พระรับเงินได้หรือไม่ในปัจจุบัน

 
เจริญในธรรม
วันที่  1 พ.ค. 2556
หมายเลข  22836
อ่าน  20,008

ผมสับสนครับ

พระบางรูปบอกว่ารับได้โดยอ้างมหาประเทศ 4 (เป็นสูตรว่าด้วยเรื่องกาลเวลาที่เปลี่ยนไป) พระบางรูปบอกว่ารับไม่ได้ก็อ้างมหาประเทศ 4 ตกลงอันไหนถูกกันแน่ ผมก็ตีความยากเหมือนกัน ตกลงพระท่านตีความผิดหรือเปล่าครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 1 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มหาปเทศ ๔ เป็นหลัก ข้ออ้างใหญ่ ซึ่งมีทั้งพระสูตร พระวินัย แต่หลักมหาปเทส ๔ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้นั้น หลักนั้น แม้เวลาจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งของ หรือ ของใช้พระภิกษุ บริขาร ปัจจัยที่จำเป็นจะต้องไม่ใช่ของที่ไม่สมควร คือ เป็นอกัปปิยะกับพระภิกษุด้วย เพราะฉะนั้น เงินและทอง ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน อย่างไรก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรกับพระภิกษุ และ พระพุทธเจ้าก็ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์สำหรับพระภิกษุที่รับและยินดีในเงินทอง ครับ

ดังนั้น การเอาหลักมหาปเทศ ๔ มาอ้าง แต่ขัดกับหลักพระธรรมวินัย ย่อมไม่สมควรโดยประการทั้งปวง เพศบรรพชิตเป็นเพศที่ขัดเกลา ดังนั้น การกระทำก็ต้องไม่ใช่ดังเพศคฤหัสถ์ มีการรับหรือใช้เงินทอง เป็นต้น ครับ

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

มหาปเทส ๔ คืออะไร

มหาประเทศ ๔ [มหาปเทสสูตร]

ถ้าบวชเป็นพระภิกษุแล้ว สมควรรับเงินหรือไม่ครับ

เหตุใดจึงมีพระวินัยบัญญัติไม่ให้พระรับเงินทอง

ภิกษุต้องอาบัติ ถ้าไม่ปลงต้องตกนรกหรือไม่

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 1 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อการกำจัดกิเลสที่แต่ละบุคคลได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ แต่ถ้าไม่ได้ศึกษา ไม่ได้เข้าใจถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัยแล้ว โอกาสที่จะกระทำผิดก็ย่อมจะมีได้ หรือในอีกกรณีหนึ่ง คือ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงตามพระธรรมวินัย แต่ก็มีเจตนาที่จะล่วงละเมิดสิกขาบทนั้นๆ เพราะกำลังของกิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ความไม่ละอาย ความไม่เกรงกลัวต่ออกุศล นั่นเอง

สำหรับเงินและทองนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควรแก่เพศพระภิกษุโดยประการทั้งปวง เป็นเครื่องเศร้าหมองของบรรพชิตจริงๆ ทำให้เกิดความติดข้อง เป็นห่วงกังวล และไม่ต่างอะไรกับคฤหัสถ์ เพราะพระภิกษุรับเงินและทองไม่ได้ เป็นอาบัติ ไม่มีข้ออ้างหรือข้อยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น ชีวิตพระภิกษุเป็นชีวิตที่ขัดเกลาเป็นอย่างยิ่ง เงินทองไม่จำเป็นสำหรับพระภิกษุ พระภิกษุผู้ที่ไม่ละอาย ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรมวินัย ก็มีการล่วงสิกขาบทต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ การรับเงินรับทอง

การรับเงินรับทองเป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ การที่จะแสดงอาบัติข้อนี้ให้ตนเองเป็นผู้พ้นจากอาบัติได้ ต้องมีการสละให้ถูกต้องตามพระวินัยเสียก่อน แล้วจึงจะแสดงอาบัติตก แต่ถ้าไม่ทำการสละเลย แล้วแสดงอาบัติ ก็ไม่พ้นจากอาบัติ เป็นผู้มีอาบัติติดตัว เป็นอันตรายมากในเพศบรรพชิต เพศบรรพชิตต้องเคารพพระธรรมวินัย ถ้าต้องการเงิน ต้องการใช้เงิน ไม่ต้องบวช เพราะจุดประสงค์ที่แท้จริงในการบวชก็เพื่อขัดเกลากิเลสเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อเพิ่มกิเลส ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 1 พ.ค. 2556

ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ว่า รูป เสียง กลิ่น รส เงิน และ ทอง ควรแก่คฤหัสถ์ ถ้าบรรพชิตยินดี ก็ไม่ต่างจากคฤหัสถ์ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nopwong
วันที่ 2 พ.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
daris
วันที่ 2 พ.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผิน
วันที่ 2 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 3 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
j.jim
วันที่ 4 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
prumvuthyv
วันที่ 20 พ.ค. 2556

บวชเพื่ออะไร?

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pheejad
วันที่ 2 มิ.ย. 2556

กรณีที่เราบริจาคเงินให้พระภิกษุ แต่เราทราบว่าพระภิกษุท่านนั้นจะนำเงินไปใช้เพื่อทำบุญต่อ เช่น นำไปสร้างทางเข้าวัด สร้างวิหาร ทอดผ้าป่า พาภิกษุท่านอื่นไปพบแพทย์ กรณีอย่างนี้บาปมั้ยครับ! ทั้งเราและทั้งพระภิกษุที่รับ

ถ้าเราจะใช้วิธีฝากเงินไว้กับอุบาสกที่ใกล้ชิดท่านไว้ แล้วท่านต้องการใช้เงินทำอะไร ก็ให้เบิกจากอุบาสกคนนั้น จะผิดมั้ยครับ หรือควรให้บอกอุบาสกคนนั้น ไปบริจาคเพื่อเรื่องนั้นๆ เอง

ขอขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
pheejad
วันที่ 4 มิ.ย. 2556

ขอความกรุณาช่วยตอบคำถามด้านบนด้วยครับ!

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
พอแล้ว
วันที่ 4 มิ.ย. 2556

พระรับเงินได้ ถ้าเอาไปเลี้ยงแม่ หรือเวลาบิณฑบาต ถ้าใครไส่เงิน ก็ให้เขียนว่าเอาไปบริจาคให้วัด น่าจะได้

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
เซจาน้อย
วันที่ 4 มิ.ย. 2556

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
khampan.a
วันที่ 7 มิ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ ๑๐ ครับ พระภิกษุจะรับเงิน ด้วยจุดประสงค์ใด รับเพื่อตนเอง หรือ รับเพื่อสิ่งอื่น อย่างที่ปรากฏในคำถาม เช่น เอาไปสร้างทางเข้าวัด สร้างวิหาร เป็นต้น ก็เป็นอาบัติ ไม่พ้นจากอาบัติเลย เพราะการสร้างสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ควรเป็นศรัทธาของคฤหัสถ์ สำหรับคฤหัสถ์ผู้ถวายเงินแก่พระ ไม่ได้เป็นบาป ไม่ได้เป็นอกุศลกรรมแต่อย่างใด แต่การกระทำดังกล่าว เป็นเหตุให้พระภิกษุท่านต้องอาบัติ ครับ เพราะฉะนั้นแล้ว เมื่อรู้ว่าสิ่งใด เป็นสิ่งที่ผิด ก็ไม่ควรกระทำสิ่งนั้นต่อไป ควรกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง เท่านั้น

จากประเด็นที่ว่า ถ้าเราจะใช้วิธีฝากเงินไว้กับอุบาสกที่ใกล้ชิดท่านไว้ แล้วท่านต้องการใช้เงินทำอะไร ก็ให้เบิกจากอุบาสกคนนั้น จะผิดมั้ยครับ หรือควรให้บอกอุบาสกคนนั้น ไปบริจาคเพื่อเรื่องนั้นๆ เอง

ควรที่จะได้พิจารณาว่า การมอบเงินไว้กับคฤหัสถ์ เป็นสิ่งที่ถูก เพื่อประโยชน์ในการแปรเป็นวัตถุสิ่งของที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต แต่ไม่ได้หมายความว่า ให้พระภิกษุมาเบิกเงินจากคฤหัสถ์ผู้ที่รับเงินไว้ ถ้าพระภิกษุมาเบิก ก็เท่ากับเป็นการรับเงินรับทอง ไม่พ้นจากการต้องอาบัติอยู่ดี ทางที่ดี ก็ควรจะเป็นกิจหน้าที่ของคฤหัสถ์โดยตรง ในการใช้จ่ายในกิจนั้นๆ โดยไม่ต้องผ่านพระภิกษุ เพราะพระภิกษุในพระพุทธศาสนาจริงๆ จะต้องไม่ยุ่งเกียวกับเงินทองเลยโดยประการทั้งปวง ครับ

เรียน ความคิดเห็นที่ ๑๒ ครับ

การรับเงิน จะรับเพื่อจุดประสงค์ใด สำหรับพระภิกษุแล้ว ก็เป็นอาบัติ ที่ถูกแล้ว เวลาที่มีโยมจะมาถวายเงิน จะเป็นในช่วงใดก็ตาม ควรจะแนะนำในสิ่งที่ถูกว่า ไม่ควรถวายเงินแก่พระภิกษุ เพราะพระภิกษุรับเงินไม่ได้ ส่วนจะไปเจริญกุศลอย่างอื่นอย่างใด ก็ตามอัธยาศัยของผู้ทีเป็นคฤหัสถ์ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
pheejad
วันที่ 7 มิ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 27 ก.พ. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
thongkhun1937
วันที่ 15 เม.ย. 2562

คิดจะบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาต้องรู้พระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่ามีอะไรบ้าง ต้องโอนบ้านที่ดินเงินทองให้ญาติของตนก่อนบวช บอกญาติให้เตรียมเงิน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่ารถ ค่ารักษายามป่วยเป็นรายเดือน ด้วยจ้า พระมีเงินฝากธนาคารไม่ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
สิริพรรณ
วันที่ 16 เม.ย. 2562

ขอถวายความนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระธรรม และพระอริยสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า

จะรู้สึกอย่างไร ถ้าได้ยินผู้ที่บวชนานจนถึงวัยชรา กล่าวถึงความรู้สึกว่า ชีวิตหมดเวลาไปกับการหาปัจจัย สร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในวัด หรือแม้กิจการอื่นๆ เช่น การเรียนของนักเรียนประถม มัธยม ที่อยู่ในเขตของวัด ทั้้งที่ควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนตนเองไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงในส่วนละเอียด คือ พระอภิธรรม ที่แสดงความจริงของสภาพธรรมที่เป็นกุศล อกุศล และที่ไม่ใช่อกุศลและไม่ใช่อกุศล (ทั้งที่บทสวดพระอภิธรรมในงานศพแก่ญาตโยมเป็นประจำ ก็เป็นการกล่าวถึงสภาพธรรม และเหตุปัจจัย ที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ในบทสวดดังกล่าวทั้งสิ้น) และเวลาที่เหลืออยู่ก็ไม่ทันที่จะเริ่มศึกษาพระธรรมเสียแล้ว.... น่าห็นใจหรือไม่

พิจารณาจริงๆ แล้ว จะเห็นว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ ต่างๆ ที่ได้รับระหว่างการบวช จากการทำกิจต่างๆ ที่ไม่ใช่ของสงฆ์นั้น แม้มากเพียงใด สุดท้ายก็นำไปไม่ได้เลย แต่กลับยิ่งเป็นโทษเพราะทำให้ใจไม่สงบเพราะความกังวล

พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนพระภิกษุ ในหลายพระสูตรที่ปรากฏในพระไตรปิฏก

ขอยกข้อความส่วนหนึ่งจากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต โลกวิปัตติสูตร ...

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เขาไม่ตระหนักชัด ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ลาภนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าลาภนั้นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความเสื่อมลาภ ... ยศ ... ความเสื่อมยศ ... นินทา ... สรรเสริญ ... สุข ... ทุกข์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เขาไม่ตระหนักชัด ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ทุกข์นี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าทุกข์นั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แม้ลาภย่อมครอบงำจิตของเขาได้ แม้ความเสื่อมลาภ ... แม้ยศ ... แม้ความเสื่อมยศ ... แม้นินทา ... แม้สรรเสริญ ... แม้สุข ... แม้ทุกข์ ย่อมครอบงำจิตของเขาได้ เขาย่อมยินดีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในความเสื่อมลาภ ย่อมยินดียศที่เกิดขึ้น ย่อมยินร้ายในความเสื่อมยศ ย่อมยินดีสรรเสริญที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในนินทา ย่อมยินดีสุขที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในทุกข์ เขาประกอบด้วยความยินดียินร้ายอย่างนี้ ย่อมไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่พ้นไปจากทุกข์ ฯ....

ดังนั้น การที่ได้บวชเป็นพระภิกษุ ได้ครองผ้ากาสาวพัตร์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายของเพศที่สูงกว่าเพศคฤหัสถ์ อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ ที่หมายถึงผู้ดับกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว ก็ควรอย่างยิ่งที่จะต้องระลึกถึงผ้าที่ครองกายอยู่เสมอ

ซึ่งเมื่อเริ่มแรกของการบวขยังเป็นปุถุชนอยู่ ยังเป็นเพียงสมมติสงฆ์ ตราบที่ยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาดับกิเลสไปตามลำดับขั้น ที่จะบรรลุความเป็นอริยสงฆ์ตามลำดับของอริยบุคคล ๔ จำพวกได้ ก็ต้องมีความตั้งใจ อย่างมั่นคง ที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ รู้อัธยาศัยว่า ตนเองจะสามารถสละทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งอาคารบ้านเรือน ญาติ พี่น้อง สมบัติที่เคยมีทั้งปวง เพื่อเข้าสู่เพศบรรพชิต ด้วยเห็นประโยชน์สูงสุดคือ ด้วยการอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริสัจจธรรม จนถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ จนขั้นสูงสุด คือความเป็นพระอรหันต์ ที่หมดจด บริสุทธิ์จากกิเลส ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด รับทุกข์ทั้งปวงอีกต่อไป

พระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติด้วยพระมหากรุณาเป็นอย่างยิ่ง เพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลให้ผู้ที่เห็นโทษของกิเลส และเข้ามาบวชได้ขัดเกลาความประพฤติทางกาย วาจา ที่จะเป็นไปเพื่อการศึกษาพระธรรมในส่วนละเอียด เพื่อขัดเกลาความไม่รู้และกิเลสตัณหามากมายที่สะสมในจิตไว้นานแสนนานในทุกภพชาติที่เกิดมาแล้ว ทรงแสดงหนทางไว้อย่างครบถ้วนในพระไตรปิฏก การบวชเพียงรูปกาย แต่ใจยังไม่สละ ย่อมทำให้เกิดความกังวล ในลาภยศ สรรเสริญ สักการะต่างๆ ก็จะไม่มีโอกาศได้ขัดเกลากิเลสให้เบาบาง มีแต่จะเพิ่มกิเลสมากขึ้น และเป็นหนทางไปสู่ทุจริตกรรมได้ ทั้งกาย วาจา และแม้ใจก็เศร้าหมองด้วยกิเลสที่กลุ้มรุมตลอดเวลา เมื่อสิ้นชีพ ก็มีทุคติเป็นที่ไป ซึ่งปรากฏตัวอย่างในไตรปิฏกมากมาย ดังนั้น ก่อนที่จะบวช และทั้งที่บวชแล้ว จึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาพระธรรมวินัยโดยละเอียด ถ้ายังไม่พร้อมจะสละ ก็ศึกษาพระธรรม ขัดเกลากิเลสในเพศฆาราวาสได้ ครั้งพุทธกาลก็มีมากมายที่ท่านรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แม้เป็นผู้ครองเรือน ทำงานอาชีพต่างๆ

ผู้ที่บวชและประพฤติตามพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด ศึกษาคำสอนจากพระพุทธองค์ในครั้งพุทธกาล ล้วนได้รับผลสำเร็จ คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม มีจำนวนมากมาย ท่านเหล่านั้นเป็นอริยสงฆ์สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เป็น ๑ ในพระรัตนตรัย ที่ควรสักการะบูชา

แต่ไม่ว่าสมัยใดๆ ก็ตาม หากไม่เป็นไปตามนี้ ก็ยังไม่ใช่พระอริยสงฆ์สาวก ไม่ใช่องค์ของรัตนตรัย ยังเป็นผู้ที่ต้องศึกษาพระธรรม แต่ยิ่งหากไม่ศึกษา ก็ไม่ได้ขัดเกลาจิตใจ จึงประพฤติผิด ไม่ตรงตามพระธรรมวินัย ก็เป็นแต่เพียงบุรุษที่ครองผ้าเพียงกายเท่านั้น ซึ่งมีโทษต่อตนเองอย่างยิ่ง และเป็นการทำลายพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาอีกด้วย

การได้ศึกษาพระธรรม ทำให้ได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ และเป็นความรู้ที่มีค่า ประเสริฐที่สุด เพราะนำไปสู่หนทางที่ปลอดภัย คือ ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องตายในที่สุด เมื่อกิเลสหมดสิ้นแล้ว
อย่าปล่อยโอกาสเช่นนั้นเลย

สนใจศึกษาเพิ่มเติมที่ลิงค์นี้ โดยคลิ๊ก..
.
พระบัญญัติเกี่ยวกับเงินและทอง [มหาวิภังค์]

ภิกษุรับเงินและทองเหตุใดจึงไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย

พระภิกษุรับเงินอาบัติไหม

เงินค่าผาติกรรมเป็นเงินวัดพระนำเข้าบัญชีส่วนตัวผิดไหม?

ภิกษุในธรรมวินัย

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
pornchai.s
วันที่ 20 พ.ค. 2563

ไม่เห็นโทษในการล่วงพระวินัย+ไม่ยอมสึก ถ้าตายในเพศภิกษุมีโอกาสไปอบายภูมิหรือตกนรกสูงมาก (ตามพุทธพจน์)

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ