แม่ชีคือใคร?

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  9 พ.ย. 2562
หมายเลข  31287
อ่าน  8,133

แม่ชีคือใคร?

ถอดความจาก : รายการ สนทนาปัญหาสารพัน : ๑๐ ปี ที่เสียไป เปิดใจอดีตแม่ชี (บันทึกรายการ ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ๒๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒)

ท่านอาจารย์ พุทธบริษัทคือผู้ที่ได้ฟังพระธรรม แล้วก็ประพฤติปฏิบัติตาม จึงจะชื่อว่าพุทธบริษัท เพราะฉะนั้น ก็มีพุทธบริษัท ฝ่ายบรรพชิตคือภิกษุ ในสมัยพุทธกาลก็มีภิกษุณีด้วย เพราะเหตุว่า แม้ผู้หญิงที่ได้สะสมมาที่จะรู้แจ้ง อริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอรหันต์ มีในสมัยนั้น จึงทรงอนุญาตให้ผู้หญิงบวชเป็น ภิกษุณี (คลิกอ่าน ... กฎเกณฑ์การบวชเป็นภิกษุณี) แต่ก็เห็นว่าจะไม่ทำให้พระศาสนายั่งยืน ก็ทรงจำกัดข้อบัญญัติต่างๆ ที่จะทำให้ภิกษุณีค่อยๆ หมดไป เพราะแม้ว่าไม่ใช่ภิกษุณี แต่ผู้หญิงก็สามารถที่จะฟังธรรมะ เข้าใจธรรมะ รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระโสดาบันได้ ไม่ว่าหญิงหรือชาย ที่เป็นคฤหัสถ์ ที่รู้ตัวเอง ว่าไม่สามารถที่จะสละเพศคฤหัสถ์ ไปสู่การขัดเกลาอย่างยิ่ง ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ ว่าเพศต่างกัน

เพราะฉะนั้น การขัดเกลากิเลสในเพศภิกษุ ต้องเห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย ขัดเกลาอย่างยิ่ง ผู้ที่รู้ว่าสามารถที่จะฟังธรรมะเข้าใจได้ เป็นถึงพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ต่อเมื่อใดบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ จึงต้องสละเพศคฤหัสถ์ เพราะไม่สามารถที่จะอยู่อย่างคฤหัสถ์ได้อีกต่อไป เพราะฉะนั้น เพศบรรพชิต เป็นเพศสูงสุด เพราะเหตุว่า สามารถที่จะขัดเกลากิเลสได้ถึงความเป็นพระอรหันต์ พุทธบริษัทต้องไม่ลืม มีต่างกันเป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์

ในครั้งพุทธกาล คฤหัสถ์ที่ได้ฟังธรรมะ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมมี โดยที่ว่า ไม่ต้องสละเพศคฤหัสถ์ ไม่ต้องไปพยายามที่จะทำอะไร ซึ่งไม่สามารถจะเข้าใจสิ่งที่มีในขณะนั้นได้ ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่รักษาศีล เพียง ๕ หรือบางคนอาจจะ ๒-๓ หรืออะไรก็แล้วแต่ ตามอัธยาศัย แต่ถ้ามีอัธยาศัยที่จะสะสมยิ่งกว่า ๕ ต้องเข้าใจธรรมะ ไม่ใช่ว่า อยากมีศีลมาก เพื่อที่จะได้อานิสงส์ เพราะได้ทราบว่าบางคน รักษาศีลมาก เพราะทราบว่ามีอานิสงส์มาก (คลิกอ่าน... เรียนถามความเข้าใจเกี่ยวกับอานิสงส์) โดยเฉพาะถ้าเป็นผู้หญิง ก็คิดว่าผลของอานิสงส์จะเป็นผู้ที่สวยงาม แต่ก็มีผู้ที่คิดว่า เขาสามารถที่จะขัดเกลากิเลสได้มากกว่า ๕ โดยการรักษาศีล ๘ หรือศีล ๑๐ แต่ต้องไม่ลืม ต้องเข้าใจพระธรรม ไม่ใช่ว่า เพราะอยาก หรือเขาคิดว่า ๕ น้อยไป เอา ๘ หรือเอา ๑๐ แต่เพื่อที่จะเพิ่มกิเลส (คืออยากมีศีล) ไม่ใช่ขัดเกลากิเลส เพราะว่าการรักษาศีล ไม่ต้องบอกใครก็รักษาได้ ใช้คำว่า สมาทาน ขณะใดก็ตาม จิตที่มีความเข้าใจธรรมะ แล้วคิดที่จะละเว้นทุจริต ก็เป็นการวิรัติด้วยปัญญา ที่เห็นโทษของอกุศลที่มาก (คลิกฟัง... สมาทานคืออย่างไร) เพราะฉะนั้น พุทธบริษัทจะมีมากกว่า ๒ เพศ ไม่ได้ คือมีเพศบรรพชิตกับเพศคฤหัสถ์ จะรักษาศีลกี่ข้อ ก็เป็นคฤหัสถ์ ไม่สามารถที่จะเป็นเพศบรรพชิตได้

ต้องมีความเข้าใจว่า ถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง เป็นเรื่องขัดเกลากิเลส ไม่ใช่อยู่ที่ว่าเราอยากให้เขานับถือ หรือว่าอยากให้เขารู้ว่าเราเป็นผู้ที่มีศีล นั่นคือ ไม่มีการละคลาย (กิเลส) คุณหมออาจจะรักษาศีลได้มากกว่า ๕ ถ้ารู้พระวินัย และเห็นว่าความประพฤติทางกาย ทางวาจา อย่างไรดี ก็รักษาไป ไม่มีใครว่า ไม่ต้องไปนับว่า วันนี้เรามีศีลเท่าไหร่ มากกว่า ๘ มากกว่า ๑๐ ก็ได้ โดยที่ว่าเป็นการขัดเกลา เพราะฉะนั้น คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด เป็นไปเพื่อละ ต้องไม่ลืม ขัดเกลากิเลส ไม่ว่าในเพศไหน แต่ต้องรู้ว่าเราเป็นใคร เมื่อไม่ใช่ภิกษุ เพราะสมัยนี้ไม่มีภิกษุณี ก็จะมีภิกษุกับสามเณร ซึ่งก็เป็นเพศที่ (ประพฤติ) ตามพระภิกษุ คือ มีชีวิตที่เหมือนอย่างผู้ที่สงบ แต่ว่าเป็นเชื้อสายของผู้สงบ จึงเป็นสามเณร มีสามเณรกับพระภิกษุ สำหรับคฤหัสถ์ จะศีลเท่าไหร่ก็ตาม จะนุ่งขาวห่มขาว หรือใส่ดำใส่ขาว อะไรก็ตามแต่ ก็เป็นคฤหัสถ์

ผศ.อรรณพ ท่านอาจารย์ครับ หมายความว่า แม่ชีก็คือคฤหัสถ์ปกติ ไม่ใช่บรรพชิต

ท่านอาจารย์ แน่นอน แต่ว่าจะเป็นได้อย่างไร ในเมื่อ ถ้าเป็นบรรพชิต เป็นผู้หญิงก็ต้องเป็นภิกษุณี ซึ่งยุคนี้ สมัยนี้ ไม่มี และไม่มีก่อนนี้ด้วย ไม่สามารถที่จะมีภิกษุณีได้ เพราะว่าวางกฏไว้เคร่งครัดมาก ในการที่จะเป็นภิกษุณี การบวชจะบวชมากๆ อย่างพระภิกษุก็ไม่ได้ อุปัชฌาย์จะบวชได้ปีละเท่าไหร่ ก็กำหนดไว้เลย ต้องศึกษาพระวินัยให้ละเอียด จะรู้ได้ว่า ยุคนี้ไม่มีภิกษุณี มีคฤหัสถ์ที่แล้วแต่ใจสมัคร ที่จะขัดเกลากิเลสด้วยการประพฤติอย่างไร จะรักษาศีลแค่ไหน ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะประกาศให้ใครรู้

แต่ว่า เข้าใจว่า การขัดเกลากิเลส จะทำให้ไม่ยุ่งเกี่ยวกับทางโลก ก็เลยมีผู้ที่ อยากจะมีเครื่องหมายให้คนอื่นรู้ ว่าเขาไม่ได้เกี่ยวข้องอย่างชาวโลกทั่วๆ ไป โดยการนุ่งขาวห่มขาว รักษาศีล และสมัยโน้นก็ อยู่ในบ้านก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ใช่ไหม เพราะเป็นเรื่องขัดเกลาทั้งสิ้นแต่ว่า ถ้าเข้าใจผิด คิดว่าบวช เป็นเพศบรรพชิต ก็ผิด

ผศ.อรรณพ ถ้าตามพระธรรมวินัย สรุปชัดได้ไหมครับว่า ถ้าเป็นผู้หญิง ไม่สามารถที่จะเป็นบรรพชิตได้ คือไปบวชเป็นภิกษุณีก็ไม่ได้แล้ว ไม่สามารถจะบวชได้ โดยพระวินัยที่มีสงฆ์สองฝ่าย และมีรายละเอียดอีกมาก ซึ่งชัดเจนว่า ไม่มีภิกษุณีแล้วในยุคนี้ และการที่ ขอใช้คำชาวบ้านว่า ไปบวชเป็นชี ก็ไม่ใช่บรรพชิต

ท่านอาจารย์ แล้วก็ไม่ใช่ "บวช"

ผศ.อรรณพ แล้วก็ไม่ใช่บวช ไม่ได้บวชเป็นเพศบรรพชิต ทีนี้ ต้องคุยกับอาจารย์จริยาว่า กฏหมายของคณะสงฆ์ก็ตาม หรือว่า ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ มีระบุหรือกล่าว ในเรื่องของแม่ชีไว้อย่างไร และทราบว่ามี "สถาบันแม่ชีไทย" ด้วย (คลิกอ่าน... ประวัติความเป็นมาของมูลนิธิสถาบันแม่ชีไทย)

อ.จริยา เจียมวิจิตร ถ้าพูดถึงเรื่องคำว่า "แม่ชี" ต้องท้าวความไปถึงในอดีตยาวนานมาก เข้าใจว่าในช่วงนั้น ผู้หญิงที่นุ่งขาวห่มขาว จริงๆ ก็คือมีความประสงค์ที่จะเป็นภิกษุณี ทีนี้ ทางคณะสงฆ์ก็ต้องการลดความกดดัน เพราะว่า ผู้หญิงที่นุ่งขาวห่มขาว ก็เรียกร้องที่จะมีการรวมกลุ่ม แล้วก็อยากที่จะให้มีการรับรองผู้ที่นุ่งขาวห่มขาว ทางคณะสงฆ์ โดยที่จริงๆ ก็ไม่ใช่มหาเถรสมาคม จำได้ว่า สำนักอยู่ที่วัดบวรนิเวศน์วิหาร เริ่มต้น พระผู้ใหญ่ที่นั่น ในที่สุดท่านก็มีการประชุมหารือระหว่างแม่ชีทั่วประเทศ ก็ให้ตั้งเป็นองค์กร ซึ่งเรียกว่า "สถาบันแม่ชีไทย" โดยเป็น "มูลนิธิสถาบันแม่ชีไทย" ในสถาบันแม่ชีไทย ถ้าเข้าไปดู ก็จะมีเรื่องของการบริหารกิจการ มีกรรมการแล้วก็รวมไปถึง "การบวชชี" ซึ่งการบวชชี ที่ดูแล้ว เขียนไว้แปลกมาก ก็คือว่า ผู้ที่จะบวชชี ต้องบวชโดยภิกษุบวชให้ ใช่ไหมคะคุณหมอ (คุณหมอธิดา คงจรรักษ์ คุณหมอจอย อดีตแม่ชี)

พญ.ธิดา ใช่ค่ะ

อาจารย์จริยา และก่อนจะบวชก็ต้องมีการรักษาศีล มีข้อประพฤติปฏิบัติต่างๆ โดยการบวชจะต้องมีคำกล่าวขอบวช เหมือนพระเลย ใช่ไหมคะคุณหมอ

พญ.ธิดา ใช่ค่ะ

อาจารย์จริยา มีคำกล่าวขอบวชแบบต่างๆ และเมื่อบวชเรียบร้อยแล้ว จะต้องมีใบรับรองให้กับผู้ที่บวช ที่เรียกว่าแม่ชี เรียกว่า สุทธิบรรณ และผู้ที่ดูแลข้อมูลของแม่ชี คือมูลนิธิสถาบันแม่ชีไทย ซึ่งมีอยู่ทั่วทุกจังหวัด จังหวัดใหญ่ๆ ก็จะมีสำนักใหญ่มาก คล้ายๆ จะกำหนดการปกครองผู้ที่นุ่งห่มขาว มีกฏระเบียบต่างๆ ถ้าผู้ใดต้องการที่จะหมดความเป็นแม่ชีตามที่เรียก ก็จะต้องมีพระสึกให้ อันนี้เป็นกฏระเบียบของเขา แล้วก็ส่งสุทธิบรรณคืนสถาบันแม่ชีไทย

ทีนี้ กลับมาหาความเชื่อมโยงที่มีกับเรื่องกฏหมาย สาเหตุที่มีความเชื่องโยงทางกฏหมายเพราะเหตุว่า เมื่อมีการเลือกตั้ง เมื่อนานมาแล้ว ตอนที่อยากนุ่งขาว ก็อยากที่จะเป็นนักบวช แต่ในรัฐธรรมนูญจะเขียนไว้ว่า ห้ามภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช ใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่แม่ชีก็อยากจะใช้สิทธิเลือกตั้ง สมัยนั้นกรมการปกครองก็หารือมาที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ก็มีการประมวลความเห็นของหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งสถาบันแม่ชีไทย เขาก็บอกว่าหน้าที่ของเขามีอย่างนี้ มีการบวช เมื่อมีการบวชและในพจนานุกรมเองก็บอกว่า แม่ชีเป็นนักบวช ต้องเข้าใจการตีความของกฤษฎีกา เราต้องตีความบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ที่มีอยู่ในขณะนั้น ในที่สุดก็ตีความว่าเป็นนักบวช เมื่อเป็นนักบวชก็ไม่สามารถที่จะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ ไม่สามารถที่จะรับอะไรๆ ที่ประชาชนธรรมดา เช่น อายุเกิน ๖๐ จะไปรับอะไรๆ ไม่ได้ เพราะว่า ไม่ให้ภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช รับ เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้แม่ชีก็ ค่อนข้างไม่ค่อยพอใจกัน แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ก็ยังส่งไปตีความอีก กฤษฎีกาก็ยังยืนยันความเห็นเดิม เพราะเหตุที่ว่า ตัวองค์กรที่เขาดูแล เขาอยากจะเป็นนักบวช แต่เขาไม่ได้บอกว่าเป็นนักบวชในพุทธศาสนา เขาบอกเขาเป็นนักบวช เมื่อเขาเป็นนักบวช นักพรต เราก็ไม่ให้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งอยู่แล้ว การที่แม่ชีถูกวางว่าเป็นนักบวช ก็เพราะเหตุที่ว่า องค์กรของสถาบันแม่ชีไทยเอง ประสงค์ที่จะเป็นนักบวช นี่คือความจริง

ผศ.อรรณพ ในยุคหลังๆ ที่มีสวัสดิการทั้งหลายของประชาชน อายุ ๖๐ ขึ้นไป ก็ได้เดือนละ ๖๐๐ (บาท)

อ.จริยา นักบวชนี้ก็ไม่ได้ เพราะว่านักบวช ไม่ได้ กระทรวงการคลังเขาก็ไม่ให้

ผศ.อรรณพ ตรงนี้ก็เลยจะคุยให้ชัดเจนว่า ตอนที่กฏหมายไประบุตามกระแสของผู้หญิงที่อยากจะให้แม่ชีเป็นนักบวชหรือเปล่า?

อ.จริยา มิได้ค่ะ กฏหมายไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องเลย สถาบันแม่ชีไทย เกิดขึ้นโดยกลุ่มแม่ชีที่รวมตัวกันที่วัดบวรฯ แล้วพระผู้ใหญ่ที่นั่น ท่านก็มองว่า ถ้าเป็นมูลนิธิสถาบันแม่ชีไทยเสีย ก็เหมือนกับมีองค์กรที่ดูแล มีศักดิ์ศรี อะไรต่างๆ

ผศ.อรรณพ แต่ที่ผมอยากจะเรียนถามก็คือว่า การที่ระบุว่า แม่ชีเป็นนักบวช ออกโดยใคร

อ.จริยา ไม่มีออกโดยใคร พอเมื่อไหร่ที่มีเลือกตั้งทีหนึ่ง กรมการปกครองหรือสมัยนี้ก็ กกต. ก็จะถามไปที่กฤษฎีกา เพราะว่าแม่ชีก็จะไปร้องทุกครั้ง ว่าเขาอยากจะเลือกตั้ง

ผศ.อรรณพ แล้วการที่ว่าแม่ชีเป็นนักบวช?

อ.จริยา เป็นการตีความของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กฤษฎีกามีหน้าที่ที่จะตีความ เวลาที่หน่วยงานของรัฐ...

ผศ.อรรณพ แต่ก็กราบเรียนตรงๆ ว่า ถ้าตามพระธรรมวินัยแล้ว กฤษฎีกาก็ตีความผิด

อ.จริยา ถ้าบอกว่าตรงตามพระธรรมวินัย ไม่ตรงแน่ๆ เพราะจริงๆ ถ้าพูดถึงว่า เกี่ยวอะไรตรงไหนที่เป็นไปตามพระธรรมวินัย ก็ไม่ใช่ เพราะว่า คำว่า "นักบวช" ไม่ใช่หมายถึงว่า นักบวชในพระพุทธศาสนา นักพรต นักบวช ถ้าเราเห็นคำในรัฐธรรมนูญ จะเห็นชัด ในรัฐธรรมนูญจะเขียนไว้ว่า " บุคคลที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลที่ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือ นักบวช " ไม่ได้บอกว่า (นักบวช) เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

ผศ.อรรณพ แต่ว่าโดยพฤตินัย อย่างคุณหมอ (ธิดา) ไปบวชชี ก็คือบวชโดยพระ แบบมีพิธีกรรมอย่างที่อาจารย์จริยาได้กล่าว ใช่ไหม

พญ.ธิดา ใช่ค่ะ

ผศ.อรรณพ เพราะฉะนั้น เขาก็ต้องคิดว่าเขาเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา

อ.จริยา เขาคิดเอง เพราะเหตุที่ว่า ตัวมูลนิธิสถาบันแม่ชีไทย ก็เขียนระเบียบของตัวเองไว้ ว่าเวลาจะบวช จะต้องมีพิธีกรรมของเขา ซึ่งตรงนี้กฏหมายไม่มีความเกี่ยวข้องเลย เพราะว่าเป็นเพียงองค์กรที่เป็นมูลนิธิฯ ดำเนินการ

ผศ.อรรณพ ทีนี้ก็ต้องแยกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งก็คือข้อกำหนดต่างๆ ของสถาบันแม่ชีไทย เรื่องว่า การจะบวชผู้หญิงให้เป็นแม่ชี ต้องบวชอย่างนี้ๆ มีอะไรต่ออะไร ก็ไม่ตรงกับพระธรรมวินัย

ท่านอาจารย์ ไม่ตรงตามพระธรรมวินัย

ผศ.อรรณพ ทีนี้ มาพูดถึงกฤษฎีกา ที่ตีความว่า แม่ชีเป็นนักบวช ควรจะแก้ไขไหม?

อ.จริยา ไม่สามารถจะแก้ไขได้ เพราะว่า ไม่ได้บอกว่า นักบวชในพุทธศาสนา เพราะโดยนัย มีคำว่า นักพรต หรือ นักบวช ใครก็ได้ ที่เขาบอกว่าเขาเป็นนักบวช เมื่อไหร่ที่เขาแจ้งความประสงค์ว่าเขาเป็นนักบวช เขาไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง แต่ไม่ได้บอกว่า เป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา

ผศ.อรรณพ คือ ก็เป็นลัทธิที่จะบวชก็บวช

อ.จริยา ใช่ค่ะ ก็เรื่องของเขา

ผศ.อรรณพ นี่คือกฏหมายที่กฤษฎีกาตีความ แต่ว่าโดยพฤตินัย จะทำให้ความเข้าใจของผู้หญิงที่จะไปบวช เขาก็เข้าใจว่าเขาเป็นนักบวชตามที่กฤษฎีกาตีความ และเขาก็คิดว่าเขาเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนาด้วย เพราะว่าข้อกำหนดในการบวชของสถาบันแม่ชีไทยเขาเป็นอย่างนั้น

อ.จริยา คือ ต้องกลับไปหาต้นตอ ว่าต้นตอมันผิดหรือเปล่า เพราะว่า ไม่มีการที่จะบวชชีในพระพุทธศาสนา อย่างที่ท่านอาจารย์บอก เพราะฉะนั้น มันผิดตั้งแต่ต้นตอแล้วว่า แม่ชีก็คืออุบาสิกาคนหนึ่งเท่านั้นเอง แต่เขาไปสร้างกรรมวิธีให้ เวลาที่เราจะตีความ เราจะต้องเอาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์จริงๆ ที่จะตีความ แต่ถ้าสมมติว่าเขาแก้ไขใหม่หมดเลยว่า แม่ชีไม่มีการบวช ไม่การอะไรเลย ใครอยากจะโกนหัวไปก็ทำไป

ผศ.อรรณพ หมายความว่าต้นทางผิด ก็เลยผิดกันหมด

อ.จริยา ใช่ค่ะ เพราะเวลาตีความ เราจะต้องตีตามข้อเท็จจริงที่มีอยู่ ที่เราได้มา คือทั้งพจนานุกรม ทั้งสถาบันแม่ชีไทย ก็บอกว่า เวลาจะบวช จะต้องมีพิธีการบวช อะไรต่างๆ และตัวแม่ชีเอง เขาแสดงตัวเองว่าเป็นนักบวช และอย่างที่ตีความปี ๒๕๕๖ บอกว่า โดยที่คำว่า "นักบวช" ตามรัฐธรรมนูญเก่า มิได้กำหนดความหมายเป็นการเฉพาะ จึงต้องใช้ความหมายของถ้อยคำ ตามความหมายทั่วไป ตามเจตนารมย์ ที่ห้ามภิกษุ สามเณร นักพรต หรือ นักบวช ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพื่อมิให้บุคคลที่ปล่อยวางวิถีชีวิตของคนธรรมดา เพื่อเข้าสู่วิถีทางศาสนาอย่างเคร่งครัด แตกต่างไปจากบุคคลทั่วไป มายุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง เพราะเขาไม่ต้องการให้คน (เหล่านี้) มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

ผศ.อรรณพ ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์มีความเห็นว่าอย่างไรครับ

ท่านอาจารย์ มีความเห็นว่า เพราะไม่เข้าใจพระธรรมวินัย จึงผิดทั้งหมด เช่น แม่ชี ก็คือ คนธรรมดา ที่มีความประพฤติอยากจะรักษาศีล และในขณะเดียวกัน ก็อยากจะให้มีกลุ่มซึ่งเป็นมูลนิธิฯ ซึ่งมูลนิธิแต่ละมูลนิธิ ก็จะจัดระเบียบของตัวเองอย่างไรก็ได้ แต่ความผิดอยู่ที่ว่า ถ้าเขาเข้าใจว่าเขาเป็นนักบวชหรือว่าเป็นพระภิกษุ เป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา นั่นคือความเข้าใจผิด เพราเหตุว่า ในพระพุทธศาสนา เพศบรรพชิตคือภิกษุ สมัยนี้ไม่มีภิกษุณี ก็ไม่ต้องกล่าวถึง แล้วก็ มีสามเณร ซึ่งตามพระวินัยก็ เมื่ออายุยังไม่ครบกำหนดที่สามารถจะบวชได้ ก็สามารถจะดำเนินรอยตามสมณะ คือผู้สงบ โดยการเป็นเชื้อสายที่จะประพฤติตาม ก็คือเป็นสามเณร ต้องเหมือนพระภิกษุทุกอย่าง ๗ ขวบแล้วก็ไปร้องรำทำเพลง หรือไปเรียนนู่น เรียนนี่ แล้วก็จะกล่าวว่าเป็นสามเณรไม่ใช่ เพราะฉะนั้น สามเณรต้องตามสมณะ คือพระภิกษุ โดยการที่ความประพฤติทั้งหมด ต้องประพฤติตาม และวิชาการศึกษาก็ต้องเป็นไปเพื่อที่พร้อมที่จะบวช ขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต มิฉะนั้นแล้ว จะไปเข้าโรงเรียนอะไรที่เขาสอนวิชาการใดๆ ทำได้ แต่ไม่ใช่ไปบวชแล้วก็ทำอย่างคฤหัสถ์

เพราะฉะนั้น แม่ชีก็เหมือนกัน ก็คือ อุบาสิกา ซึ่งอยากจะไม่ครองเรือน เพราะอยากจะรักษาศีล ที่ผิดก็คือว่า ต่างคนควรจะมีอิสระในการที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย จะ (รักษาศีล) ๕ บ้าง ๖ บ้าง อะไรบ้าง ก็แล้วแต่อัธยาศัย ซึ่งการขัดเกลา ละคลายกิเลส ไม่จำเป็นต้องบอกใครเลยทั้งสิ้น ไม่ใช่ไปเรียกร้องสถานะหนึ่ง สถานะใด เพราะฉะนั้น เมื่อไม่เข้าใจพระธรรมวินัย ตนเองเข้าใจผิดว่าเป็นนักบวช ก็พยายามที่จะมีกฏเกณฑ์ ตามพระภิกษุ ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่า ไม่ใช่ภิกษุ จะตั้งกฏเกณฑ์อย่างไร ก็ไม่ใช่บรรพชิต หรือว่าพุทธบริษัทที่เป็นฝ่ายบรรพชิต ถ้ามีความเข้าใจถูก ก็จะไม่มีการไปทำให้พระวินัยผิด เช่น ไปให้พระภิกษุมาบวชให้ ก็ไม่ใช่หน้าที่ของภิกษุ ที่จะไปบวช เพราะเหตุว่า บวชต้องเป็นบรรพชิต ไม่ใช่ว่าเป็นคฤหัสถ์ที่รักษาศีล

เพราะฉะนั้น ทุกอย่าง เป็นความคลาดเคลื่อน จากการที่ไม่ได้เข้าใจธรรมะที่ถูกต้อง


ขอเชิญคลิกชม "รายการสนทนาปัญหาสารพัน : ๑๐ ปีที่เสียไป เปิดใจอดีตแม่ชี" ได้ที่ลิงค์ด้านล่าง

อ้างอิง :

-สนทนาปัญหาสารพัน : ๑๐ ปีที่เสียไป เปิดใจอดีตแม่ชี พญ.ธิดา คงจรรักษ์

-แม่ชีเป็นฆราวาสหรือนักบวช?

-ประวัติความเป็นมาของมูลนิธิสถาบันแม่ชีไทย

-รายชื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดใหม่

-ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณทักษพล คุณจริยา เจียมวิจิตร ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๖


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Tommy9
วันที่ 10 พ.ย. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
lovedhamma
วันที่ 15 พ.ย. 2562

แม่ชี...โดยพุทธบริษัทแล้ว ก็เป็นเพียงอุบาสิกาเท่านั้น ที่ประกาศตนว่าจะรักษาศีลโดยเปิดเผย

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Selaruck
วันที่ 18 พ.ย. 2562

กราบอนุโมทนายิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ