พากุลเถรคาถา ... วันเสาร์ที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๒

 
มศพ.
วันที่  19 ส.ค. 2562
หมายเลข  31114
อ่าน  1,119

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๒

คือ

พากุลเถรคาถา

...จาก...

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้าที่ ๒๔๑



๓. พากุลเถรคาถา

(ว่าด้วยคาถาของพระพากุลเถระ)

[๓๐๙] ได้ยินว่า พระพากุลเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า ผู้ใด ปรารถนาจะทำการงานที่ทำก่อน ในภายหลัง ผู้นั้น ย่อมพลาดจากฐานะอันนำมาซึ่งความสุข และย่อมเดือดร้อนในภายหลัง พึงทำอย่างใด พึงพูดอย่างนั้น ไม่พึงทำอย่างใด ไม่พึงพูดอย่างนั้น บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมกำหนดรู้ว่า บุคคลผู้ไม่ทำ มีแต่พูดนั้นมีมาก นิพพานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว เป็นสุขดีหนอ ไม่มีความโศก ปราศจากกิเลสธุลี ปลอดโปร่ง เป็นที่ดับทุกข์



อรรถกถาพากุลเถรคาถา

(นำมาเพียงบางส่วน)

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โย ปุพฺเพ กรณียานิ ปจฺฉา โส กาตุมิจฺฉติ (ผู้ไม่ทำงานที่จะต้องทำในตอนต้น ภายหลังประสงค์
จะทำ) ความว่า ผู้ใดเมื่อก่อน คือ เมื่อเวลาก่อนแต่ที่ชราและโรคเป็นต้น จะครอบงำนั่นเอง ไม่ทำงานที่ควรทำ ที่จะนำประโยชน์เกื้อกูล และความสุขมาให้ตนภายหลังแล คือ เลยเวลาที่จะต้องทำไปแล้วจึงอยากทำ. แต่ในกาลนั้น เขาไม่อาจจะทำได้ เพราะว่าเขาถูกชราและโรคเป็นต้น ครอบงำแล้ว

บทว่า สุขา โส ธํสเต ฐานา ปจฺฉา จ มนุตปฺปติ (ผู้นั้นจะพลาดจากที่ที่จะให้เกิดความสุขและจะเดือดร้อนในภายหลัง) ความว่า บุคคลนั้นจะเสื่อมจากที่ที่เป็นสุข คือ จากสวรรค์ และจากนิพพาน เพราะอุบาย (แนวทาง) ที่จะให้ถึงที่นั้น ตนยังไม่ได้ให้เกิดขึ้น ทั้งจะเดือดร้อน คือถึงความวิปฏิสารภายหลัง โดยนัยมีอาทิว่า เราไม่ได้ทำกรรมดีไว้

ก็พระเถระเมื่อจะแสดงว่า ข้าพเจ้าทำกิจที่ควรจะทำเสร็จแล้วนั่นแหละ จึงบอกท่านทั้งหลายอย่างนี้ ดังนี้แล้ว จึงได้กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า ยญฺหิ กยิรา เป็นต้นไว้

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปริชานนฺติ ความว่า บัณฑิตทั้งหลาย รู้เด็ดขาดว่า คนนี้ มีเท่านี้ อธิบายว่า ไม่รู้มากไปกว่านี้. ด้วยว่า คนพูดอย่างใด ทำอย่างนั้นเท่านั้น ย่อมงดงามโดยอำนาจสัมมาปฏิบัติ ไม่ใช่งามโดยอย่างอื่นจากสัมมาปฏิบัตินั้น บัดนี้ เพื่อจะแสดงเนื้อความที่ท่านได้กล่าวมาแล้ว โดยตรงคือกิจที่จะต้องทำโดยทั่วไปไว้โดยสรุป พระเถระจึงได้กล่าวคาถาที่ ๓ ไว้ โดยนัยมีอาทิว่า สุสุขํ วต ดังนี้

คาถาที่ ๓ นั้น มีเนื้อความว่า พระนิพพานที่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า สัมมาสัมพุทธะ เพราะตรัสรู้ธรรมทั้งมวล ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ทรงแสดงไว้แล้ว ชื่อว่าไม่มีความเศร้าโศก เพราะไม่มีเหตุแห่งความเศร้าโศก โดยประการทั้งปวง ชื่อว่าสำรอกแล้ว เพราะสำรอกราคะเป็นต้นออกไปแล้ว เป็นสุขดีจริงหนอ เพราะเหตุไร? เพราะพระนิพพานเป็นที่ดับไปโดยไม่มีเหลือ คือ เป็นที่สงบระงับไป โดยส่วนเดียวนั่นเอง แห่งวัฏทุกข์ทั้งสิ้น

จบ อรรถกถาพากุลเถรคาถา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 20 ส.ค. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

พากุลเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระพากุลเถระ

ประวัติโดยย่อของพระพากุลเถระ

พระพากุลเถระ เป็นบุตรเศรษฐีในพระนครโกสัมพี ท่านเป็นผู้ที่ได้สะสมบารมีมาแล้วตั้งแต่ในสมัยพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ช่วงที่ท่านเกิดใหม่ๆ พี่เลี้ยงกำลังอาบน้ำให้ที่แม่น้ำมหายมุนา ก็ถูกปลาฮุบไปจากมือของพี่เลี้ยง เมื่อปลาตกถึงมือของพรานเบ็ด ภรรยาของเศรษฐีเมืองพาราณสี รับซื้อเอาไป เมื่อผ่าท้องปลาออกมาก็เห็นว่ามีเด็ก และเด็กก็ยังมีชีวิตอยู่ด้วย เพราะกำลังบุญของท่าน ภรรยาของเศรษฐีเมืองพาราณสีจึงรับเอาไปเลี้ยงไว้ให้เป็นลูกของตน

เหตุที่ท่านได้นามว่า พากุละ (คนสองตระกูล) เพราะเหตุว่า เมื่อมารดาบิดาผู้ให้กำเนิดจริงๆ ได้ทราบความเป็นไปนั้นแล้ว ทวงถามบ่อยๆ ว่า เด็กคนนี้เป็นลูกของเราๆ ขอจงให้ลูกแก่พวกเรา เมื่อไม่สามารถยินยอมกันได้ พระราชาทรงมีพระราชวินิจฉัยในเรื่องนี้ ว่า ขอให้ให้เด็กคนนี้เป็นทายาทของ ๒ ตระกูล ขอให้ทั้ง ๒ ตระกูลได้ร่วมกันดูแล เมื่อท่านเจริญวัยแล้ว ได้มีสมบัติมากมาย มีทรัพย์มากถึง ๘๐ โกฏิ เมื่อท่านได้สดับพระธรรมเทศนาในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เกิดความเลื่อมใส ได้ขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา เมื่อได้อุปสมบทแล้ว ในวันที่ ๘ ท่านก็ได้บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์

พระพากุลเถระ เป็นพระอรหันต์ผู้เลิศในด้านมีอาพาธน้อย ท่านได้กล่าวคาถาเป็นประโยชน์แก่ชนรุ่นหลัง ตามข้อความที่ปรากฏในพระสูตร เป็นต้น ว่า

ผู้ใด ปรารถนาจะทำการงานที่ทำก่อน ในภายหลัง ผู้นั้น ย่อมพลาดจากฐานะอันนำมาซึ่งความสุข และย่อมเดือดร้อนในภายหลัง ..ฯลฯ..

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

สิ่งที่ควรทำระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่

ในวันหนึ่งๆ เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศลเพิ่มขึ้นหรือไม่

อกุศลกรรมและอกุศลวิบาก

ที่พักและเสบียงในการเดินทางไกล

ความหมายของ กุศล และ อกุศล

เมื่อกล่าวถึงอกุศล...ก็เพื่อให้เห็นโทษ

บุคคลใดบ้างที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์

นิพพานเป็นสภาวะอย่างไร

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 20 ส.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ส.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ