การเผยแพร่พระธรรมครั้งอัศจรรย์และยาวนานที่สุด ณ แดนพุทธภูมิ ของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  1 ม.ค. 2567
หมายเลข  47207
อ่าน  3,037

อ.อรรณพ : กราบเรียนคณะอาจารย์ มศพ. และทุกท่านที่กำลังรับฟังการสนทนาปัญหาธรรมในวันนี้ คือวันอังคารที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๖ ที่เพิ่งกลับมาจากการเจริญกุศลที่ประเทศอินเดีย

ก็เพิ่งผ่านการเดินทางของกุศลใหญ่ ที่ท่านอาจารย์ได้เดินทางไปทั่วประเทศอินเดีย เพื่อที่จะเผยแพร่พระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กลับสู่แดนพุทธภูมิ รวมทั้งการที่เราได้มีโอกาสเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน พุทธสถาน รวมทั้งท่องเที่ยวด้วย หลายๆ อย่าง ก็เป็นปกติ เป็นเวลารวมทริป A B C ก็ ๒๔ วัน เดิมทีเป็น ๒๓ วัน แต่ว่าดีเลย์เที่ยวกลับ ก็เลยได้แถมอีกวัน ก็เป็น ๒๔ วัน ตั้งแต่วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน แล้วก็กลับมาเมื่อเช้าวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๖

เมื่อวานก็สนทนากับกลุ่มไลน์บ้านธัมมะ มศพ. ตอนช่วงบ่าย ก็ปลาบปลื้มปีติในทุกท่าน เพราะว่า ทั้งคณะอาจารย์ที่ได้ร่วมเดินทางไป ทั้งทุกท่านที่คณะเดินทางทั้งหมด ที่ร่วมเดินทางไป และแม้กระทั่งผู้ที่ไม่ได้ร่วมเดินทาง ท่านก็สนใจติดตามการเจริญกุศลของท่านอาจารย์และคณะ อย่างใกล้ชิด ทางสื่อออนไลน์ ก็เป็นโอกาสที่เราจะได้ระลึกถึงกุศล ซึ่งเพิ่งได้กระทำสำเร็จมา

ซึ่งในครั้งนี้ ผมกล่าวว่า อัศจรรย์ ไม่เคยมี อัศจรรย์ไม่เคยมีอย่างไร? หนึ่ง สำคัญที่สุดคือ ท่านอาจารย์เดินทางไปครั้งนี้ กล่าวธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ แดนพุทธภูมิ ยาวนานที่สุด ไม่เคยมียาวนานขนาดนี้ อัศจรรย์ ไม่เคยมีประการที่ สอง คือ ทุกที่ มีชาวอินเดีย เนปาล ก็มี ชาวพื้นเมืองก็มี มาฟัง มาสนทนา โดยมีการแปล จากภาษาไทยเป็นภาษาฮินดี โดยคุณสุขินบ้าง ภาษาอังกฤษเป็นภาษาฮินดีโดยคุณสุขิน คุณอาคิล คุณอาช่า บ้าง แล้วก็ภาษาอังกฤษเป็นภาษาถิ่น บ้าง

อัศจรรย์ไม่เคยมีจริงๆ ที่ชาวอินเดีย ทุกเชื้อชาติที่มีโอกาสมาในทุกที่ ทุกหัวเมือง มาสนทนากับท่านอาจารย์อย่างไม่ว่างเว้น ไม่ว่างเลย ไมค์นี่ไม่ว่าง เข้าใจมากน้อย ไม่สำคัญ เพราะว่าการทำการสะสม แต่เขาได้เจอ แล้วก็ได้มีโอกาส และไม่ใช่เพียงแค่ชาวอินเดีย ชาวไทยไม่ต้องพูดถึง มีศรัทธากันมากเหลือเกิน มีบุญมากเหลือเกินพวกเรา

แน่นอน เราเดินทางไปอย่างนี้ ก็ต้องมีความยากลำบาก ทุกขวิบากต้องมีอยู่แล้ว แต่ไม่สำคัญ เพราะวิบากเป็นผลของกรรม ทั้งกุศลวิบากอกุศลวิบาก แต่วิบากไม่ได้ให้ผลอะไรต่อ แต่กุศลจิต กุศลกรรม ที่ได้ร่วมเดินทางก็ดี ได้ร่วมอนุโมทนาก็ดี

เพราะฉะนั้น ก็เป็นโอกาสที่เราจะได้กล่าว นอกจากคนไทยแล้ว ยังมีชาวเวียดนามไปกัน คุณฮัง คุณฮา นี่ก็เข้ามาอยู่ในทริปเราตลอด แล้วก็กลุ่มคุณตั้มบั๊ค (Tam Bach) ก็มาร่วมสนทนาอยู่ด้วย รวมแล้วก็สิบกว่าคน สิบเอ็ดคน ถ้าจำไม่ผิด แล้วก็ยังมีชาวลาวมาอีก แล้วก็ยังไปเจอชาวเขมรด้วย คุณเหมี่ยน ก็มาสนทนา อย่างน่าแปลกใจ เพราะฉะนั้น อินโดจีนหมดเลย

ก็เลย บางทีก็สนทนาธรรม ไทย-ฮินดี ก็มี บางทีก็อังกฤษ-ฮินดี อังกฤษ-อินเดียพื้นบ้าน ไทย-เวียดนาม ก็คือ ท่านอาจารย์พูดภาษาไทย พี่จิ๋ว (ตรัสวิน จิตติเดชารักษ์) ก็ช่วยชาวเวียดนามแปลเป็นภาษาอังกฤษ แล้วก็ยังมีคุณ Alberto อีก พี่จิ๋วก็ไปเจริญกุศลมาก ช่วยแปลให้กลุ่มย่อย หรือส่วนบุคคล ด้วย เพราะพี่จิ๋วก็เป็นผู้ที่มีความรู้หลายด้าน แล้วก็มีความรู้ทางภาษาอังกฤษอย่างดี ก็คงได้มาช่วยกันแชร์ความคิดความเห็นต่างๆ ต่อไป

ก็เป็นโอกาสที่จะขอคณะอาจารย์ ที่ร่วมเดินทางไป ก็จะมีอาจารย์ธีรพันธ์ อาจารย์วิชัย อาจารย์คำปั่น อาจารย์พีท (ธนากร) และผม ๕ คน ที่ได้ไปกัน ทุกท่าน แต่ละท่าน ท่านไปครั้งนี้ ท่านมีความประทับใจอะไรบ้าง

อ.ธีรพันธ์ : ก็เป็นครั้งแรกในการไปนมัสการสังเวชนียสถานและพุทธสถานต่างๆ ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ยาวนานที่สุด ที่เคยไปมา ที่ยาวนานเพราะจะนำพระธรรมไปสู่แดนพุทธภูมิ ซึ่งเป็นสถานที่เดิมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และ เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน และสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา

ก็เป็นความปีติยินดี ในการได้ร่วมเดินทางในครั้งนี้ ท่านอาจารย์ท่านก็เห็นประโยชน์ ในการที่จะได้นำพระธรรม อัญเชิญพระธรรมกลับไปสู่แดนพุทธภูมิ เหมือนกับทุกท่าน ทั้งที่ในประเทศไทย รวมถึงชาติอื่นๆ แดนพุทธภูมิได้ยินได้ฟังพระธรรม ตรงตามพระไตรปิฎกและอรรถกถา เป็นเถรวาท วาทะที่มั่นคง ที่สืบต่อกันมา ไม่มีการขาดตอนขาดช่วงเลย

เพราะว่าพระธรรมคำสั่งสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงหลังจากที่ทรงดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็ยังมีการสังคายนาสืบต่อกันมา โดยพระเถระผู้ทรงคุณ มีพระมหากัสสปะเป็นประธานในครั้งแรก แล้วก็ท่านพระอุบาลีทางด้านพระวินัย แล้วก็ท่านพระอานนท์เป็นผู้วิสัชชนาทางพระสูตร พระอภิธรรม สืบต่อกันมา ไม่ได้สูญหายเลย เถรวาทสืบต่อกันมาจนถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ได้ส่งสมณฑูตไปตามสถานที่ต่างๆ แม้ในประเทศศรีลังกา และสถานที่อื่นอีก แล้วก็มาที่สุวรรณภูมิ

การดำรงคำสอนสืบต่อกันมา เพราะพระเถระผู้ทรงคุณได้ร่วมกันสังคายนา คำสั่งสอนจึงไม่ตกหล่น เพราะว่าถ้ามีตรงไหนผิดพลาดตกหล่น ท่านก็จะเห็น แล้วก็จะแสดงว่าข้อนั้นผิดพลาดอย่างไร ไม่ตรงหรือไม่สอดคล้องอย่างไร เพราะท่านมีการสังคายนาสาธยายสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งแรกเลยด้วย "มุขปาฐะ " ในสมัยหลังๆ ก็ทรงจำด้วยอักขระ

เพราะฉะนั้น การสังคายนา ไม่มีการที่จะสูญหายไป หรือขาดต่อ มาเริ่มใหม่ มีการสืบต่อกันมา จนในที่สุด มาถึงสุวรรณภูมิแล้ว ก็ได้กลับไปยังแดนพุทธภูมิอีก เป็นการระลึกถึงพระคุณอันสูงสุด ให้ทุกคน ไม่ใช่เพียงชาวสุวรรณภูมิหรือประเทศที่แวดล้อม ในอินโดจีนนี้ ไม่ว่าจะเป็นลาว เวียดนาม กัมพูชา หรือแม้กระทั่งพม่า แต่ก็ได้กลับไปสู่แดนพุทธภูมิ ได้ฟังพร้อมๆ กัน ได้ยินได้ฟัง อาจจะมีพยัญชนะต่างกัน ภาษาเสียงต่างกัน แต่ความหมาย อรรถ อันเดียวกัน คือธรรม คือสิ่งที่มีจริง

ก็ปลื้มปีติมากที่ชาวอินเดียได้ฟังธรรมในสิ่งที่มีจริง ไม่อย่างนั้นก็จะฟังในสิ่งที่อาจจะคิดว่าเป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็คล้อยตามกันโดยที่ไม่ได้สืบสวนเรื่องราวจริงๆ ว่า จริงๆ แล้วเป็นคำจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงหรือเปล่า แม้ประเทศไทยเองก็ตาม พระธรรมก็เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งมาก คือความยาก แม้จะเป็นสิ่งที่ตอบแทนพระมหากรุณาคุณที่ทรงแสดงเพื่อให้ชนชาวอินเดียหรือแดนภารตะ ได้ยินได้ฟังพระธรรม ได้รับรสพระธรรม

แต่ละท่านก็ฟัง แล้วก็อัศจรรย์จริงๆ มีการสนทนากันแบบ ถึงพริกถึงขิง ที่ท่านอาจารย์ไม่อยู่ มีสถานที่หนึ่ง แต่เมื่อท่านอาจารย์กลับมา มาสนทนาต่อ เพราะช่วงนั้น ท่านอาจารย์ก็มีคุณสุขิน คุณอาคิล คุณอาช่า ได้สนทนา แต่ท่านอาจารย์ก็มีเหตุที่จะต้องไปทำภารกิจแล้วก็กลับมา การสนทนาที่ถึงพริกถึงขิงนั้นก็อ่อนลง เป็นการฟังท่านอาจารย์ ฟังด้วยดีเลย

ก็เป็นความอัศจรรย์อย่างยิ่งของพระธรรม ที่เห็น "ธรรมเตชะ" จริงๆ คือ เป็นที่ นาคปุระ สถานที่สุดท้าย นั่นเอง ที่ท่านอาจารย์ได้แสดงธรรม ท่ามกลางวาทะที่ต่างกัน แต่ก็ไม่ใช่มีวาทะที่ถกเถียงกัน มีบางท่านอาจจะมีความเห็นไม่ตรง แต่ก็คงฟังไม่ได้ศัพท์ เพราะว่าพูดเป็นภาษาท้องถิ่น แต่ว่าด้วยอาศัยดูอาการภายนอก และเสียงก็เป็นลักษณะที่เป็นวาทะ แตกต่างจากเมื่อท่านอาจารย์มาถึง ก็ค่อยๆ สงบลงด้วยดี

ก็อัศจรรย์ จะเห็นคุณของธรรมประการหนึ่ง คืออัศจรรย์ของพระธรรมที่จากการฟังที่เหมือนกับเป็นการที่ไม่เป็นธรรม คือ สถานที่ใดที่ไม่มีการแสดงธรรมที่ถูกต้อง สถานที่นั้นไม่ใช่สภา สภาหมายถึงว่า ธรรม มีการแสดงความเห็นคือธรรมที่ถูกต้อง ถ้าไม่มีการแสดงสิ่งที่ถูกต้อง ไม่มีการพูดความจริง ที่นั้นก็ไม่ชื่อว่าสภา แต่ก็สงบลงด้วยดี แล้วก็ตั้งใจฟัง

นี่ก็เป็นอัศจรรย์ ข้อหนึ่ง ว่าพระธรรมนำไปสู่การ.. ไม่ใช่ว่าผู้ฟังแต่ละท่านจะฟังแล้วเข้าใจเลย ท่านก็น้อมใจฟังที่จะพิสูจน์ความจริง เพราะท่านอาจารย์ซักถามให้คิด ให้ไตร่ตรอง ไม่ได้ฟัง ให้จำ ให้คล้อยตาม ไม่ใช่เลย ไม่ใช่เหมือนกับเป็นคำตอบ ใครอยากถามอะไรก็ตอบไป แต่ว่า คำถามแต่ละคำถามคืออะไร เพื่อให้ผู้ฟังได้คิดพิจารณา เป็นปัญญาของตนเอง ก็ยังมีอีกมาก ครับ

อ.อรรณพ : ดีครับ ผมเอง พออาจารย์ธีรพันธ์พูดก็ต้องขอขอบพระคุณ ที่มาเล่าให้ฟังที่ นาคปุระ ซึ่งเป็นเมืองสุดท้าย และเป็นเมืองที่มีชาวพุทธอยู่เยอะ เพราะว่าแค่ชื่อสนามบินที่นาคปุระก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเมืองพุทธ ก็คือสนามบิน Ambedkar ซึ่งเป็นชื่อของอดีตรัฐมนตรีวัฒนธรรมและแรงงาน ของประเทศอินเดีย ท่านก็เสียชีวิตไปนานแล้ว แต่ท่านก็ให้ชาวอินเดียได้มานับถือพระพุทธศาสนา แม้ว่ายังไม่ได้เข้าใจ

ก็เป็นสถานที่แบบสถูป ท่านอาจารย์ก็เข้าไป ซึ่งเขาก็ต้อนรับเราอย่างดี เรียกว่าดีที่สุด ท่านอาจารย์ลงรถ เขาก็มาโปรยดอกไม้ มีเครื่องลาด อะไรต่ออะไร ชาวอินเดียวเขาก็เต็มที่มาก

แต่อย่างที่อาจารย์ธีรพันธ์พูด ทุกที่ ทุกเวลา ทุกกาล ต้องมีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย แม้ในสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่ พร้อมพระอริยสาวกผู้มีคุณมากมาย ก็ยังมี อัญเดียรถีย์ ปริพาชก เดียรถีย์ ก็คือ ผู้มีความเห็นอย่างอื่น ก็ย่อมมี

เพราะฉะนั้น ที่เมือง นาคปุระ นี้เห็นชัดเลย ที่อาจารย์ธีรพันธ์กล่าว ผมก็เห็นภาพจากสำนวนอาจารย์ธีรพันธ์ว่า คือท่านอาจารย์มาเปิดการสนทนา คือตอนเช้านี่เรามีเวลาน้อย เพราะว่าไปนมัสการที่สถูปกัน แล้วก็ไปปฏิสันถารกับกลุ่มชาวพุทธที่ดูแลอะไรต่ออะไร ที่นั่นเขามาขอถ่ายรูปท่านอาจารย์มากมายเลย

ท่านอาจารย์ก็สนทนาได้สักครึ่งชั่วโมง เนื่องจากทางทัวร์ได้จองอาหารไว้ เราก็ต้องไปทานอาหาร ท่านอาจารย์ก็เลยต้องไปรับประทานอาหารกับพวกเรา แล้วก็เพิ่งรู้ว่าอาจารย์ธีรพันธ์ไม่ได้ไป ก็อยู่กับทีมกล้อง เพราะการสนทนาไม่ได้หยุด โดยคุณอาคิล คุณอาช่า คุณสุขิน ก็ได้สนทนาต่อไป

และอาจารย์ธีรพันธ์ก็ใช้คำว่า ถึงพริกถึงขิง ผมก็เลยเข้าใจได้ว่า ต้องมีคนเห็นต่าง แล้วก็มาถกกัน บางคนก็บอก อย่ามาฟังนะ เพราะท่านอาจารย์ก็เหมือนความเห็นไม่ตรงกับเขา แล้วพอท่านอาจารย์มา เขาก็ออกมาพูด ซึ่งผมก็ขอพูดให้ชัดๆ ไปเลย ว่า ผมเห็นคนหนึ่ง ส่วนผู้หญิงที่ออกมาพูดยาวๆ น่ะ เขาไม่ได้มาต่อต้าน เขามาพูดถึงการประพฤติไม่ดีของภิกษุ ผู้หญิงคนนั้นเขาไม่ได้มาว่าท่านอาจารย์ เพียงเขายังไม่ค่อยเข้าใจอะไร แต่ว่า เขาไม่พอใจการประพฤติของภิกษุที่ห่มผ้าเหลืองแล้วประพฤติไม่ดี

แต่ผู้ชาย คนที่เห็นชัด ที่มาต่อต้าน มีความเห็นต่าง ที่อยู่ทางขวามือของเวที หรือทางซ้ายมือของผู้นั่งฟัง ก็มาพูดๆ แล้วท่านอาจารย์ก็ โอ้โห อย่างที่อาจารย์ธีรพันธ์พูดเลย พอดีผมได้สนทนากับท่านอาจารย์เมื่อคืนถึงเรื่องนี้ ที่ว่ามีคนต่อต้าน จึงเห็นในความอัศจรรย์อย่างที่อาจารย์ธีรพันธ์พูดว่า อัศจรรย์หลายประการ ที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่า หนึ่ง เป็นการเผยแพร่พระธรรมที่ยาวนานที่สุดในประเทศอินเดีย ทุกครั้งที่ท่านอาจารย์ไป ไม่มีโอกาสจะเผยแพร่ยาวนาน

สอง ชาวอินเดียมาทุกที่ แล้วก็มาสนทนาทุกที่ ไม่มีว่าง แล้วอัศจรรย์ ข้อที่สาม คือ อัศจรรย์ว่ามีผู้เห็นต่าง แล้วทุกที่ต้องมีเดียรถีย์ พระพุทธเจ้าอยู่ก็ต้องมีเดียรถีย์ ก็ธรรมดา แต่ท่านอาจารย์สยบความวุ่นวายเหล่านั้น โดยการกล่าวถึงคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผมนั่งอยู่ ณ ตอนนั้น เพราะเราก็กลับมาแล้ว

ตอนบ่ายเอาอีก มาพูดอะไรอีก ท่านอาจารย์กล่าวว่า ผมพูดไม่ได้เหมือน เดี๋ยวท่านอื่นจะเสริมก็ได้ ท่านอาจารย์บอกว่า ถ้าจะกล่าว ต้องกล่าวให้ตรง ในประเด็นที่กำลังสนทนา ไม่ใช่พูดเรื่องอื่น แต่ต้องพูดถึงเรื่องธรรม ในข้อที่กำลังสนทนา จึงจะสมควรกล่าว แต่ถ้าจะกล่าวเรื่องอื่นๆ ไม่ใช่โอกาสที่จะสมควรกล่าว แล้วท่านอาจารย์ก็กล่าวว่า ดิฉันมาที่นี่ทำไม?

โอ้โห ผมนี่สะท้านเลย แล้วท่านอาจารย์ก็กล่าวพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีอะไรจะต้านทานได้เลย อันนี้สำนวนผมบ้างนะ กระเจิดกระเจิง ครับ เดียรถีย์ เงียบสงบเลย แล้วท่านอาจารย์ก็กล่าวกับผมว่า คุณอาคิล คุณอาช่า เขาก็เป็นห่วงท่านอาจารย์ แล้วเขามองว่าท่านอาจารย์และพวกเราก็เป็นผู้ที่ละเอียด นุ่มนวล ไม่อยากให้เจออะไรอย่างนี้ คงจะเจออย่างนี้ไม่ได้

ท่านอาจารย์บอก เขาเข้าใจเราผิด ท่านอาจารย์จึงบอกคุณอาคิล คุณอาช่า ว่า เดี๋ยวดิฉันจัดการเอง ท่านอาจารย์เล่าให้ผมฟังเมื่อค่ำที่ผ่านมานี้ แล้วผมก็ดูแล้วว่า ท่านอาจารย์ท่านนิ่งอย่างนี้ พอท่านเห็นเขามาพูดๆ พอท่านอาจารย์กล่าวคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็กล่าวว่า ดิฉันมาที่นี่ทำอะไร เพื่ออะไร ด้วยความประสงค์ดี อะไรอย่างไร ผมรู้แล้วว่าเดี๋ยวไม่มีอะไรจะต้านพระธรรมได้ ไม่มีอะไรจะต้านพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ไม่มีอะไรเลยที่จะขัดขวางการเผยแพร่พระธรรม การดำรงพระธรรมของท่านอาจารย์ ซึ่งเป็นพุทธสาวิกาในยุคนี้ นี่แหละครับ อัศจรรย์ไม่เคยมี ได้เห็นการสยบเดียรถีย์

อ.วิชัย : ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสได้ร่วมเดินทางกับท่านอาจารย์ที่จะไปเผยแพร่ธรรม อันนี้คือจุดสำคัญ แล้วก็ได้ไปกราบนมัสการสังเวชนียสถาน ซึ่งก็คิดถึงครั้งก่อนๆ เพราะว่า ครั้งก่อนๆ ที่เราไป ก็จะมีการไปนมัสการสังเวชนียสถาน แล้วก็มีการสนทนาธรรมเพื่อเป็นพุทธบูชา สำหรับคณะที่ร่วมเดินทางไป

และกาลต่อมาก็ได้มีการกระทำการบูชา คือ พุทธรัตนะ ก็คือมีโอกาสได้ร่วมกันสร้างที่ประดิษฐาน ที่พุทธคยา และที่สารนาท ก็คือ พระรัตนบุษยภาชน์ อโศกมหาราชปริวรรต ก็เป็นการกระทำการบูชาครั้งยิ่งใหญ่ แล้วก็ปลื้มปีติในการที่จะได้กระทำพุทธบูชา ที่จะได้สร้างที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระวรกาย ก็ทำอย่างประณีตแล้วก็ดีอย่างยิ่ง

และในกาลต่อมา ก็มีโอกาสได้ร่วมเดินทางในการที่จะบูชาพระธรรม ก็คือการได้แสดง แล้วก็เปิดเผยพระธรรม โดยที่มีท่านอาจารย์เป็นผู้นำในการที่จะเดินทางในครั้งนี้ ที่จะอนุเคราะห์เกื้อกูลบุคคลที่อยู่ที่อินเดีย ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้ อย่างที่ทราบ ก็คือไปกรุ๊บ A B ในช่วงแรก ก็ได้มีการสนทนาธรรมกับชาวอินเดียที่มาร่วมฟังธรรม

ซึ่งก็คิดถึงตอนแรกๆ ซึ่งจัดการต้อนรับชาวอินเดียที่ Revanta (ลัคเนาว์) ที่อาจารย์อรรณพกล่าวว่า ตอนแรก ทางรัฐบาลก็ไม่อนุญาต แต่เวลาแบบฉิวเฉียดมากเลย ก็เห็นถึงความน่าอัศจรรย์ ว่าการประกาศเผยแพร่พระธรรม เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ บุคลใดๆ ก็ยากที่จะขวางการที่จะกล่าวคำจริงไม่ได้ ก็เห็นถึงโอกาสที่ได้มีการอนุญาตสถานที่ในเวลาที่กระทันหันมาก

แล้วก็มีโอกาสเดินทางไปอีกที่หนึ่ง ก็ขออนุโมทนาทีมกล้องของเรา โดยมีคุณอุดร เป็นหัวหน้าในการที่จะร่วมไปในอีกที่หนึ่ง การตระเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ก็ฉุกละหุกพอสมควร แต่ทุกอย่างก็ลุล่วงไปด้วยดี ซึ่งวันต่อมาก็จะมีการนำรถไป ก็มีติดๆ ขัดๆ บ้าง แต่ทั้งหมด ด้วยเจตนาที่มุ่งในการเผยแพร่พระธรรม ทุกอย่างก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

" ... ดูก่อนอานนท์ ไม้สาละทั้งคู่ เผล็ดดอกบานสะพรั่งนอกฤดูกาล ร่วงหล่น โปรยปรายยังพระสรีระของพระตถาคต เพื่อบูชาพระตถาคต. แม้ดอกมณฑารพอัน เป็นของทิพย์ แม้จุณแห่งจันทน์อันเป็นของทิพย์ ... แม้ดนตรีอันเป็นทิพย์เล่า ... แม้สังคีต อันเป็นทิพย์ ย่อมเป็นไปในอากาศ เพื่อบูชาพระตถาคต

ดูก่อนอานนท์ พระตถาคตจะชื่อว่าอันบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้หามิได้ ผู้ใดแลจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกาก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ พวกเธอพึงสําเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่ ... "

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๐๖-๓๐๗

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 111

พรหมสังยุต ปฐมวรรคที่ ๑

๑. อายาจนสูตร

พรหมอาราธนาให้แสดงธรรม

[๕๕๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธ แถบฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา อุรุเวลาประเทศ.

ครั้งนั้น ความปริวิตกแห่งพระหฤทัยบังเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เสด็จเข้าที่ลับ ทรงพักผ่อนอยู่อย่างนี้ว่า ธรรมที่เราตรัสรู้แล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาคคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ก็หมู่สัตว์นี้แล ยังยินดีด้วยอาลัย ยินดีแล้วในอาลัย เบิกบานแล้วในอาลัย ก็ฐานะนี้ คือ ความเป็นปัจจัยแห่งธรรมมีสังขารเป็นต้นนี้ เป็นธรรมอาศัยกันและกันเกิดขึ้น อันหมู่สัตว์ผู้ยินดีด้วยอาลัย ยินดีแล้วในอาลัยเบิกบานแล้วในอาลัย จะพึงเห็นได้ยาก แม้ฐานะนี้ ก็เห็นได้ยาก คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา ธรรมเป็นที่สำรอก ธรรมเป็นที่ดับ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรม แต่ชนเหล่าอื่นจะไม่พึงรู้ทั่วถึงธรรมของเรา ข้อนั้น จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยของเรา ข้อนั้น จะพึงเป็นความลำบากของเรา.

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 112

อนึ่ง ได้ยินว่า คาถาอันน่าอัศจรรย์เล็กน้อยเหล่านี้ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่เคยได้ทรงสดับมาแต่ก่อน เกิดแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

บัดนี้ เราไม่ควรจะประกาศธรรมที่เราตรัสรู้แล้วโดยยาก ธรรมนี้ เหล่าสัตว์ผู้ถูกราคะโทสะครอบงำแล้ว จะตรัสรู้ไม่ได้ง่าย เหล่าสัตว์ผู้ยินดีแล้วด้วยความกำหนัด ถูกกองแห่งความมืดหุ้มห่อแล้ว จักไม่เห็นธรรมอันทวนกระแส ละเอียดลึกซึ้ง เห็นได้ยาก เป็นอณู.

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาเห็นดังนี้ พระหฤทัยก็ทรงน้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่ทรงน้อมไปเพื่อทรงแสดงธรรม.

[๕๕๖] ครั้งนั้น สหัมบดีพรหม ทราบความปริวิตกแห่งพระหฤทัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยใจแล้ว ได้มีความดำริว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย โลกจะฉิบหายหนอ ท่านผู้เจริญทั้งหลาย โลกจะพินาศหนอ เพราะพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงน้อมพระหฤทัยไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่ทรงน้อมพระหฤทัยไปเพื่อทรงแสดงธรรม.

ลำดับนั้น สหัมบดีพรหมอันตรธานไปในพรหมโลก มาปรากฎอยู่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า เหมือนบุรุษมีกำลังพึงเหยียดออกซึ่งแขนที่คู้อยู่ หรือพึงคู้เข้าซึ่งแขนที่เหยียดอยู่ ฉะนั้น.

ครั้นแล้ว สหัมบดีพรหมกระทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้ว คุกชาณุมณฑลเบื้องขวาลงที่แผ่นดิน ประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงแสดงธรรมเถิด ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรมเถิด สัตว์ทั้งหลายผู้มีกิเลสดุจธุลีในดวงตาน้อยเป็นปกติก็มีอยู่ เพราะมิได้สดับย่อมเสื่อมจากธรรม สัตว์ทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี.

แล้วก็ อีกที่หนึ่ง ซึ่งจะไม่กล่าวไม่ได้เลยก็คือ สิตาปุระ (Sitapur ) เดินทางก็ไกลจาก Revanta พอสมควร แล้วก็ไปที่ๆ ไม่เคยไป ไม่เคยคิดว่าจะเป็นอย่างนี้ เหมือนกับเป็นหมู่บ้านชนบท ก็เห็นชาวอินเดียที่เขาตระเตรียมสถานที่ไว้ มีเต๊นท์ มีคนมาต้อนรับ แต่แน่นอน การที่จะให้บุคคลอื่น ซึ่งมากด้วยความไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นคนไหนก็ตาม ที่ยังไม่เคยได้ยินได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วจะเป็นเหตุให้คนนั้นได้เข้าใจทันทีทันใด ก็เป็นสิ่งที่ยากอย่างยิ่ง

หลายครั้งที่ได้ยินท่านอาจารย์กล่าวถึงว่า ไม่ว่าจะคนใดกล่าวสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ท่านอาจารย์ก็จะเสมอว่า "แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าอย่างไร" คำนี้ก็เป็นคำเตือนอย่างยิ่ง ว่าสิ่งที่เราอาจจะได้ยินได้ฟังมา หรือมีการคิดเองเข้าใจเอง แต่เมื่อได้ยินคำนี้ ก็เป็นเหตุทำให้ไม่ประมาท ที่จะหลงผิดหรือเข้าใจผิด คิดเองหรือเผิน ว่าสิ่งที่เรารู้นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ต้องน้อมระลึกถึงคำทุกคำ ที่พระองค์ตรัสไว้ ว่าพระองค์ตรัสไว้ว่าอย่างไร แสดงความละเอียดของสิ่งนั้นไว้ว่าอย่างไร

แม้แต่คำที่พระองค์ตรัสถึงว่า ธรรมลึกซึ้ง คำนี้ก็ทิ้งไม่ได้เลย ที่จะไม่ประมาททุกครั้งที่มีโอกาสได้ยินได้ฟัง หรือแม้แต่จะศึกษาต่อๆ ไป ก็ไม่ประมาทเพิ่มขึ้น ยิ่งขึ้น อย่างพระปัจฉิมโอวาท พระองค์ก็แสดงไว้ว่า จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม อันนี้ก็เป็นการเตือนทุกขณะ แม้คำที่ท่านอาจารย์กล่าวแต่ละครั้ง ก็เตือนให้รู้ความเป็นจริง เพราะว่า ปกติก็เป็นผู้ที่หลงลืมเสมอ

ซึ่งก็จะเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นชาวไหนก็ตาม ไปที่ต่างๆ ก็จะมีทั้งเห็นด้วย ไม่รู้ หรือว่า เห็นต่าง ก็เห็นถึงความเป็นธรรมจริงๆ ซึ่งเราไม่เคยคาดคิดเลยว่า จะพบหรือว่าเจออะไร แต่ด้วยจิตที่มุ่งประโยชน์ ไม่ได้จะไปให้ร้าย หรือให้คำที่ไม่จริงแก่บุคคลอื่น ตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ซึ่งหลายครั้งที่ได้ฟังคำแปล ที่คุณสุขินได้กล่าวถึง ชาวอินเดียที่มาร่วมสนทนา โดยมากก็จะคิดถึงตนเองว่า จะได้ประโยชน์อย่างไร อะไรอย่างนี้ ก็คิดถึง แม้ชาวไทยเองก็มีลักษณะคล้ายๆ กันอย่างนี้ ก็เห็นถึงความเป็นธรรม เมื่อไม่รู้ตามความเป็นจริง ก็ยังมีความคิด มีความเป็นไปด้วยความเป็นตัวเราอยู่ ซึ่งท่านอาจารย์ก็อนุเคราะห์ด้วยการกล่าวความเป็นจริงให้เห็นว่า เดี๋ยวนี้มีอะไร? และเดี๋ยวนี้ที่มีนั้น เข้าใจว่าอย่างไร?

ท่านอาจารย์ก็จะอนุเคราะห์ รวมถึง บุคคลที่ร่วมเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นชาวไทย ที่ร่วมคณะมา ท่านอาจารย์ก็อนุเคราะห์เกื้อกูลที่จะสนทนาเป็นภาษาไทย ก็จะฟังง่ายเพราะคุ้นเคย ด้วยภาษาของตนๆ หรือแม้แต่ชาวเวียดนามเอง ซึ่งท่านอาจารย์ก็เมตตาที่จะให้โอกาสเขา เพราะว่าเขาก็ไม่ได้รับโอกาสเหมือนอย่างคนไทย ซึ่งมีโอกาสมากกว่า ในการสนทนาตามที่ต่างๆ

แต่เมื่อไปที่โน่นแล้วชาวเวียดนามมาเป็นคณะ ก็เป็นโอกาสที่จะอนุเคราะห์เกื้อกูล แต่ก็ยังมีการแปลที่เป็นภาษาไทย แล้วก็ภาษาอังกฤษด้วย บางครั้งที่อาจารย์อรรณพกล่าวถึง ท่านอาจารย์กล่าวเป็นภาษาไทย แล้วพี่จิ๋ว (คุณตรัสวิน จิตติเดชารักษ์) ก็กล่าวเป็นภาษาอังกฤษ ให้ชาวเวียดนามได้เข้าใจด้วย

รวมถึงไปที่ต่างๆ ก็จะเจอชาวลาว ชาวเขมร ซึ่งทุกอย่าง ไม่คาดคิดมาก่อน แต่ให้เห็นถึงเหตุปัจจัยของแต่ละคน ที่มี บุญที่กระทำไว้แล้วแต่ปางก่อน (ปุพเพกตปุญญตา) ที่จะมีโอกาสได้พบ แม้แต่ที่พระวิหารเชตวัน ก็มีชาวเขมรที่รู้จักท่านอาจารย์ ก็ได้พบด้วย ก็ให้เห็นถึงอีกครั้งหนึ่งในสังสารวัฏ ที่จะได้ร่วมกับท่านอาจารย์ในการกระทำกิจในพระศาสนา ก็คือการได้เผยแพร่พระธรรม

อ.อรรณพ : อย่างที่อาจารย์วิชัยได้กล่าวก็คือ ทีมกล้อง ทีมกล้องคราวนี้เป็นความลำบากมากที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา หนึ่ง ยาวนาน สอง เดี๋ยวสนทนาที่โรงแรมกับคนไทย ตอนบ่ายไปสนทนาธรรมข้างนอก บางทีสนทนาที่โรงแรมกับคนไทยบ้างหรือบางทีก็มีคนอินเดียมาบ้าง แล้วทำอย่างไร เช้าก็สนทนา บ่ายออกไปข้างนอกอีก ทีมกล้อง ถ้าไม่เข้มแข็ง ไม่ร่วมแรงร่วมใจ แล้วก็ไม่ว่องไวและชำนาญ เห็นถึงความอดทนและตั้งใจ ที่จะรับใช้พระศาสนา

การสนทนาแต่ละครั้ง จะหาความแน่นอนไม่ได้ เพราะว่าท่านอาจารย์จะเปลี่ยนตลอดเวลา ตามความเหมาะสม เนื่องจากจะเอาความแน่นอนกับความไม่แน่นอนไม่ได้ ท่านจะเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ ให้เราจัดโปรแกรมไปอย่างไรก็ตาม ท่านจะพิจารณาเองว่า เมื่อถึงเวลา อะไรจะสะดวก อะไรจะเป็นประโยชน์สูงสุด ถ้ามีเวลาสนทนา แล้วท่านอาจารย์สนทนาไม่จำกัดเวลา เพราะว่านั่นคือสนทนาธรรมตามกาลจริงๆ

กาลที่ผู้ฟังประสงค์จะฟังต่อ ผู้ให้ประสงค์จะให้ ขอยกคำที่ท่านอาจารย์กล่าวที่ โรงพยาบาลตำรวจว่า "ยินดีให้บริการ เมื่อมีผู้รับบริการ" ในเมื่อชาวอินเดียเขาอยากจะมาสนทนา ที่ออรังกาบัด มี แพทย์อินเดียคนหนึ่ง เขาเดินทางมา ๓๐๐ กิโลเมตร เพื่อมาพบท่านอาจารย์ที่ออรังกาบัด แล้วท่านอาจารย์ท่านจะไม่ต่อเวลาให้เขาหรือ หรือพระภิกษุที่ สมาคมมหาโพธิ์บังคาลอร์ สนใจ ท่านอาจารย์ก็สนทนายาวยืดไป

และแม้กระทั่งที่เมืองสุดท้าย นาคปุระ เขายังอยู่กัน แม้จะมีคนทยอยกลับไปเพราะเย็นแล้ว สนทนากะว่าเลิก ๕ โมงเย็น ๖ โมงครึ่ง ยังไม่เลิกเลย ท่านอาจารย์ก็ให้เวลาไปเลย เพราะโอกาสที่จะมานั้นยาก คุณอาช่าก็มาปรารภว่า จะให้เวลาทุกคนอย่างเต็มที่เลย เพราะว่าโอกาสที่ท่านอาจารย์จะมานี้ยาก ก็จริงๆ เพราะฉะนั้น ก็อัศจรรย์จริงๆ

ไป Sitapur คุณธนัญบอกผมว่าได้มาตรงนี้คุ้มค่าเลย ได้เห็ตความวิริยะ อดทน ความตั้งใจมั่นของท่านอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง ที่ Sitapur นี้ มีเดียรถีย์ คำนี้อาจจะแรง แต่ถ้าพูดว่า ผู้มีความเห็นต่าง ก็คงไม่เป็นไร มีคนเมาออกมาพูดอะไรก็ไม่รู้ แล้วก็มีคนห่มเหลืองออกมาพูด แบบว่าเขาคงจะไม่เห็นด้วย ก็แน่นอน รับเงินรับทองไม่ได้ ทำตามพระวินัย

แต่ครั้งนี้ ไม่ต้องถึงท่านอาจารย์ คุณอาช่าจัดการได้ ผมก็อยากจะรู้ว่าคุณอาช่าพูดอะไรถึงได้เงียบกันหมด แค่คุณอาช่าก็เอาอยู่ เพราะคุณอาช่าไปหมู่บ้านที่ Sitapur เดือนละครั้ง ไปพูดธรรม สองท่านนี้เขาทำงานกันตลอด ยิ่งไปยิ่งซึ่งในการทำงานของเขา คุณอาช่าออกมาพูด ถือไมค์เดินออกมาข้างนอกแล้วก็พูด ผมก็เลยไปถามคุณสุขินว่าคุณอาช่าเขาพูดว่าอย่างไร เพราะคุณสุขินเขาไม่ได้แปล

คุณอาช่าพูดว่า หมู่บ้านของพวกเราโชคดีขนาดไหนที่ท่านอาจารย์มาถึงที่นี่ แล้วสิ่งที่เมื่อสองสามปีก่อน เขาก็เหมือนพวกที่หมู่บ้านนี้ทั้งหลาย ที่ไม่รู้ว่าอะไรคือธรรม แล้วก็ได้รู้ว่าธรรมคืออะไร จึงนำสิ่งที่ดีที่สุดมาตรงนี้ เขาก็ซึ้งใจ บางคนที่ไม่เห็นด้วยแต่ก็ต้องก็อึ้ง เมื่อฟังคำจริงที่คุณอาช่ากล่าวด้วยความจริงใจ ว่าเคยเข้าใจผิดอย่างนี้มาก่อน แล้วเมื่อได้เข้าใจถูกและก็เป็นโอกาสที่ดีที่ท่านอาจารย์เข้ามาจนถึงหมู่บ้านนี้ ไม่ใช่ด้วยความง่ายๆ เลย นี่แหละครับ อัศจรรย์ ไม่เคยมี

อ.คำปั่น : การเดินทางครั้งนี้ ก็อย่างที่อาจารย์หลายๆ ท่านกล่าวว่า คือการเดินทางที่ยาวนาน ทั้งหมดก็เพื่อร่วมภารกิจที่สำคัญยิ่งของท่านอาจารย์ ในการประกาศพระศาสนา เผยแพร่พระธรรมให้กับชาวอินเดีย ซึ่งกระผมก็เหมือนทุกท่าน คือเห็นถึงความตั้งใจมั่นของท่านอาจารย์ เห็นถึงบารมีของท่านอาจารย์ ทั้งความอดทน ทั้งวิริยะ ทั้งปัญญา ทุกอย่างของท่านอาจารย์ ที่จะทำประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่นี้

ซึ่งท่านอาจารย์ได้กล่าวกับกระผมในวันสุดท้ายที่สนามบิน ก่อนที่จะเดินทางกลับมาที่เมืองไทยว่า ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ แม้ว่าจะเป็นงานยาก แต่เราก็ได้ทำแล้ว และท่านอาจารย์ก็ยังฝากถึงทีมงานด้วยว่า ทีมงานกล้องทุกคนก็ได้ทำหน้าที่ของคนเอง จนกระทั่งสำเร็จลุล่วงด้วยดีแล้ว นี่คำที่ท่านอาจารย์ให้กำลังใจในวันสุดท้าย ตลอดระยะเวลาที่ได้ทำหน้าที่อยู่ในทีมกล้องร่วมกับอาจารย์วิชัย และพี่อุดรเป็นต้น ก็เห็นถึงแต่ละท่านช่วยกันอย่างเต็มที่ แม้ว่าจะมีการขัดข้องบ้างในบางครั้ง แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ลุล่วงด้วยดี สำเร็จด้วยดี

ทุกครั้งที่ท่านอาจารย์ได้สนทนาธรรม ก็จะเห็นถึงความสดใสร่าเริง ความเบิกบาน ความปลาบปลื้มปีติของท่านอาจารย์ที่ได้กล่าวคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความเป็นมิตรเป็นเพื่อนจริงๆ หวังดีจริงๆ ที่จะให้ผู้ฟัง ได้รับประโยชน์จากคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การสนทนา ก็จะเห็นได้เลยว่า ไม่ต่างอะไรกับเมืองไทย ก็จะมีคำถามที่หลากหลาย แต่ท่านอาจารย์ก็ได้กล่าวในคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ซึ่งคำที่ประทับใจที่สุด ที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวก็คือว่า คำว่าธรรม เป็นคำเริ่มต้นที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า "คำว่าธรรม เป็นคำเริ่มต้นที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน แน่นอน ชาวอินเดียได้ฟังแล้ว ได้ไตร่ตรอง ในคำจริง ได้ไตร่ตรอง ในเหตุในผล บางคนก็ไปนั่งสมาธิมาก่อน ไปสำนักปฏิบัติมาก่อน

แต่ผลของการประกาศพระศาสนา ผลของการกล่าวคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่จะจบสนทนา ก็จะมีคำถามว่า แล้วจะไปสำนักปฏิบัติอีกไหม? แล้วจะไปหาธรรมที่อื่นอีกไหม? คำตอบคืออย่างไร? คำตอบก็คือ ธรรมคือขณะนี้ ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน และ ไม่ต้องไปทำอะไรที่ผิดปกติ ณ ที่หนึ่งที่ใดอีกแล้ว

นี่คือ พอได้ฟังแล้วปลาบปลื้มมาก ในความเข้าใจของชาวอินเดีย ที่ได้ฟังคำจริงที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวตามคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่คือประโยชน์สูงสุดที่ท่านอาจารย์ได้เดินทางมาที่อินเดีย ทั่วอินเดียเลย ท่านอาจารย์ได้กล่าวธรรม ไม่มีครั้งไหนที่จะไม่เลยเวลา ซึ่งท่านอาจารย์กล่าวว่า เป็นการเลยเวลาที่คุ้มค่าที่สุดในชีวิตและในสังสารวัฏ เพราะเป็นการเพิ่มพูนความเข้าใจขึ้น ในเวลาที่ให้ต่อไปอีก

ท่านอาจารย์ยิ้มแย้มแจ่มใสทุกเมื่อ เห็นถึงบารมีของท่านอาจารย์ คุณความดีทั้งหมดที่ได้ทำประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ ทุกท่านที่ได้เห็นก็ได้ร่วมยินดี ร่วมชื่นชมในกุศลครั้งยิ่งใหญ่ของท่านอาจารย์ และทุกท่านก็เป็นส่วนสำคัญในการช่วยภารกิจนี้ให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี

การเดินทางครั้งนี้ ก็เป็นครั้งประวัติศาสตร์ ครั้งยิ่งใหญ่ ที่ระลึกถึงคราใดก็ปลาบปลื้มทุกครั้ง กระผมก็ได้กราบเท้าท่านอาจารย์ว่า นี่คือผลจากการที่ท่านอาจารย์ได้มาครั้งนี้ ประโยชน์สูงสุดจริงๆ ที่เห็นชาวอินเดียได้รับประโยชน์จากพระธรรม ได้สะสมพืชเชื้อที่ดี ที่จะเจริญเติบโตต่อไป

ทุกท่าน ก่อนที่จะเข้าสู่สถานที่สนทนาธรรม ก็จะเห็นถึงการต้อนรับ นั่นคือกุศลจิตของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน ผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลาย ที่ได้ให้การต้อนรับท่านอาจารย์ ซึ่งก็คือการต้อนรับพระธรรม การต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นกุศลอย่างยิ่ง ของผู้ที่กระทำ ทุกท่านพอได้เห็นก็เกิดกุศลด้วยในกุศลของบุคคลเหล่านั้น ก็เป็นโอกาสที่จะเกื้อกูลให้คุณความดี เจริญขึ้นได้มาก กับการเดินทางไปอินเดียคราวนี้

อ.ธนากร : การที่ท่านอาจารย์ได้เดินทางที่ประเทศอินเดีย แม้ว่า (บางแห่ง) จะไม่ใช่สถานที่ที่เป็นสังเวชนียสถานก็ตาม แต่ท่านอาจารย์ก็ได้อัญเชิญพระธรรมกลับไปสู่ประเทศอินเดีย เพื่อที่จะให้ชาวอินเดียได้มีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรม

ซึ่งสำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าชาวไทยโชคดีมากๆ เพราะว่าสื่อของมูลนิธิฯ ทุกวันนี้ แล้วก็สิ่งที่ทำให้ผู้คนในเมืองไทยได้เข้าใจพระธรรม มีมากมายมหาศาล ศึกษาตลอดชีวิตก็ไม่หมดเลย พระไตรปิฎก อรรถกถาภาษาไทยก็มีพร้อม สื่อของมูลนิธิฯ ก็มีพร้อม ท่านอาจารย์ก็อยู่ที่นี่ มีคณะอาจารย์ มศพ. มีทีมงาน มีทุกอย่าง ที่ทำให้ประเทศไทยสะดวกสบายมาก ในการที่ใครก็ตามที่สนใจพระธรรม ก็สามารถมาที่มูลนิธิฯ หรือจะรับสื่อออนไลน์ สามารถศึกษาเวลาไหนก็ได้

แต่สำหรับชาวอินเดีย โอกาสยาก ยากเหลือเกิน ยากจริงๆ และนี่ก็เหมือนกับการอัญเชิญพระธรรมกลับไปสู่แดนพุทธภูมิ ผมเห็นเลยว่า ท่านอาจารย์ท่านใส่ใจในความเข้าใจพระธรรมของชาวอินเดียมากๆ เพราะทุกที่ที่ท่านไป ท่านจะใช้เวลาอย่างคุ้มค่าที่สุด เพื่อที่จะให้ชาวอินเดียทุกคน ผมของใช้คำว่า ทุกคน เพราะว่า ใครก็ตามที่มีโอกาส ท่านอาจารย์ท่านจะให้อย่างดีที่สุด กับทุกคนที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรม

และการที่ท่านได้เกินเวลาไปในแต่ละที่ๆ เพราะท่านรู้ว่า เวลาที่คนอินเดียจะได้ยินได้ฟังพระธรรม น้อยมาก เมื่อเทียบกับคนไทยหรือชาวอื่นที่มีโอกาสได้ฟังแล้ว อย่างท่านอาจารย์ไปในแต่ละที่ บางที่แค่วันเดียว บางที่แค่สองวัน ที่คนเขาจะมีโอกาสได้ฟังซึ่งน้อย เพราะฉะนั้น การเกินเวลาของท่าน ท่านรู้ว่าพระธรรมตลอด ๔๕ พรรษา มากมายแค่ไหน ความเข้าใจพระธรรมยาก แล้วก็ลึกซึ้งขนาดไหน แต่เวลาแค่วันสองวัน จะพออะไรกับการทำให้คนอินเดียเข้าใจพระธรรมได้

แต่แม้โอกาสจะเล็กน้อยขนาดนั้น ท่านก็ทำอย่างเต็มที่ และท่านก็ดูแข็งแรงที่สุดในทริป เพราะเท่าที่มองไปทุกคนก็ดูอ่อนแรงกัน ไม่มีใครไม่เหนื่อยเลย แต่ท่านอาจารย์ไม่มีอาการเหนื่อยปรากฏให้เห็นเลย ท่านดูสบายๆ แล้วก็มีพลัง สามารถที่จะเกื้อกูลพระธรรมกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวอินเดีย ชาวไทย ชาวเวียดนาม หรือชาวอิตาลี ที่ร่วมเดินทางไปด้วย ท่านอาจารย์ก็พร้อมที่จะให้พระธรรมกับทุกคน

(ภาพภายในอาคาร Deekshabhoomi อนุสรณ์สถานของ พุทธศาสนานิกายนวยาน ที่ตั้งอยู่ใน เมือง Nagpur ในรัฐ มหาราษฏ ระ ใน อินเดีย)

เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ต่างๆ ที่ประมวลมา ก็ทำให้เห็นได้ว่า ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม แต่กุศลของท่านอาจารย์ที่พร้อมจะประดิษฐานพระธรรม ณ แดนพุทธภูมิ แล้วก็ให้ประโยชน์กับทุกคน เป็นสิ่งที่ประทับใจผมและทุกๆ ท่านที่ร่วมเดินทางไป ทำให้เห็นว่า พระรัตนตรัย คือพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะทำให้พวกเราเห็นว่ายังสามารถดำรงอยู่ ตราบเท่าที่ยังมีผู้ที่เข้าใจพระธรรม แล้วก็สามารถที่จะมีปัญญาเข้าถึง เริ่มรู้คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ ก็เป็นโอกาสที่หาได้ยากในสังสารวัฏ

ข้อความจากการ "สนทนาปัญหาธรรม" วันอังคารที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๖

ท่านอาจารย์ : ทุกคนก็คงจะเห็นจากการถ่ายทอดการที่เราเดินทางไปเผยแพร่พระธรรมที่อินเดีย จากการที่ได้มีผู้ที่เป็นชาวอินเดียเข้าใจพระธรรม เป็นโอกาสอย่างยิ่งที่เราจะให้มีการที่บูชาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการระลึกถึงคุณที่พระองค์ ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน และทรงแสดงธรรม จนกระทั่งมาถึงเรา ซึ่งสามารถที่จะเห็นพระคุณสูงสุด ของพระรัตนตรัย

(ภาพภายนอกอาคาร Deekshabhoomi อนุสรณ์สถานของ พุทธศาสนานิกายนวยาน ที่ตั้งอยู่ใน เมือง Nagpur ในรัฐ มหาราษฏ ระ ใน อินเดีย)

เพราะฉะนั้น ก็เป็นโอกาสที่ ถิ่นเดิมที่พระองค์ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน จะได้กลับมามีความเข้าใจที่ถูกต้อง ในธรรมที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี จนกระทั่งถึงการตรัสรู้ จนถึงปรินิพพาน เพื่อประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่อย่างยิ่ง

เพราะฉะนั้น คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เฉพาะเมืองไทย มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ต้องไม่ลืม ไม่ได้จำกัดว่าที่ใด เผยแพร่พระพุทธศาสนา ตามโอกาสที่สามารถจะเป็นไปได้ และจากการที่ทุกคนได้ร่วมมือกัน ตั้งแต่ได้เริ่มฟังธรรม เห็นประโยชน์ ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อที่จะให้คนอื่นได้เข้าใจด้วย

บัดนี้ ความสำเร็จ ที่จะกล่าวได้ว่า ยิ่งใหญ่มาก เพราะเหตุว่า ณ ประเทศที่พระองค์ได้ตรัสรู้ มีบุคคลที่สามารถที่จะเข้าใจพระธรรม ซึ่ง ณ กาลครั้งหนึ่ง พระองค์เสด็จดำเนินโปรดชาวเมืองนั้น และเขาก็รักษาสืบทอดมาถึงเรา จนกระทั่งจางหายไป แล้วเราก็ได้นำกลับไปสู่ถิ่นที่พระองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมจากพระโอษฐ์ด้วยพระองค์เอง

เท่าที่ได้เห็น จากการที่ได้ถ่ายทอด หลายคนก็รู้สึกปลาบปลื้มดีใจ ที่มีผู้ที่ได้เข้าใจพระธรรม โดยเฉพาะถิ่นเดิมที่ได้มีพระพุทธศาสนา ซึ่งถ้าถิ่นอื่นๆ มีหมด แต่ว่าถิ่นนี้ไม่มีก็เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่กำเนิดของพระธรรมอยู่ที่นั่นแล้วก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้

แต่ ณ บัดนี้ จากการที่ทุกคนมีศรัทธามั่นคง เพื่อประโยชน์ที่จะให้ทุกคนได้มีโอกาสได้เข้าใจพระธรรม ได้ทำสำเร็จแล้วที่ประเทศอินเดีย และ ณ บัดนี้ ก็เป็นข่าวดีอีก ที่ทางเนปาลต้องการที่จะให้มีมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาเนปาลด้วย

ขอขอบพระคุณภาพจากคุณนภา จันทรางศุ คุณบวรพรรณ อัชกุล และจากเฟสบุ๊คคุณฟองจันทร์ วอลช


ขอเชิญคลิกฟังการสนทนาที่กล่าวถึงการเดินทางในครั้งนี้ ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง :


ขอเชิญคลิกอ่านกระทู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง :

- แพทย์ชาวอินเดียเดินทางไกลกว่า ๓๐๐ กิโลเมตร เพื่อมาฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ ณ เมือง Aurangabad


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ไพรศรี
วันที่ 1 ม.ค. 2567

กราบอนุโมทนา สาธุครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
namarupa
วันที่ 1 ม.ค. 2567

กราบแทบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ด้วยความเคารพอย่างสูง ในความเมตตาอันหาที่สุดมิได้ และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านที่ได้เดินทางไปร่วมในทริปนี้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 1 ม.ค. 2567

กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ในกุศลทุกประการที่ท่านอาจารย์อุทิศแด่พระพุทธศาสนาตลอดมารวมถึงครั้งที่ยิ่งใหญ่ในคราวนี้ครับ

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาท่านอาจารย์วิทยากร ท่านสมาชิกบ้านธัมมะทุกๆ ท่านที่ร่วมกันเจริญกุศลกับท่านอาจารย์ ทำให้ภารกิจครั้งยิ่งใหญ่นี้บรรลุไปด้วยดีอย่างยิ่งครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณวันชัยที่จัดทำสรุปกิจกรรมเจริญกุศลในครั้งนี้ให้ได้อนุโมทนากันอย่างทั่วถึงเลยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
aurasa
วันที่ 1 ม.ค. 2567

ขอกราบอนุโมทนาในกุศลวิริยะของท่านอาจารย์สุจินต์อย่างยิ่งค่ะ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านวิทยากร ทีมงานทุกส่วน และสหายธรรมที่ได้ติดตามท่านอาจารย์ไปด้วย งดงาม ปลื้มปิติไปด้วยเลยค่ะ ที่ท่านอาจารย์ได้เริ่มหว่านเมล็ดธรรมในอินเดียสำเร็จแล้ว ขอความเป็นมงคลอันยิ่ง บังเกิดแด่ท่านอาจารย์และคณะทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 1 ม.ค. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบยินดีในกุศลของคณะอาจารย์ มศพ. และทุกๆ ท่านด้วยครับ
ขอบพระคุณและยินดีในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งามเป็นอย่างยิ่งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
มังกรทอง
วันที่ 1 ม.ค. 2567

ขอน้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ม.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Jans
วันที่ 7 ม.ค. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบยินดีในกุศลของคณะอาจารย์ มศพ. และทุกๆ ท่านด้วยค่ะ
และขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัย ภู่งามเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Jarunee.A
วันที่ 22 ก.พ. 2567

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ