวลาทำบุญกุศลก็แผ่ส่วนกุศลไป หรือเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่ลืมที่จะใส่บาตรกรวดน้ำถึงท่านผู้อาจจะเป็นเจ้ากรรมนายเวร ถ้ามีอะไรต่อกันก็ขออโหสิแก่กัน ผมทำอย่างนั้นด้วยความเชื่อ ไม่ทราบว่าถูกต้องตามคติหรือธรรมของพระพุทธเจ้า หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ขอให้พิจารณาโดยละเอียดถึงเรื่องการอุทิศส่วนกุศล และการแผ่เมตตา สำหรับการอุทิศส่วนกุศล เมื่อได้กระทำกุศลแล้ว สามารถที่จะอุทิศให้บุคคลใดก็ได้ที่สามารถจะล่วงรู้ เพื่อเขาจะได้เกิดกุศลจิตที่จะอนุโมทนา ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่หรือเป็นผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการอุทิศส่วนกุศลก็เหมือนกับเรื่องการเจริญเมตตา คือ ต้องเป็นผู้มีเมตตา จึงสามารถอุทิศส่วนกุศลในขณะนั้นได้

    ถ้าคิดถึงเจ้ากรรมนายเวรที่มองไม่เห็น กับคิดถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งท่านกำลังไม่พอใจ แทนที่จะคอยโอกาสที่จะแผ่เมตตาด้วยการอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวรที่ท่านไม่เห็นหน้าและไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่กับคนซึ่งท่านกำลังเห็นและอาจจะ ไม่พอใจ บุคคลนั้นก็คงจะเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรได้ไหม ลองคิดดู

    ซึ่งความจริงแล้ว เจ้ากรรมนายเวรไม่มี ทุกท่านมีกรรมเป็นของตน แต่ถ้า คิดถึงกรรมที่ได้เคยกระทำต่อบุคคลอื่น และเรียกบุคคลที่ท่านกระทำนั้นว่า เป็นเจ้ากรรมนายเวรของท่าน และใคร่ที่จะให้เขามีความสุข ให้พ้นจากการผูกโกรธ ในขณะนั้น ทำไมไม่ละเว้นโดยการเจริญเมตตากับคนที่ท่านเห็น แทนที่จะไปอุทิศ ส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรที่ท่านมองไม่เห็น นี่เป็นสิ่งที่ควรจะพิจารณา

    สำหรับการแผ่เมตตา แผ่ได้สำหรับบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น คนที่ล่วงลับไปแล้ว การแผ่หรือเจริญเมตตาไม่มีประโยชน์ ไม่เกิดผล เพราะบุคคลนั้นสูญสิ้นสภาพของการเป็นบุคคลที่เคยเกี่ยวข้อง เคยมีความสัมพันธ์ มีเรื่องราวที่เคยเป็นที่ ชอบพอหรือเป็นที่ชังต่อกัน เพราะฉะนั้น การที่สามารถจะมีเมตตาแม้กับบุคคลที่ ไม่เป็นที่รักได้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เรียกได้ว่าท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญเมตตาจนมีกำลังของเมตตา สามารถที่จะแผ่ให้แม้บุคคลซึ่งไม่เป็นที่รัก ก็แผ่ได้

    ถ้าสูญสิ้นความเป็นบุคคลนั้นแล้ว ท่านไปแผ่เมตตาให้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ในเมื่อท่านย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า ไม่มีบุคคลนั้นอีกต่อไปแล้ว ฉันใด เรื่องของเจ้ากรรม นายเวรก็ฉันนั้น ในเมื่อกรรมก็ได้กระทำไปแล้ว และกรรมนั้นก็เป็นของท่านเอง และบุคคลที่ท่านกระทำกรรมด้วยในชาติไหนๆ ก็ตาม ในปัจจุบันชาตินี้จะเป็นใคร ถ้ากล่าวลอยๆ ว่า เจ้ากรรมนายเวร โดยไม่รู้ว่าเป็นใคร ก็เหมือนกับเป็นโมฆะ เพราะ ไม่รู้ว่าเป็นใครที่ไหน

    แต่ถ้าระลึกถึงว่า ควรจะมีเมตตา และควรอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลทั้งหลายที่สามารถจะล่วงรู้ได้ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร ท่านก็สามารถที่จะแผ่เมตตาหรืออุทิศ ส่วนกุศลให้แม้คนที่ไม่เป็นที่รัก ย่อมจะดีกว่าการที่จะอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร โดยที่ไม่ทราบว่า ในชาติไหนท่านได้ทำกรรมอะไรกับบุคคลใดจนกระทั่งท่านเรียกบุคคลนั้นว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวรของท่าน เพราะกรรมในชาติก่อนๆ ก็ยังนึก ไม่ออก ไม่สามารถจะล่วงรู้ว่าในชาติก่อนๆ ได้ทำกรรมอะไรจึงจะได้มีเจ้ากรรมนายเวร และเจ้ากรรมนายเวรที่ว่า เป็นเจ้ากรรมนายเวรในชาติไหนก็ไม่รู้ และถ้าเป็นในชาตินี้ ใครเป็นเจ้ากรรมนายเวรของท่านบ้าง และเจ้ากรรมนายเวรที่ท่านได้กระทำกรรมกับบุคคลนั้น ยังมีชีวิตอยู่หรือว่าล่วงลับไปแล้ว ถ้าล่วงลับไปแล้ว อุทิศส่วนกุศลให้บุคคลนั้นได้ แต่ไม่ใช่โดยฐานะเป็นเจ้ากรรมนายเวรลอยๆ โดยไม่รู้ว่าเป็นใคร และเป็น เจ้ากรรมนายเวรในชาติไหน

    เพราะฉะนั้น เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเหตุผลจริงๆ เพราะถ้าไม่พิจารณาเหตุผลก็อาจจะกระทำไปโดยที่ไม่เข้าใจว่า เป็นกุศลได้จริงๆ ขั้นไหน เพียงการกล่าวว่า อุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร แต่ก็ไม่รู้ว่าเจ้ากรรมนายเวรเป็นใคร

    โดยมากมักจะกลัวเจ้ากรรมนายเวรว่า เจ้ากรรมนายเวรจะทำให้ชีวิตของท่านลำบากเดือดร้อน แทนที่จะระลึกว่า กรรมที่ท่านกระทำเพราะกิเลส เพราะอกุศลของท่าน เมื่อท่านยังมีอกุศลกรรม ยังมีกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้ทำอกุศลกรรม อกุศลกรรมก็ย่อมเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จึงควรระวังเรื่องของกิเลส และเรื่องของอกุศลกรรม มากกว่ากลัวการที่จะไม่อุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร

    ผู้ฟัง ผู้ที่ผูกพยาบาทกัน ไม่ถือว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันหรือ

    ท่านอาจารย์ โดยสถานไหน

    ผู้ฟัง มีในธรรมบทเรื่องนางยักษิณี เป็นการผูกเวรกันมาหลายชาติ

    ท่านอาจารย์ เมื่อผูกเวรกันแล้ว ทางที่จะหมดเวรนั้นทำอย่างไร

    ผู้ฟัง ที่จะหมดเวร เรื่องมีว่า ตอนสุดท้ายนางยักษิณีจะไปจับลูกของผู้หญิงคนที่ผูกเวรเป็นอาหาร ผู้หญิงคนนั้นก็วิ่งเข้าไปในวัด เอาลูกไปวางที่พระบาทของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เรียกไปและพูดจนสองคนเลิกผูกเวรกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ที่จะหมดเวรกัน คือ กระทำอย่างไร

    ผู้ฟัง คงเป็นเพราะกุศลจิตที่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ใช่ คือ ไม่จองเวร ไม่โกรธกันต่อไปขณะใด ขณะนั้นก็หมดเวรต่อกัน คือ กุศลจิตเกิดทั้งสองฝ่าย

    ผู้ฟัง ถ้าอีกฝ่ายทำบุญ และมีเจตนาดีที่จะให้อีกฝ่ายหนึ่งรับผลของบุญที่ตนกระทำไปด้วย อีกฝ่ายหนึ่งอาจจะเลิกคิดพยาบาท เป็นไปได้ไหม

    ท่านอาจารย์ โดยมากสำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อทำกุศลแล้ว อยากให้เขาเกิดกุศล เราก็บอกให้เขาล่วงรู้ในกุศลนั้น เพื่อที่เขาจะได้อนุโมทนา แต่ถ้าพูดถึงเรื่องเจ้ากรรมนายเวรจะทำอย่างไร เวลาที่เราทำกุศลแล้ว

    ผู้ฟัง คนที่โกรธกัน ถ้าเราอุทิศส่วนกุศลให้ บอกว่าเราได้ทำบุญไปแล้ว ขอให้เขาได้รับส่วนบุญด้วย

    ท่านอาจารย์ อุทิศอย่างไร ตอนไหน ยังมีชีวิตอยู่ หรือล่วงลับไปแล้ว

    ผู้ฟัง ยังมีชีวิตอยู่

    ท่านอาจารย์ ยังมีชีวิตอยู่ เขาจะล่วงรู้ได้อย่างไร วิธีที่จะรู้

    ผู้ฟัง ต้องบอก ฝากคนไปบอก หรือส่งจดหมายไปบอก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็บอกให้เขารู้ เพื่อเขาจะได้อนุโมทนา แต่ไม่ใช่แบบที่ว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวรตั้งแต่ครั้งไหนก็ไม่รู้ กรรมอะไรก็ไม่รู้ และยังไปกลัวอีกว่า ที่อุทิศส่วนกุศลให้เพื่อเขาจะไม่มาทำให้เราเดือดร้อน ดูเหมือนกับว่าเขาสามารถที่จะ ดลบันดาลได้ ทั้งๆ ที่เราเป็นผู้กระทำกรรม เพราะฉะนั้น เรามีกรรมเป็นของเราเอง ไม่ใช่คนอื่นจะสามารถกระทำกรรมให้ได้

    ผู้ฟัง ก็คิดว่าเป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็อย่าผูกโกรธ และไม่ต้องไปคิดถึงกรรมในอดีตที่ผ่านมาแล้ว ไม่รู้ว่ากรรมอะไร เจ้ากรรมนายเวรอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ถ้าไม่ชอบใครก็คิดเสียว่า คนนั้นเป็นเจ้ากรรมนายเวรอย่างที่เราเคยคิดก็แล้วกัน จะได้ไม่โกรธเขา แทนที่จะต้องไปนั่งอุทิศส่วนกุศลให้ ก็เกิดเมตตาทันทีในบุคคลนั้น


    ผู้ฟัง เรื่องการแผ่เมตตา มีคนเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่แผ่เฉพาะญาติมิตรเท่านั้น แต่แผ่ไปให้โอปปาติกะทั้งหลายด้วย

    ท่านอาจารย์ ที่สามารถล่วงรู้ แต่ไม่ต้องคิดว่าโอปปาติกะนั้นเป็นเจ้ากรรมนายเวร คือ อยากให้เข้าใจคำว่าเจ้ากรรมนายเวรให้ถูกต้องว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตนเอง ถ้าได้กระทำกรรมกับใครไว้และอยากให้หมดกรรมนั้น ก็เกิดกุศลจิตแทนการผูกโกรธ

    ผู้ฟัง ข้อความในธรรมบท คือ กุลสตรีที่ในอดีตชาติเคยเป็นเมียหลวง เมียน้อย เมียหลวงได้ทำให้เมียน้อยแท้งลูกถึง ๒ ครั้ง และครั้งที่ ๓ ตาย เมื่อเมียน้อยตายไป จะเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเมียหลวงหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่า เจ้ากรรมนายเวร หมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง เมื่อเมียน้อยตาย ก็ผูกอาฆาตว่า เกิดมาในชาติใดๆ จะกินลูกของเมียหลวง

    ท่านอาจารย์ และเป็นเจ้ากรรมนายเวรอย่างไร

    ผู้ฟัง จึงได้ถามอาจารย์ว่า เป็นหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เป็นความผูกโกรธ ทุกท่านในขณะนี้อาจจะมีภัย หรืออาจจะมีศัตรูจากบุคคลหนึ่งบุคคลใดในชาติปัจจุบันนี้ จะถือว่าเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันมาในอดีต หรือจะผูกโกรธกันในปัจจุบันชาติก็แล้วแต่ แต่บุคคลนั้นไม่สามารถจะทำอันตรายกับบุคคลใดได้ ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะกรรมของบุคคลนั้นเอง

    ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีบุญกุศลที่สั่งสมมาดี พร้อมทั้งคติสมบัติ กาลสมบัติ อุปธิสมบัติ ปโยคสมบัติ บุคคลอื่นแม้ว่าจะโกรธหรือผูกโกรธอย่างไรก็ตาม ย่อมไม่สามารถจะทำอันตรายได้ เพราะแต่ละท่านมีกรรมเป็นของตน เมื่อกุศลกรรมเป็นเหตุ ก็ทำให้กุศลวิบากเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่บุคคลอื่นจะกระทำภัยใดๆ ให้ทั้งสิ้น

    บุคคลที่โกรธท่าน ก็อาจจะยังโกรธ จากวันเป็นเดือน เป็นปี จากชาตินี้ไปถึงชาติหน้าก็ได้ เป็นเรื่องของบุคคลที่ผูกโกรธเอง แต่ไม่ใช่ว่าบุคคลที่ผูกโกรธจะเป็น เจ้ากรรมที่สามารถจะดลบันดาลอะไรให้ได้ และถ้าอกุศลกรรมของท่านพร้อมที่จะให้ผลเป็นอกุศลวิบากเมื่อไร อกุศลวิบากนั้นย่อมเกิดขึ้น เป็นผลของอกุศลกรรมของ ท่านเอง

    ผู้ฟัง เมื่อเมียน้อยผูกโกรธ ผูกอาฆาตแล้ว ในชาติต่อไปเกิดเป็นแมว ในบ้านนั้น ส่วนเมียหลวงก็เกิดเป็นไก่ในบ้านนั้นเหมือนกัน เมื่อไก่ออกไข่ แมวก็กิน ไข่ไก่ทุกที เพราะฉะนั้น เป็นกรรมของไก่ หรือเป็นการกระทำของแมว

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีกรรมเป็นตนเอง บุคคลอื่นจะกระทำอันตรายได้ไหม

    ผู้ฟัง เป็นการกระทำของแมว ไม่ใช่การกระทำของไก่

    ท่านอาจารย์ ถ้าบุคคลนั้นไม่มีกรรมเป็นของตัว แมวนั้นจะกระทำได้ไหม

    ผู้ฟัง เป็นการกระทำกรรมในอดีตชาติที่เป็นเมียหลวง ที่ให้ยาเขากินจนแท้ง ใช่กรรมนั้นหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เรื่องของกรรม นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บุคคลอื่น ไม่สามารถจะพยากรณ์ได้ ถ้าใครกล้าพยากรณ์เรื่องกรรมว่า ขณะนี้ที่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดกำลังได้รับผลของกรรมหนึ่งกรรมใดเป็นเพราะในชาตินั้นๆ ได้กระทำกรรมนี้ เป็นบุคคลนั้น ก็ต้องเป็นที่น่าประหลาดอัศจรรย์ว่า บุคคลนั้นสามารถจะล่วงรู้ได้อย่างไร ในเมื่อไม่ใช่ทศพลญาณอย่างพระญาณของผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่บุคคลอื่นสามารถรู้ได้ แต่ข้อสำคัญพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสนเป็นไฉนดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน เป็นผู้รับผลของกรรม เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กระทำกรรมใดไว้ เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

    นี่คือกรรมของตัวเอง เพราะฉะนั้น อย่าเข้าใจผิด คิดว่าบุคคลอื่นเป็นเจ้ากรรมนายเวรที่สามารถทำให้ท่านได้รับความทุกข์ต่างๆ แต่เป็นเพราะกรรมของท่านเองต่างหากที่เป็นเหตุ

    ผู้ฟัง ผมเกรงว่าจะเป็นเรื่องของถ้อยคำหรือภาษาเท่านั้น แต่ความเข้าใจตรงกัน คือ ที่ท่านอาจารย์เรียกว่า เป็นกรรมของเรา ไม่เรียกว่า เจ้ากรรมนายเวร แต่ที่เชื่อๆ กัน ก็คงจะเชื่อแบบเดียวกันว่า เป็นกรรมของเราเอง เราไปฆ่าเขา ชาติต่อไปเขาก็มาฆ่าเรา แต่ทางภาษาเราใช้ว่า เป็นเจ้ากรรมนายเวร คือ เราไปกระทำใครเขาไว้ ไม่ได้หมายความว่าเป็นกรรมมาจากคนอื่น เป็นเพราะกรรมของเราเอง รวมทั้งพระโมคคัลลาตอนสุดท้ายก็สิ้นชีวิตเพราะกรรมของท่านเอง

    ท่านอาจารย์ ทุกท่านเป็นผู้ที่มีกรรมของตนเอง ในปัจจุบันชาติจำได้ไหมว่าได้ทำกรรมอะไรไว้บ้าง เป็นเจ้ากรรมนายเวรของใครบ้าง จำได้ไหม

    ผู้ฟัง บางทีก็จำได้ ไปทำใครให้เขาเจ็บช้ำน้ำใจ ก็ขออโหสิเขาไป

    ท่านอาจารย์ ถ้าคนนั้นสิ้นชีวิตไปเกิดเป็นอีกบุคคลหนึ่ง ยังจะถือว่าเป็นเจ้ากรรม นายเวรของคนเก่าอยู่หรือเปล่า

    ผู้ฟัง รู้ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ละคนไม่ได้มีกรรมเดียว ได้กระทำกรรมกันมาก มีการฆ่าสัตว์ นี่คือกระทำกรรม ท่านคิดว่าสัตว์นั้นเป็นเจ้ากรรมนายเวรของท่านหรือเปล่า และสัตว์นั้นจะจำได้ไหมว่าเคยถูกท่านฆ่า เช่น ไก่ตัวหนึ่งตาย เกิดใหม่เป็นมนุษย์ สัตว์ตัวนั้นยังจะสามารถจำได้ไหมว่า เขาเป็นเจ้ากรรมนายเวรของท่าน

    ผู้ฟัง จำไม่ได้แน่นอน

    ท่านอาจารย์ ก็จำกันไม่ได้ทั้งนั้น คือ คนที่กระทำกรรมก็จำไม่ได้ว่าได้เคยกระทำกรรมกับบุคคลนี้ เพราะตัวเองก็ไปเกิดใหม่ เพราะฉะนั้น ก็ลืมไปแล้วว่าชาติก่อนได้เคยกระทำกรรมอะไรไว้กับใคร และเป็นเจ้ากรรมนายเวรของใครก็จำไม่ได้อีก เพราะจำเรื่องของชาติก่อนไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เรื่องเจ้ากรรมนายเวร เป็นเรื่องความคิด ต่างคนต่างก็เป็นเจ้ากรรมนายเวรกันทั้งนั้น ถ้าโดยลักษณะนั้น

    ผู้ฟัง เราไม่สามารถจะรู้ได้เพราะไม่มีญาณหยั่งถึง แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงทราบ

    ท่านอาจารย์ อย่างเช่น ไก่ที่ถูกฆ่าไป ๑ ตัว ไก่ตัวนั้นซึ่งไปเกิดใหม่ก็ไม่รู้ว่าเป็น เจ้ากรรมนายเวรของใครในชาติก่อน แม้เราเองในชาตินี้ ก็ไม่รู้ว่าเราเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรของใครในชาติก่อน เพราะฉะนั้น ใครที่กำลังอุทิศส่วนกุศลให้เรา ซึ่งเราอาจจะเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเขาในชาติก่อน เราก็ไม่รู้อีก เพราะชาตินี้เราจำชาติก่อนไม่ได้เลย

    ชาติก่อนก็เหมือนกับชาตินี้ คือ เราได้ทำกรรมเวรไว้ เราเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเขา เราก็ยังจำไม่ได้ เขาเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเรา เขาเกิดใหม่เขาก็จำไม่ได้อีก ต่างคนต่างก็จำกรรมกันไม่ได้ทั้งนั้น และจะเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันได้อย่างไร

    ผู้ฟัง อย่างที่ผมกราบเรียนแล้วว่า เป็นเรื่องของภาษา ตามความเข้าใจของกระผม เราจำไม่ได้หรอกว่าเราไปทำอะไรใครไว้ แต่เราเชื่อว่าเราคงเคยไปทำใครไว้ เดี๋ยวนี้เรามีจิตที่คิดว่าบริสุทธิ์ คิดจะแผ่ส่วนกุศลให้ เราก็เรียกว่า เจ้ากรรมนายเวร

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ ท่านที่นั่งอยู่ในห้องนี้เคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรของท่านผู้ถามบ้างไหม

    ผู้ฟัง ตอบแทนได้ว่า ไม่มีใครรู้ใครทั้งสิ้น

    ท่านอาจารย์ แต่อุทิศส่วนกุศลให้ทุกวัน เขาจะทราบไหมว่าท่านอุทิศส่วนกุศลให้ เขาก็ไม่รู้ ขณะที่อยู่ในชาตินี้ พบปะใคร ก็ไม่รู้ว่าเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรต่อกันหรือไม่ เพราะฉะนั้น แทนที่จะนึกว่าเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรหรือไม่ หรือแทนที่จะมีเวรโดยการผูกโกรธ ก็เป็นผู้ที่มีเมตตาต่อกันทันที จึงหมดเวรได้

    ไม่ใช่ว่าต้องไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรโดยที่ไม่รู้ ท่านที่กำลังนั่งอยู่ในที่นี้จะเป็นกี่ท่านก็ตาม อาจจะเป็นเจ้ากรรมนายเวรก็ได้ ทั้งๆ ที่อุทิศส่วน กุศลให้ ก็ยังไม่รู้ว่ามีใครอุทิศส่วนกุศลให้

    ผู้ฟัง ถ้ามีคนอิจฉาริษยา เราจะทำอย่างไรให้เขาเข้าใจว่า สิ่งที่เขาคิดนั้นผิด คือ ถ้าเราทำบุญทำกุศลและไปบอกเขา ให้เขาอนุโมทนาด้วย และใจเราก็คิดว่า ที่เขามีจิตอิจฉาริษยา ต่อไปอย่าได้มีเลย อะไรอย่างนี้ มีวิธีใดที่เราจะบอกเขาได้

    ท่านอาจารย์ รู้ได้อย่างไรว่า เขาอิจฉาริษยา

    ผู้ฟัง จากเหตุการณ์ประมวลมาหลายๆ อย่าง

    ท่านอาจารย์ ใครจะแก้ใจของคนอื่นได้ ถ้าไม่ใช่เขาเอง

    ผู้ฟัง ใช่ สมมติเราทำบุญ และเราจะให้เขาอนุโมทนาด้วย เราจะบอกเขาอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่สุด คือ ผู้ที่มีอกุศลจิตเป็นผู้ที่รู้ตัวเองว่ามีอกุศลจิตหรือเปล่า ข้อสำคัญที่สุดของทุกคน ไม่ว่าใครทั้งนั้นที่กำลังมีอกุศลจิต รู้ตัวเองไหมว่า ตนเองกำลังมีอกุศลจิต หรือคนอื่นทั้งนั้นที่อิจฉาริษยา นี่เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณา คือ แทนที่จะพิจารณาว่าคนอื่นริษยา กลับพิจารณาจิตของตนเองจะดีกว่าไหมว่า จิตของเรา ในขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ต้องเป็นอกุศลแน่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แทนที่จะมุ่งหวังไปแก้ไขคนอื่น ขอให้ทุกคนพิจารณาจิตของตนเอง ถ้าผู้ใดเป็นผู้ฉลาด ผู้นั้นย่อมแก้ไขจิตของตนเองด้วยการพิจารณาจิตของตนเองว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    บางคนมุ่งคิดจะแก้ไขบุคคลอื่นที่ริษยา แต่ความจริงควรพิจารณาจิตของตนเองก่อนว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แน่ใจหรือว่าเขาริษยา หรือว่าเราเองเป็นอกุศลจิต

    ผู้ฟัง ต้องมีเหตุผลที่ว่าใครเขาหวังดี หรือหวังไม่ดีกับเรา และที่จะให้เลิกแล้วต่อกันโดยที่เราไปทำบุญทำกุศลมา เราก็จะให้เขาอนุโมทนาด้วย เพื่อให้จิตเขาเป็นกุศลขึ้นมาบ้าง

    ท่านอาจารย์ ยาก ผู้ที่มีอกุศลแล้วไม่รู้ตัว ไม่มีใครสามารถที่จะแก้ไขได้ มีทางเดียวที่จะแก้ไขได้ คือ ให้ผู้ที่กำลังมีอกุศลจิตนั้นรู้สึกตัวว่ากำลังมีอกุศลจิต และเป็นเรื่องของบุคคลนั้นเอง ซึ่งเมื่อรู้ตัวว่ามีอกุศลจิตแล้ว มีความต้องการที่จะแก้อกุศลจิตนั้นให้บรรเทาละคลายลงไปหรือเปล่า แต่ต้องเป็นเรื่องของผู้ที่รู้ว่าตนเองมีอกุศลจิต

    คนที่อิจฉาริษยาใคร ต้องรู้ตัวเองว่าในขณะนั้นเป็นผู้ที่ริษยา เป็นผู้ที่กำลังมีอกุศลจิตหรือเปล่า ถ้าไม่รู้ตัว ไม่มีทางที่จะแก้ไขได้เลย เพราะฉะนั้น ทางเดียวที่จะแก้ไข คือ บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องสามารถที่จะทำให้บุคคลนั้นรู้ได้ว่าตัวเองกำลังมีอกุศลจิต กำลังริษยา แต่ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ตัว ก็ไม่มีทางที่จะแก้ไขได้

    เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ใดสามารถทำให้ผู้ที่กำลังมีอกุศลจิตอยู่รู้สึกตัวว่าบุคคลนั้นกำลังมีอกุศลจิตนั้นๆ อยู่ จึงจะแก้ไขได้

    ผู้ฟัง จะทำวิธีไหน

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ความสามารถ แล้วแต่โอกาส แล้วแต่บุคคลที่จะทำให้คนอื่นเห็นจริงๆ ว่ากำลังมีอกุศล เพราะโดยมากเป็นคนอื่นทั้งนั้นที่มีอกุศล ใช่ไหม นอกจากตัวเอง

    ผู้ฟัง ตัวเองก็มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องรู้ตัวเองว่ามีอกุศลขณะไหน และเป็นอกุศลประเภทใด เมื่อไม่ต้องการอกุศลประเภทนั้น ขณะนั้นก็จะได้เห็นว่า ถ้าสะสมอกุศลนั้นต่อไปจะทำให้มีกำลังขึ้น สามารถที่จะกระทำทุกอย่างได้

    ผู้ฟัง ถ้าเราให้เขาอนุโมทนากับกุศลของเรา ที่เราทำมาแล้ว เราจะบอกเขาด้วยวิธีไหนดี

    ท่านอาจารย์ ทำไมอยากจะให้เขาอนุโมทนา เพียงแค่ให้เขาไม่ริษยาก่อน เขาก็จะอนุโมทนาได้ แต่ตราบใดเขายังริษยา เขาจะอนุโมทนาได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ไม่มีทางใช่ไหม แบบนี้

    ท่านอาจารย์ ต้องให้รู้ตัวว่า เป็นผู้ที่กำลังริษยา

    ผู้ฟัง เรื่องเมตตามีขีดจำกัดเหมือนกัน ถ้าเราเมตตาเขาอยู่เรื่อยๆ และผลของความเมตตาก็ไม่ได้ปรากฏอะไรออกมาเลย คือ เราดีต่อเขามานาน แต่ความไม่ดีของเขาไม่ได้ลดน้อยลงเลย เมตตาเราก็หมดได้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เรื่องของเมตตา เป็นเรื่องซึ่งควรจะอบรม และเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะจึงจะสามารถรู้ขณะจิตที่เป็นเมตตาได้ว่า ขณะใดที่เป็นโทสะ ขณะนั้นไม่ใช่เมตตา ขณะใดที่เป็นเมตตา ขณะนั้นจะไม่มีโทสะ

    ผู้ฟัง เวลามีเมตตา ก็มีความนึกคิดที่เหมือนกับจะแฝงความต้องการผลตอบแทนอะไรอย่างนี้ เช่น เราเมตตาเขา แต่เขาไม่เมตตาเรา ความเมตตานั้นก็จะลดน้อยลงไปทุกทีกับบุคคลนั้น

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่เรื่อง แล้วแต่เหตุการณ์ แล้วแต่เหตุปัจจัย สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้

    ผู้ฟัง การเจริญเมตตากับบุคคลที่เห็นๆ กันอยู่ ไม่ทราบว่าจะเจริญกับเขาได้มากแค่ไหน ขอคำแนะนำด้วย

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ จึงจะรู้ขณะจิตว่า ขณะนั้นเป็นมิตร หรือว่ากำลังมีโทสะ ถ้าขณะใดที่มีโทสะ ขณะนั้นไม่ใช่เมตตา เพราะ สภาพธรรมทั้งสองเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เมตตากับโทสะ

    ผู้ฟัง การทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่อาจารย์กล่าวว่า เราไม่รู้ว่าคนนั้นเป็น เจ้ากรรมนายเวรของเราหรือไม่ อย่างบิดามารดาที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว บุตรหลานทำบุญอุทิศส่วนกุศลหรือกรวดน้ำไปให้ ก็ไม่ทราบว่าท่านจะได้รับหรือไม่ ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ ถูก

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น คนที่ทำก็เป็นโมฆะ

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็น เพราะถ้าท่านอยู่ในฐานะที่จะรับการอุทิศส่วนกุศลได้ ท่านก็อนุโมทนาได้ เพราะฉะนั้น บุตรหลานเมื่อระลึกถึงพระคุณจึงได้กระทำกุศลและอุทิศส่วนกุศล เมื่อท่านอยู่ในฐานะที่จะล่วงรู้และอนุโมทนาได้ ท่านก็ได้รับส่วนกุศล แต่ ถ้าไม่อยู่ในฐานะที่จะอนุโมทนาได้ เช่น เกิดในนรก กุศลก็เป็นของผู้ที่ทำกุศลนั้น เพียงฝ่ายเดียว

    ผู้ฟัง ทางที่ดี มนสิการถึงบุญคุณของท่านดีกว่าไหม

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่จะเป็นบุญ ที่จะอุทิศให้ ก็กระทำ

    ผู้ฟัง ถ้าท่านอนุโมทนาได้ เราก็ได้บุญ ๒ ต่อ

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า ผู้ที่อุทิศส่วนกุศล ก็เป็นกุศลกรรมของบุคคลนั้น และ ผู้ที่ล่วงรู้และอนุโมทนา ก็เป็นกุศลกรรมของผู้ที่อนุโมทนาเอง

    อย่าลืมว่า ถ้าจะคิดถึงเจ้ากรรมนายเวร ก็ที่กำลังมองเห็นอยู่นี่ ก็ไม่ทราบว่าเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันในชาติไหน ถ้าคิดว่าในสังสารวัฏฏ์อาจจะเคยเป็นใน ชาติหนึ่งชาติใด ก็มีเมตตาต่อผู้ที่กำลังพบกำลังเห็นทันที แทนที่จะรอโอกาสว่า ไปทำบุญและอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน และ มองไม่เห็น


    นาที 27:07

    กรณี ...


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 171
    24 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ