พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 26


    ตอนที่ ๒๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น มโนคือจิตทุกประเภท มโนทวารเป็นรูป หรือไม่ มโนทวารเป็นทวาร ทวารทั้งหมดมี ๖ จักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร ภาษาไทยก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ถ้ามีแค่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เห็นหมดแล้ว ได้ยินหมดแล้ว ได้กลิ่น ลิ้มรสหมดแล้ว กระทบสัมผัสหมดแล้ว ก็ไม่เดือดร้อนใช่ไหม แต่เดือดร้อนมากเมื่อมีมโนทวารวิถีจิต จิตที่อาศัยทางใจเกิดขึ้น จิตที่อาศัยทางใจเป็นวิถีจิตซึ่งสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง นี้คือความต่างสำหรับทางตาได้ยินไม่ได้เลย ต้องเห็นสีคือสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น ทางหูเห็นไม่ได้เลย ต้องได้ยินเสียงเท่านั้น ทางจมูกก็ต้องได้กลิ่นอย่างเดียว ทางลิ้นลิ้มรสรู้รสอย่างเดียว ทางกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสอย่างเดียว แต่ทางใจสามารถจะรู้ได้ทุกอย่าง

    เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะลำดับตั้งแต่เกิด ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ รู้อารมณ์ หรือไม่ ต้องรู้ อาศัยทวาร หรือไม่ ปฏิสนธิจิตไม่ได้อาศัยทวาร เป็นจิตชาติอะไร เป็นวิบากจิต เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมทำให้ภวังคจิตประเภทเดียวกันเลย ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากประเภทใด ภวังคจิตก็ต้องเป็นวิบากที่เป็นประเภทเดียวกันเปลี่ยนไม่ได้เพราะว่าเป็นผลของกรรมเดียวกัน ขณะที่เป็นภวังค์รู้สึกจะสบายใช่ไหม ไม่เห็น ไม่ได้ยินอะไรเลย แต่จะเป็นอย่างนั้นไปตลอดก็ไม่ได้ ไม่ว่าจะเกิดในภพไหนภูมิไหนที่จะมีแต่ปฏิสนธิจิตแล้วก็เป็นภวังคจิตไปโดยตลอดไม่มีจิตอื่นเกิดทางทวารหนึ่งทวารใดเลยไม่ได้ แล้วแต่เหตุปัจจัยที่จะทำให้มีการรู้อารมณ์อื่นเมื่อไร ก็ต้องรู้อารมณ์อื่นเมื่อนั้นตามเหตุตามปัจจัย นอนหลับไม่อยากจะตื่นเลยก็ต้องตื่น หรือว่าตื่นอยู่อยากจะหลับก็หลับไม่ได้ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นภวังคจิตโดยตลอด หรือมากเหมือนขณะที่หลับ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าการที่จิตรู้อารมณ์กำลังเป็นภวังค์อยู่ไม่รู้อะไรเลย แล้วก็จะเกิดรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดต้องอาศัยทวารคือ ๑ ใน ๖ แต่หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับ และก็ภวังคจิตเกิดสืบต่อ วาระแรกที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต ต้องเป็นทางมโนทวารวิถี จะเป็นทางอื่นไม่ได้ เมื่อมีการเกิดแล้วก็เป็นภวังค์โดยตลอด แล้วก็เกิดรู้สึกตัวขึ้นทางใจ จะมีความติดข้องในความเป็น แล้วแต่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เกิดโลภะ แสดงให้เห็นว่าโลภะรวดเร็ว และก็มากมายแค่ไหน ยากที่จะออก เป็นสมุทัยสัจ เป็นธรรมที่สร้างภพ สร้างชาติ ทำให้มีภพชาติตลอดไป เพราะว่าหลังจากที่ปฏิสนธิจิตเกิด ภวังคจิตเกิดแล้วดับสืบต่อกัน หลังจากนั้นแล้วจิตจะเกิดรู้สึกตัวเป็นทางใจคือมโนทวารวิถีจิตจะเกิด เพราะฉะนั้นจะมีคำว่า "มโนทวารวิถีจิต" หมายความว่าจิตที่เกิดทางใจทั้งหมด ชื่อว่ามโนทวารวิถีจิต ถ้าจิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยทางตาทั้งหมดจะกี่ชนิดก็ตาม ชื่อว่า"ปัญจทวารวิถี" แล้วแต่ว่าจะเป็นวิถีหนึ่งวิถีใด ถ้าทางตาในขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นจักขุทวารวิถี ถ้าทางหูที่ได้ยินเป็นโสตทวารวิถี หมายความถึงวิถีจิต และเวลาที่ได้กลิ่นก็คือฆานทวารวิถีจิต ขณะที่ลิ้มรสก็คือชิวหาทวารวิถีจิต ไม่ใช่ตัวชิวหาทวาร แต่เป็นชิวหาทวารวิถีจิตซึ่งเกิดขึ้นโดยอาศัยชิวหา ขณะที่ทางกายกำลังกระทบสัมผัส ขณะนี้ หรือไม่ กายทวารวิถีจิตไม่ใช่ภวังค์เพราะว่ากำลังรู้สิ่งที่กระทบกาย แต่ทางใจแม้ว่าไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดกระทบตา หู จมูก ลิ้น กายเลย ก็คิด หรือว่ารู้อารมณ์ทางใจได้ และวาระแรกของทุกภพทุกชาติ จะเห็นได้ว่าเราสะสมความติดข้องในความเป็น ในความมีเรา มานานแสนนาน เพราะฉะนั้น ทันทีที่มีการรู้อารมณ์ก็จะต้องรู้อารมณ์ทางใจ เป็นมโนทวารวิถี แล้วก็มีโลภะความติดข้องเกิดต่อ กล่าวถึงมโนทวารวิถีก็ต้องทราบว่า จิตอะไรที่เป็นมโนทวาร และจิตอะไรที่เป็นมโนทวารวิถี คือการศึกษาธรรมอย่าเผิน และอย่าผ่าน แต่ว่าต้องเข้าใจจริงๆ ถึงความละเอียด และก็ต้องรู้ว่าเป็นชีวิตจริง สามารถที่จะเข้าใจได้

    ถ้าใช้คำว่าจักขุทวารเป็นปรมัตถ์อะไร กลับมาที่ปรมัตถ์เป็นรูป เป็นชาติอะไร ไม่ต้องพูดถึงเลยเพราะว่าเราไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของจิต ๔ ชาติ เพราะฉะนั้นก็เป็นคำถามลอยๆ หลอกๆ ให้คิดบ้างว่าจะคิดอย่างไร เพราะฉะนั้นเวลาที่จักขุทวารเป็นรูป โสตทวารเป็นรูป ฆานทวารเป็นรูป ชิวหาทวารเป็นรูป กายทวารเป็นรูป มโนทวารเป็นนามธรรม คือเป็นจิต ชื่อว่ามโนแล้วจะเปลี่ยนไปเป็นรูปไม่ได้ เพราะฉะนั้นมโนทวารเป็นจิต จิตใดเป็นมโนทวาร ปฏิสนธิจิตเป็นมโนทวารได้ หรือไม่ ไม่ได้ ภวังคจิตเป็นมโนทวารได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ได้ เมื่อตอนอยู่ในภวังค์

    ท่านอาจารย์ ตอบไม่ผิดเลย แต่ต้องเข้าใจด้วย เมื่อจิตที่เป็นวิถีจิตจะเกิดเท่านั้น ขณะใดที่วิถีจิตยังไม่เกิด ภวังค์จะเป็นทวารไม่ได้ ต่อเมื่อใดที่จะมีวิถีจิตเกิดขึ้นทางใจ เมื่อนั้นภวังค์ขณะสุดท้ายที่จะทำหน้าที่ภวังค์อีกต่อไปไม่ได้ เป็นมโนทวาร จิตที่เป็นภวังค์สุดท้าย ภาษาบาลีใช้คำว่า “ภวังคุปัจเฉทะ” ดับไป วิถีจิตจึงจะเกิดขึ้นได้

    ผู้ฟัง ภวังค์ไม่ใช่จิต หรือ

    ท่านอาจารย์ ภวังค์เป็นจิต ภวังคุปัจเฉทะเป็นจิต เป็นมโนทวาร เป็นตัวมโนทวาร เรากำลังจะกล่าวถึงว่า เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว จิตเป็นภวังค์ และวาระแรกที่จะรู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์จะต้องเป็นทางมโนทวารก่อน จะเห็นไม่ได้ ได้ยินไม่ได้ ได้กลิ่นไม่ได้ ถ้าเป็นมนุษย์ช่วงนี้ก็ยังอยู่ในครรภ์ ปฏิสนธิจิตหนึ่งขณะ ลองคิดดูว่าสั้นแค่ไหน ภวังคจิตก็เกิดสืบต่อระหว่างที่ยังไม่เป็นวิถีจิต เพราะฉะนั้นเวลาที่จะรู้อารมณ์อื่นจะเป็นภวังค์ต่อไปไม่ได้ ซึ่งก่อนที่วิถีจิตจะเกิดตามการสะสมซึ่งมีปัจจัยที่จะทำให้เป็นวิถีจิตเกิดขึ้น จะทำให้ภวังค์ไหว ภาษาบาลีใช้คำว่า “ภวังคจลนะ” ภวังคจลนะยังไม่ใช่มโนทวารเพราะเพียงไหว ต่อเมื่อภวังคจลนะดับไปแล้ว ภวังค์ซึ่งเกิดสืบต่อเป็นภวังคจิตขณะสุดท้ายสิ้นสุดกระแสภวังค์จึงใช้คำว่า “ภวังคุปัจเฉทะ” เมื่อภวังคุปัจเฉทะเกิดแล้วดับไป วิถีจิตจะไม่เกิดไม่ได้เลย ต้องเกิด และถ้าเป็นทางมโนทวาร วิถีจิตแรกคือ “มโนทวาราวัชชนจิต” นี่คือลำดับการเกิดของจิต ขณะใดก็ตามซึ่งเราเกิดจะคิดนึกอะไรก็ตาม ให้ทราบว่าก่อนนั้นเป็นภวังค์ แล้วก็เป็นภวังคจลนะก่อน แล้วก็เป็นภวังคุปัจเฉทะ ดับแล้ว จึงจะเป็นมโนทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรก เพราะว่าจิตที่ไม่ใช่วิถีจิตจะมี ๓ ขณะ ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ นอกจากนั้นแล้วเป็นวิถีจิตคือ ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์

    ผู้ฟัง สมมติบางคนปฏิสนธิด้วยอุเบกขาญาณวิปปยุตต์คือ ดวงที่แปด เสร็จแล้วพอมาเรียนธรรม ความมีปัญญาของเขาจะทำให้เปลี่ยนสภาพจากอุเปกขาสหคตํ ญาณวิปปยุตตํ สสังขาริกํ เปลี่ยนเป็นตัวอื่นได้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนภวังค์ไม่ได้ เพราะว่าเป็นผลของกรรมเดียวกับปฏิสนธิจิตทำให้เกิดเป็นบุคคลนั้น ต้องเป็นบุคคลนั้นตลอดชาติ

    ผู้ฟัง อย่างนั้นเรามาเรียนธรรมก็ไม่ได้ทำให้ฉลาดขึ้นบ้าง

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ฉลาดเป็นกุศล หรืออกุศล

    ผู้ฟัง กุศล

    ท่านอาจารย์ แล้วเปลี่ยนจากคนนั้นเป็นบุคคลอื่น หรือยัง

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่เปลี่ยนแต่สติปัญญาเปลี่ยน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นภวังค์ก็เหมือนเดิม

    ผู้ฟัง แต่ว่าปัญญามากขึ้น

    ท่านอาจารย์ มากขึ้นเมื่อเป็นกุศล แต่ภวังค์เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นก็มีทั้งฝ่ายกุศล และอกุศลซึ่งสะสมสืบต่อเป็น “อาสยานุสยะ” หมายความว่าทั้งดี และชั่วเป็น “อาสยะ” แต่ถ้ากล่าวถึงเฉพาะฝ่ายไม่ดีที่เป็นอกุศลใช้คำว่า “อนุสยะ” อย่างละเอียดมากซึ่งมีอยู่ในจิตที่ยังไม่ได้ดับ ทำให้ในชีวิตของเราเกิดมาแล้วก็เป็นบุคคลที่มีอัธยาศัยต่างๆ กัน แม้ว่าจะเห็นสิ่งเดียวกันแต่การสะสมมาก็จะทำให้บางคนเป็นอกุศลมาก แต่บางคนก็เป็นกุศลมาก บังคับก็ไม่ได้แต่สะสมต่อไปได้ ที่ถามว่าอยากเป็นบุคคลนี้ หรือไม่ ในชาตินี้พอใจแล้ว หรือยังที่เป็นบุคคลอย่างนี้ในชาตินี้

    ผู้ฟัง ก็เปลี่ยนไม่ได้

    ท่านอาจารย์ มิได้ หมายความว่าพอใจ หรือยัง หรืออยากจะเป็นคนอื่นที่ดีกว่านี้ มีกุศลมากกว่านี้

    ผู้ฟัง คงจะต้องพอ

    ท่านอาจารย์ ต้องสะสมสืบต่อ ถ้าไม่มีการสะสมเราก็ปลี่ยนไม่ได้ ไม่ได้เปลี่ยนที่ภวังคจิตซึ่งทำให้เป็นบุคคลนี้ แต่สะสมสืบต่อทุกภพชาติ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะไปเกิดเป็นอะไรก็ตาม การสะสมทางฝ่ายกุศลก็ยังเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดได้ คุณวิจิตรจะเป็นคุณวิจิตรตลอดไป หรือจะเปลี่ยนเป็นคนอื่นในชาตินี้ จนกว่าจะสิ้นชีวิตแล้วถึงจะเปลี่ยนโดยกรรมหนึ่งทำให้เป็นบุคคลอื่น ไม่ใช่บุคคลนี้ บุคคลนี้จะสิ้นสุดเมื่อจุติจิตดับ จะกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกสักขณะจิตเดียวก็ไม่ได้ จะใช้เงินซื้อสักเท่าไรก็กลับมาเป็นบุคคลเก่าไม่ได้ ต้องสิ้นสุดคือสิ้นสุดด้วยกำลังของกรรม

    ผู้ฟัง วิถีจิตทางมโนทวารต้องเกิดที่ภวังคุปัจเฉทะใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ มิได้ หมายความว่าทวารมี ๖ คือ ๕ ทวารเป็นรูป อีก ๑ ทวารเป็นนาม นามก็คือว่าจิตจะสามารถรู้อารมณ์โดยไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ต้องมีรูปกระทบ ไม่ต้องมีเสียงกระทบ ไม่ต้องมีกลิ่นกระทบ ไม่ต้องมีรสกระทบ ไม่ต้องมีเย็น ร้อน อ่อน แข็งกระทบ ก็คิดนึกได้ เพราะฉะนั้นขณะที่คิดนึกไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลยที่เป็นรูป แต่ต้องอาศัยทวารที่เป็นนาม เพราะฉะนั้น เมื่ออาศัยทวารที่เป็นนามก็คืออาศัยจิตที่เกิดก่อน เพราะว่าจิตที่เกิดต่อจากปฏิสนธิเป็นภวังค์ ไม่รู้อารมณ์ใดๆ เพราะฉะนั้น เวลาที่จะรู้อารมณ์ทางใจ ทวารที่เป็นรูปจะเป็นทวารทางใจไม่ได้เลย เพราะไม่ได้อาศัยทวารเหล่านั้น ก็ต้องอาศัยจิตที่เกิดก่อนเป็นทวาร เพราะฉะนั้นมโนทวารได้แก่ภวังคจิต แต่ต้องเจาะจงว่าได้แก่ภวังคุปัจเฉทะจิต ซึ่งเป็นจิตที่เกิดก่อนวิถีจิตทางมโนทวาร เพราะเหตุว่าภวังคจิตจะเป็นภวังค์ไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังไม่มีปัจจัยจะทำให้รู้อารมณ์อื่น แต่เวลาที่มีปัจจัยที่จะทำให้รู้อารมณ์อื่น ภวังค์จะไหว จากภวังค์ๆ ๆ ไป ถ้าเป็นการรู้อารมณ์ทางใจ ภวังค์จะไหว และดับไป ภวังค์ที่ไหวเกิดก่อนภวังคุปัจเฉทะ ภวังค์นั้นชื่อว่า “ภวังคจลนะ” เมื่อภวังค์ไหวดับไป ก็เป็นปัจจัยให้ภวังคุปัจเฉทะเกิด ภวังคุปัจเฉทะเป็นภวังค์ดวงสุดท้าย หรือขณะสุดท้ายของภวังค์ ถ้าจิตนั้นเป็นภวังคุปัจเฉทะ แล้วจะมีภวังคุปัจเฉทะอีกไม่ได้เลย ต้องเป็นวิถีจิตสืบต่อทันที ซึ่งถ้าเป็นทางมโนทวาร คือไม่ได้อาศัยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ภวังคจลนะดับ ภวังคุปัจเฉทะเกิด เพราะฉะนั้นมีคำว่า "มโน" และ "มโนทวาร" คือภวังคุปัจเฉทะ และมีคำว่า"มโนทวารวิถี" หมายความว่าจิตที่จะเกิดสืบต่อจากภวังคุปัจเฉทะต้องเป็นมโนทวารวิถีตลอด จนกว่าจะสิ้นวาระของมโนทวารวิถี และเราก็มาหาว่ามโนทวารวิถีแรกคืออะไร ครั้งแรกเป็นภวังค์ แล้วก็ภวังคจลนะ และภวังคุปัจเฉทะ แล้วก็จะต้องเป็นวิถีแล้วหลังจากที่ภวังคุปัจเฉทะดับ วิถีจิตต้องเกิด เพราะฉะนั้นวิถีจิตแรกคืออะไร คือ มโนทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีจิตแรก เพราะฉะนั้นจะต้องทราบว่าจิตอะไรเป็นวิถีจิตแรก เพราะว่าจิตที่เป็นวิถีจิตจะไม่ใช่ภวังคจิตอีกต่อไป ต้องเป็นวิถีจิต เพราะต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นทางมโนทวาร ภวังคุปัจเฉทะเป็นตัวมโนทวารแต่ไม่ใช่วิถีจิตเพราะเป็นภวังค์ ขณะใดที่ชื่อว่าภวังค์จะไม่ใช่วิถีจิตเลย ไม่ว่าจะภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ใดๆ ก็ตาม ไม่ใช่วิถีจิต แต่เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับแล้วต้องเป็นวิถีจิตที่เกิดสืบต่อจะไม่ใช่วิถีจิตไม่ได้ เพราะฉะนั้นวิถีจิตแรกทางมโนทวาร ก็คือมโนทวาราวัชชนจิต เพราะฉะนั้นมโนทวาราวัชชนจิตไม่ใช่มโนทวาร เพราะเหตุว่ามโนทวารไม่ใช่วิถีจิตเป็นภวังค์ แต่เป็นภวังคุปัจเฉทะคือภวังค์ขณะสุดท้ายจึงเป็นมโนทวารของมโนทวาราวัชชนจิตที่เกิดสืบต่อ

    ผู้ฟัง แล้วที่เกิดของจิต ในหทยวัตถุก็รู้อารมณ์ทางใจ

    ท่านอาจารย์ มิได้ เวลากล่าวถึงที่เกิดของจิต จะใช้คำว่าวัตถุ ๖ หมายความว่าจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จะเกิดนอกรูปไม่ได้เลย จะเที่ยวไปลอยตามอากาศไปเห็นไปได้ยินอย่างนั้นไม่ได้ แต่ต้องอาศัยรูปหนึ่งรูปใดหนึ่งเกิด ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเทวดา เป็นรูปพรหม จิตจะเกิดก็ต้องอาศัยรูปเป็นที่เกิด แต่รูปซึ่งเป็นที่เกิดขณะนั้นไม่ใช่ทวาร แต่เป็นที่เกิดเท่านั้น ต่อไปจะทราบว่าจิตอะไรเป็นทวาร และเป็นวัตถุด้วย ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดแต่ถึงขณะนี้ก็ให้ทราบความต่างกันของคำว่า “มโน” ได้แก่จิตทุกชนิด "มโนทวาร"ได้แก่ภวังคุปัจเฉทะเท่านั้น ภวังคจลนะก็ไม่ใช่ ปฐมภวังค์ก็ไม่ใช่ ภวังค์ชื่ออื่นๆ ก็ไม่ใช่ นอกจากภวังคุปัจเฉทะ เราใช้คำนี้หมายความถึงกระแสภวังค์สิ้นสุด แต่ขณะที่เป็นมโนทวาร รูปไม่ได้มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ถึงมากระทบ จิตก็ไม่ได้เกิดขึ้นรู้ เพราะจิตกำลังจะรู้อารมณ์ทางใจ ไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะฉะนั้น การรู้อารมณ์ทางใจ เมื่อภวังคจลนะดับไป ภวังคุปัจเฉทะคือขณะสุดท้ายของภวังค์เกิดแล้วจะมีภวังค์อีกต่อไปไม่ได้ ต่อจากนั้นก็เป็นมโนทวาราวัชชนจิต เติมคำว่าอาวชน เพราะว่าต่างกับคำว่ามโนทวาร มโนทวารคือภวังคุปัจเฉทะ แต่มโนทวาราวัชชนจิตเป็นกิริยาจิตซึ่งทุกคนมี แม้ว่าไม่ใช่พระอรหันต์ก็มี เพราะว่าเป็นการรู้อารมณ์ทางใจ ขณะแรกที่เกิดขึ้นเป็นวิถีจิตแรก

    ผู้ฟัง พูดถึงหทยวัตถุ อาจารย์บอกว่า เฉพาะทวารทั้ง ๕ มีรูป มโนทวารไม่มีรูป สงสัยตรงนี้ว่า ๖ ทวารก็ต้องมีรูปมีนาม

    อ.ธิดารัตน์ วิถีจิตทางมโนทวารไม่ได้อาศัยรูป แต่อาศัยภวังคุปัจเฉทะซึ่งเป็นจิตที่เกิดก่อน เป็นทวาร ก็คือจิตดวงนั้น โดยที่ภวังคจิตซึ่งเกิดก่อนวิถีจิต ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ดวงสุดท้ายกระทำทางให้วิถีจิตทางมโนทวารเกิด มโนทวารจึงเป็นจิต

    ท่านอาจารย์ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ มีแต่นามธรรม หรือมีรูปธรรมด้วย

    ผู้ฟัง มีทั้งนามธรรม และรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ เมื่อมีทั้งนามธรรม และรูปธรรม ก็หมายความว่าจิตทุกขณะในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ต้องเกิดที่รูป มีรูปเป็นที่อาศัยเกิด ไม่ได้เกิดนอกรูป ขณะนี้เราพูดถึงที่เกิดของจิต เราไม่ได้พูดถึงทวาร เราไม่ได้พูดถึงทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ แต่เราพูดถึงว่าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ต้องมีรูปเป็นที่เกิด จิตขณะแรกเป็นปฏิสนธิจิตมีรูปเป็นที่เกิด หรือไม่ คือธรรมต้องตรง และไม่เปลี่ยน ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ มีทั้งนามธรรม และรูปธรรม นามธรรมคือจิต และเจตสิกต้องเกิดที่รูป รูปหนึ่งรูปใด จะไม่เกิดที่รูปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นในขณะแรกที่จิตเกิด เราไม่ได้พูดถึงทวารคือทางที่จิตจะรู้อารมณ์ต่างๆ แต่พูดถึงที่เกิดของจิตเท่านั้นว่าขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด ต้องมีที่เกิดซึ่งเป็นรูป ยังไม่ได้พูดถึงทวาร แต่พูดถึงที่เกิด ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตต้องเกิดที่รูป จิตขณะแรกคือปฏิสนธิจิต เกิดที่รูป หรือไม่ ต้องเกิดที่รูป ปฏิสนธิจิตเกิดจากกรรมเป็นปัจจัย เพราะปฏิสนธิจิตเป็นวิบาก อาศัยซึ่งกัน และกันทั้งนามธรรม และรูปธรรม เพราะว่ากรรมเป็นปัจจัยให้จิต เจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรมที่เป็นวิบากเกิดพร้อมรูปซึ่งเป็นกัมมชรูป รูปอื่นยังไม่เกิดเลย ขณะแรกที่จุติจิตเกิดเล็กแค่ไหน รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานมีสามกลุ่ม จะกล่าวถึงสักเล็กน้อยก็คงจะไม่ยุ่งยาก คือ มีกลุ่มที่มีกายปสาท ๑ กลุ่ม ที่มีภาวะคือความเป็นรูปที่ทำให้เมื่อเจริญเติบโตขึ้นก็ปรากฏอาการของหญิง หรือชาย ๑ กลุ่ม อีกกลุ่มหนึ่งคือมีหทยรูป เพราะฉะนั้นในสามกลุ่มปฏิสนธิจิตเกิดที่หทยรูป ซึ่งทั้ง ๓ รูปเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้นกรรมทำให้นามธรรม และรูปธรรมเกิดพร้อมกัน อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น หลังจากนั้นมา จิตทุกขณะต้องเกิดที่รูป จะไม่มีจิตสักขณะเดียวที่ไม่เกิดที่รูป ตอนนี้ก็คงไม่มีปัญหาเรื่องของวัตถุซึ่งเป็นที่เกิด รูปที่เกิดแล้วก็ดับไป แล้วแต่ว่ารูปใดเป็นที่เกิดของจิตก็เป็นวัตถุรูป หมายความถึงรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ปฏิสนธิจิตเกิดที่รูปโดยที่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้คิดนึก ยังไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใด แต่ก็เกิดที่รูป เพราะฉะนั้นความต่างกันของรูป คือ รูปซึ่งเป็นที่เกิด ใช้คำว่าวัตถุมี ๖ เหมือนกัน และทวารคือรูปที่เป็นทางที่จะทำให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่นก็มี ๖ แตกต่างกันที่ว่า วัตถุ ๖ เป็นรูปทั้ง ๖ เพราะว่ารูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต แต่ทวารคือทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์มี ๖ ทาง เป็นรูป ๕ ทาง และเป็นนาม ๑ ทาง คือทางมโนทวาร

    ผู้ฟัง ทวารก็คือส่วนหนึ่ง วัตถุที่เกิดก็คือส่วนหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าเราจะกล่าวถึงธรรมโดยนัยใด ถ้ากล่าวถึงที่เกิดหมายความถึงรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตใช้คำว่าวัตถุ ๖ เป็นที่เกิดของจิต และถ้ากล่าวถึงทวาร คือทางที่จิตจะต้องอาศัยเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ซึ่งมี ๖ ทาง แต่เป็นรูป ๕ เป็นนาม ๑

    ผู้ฟัง เหตุใดหทยวัตถุเป็นที่เกิดของจิต แต่ไม่เป็นทวารเหมือนกับปสาทรูปทั้ง ๕

    ท่านอาจารย์ คำว่า “ปสาท” หมายความถึงรูปที่มีลักษณะใส พิเศษ สามารถกระทบอารมณ์ เช่นจักขุปสาทซึ่งไม่มีใครมองเห็นเลย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    24 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ