พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 36


    ตอนที่ ๓๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ ถ้าคิดถึงเมื่อวานนี้กับวันนี้ ประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งแต่ละคนมี ก็สะสมสืบต่อปรุงแต่งให้มีการคิดถึงเรื่องนั้น ให้คิดถึงสิ่งที่ได้ยินได้ฟังด้วยความแยบคาย ความถูกต้อง เป็นความคิดที่ถูก เป็นกุศล หรือว่าเป็นความคิดที่เป็นอกุศล เพราะแม้บางคนจะได้ฟังธรรมมานาน แต่ก็ยังผูกโกรธ โกรธนั้นไม่ว่ากันเพราะว่าอย่างไรก็ต้องเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย แต่ไม่ลืม และก็ยังโกรธต่อ และก็ยังโกรธอยู่ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงการสะสมอะไรมาก การฟังธรรมในขณะนี้ที่เข้าใจว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ไม่มีตัวตนเลย เราจะต้องเกิดต่อไป ชาตินี้เราเกิดมาเป็นคนนี้ ก็คงต้องเป็นคนนี้ตามบุญตามกรรมที่แล้วแต่ว่าขณะไหนจะเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล รู้สิ่งใดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ลองคิดว่าชาติหน้าเราอยากจะเป็นเหมือนที่เราเป็นชาตินี้ หรือว่าอยากจะดีกว่า คงไม่มีใครคิดอยากเลวกว่าใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็เรียนได้ สะสมได้ ถ้าสะสมความดีไว้มากๆ เวลาที่เราเกิดอีก ที่เราสะสมมาแล้วก็อยู่ในจิตไม่ได้ไปไหนเลย

    เพราะฉะนั้นอยู่ที่แต่ละขณะที่มีการเห็น การได้ยิน แล้วก็จิตเป็นกุศลบ้างเป็นอกุศลบ้าง เป็นกุศลประเภทใดเป็นอกุศลประเภทใด เช่น บางคนจะมีความริษยาน้อยมาก เพราะไม่มีปัจจัยให้ต้องไปริษยาใคร แต่บางคนก็สะสมมามากเหลือเกิน ทั้งๆ ที่มีทุกอย่าง แต่ยังริษยาคนอื่น แต่ก็ไม่ใช่หมายความว่าคนที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลจะหมดความริษยา อาจจะมีอย่างแผ่วเบา อย่างอ่อนมาก และนานๆ ครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นมาเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ ถ้าผู้นั้นมีปัญญาก็สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้นว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ให้รู้ความจริงว่า จะไปกังวล หรือจะไปเดือดร้อน หรือจะไปทำอะไรกับสิ่งที่มีปัจจัยเกิดแล้ว และดับแล้วด้วย แก้ไขอะไรกับสิ่งที่เกิดแล้วดับแล้ว แต่สามารถที่จะมีความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ความคิดถูก ที่ค่อยๆ สะสมจากชาติหนึ่งไปอีกชาติหนึ่ง หรือ จากขณะหนึ่งไปอีกขณะหนึ่งได้

    เมื่อวานนี้ที่สนทนาธรรม และได้เล่าให้ฟังถึงชาวต่างประเทศสองท่าน ท่านหนึ่งอยู่เมืองไทย อีกท่านหนึ่งมาจากต่างประเทศ ท่านที่อยู่เมืองไทยท่านก็มีโอกาสได้ฟังธรรมบ่อยๆ แต่ท่านที่มาจากต่างประเทศ เมื่อเดินทางไปด้วยกัน เวลาว่างท่านที่เป็นชาวต่างประเทศที่มาจากต่างประเทศไม่ละทิ้งโอกาสที่จะสนทนาธรรมกับผู้ที่เป็นสหายธรรม ในขณะที่ท่านที่อยู่เมืองไทย ท่านก็คิด และเห็นว่าท่านไม่เห็นเหมือนอย่างเขาเลย ทำไมเขาช่างใช้เวลาส่วนใหญ่ที่จะเป็นไปได้เป็นอย่างนั้น แสดงว่าท่านเป็นผู้ที่ย่อหย่อน เกียจคร้าน เพราะคิดว่าเมื่อไหร่ก็ได้ ยังอยู่ที่เมืองไทย แต่ท่านที่เกิดทางไกลมาท่านใช้โอกาสทุกโอกาสที่จะเป็นอย่างนั้น แม้เพียงการคิดอย่างนี้ก็จะเป็นอุปนิสสยปัจจัยซึ่งจะทำให้ท่านที่พิจารณาคิดถึงเพื่อนต่างประเทศอาจจะเกิดความขยันแล้วก็ขวนขวายอีก จะมาก หรือจะน้อยก็แล้วแต่ วันนี้ หรือวันไหนก็แล้วแต่ เพราะว่าเราไม่สามารถที่จะรู้ถึงการปรุงแต่งของจิต เจตสิกแต่ละขณะที่เกิดขึ้นว่า จะปรุงแต่งวิจิตรสักเพียงใดในสังสารวัฏฏ์เนิ่นนานมา จิตเกิดดับสืบต่อทุกประสบการณ์สะสมสืบต่อเป็นปกตูนิสยปัจจัย ไม่ได้สูญหายไปไหนเลย เพียงแต่เราไม่สามารถที่จะหยั่งรู้ได้ แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีอาสยานุสยญาณ ญาณที่คนอื่นไม่มี สามารถที่จะเห็น และรู้ว่าบุคคลนี้มีอัธยาศัยทั้งทางฝ่ายกุศล และอกุศลสะสมมามากน้อยต่างกันอย่างไร เหมาะกับที่จะทรงแสดงพระธรรมที่จะเกื้อกูลเขาอย่างไร ซึ่งจะต่างกับบุคคลอื่น แต่เมื่อเราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าเราสะสมอุปนิสัย อัธยาศัยทั้งฝ่ายกุศล และอกุศลมามากน้อยแค่ไหน แต่สามารถรู้ได้ทันทีที่สภาพธรรมเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นทุกขณะที่เกิดเป็นธรรมที่ส่องไปถึงการสะสมในแสนโกฏิกัปป์ในอดีตอนันตชาติ เพราะฉะนั้นเวลาที่จะฝันก็คือว่ายังมีความผูกพันในความเป็นเราในเรื่องราวต่างๆ ยังไม่ใช่ผู้ที่ดับกิเลสหมด ถ้าดับกิเลสหมดก็คือไม่มีอะไรที่จะต้องแม้กังวล หรือเยื่อใยถึงเลย

    ผู้ฟัง เราก็ไม่ทราบว่าชาติที่แล้ว เราสะสมอะไรเป็นคุณภาพของภวังค์ของเราในขณะนี้ เพราะฉะนั้นขณะนี้ก็พยายามเผื่อชาติหน้าภวังค์จะได้ดีขึ้น

    ท่านอาจารย์ นี่คือประโยชน์อย่างยิ่งของการได้ฟังพระธรรม คือเพื่อการขัดเกลา ประโยชน์สูงสุดก็คือว่าถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม เราจะเอาอะไรมาคิดมาพิจารณาให้ถูกต้องว่าสิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควรเพราะไม่มีเรา แต่สังขารขันธ์ปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าทั้งๆ ที่ไม่อยากคิด ไม่อยากเป็นคนไม่ดี ไม่อยากคิดไม่ดีแต่ก็เป็น และคิดเมื่อถึงกาลนั้น เพราะฉะนั้นก็เห็นความเป็นอนัตตา และทางเดียวที่จะหมดกิเลสได้ ก็คือต้องสะสมความเห็นถูก ความรู้ถูกในสภาพธรรมที่ปรากฏจนกว่าจะรู้แจ้งสภาพธรรมนั้นได้

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน พูดจริงๆ แล้วขณะนี้ฟังธรรมอยู่ก็ไม่แน่ว่าวันข้างหน้าอกุศลที่สั่งสมไว้แสนโกฏิกัปป์ในอดีตจะทำให้ต้องไปฆ่าพ่อฆ่าแม่เหมือนกับพระเจ้าอชาตศัตรู ใครก็มารับรองไม่ได้ ตรงนี้ก็เป็นไปได้ใช่ไหม ดังนั้นจึงกลัวมากกับอกุศล

    ท่านอาจารย์ กลัวเป็นกุศล หรืออกุศล ถ้าเข้าใจถูกเป็นกุศล หรืออกุศล ทุกคนมีกรรมที่ได้กระทำแล้วมากมาย ไม่รู้ว่ากุศลกรรมเท่าไหร่ อกุศลกรรมเท่าไหร่ ไม่รู้แล้วจะไปคิดทำไมเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้ยิ่งขึ้น เพราะว่าหนทางเดียวที่จะพ้นจากอบายภูมิคือบรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคล ถ้าเป็นพระโสดาบันเมื่อไหร่ไม่มีทางที่จะไปสู่อบายภูมิเลย ส่วนที่สะสมมาแล้วก็ปรากฏให้เห็นว่าไม่ใช่เรา ก็ยังอุตส่าห์เป็นเราอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นจึงต้องฟัง ฟังไป ฟังไป จนกว่าปัญญาจะมีกำลังพอที่จะรู้ว่าไม่ว่าสภาพธรรมใดก็คือเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มีปัจจัยก็เกิดขึ้น มิฉะนั้นแล้วเราจะต้านการครอบงำของโลภะไม่ได้เลย โลภะครอบงำอย่างหนาแน่นเหนียวแน่นอยู่ตลอด ให้คิดเป็นเราอยู่ตลอดเวลา ให้กลัวความเป็นเราว่าจะต้องลำบาก และจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดก็คือเป็นธรรมเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง แต่เหตุการณ์มันจะเป็นไปได้ในฐานะที่เป็นปุถุชนอยู่ก็ต้องกลัว

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ถ้ากลัวแล้วก็ให้รู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรม ไม่ใช่กลัวเปล่าๆ

    ผู้ฟัง จึงได้มาฟังธรรม ณ ที่นี้ ก็ไม่ได้ประมาทเลยว่าขณะนี้มาได้ฟังธรรม หากวันข้างหน้าจะต้องไปทำกรรมที่หนักๆ เหมือนกับพระเจ้าอชาตศัตรู จึงรู้สึกกลัว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องไม่ประมาท กลัวเกิดขึ้นก็ไม่ประมาท คือรู้ว่าสภาพนั้นเป็นธรรมชนิดหนึ่ง จริงๆ ก็ดูเหมือนว่าทุกคนไม่อยากมีอกุศลเลย อยากให้หมดเลย ไม่ให้เกิดเลย เกิดขึ้นก็กลัวอีกด้วยความเป็นเรา แต่ถ้ารู้ว่าบังคับไม่ได้ และเรามีความรู้ความเข้าใจพระธรรมแค่ไหน ก็จะเห็นได้เลยว่าแม้รู้ความเข้าใจพระธรรมที่ได้เรียนมาจะมากจะน้อยอย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สามารถที่จะกันความโกรธ หรือกันความกลัวได้ เพราะฉะนั้นก็มีหนทางเดียวเท่านั้นเองก็คือ ศึกษาให้เข้าใจสภาพธรรมยิ่งขึ้นทางเดียว ไม่ใช่ทางที่เราจะไปใช้วิธีอื่น เพราะว่าไม่มีกำลังของปัญญาพอที่แม้แต่จะคิดอย่างนั้น เมื่อถึงกาลที่อกุศลธรรมเกิดก็เป็นเรื่องของอกุศลธรรม แต่ถึงกาลที่เราจะได้ฟังพระธรรมได้เข้าใจพระธรรม เราก็สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก และก็ไม่หวังว่าวันนี้เราสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เราจะได้หายกลัว ก็ไม่ต้องคิดอะไรทั้งหมดเพราะว่าเกินวิสัยที่เราจะไปรู้ได้ว่าที่สะสมมาแล้ว และกำลังสะสมอยู่จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะใดเป็นอะไร จะรู้ก็ต่อเมื่อเป็นสติสัมปชัญญะเท่านั้นจริงๆ ที่สามารถจะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏได้

    ทบทวนจิตทั้งหมดมี ๑๔ กิจ ปฏิสนธิกิจ ๑ ขณะ ก็ไม่รู้จะไปเกิดภูมิไหนแต่ต้องเกิดแน่นอน ผู้ที่กลัวจริงๆ เห็นโทษเห็นภัยจริงๆ คือผู้ที่เป็นพระอรหันต์ หรือว่าก่อนนั้นได้อบรมเจริญปัญญาที่จะถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะว่าพระอรหันต์ท่านไม่กลัวอะไรเลย แต่ว่าที่จะเป็นพระอรหันต์ได้เพราะกลัวเกิด เพราะว่าตายแล้วต้องเกิด ตายแล้วก็ต้องเกิด ตายแล้วก็ต้องเกิด พระโพธิสัตว์ท่านไม่ได้พิจารณาอย่างเราที่กลัวตาย แต่พิจารณาว่าเมื่อไหร่จะไม่เกิด เพราะว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องคิดนึก ต้องสุข ต้องทุกข์ ต้องบริหารร่างกาย ต้องทุกอย่างหมด เป็นภาระ แต่ว่าเมื่อเกิดมาแล้วถ้าไม่มีปัญญาก็จะไม่เห็นเลยว่าเป็นภาระ ก็ดูเป็นเรื่องที่อาจจะชอบเห็น ชอบลิ้มรส ชอบอะไรต่างๆ แต่จริงๆ แล้วทั้งหมดเป็นภาระ เป็นกิจของจิตซึ่งต้องเกิดต้องทำ จิตเกิดแล้วไม่ทำกิจไม่ได้เลย แล้วแต่ว่าจิตนั้นทำกิจอะไร มีใครกลัวปฏิสนธิกิจบ้าง หรือก็ยังไม่กลัว เกิดอีกก็ได้ แต่ขอเกิดในภูมิที่เป็นสุขติภูมิบนสวรรค์ หรือถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็ขอให้มีทรัพย์สมบัติมีวงศาคณาญาติ มีรูปร่างสวยงาม มีทุกสิ่งทุกอย่าง บางคนก็บอกว่าเกิดไปเรื่อยๆ อย่างนี้ก็คงจะไม่เป็นไรเพราะว่ามีแต่ความสุข โดยที่ว่าไม่เห็นภัยเลยว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่ใครก็ตามที่เข้าใจว่าสุขแล้วในชาตินี้ก็ยังต้องมีทุกข์ ไม่มีใครเลยที่จะกล่าวได้ว่าสุขจริงๆ แต่เขาอาจจะไม่เห็น เช่นเวลาที่เขาหิว ก็ไม่เคยคิดว่านั่นคือทุกข์แล้ว ถ้าหิวมากๆ เป็นอย่างไร ไม่รับประทานอาหารเลยเป็นวันเป็นอย่างไร แต่เมื่อสามารถที่บริโภคอาหารได้ด้วยรสที่อร่อย ก็ไม่ได้เห็นเลยว่าแท้ที่จริงหิวนี่ก็น่ากลัวด้วย ก็เป็นทุกข์ของกายวิญญาณอกุศลวิบาก

    เพราะฉะนั้นก็พิจารณาตั้งแต่ปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ กลัวไหม สบายมาก และอยากเป็นภวังค์ หรือเปล่า ถ้าสบาย หรือชอบ

    ผู้ฟัง ตอนเป็นอกุศลจิต รู้สึกกลุ้มใจ โทมนัส ก็อยากจะเป็นภวังค์ ตามชีวิตประจำวันก็เป็นแบบนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่นอนเลยคงไม่ได้ใช่ไหม ก็จะต้องเกิดทุกข์ทางกาย เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นภวังคจิต ไม่มีใครกลัวภวังคจิตแน่ เว้นเสียแต่ว่าภวังค์ตลอดไปโดยที่จุติจิตไม่เกิด ก็ยังไม่กลัวอีก เพราะว่าขณะนั้นไม่รู้สึกตัวเลย แต่คนข้างเคียงก็จะกลัวเพราะเหตุว่าเป็นระยะที่ไม่มีการรักษาพยาบาลที่จะทำให้ฟื้นขึ้นมาได้

    หลังจากที่ปฏิสนธิจิตผ่านไปแล้ว ภวังคจิตผ่านไปแล้ว ถึงกาลที่จะต้องรับผลของกรรม คือต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก่อนจิตที่ทำกิจเหล่านี้เกิดขึ้นจะต้องมีวิถีจิตแรก เวลาที่เป็นภวังคจิตไม่ใช่วิถีจิต วิถีจิตแรกมีอยู่สองประเภท คือ วิถีจิตแรกทางปัญจทวารสามารถที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทางได้ จึงรวมเรียกว่าปัญจทวาราวัชชนจิต แต่สำหรับวิถีจิตแรกทางใจ ไม่ต้องมีอารมณ์มากระทบเลยก็สามารถที่จะคิดนึกตามการสะสมที่ว่าจะคิดเรื่องอะไร ความคิดของเราๆ ห้ามไม่ได้เลย อยากให้คิดให้สนุกๆ ก็ไปคิดในสิ่งที่เป็นทุกข์ หรือว่ามีเหตุการณ์ หรือมีเรื่องราวที่ทำให้ต้องได้ยินได้ฟัง และคิดไปในเรื่องของสิ่งที่เป็นทุกข์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าทุกคนต้องคิด แต่ภวังคจิตคิดไม่ได้ วิถีจิตแรกก็คือมโนทวาราวัชชนจิต ปัญจะ คือ ๕ ทวาร คือ ทาง อาวัชชนะ คือ รำพึงถึง หรือว่ารู้ว่าอารมณ์กระทบทางทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร สำหรับ มโนทวาราวัชชนะ ก็เป็น มโน กับ ทวาร และ อาวัชชนะ คือ วิถีจิตแรกทางมโนทวาร ต่อจากนั้นเมื่อวิถีจิตแรกดับไปแล้ว วิถีจิตที่เกิดสืบต่อต้องเป็นวิถี ไปจนกว่าจะสิ้นสุดวาระหนึ่งๆ ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ต่อเมื่อรูปที่มีอายุ ๑๗ ขณะดับเมื่อใด วาระนั้นก็จะเกิดต่อไปไม่ได้ ก็ต้องเป็นภวังค์ แต่สำหรับมโนทวารขณะที่มีการคิดนึก หลังจากที่เห็นก็ได้ หลังจากที่ได้ยินก็ได้ หลังจากที่ได้กลิ่น หลังจากที่ลิ้มรส หลังจากที่รู้สิ่งกระทบสัมผัสก็ได้ หรือแม้ไม่มีการเห็น การได้ยินเลย มโนทวารวิถีจิตก็เกิดได้ โดยมีมโนทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีจิตแรก

    ผู้ฟัง กรรมหนึ่งที่เกิดทำภวังค์ กรรมหนึ่งที่ทำกิจทางปัญจทวาร คือ ทวิปัญจวิญญาณ กรรมนี้เป็นกรรมเดียวกัน หรือ ต่างกรรมกัน ก็ได้

    ท่านอาจารย์ ต้องใช้คำว่า "ผลของกรรม" ไม่ใช่เป็นตัวกรรม

    ผู้ฟัง เป็นผลของกรรม ที่เป็นกรรมเดียวก็ได้ หรือคนละกรรมก็ได้ ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง กรรมหนึ่งทำให้ฏิสนธิจิตเกิด และเมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้วกรรมเดียวกันนั้น ก็ทำให้จิตประเภทเดียวกันนั้นเกิดสืบต่อ แต่เมื่อไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ คือไม่ใช่กิจที่เกิดสืบต่อจากจิตของชาติก่อนจึงทำภวังคกิจ ภวังคกิจคือกิจที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นไว้ไม่ให้สิ้นสุดไป ไม่สามารถเปลี่ยนความเป็นบุคคลนั้นไม่ได้เลย จนกว่าจิตขณะสุดท้ายคือ จุติจิตเกิดแล้วดับไปเมื่อไหร่ กรรมหนึ่งก็จะทำให้ปฏิสนธิของชาติหน้าเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกรรมอะไร แต่สำหรับในชาตินี้เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตจะเกิดสืบต่อ จนกว่าจะมีวิถีจิตเกิดขึ้น เมื่อวิถีจิตเกิดขึ้นเมื่อนั้นจึงไม่ใช่ภวังคจิต เพราะฉะนั้นเวลาที่กำลังเป็นภวังค์อยู่ก็เป็นผลของกรรมที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้โดยทำภวังคกิจก่อน แล้วก็จะมีการรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเป็นผลของกรรมภายหลังไม่ใช่พร้อมกัน เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นเพื่อรับผลของกรรม คือ มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และผลของกรรมที่ได้รับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จะเป็นผลของกรรมเดียวกับที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด หรือเป็นผลของกรรมอื่นก็ได้ เพราะเหตุว่าถ้าเราเกิดมาด้วยผลของกรรมที่จะทำให้เราพรั่งพร้อมด้วยสมบัติ ก็จะมีการเห็น การได้ยิน หรือรับรู้สิ่งที่ดี ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นผลมาเนื่องจากกรรมซึ่งได้กระทำแล้วซึ่งไม่ใช่แต่เพียงทำให้เกิด และเป็นภวังค์ กรรมนั้นยังให้ผลมากน้อยตามสมควร

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าชีวิตในโลกนี้ สัตว์โลกทั้งหลายเป็นที่ดูผลของบุญ และบาป และเป็นที่ดูบุญ และบาปต่อไปด้วย เป็นที่ดูผลของบุญ และบาป ก็เห็นอยู่ว่า คนเราเกิดมาต่างกัน เป็นคนด้วยกัน เป็นมนุษย์ที่เกิด ที่อยู่ ที่อาศัย ก็ต่างกัน แล้วแต่ละขณะที่มีการเห็น การได้ยิน ก็ต่างกันไปอีก แล้วแต่กรรม ถ้าเป็นผลของกรรมที่ประณีตทำให้เกิดมาเป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อมทุกประการ เวลาที่เป็นภวังค์แล้วก็ยังมีการที่จะได้รับผลของกรรมทางตาให้ได้ตื่นขึ้น เห็นสิ่งที่ดี ให้ได้ยินสิ่งที่ดี ให้ได้กลิ่นที่ดี ให้ลิ้มรสที่ดี ให้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายที่ดี ขณะนั้นก็เป็นผลของกรรมที่ประณีตที่สมบูรณ์พร้อมที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตประเภทนั้นเกิดโสมนัสสหคตัง โสมนัสสสหคตัง (โส-มะ-นัส-สะ-สะ-ห-คะ-ตัง) แล้วก็เป็นญานสัมปยุตตัง อสังขาริกัง หมายความว่าเวทนาความรู้สึกที่เกิดด้วยก็เป็นโสมนัสในอารมณ์ เพราะฉะนั้น จะเป็นความสุขในอารมณ์ที่ได้รับ ความเพลิดเพลิน ความยินดี และถ้าเป็นผลของกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ก็จะมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับปฏิสนธิจิต ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะเป็นพื้นของจิต ที่ทำให้มีการเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม มีการศึกษา มีการฟัง มีการเจริญขึ้นในกุศลธรรม และก็เป็นขณะที่ประกอบด้วยปัญญา แต่ถ้าเป็นผลของกุศลที่ประณีตแต่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา เราก็จะเห็นได้ว่ามีหลายท่านที่เป็นผู้ที่สมบูรณ์พูนสุขทุกประการทั้งลาภ ทั้งยศ ทั้งชื่อเสียง แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีศรัทธา ไม่มีความสนใจ ไม่มีการที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ทำให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อ และก็ยังทำให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ตามควรแก่กรรมนั้นๆ ด้วย

    เพราะฉะนั้น แต่ละชีวิตจึงต่างกันไปตามกรรม ใครจะได้มากได้น้อยที่เป็นผลของกุศลกรรม หรือได้มากได้น้อยที่เป็นผลของอกุศลกรรม ก็เป็นสิ่งที่ได้กระทำมาแล้วทั้งนั้น แต่เราไม่สามารถจะบอกได้ว่า ขณะนี้ที่กำลังได้รับสิ่งนี้เป็นผลของกรรมใด เพราะเหตุว่าในบางวันเราก็อาจจะได้รับสิ่งที่ประณีตมาก ไม่ใช่ชีวิตประจำวัน แต่พิเศษต่างจากชีวิตประจำวัน ขณะนั้นก็ต้องเป็นผลของกรรมที่สามารถจะให้ผลหลังจากปฏิสนธิ หรือว่าเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ก็เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์พร้อม แต่ถึงกาลที่อกุศลกรรมจะให้ผลก็มีการเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่ว่าเป็นกาลที่สุกงอมของกรรมใดที่จะทำให้วิบากจิตเกิดก็เป็นปัจจัยทำให้วิถีจิตเกิด แล้วแต่ว่าจะป็นทางตา หรือหู หรือลิ้น หรือจมูก หรือกาย เพราะว่ากรรมทำให้เกิดจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท เพื่อให้จิตเกิดขึ้นโดยอาศัยปสาทรูปเป็นทวารที่จะเป็นผลของกรรมที่จะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ดี น่าพอใจ หรือที่ไม่น่าพอใจ

    ผู้ฟัง ทวิปัญจวิญญาณ หรือวิถีจิตที่จะเกิดทางปัญจทวารเป็นผลของกรรมอื่นก็ได้จากคำกล่าวนี้ กรรมอื่นก็คือกรรมที่ทำไว้แล้วในอดีตสังสารวัฏฏ์แสนโกฏิกัปป์ก็ได้ หรือกรรมที่ทำหลังปฏิสนธิคือชาตินี้ ก็ได้ ถูกต้อง หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่ต้องเป็นกรรมที่ได้กระทำแล้ว ถ้าจะให้ผลอย่างเร็วภายในเจ็ดวันต้องเป็นกรรมที่มีกำลังมาก ถ้าศึกษาเรื่องกรรมจะทราบเรื่องหน้าที่ของกรรมด้วย กรรมไม่ได้มีหน้าที่เดียว คือ ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ยังมีกรรมที่อุปถัมถ์ หรือกรรมที่เบียดเบียน หรือกรรมที่ตัดรอนด้วย

    เวลานี้เราก็อยู่กันตรงนี้ เราก็ควรที่จะได้ทราบประโยชน์ของการที่เราอยู่ตรงนี้ คือทุกคนมีจิต แล้วก็ยากแสนยากที่จะรู้ว่า จิตนี้ไม่ใช่เรา แม้ว่าจะเห็นจะได้ยินซึ่งแม้ว่าขณะใดก็ตามที่จิตเกิดขึ้นทำหน้าที่ต่างๆ ด้วยความไม่รู้ ก็มีการยึดถืออยู่ตลอดเวลาว่าเป็นเรา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    18 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ