พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 46


    ตอนที่ ๔๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ หรืออีกชื่อหนึ่งตามความหลากหลาย เพราะเหตุว่า เป็นไปในทานก็ได้ ในศีลก็ได้ เป็นต้น ก็กล่าวว่ามหากุศล ๘ มหาวิบาก ๘ มหากิริยา ๘ เพราะฉะนั้นเราก็เริ่มเข้าใจชื่อที่ต่างโดยความหมาย แต่ว่าสภาพธรรมก็คืออย่างนั้น จะกล่าวโดยนัยของภูมิก็เป็นกามาวจรกุศล กามาวจรวิบาก กามาวจรกิริยา ถ้าโดยนัยของความหลากหลาย มหากุศล ก็คือกามาวจรกุศล ไม่ใช่รูปาวจรกุศล ไม่ใช่อรูปาวจรกุศล ไม่ใช่โลกุตตรกุศล มหาวิบากก็คือกามาวจรวิบาก เกิดบนสวรรค์ก็ได้ อะไรก็ได้แล้วแต่ที่เป็นผลหลากหลายต่อมา และที่เป็นกามาวจรกิริยาก็คือจิตสำหรับพระอรหันต์ ก็ค่อยๆ เข้าใจไป กามาวจรจิตมี ๕๔ เรามีครบไหม ไม่ครบ ก็ยิ่งศึกษาง่ายขึ้นใช่ไหม ตามที่มี ว่าจริงๆ แล้วเรามีจิตที่เป็นกามาวจรจิตเท่าใด รูปาวจรจิตมีไหม ไม่มี อรูปาวจรจิตมีไหม ไม่มี และถ้าไม่ถึงโลกุตตรจิต โลกุตตรจิตก็ไม่มี เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ที่เกิดวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ ก็กามาวจรจิตที่เว้นกิริยาจิตของพระอรหันต์ ซึ่งต่อไปจะทราบว่า สำหรับกิริยาจิตของพระอรหันต์นั้นมีอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง สัตว์เดรัจฉานกับมนุษย์ที่ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิจิตของอบายภูมิ ต่างกับปฏิสนธิจิตของสุคติภูมิ ไม่อย่างนั้นบาปบุญไม่มีประโยชน์ ไม่มีเหตุที่จะให้ผลที่ต่างกัน แต่กรรมที่เป็นกุศลมี กรรมที่เป็นอกุศลมี เพราะฉะนั้นกรรมที่เป็นอกุศลให้ผลปฏิสนธิในอบายภูมิหนึ่งอบายภูมิใดในสี่ และกรรมที่เป็นกามาวจรกุศลก็ให้ผลปฏิสนธิในภูมิหนึ่งภูมิใดในสุคติภูมิ ๗ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖ ปฏิสนธิจิตก็ต่างกัน

    ถ้ากล่าวถึงเรื่องวิบากซึ่งเป็นผลที่ทำให้เกิด สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย เป็นสันตีรณอกุศลวิบากปฏิสนธิ เพราะเหตุว่ากรรมใดๆ ก็ตามที่ทำแล้ว ต้องให้ผลแน่นอน จะประกอบด้วยเหตุ หรือไม่ประกอบด้วยเหตุ ก็ต้องให้ผล เหตุที่มีสามเหตุ คือ โลภะเหตุ โทสะเหตุ โมหะเหตุ เป็นชาติเดียว คือเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นจะทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ โลภะจะไปทำหน้าที่เกิดไม่ได้ แต่เป็นเหตุที่จะให้เกิดได้ เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดเป็นวิบากจิต เป็นผลของอกุศลกรรม ไม่ประกอบด้วยอกุศลเจตสิกที่เป็นเหตุเลย เพราะว่าขณะใดที่อกุศลจิตประกอบด้วยอกุศลเหตุ ขณะนั้นไม่ใช่วิบาก

    สำหรับโลภะ โมหะ โทสะ เป็นชาติเดียวคือชาติอกุศล เกิดเมื่อไหร่เป็นอกุศล ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนอย่างไรก็เป็นอกุศล ไม่ใช่วิบาก เพราะฉะนั้นเมื่อให้ผล วิบากจิตที่ทำกิจปฏิสนธิจึงไม่ประกอบด้วยเหตุ เมื่อเป็นผลของอกุศลกรรมจะให้ประกอบด้วยเหตุที่ดี คืออโลภะ อโทสะ อโมหะ ไม่ได้ และในขณะเดียวกันเมื่อเป็นวิบากก็ไม่ประกอบด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นเหตุ

    ค่อยๆ ศึกษาไปโดยนัยของภูมิ เข้าใจไว้ตอนหนึ่ง แล้วต่อไปก็เข้าใจโดยนัยของเหตุ จะทำให้ไม่สับสนว่าเรากำลังพูดถึงอะไร พูดถึงภูมิ หรือพูดถึงเหตุ หรือพูดถึงชาติ

    เรากำลังเริ่มที่จะเข้าใจเท่านั้นเอง เรื่องใดที่เข้าใจได้ก็เป็นประโยชน์ เช่นกุศล และอกุศล สิ่งใดที่เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ ก็ต้องรู้ว่าเกินความสามารถ เช่น อกุศลกรรมเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบาก ถูกต้องไหม และกุศลกรรมเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบาก สำหรับกุศลวิบาก และอกุศลวิบากก็มีอยู่ทางตา ขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่ดี กุศลวิบากเป็นผู้ที่รู้อารมณ์นั้น คืออิฎฐารมณ์ ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดี อกุศลวิบากก็เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์นั้น แต่ใครสามารถจะบอกได้ว่าแต่ละขณะ อารมณ์นั้นเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ เมื่อบอกไม่ได้ ก็จบ ใช่ไหม หรือเราไปพยายามทำอย่างไรให้เราสามารถจะบอกได้ เช่นเดียวกับ ตทาลัมพนะ และอีกหลายเรื่องซึ่งเราจะได้พิจารณาเฉพาะปัญญาของเราเอง ถ้าปัญญาของเราสามารถที่จะเข้าใจได้ควรพิจารณา ควรอบรม แต่ถ้าเราไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ วันนี้เรามานั่งคิดว่า กำลังเห็นขณะนี้ เดี๋ยวนี้ และเห็นขณะนั้น เดี๋ยวนั้น ขณะไหนเป็นกุศลวิบาก ขณะไหนเป็นอกุศลวิบาก เราจะได้รับประโยชน์อะไร เพราะเหตุว่าวิบากจิต เช่นจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ เกิดก่อนกุศล และอกุศล เพราะฉะนั้นถึงจะเกิดความติดข้องในสิ่งที่เห็น แต่จะบอกได้ไหมว่า เราติดข้องในสิ่งที่เป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ เราก็พอจะประมาณส่วนใหญ่เท่านั้นเอง

    อ.กุลวิไล การที่เราศึกษาพระธรรม โดยเฉพาะเรื่องของปรมัตถธรรม และเราก็เปรียบเทียบระหว่างมนุษย์กับสัตว์ ก็จะเห็นว่าไม่แตกต่างกันในด้านที่ว่าเป็นกามาวจรภูมิเหมือนกัน แล้วก็มีจิต ๔ ชาติเหมือนกัน กุศล อกุศล วิบาก และกิริยา เพียงแต่ว่าเขาปฏิสนธิด้วยสันตีรณะอกุศลวิบากเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ นี่ก็จะทำให้เราเข้าใจ ทุกชีวิต และก็มีความเป็นมิตรเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นใคร ก็คือชั่วขณะที่เกิดในชาตินี้เป็นอย่างนี้ ชาติก่อนเป็นอะไร และชาติต่อไปจะเป็นอะไร สุปปพุทธกุฏฐิ ขอทานโรคเรื้อน ใครเคยประมาท ใครเคยดูหมิ่น ใครเคยทำอะไร แต่ก่อนที่จะสิ้นชีวิต ท่านเป็นพระโสดาบัน เมื่อเกิดบนสวรรค์ คุณธรรมมากกว่า หรือไม่กับคนที่เคยดูหมิ่น คนที่เคยทำสิ่งที่ไม่ดี คิดไม่ดีกับท่านเหล่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจธรรมว่าเป็นธรรมจริงๆ กุศลจิตก็เกิดมาก จะไม่มีช่องว่างระหว่างฐานะ ระหว่างความรู้ ระหว่างชาติตระกูล หรืออะไรทุกอย่าง มีความเป็นมิตรด้วยใจจริง และความเป็นมิตรก็คือหวังดี พร้อมที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ก็แสดงให้เห็นว่าถ้ามีความเข้าใจสภาพธรรมจริงๆ กุศลก็จะเพิ่มขึ้น

    อเหตุกจิต คือจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เช่น จิตเห็น มีเจตสิกเกิดเท่ากัน ไม่ว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเทพ เป็นมนุษย์ เป็นพรหม และก็ต้องมีรูปารมณ์ คือสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ จะมีอย่างอื่นเป็นอารมณ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเอาคำว่า สัตว์เดรัจฉาน นรก เปรต อสูรกาย เทพ พรหม ออก พูดถึงจิต จิตเห็นก็คือจิตเห็น เป็นอเหตุกจิต

    ผู้ฟัง แล้วตอนชวนะ

    ท่านอาจารย์ นี่เปลี่ยนแล้ว เปลี่ยนจากจิตเห็น เพราะฉะนั้นเราจึงต้องกล่าวถึงจิตแต่ละประเภท

    ผู้ฟัง ก็อยู่ในวิถีจิต แล้วทำไมชวนะนี่ ...

    ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิจิตของช้างกับปฏิสนธิจิตของมด ก็คืออุเบกขาสันตีรณะอกุศลวิบากเหมือนกัน ของท่านพระเทวทัตในอเวจีนรกขณะนี้ก็เหมือนกัน คือ เป็นอุเบกขาสันตีรณะอกุศลวิบาก เพราะฉะนั้นเราจึงต้องกล่าวถึงจิต ก็จะแสดงถึงประเภทต่าง ประกอบด้วยเหตุ และไม่ประกอบด้วยเหตุ ด้วยกิจที่ต่างกัน และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ให้เห็นชัดว่าเป็นสภาพธรรมที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น ปฏิสนธิจิตของช้างกับมดจะให้เป็นอุเบกขาสันตีรณะกุศลวิบากก็ไม่ได้ หรือจะให้จิตปฏิสนธิของมดเป็นอุเบกขาสันตีรณะกุศลวิบาก ของช้างเป็นจักขุวิญญาณก็ไม่ได้ จิตแต่ละประเภทก็เป็นสภาพของจิตนั้นๆ

    ผู้ฟัง แล้วตอนปฏิสนธิจิตไม่มาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันเลย หรือ

    ท่านอาจารย์ ต้องเกี่ยวข้องภายหลังแน่นอน สัตว์เดรัจฉานก็ไม่สามารถจะเจริญปัญญาจนรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะว่าปฏิสนธิจิตไม่ประกอบด้วยเหตุ ไม่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก หรือแม้แต่คนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ มั่งมีด้วยสมบัติต่างๆ แต่ก็ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี เพราะฉะนั้นท่านเหล่านั้นจะสมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยสมบัติต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    ผู้ฟัง ก็คงต้องแตกต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ตามจิตที่ปฏิสนธิด้วย แต่จิตเห็นไม่ต่าง จิตได้ยินไม่ต่าง โลภมูลจิตก็ไม่ต่าง โทสะมูลจิตก็ไม่ต่าง

    อ.ธิดารัตน์ ที่ต่างนี่หมายถึงว่าต่างกันโดยจำนวน แม้กระทั่งจะเป็นกามาวจรจิตเหมือนกัน แต่โอกาส หรือภูมิที่สัตว์นั้นเกิด จะมีโอกาสให้มหากุศลประเภทนั้นๆ ไปเกิดได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง จิตแต่ละประเภทก็ไม่แตกต่างกัน แต่ว่าอกุศลจะเกิดมาก หรือเกิดน้อยนี่ก็คงจะแตกต่างกัน เพราะว่าพวกที่ปฏิสนธิด้วยอเหตุกจิต..

    ท่านอาจารย์ ตามการสะสม สัตว์ที่พูดไม่ได้ กับคนที่พูดทุจริต เป็นอย่างไร ใครจะสะสมอกุศลได้มากกว่ากัน

    ผู้ฟัง คน

    ผู้ฟัง จิตที่บอกว่ามีตัวเลขๆ นี่ก็สำคัญกำกับสภาวะที่ไม่ผิดเพี้ยน ไม่คลาดเคลื่อนอย่างไร

    ท่านอาจารย์ จิตคงจะมีมากมายนับไม่ถ้วนเลย ถ้าจะนับจิตเพราะเหตุว่าแต่ละคนในสังสารวัฏฏ์นี่ก็มากมาย และคนก็ไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าไหร่ รวมทั้งผู้ที่เกิดในภูมิอื่นเช่น บนสวรรค์ พรหม และก็สัตว์เดรัจฉาน ก็แสดงให้เห็นว่าจิตมีหลากหลายมากมาย แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงประมวล ประเภทของจิตที่จะทรงแสดงให้เห็นว่าต่างกันอย่างไร มิฉะนั้นแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะกล่าวถึงจิตประเภทหนึ่งประเภทใดได้ แต่ว่าเวลาที่ทรงแสดงประมวลเช่น จิตที่เป็นเหตุ ได้แก่ กุศลจิต และอกุศลจิต คือประมวลประเภทกว้างๆ ก่อน แล้วก็ทรงแสดงในนัยอื่นเช่น โดยระดับขั้นของจิต ซึ่งก็เป็นความต่างของจิต จิตจะมีระดับเดียวไม่ได้ ตั้งแต่ระดับต่ำขั้นต้นจนกระทั่งถึงสูงสุดคือโลกุตตรจิต นี่ก็แสดงให้เห็นถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริง โดยกว้างๆ แต่โดยกว้างๆ ก็ยังแบ่งแยกย่อยประเภทอีก เช่นจิตระดับต้นคือชั้นกามวาจรจิต หมายความถึงจิตที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ถ้าเราเข้าใจความหมายของกาม คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนัยหนึ่ง เราก็จะเข้าใจความหมายของกามาวจรจิต หมายความว่าจิตประเภทนี้ก็จะมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และเรื่องราวของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นอารมณ์ ยังเป็นระดับนี้ ยังไม่ขึ้นสูงกว่าระดับที่ไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยความสงบยิ่งขึ้นจนถึงระดับของฌาณจิตซึ่งเป็นอัปปนาสมาธิ หรือเป็นสมาธิ ความสงบที่มั่นคงจนกระทั่งไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็ทรงแสดงระดับของจิตโดยประเภทไว้ และในบรรดากามาวจรจิต ซึ่งทุกคนหนีไม่พ้น จะเกิดที่ไหน ก็ไม่พ้น ถ้าเป็นอรูปพรหม แต่ว่ายังมีกิเลสอยู่ ก็ยังต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือไม่พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า สิ่งที่มีที่ควรจะต้องเห็นถูก เข้าใจถูก คือสภาพที่มีจริง และโดยปรมัตถธรรมก็คือว่าสภาพใดที่ไม่ใช่สภาพรู้ สภาพนั้นเป็นรูปธรรม ยังไม่ได้แสดงว่ามีจำนวนเท่าไหร่ แต่ก็แสดงให้เห็นโดยกว้างๆ ว่า สิ่งที่มี มีสองอย่างคือ ลักษณะหนึ่งไม่ใช่สภาพรู้ อีกลักษณะหนึ่งเป็นสภาพรู้ ส่วนสภาพรู้ก็มีจิต และเจตสิก ไม่ใช่มีแต่จิต และก็ไม่ใช่มีแต่เจตสิก แต่ทั้งสองอย่างเป็นนามธรรมซึ่งต้องเกิดพร้อมกัน และดับพร้อมกันด้วย ถ้าจิตเป็นกุศล เจตสิกเป็นกุศล ถ้าเจตสิกเป็นอกุศล จิตเป็นอกุศล แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะมีอกุศลประเภทใดเกิดร่วมด้วย

    นี่ก็แสดงให้เห็นความหลากหลายของจิตที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นขั้นต้น หรือขั้นต่ำสุด ซึ่งเรากำลังอยู่ในภูมินี้ คือในภูมิมนุษย์ แต่ว่าเป็นสุขติภูมิ เป็นภูมิที่ดี ซึ่งสำหรับภูมิที่เป็นกามาวจรภูมิ หรือกามาวจรจิต ระดับของจิตที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มี ๕๔ ประเภท และเกิดในกามภูมิ ๑๑ ภูมิเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้หมายความว่าจะไปเกิดที่อื่นไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่จะเกิดในกามภูมิ

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้เรากำลังเป็นมนุษย์อยู่ในโลก และมีจิตประเภทต่างๆ ซึ่งยังไม่พ้นไปจากกามาวจรจิต เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้ทราบความละเอียดว่า กามาวจรจิตมีเท่าไหร่โดยทรงประมวลไว้ว่ามี ๕๔ ประเภท แต่มีความหลากหลายมากกว่านั้นมาก แต่ก็รวมอยู่ในประเภท ๕๔ ประเภทนี่เอง และใน ๕๔ ประเภท จำแนกเป็นอกุศลจิต ๑๒ เป็นอเหตุกจิต ๑๘ และโสภณจิต ๒๔

    ซึ่งถ้าไม่เคยได้ศึกษาได้ฟังเลย เราไม่มีโอกาสจะเข้าใจลักษณะของจิตซึ่งเป็นอย่างนี้จริงๆ แต่เมื่อได้ฟังเราก็สามารถที่จะรู้ว่าอกุศลจิต ๑๒ มีอะไรบ้าง คือเป็นโลภมูลจิต ๘ โทสะมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ นี่เริ่มจำนวนแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เราไปติดที่จำนวน แต่ให้ทราบว่า ด้วยพระปัญญาคุณที่ทรงตรัสรู้ความหลากหลายของสภาพของจิต แม้ว่าอกุศลจิต โลภมูลจิตจะแยกออกไปอีกมากเป็นส่วนละเอียดวิจิตรต่างๆ ก็ตามก็อยู่ในประเภทของโลภมูลจิต ๘ และก็โทสะมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ ซึ่งเราเองไม่สามารถที่จะคิดบัญญัติได้ ที่จะเอาโลภะทั้งหลายมาประมวลกันเป็นประเภทว่าต่างกัน ๘ ประเภท แต่พระองค์ก็ทรงแสดงว่า ถึงจะมีความเห็นผิดหลากหลายมากมายสักเพียงไหนก็ตาม ก็ได้แก่จิตซึ่งมีความติดข้อง ในความเห็นนั้น จึงเป็นโลภมูลจิต ก็แสดงให้เห็นว่าโดยประเภทใหญ่ๆ ก็ทรงจำแนกไว้เพื่อให้เราได้เข้าใจ

    ผู้ฟัง ให้เข้าใจอย่างไร เพื่อคล้อยตามเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจถูกว่าปัญญาของเราไม่ใช่ปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้เท่ากันไม่ได้ จริงๆ เรารู้ แต่เรารู้ไม่หมด เรารู้เป็นบางส่วน เช่น เวลาที่เกิดความติดข้อง เพลิดเพลิน อยากได้ เราไม่รู้ หรือ ลักษณะนั้นเราก็รู้ แต่รู้ไม่ทั่วใช่ไหม แล้วเวลาที่ความโกรธเกิดขึ้น ความขุ่นเคืองใจระดับต่างๆ เราก็รู้ไม่ทั่วอีกว่า ที่แท้ที่จริงแล้วก็มีโทสะมูลจิตสองประเภท ซึ่งเรามีทั้งหมดอกุศลจิต ๑๒ ประเภท แต่ไม่รู้ เมื่อศึกษา ไม่ใช่ว่าเราศึกษาเรื่องประเภทเพื่อจำ แต่เราศึกษาว่า ไม่ว่าสภาพธรรมใดที่ได้ยินมีขึ้นเมื่อไหร่ เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็คือสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังทั้งนั้น ที่คุณสุกิจกล่าวถึงอเหตุกจิต ซึ่งในตอนต้นก็กล่าวถึงว่า กามาวจรจิตมี ๕๔ ประเภท เป็นอกุศลจิต ๑๒ เป็นอเหตุกจิต ๑๘ ที่เหลือไม่บอกจำนวนก็บวกลบคูณหารได้ ซึ่งไม่ผิดใช่ไหม ได้เท่าไหร่ที่เหลือ ๒๔ เป็นกามาวจรโสภณจิตเป็นฝ่ายดี เป็นจิตที่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ฟังเพื่อให้เข้าใจ แม้แต่ชื่ออเหตุกจิตเป็นชื่อใหม่ มีใครคิดบ้างว่าขณะนี้เป็นอเหตุกจิต ไม่มีชื่อนี้ แต่จิตประเภทนี้กำลังมี เพราะฉะนั้นเมื่อจิตประเภทนี้กำลังมี ก็คือเข้าใจให้ถูกต้องว่าจิตประเภทนี้กำลังมีชื่ออย่างนี้เพราะอะไร แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่มีเลย แล้วเรามาพูดถึงสิ่งที่เราไม่มี ให้งง ให้เดือดร้อน ให้ต้องไปจำ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ให้เข้าใจสิ่งที่มีโดยความต่างว่าขณะไหนเป็นจิตประเภทอะไร เป็นอกุศลจิต หรือว่าเป็นอเหตุกจิต หรือว่าเป็นกามโสภณจิต เป็นจิตฝ่ายดี นี่ก็คือการศึกษาให้เข้าใจ จนกว่าปัญญาของเราสามารถที่จะคล้อยตามความเป็นจริงคือความเป็นอนัตตา ไม่ใช่เราทั้งหมด ถ้าเราฟังน้อย เราไม่มีทางที่จะรู้ว่า ไม่ใช่เรา แต่ยิ่งฟังแล้วก็ไตร่ตรอง แล้วก็มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ให้เข้าใจ ความรู้ของเราก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง อเหตุกจิตที่มันเป็นปริตธรรมที่ปรุงแต่ง ปรุงแต่งก็คือเจตสิกกระทำใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จิตไม่เคยขาดเจตสิกเลยไม่ว่าจิตประเภทไหน จะเป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต อเหตุกจิต โลกุตตรจิต รูปาวจรจิต ชื่อว่าจิตแล้ว ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ที่ไม่กล่าวถึงเพราะเหตุว่าเมื่อเป็นที่เข้าใจแล้ว ว่าจิตเมื่อเกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็กล่าวเฉพาะจิต บางทีใช้คำว่า "จิตตุปาท" คือขณะที่เกิดจิตหนึ่งขณะ จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นที่เข้าใจแล้วว่าต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย หรือเวลาที่กล่าวถึงเจตสิก เป็นที่เข้าใจว่าต้องมีจิตในขณะนั้นด้วย

    ผู้ฟัง เพราะว่ามีเจตสิกกระทำ หรือเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้รู้ยากใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมจะเห็นได้ว่า เป็นไปตามลำดับ เพราะว่าธรรมมีหลากหลายมากมายเหลือเกิน ถ้าเราสับสน เราก็จะงง แต่ว่าถ้าเราค่อยๆ เข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ว่าจะได้ยินอะไร เข้าใจในสิ่งนั้น เช่น ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ต้องเข้าใจคำนี้ว่าทุกกาละ ทุกประเภท ไม่ใช่ประเภทนี้เป็นอัตตา ประเภทนั้นเป็นอนัตตา หรือว่าไม่ใช่สิ่งนี้เป็นอัตตา สิ่งอื่นเป็นอนัตตา ไม่ได้ นั่นหมายถึงเราไม่ได้เข้าใจความหมายของคำที่เราได้ยิน แต่ถ้าเป็นความเข้าใจถูกในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ความหมายไม่เปลี่ยน เพราะว่าเป็นการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ลักษณะความจริงของสิ่งที่มีที่เป็นอย่างนี้ ก็ทรงแสดงตามความเป็นจริงนั้น ซึ่งก็เปลี่ยนไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นทุกคำที่ได้ยินแล้วมีความมั่นคงที่จะต้องเข้าใจให้ตรง ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังเรื่องอะไรก็ตามจากพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรมก็ต้องรู้ว่าเป็นอนัตตาแน่นอน ไม่ใช่บางส่วนเป็นอัตตา บางส่วนเป็นอนัตตา เพียงแต่ว่าพยัญชนะอาจจะเป็นเรื่องของภาษาที่ใช้กันอยู่ เช่นเรา หรือว่าท่านผู้นั้น ท่านผู้นี้ แต่ก็จริงๆ ก็คือสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา และก็ไม่พ้นจากปรมัตถธรรม จิต เจตสิก รูป นิพพาน

    เมื่อกล่าวถึงจิต ต้องรู้เรื่องชาติของจิต เพราะว่าจิตที่เกิด ชา-ติ คือเกิด


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    18 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ