นิพพาน เป็น อนัตตา?

 
mana.amo
วันที่  17 เม.ย. 2564
หมายเลข  34075
อ่าน  612

ผมอ่านในหนังสือพระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน หน้าที่ 18 และ 19 พบข้อความเขียนไว้ว่า "นิพพาน เป็น อนัตตา" ก็เลยเกิดความสงสัยว่าที่เขียนไว้แบบนี้จะขัดกับในพระสูตรหรือไม่ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในหลายพระสูตรว่า "สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา" ถ้าข้อความในหนังสือที่กล่าวว่า "นิพพาน เป็น อนัตตา" กล่าวถูกต้อง ก็แสดงว่า นิพพานเป็นทุกข์ หรอครับ ความเข้าใจของผมในปัจจุบันนี้ เข้าใจว่า "นิพพาน ไม่ใช่ทั้งอัตตา และไม่ใช่ทั้งอนัตตา" ขอท่านวิทยากรช่วยกรุณาให้ความกระจ่างในประเด็นดังกล่าวนี้ด้วย

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 18 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิก รูปและนิพพาน ซึ่งสภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมดนี้ ก็ไม่พ้นกฎธรรมชาติที่เป็นไป คือ เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรม สำหรับ จิต เจตสิก และรูป เป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง เกิดขึ้นและดับไป เป็นทุกข์ ทนอยู่ไมไ่ด้ และเป็นอนัตตาด้วย คือ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา และไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรม จึงเป็นอนัตตา เป็นของสูญ คือ สูญจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน

ส่วน พระนิพพานเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แน่นอนครับว่า นิพพานต้องเป็นพระนิพพานไม่เป็นอย่างอื่น คือ ไม่เป็น จิต เจตสิกและรูป แต่พระนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง คือ ไม่ใช่ จิต เจตสกิ และรูป จึงไม่เกิดขึ้น และดับไปเลย เป็นสภาพธรรมที่เที่ยง และเป็นสภาพธรรมที่เป็นสุขด้วย แต่ที่สำคัญ พระนิพพาน แม้จะเที่ยง เป็นสุข แต่พระนิพพานก็เป็นอนัตตาด้วย ไม่ใช่อัตตา เพราะพระนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่สูญ สูญในที่นี้ไม่ไ่ด้หมายความว่าไม่มีอะไรเลย แต่สูญ จากความเป็นสัตว์ บุคคล คือ ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์บุคคลให้ยึดถือในพระนิพพาน พระนิพพานจึงไม่ใช่สัตว์ บุคคล แต่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง และที่สำคัญ บังคับบัญชาไม่ได้ด้วยครับ จึงเป็นอนัตตา ตามที่กล่าวมา ไม่ใช่อัตตา ดังนั้น เรียก พระนิพพาน ว่า พระนิพพาน ได้ และพระนิพพานก็เป็นอนัตตาด้วย ซึ่งขอแสดงข้อความในพระไตรปิฎก ที่แสดงว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา และพระนิพพานก็เป็นอนัตตาด้วยครับ

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 305

บทว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ความว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นไป ในภูมิ ๔ ทั้งหมด เป็นอนัตตา

[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 172

อัสสาสะปัสสาสะ - ลมหายใจเข้าออก ย่อมตกแต่งกาย ฉะนั้น จึงชื่อว่า กายสังขาร สัญญาด้วย เวทนาด้วย ย่อมตกแต่งจิต ฉะนั้น จึงชื่อว่า จิตตสังขาร แต่ในที่นี้ท่านประสงค์เอา สังขตสังขาร ชื่อว่า อนิจจา - ไม่เที่ยง เพราะอรรถว่า มีแล้วกลับไม่มี ชื่อว่า ทุกขา - เป็นทุกข์ เพราะอรรถว่า เบียดเบียน คำว่า สพฺเพ ธมฺมา - ธรรมทั้งปวง ท่านกล่าวรวมเอาพระนิพพานเข้าไว้ด้วย ชื่อว่า อนัตตา เพราะอรรถว่า ไม่เป็นไปในอำนาจ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ....

พระนิพพาน

ธรรมชาติพระนิพพาน [ตติยนิพพานสูตร]

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
lokiya
วันที่ 18 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 18 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 18 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเป็นจริงของสภาพธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น เมื่อกล่าวแล้ว ธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น มี ๔ ประเภท ที่เรียกว่า ปรมัตถธรรม ๔ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป และ พระนิพพาน จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เจตสิกก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต รูป เป็นธรรมที่มีจริงแต่ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ เกิดตามสมุฏฐานของตนๆ แล้วก็ดับไป

ปรมัตถธรรม ๓ ประการแรก เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย และมีจริงๆ ในชีวิตประจำวันเกิดแล้วดับ ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ส่วน พระนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ แต่มีจริงๆ มีลักษณะที่สงบ เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับสภาพธรรมที่เกิดดับโดยประการทั้งปวง พระนิพพาน เที่ยง เพราะปราศจากการเกิดดับ เป็นสุข เพราะปราศจากทุกข์ ปราศจากกิเลส ปราศจากสังขารธรรมทั้งหลาย แต่พระนิพพาน ก็เป็นอนัตตา เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ไม่มีสภาพธรรมใดๆ ที่อยู่เหนือความเป็นอนัตตาได้เลย พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงตรัสพระพุทธพจน์ ว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนัตตา (สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา) ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
mana.amo
วันที่ 18 เม.ย. 2564

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในหลายพระสูตรว่า "สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา" ผมยังเห็นว่าสิ่งที่ท่านวิทยากรอธิบายยังไม่เคลียร์และตรงประเด็นกับคำถามที่ถามครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
mana.amo
วันที่ 18 เม.ย. 2564

รวมถึงที่ท่านวิทยากรอธิบายว่านิพพานเป็นสุขนั้น ผมก็ไม่เคยเห็นพระสูตรใดกล่าวเช่นนั้นเลย เกรงว่าจะเป็นการตีความที่ความเคลื่อนจากพระพุทธพจน์ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 18 เม.ย. 2564

เรียน ความคิดเห็นที่ 5 และ 6

ข้อความที่ว่า "สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา" นั้น
มุ่งอธิบาย ความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นสังขารธรรม ไม่ใช่อธิบายพระนิพพาน เพราะเหตุว่า พระนิพพาน ไม่เกิดไม่ดับ แต่พระนิพพาน ก็เป็นอนัตตา ด้วย ดังข้อความใน [เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๗๒

คำว่า สพฺเพ ธมฺมา - ธรรมทั้งปวง ท่านกล่าวรวมเอาพระนิพพานเข้าไว้ด้วย. ชื่อว่า อนัตตา เพราะอรรถว่า ไม่เป็นไปในอำนาจ


ส่วน ความเป็นจริงของพระนิพพาน ซึ่งเป็นสุข อ้างอิงจาก [เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ หน้า ๓๗๒ ดังนี้

สองบทว่า สนฺติปรํ สุขํ ความว่า แม้สุขอื่นยิ่งกว่าพระนิพพานย่อมไม่มี. อธิบายว่า ความจริง สุขอย่างอื่นก็เป็นสุขเหมือนกัน แต่พระนิพพาน เป็นบรมสุข (เป็นสุขอย่างยิ่ง)

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
mana.amo
วันที่ 18 เม.ย. 2564

เท่าที่ผมศึกษามา คำพูดของพระพุทธองค์ทั้งหมดนับตั้งแต่วันตรัสรู้ ต้องสอดรับไม่ขัดแย้งกัน ที่ท่านวิทยากรอธิบายว่านิพพานเป็นอนัตตาอาจจะขัดแย้งกับพระพุทธพจน์ (พุทธวจน) "สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา" ผมพยายามตั้งสติระลึกอยู่เสมอว่า คำพูดของพระพุทธองค์จะขัดแย้งกันไม่ได้ (ที่อาจจะขัดแย้งกับคำพูดของพระพุทธองค์ได้ก็มีเพียงกรณีเดียวเท่านั้นคือ สาวกภาษิต ซึ่งผมจะไม่สนใจศึกษาเล่าเรียนโดยเด็ดขาด) จึงเรียนมาเพื่อขอความกระจ่างในประเด็นดังกล่าวนี้ด้วยครับ ขอบคุณครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 18 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก 

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Dusita
วันที่ 18 เม.ย. 2564

กราบ อนุโมทนา ค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Selaruck
วันที่ 18 เม.ย. 2564

กราบขอบคุณและอนุโมทนายิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
mana.amo
วันที่ 20 เม.ย. 2564

พระไตรปิฎก (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๓๙๕-๓๙๖ ข้อที่ ๓๗๒ 

๖. นิพพานสูตร

[๓๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นนิพพานโดยความเป็นทุกข์ จักเป็นผู้ประกอบด้วยขันติที่สมควร ข้อนั้นย่อมไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ เธอไม่ประกอบด้วยขันติที่สมควรแล้ว จักก้าวลงสู่ความเป็นชอบและความแน่นอนข้อนั้นย่อมไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ เมื่อไม่ก้าวลงสู่ความเป็นชอบและความแน่นอนจักกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรือ อรหัตผลข้อนั้นย่อมไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นนิพพานโดยความเป็นสุข จักเป็นผู้ประกอบด้วยขันติที่สมควร ข้อนั้นย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ เธอประกอบด้วยขันติที่สมควรแล้ว จักก้าวลงสู่ความเป็นชอบและความแน่นอน ข้อนั้นย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ เมื่อก้าวลงสู่ความเป็นชอบและความแน่นอน จักกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรือ อรหัตผล

ข้อนั้นย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ

             จบสูตรที่ ๖

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
paderm
วันที่ 20 เม.ย. 2564

เรียนความเห็นที่ 8 และ 12 ครับ เชิญคลิกอ่านกระทู้นี้ครับ

ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา และพระนิพพานก็เป็นอนัตตาด้วย?

ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ