พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 15


    ตอนที่ ๑๕

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖


    อ.กุลวิไล พูดถึงสัญญาขันธ์ ซึ่งเป็นขันธ์ๆ หนึ่ง ในชีวิตประจำวันบางครั้งเราก็จะเห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนซึ่งเป็นการเห็นครั้งแรก ซึ่งก็จะเห็นความแตกต่างว่าขณะนั้นเป็นครั้งแรกที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น ก็พอที่จะพิจารณาถึงความเป็นสภาพธรรมที่เป็นลักษณะของสัญญาที่จำในอารมณ์

    ท่านอาจารย์ ยังจำได้ว่าไม่เคยเห็นมาก่อน จำทั้งนั้น ไม่ขาดเลย แล้วแต่ว่าเราสามารถที่จะคิดอะไร ขณะนี้เรานั่งเฉยๆ คิดอะไรขึ้นมาสักคำเพราะว่าจำได้ ถ้าจำไม่ได้จะคิดคำนั้นก็ไม่ได้ ก็เป็นเรื่องชีวิตประจำวันจริงๆ

    ผู้ฟัง ขณะนี้จำเบอร์โทรศัพท์ของใครได้สักคน แสดงว่าสัญญาทำหน้าที่จำเสียงที่ผ่านมาแล้วใช่ไหม ที่ได้ยินผ่านมาอย่างนั้นใช่ไหม ที่คุณกุลบอกว่าสัญญาจำในอารมณ์เป็นในลักษณะอย่างนี้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ แท้จริงแล้วสัญญาจำหมด จำสิ่งที่ปรากฏทางตา จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำสิ่งที่กระทบสัมผัส จำเรื่องราว จำคำต่างๆ ด้วย เหนื่อยไหมสัญญา ถ้าเป็นคนก็คงเหนื่อย แต่สัญญาเกิดขึ้นทำหน้าที่แล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นเรื่องที่ไร้สาระ ทำไมจำง่ายเหลือเกิน แต่ถ้าเป็นเรื่องธรรม เรื่องที่จะทำให้ตัวเองดีขึ้น ไม่ค่อยจำ นี่เป็นเพราะเหตุใด

    ท่านอาจารย์ เพราะคุ้นเคย พอใจในเรื่องไร้สาระ บางคนฟังธรรมเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เบื่อมากเลย ไม่เห็นไปไหน ก็อยู่ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ เพราะฉะนั้นสู้เพลินในเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ได้ เพลินในคนยังไม่พอ เพลินในนิทาน ในนิยาย ในโทรทัศน์ ในหนังสือพิมพ์ เป็นเรื่องราวของสภาพธรรมที่เกิดดับตลอดเวลา แต่เพราะความไม่รู้ และก็คุ้นเคยกับความทรงจำด้วยสัญญาที่จำในเรื่องต่างๆ ก็ติดข้องในเรื่องที่มี เพราะฉะนั้นยากแสนยากที่จะสละเรื่องราว สละความเป็นตัวตนก็คือสละเรื่องราวด้วย เพราะว่าจิต เจตสิก ไม่ใช่เรื่องราว เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นทำกิจ เช่นการเห็น ก็เห็นสีสันวัณณะที่ปรากฏแล้วก็ดับ ไม่ใช่เรื่องราว จิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง เสียงเป็นปรมัตถธรรม เป็นรูปธรรม เกิดแล้วก็ดับ แต่เรื่องราวของสิ่งที่ปรากฎกับเสียงที่ปรากฏที่จำไว้ ทำให้ติดข้อง และเพลินในเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า จะสละความไม่รู้ ก็คือมีความเห็นที่ถูกต้องว่า แท้ที่จริงแล้วเรื่องนั้นมีจริงๆ หรือเปล่า หรือเพราะจำว่ามีสิ่งซึ่งเป็นอัตตสัญญา จำสิ่งที่เกิด และดับไปแล้วว่ายังมีอยู่ เช่น คนที่กำลังนั่งอยู่ รูปที่กระทบจักขุปสาทเกิดแล้วดับตลอดเวลา แต่ก็จำผิดว่ายังมีอยู่ ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น ก็จำเรื่องราวของสิ่งที่มีอยู่ด้วยความติดข้อง ด้วยความเพลิดเพลิน ด้วยความไม่รู้ แต่ถ้าเป็นความรู้ถูก ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ไม่ใช่เราจะเพลินอย่างเรื่องราว แต่จะเกิดปิติ โสมนัสได้ ที่ได้รู้ความจริงที่ซ่อนเร้นมานานแสนนานว่า แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสิ่งที่ปรากฏจริงๆ เป็นสีสันวัณณะต่างๆ เท่านั้นเอง สละการที่เคยยึดถือว่าเป็นคน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ คือ สละเรื่องราวทั้งหมด ว่า สีนี้เป็นญาติ สีนี้เป็นเพื่อน สีนี้เป็นสิ่งของ สีนี้เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะความจริงสิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะจริงๆ คือสามารถกระทบจักขุปสาทแล้วดับ คนอยู่ที่ไหน ถ้าไม่คิด ไม่จำ จำไว้อย่างเหนียวแน่น อัตตสัญญาความทรงจำว่าเป็นบุคคล ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามแต่ และก็เพลิดเพลินไปกับอัตตสัญญา เพราะฉะนั้น กว่าจะสละได้ ไม่ใช่สละเพียงเรา แต่ต้องสละเรื่องราวทั้งหมดด้วย เพราะเรื่องราวทั้งหมดไม่ใช่ปรมัตถธรรม ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม คือไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป เกิดดับสืบต่อ เรื่องราวทั้งหมดจะมีไม่ได้ เรื่องราวมีเมื่อจิตคิด ถ้าจิตไม่คิดเรื่องใดเรื่องนั้นก็ไม่มีในขณะนั้น

    ผู้ฟัง ฟังธรรมแล้วชื่นใจ กลับไปก็ลืม เป็นเพราะอะไร

    ท่านอาจารย์ ความรู้ หรือความไม่รู้มากกว่ากัน ความไม่รู้มากกว่า ก็เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดไม่รู้ความจริงในขณะที่ไม่ได้ฟัง ไม่เกิดความเข้าใจถูกต้อง

    ผู้ฟัง มีวิธี หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ วิธีอะไร

    ผู้ฟัง วิธีที่จะให้จำสิ่งดีๆ ให้มากขึ้น

    ท่านอาจารย์ ฟังเรื่องไหนบ่อยกว่ากัน

    ผู้ฟัง ส่วนมากจะฟังธรรมมากกว่า แต่ไม่ค่อยจะจำ

    ท่านอาจารย์ ก่อนๆ นี้ฟังอะไรมากกว่า

    ผู้ฟัง แต่ก่อนฟังเพลง

    ท่านอาจารย์ เพลงที่เคยฟังมาก่อนตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงวันนี้ มากกว่า หรือน้อยกว่าธรรมที่ได้ฟัง

    ผู้ฟัง มากกว่า

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเป็นคนที่มีเหตุผล สิ่งใดที่มีมาก สะสมมามาก ก็มีปัจจัยที่ทำให้เกิดมาก ก็เป็นของธรรมดา ถ้ามีความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีแล้วในขณะนี้ ก็จะทำให้รู้ว่าเราไม่สามารถที่จะมีเราที่จะไปคิดนึก ทำอะไรขึ้นมา แต่ว่าสิ่งใดก็ตามเกิดแล้วทั้งนั้นจึงได้ปรากฏ แม้แต่ความคิดว่ามีวิธีไหม ขณะนั้นก็เป็นความคิดที่เกิดแล้ว จะเปลี่ยนความคิดนั้นเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย สิ่งใดก็ตามที่มีขณะนี้เพราะเกิดแล้ว ต้องเข้าใจ และต่อไปสิ่งใดก็ตามที่จะเกิดก็เพราะมีปัจจัยที่จะเกิดด้วย ก็คือการเข้าใจธรรมในความเป็นปัจจัยของธรรมถูกต้อง ค่อยๆ เข้าใจถูก ไม่ใช่ว่าอยากจะเป็นอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่ในขณะนี้ เพราะว่าขณะนี้เป็นแล้วโดยที่ไม่มีใครทราบ แต่มีปัจจัยก็เกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นข้างหน้า หรืออนาคตต่อไปที่จะเกิดก็เหมือนกัน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็เพราะมีปัจจัยพร้อมที่จะเกิดเป็นอย่างนั้นในขณะนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น การฟังธรรมคือการเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ถ้ายังมีตัวเราอยากจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ลืมไปอีกแล้ว ก็ต้องฟังจนกว่าจะเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ที่ว่า"เห็น"ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ตัวตน เรา เขา ผมพยายามจะมองว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล

    ท่านอาจารย์ นั่นคือ “ผม” พยายาม ขณะนั้นก็เป็นเรา ที่สำคัญที่สุด”ไม่ใช่เรา” แต่เป็นธรรม ไม่ต้องไปพยายามอะไร แต่เข้าใจ พยายามไปมองให้ไม่ใช่เรา หรือไม่ใช่สิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็น”เรา”ที่กำลังพยายาม เพราะฉะนั้นจะเอาเราออกได้อย่างไร ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ ว่าแม้ขณะนั้นก็เป็นธรรม เป็นความคิดนึก

    ผู้ฟัง บางครั้งก็สอนตัวเองว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา

    ท่านอาจารย์ "คิด" เกิดขึ้นมาได้ ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยคิด ก็มีปัจจัยที่จะเกิดคิดเมื่อไหร่ ไม่ใช่ตลอดเวลา เมื่อไหร่"คิด" ขณะนั้นก็ให้ทราบว่ามีเหตุปัจจัยที่ทำให้คิดอย่างนั้น

    อ.อรรณพ ท่านแสดงว่าขันธ์ก็เป็นของว่างเปล่า แต่เหตุใดเราถึงได้ยึดติดในความว่างเปล่า

    ท่านอาจารย์ ก็เพราะไม่รู้ว่าว่างเปล่า ห้องนี้ไม่เห็นว่าว่างใช่ไหม ก็มีคนมาก ยังไม่ได้ว่างเลย เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วสัญญามีอยู่ทุกขณะที่จำ หรือกำลังทำอะไรก็ตาม เช่นเดินลงบันได มีสัญญาไหม ต้องมีแน่นอน ถ้าไม่มี ก็ลงบันไดไม่ได้ จะรับประทานอาหารหยิบช้อนหยิบส้อม มีสัญญาไหม ก็มี เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วถ้ารู้ว่าขณะใดที่รู้ว่าเป็นสิ่งใด หรือจำ ขณะนั้นก็เป็นหน้าที่ของสัญญาเจตสิก ส่วนเจตสิกทั้งหมดที่เหลือ ๕๐ เจตสิก เป็นสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วในวันหนึ่งๆ ก็มีแต่จิต เจตสิก รูป ซึ่งแน่นอนว่าที่ตัวเราก็มีรูป ภายนอกก็มีรูป แต่ขณะใดที่การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ขณะนั้น ก็ไม่พ้นจากการยึดมั่นในรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์เลย จึงมีอีกคำหนึ่งว่า “อุปาทานขันธ์” คือขันธ์ใดเป็นที่ตั้งของความยึดถือ ขณะนั้นก็เป็นอุปาทานขันธ์

    ดังนั้น ที่สรุปไปแล้วว่า เจตสิกที่เหลืออีก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ ถ้าพ้นจากชื่อเวทนา พ้นจากชื่อสัญญา ได้ยินชื่อต่อไปอีกหลายชื่อที่เป็นชื่อของเจตสิก เจตสิกนั้นๆ เป็นสังขารขันธ์ เช่นโลภะ เป็นสังขารขันธ์ โทสะเป็นสังขารขันธ์ ปัญญาเป็นสังขารขันธ์ สติเป็นสังขารขันธ์ วิริยะเป็นสังขารขันธ์ มัจฉริยะเป็นสังขารขันธ์ ชื่ออะไรก็ตามนอกจากนี้ทั้งหมดเป็นสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้นก็จำได้เลยโดยไม่ต้องท่อง ปรมัตถธรรม ๓ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ จำแนกเป็นขันธ์ ๕ ในขณะที่กำลังหลับสนิท ขาดขันธ์หนึ่งขันธ์ใด หรือไม่ ไม่ขาดเลย ครบทั้ง ๕ ขันธ์ เพราะอะไร กำลังหลับ มีรูปขันธ์แน่นอน และมีอะไรอีก

    ผู้ฟัง มีเวทนาขันธ์ มีสัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์

    ท่านอาจารย์ มีครบทั้ง๕ ขันธ์ ไม่ว่าจะหลับ หรือจะตื่น ถ้าตาย ศพมีกี่ขันธ์

    ผู้ฟัง เหลือรูปขันธ์อย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เหลือรูปขันธ์อย่างเดียว นามขันธ์ทั้ง๔ ไม่มีเลย เพราะฉะนั้นนามขันธ์ ๔ ไม่แยกกันเลย ไม่ว่าจะเกิดในภพภูมิไหนก็ตาม ต้องมีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้ง๔ ขันธ์ เรียกว่านามขันธ์ ๔ จะแยกให้มีนามขันธ์เดียวไม่ได้

    ผู้ฟัง ลักษณะของสัญญาที่จำสี หรือเสียง จะเรียกว่าจำในลักษณะของปรมัตถธรรม หรือเปล่า แต่ตามที่เข้าใจเหมือนกับว่าถ้าจะรู้ในลักษณะของปรมัตถธรรมต้องสติปัฏฐานเกิด มีความต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ความจำเป็นลักษณะของเจตสิกซึ่งมีหน้าที่จำ ไม่ใช่ลักษณะของสติ ต้องแยกกัน

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นขณะที่จำ จะจำเป็นปรมัตถ์ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ จำทุกอย่างที่จำ คุณบงษ์จำสีได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง จำสีได้

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะคงจะไปนึกถึงชื่อ

    ท่านอาจารย์ เพราะสัญญาจำ

    ผู้ฟัง ถามว่า จำในลักษณะที่เป็นชื่อ หรือว่าลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏเป็นสีอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เรียกว่าสีเหลือง พอเห็นสีเหลืองแล้วจำได้ไหม

    ผู้ฟัง จำได้

    ท่านอาจารย์ แล้วยังบอกว่าสีเหลือง ขณะนั้นก็จำคำแล้ว เพราะฉะนั้น สัญญาเจตสิกจำทุกอย่าง

    การฟัง เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจ เช่น ขณะนี้อะไรปรากฏ มีแน่ๆ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเดี๋ยวนี้ แต่เราไม่เคยที่จะใส่ใจ หรือที่จะรู้ตรงลักษณะ หมายความว่าพอเห็นก็เป็นเรื่องหนึ่งเรื่องใด เป็นคนหนึ่งคนใดไปเลยทันที แต่ถ้าฟังแล้วรู้ว่าขณะนี้เป็นสิ่งที่ปรากฏตรงลักษณะที่กำลังปรากฏ ตรงนี้ ตรงที่กำลังปรากฏ นั่นคือขณะนั้นสติสัมปชัญญะเริ่มที่จะรู้ว่าขณะนั้นมีสิ่งที่เพียงปรากฏ ไม่ได้ไปนึกถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใด เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่จะต้องฟังจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ แล้วก็ขณะใดที่กำลังรู้ตรงลักษณะ และเข้าใจถูกว่าขณะนี้มีสิ่งหนึ่งที่เป็นธรรม ที่กำลังปรากฏกับธาตุที่เห็น ก็ต้องต่อไปเรื่อยๆ เพราะเหตุว่าการอบรมเจริญปัญญาจะไม่หยุด จนกว่าจะหมดการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง ตรงนี้สำคัญมากๆ เพราะถ้าตราบใดไม่ใส่ใจตรงนี้ สติปัฏฐานก็จะเกิดไม่ได้เลย ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เป็นสิ่งที่ปรากฏแน่นอน ค่อยๆ เริ่มทีละเล็กทีละน้อย สิ่งที่ปรากฏก็ปรากฏเท่านั้นเอง กำลังปรากฏด้วย

    ผู้ฟัง คนที่มีปัญญามาก ปัญญาน้อย จะเกี่ยวกับสัญญามาก สัญญาน้อย หรือไม่

    ท่านอาจารย์ สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ เพราะฉะนั้นจิตประเภทใดมาก จิตประเภทใดน้อย

    ผู้ฟัง เราแยกไม่ออก ระหว่างปรมัตถ์กับบัญญัติ เพราะเรารู้ตามคล้อยตามเท่านั้นว่า สิ่งที่กำลังปรากฏไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เราคล้อยตามเท่านั้น แต่เราแยกไม่ออกว่าเป็นบัญญัติ หรือปรมัตถ์อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ คล้อยว่าสภาพธรรมใดก็ตามที่มีลักษณะปรากฏเป็นปรมัตถธรรม นอกจากนั้นเป็นบัญญัติ สิ่งใดที่ไม่ใช่ปรมัตถ์ สิ่งนั้นเป็นบัญญัติ

    ผู้ฟัง ตามที่ศึกษาวิถีจิต เร็วมาก เร็วจนเราไม่สามารถแยกว่า เป็นปรมัตถ์ หรือบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ จากขั้นการฟัง เริ่มเข้าใจถูก ว่าสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏขณะนี้ ทั้งๆ ที่กำลังปรากฏ ใจคิดเรื่องอื่น แสดงให้เห็นความต่าง สิ่งที่ปรากฏก็ยังมีอยู่ คือยังปรากฏ เพราะเหตุว่าเกิดดับสืบต่อ ไม่ปรากฏการดับเลย นี่ก็เป็นความจริง เพราะเหตุว่าสติสัมปชัญญะไม่ได้ระลึกทีละลักษณะ จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ว่าลักษณะหนึ่งเกิดแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นทั้งๆ ที่กำลังเห็น แล้ว “คิด” แสดงให้เห็นว่า “เห็น” เป็นส่วนหนึ่ง และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีจริงๆ แต่ไม่ใช่คิด ขณะนี้ลองคิดถึงต้นไม้ที่บ้าน แล้วก็สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีจริง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ส่วนเรื่องคิดก็ไม่ใช่สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ถ้าไม่คิดถึงต้นไม้ แต่คิดถึงชื่อ คิดถึงลักษณะ คิดถึงรูปร่าง ความต่างของเก้าอี้ ความต่างของโต๊ะ ความต่างของพื้น ขณะนั้นก็คือคิด ทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏเหมือนเดิม แต่ใจคิดต่างๆ แล้วแต่ว่าจะคิดถึงลักษณะใด ฉะนั้นก็เริ่มที่จะเห็นความต่างใช่ หรือไม่ว่า ทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏอย่างนี้ แต่ว่าแล้วแต่ความคิดว่าคิดนั้นจะคิดถึงอะไร

    ผู้ฟัง ทีละลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แต่ระลึกไม่ทัน

    ท่านอาจารย์ เร็วมาก และก็ทรงแสดงหนทางที่จะทำให้ผู้ฟังเกิดความเห็นถูก จนกระทั่งสามารถรู้ได้

    ผู้ฟัง สัญญามั่นคงด้วยกุศลเหตุ ๓ สัญญาจำอะไรอย่างมั่นคงจึงเป็นเหตุใกล้ของสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ จำว่าขณะนี้เป็นธรรม สิ่งที่กำลังปรากฏมีจริงๆ เป็นธรรม เป็นลักษณะหนึ่งที่มีลักษณะอย่างนี้ไม่เป็นอย่างอื่น เป็นของจริงอย่างหนึ่งซึ่งมีลักษณะอย่างนี้ที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง สัญญาเจตสิกขณะที่จำอารมณ์ ที่เป็นปัจจุบันอย่างเดียว หรือว่าจำอารมณ์ที่เป็นอดีต และอนาคตด้วย

    อ.วิชัย รู้สิ่งใดก็จำในสิ่งนั้น จะเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน หรือพ้นจากทั้ง ๓ กาล เช่น จำชื่อบุคคลได้ใช่ไหม

    ผู้ฟัง จำได้ ตรงนั้น ไม่ใช่เป็นลักษณะของการคิด หรือ

    อ.วิชัย จำกับคิด ถ้าเราพบบุคคล เราสามารถจะรู้ได้ไหมว่าคนนี้ชื่ออะไร

    ผู้ฟัง รู้ เพราะว่าเราคิดถึงสัญญาที่เราจำไว้ได้

    อ.วิชัย แสดงว่าเคยมีสัญญาที่จำความเป็นบุคคลนี้อยู่ ใช่ไหม ถ้าไม่เคยรู้จัก สามารถจะรู้ หรือไม่ว่าบุคคลนี้เป็นใคร

    ผู้ถาม ไม่รู้

    อ.วิชัย แสดงว่าต้องมีสัญญาเจตสิกที่จำ และขณะที่รู้ขณะนั้นก็จำด้วย ขณะนี้ก็จำใช่ไหม

    ผู้ฟัง จำนี่คือจำใหม่ แต่ขณะที่เราคิดถึงก็คือคิดถึงสัญญาเก่าที่เราจำไว้

    อ.วิชัย ขณะที่คิดก็มีสัญญาจำในสิ่งที่คิดเหมือนกัน

    ผู้ฟัง ก็คือจำสิ่งที่คิดใหม่ ไม่ได้จำอดีต

    อ.วิชัย ถ้าสัญญาเกิดขึ้นรู้สิ่งใด สัญญาก็เป็นลักษณะของเขา คือมีการจำเป็นลักษณะ สัญญารู้สิ่งใดก็จำในสิ่งนั้น เช่น อาจจะจำได้ว่าเป็นชื่อโน้นชื่อนี้ หรือรถคันนั้นคันนี้ ก็เป็นลักษณะที่จำคือสัญญา แต่ขณะที่เห็นก็จำ ขณะที่คิดก็จำ เพราะสัญญามีลักษณะที่จำ

    ท่านอาจารย์ จำก็ไม่รู้ว่าจำก็มี ทั้งๆ ที่จำก็ไม่รู้ว่าจำ แต่จำแล้ว อย่างไรก็ต้องจำตลอด จำสิ่งที่กำลังปรากฏที่จิตกำลังรู้ แน่นอน

    ผู้ฟัง จำที่กล่าวว่าเป็นอดีต ก็คือเรื่องราวเท่านั้นเอง แต่สัญญาก็คือปัจจุบันที่จำเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ เราก็ไปคิดถึงเรื่องราวว่าอดีต แต่ขณะที่จิตรู้สิ่งใด สัญญาที่เกิดกับจิตนั้นจำสิ่งนั้น

    อ.กุลวิไล จิตกับเจตสิกเป็นธรรมที่สัมปยุตตธรรมก็คือ เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และเกิดดับที่เดียวกัน เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตเกิดขึ้นเป็นสภาพที่รู้แจ้งในอารมณ์ ส่วนเจตสิกที่เกิดประกอบกับจิตก็มีกิจต่างกัน เจตสิกที่เป็นสัญญาเจตสิกก็มีสภาพที่จำในอารมณ์ จิตรู้แจ้งในอารมณ์ใด สัญญาเจตสิกจำในอารมณ์นั้น

    ผู้ฟัง ปกติสัญญาขณะที่จำก็คือ จำปรมัตถ์เป็นขณะๆ จิตไปใช่ หรือไม่

    อ.วิชัย รู้สิ่งใดก็จำในสิ่งนั้น ถ้ารู้ปรมัตถ์ก็จำลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ในขณะนั้น ขณะที่ปรากฏในขณะนั้น รู้บัญญัติก็จำบัญญัติ

    ผู้ฟัง การที่เป็นบัญญัติ คือการจำปรมัตถ์หลายๆ ขณะรวมกันใช่ หรือไม่ จึงจะเป็นบัญญัติ

    อ.วิชัย สัญญาเป็นสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม คือเกิดขึ้นก็จำในลักษณะที่กำลังรู้ในขณะนั้น แล้วก็ดับไป ทีละขณะ เกิดขึ้นแล้วก็จำ แล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง ถ้าเพียงแค่ขณะเดียวก็ยังเป็นบัญญัติอะไรไม่ได้ มีแต่ปรมัตถ์ ใช่ หรือไม่

    อ.วิชัย จิตเกิดดับเร็วไหม

    ผู้ฟัง เร็ว ถ้าจะจำบัญญัติได้ ต้องหลายขณะมากจึงเป็นบัญญัติได้

    อ.วิชัย แล้วแต่ว่าจิตจะเกิดขึ้นรู้สิ่งใด เช่น ขณะที่เห็นมีลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ปรากฏแก่จักขุวิญญาณ สัญญาเจตสิกที่เกิดกับจักขุวิญญาณก็จำในลักษณะเป็นสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้น และสัญญาเจตสิกนั้นก็ดับไป รวมไปถึงจิตที่เกิดกับสัญญานั้นก็ดับไปด้วย สัมปฏิจฉันนจิต เกิดขึ้นก็รู้อารมณ์ต่อ สัญญาที่เกิดกับสัมปฏิจฉันนจิต ก็จำอารมณ์ที่ปรากฏในขณะนั้น แล้วก็ดับไป จิตเกิดดับเร็วมาก

    ผู้ฟัง เคยมีในหนังสือว่า มีผู้ที่จำอดีตชาติได้ สิ่งนี้เป็นสัญญาใช่ หรือไม่

    อ.วิชัย คิดถึงบุคคลอื่นก็คงจะเข้าใจยาก ถ้าคิดขณะนี้สัญญาเป็นสภาพธรรมที่จำได้ จำเมื่อวาน ได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    อ.วิชัย จำถึงย้อนๆ ไปได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ย้อนๆ ไปก็ได้

    อ.วิชัย สาเหตุคือ เป็นสัญญาที่กำลังจำในขณะนี้ ก็แล้วแต่ว่า สัญญาจะเกิดกับจิตในขณะใด ถ้าคิดถึงสิ่งใดก็จำในสิ่งนั้น

    ผู้ถาม กรณีที่ตายแล้วเกิดมาพอรู้ความ ก็จำชาติเกิดได้ ก็เป็นสัญญาใช่ หรือไม่

    อ.วิชัย กรณีนี้ก็แล้วแต่บุคคล

    ท่านอาจารย์ ไม่น่ามีปัญหา เพราะว่าขณะนี้มีใครรู้บ้างว่าจิตเกิดดับกี่ประเภทแล้ว ทางทวารไหนบ้าง ทางตาก็เห็น ทางหูก็ได้ยิน ทางใจก็คิดนึก ไม่มีการที่จะไปตามนับ หรือว่าสามารถที่จะรู้ได้ถึงความรวดเร็ว

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    6 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ