พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 12


    ตอนที่ ๑๒

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖


    ผู้ฟัง จิตรู้ จิตเห็น ส่วนสัญญามีหน้าที่จำ ที่เขาจำได้บ้างไม่ได้บ้าง เป็นเพราะว่าสัญญาเสื่อมลง หรือประสาทส่วนใดส่วนหนึ่งเสื่อม

    อ.อรรณพ สัญญาจำได้แม่นยำ หรือเลือนลาง ก็เป็นสภาพของความจำ แต่เป็นเพราะเกิดกับจิตต่างประเภทกัน และกำลังของจิต และเจตสิกที่เกิดในขณะนั้นมีกำลังแตกต่างกัน แต่ลักษณะของสัญญา ก็คือ “จำ” ในอารมณ์เดียวกับที่จิตรู้

    ท่านอาจารย์ การศึกษาพระธรรมก็เพื่อที่จะให้เข้าใจสิ่งที่มีแล้ว ปรากฏในขณะนี้ ตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าบางคนอาจจะคิดว่า ต้องไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมา โดยลืมว่าขณะนี้มีสภาพธรรมปรากฏแล้ว ฟังเพื่อที่จะให้เข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในคราวก่อนได้กล่าวถึงเรื่องของธรรม และธรรมประเภทใหญ่ๆ ที่ต่างกันมี ๒ อย่าง คือสภาพธรรมที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย มีจริงๆ เช่นแข็ง เช่นเสียง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ส่วนสภาพธรรมอีกอย่าง ไม่ใช่แข็ง ไม่ใช่เสียง ไม่มีรูปร่าง ลักษณะใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่ว่าเมื่อไหร่ที่เกิดขึ้นต้องรู้ รู้ในที่นี้ไม่ใช่รู้อย่างปัญญาความเห็นถูกความเข้าใจถูก แต่เป็นการรู้แจ้งของลักษณะสิ่งที่กำลังปรากฏ เช่น ในขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เป็นธรรมแน่นอนเพราะมีจริงๆ กำลังปรากฏ และขณะที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องมีสภาพธรรมที่สามารถเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาด้วย เพราะฉะนั้นสภาพธรรม ๒ อย่างนี้จึงต่างกัน ฟังเช่นนี้จนกว่าจะเป็นปัญญาที่สามารถเข้าใจถูก เห็นถูก และประจักษ์แจ้งความต่างของสิ่งที่ปรากฏ และสภาพธรรมที่กำลังเห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย แต่ก็เป็นสิ่งที่มีจริง อาศัยการฟังบ่อยๆ จะทำให้ขณะที่ฟังนั้นเองก็ค่อยๆ เข้าใจในขณะนี้ที่กำลังเห็น ค่อยๆ เข้าใจ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตามีจริงๆ เป็นธรรมอย่างหนึ่ง และในขณะนี้ที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องมีสภาพนามธรรมซึ่งสามารถเห็นสิ่งที่ปรากฏ เป็นชีวิตประจำวัน และขณะนี้ที่ได้ยิน มีเสียงปรากฏ ที่เสียงปรากฏได้ต้องมีสภาพที่สามารถได้ยินเสียง ลักษณะที่ได้ยิน ลักษณะที่สามารถรู้เสียง เป็นสภาพรู้ หมายความว่าไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่มีจริง และกำลังได้ยินเสียงขณะหนึ่ง กำลังเห็นอีกขณะหนึ่ง กำลังคิดนึกเป็นอีกขณะหนึ่ง เพราะฉะนั้นก่อนฟังธรรม เราอยู่ในโลกของสิ่งที่เราเคยเข้าใจว่าเป็นคน เป็นสัตว์ที่ ไม่เคยเกิดดับเลย ในความทรงจำของเรามีญาติพี่น้อง มีมิตรสหาย มีทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งไม่เคยคิดว่าสิ่งนั้นเกิดจึงได้ปรากฏ และเมื่อเกิดปรากฏแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมไม่พ้นจากชีวิตประจำวัน ทุกๆ ขณะที่ได้ยินได้ฟัง เหมือนในพระไตรปิฎก แสดงว่า พระผู้มีพระภาคตรัสถามผู้ที่ไปฟัง ที่ได้ไปเฝ้าพระองค์ในขณะนั้นว่า เห็นเที่ยงไหม ขณะนี้มีเห็น เมื่อกล่าวเป็นภาษาบาลี และท่านเหล่านั้นมีความเข้าใจในสภาพธรรม ท่านสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เห็น ตามการสะสม ถ้าคนที่ฟังน้อย ค่อยๆ พิจารณาว่าเป็นความจริง แต่ถ้าคนที่ได้ฟังมากอบรมเจริญปัญญามามาก สภาพธรรมสามารถจะปรากฏ กราบทูลว่าเห็นเกิดแล้วดับ นี่เป็นปัญญาต่างระดับ ซึ่งทุกคนต้องเป็นผู้ตรงต่อความจริง เพราะเหตุว่าพระธรรมจะทำให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟังเกิดปัญญาของตัวเอง นี่เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด เป็นรัตนที่สูงสุด คือถ้าไม่มีการฟัง ใครจะทำให้เราเกิดปัญญาความเข้าใจเช่นนี้ เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องอาศัยการฟัง การพิจารณา การเข้าใจ สิ่งที่เกิดแล้วเพราะปรุงแต่งแล้วในขณะนี้เป็นสังขตธรรม เพราะฉะนั้นสังขตธรรม หมายความถึงสิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวนี้ เพราะได้ปรุงแต่งแล้วจึงเกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นในชีวิตของเรา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าไม่ลืมคำว่าสังขตธรรม คือมีปัจจัยปรุงแต่งที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างอื่นไม่ได้ ถ้ามีการบาดเจ็บ มีการปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้วที่จะเจ็บตรงนั้น เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ถ้ามีความคิดนึก หมายความว่าขณะที่คิดนั้นเอง มีปัจจัยปรุงแต่งที่เกิดคิดอย่างนั้น ไม่ใช่คิดอย่างอื่น เพราะฉะนั้นทุกขณะในชีวิตเป็นธรรม ซึ่งมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นแล้วดับไป

    ผู้ฟัง สังขตธรรม จากการที่เรียนที่นี่ เข้าใจว่า กลุ่มของรูปธรรมจะเกิดเป็นกลุ่มๆ มี ๔ สมุฏฐาน เป็น ๒๑ กลุ่ม เป็นสังขตธรรม กลุ่มของนามธรรมคือ จิต ๘๙ เกิดเป็นกลุ่มๆ คือเป็นสังขตธรรม

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม คือ จิต เกิดขึ้น ๑ ขณะประกอบด้วยเจตสิก จิตเกิดขึ้นโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ การอาศัยกัน และกันของจิต และเจตสิกเป็นสังขารธรรม ขณะนี้จิตใดเกิด เพราะว่าสังขารธรรมคือจิต และเจตสิกในขณะนั้นปรุงแต่งให้เกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ใน ๑ ขณะ ไม่ใช่เป็นกอง หรือรวมกันเป็นสังขต สังขตธรรม คือ สภาพธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเกิด เพราะปรุงแต่งแล้วเกิดเป็นอย่างนี้ขณะนี้ เช่น "เห็น" เกิดแล้วเป็นสังขตธรรม เพราะมีกัมมปัจจัยที่ได้กระทำแล้ว ถึงกาลที่จะให้ผลคือทำให้วิบากจิต คือจิตเห็นเป็นผลของกรรมเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ปรุงแต่งแล้วเกิดขณะนี้ เป็นสังขตธรรม เป็นสิ่งที่เราเคยเข้าใจแล้วว่า คือธรรมที่เกิดขึ้นแล้วทั้งหมดเป็นสังขตธรรม แต่เพิ่มความหมายว่า ขณะที่สภาพธรรมใดเกิด ขณะนี้เกิดแล้วจึงปรากฏ ที่เกิดแล้วปรากฏเป็นสังขตธรรม เพราะปรุงแต่งแล้วเกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น

    ผู้ฟัง สังขารธรรม หรือโดยนัยของโลกคือ สังขารโลก ก็คือจิต เจตสิก กับรูป จะกล่าวอย่างไร จึงเรียกว่า สังขารธรรม กล่าวว่าเจตสิก ๗ ดวงเป็นสังขารธรรม หรือไม่

    ท่านอาจารย์ จิตหนึ่งเป็นสังขารธรรม เพราะว่า จิตจะเกิดโดยที่ไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ เจตสิกหนึ่งก็เป็นสังขารธรรม เพราะเจตสิกต้องเกิดกับจิต รูปหนึ่งก็ต้องเป็นสังขารธรรม เพราะว่าต้องอาศัยรูปอื่น หรือว่าสมุฏฐานเกิดขึ้น เรียกว่าธรรมนั่นเอง แต่เดิมเคยชินกับคำว่าสังขาร และเข้าใจว่าเป็นแต่เพียงร่างกายนั้น ยังไม่ถูก เพราะสังขารธรรม หมายความถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง นั่นคือความหมายของสังขารธรรม และปรุงแต่งแล้วเกิดเดี๋ยวนี้เองแต่ละขณะเป็นสังขตธรรม

    ผู้ฟัง ขณะนี้ กำลังเห็น ก็รู้ว่าจักขุวิญญาณกำลังทำทัศนกิจเห็น

    ท่านอาจารย์ ธรรมแสดงลักษณะ หรือสภาพความจริงของธรรมนั้นว่าเป็นธรรมในขณะที่ปรากฏ คือต้องเกิด และที่จะเกิดขึ้นได้ต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง แม้ยังไม่กล่าวถึงปัจจัยใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่ควรทราบความหมายของสังขารธรรม และเมื่อปรุงแต่งแล้วเกิดเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ คือสังขตธรรม เพราะฉะนั้นในพระไตรปิฎกมีคำว่าสังขตธรรม เกิดดับ แต่ภาษาไทยไม่ค่อยคุ้นเคยคำว่าสังขต ใช่ หรือไม่ เคยได้ยินแต่คำว่าสังขาร เพราะว่า ไม่เข้าใจเรื่องการเกิดดับ

    ผู้ฟัง เจตสิก ๕๒ นั้น ถ้าเป็นกุศลเจตสิกที่ประกอบจิต ก็เป็นลักษณะที่เป็นกุศล ปรุงแต่งหมายถึงลักษณะของเจตสิก ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ รูปปรุงแต่งรูป กรรมก็ปรุงแต่ง สภาพธรรมที่เกิดปรากฏขณะนี้ แต่ละอย่างเหมือนไม่ดับ และเหมือนไม่เกิด เหมือนมีอยู่ตลอดเวลา แต่ความจริง หากค่อยๆ เข้าใจให้ถูกต้องตามเหตุผลที่ผู้ที่ตรัสรู้ และทรงแสดง แสดงถึงความต่างกันของปัญญาอย่างมาก ว่า ผู้ที่ไม่รู้ก็ไม่รู้เลย แต่ผู้ที่ตรัสรู้ ทรงรู้ว่าแม้แต่สภาพนี้ที่เหมือนมีอยู่แล้ว ความจริงเกิดแล้วก็ดับด้วย และที่จะเกิดได้เพราะว่ามีปัจจัย มีเครื่องปรุงแต่งมีสิ่งที่ประกอบที่จะทำให้สภาพธรรมนี้เกิดขึ้น โดยที่ว่าใครจะรู้ หรือไม่รู้ แม้แต่จิต ๑ขณะที่เห็น ก็ไม่รู้เลยว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งมีจริง ส่วนใหญ่คิดถึงรูปธาตุ แต่ความจริงมีธาตุอีกชนิดหนึ่ง คือนามธาตุ ถ้าไม่มีนามธาตุ ไม่มีอะไรเดือดร้อนเลย โลกก็ไม่ปรากฏ ถึงจะมีรูปก็ไม่ได้ปรากฏ เพราะไม่มีธาตุรู้ หรือสภาพรู้ที่เห็น ที่ได้ยินรูปนั้นๆ

    เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า มีสิ่งที่เหมือนธรรมดา แต่ลึกลงไปคือสัจจธรรม ความจริงที่ผู้ตรัสรู้ ไม่ได้ตรัสรู้อย่างอื่นเลย แต่ตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ว่า เป็นสังขารธรรม คือเป็นสิ่งที่เกิดเพราะมีปัจจัยหลายประการปรุงแต่ง อาจจะเกิดร่วมกันก็ได้ หรือว่าเป็นปัจจัยที่แล้วมา เช่น กรรมในอดีตที่ได้กระทำแล้ว เป็นปัจจัยให้จิตในขณะนี้เกิดได้ เพราะฉะนั้น ให้เข้าใจให้มั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรม และธรรมที่มี ๒ อย่าง คือ ประการหนึ่งเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย และเป็นสภาพรู้อีกประการหนึ่ง เพื่ออบรมปัญญาที่จะประจักษ์แจ้ง ตามลำดับอย่างนี้ คือ รู้ว่าลักษณะของรูปเป็นอย่างหนึ่ง ส่วนลักษณะของสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ไม่มีใครเห็นเลย แต่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย ต้องเป็นสภาพรู้ ซึ่งเกิดขึ้นรู้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วก็ดับไป กล่าวถึงสิ่งที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ให้เข้าใจว่า เกิดแล้ว เป็นความจริง แต่ยังไม่ได้กล่าวถึงเหตุปัจจัยใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ให้เข้าใจคำเพิ่มเติม นอกจากธรรม นามธรรม รูปธรรม เพื่อให้เข้าใจคำว่า สังขารธรรม และสังขตธรรม เพื่อที่จะให้เห็นความต่างเล็กน้อยว่า สังขตธรรมหมายถึงสิ่งที่ปรากฏเกิดขึ้นในขณะนี้เพราะปรุงแต่งแล้ว แต่ว่าลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดต้องมีปัจจัยปรุงแต่งจะเกิดขึ้นเองไม่ได้

    ผู้ฟัง รูป ๒๘ และนามธรรม ๕๓ ปรุงแต่งด้วยความสามารถเฉพาะตัว หรือด้วยปัจจัยของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เรายังไม่กล่าวถึงจำนวนของรูป และนาม แต่มีนามธรรม และมีรูปธรรม ขณะนี้ ให้เข้าใจลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่ต่างกัน และต่อไปจะเห็นได้ว่าต่างกันอย่างไร มากมายขนาดไหน แต่ให้ทราบเป็นพื้นฐานว่าเป็นธรรม เมื่อเป็นธรรมแล้วเกิดแล้วด้วย แล้วดับแล้วด้วย แต่ไม่เคยเข้าใจเลย การเข้าใจธรรม ไม่ใช่ไปที่อื่นแล้วจะเข้าใจธรรม แต่ขณะนี้มีธรรมที่เกิดแล้วปรากฏ เพราะฉะนั้น ความเข้าใจก็จะต้องเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งได้ยินแต่เพียงชื่อว่า นามธรรมกับรูปธรรม แต่ชื่อบ่งถึงลักษณะ หรือความหมายของสิ่งที่มีว่า ลักษณะหนึ่งที่ใช้คำว่านามธรรม เพราะว่าไม่มีรูปใดๆ ทั้งสิ้น จะไปจับต้องกระทบสัมผัสไม่ได้เลย แต่เป็นธาตุที่น่าอัศจรรย์ เพราะสามารถรู้ได้ทุกอย่าง เช่น ในขณะนี้มีสิ่งปรากฏ เพราะมีสภาพที่กำลังเห็น ซึ่งเป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่มีรูปร่างเลย ธาตุรู้มืดสนิท เพราะไม่มีสีสันวรรณะใดๆ ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส แต่สามารถที่จะเห็นสิ่งที่สว่างทางตาในขณะนี้ สิ่งที่มีจริงเป็นจริงอย่างไร ถ้ามีพื้นฐานที่มั่นคงที่จะเข้าใจ เวลาที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็ไม่คลาดเคลื่อน ต้องเป็นความจริง ตรงตามลักษณะจริงๆ เพราะฉะนั้นลักษณะจริงขอให้คิดถึงขณะที่กำลังเห็น ลักษณะที่เห็นมืดสนิท สามารถรู้ ในความมืดสนิทเป็นธาตุรู้ที่สามารถเห็นสิ่งที่ปรากฏที่สว่าง นี่ก็เป็นทางตา ถ้าเป็นทางหู ขณะที่เสียงปรากฏ เสียงไม่สว่างเลย แต่มีลักษณะของเสียงที่ธาตุรู้นั้นกำลังได้ยินเสียง ตัวธาตุรู้มืดสนิท แต่เสียงเป็นเสียงอย่างที่กำลังปรากฏ นี่คือลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งถ้าไม่รู้ก็เป็นเรา มีความยึดถือว่าเป็นเราทุกอย่างที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมก็ต้องรู้ประโยชน์ว่า เพื่อให้เกิดปัญญาของเราเองที่จะค่อยๆ เข้าใจถูก ในลักษณะของสภาพธรรมอย่างมั่นคง พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ละเอียด ลึกซึ้งมาก กำลังจะเป็นผู้ที่ก้าวไปสู่ฝั่งมหาสมุทร และเห็นความกว้างใหญ่ของมหาสมุทรคือ พระธรรมเทศนาจากการตรัสรู้ และจะรู้ว่าเราสามารถที่จะเข้าใจได้เท่าไร แต่สิ่งที่มีจริงแสดงให้เห็นว่า เป็นคำสอนของผู้ที่ตรัสรู้แน่นอน จึงได้ทรงแสดงสิ่งที่มีจริงซึ่งใครไม่สามารถจะรู้ได้ ให้คนอื่นสามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจได้

    ผู้ฟัง ฟังอย่างไรๆ ก็ไม่เป็นธรรม เห็นอะไรได้ยินอะไรก็เป็นสัตว์ บุคคลไปหมด จะมีวิธีอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เป็นเราใช่หริอไม่ อยากจะรู้ อยากจะมีวิธี อยากจะถึง แต่ไม่มีเรา ต้องเข้าใจสภาพธรรมที่มี ว่าสภาพนั้นๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร และไม่ใช่เราอย่างไร เพื่อที่จะละความต้องการ อะไรถึงก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้แล้วจะไปถึงอะไรก็ไม่รู้ อยากจะถึงอะไร กำลังไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วอยากจะถึงอะไร

    ผู้ฟัง อยากจะรู้ตามที่อาจารย์เคยบอกว่า เย็น ร้อน อ่อน แข็ง บางครั้งเข้าไปอาบน้ำ ก็รู้สึกว่าเย็น จะเป็นความรู้สึกแบบนั้น หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เรื่องของอริยสัจ ๔ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง แม้แต่หนทางต้องรู้ว่าเป็นเรื่องของความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏ ในขณะที่กำลังมีแข็งปรากฏ มีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกอะไร หรือว่าอยากจะไปรู้อะไร นี่แสดงให้เห็นว่าฟังธรรมแล้ว เริ่มที่จะเห็นว่า ความไม่รู้มีมากแค่ไหน และความรู้จะต้องค่อยๆ อบรมจากขั้นการฟังให้เข้าใจในสิ่งที่มี จนกระทั่งสามารถที่จะมีการรู้ลักษณะ ซึ่งจะใช้คำว่าสติสัมปชัญญะ หรือสติปัฏฐานก็ได้ เกิดขึ้นแล้วก็มีลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ซึ่ง วันหนึ่งๆ ข้ามไปหมด ขณะที่ทุกคนนั่งอยู่ที่นี่ มีเห็น ก็ข้ามไป มีเสียงก็ข้ามไป มีแข็งก็ข้ามไป ไม่ใช่สติสัมปชัญญะที่ระลึกลักษณะของแข็งที่ปรากฏ หรือเสียง หรือสภาพที่เป็นธรรมที่สามารถเห็น ที่สามารถได้ยิน เราไม่ได้เข้าใจในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เพียงแต่กำลังได้ยินได้ฟัง แล้วจะไปรู้อะไร ในเมื่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังไม่ได้เข้าใจ ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ จะรู้ว่าขณะนี้หลงลืมสติ หรือสติสัมปชัญญะเกิด เพราะเหตุว่าทางที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ และกำลังเกิดดับ มีหนทางเดียว คือ เมื่อสติสัมปชัญญะซึ่งใช้คำว่าสติปัฏฐาน เพราะขณะนั้นกำลังมีฐานที่ตั้งที่ระลึกของสติ ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น แต่ไม่ใช่จะไปถึงไหน แล้วก็จะไปรู้อะไร แต่ละความไม่รู้ ค่อยๆ รู้ลักษณะที่ต่างกันของหลงลืมสติ กับขณะที่สติเกิด

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่า คอยสังเกตสำเหนียก คืออะไร

    ท่านอาจารย์ เมื่อสติสัมปชัญญะเกิดจะค่อยๆ รู้ ใช้คำว่าค่อยๆ รู้ จะนานสักแค่ไหน เหมือนจับด้ามมีด นานสักแค่ไหนกว่าด้ามมีดจะสึก เพราะฉะนั้นอวิชชาที่เคยไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีตั้งแต่เกิดกี่ชาติก็ตามแต่ มีสิ่งที่มี แต่ไม่เคยรู้ความจริง จึงต้องอาศัยการฟัง และค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพื่อจะละความเป็นเราเป็นสมุทเฉท เพราะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ได้ แต่ไม่ใช่วิธี

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่า ธาตุรู้มืด แต่ว่าสามารถที่จะเห็นสิ่งที่ปรากฏซึ่งสว่าง แสดงว่าเวลาที่เราเห็นสี ลักษณะของสีคือสว่าง เพราะฉะนั้นขณะที่ได้ยินเสียงขณะนั้นก็มืด แปลกใจตรงที่สว่าง ไม่ทราบว่าความสว่างอยู่ตรงไหน

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็นขณะนี้ จะสงสัยว่าความสว่างอยู่ตรงไหนได้ไหม กำลังเห็นอยู่แท้ๆ

    อ.อรรณพ การปรุงแต่งในลักษณะของรูป เวทนา สัญญา และวิญญาณ ต่างจากการปรุงแต่งของสภาพธรรมที่เป็นเจตสิก ๕๐ ที่เป็นสังขาร การปรุงแต่งของนามธรรม รูปธรรม ต่างกันอย่างไร ท่านจึงแสดงสังขารขันธ์ว่าเป็นสภาพขันธ์ที่ปรุงแต่ง ทั้งๆ ที่รูปก็ปรุงแต่ง เวทนาก็ปรุงแต่ง

    ท่านอาจารย์ แต่ละคำไม่ควรผ่านไปเร็ว จึงต้องย้ำแล้วย้ำอีก จนกระทั่งไม่มีความสงสัย และก็ไม่ต้องไปท่อง หรือคิดว่าจะต้องไปจำอะไร แต่อาศัยความเข้าใจ ก็จะมีการจำได้ เช่นคำว่า “ขันธ์ “ คราวก่อนเราได้กล่าวถึง ปรมัตถธรรม ปรม อรรถ ธรรม หมายความถึงสิ่งที่มี มีอรรถ หรือความหมาย หรือลักษณะ เฉพาะอย่างๆ ซึ่งไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อกล่าวโดยนัยของปรมัตถธรรมมี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน แต่นิพพานก็เป็นเรื่องที่ไกลมาก ถ้ายังไม่รู้ความจริงของจิต เจตสิก รูป ก็ยังไม่ควรที่จะไปคิดถึงเรื่องนิพพาน เพราะต้องมีปัญญาตามลำดับขั้น เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของจิต เจตสิก รูป ไม่ว่าจะได้ยินคำว่า ขันธ์ ทุกคำที่ได้ยิน ถ้าเป็นปรมัตถธรรม ต้องเป็นจิต เจตสิก หรือรูป ได้ยินคำว่าอายตนะ คำอะไรอีกมาก แต่โดยปรมัตถธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ก็ต้องเป็น จิต เจตสิก รูป นั่นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยินคำว่า “ขันธ์” ซึ่งคงได้ยินบ่อยๆ สำหรับท่านที่ไปวัด แต่ท่านที่ไม่ได้เคยไปวัดเลย ก็อาจจะได้ยินน้อยหน่อย แต่อย่างน้อยก็คงเคยได้ยินคำว่า “ขันธ์” จะมี๕ คำว่าขันธ์ ๕ ที่ทรงแสดงจำนวนไว้ ไม่ใช่เรากล่าวเอง เราไม่สามารถที่จะนำพระธรรมที่ละเอียดหลากหลายโดยประการทั้งปวง มาแสดงได้เป็นหมวดหมู่ตามใจชอบ แต่เหตุผล และพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ถ้าโดยนัยของขันธ์ ๕ จะไม่มีขันธ์ ๖ แต่โดยนัยของขันธ์ ๓ ก็มี นี่คือความละเอียดขึ้น ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ นี่คือความหลากหลายของคำที่ใช้ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ต้องเข้าใจความหมายว่า ขันธ์คืออะไร

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    6 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ