พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 4


    ตอนที่ ๔

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การที่เราได้ยินคำหนึ่งคำใด ไม่ต้องรีบร้อนไปไหนเลย มีสิ่งที่ปรากฏให้ศึกษา ให้พิจารณา ให้ไตร่ตรอง จนกว่าจะเป็นความรู้ของเราเพิ่มขึ้นจริงๆ และก็จะเปรียบเทียบได้ว่าที่ศึกษามาก มีคำมาก กับการที่จะรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรม ต้องต่างกัน ขณะนี้ ทุกคนตอบได้ว่าเห็นอะไร เห็นโต๊ะ เพราะมีความจำในสิ่งที่เห็น จึงกล่าวว่าเห็นโต๊ะ ถ้าเห็นดอกไม้ ก็ต้องมีความจำในสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็มีความรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่จะเรียกว่าดอกไม้ก็ได้ ไม่เรียกว่าดอกไม้ก็ได้ แต่ความทรงจำต้องมีในสิ่งที่กำลังปรากฏนั้น ถ้าเริ่มตั้งแต่เกิด และรู้ว่าขณะใดก็ตามนามธรรมเกิดขึ้น นามธรรมเป็นสภาพที่ไม่ใช่รูปธรรม เป็นจริง แต่นามธรรมแต่ละประเภทก็ต้องมีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่งให้นามธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดก็ตามที่เกิด หมายความว่าต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง สภาพธรรมนั้นจึงเกิดได้ รูปธรรมที่เกิดมีปัจจัยปรุงแต่ง หรือไม่ ธรรมต้องเป็นหนึ่งไม่เป็นสอง คือเป็นสัจจธรรม เพราะเป็นการทรงตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และทรงแสดงตามที่ได้ทรงตรัสรู้ ซึ่งเป็นความจริงที่พิสูจน์ได้ สภาพธรรมใดที่ปรากฏ หมายความว่าสภาพธรรมนั้นต้องเกิด และสภาพธรรมที่เกิดต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง จะเกิดขึ้นมาลอยๆ ไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมที่เกิดขึ้น ผู้ที่ไม่รู้ก็ไม่เห็นมีอะไรเลย แต่ผู้รู้สามารถที่จะรู้ว่า มีปัจจัยอะไรที่จะทำให้สภาพนั้นๆ เกิดขึ้น โดยเป็นปัจจัยสถานใด เสียง ขณะนี้ที่กำลังปรากฏ คือเกิดใช่ไหม ถ้าไม่เกิด ก็ไม่ปรากฏ และต้องมีสภาพที่ได้ยินเสียง มิฉะนั้นเสียงก็ปรากฏไม่ได้ เสียงมีปัจจัยปรุงแต่ง หรือไม่

    อ.วิชัย ต้องมีผู้ใหม่ ที่อาจยังไม่เข้าใจปัจจัยต่างๆ ขณะนี้ได้ยินเสียง รู้ว่าเสียงเกิดแล้วต้องดับ เพราะว่าขณะได้ยินบ้าง ไม่ได้ยินบ้าง แต่ปัจจัยให้เสียงเกิด ยังไม่เข้าใจว่า อะไรที่เป็นปัจจัยบ้าง เล็กน้อย แค่ไหน อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่จะรู้ความเป็นปัจจัยทันทีที่ได้ฟัง รู้ได้ หรือไม่ ไม่ได้ ธรรมต้องเป็นไปตามลำดับ โดยพระไตรปิฎกที่ได้ทรงแสดงเรื่องของปัจจัยไว้เป็นคัมภีร์สุดท้ายของพระอภิธรรมปิฎก เท่านี้พอ หรือไม่

    อ.วิชัย ถ้าฟังเพียงเท่านี้ ก็ไม่พอ

    ท่านอาจารย์ ไม่พอ แต่สามารถจะรู้ได้ ถ้ายังไม่สามารถจะรู้จริงได้ แต่ต้องทราบว่าสิ่งที่เกิด เช่น เสียงเกิดเราก็ไม่รู้ ใช่ไหม สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ผู้ที่ตรัสรู้ทรงแสดงว่าเกิดแล้วดับทันทีเลย แต่เราเห็นตลอด ถ้าขณะนั้นไม่ได้ฟังพระธรรมเลย จะไม่มีความรู้เลยว่าขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เกิดขึ้นปรากฏ และดับ และก็เกิดขึ้นปรากฏสืบต่อจนกระทั่งเร็วมากเหมือนไม่ดับเลย นี้คือการฟัง จากผู้ที่ไม่รู้แล้วก็ค่อยๆ รู้ว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ และกว่าจะถึงความจริงอย่างนี้ก็ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาอีกมาก แต่ให้ทราบว่าสิ่งใดก็ตามที่เกิด ขอให้พิจารณา รับฟัง และก็พิจารณาว่า สิ่งใดก็ตามปรากฏเพราะเกิดขึ้น และที่เกิดเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นนามธรรม หรือรูปธรรม

    ซึ่งภาษาบาลี มีคำที่แสดงให้เข้าใจว่า สิ่งใดก็ตามที่เกิด สิ่งนั้นเป็นสังขารธรรม เพราะเหตุว่ามีปัจจัยปรุงแต่ง สภาพธรรมนั้นเกิดแล้วดับเมื่อมีปัจจัย ขณะนี้ มีความพร้อมของปัจจัยที่เกิดแล้ว เช่น “เห็น” ในขณะนี้ที่เห็น “เห็น “ ต้องเกิดแล้ว ในขณะนี้ที่ได้ยิน “ ได้ยิน “ ต้องเกิดแล้ว ไม่ใช่ยังไม่เกิด เมื่อกระทบแข็ง สภาพที่ “ รู้แข็ง ” เกิด จึงได้รู้แข็ง ไม่ใช่ยังไม่เกิดก็ไปรู้แข็ง เพราะฉะนั้นขณะใดที่มีการรู้แข็ง ขณะนั้นสภาพรู้เกิดขึ้นรู้แข็ง ขณะนี้ก็คือสิ่งที่เกิดแล้ว เพราะปัจจัยปรุงแต่ง เป็นสังขตธรรม วันนี้ มีสองคำใหม่คือ สังขารธรรม และสังขตธรรม

    ผู้ฟัง น่าสนใจคำถามของท่านอาจารย์ที่ถามว่า เห็นขณะนี้ อะไรเป็นเหตุ น่าสนใจมาก และคุณปรเมศว์ก็ตอบว่าเป็นเพราะปัจจัย และท่านวิทยากรก็ตอบว่าเป็นเพราะสัญญาด้วย ผมขอตอบอีกนัยหนึ่งว่า ก็เพราะจิตเป็นเหตุ และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเป็นเหตุ

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้แยกนามธรรมไปถึงจิต และเจตสิก ขณะนี้ เรากำลังกล่าวถึงธรรม เพียงสองชื่อ คือ นามธรรม กับรูปธรรม เพื่อที่จะเห็นจริงๆ ว่าต่างกัน รูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ทุกสิ่งทุกอย่าง วันหนึ่งๆ ที่ปรากฏก็มีเพียง ๗ อย่างที่เป็นรูป ที่ปรากฏ ลองพิจารณาว่า วันนี้ นอกจากรูป ๗ รูปนี้แล้ว ยังมีรูปใดปรากฏ หรือเปล่า ปกติในชีวิตประจำวัน มีรูปที่ปรากฏ เกินกว่า ๗ รูป หรือไม่

    อ.วิชัย ในชีวิตประจำวันมีการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องกระทบสัมผัส

    ท่านอาจารย์ ถ้าศึกษาแล้ว รูปมี ๒๘ รูป ขอถามว่ารูปใดปรากฏ

    อ.วิชัย ยังไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ รูปที่ปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพียง ๗ รูป ติด ๗ รูปนี้มากไหม แต่ก่อนอื่น ขอให้จำสักสองสามคำ เช่น “สังขารธรรม”, “สังขตธรรม” สังขตธรรม คือสภาพธรรมที่ปรุงแต่งแล้วเกิด ขณะใดที่เกิด ขณะนั้นเป็นสังขตธรรม เพราะฉะนั้น สังขตธรรมที่เกิดแล้วดับ สภาพธรรมที่ไม่เกิด ขณะนั้นจะดับได้ไหม

    อ.วิชัย ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ใช่ นี่คือสิ่งที่เราพิจารณาว่า ขณะนี้ สิ่งนี้เกิดแล้วดับ ต้องจริง แม้ว่ายังไม่ประจักษ์เลย แต่ก็จะเข้าใจว่า เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริงย่อมสามารถที่จะประจักษ์ได้ แต่ว่าต้องอาศัยการอบรมที่เป็นปัญญาตามลำดับขั้นด้วย ไม่ใช่ว่าเพียงฟังเท่านี้แล้วเราก็จะไปประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมที่เป็นอริยสัจจธรรม แต่เมื่อสิ่งนั้นเป็นความจริงก็สามารถที่จะพิสูจน์ได้ในวันหนึ่งสามารถที่จะเข้าถึงได้ “ จิต” เป็น สังขารธรรม หรือไม่ “จิต” ที่ยังไม่เกิดเป็นสังขตธรรม หรือไม่ ไม่เป็น ต้องเกิดแล้ว ปรุงแต่งแล้วเกิด จึงเป็นสังขตธรรม สังขตธรรมคือเกิดแล้วก็ดับไป ปรมัตถธรรมมี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน สำหรับนามธรรม ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก นั้น จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏ คือมีลักษณะที่รู้แจ้งอารมณ์ อารมณ์คือสิ่งที่ถูกจิตรู้ เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้คือ อารมณ์ในภาษาไทย ซึ่งภาษาบาลีจะใช้คำว่า อารมฺมณ หรือ อาลมฺพน

    อ.อรรณพ หากกล่าวเฉพาะสภาพของนามธรรม รูปธรรมที่เป็นสังขารธรรม หรือเป็นสังขตธรรม จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เจตสิกเกิดประกอบกับจิต ในการที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ใด เจตสิกก็รู้อารมณ์เดียวกันนั้น อารมณ์ก็คือสิ่งที่จิตรู้ เช่นในขณะนี้ มีจิตเห็นเกิดขึ้น จิตเห็นต้องมีสิ่งที่จิตนั้นรู้ คือสีที่ปรากฏทางตา ซึ่งรูปธรรมก็สามารถที่จะปรากฏกับสติได้ ส่วนนามธรรมก็แล้วแต่ว่าจะมีนามธรรมใดปรากฏ เช่น ความโกรธ ความริษยา ความเมตตา ความรู้สึกในขณะนี้ คือนามธรรมต่างๆ ที่สามารถปรากฏได้

    ท่านอาจารย์ คงไม่ลืมว่า ขณะนี้เป็นการสนทนาธรรม เพราะว่าการสนทนาธรรมจะทำให้ได้รับฟังความเห็นของผู้ที่ได้ฟัง และความคิดความเข้าใจ วันนี้เราสนทนาถึงปรมัตถธรรม๔ รูปธรรม ได้กล่าวไปแล้ว ส่วนนามธรรมก็มีจิต และเจตสิก จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “อารมฺมณ” หรือ “อาลมฺพน” แต่ภาษาไทยใช้คำว่า “อารมณ์” เมื่อมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ด้วย แต่ว่าจิตก็เป็นสังขารธรรม ต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง อะไรจะเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้จิตเกิด ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะที่นามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้เกิดขึ้น ก็จะมีนามธรรมที่เป็นสภาพรู้อีกประเภทหนึ่งที่เกิดร่วมกัน และก็ดับพร้อมกันด้วย เมื่อนามธรรมเป็นสภาพรู้ สิ่งที่เกิดร่วมกับจิตก็ต้องเป็นสภาพรู้ที่รู้สิ่งเดียวกับจิตที่กำลังรู้ด้วย แสดงให้เห็นว่าขณะใดที่นามธรรมเกิดขึ้น จะมีทั้งจิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานที่สามารถที่จะรู้แจ้ง เช่น กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ได้ยินเสียงที่กำลังได้ยิน แต่ในขณะนั้นเองจิตเป็นสังขารธรรม เกิดตามลำพังไม่ได้ ต้องมีสภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน ปรุงแต่งให้จิตเกิดในขณะนั้น ซึ่งเป็นนามธรรมที่มองไม่เห็นเลย ไม่มีรูปร่างเลย แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่อาศัยจิต เกิดกับจิต จะไม่เกิดที่อื่นเลย สภาพธรรมนั้นชื่อว่า “เจตสิก” หมายความว่าเป็นสภาพที่เกิดกับจิต เกิดในจิต อาศัยจิตเกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    ขอถามว่า วันหนึ่งๆ มีจิตประเภทเดียว หรือหลายประเภท เกิดขึ้นอย่างเดียวซ้ำๆ กันทั้งวัน หรือว่าหลากหลาย

    อ.วิชัย เกิดขึ้นหลากหลาย เช่น เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ดีใจบ้าง เสียใจบ้าง ต่างๆ เหล่านี้

    ท่านอาจารย์ อะไรทำให้จิตเกิดขึ้นหลากหลาย

    อ.วิชัย เป็นความเข้าใจส่วนหนึ่งว่า มีหลายประเภท เพราะเหตุว่า อารมณ์ก็มีต่างกัน อย่างเช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือว่าเสียง หรือว่ากลิ่น ขณะนี้ ซึ่งจิตก็มีสภาพรู้ที่รู้สีบ้าง ได้ยินเสียงบ้าง แล้วก็รู้กลิ่นบ้าง ดังนั้น จิตก็มีหลายประเภท

    ท่านอาจารย์ จิตที่เห็นเกิดแล้วดับ จะเป็นจิตที่ได้ยินได้ หรือไม่ ไม่ได้ จิตที่ได้ยินเกิดแล้วดับ จะเป็นจิตที่คิดนึกได้ หรือไม่ ไม่ได้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าจิตมากมาย หลายประเภท แล้วก็ต่างกัน แม้ว่าจิตของแต่ละคนในแต่ละวันจะต่างกัน หรือว่าเหมือนกัน ในวันหนึ่งๆ จะมีจิตซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นไม่มีจิตเก่าที่ดับไปแล้ว กลับมาเกิดได้อีกเลย

    นี่คือ การที่เราเริ่มจะมองเห็นว่า ชีวิตตามความเป็นจริง คือเกิดแล้วก็ไป ทุกขณะ จิตก็ไปสู่อารมณ์ หมายความว่าจิตเป็นสภาพที่ต้องรู้ เพราะฉะนั้น จะขาดสิ่งที่ถูกรู้ไม่ได้ เมื่อรู้อารมณ์แล้วก็ดับไป รู้อารมณ์แล้วก็ดับไป มีอะไรเหลือบ้าง ตั้งแต่เกิดมา จนกระทั่งถึงเมื่อวานนี้ จนกระทั่งถึงวันนี้ จนกระทั่งถึงเมื่อครู่นี้ มีอะไรเหลือบ้าง คิดว่ามีใช่ไหม คิดว่ายังเหลืออยู่ แต่ว่าตามความเป็นจริงไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ไม่มีอะไรที่สามารถจะจะคงอยู่ให้ใครยึดถือว่าเป็นของเราได้ ได้ยินเมื่อครู่นี้ หมด หรือไม่

    จิตเป็นสภาพที่ได้ยินเสียง เกิดขึ้นได้ยินแล้วก็ดับไป ไม่มีอีกแล้ว จิตที่ดับไปจะกลับมาอีกไม่ได้เลย ขณะที่ได้ยินใหม่ ก็อาศัยปัจจัยใหม่ อาศัยเสียงใหม่ อาศัยโสตปสาทใหม่ เพราะว่าแม้แต่รูปก็เกิดดับด้วย เพียงแต่รูปจะมีอายุยาวกว่าจิตคือ จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งจึงดับ แต่เร็วแสนเร็วจนกระทั่งไม่ต้องคิดเลย เพราะว่าขณะที่เสมือนว่าเห็นด้วย ได้ยินด้วย ความจริง ๒ จิตนี้ ห่างกันเกิน ๑๗ ขณะ ในขณะนี้ซึ่งปรากฏเหมือนกับว่า ทั้งเห็น ทั้งได้ยิน เพราะฉะนั้นรูปจะเกิดดับเร็วสักเพียงไหน เราคิดว่ารูปจะดับช้า แต่ไม่จริงเลย ดับเร็วมาก แต่ความไม่รู้ก็ไม่สามารถจะรู้ความจริงใดๆ ได้เลยทั้งสิ้น ขอให้คิดถึงเรื่องของสภาพธรรมอีอย่างหนึ่ง ซึ่งปรุงแต่งจิต เกิดกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต แล้วดับพร้อมจิต

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์กล่าวถึงเรื่องของเจตสิก เป็นส่วนหนึ่งที่ให้เข้าใจว่ามีสภาพธรรมที่ประกอบกับจิตหลายประเภท อย่างเช่นในวันหนึ่งๆ บางท่านก็โกรธ ชอบ พอใจบ้าง หรือ งดเว้นจากทุจริตต่างๆ บ้าง เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งมีสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต ซึ่งเรียกว่าเจตสิก มีหลายประเภท จึงเป็นปัจจัยให้จิตนั้นมีประเภทต่างๆ กัน

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นธรรม หรือไม่

    อ.วิชัย เป็น เพราะว่ามีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เป็นสังขารธรรม หรือไม่

    อ.วิชัย เป็น เพราะว่ามีปัจจัยปรุงแต่ง เช่น อารมณ์ คือสิ่งที่จิตรู้

    ท่านอาจารย์ เป็นสังขตธรรม หรือไม่

    อ.วิชัย ขณะที่เกิดก็เป็นแล้วมีแล้ว ขณะนี้ก็เป็นแล้ว

    ท่านอาจารย์ เจตสิก เป็นธรรมประเภทใด นามธรรม หรือรูปธรรม

    อ.วิชัย เป็นนามธรรม เพราะรู้อารมณ์เดียวกันกับจิต

    ท่านอาจารย์ เป็นสังขารธรรม หรือไม่

    อ.วิชัย เป็น เพราะต้องเกิดพร้อมกับจิต

    ท่านอาจารย์ เป็นสังขตธรรม หรือไม่

    อ.วิชัย ถ้าเกิดแล้ว มีแล้ว ก็ต้องสำเร็จด้วยปัจจัยต่างๆ

    ท่านอาจารย์ ถามเพื่อทบทวนให้ทราบว่า สิ่งที่มีจริงคือ ปรมัตถธรรม เป็นจิตเจตสิก รูปส่วนนิพาน ถ้ายังไม่เข้าใจสภาพธรรมใดๆ เลย การจะกล่าวถึงนิพพานก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้น ขอกล่าวถึง เจตสิกที่สำคัญๆ เช่น ความรู้สึก ทุกท่านมีแน่นอน วันนี้เสียใจบ้าง หรือไม่ ความเสียใจ หรือ ความไม่พอใจ อาจไม่มากพอที่จะรู้สึกแรงๆ แต่ความรู้สึกเพียงเล็กน้อยที่จะรู้สึกตรงกันข้ามกับความสบายใจ มี หรือไม่ ถ้าเป็นผู้ที่สังเกตุก็จะรู้สึกว่า ความรู้สึกหลากหลายมาก แม้จะหลากหลายอย่างไร ลักษณะของความรู้สึกก็มีจริงๆ เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง ขอถามว่า ความรู้สึก เป็นจิต หรือเป็นเจตสิก ผู้ที่ไม่มีความรู้สึกมี หรือไม่

    ผู้ฟัง มี เช่น คนที่ไม่รู้สึกตัว นอนเฉยๆ นอนอยู่โรงพยาบาลก็ไม่รู้สึกตัว

    ท่านอาจารย์ นี่คือสิ่งที่เราเคยคิดใช่ไหม ว่าขณะนั้นไม่มีความรู้สึกใดๆ แต่จริงๆ แล้ว ความรู้สึกมี ๕ อย่าง สำหรับจิตใจ ดีใจเป็นความรู้สึกชนิดหนึ่ง ตรงกันข้ามกับเสียใจ บางครั้งร่างกายแข็งแรง ตา หู ก็ดี แต่ทำไมเสียใจ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เรื่องของใจเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับร่างกาย ต่อให้เป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง มีทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ก็ยังโทมนัสเสียใจได้ ญาติพี่น้อง พลัดพราก หรือว่ามีความวิบัติเกิดขึ้น ความรู้สึกก็ไม่คงที่ ลักษณะของความเสียใจ เป็นธรรมที่มีจริง ความเสียใจเป็นนามธรรม เพราะรูปไม่รู้สึกใดๆ ทั้งสิ้น ความเสียใจ ความดีใจ เป็นเรื่องของนามธรรมที่เกี่ยวกับจิตใจ แต่ถึงแม้ว่าจะไม่เสียใจ ไม่ดีใจ แต่ร่างกายเรามีอยู่ตราบใด จะต้องมีสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ที่จะทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ ความรู้สึกทางกายมี ๒ อย่าง สุข หรือทุกข์ ความรู้สึกทางใจเป็นโสมนัส หรือโทมนัส ความรู้สึกนี้ปรากฏชัดเจน พอที่จะรู้ได้ แต่ระหว่างที่ความรู้สึกทั้ง ๔ นี้ไม่มี ก็มีความรู้สึกอีกอย่าง คือความรู้สึกเฉยๆ จะบอกว่าไม่รู้สึกไม่ได้ รูปไม่รู้สึก ถามรูปว่าสุขไหม เป็นไปได้ไหมที่รูปจะสุข ถามรูปว่าทุกข์ไหม รูปไม่รู้อะไรเลย รูปจะตอบว่าทุกข์ก็ไม่ได้ ถามรูปว่าเสียใจไหม รูปจะตอบได้ไหม เพราะว่า รูปไม่รู้อะไรเลย รูปดีใจไหม รูปก็ตอบไม่ได้ เพราะว่ารูปไม่รู้อะไรเลย แต่นามธรรมเป็นสภาพรู้

    เพราะฉะนั้นเมื่อมีสภาพรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น ต้องมีความรู้สึกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ลักษณะของความรู้สึก เป็นเจตสิกที่ทรงบัญญัติใช้คำว่า เวทนาเจตสิก” หมายความถึงเป็นสภาพรู้สึก ต่อไปนี้คงจะไม่มีใครบอกว่า ไม่มีเวทนา เพราะเหตุว่าทุกครั้งที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง จะปราศจากเวทนาเจตสิกไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าทั้งจิต และเจตสิกเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ลักษณะของเวทนาใดจะเกิดบ่อย และเกิดมาก ตอบได้แล้วใช่ไหม ความรู้สึกมี ๕ อย่าง สุขทางกาย ๑ ทุกข์ทางกาย ๑ โสมนัสคือสุขใจ ๑ โทมนัสทุกข์ใจ ๑ อีกลักษณะหนึ่งซึ่งไม่ใช่ทั้ง ๔ นี้ ก็คือ ความรู้สึกอทุกขมสุข ไม่สุขไม่ทุกข์ เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ เวทนาประเภทไหนจะเกิดมาก ก็คือความรู้สึกเฉยๆ อทุกขมสุข หรือจะใช้คำว่าอุเบกขาเวทนาก็ได้ คำว่าอุเบกขา ไม่ได้ใช้สำหรับความรู้สึกอย่างเดียว แต่อทุกขมสุขจะใช้สำหรับความรู้สึกเท่านั้น ขณะนี้ คุณวีณามีเวทนา หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ขอถามท่านผู้ฟังทางอเมริกา ที่บอกว่าไม่มีความรู้สึก ตอนนี้มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ขณะไหนที่ไม่มีความรู้สึก

    ผู้ฟัง ตอนที่นอนหลับ

    ท่านอาจารย์ ตอนหลับ มีจิตก็เหมือนไม่มี เพราะไม่มีใครรู้ ต่อเมื่อตื่นขึ้นจึงรู้ว่าหลับ ไม่ใช่รู้ว่าตาย แต่รู้ว่าหลับ ก็แสดงว่าในขณะที่หลับไม่ใช่ตาย ที่ไม่ใช่ตายเพราะว่ามีจิต เจตสิกเกิดดับสืบต่อ แต่ไม่ได้ทำหน้าที่เห็น จิตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเห็น จิตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นได้ยิน จิตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นได้กลิ่น จิตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นลิ้มรส จิตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นคิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ขณะนั้นจิตทำภวังคกิจดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นโดยไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    3 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ