รบกวนถามอาจารย์ ครับ

 
peeraphon
วันที่  29 ส.ค. 2555
หมายเลข  21631
อ่าน  1,175

เรียนท่านอาจารย์

มีคำถาม ๓ ข้อ ครับ

วันนี้ได้ฟังตอนหนึ่งที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บรรยายเรื่อง "ปัจจัย" ได้ความตอนหนึ่ง

ว่าอารัมมณปัจจัย และ อารัมมณาธิปติปัจจัย

จึงขอพิมพ์เพื่อเทียบเคียงสิ่งที่เข้าใจครับ.

เนื่องจากตอนหนึ่งมีผู้ถามเกี่ยวกับ การที่ รูป เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย หรือไม่ กับ กุศลจิต และท่านอาจารย์ได้บรรยายตอบ.

ตามความเข้าใจผม คือ การที่รูปไม่ใช่ อารัมมณาธิปติปัจจัย กับ กุศลจิต เพราะว่า หากจิตเป็นกุศลขณะนั้น คือ เพิกรูป คือสามารถที่จะละได้ ดังนั้น รูปไม่ใช่ อารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต แต่รูป เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย กับ โลภมูลจิต เพราะ รูป เป็นอารมณ์ที่เป็นใหญ่ และเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความติดข้องต้องการ. แต่สิ่งที่สงสัยคือ

ตัวอย่าง อย่างเช่น

อกุศลจิต สามารถเป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย กับ กุศลจิต ได้หรือไม่ครับ?

อย่างเช่น หากว่าในขณะนั้น เป็น โทสมูลจิต สติระลึก หลังจาก ลักษณะของโทสะปรากฏ. ขณะนั้น เข้าใจว่า ควรจะเป็น กุศลจิต ที่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก และ สติเจตสิก เลยสงสัยครับ หากว่า ในทางกลับกัน ยังพอเข้าใจได้ เพราะ กุศลจิต ไม่สามารถเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย กับ อกุศลจิต ได้เลย เพราะเข้าใจว่า กุศลจิต ไม่น่าที่จะเป็นปัจจัย ให้ อกุศลจิตเกิดครับ


ภวังคุปัจเฉทะ และ มโนทวาร

เมื่อจุติจิตเกิด เป็น ปัจจัย ให้แก่ ปฏิสนธิจิตเกิด หลังจากปฏิสนธิจิตดับไป ขณะนั้น เป็นภวังคจิตเกิดขึ้นหลายวาระ และ จิตแรกที่รู้อารมณ์ของโลก คือ มโนทวารจิต ซึ่งมี ภวังค์ดวงสุดท้ายเป็นทวาร. ตรงนี้ยังพอเข้าใจได้ แต่ เมื่อฟังเรื่องของ ทวารอื่นๆ เช่น โสตทวาร จักขุทวาร ฆานทวาร แต่ทำไม เมื่อจิตเกิดทางมโนทวารแล้ว ทั้งๆ ที่มีหทัยวัตถุ ก็ยังใช้คำว่า ภวังคุปัจเฉทะ เป็นทวารอีกครับ? ทำไมไม่ใช้คำว่า หทัยทวาร ครับ?


การรู้ลักษณะของ ภวังคจิต

จากความเข้าใจในเรื่องของ ภวังคจิต.

ภวังคจิต รู้อารมณ์เดียวกับ ปฏิสนธิจิต ในขณะที่นอนหลับสนิท ขณะนั้น มีภวังคจิตเกิดขึ้นหลายวาระ จนกว่าจะมี วิบากจิต เกิดขึ้นทางทวารหนึ่งทวารใด (เสียงกระทบจิตได้ยิน, รูปกระทบจิตเห็น ฯลฯ) หรือมีจิตนึกคิด คือฝัน ขณะนั้น ไม่มีภวังคจิต

จริงอยู่ว่า ขณะที่ ภวังคจิตเกิด จิตอื่นๆ ก็ไม่เกิด และก็ไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้ โลกไม่ปรากฏเลย อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เป็นใครก็ไม่รู้. แต่ว่า เราสามารถรู้ลักษณะของ ภวังคจิต ได้หรือไม่ครับ? เนื่องจากขณะนอนหลับตอนกลางคืน ก่อนหลับ ก็ฟัง ท่านอาจารย์สุจินต์ บรรยาย ซักพักหนึ่ง ก็ไม่ได้ยิน และ ซักพักก็ได้ยินอีก และก็รู้ว่าลักษณะที่เสียงไม่ปรากฏ ณ ขณะนั้น และไม่รู้สึกตัว และมารู้สึกตัว หลังจากเสียงกระทบจิตได้ยิน เนื่องจาก ภวังคจิต กำลังทำกิจอย่างนี้ ใช่การรู้ลักษณะของ ภวังคจิตหรือไม่ครับ?


มีคนรู้จักหลายคนเป็น คนพม่า ครับ. ไม่ทราบว่าพอมีเทปบรรยายธรรมะ เป็นภาษาพม่าบ้างหรือไม่ครับ?

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อารัมมณาธิปติปัจจัย เป็นปัจจัย โดยอารมณ์นั้น เป็นอารมณ์ที่ไม่ทอดทิ้ง มีกำลัง ไม่ใช่เพียงอารมณ์ธรรมดาๆ แต่ต้องเป็นอารมณ์ที่หนักแน่น ที่ควรได้ ไม่ควรทอดทิ้ง หรือว่า ไม่ควรดูหมิ่นด้วยอำนาจความเคารพยำเกรง หรือด้วยอำนาจความปรารถนา

ดังนั้น สภาพธรรมใดที่เป็นอารมณ์ และ ไม่สามารถทอดทิ้งได้ มีกำลัง เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย แต่ไม่ได้หมายถึง การละได้ เช่น ละ การเพิกถอนรูปได้ จะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ครับ

ซึ่ง อารัมมณาธิปติปัจจัย มี ๗ นัยดังนี้ ครับ

๑. กุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล

๒. กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล

๓. กุศลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ

๔. อกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล

๕. อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ

๖. อพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุศล

๗. อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อกุศล

ซึ่งที่ผู้ถามกล่าวไว้ว่า

รูป ไม่ใช่ อารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต. แต่รูปเป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย กับ โลภมูลจิต เพราะ รูปเป็นอารมณ์ที่เป็นใหญ่ และเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความติดข้องต้องการ

เหตุผล คือ อารัมมณาธิปติปัจจัย หมายถึง อารมณ์ที่ไม่สามารถทอดทิ้ง มีกำลัง ดังนั้น รูปใดที่ไม่ทอดทิ้ง มีกำลังมาก ของจิตนั้น ไม่ใช่จิตที่เป็นกุศล เพราะ กุศลจิตไม่ได้ต้องไม่ทอดทิ้งรูป คือ ไม่ได้มีรูปเป็นอารมณ์ที่มีกำลัง ที่จะปรารถนาในอารมณ์คือรูปนั้น แต่ รูป เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของอกุศลจิต มีโลภะ เป็นต้น เพราะปรารถนา ไม่ทอดทิ้งไปในอารมณ์นั้น อย่างมีกำลัง ไม่ใช่เพียงเป็นอารมณ์เท่านั้น

เช่น เห็นรูปสวยๆ มากๆ และยินดีพอใจ ในอารมณ์นั้น เป็นต้น คือ ไม่ทอดทิ้ง ปรารถนาในอารมณ์นั้น ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 30 ส.ค. 2555

กลับมาสู่คำถามที่ว่า

อกุศลจิต สามารถเป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย กับ กุศลจิต ได้หรือไม่ครับ? อย่างเช่น หากว่าในขณะนั้น เป็น โทสมูลจิต สติระลึก หลังจาก ลักษณะของโทสะปรากฏ. ขณะนั้น เข้าใจว่าควรจะเป็น กุศลจิต ที่ประกอบด้วย ปัญญาเจตสิกและสติเจตสิก เลยสงสัยครับ

หากว่า ในทางกลับกันยังพอเข้าใจได้ เพราะ กุศลจิต ไม่สามารถเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย กับ อกุศลจิต ได้เลย เพราะเข้าใจว่า กุศลจิต ไม่น่าที่จะเป็นปัจจัย ให้อกุศลจิตเกิดครับ


- กุศลจิต เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลจิตได้

ดังนั้น กุศลจิต เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัยของอกุศลจิตได้ เช่น โลภะ ติดข้องได้ทุกอย่าง ยกเว้น โลกุตตระ และ แม้กุศลจิตที่เกิดขึ้น เช่น การให้ทาน แล้วเกิดโลภะ ติดข้อง ในผลของทานที่มีกำลัง ไม่ปล่อยทิ้งไปในกุศลจิตที่เกิด ครับ

แต่อกุศลจิต ไม่เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย ของกุศลจิต แต่เป็นเพียง อารัมมณปัจจัยเท่านั้น อันนี้ต้องเข้าใจครับว่า อารัมมณาธิปติปัจจัย ไม่ได้หมายถึง การละได้ แต่ หมายถึง อารมณ์ที่มีกำลัง ไม่ทอดทิ้งไป ดังนั้น อกุศลจิตเป็นเพียงอารมณ์ให้สติปัฏฐาน คือ กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เกิดรู้ลักษณะเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นอารมณ์ที่จะปล่อย ไม่ทอดทิ้งไป ครับ เพราะ กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เกิดขึ้นเพียงรู้ลักษณะเท่านั้น ครับ

เชิญคลิกอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ เพิ่มเติมที่นี่ครับ

อารัมมณาธิปติปัจจัย [๑]

อารัมมณาธิปติปัจจัย [๒] อารัมมณาธิปติปัจจัยต่างกับอารัมมณปัจจัย

อารัมมณาธิปติปัจจัย [๔] ว่าโดยนัยของอิทธิบาท ๔ และ รูปขันธ์

อารัมมณาธิปติปัจจัย [๕] ว่าโดยนัยของอิทธิบาท ๔ และ รูปขันธ์

เชิญคลิกฟังคำบรรยายจากท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ครับ

อารัมมณปัจจัย กับ อารัมมณาธิปติปัจจัย

อารัมมณาธิปติปัจจัย

รูปเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแก่โลภะ

ทบทวนอารัมมณาธิปติปัจจัยมีอยู่กี่ชนิด

กุศลเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภะได้

กุศล - อกุศล กับ อารัมมณาธิปติปัจจัย

รูปขันธ์ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต

ทบทวนปัจจัย - อธิปติปัจจัย - อารัมมณาธิปติปัจจัย

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 30 ส.ค. 2555

จากคำถามที่ว่า

ภวังคุปัจเฉทะ และ มโนทวาร

เมื่อจุติจิตเกิด เป็น ปัจจัย ให้แก่ ปฏิสนธิจิตเกิด หลังจากปฏิสนธิจิตดับไป ขณะนั้นเป็นภวังคจิต เกิดขึ้นหลายวาระ และจิตแรกที่รู้อารมณ์ของโลก คือ มโนทวารจิต ซึ่งมี ภวังค์ดวงสุดท้ายเป็นทวาร. ตรงนี้ยังพอเข้าใจได้ แต่ เมื่อฟังเรื่องของ ทวารอื่นๆ เช่น โสตทวาร จักขุทวาร ฆานนะทวาร แต่ทำไม เมื่อจิตเกิดทางมโนทวารแล้ว ทั้งๆ ที่มีหทัยวัตถุ ก็ยังใช้คำว่า ภวังคุปัจเฉทะ เป็นทวารอีกครับ? ทำไมไม่ใช้คำว่า หทัยทวาร ครับ?


- ควรแยกระหว่าง ทวาร กับ วัตถุครับ ว่าต่างกัน

วัตถุ ๖ หมายถึง ที่เกิดของจิต ซึ่ง มี รูป ๖ รูป อย่าง ปสาทรูป ๕ เป็นที่เกิดของจิต ๑๐ ดวง คือ ทวิปัญจวิญญาณจิต ส่วน หทยรูป เป็นที่เกิดของจิตอื่นๆ ทั้งหมด เรียกว่า หทยวัตถุ ครับ

ส่วนคำว่า ทวาร คือ ทางให้เกิดวิถีจิต เกิดขึ้นรู้อารมณ์ ซึ่ง มี ๖ ทวาร เป็น รูป ๕ คือ ปสาทรูป ๕ และ เป็นนามหนึ่งที่เป็นมโนทวาร คือ ภวังคุปัจเฉทะ

สำหรับ มโนทวาร นั้น ภวังคุปัจเฉทะ เป็น มโนทวาร ซึ่ง ภวังคุปัจเฉทะ ซึ่งเป็นภวังคจิตดวงสุดท้าย ก่อนวิถีจิตทางมโนทวารจะเกิดขึ้น วิถีจิตทางปัญจทวาร มีปสาทรูป ๕ เป็นทางรู้อารมณ์ เพราะถ้าปสาทรูปเหล่านั้น ไม่รับกระทบอารมณ์ วิถีจิต ก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นไม่ได้ แต่วิถีจิตทางมโนทวาร มีนามธรรม คือภวังคุปัจเฉทะ เป็นทางรู้อารมณ์ เพราะอารมณ์ที่จะปรากฏทางมโนทวาร ไม่ต้องกระทบกับปสาทรูป ไม่ต้องอาศัยปสาทรูปใดๆ แต่อาศัยภวังคุปัจเฉทะที่ตัดกระแสภวังค์ จึงทำให้วิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นได้ ภวังคุปัจเฉทะจึงเป็นมโนทวาร ครับ จึงไม่ใช้คำว่า หทัยทวาร

เพราะ หทยรูป ไม่ได้ทำทางให้เกิดวิถีจิต รู้อารมณ์ทางมโนทวาร แต่ หทยรูป เป็น หทยวัตถุ ทำหน้าที่ เป็นที่เกิดของจิตที่นอกเหนือจาก ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ครับ

เชิญคลิกฟังคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ได้ที่นี่ ครับ

ทวาร กับ วัตถุ

ภวังคุปเฉท เป็นมโนทวาร

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 30 ส.ค. 2555

จากคำถามที่ว่า

การรู้ลักษณะของ ภวังคจิต

จากความเข้าใจใน เรื่องของ ภวังคจิต. ภวังคจิต รู้อารมณ์เดียวกับ ปฎิสนธิจิต

ในขณะที่นอนหลับสนิทขณะนั้น มีภวังคจิตเกิดขึ้นหลายวาระ จนกว่าจะมี วิบากจิตเกิดขึ้นทางทวารหนึ่งทวารใด (เสียงกระทบจิตได้ยิน, รูปกระทบจิตเห็น ฯลฯ) หรือมีจิตนึกคิดคือ ฝัน ขณะนั้นไม่มีภวังคจิต จริงอยู่ว่า ขณะที่ ภวังคจิตเกิด จิตอื่นๆ ก็ไม่เกิด และก็ไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้ โลกไม่ปรากฏเลย อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เป็นใครก็ไม่รู้. แต่ว่า เราสามารถรู้ลักษณะของ ภวังคจิตได้หรือไม่ครับ?

เนื่องจากขณะนอนหลับตอนกลางคืน ก่อนหลับก็ฟังท่านอาจารย์สุจินต์บรรยาย ซักพักหนึ่งก็ไม่ได้ยิน และ ซักพัก ก็ได้ยินอีก และก็รู้ว่าลักษณะที่เสียงไม่ปรากฏ ณ ขณะนั้น และไม่รู้สึกตัวนั้น และมารู้สึกตัว หลังจากเสียงกระทบจิตได้ยิน เนื่องจากภวังคจิต กำลังทำกิจ อย่างนี้ ใช่การรู้ลักษณะของ ภวังคจิตหรือไม่ครับ?


- จากที่กล่าวมา เป็นเพียงความคิดนึก ในสภาพธรรมที่ดับไปแล้ว ครับ ไม่ได้รู้ตัวลักษณะของภวังคจิต ดังนั้น ที่กล่าวว่า รู้ลักษณะ ที่เสียงไม่ปรากฏ ในความเป็นจริง สติปัฏฐานจะต้องมีลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ ขณะที่รู้ลักษณะเสียงที่ไม่ปรากฏ เป็นการนึกคิด ถึงสภาพธรรมที่ดับไปแล้ว ในขณะที่ไม่ได้ยิน ไม่ได้รู้ตัวจิตที่เป็นภวังคจิตจริงๆ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 30 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิม และทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 30 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก และเป็นเรื่องที่ยากด้วย แต่ก็ไม่เหลือวิสัยสำหรับผู้ที่มีศรัทธา "เห็นประโยชน์" ของการได้เข้าใจความจริง มีความเพียร มีความอดทน ที่จะฟัง ที่จะศึกษาต่อไป ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ เพราะเหตุว่า ไม่ว่าจะฟังเรื่องอะไร ศึกษาเรื่องอะไร ก็ไม่พ้นไปจาก เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริง เป็นการค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ จริงๆ

จะให้ความเข้าใจ เจริญขึ้นในทันทีทันใด ก็เป็นไปไม่ได้ ต้องอาศัย การสะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปทีละเล็ก ทีละน้อยจริงๆ

ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง และมีจริงในขณะนี้ ทุกขณะไม่ปราศจากธรรมเลย มีแต่ธรรมเท่านั้น ที่เกิดขึ้นเป็นไป และธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น ก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย หลายอย่าง

นี้ก็เริ่มสะสมความเข้าใจ ในเรื่อง ความเป็นอนัตตาของธรรม ได้ว่า เกิดขึ้นเป็นไปตาม "เหตุ ปัจจัย" ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ซึ่งไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ ถ้าไม่มีการฟังพระธรรม ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

...ขอบพระคุณ อ. ผเดิม และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pat_jesty
วันที่ 30 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Endeavor
วันที่ 30 ส.ค. 2555

ขออนุโมทนาในกุศลจิตและเจตสิกของทุกท่าน สำหรับการสนทนาครั้งนี้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
peeraphon
วันที่ 31 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณครับอาจารย์ ผเดิม และขออนุโมทนาทุกท่านครับ

อาจารย์พอมี หนังสือธรรมะ เป็นภาษาพม่า มั่งมั้ยครับ?

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 31 ส.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 9 ครับ

ไม่มี ครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ